Advance search

ชุมชนท่องเที่ยวริมลำน้ำตากใบ แหล่งรวบรวมสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นของทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน 

เจ๊ะเห
ตากใบ
นราธิวาส
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 ส.ค. 2023
บางน้อย-ท่าพรุ


ชุมชนชนบท

ชุมชนท่องเที่ยวริมลำน้ำตากใบ แหล่งรวบรวมสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นของทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน 

เจ๊ะเห
ตากใบ
นราธิวาส
96110
6.26358
102.042
องค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน

ชุมชนบ้านบางน้อย-ท่าพรุ ก่อตั้งขึ้นในราว ๆ ปี พ.ศ. 2400 คนในชุมชนสมัยก่อนมีวิธีในการเลือกภูมิศาสตร์ในการสร้างบ้านเรือนในพื้นที่สูง หรือพื้นที่โคก ห่างจากแม่น้ำตากใบ เพื่อที่จะได้ใช้พื้นที่ลุ่มในการทํานา การตั้งบ้านเรือนจะอยู่ห่างกัน แต่ละหลังจะมีพื้นที่เพื่อใช้ในการปลูกไม้ผล เช่น มะพร้าว หมาก เป็นต้น บ้านของเครือญาติจะอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะบ้านเรือนในอดีตจะเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงนิยมใช้เลี้ยงวัว ควาย ไว้ใต้ถุนบ้าน บานหน้าต่างของบ้านมีขนาดใหญ่เพื่อใช้เปิดรับลม หรือฝาบ้านที่สามารถเปิดออกเพื่อรับลมได้ เรียกว่า “สืบปั๊บ” มีบันไดกลม มีนอกชาน พื้นบ้านจะยกระดับต่างกันสามถึงสี่ระดับ แต่ละระดับจะมี “คือนอ” ใช้การสลักไม้แทนการใช้ตะปู นิยมสร้างเป็นบ้านแฝด มีนอกชานหรือโถงตรงกลางบ้าน อีกหนึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย และอีกซีกใช้เป็นยุ้งข้าวในการเก็บข้าวเปลือก หลังคาจะเป็นหลังคาห้า ใช้กระเบื้องเกาะยอในการทําหลังคา ซึ่งจะสั่งจากจังหวัดสงขลาส่งทางเรือสําเภามาขึ้นที่หน้าวัดชลธาราสิงเหปีละครั้ง โดยในเรือสําเภาจะมีสินค้าจากสงขลาอีกมากมาย เช่น เกลือ ผ้า ของใช้ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ บ้านเรือนทรงเก่า ๆ หาดูได้ยากเต็มที อาจด้วยความลําบากในการหาไม้ หรือกระเบื้อง รวมไปถึงการปรับปรุงเพื่อให้ดูแลง่ายและทันสมัยมากขึ้น หลายหลังที่ลูกหลานกลับมาสร้างให้ใหม่ด้วยความคิดที่อยากให้พ่อแม่ได้อยู่สบายมากขึ้น (ประจักษ์ เทพคุณ และคณะ, 2559: 31)

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของชุมชนบางน้อย-ท่าพรุส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบ ไม่มีภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนติดแม่น้ำลำคลอง ทำให้บางแห่งมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เรียกว่า พรุ สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทราย บริเวณชายฝั่งแม่น้ำเป็นดินทรายที่มีสภาพเป็นดินเค็ม ด้านทรัพยากรป่าไม้โดยรวมยังคงมีพื้นที่ป่าไม้ขนาดใหญ่อยู่จำนวนมาก ป่าไม่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ชายฝั่งทะเล หรือป่าชายเลน เนื่องจากมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดแม่น้ำสำหรับแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชนมีอยู่ 3 สายสำคัญ คือ แม่น้ำตากใบ แม่น้ำสุไหง-โกลก และแม่น้ำบางนรา

ลักษณะสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นอากาศแบบเขตมรสุม มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม และฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนมกราคม ซึ่งจะมีฝนตกชุกเป็นพิเศษประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยวัดได้ 33 องศาเซลเซียส 

ชุมชนบางน้อย-ท่าพรุ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 782 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 360 คน ประชากรหญิง 442 คน และจำนวนครัวเรือน 403 ครัวเรือน ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบางน้อย-ท่าพรุนี้มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน 

