ศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในอำเภอตากใบ ชุมชนชาวจีนผู้เป็นต้นตำรับการทำปลากุเลาเค็ม “ราชาแห่งปลาเค็ม” ของดีประจำอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในอำเภอตากใบ ชุมชนชาวจีนผู้เป็นต้นตำรับการทำปลากุเลาเค็ม “ราชาแห่งปลาเค็ม” ของดีประจำอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
พื้นที่ตั้งชุมชนตลาดตากในเดิมนั้นเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดชลธาราสิงเห เนื่องจากในสมัยอดีตวัดชลธาราสิงเหมีอาณาบริเวณกว้างขวางยาวไปจนถึงที่ทําการไปรษณีย์ตำบลเจ๊ะเหในปัจจุบัน ต่อมาทางวัดชลธาราสิงเหได้มอบที่ดินบางส่วนในกับส่วนราชการต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้า การประปา ที่ว่าการอําเภอตากใบ โรงเรียนวัดชลธาราสิงเห (เสาร์ศึกษาคาร) ที่ทําการไปรษณีย์ ฯลฯ และรวมไปถึงที่ตั้งตลาดในปัจจุบัน ประชากร ส่วนใหญ่ในชุมชนตลาดตากใบจะประกอบอาชีพด้านการค้าขาย โดยมีผู้คนจากต่างพื้นที่เข้ามาอาศัยและทําการค้าขายมากมายทั้งกลุ่มคนไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งในอดีตร้านค้าส่วนใหญ่จะเป็นของคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในอำเภอตากใบ มีชาวไทยพุทธอยู่แค่สองร้าน นอกนั้นจะเป็นร้านค้าคนจีนทั้งสิ้น สินค้าส่วนใหญ่ที่ขาย ได้แก่ ข้าวสาร ของชํา ชา น้ำแข็ง วัสดุก่อสร้าง อาหาร รวมไปถึงต้นตําหรับปลากุเลาเค็มก็เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่เริ่มมีการทําปลากุเลาเค็มเป็นเจ้าแรกซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีรุ่นลูกหลานสืบสานกิจการอยู่หลายร้าน
ลักษณะภูมิประเทศโดยรวมของชุมชนรอบพื้นที่วัดชลธาราสิงเห รวมถึงชุมชนตลาดตากใบ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ไม่มีภูเขา บางแห่งเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า “พรุ” โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำลําคลองที่มีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลผสมผสานกลายเป็นน้ำกร่อย แม่น้ำที่สําคัญ ได้แก่
- แม่น้ำตากใบ เป็นแม่น้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนของกระแสน้ำในทะเล ประกอบกับคลื่นได้ซัดทราย เข้าหาฝั่งทําให้เกิดเป็นสันทราย ส่วนภายในลึกเป็นแนวยาว จึงเกิดเป็นแม่น้ำมีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่บ้านตาบา ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ
- แม่น้ำสุไหงโก-ลก เป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอแว้ง และไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอตากใบ มีความยาวประมาณ 103 กิโลเมตร ช่วงที่ไหลผ่านอำเภอตากใบมีความยาว ประมาณ 18 กิโลเมตร
- แม่น้ำบางนรา ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอสุไหงปาดี ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองนราธิวาสและไหลลงสู่ แม่น้ำสุไหงโก-ลกที่อำเภอตากใบมีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร ช่วงที่ไหลผ่านอำเภอตากใบมีความยาว ประมาณ 22 กิโลเมตร
ชุมชนตลาดตลากใบ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 552 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 289 คน ประชากรหญิง 289 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 423 คน ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่ คือ ชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนหนึ่ง คือ ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม
มลายูในชุมชนตลาดแห่งนี้ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย มีตลาดตากใบเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย สินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวสาร ของชำ ชา น้ำแข็ง วัสดุก่อสร้าง อาหาร รวมถึงปลากุเลาเค็ม ชาวบ้านในชุมชนตลาดตากใบส่วนมากเป็นคนจีน ซึ่งคนจีนกลุ่มนี้ คือ ต้นตำรับการทำปลากุเลาเค็มเจ้าแรก ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีการสืบทอดกิจการทำปลากุเลาเค็มอยู่หลายร้าน
การทำปลากุเลา
ปลากุเลาเค็ม “ราชาแห่งปลาเค็ม” นับเป็นของฝากขึ้นชื่อของอําเภอตากใบและจังหวัด นราธิวาส ประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา อาหารทะเลที่ตากใบมีราคาถูกมาก โดยเฉพาะปลา ซึ่งปลากุเลาเป็นปลาที่หาได้ง่ายในแม่น้ำตากใบ ชาวจีนในพื้นที่เห็นว่าราคาถูก จึงมีการซื้อแบบเหมาไปทำปลาเค็มเอาไว้รับประทานในช่วงฤดูฝน เหลือก็จะแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ ที่มาเยี่ยมเยือน เนื่องด้วยปลากุเลามีเนื้อค่อนข้างมากและมีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย ไม่เค็มมาก ทำให้เป็นที่ติดอกติดใจในความเอร็ดอร่อยของผู้ที่ได้ลิ้มลอง จึงเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว
ปลากุเลาสด มีราคากิโลกรัมละ 350 บาท เมื่อนํามาทำปลาเค็มต้องทำอย่างประณีตสะอาด เริ่มต้นด้วยการล้างให้สะอาด ขอดเกล็ด ควักไส้ ล้างอีกครั้งจนสะอาด หมักเกลือ 2 วัน เอามาล้างเกลือออก ผึ่งให้แห้ง หลังจากนั้นห่อหัวปลาด้วยกระดาษสองชั้น ผูกหางด้วยเชือก เอาไปตากแบบแขวนกับราว ห้อยหัวลง การตากวิธีนี้ปลาจะโดนแดดและลม ทำให้ทุกส่วนแห้งเท่ากันหมด ส่วนการห่อหัวก็เพื่อป้องกันแมลงวันวางไข่ ตอนเย็นจะเก็บปลาที่ตากไว้มาแกะเอากระดาษห่อหัวออก ใช้ไม้นวดแป้งนวดคลึงบนตัวปลาเบา ๆ ทั้งสองด้าน ห่อส่วนหัวปลาอีกครั้งกับกระดาษสองชั้นเพื่อนำไปตากต่อในวันรุ่งขึ้น ทำเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลา 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดตัวปลา ด้วยกรรมวิธีที่ยุ่งยาก ทำให้ราคาปลากุเลาเค็มมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,500-1,800 บาท หรือบางครั้งอาจมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาทก็มี
งานบังสุกุลบัว เป็นการทําบุญให้ผู้ล่วงลับและผู้สูงอายุ จัดขึ้นในวันสงกรานต์ ในวันงานจะมีการทําบุญตักบาตร อาบน้ำพระพุทธรูป และประพรมน้ำมนต์ที่เจดีย์และบัวต่าง ๆ (บัว คือ เจดีย์บรรจุกระดูก) ในงานบังสุกุลบัวมีธรรมเนียมถือปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าญาติจะอยู่ที่ใดจะเดินทางมาร่วมพิธีพร้อมกันหมด งานบังสุกุลบัวนอกจากจะเพื่อทําบุญอุทิศส่วนกุศลแล้ว ยังถือเป็นการชุมนุมญาติ ส่งเสริมความรักพวกพ้องและสามัคคีธรรม
พิธีรับเจ้าเข้าเมือง เป็นพิธีที่ไม่เกี่ยวกับทางศาสนา แต่อาศัยพื้นที่บริเวณวัดในการทําพิธี ซึ่งจะทําในช่วงกลางคืนของวันสงกรานต์ เป็นการเรียกเจ้า (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เช่น แม่โพสพ เจ้าที่เจ้าทาง) จากไร่นามาสู่บ้านเรือน เนื่องจากความเชื่อที่ว่าในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก พระแม่โพสพจะคอยดูแลรักษาข้าวในนา และเมื่อเสร็จ จากนาแล้วก็ให