จีน, มลายู

ประชาชนบางน้อย-ท่าพรุในอดีตส่วนใหญ่จะมีอาชีพด้านเกษตรกรรม เช่น ทํานา เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก และประมงพื้นบ้าน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่ม และใกล้แม่น้ำ แต่ปัจจุบันนี้หลายครอบครัวเลิกทํานา ที่นาส่วนใหญ่ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นที่อยู่อาศัย สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา หรือบางพื้นที่ก็ปล่อยให้ร้างไป รวมไปถึงอาชีพเลี้ยงสัตว์ก็ลดน้อยลงไปด้วย ลูกหลานส่วนมากไปทํางานต่างพื้นที่ ไม่มีใครสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมต่อ บางครัวเรือนก็มีเพียงคนแก่และเด็ก วัยหนุ่มสาวและวัยทํางานก็จะไปอยู่ต่างพื้นที่ ถ้าจะมีอยู่บ้างก็จะเป็นกลุ่มผู้ที่ทํางานราชการในหน่วยงานราชการท้องถิ่น หรือใกล้ชุมชน

การลอกใบจาก เป็นอีกหนึ่งอาชีพหนึ่งที่ทํารายได้ให้กับคนในชุมชนบางน้อย-ท่าพรุ ต้นจากเป็นพืชที่ขึ้นอยู่แถบริมแม่น้ำตากใบ โดยชาวบ้านจะนำยอดใบจากมาลอกแล้วตากแดดให้แห้ง เพื่อใช้ดูดกับยาเส้น สําหรับวิธีการลอกใบจากนั้น เริ่มจากการนํายอดจากที่มีลักษณะไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ตัดให้มีความยาวประมาณ 24 นิ้ว นํายอดจากที่ตัดมาวางเก็บไว้ใต้ใบมะพร้าวหรือใบไม้อื่น ๆ เป็นเวลา 1 คืน เป็นการบ่มยอดจาก ไม่ให้ใบจากแห้ง จะทําให้ลอกใบจากได้ง่ายขึ้น จากนั้นนํายอดจากมาตัดเอาใบออกทีละใบ ในการลอกใบจากนั้นจะฉีกใบจากออกเป็นซีก แล้วลอกเอาเยื่อบาง ๆ ออกโดยใช้มือและเท้าในการดึงฉีกใบจาก เมื่อลอกใบจากได้แล้วจะนําไปตากแดดให้แห้งประมาณ 1 วัน เมื่อแห้งแล้  วใบจากจะมีลักษณะสีขาว ขอบใบม้วนเข้าหากัน หากยังมีสีเหลืองอยู่แสดงว่ายังไม่แห้งสนิทต้องตากอีกแดด

ชุมชนบางน้อย-ท่าพรุ มีประเพณีสำคัญที่ประชาชนในชุมชนถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดเป็นประจำทุกปี ได้แก่ งานบังสุกุลบัว เพื่อทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ พิธีรับเจ้าเข้าเมือง เป็นพิธีที่มีความเกี่ยวข้องกับการวิงวอนและขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยดูแลคุ้มครองพืชผลทางการเกษตรให้เจริญงอกงาม คล้ายกับพิธีการไหว้พระแม่โพสพ ปกติแล้วมักจะจัดขึ้นในวันสงกรานต์ นอกจากนี้ยังมีประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีรดน้ำผู้สูงอายุ และประเพณีชักพระ ที่จะจัดขึ้นในวันออกพรรษาโดยคนในชุมชนจะร่วมกันทำเรือพระและตกแต่งเรือพระให้ประณีตงดงาม จากนั้นจะร่วมกันชักเรือพระไปรอบ ๆ หมู่บ้าน

ในอดีตชุมชนบางน้อยท่าพรุมีประเพณีสำคัญอยู่หลายประเพณี ซึ่งปัจจุบันนี้กลายเป็นประเพณีเก่าที่สูญหายไปแล้วเนื่องจากไม่มีผู้สืบทอด โดยประเพณีเก่าที่สูญหายเหล่านั้นจะได้ยกขึ้นมากล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • งานตักบาตรพระห้าร้อย : เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “งานทำบุญตักบาตรน้ำตาลทราย” จะจัดขึ้นในเดือน 9 ที่วัดชลธาราสิงเห ส่วนวันตามแต่จกำหนดในแต่ละปี การจัดจะปลูกปะรําพิธีตั้งแต่ประตูโบสถ์วัดไปจนถึงโรงฉันริมแม่น้ำ ระยะความยาวของปะรําประมาณ 100 เมตร ตลอดแนวปะรําจะติดภาพพระพุทธรูปให้ได้ 500 รูป เป็นสัญลักษณ์แทนพระสงฆ์จริง ซึ่งนิมนต์มารับบิณฑบาตให้ถึง 500 รูปไม่ได้ พระที่รับนิมนต์จะยืนรับบิณฑบาตเรียงกันไปตลอดแนวปะรํา การใส่บาตรสิ่งที่ขาดไม่ได้คือน้ำตาลทราย งานนี้จัดเป็นงานใหญ่ มีผู้คนมาร่วมทำบุญกุศลและเที่ยวงานคับคั่งตลอดคืน มี “ลักเลง” หรือมหรสพ ได้แก่ หนังตะลุง โนรา ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องกับภาพวาดในศาลาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดชลธาราสิงเห ที่ปรากฏภาพวาดของพระภิกษุหลายร้อยรูปยืนเรียงรายรับบาตรจากพุทธศาสนิกชน

  • งานโกศ หรืองานพนม หรืองานทำบุญกระดูก : เป็นงานสวดบังสุกุลกระดูกทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก่อนบรรจุในบัว โดยต่อไม้ทำเป็นพนม คือ เป็นรูปทรงคล้ายพระปรางค์ ตกแต่งด้วยกระดาษเงินและกระดาษทอง ซึ่งแกะเป็นลวดลายต่าง ๆ เมื่อถึงกําหนดวันทำพิธี ใครหรือครอบครัวใดต้องการทำบุญให้กับใคร ก็นํากระดูกซึ่งเก็บไว้เมื่อครั้งเผาศพมาบรรจุพนมพร้อมกัน นิมนต์พระสงฆ์สวดบังสุกุล เสร็จแล้วนํากระดูกเข้าบัว เพื่อให้ลูกหลานได้ระลึกถึงหรือเคารพบูชาต่อไป

  • ลาซัง : เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณและขอขมาต่อพระแม่โพสพที่ช่วยดูแลปกปักรักษาข้าวให้รอดพ้นจากนก หนู และแมลงศัตรูพืช ในงานลาซัง ชาวนาจะรวมกันทำขนมจีน โดยนําข้าวใหม่ที่ได้จากปีนั้นมา ช่วยกันทำขนมจีนกินกัน รวมทั้งมีการละเล่นอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เล่นว่าว มวยทะเล เป็นต้น แต่ปัจจุบันคนใน ชุมชนเลิกทำนากันเกือบหมดแล้วทำให้พิธีลาซังจึงสูญหายไปด้วย

  • สวดกระทง : การสวดกระทงเป็นประเพณีที่ทำสืบเนื่องกันมา แต่ระยะหลังนี้เริ่มเลือนหายไป เป็นการนํากระทงมารวมกันที่วัดเพื่อสวดกระทง เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและขอขมาต่อแม่น้ำคงคา พร้อมทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ลอยกระทง

ความเชื่อ

ความเชื่อของคนในชุมชน ส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อในเรื่องการดูฤกษ์ยามในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูวันดำนา แรกนา การดูวันขึ้นเสาเอกบ้าน การดูวันตัดผม ตัดเล็บ ไม่ว่าจะทำอะไรในกิจวัตรประจําวัน รวมไปถึงกิจกรรมด้านอาชีพ ก็จะผูกพันกับการดูฤกษ์ยาม ซึ่งในการดูฤกษ์ยามนี้ก็จะอาศัยผู้รู้ในชุมชนหรือในพื้นที่ ในการดู ซึ่งก็มีอยู่หลายรายที่ยังมีความสามารถในการดูฤกษ์ยาม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาการสร้างบ้านเรือนใต้ถุนสูงของไทยพุทธและห้องแถวแบบจีน

บ้านเรือนในชุมชนบางน้อย-ท่าพรุที่ยังเป็นบ้านเก่าส่วนใหญ่จะทําเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง ซึ่งจะมีการใช้ประโยชน์จากใต้ถุน เช่น ใช้เก็บเครื่องมือด้านการเกษตร ใช้เป็นคอกสัตว์ และด้วยการสร้างบ้านใต้ถุนสูงจะทําให้ลมพัดเข้ามาทางพื้นของบ้านได้สะดวก ทําให้ระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี

  • การใช้ตีนเสา : บ้านเก่าทุกบ้านที่เป็นบ้านใต้ถุนสูงนั้นจะใช้ปูนมาหล่อเป็นฐานไว้รองเสาเรือน เพื่อป้องกันความชื้นที่จะทำลายเสาและป้องกันปลวก

  • การใช้สลักไม้แทนตะปู : การใช้ไม้สลักนี้จะเป็นการเข้าไม้และเจาะไม้แทนการใช้ตะปู เช่น บริเวณเสา คาน ลูกระแนง หรือขื่อ

  • การสร้างหน้าต่างขนาดใหญ่ : เพื่อใช้ในการรับลมของผู้คนในอดีต เนื่องจากพื้นที่ของชุมชนมุสลิมจะติดกับทะเล ทำให้มีลมทะเลพัดมายังตัวบ้าน ผู้คนในอดีตจึงนิยมทำหน้าต่างให้มีขนาดใหญ่เพื่อรับลม นอกจากหน้าต่างแล้วท บางบ้านยังมีการออกแบบฝาบ้านให้สามารถเปิด-ปิดได้ เรียกว่า กือบั๊บ เพื่อใช้รับลม

  • รูล้อง : เป็นช่องว่างระหว่างแผ่นกระดานพื้นบ้าน ในการทำพื้นบ้านจะไม่นิยมวางแผ่นกระดานให้ติดกัน แต่จะเว้นแผ่นกระดานให้เป็นช่องเพื่อให้ลมสามารถระบายได้ ทำให้ภายในบ้านอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนอบอ้าว อีกทั้งยังง่ายต่อการทำความสะอาด

  • ช่องลม : คือ การทำช่องระบายอากาศไว้บริเวณใต้หลังคาเพื่อเป็นทางผ่านของลม และให้แสงสามารถผ่านเข้ามาได้ จะพบได้ทั้งในบ้านของคนไทยเดิมและคนไทยเชื้อสายจีน เพียงแต่ลวดลายอาจแตกต่างกันไป

ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นถิ่น

  • ข้าวคลุกขมิ้น (ข้าวยําโบราณ) : เป็นอาหารพื้นบ้านของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นการนำสมุนไพรพื้นบ้านมาโขลกให้ละเอียดคล้ายเครื่องแกง แล้วนำมาคลุกกับข้าวสวย ปลาย่าง (นิยมใช้ปลาช่อนย่าง) ราดด้วยน้ำบูดู รับประทานพร้อมผักสด สมุนไพรที่ใช้ทําเป็นเครื่องคลุกประกอบด้วย ขมิ้น พริกไทย หัวกระเปราะ หัวกระชาย หัวกะทือ “สรรพคุณ” ช่วยในการขับลมในกระเพาะ เป็นอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงฤดูฝนเพื่อช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย

  • ข้าวยําสมุนไพร (ข้าวยําใบพันสมอ) : เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอําเภอตากใบและภาคใต้ของไทย เป็นการคั้นเอาน้ำสมุนไพร เช่น ดอกอัญชัน ใบพันสมอ ใบยอป่า มาหุงกับข้าวเพื่อให้เกิดสี รับประทานพร้อมน้ำบูดู มะพร้าวคั่ว ปลาป่น และผักสด โดยผักสดจะเรียกว่า “หมวด” ประกอบด้วย ถั่วฝักยาว ถั่วงอก ตะไคร้ ยอดมะม่วงหิมพานต์ ใบกระเต็ม ดอกดาหลา ใบยอ ใบกระเปราะ และใบไม้สมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น

  • ขนมคนที : เป็นขนมหวานที่ใช้ทํารับประทานในงานต่าง ๆ โดยใช้ใบคุนทีเป็นส่วนผสมสําคัญในการแต่งสีและกลิ่น ใบคุนทีเป็นพืชล้มลุก ลักษณะเป็นพุ่ม พบมากบริเวณชายทะเล เนื่องจากชอบพื้นที่ดินทราย

  • เกลือทิ่มปลาย่าง : เกลือทิ่มเป็นอาหารเมนูอาหารที่ช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับการกินข้าวเพื่อแก้เลี่ยน โดยนำเอาปลาย่างมาตํารวมกับเกลือ หอมแดง พริกขี้หนูสด มะขาม หรือมะม่วงตามแต่ช่วงฤดู โดยมีตํานานเล่าถึงเกลือทิ่มว่าเป็นอาหารที่ตากับยายที่มีฐานะยากจนรับประทานประทังชีวิต เนื่องจากใช้ปลาในปริมาณน้อย แต่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน

  • น้ำบูดูตากใบ : เป็นอาหารหลักของคนในอำเภอตากใบ ทุกบ้านจะนิยมรับประทานกับผักสด ซึ่งมักจะมีอยู่บนโต๊ะอาหารแทบทุกมื้อ บูดูตากใบเป็นที่ขึ้นชื่อถึงเรื่องความอร่อย ยิ่งนำมาผสมรวมกับปลาย่าง หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย และบีบมะนาวเพิ่มความเปรี้ยว ยิ่งทํา ให้น้ำบูดูมีรสชาติและความอร่อยเพิ่มขึ้น

  • ปลาโอต้มส้มแขก : ปลาโอต้มส้มแขก เป็นอีกหนึ่งเมนูที่คนในชุมชนนิยมรับประทานกันเป็นประจํา เนื่องจากปลาโอเป็นปลาที่มีมากในพื้นที่ เนื้อเยอะ และมีรสชาติที่อร่อย นำมาต้มโดยทุบหอมแดง ข่า กระเทียม พริกขี้หนู และปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลแว่น และเพิ่มความเปรี้ยวด้วยส้มแขก ปรุงให้ได้สามรส คือ เปรี้ยว หวาน เค็ม

  • ยําไก่ใบกระเสม : ใบกระเสม เป็นผักพื้นบ้าน มีรสชาติเผ็ดและมีกลิ่นหอม นิยมนำมาใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติและกลิ่น ทําให้อาหารน่ารับประทานเพิ่มมากขึ้น โดยนิยมนำมาใส่ในยําไก่ ต้มยํา และแกงบอน ยําไก่ใบกระเสมเป็นการนำเอาไก่ต้มมาฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตําเกลือ หอมแดง และพริกขี้หนูเข้าด้วยกัน นำมายําร่วมกับไก่ ปรุงรสเปรี้ยวด้วยมะนาว หรือมะม่วงสับโรยด้วยใบกระเสม

ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรพื้นบ้าน

  • สังแก : เป็นยาสมุนไพรใช้ถ่ายพยาธิในเด็ก ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นตรง มีกิ่งขนาดใหญ่ ขอบใบหยัก ใบมีขนาดยาวประมาณ 1 ฟุต ดอกมีลักษณะเป็นฝอย รากกรอบ สรรพคุณทางยา ใช้ใบ 3-4 ใบ ผสมกับปูนกินหมาก แล้วมาบดขยี้ให้ละเอียด นำมาทาบริเวณรอบสะดือ และบริเวณท้องไปจนถึงด้านหลัง หรือใช้รากฝอยล้างให้สะอาด แล้วนำมาต้มกับน้ําแล้วดื่ม

  • กระเปราะ : ใบกระเปราะเป็นพืชสมุนไพรประเภทพืชล้มลุก กาบใบเตี้ย เป็นรูปวงรี กว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 5 นิ้ว มีหัวติดกับใบ ใบใช้รับประทานเป็นผักสดได้ สรรพคุณทางยาใช้หัวประมาณ 1-2 หัว นำมาบดขยี้ให้ละเอียด แล้วนำมาทาหรือพอกไว้บนแผลถลอกหรือบริเวณฟกช้ำ

  • ไพล : ไพลเป็นไม้ล้มลุกมีความสูงประมาณ 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เปลือกมีสีน้ำตาลแกม เหลือง เนื้อด้านในมีสีเหลืองถึงสีเหลืองแกมเขียว แทงหน่อ หรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ โดยจะประกอบไปด้วยกาบ หรือโคนใบหุ้มซ้อนกันอยู่ เหง้าไพลสดฉ่ำน้ำ รสฝาด เอียด ร้อนซ่า มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนเหง้าไพลแก่สดและแห้งจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย สรรพคุณทางยาช่วยรักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ บวม ข้อเท้าแพลง ด้วยการใช้หัวไพลนำมา ฝนแล้วบริเวณที่มีอาการฟกช้ําบวมหรือเคล็ดขัดยอก

  • หญ้าดอกขาว : หญ้าดอกขาวเป็นพืชล้มลุก ใบคล้ายใบพริก ต้นสูงประมาณ 1 ฟุต ดอกเป็นช่อสีม่วง ดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว ดอกและใบจะมีรสจืด แต่รากจะมีรสขม สรรพคุณทางยาแก้ปวดท้อง ไข้หวัด ความดันโลหิตสูง ท้องเสีย นิ้ว ปวดข้อ ปวดหลัง ลดน้ำตาลในเลือด หอบ เหน็บชา อ่อนเพลีย ในการเลือกต้นหญ้าดอกขาวมาใช้นั้น ถือเป็นขั้นตอนที่สําคัญมาก เพราะยาจะได้ผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการเลือกต้นที่จะนำมาทํายา ควรเลือกต้นที่งาม มองเห็นใบชัดเจน ลำต้นและใบมีสีเขียวสดใส ใบอวบป้อม ลำต้นสูงใหญ่ ยืนตรง สามารถต้านทานลมได้

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบ หรือภาษาตากใบ หรือภาษาเจ๊ะเห

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กลุ่มภาษาถิ่นใต้สำเนียงตากใบ หรือภาษาตากใบ หรือภาษาเจ๊ะเห มีลักษณะแตกต่างจากภาษาไทยถิ่นใต้อื่น ใช้พูดอยู่บริเวณอำเภอตากใบ สุไหงปาดี สุไหงโกล แว้ง สายบุรี ยะหริ่ง ปานาเระ มายอ และรัฐกลันตันในมาเลเซีย เช่น อำเภอตุมปัด โกตาบารู และบาเจาะ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัจจุบันจังหวัดนราธิวาสเป็น 1 ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT- GT Growth Triangle Development Project) นราธิวาสจึงถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการ ท่องเที่ยวเมืองชายแดนที่ชาวมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมมาเที่ยวพักผ่อน เนื่องจากมีความหลากหลายทางด้านประเพณีวัฒนธรรมภาษาท้องถิ่นและศาสนา โดยมีลักษณะเด่นทางด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายตามคําขวัญของ จังหวัดนราธิวาสที่ว่า "ทักษิณราชตําหนักชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจ ตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกอง หอมหวาน" ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โบราณสถาน โบราณวัตถุตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงทางด้านวิถีวัฒนธรรมในมิติของชาวสยามในมาเลเซีย โดยมีช่องทางผ่านเข้า-ออก ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้ 3 ทาง ได้แก่ ศุลกากรสุไหง-โกลก ด่านศุลกากรตากใบ และด่านบูเก๊ะตา

อำเภอตากใบเป็นหนึ่งในเขตอำเภอสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย เป็นเงื่อนผูกสัมพันธ์ด้านวิถีวัฒนธรรมชาวสยามในมาเลเซีย และมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ตามสนธิสัญญาที่ทํากัน ระหว่างกรุงสยามกับประเทศอังกฤษ โดยมีวัดชลธาราสิงเหเป็นโบราณสถานสำคัญที่รัฐบาลไทยใช้เป็นเหตุผล อ้างอิงในการปักปันเขตแดนในปี พ.ศ. 2441 ที่มีผลทําให้อำเภอตากใบไม่ต้องผนวกเป็นประเทศมาเลเซีย วัดแห่งนี้ จึงได้รับสมญานามว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนบางน้อย-ท่าพรุ (บ้านท่าพรุ หมู่ที่ 3)

ชุมชนท่องเที่ยววัดชลธาราสิงเห. (2561). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

ประจักษ์ เทพคุณ และคณะ. (2559). แนวทางการพัฒนาศักยภาพกรท่องเที่ยวโดยชุมชนบนรากฐานของภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชุมชนวัดชลธาราสิงเห ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ทั่วถิ่นแดนไทย. (2564). ที่นี่ตากใบ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Isa. (2550). เชื่อหรือไม่ ภาษาไทยปักษ์ใต้คือภาษาไทยดั้งเดิม. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก http://oldforum.serithai.net/

Travellake Songkhla. (2563). ผสมผสาน...คือการท่องเที่ยว. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/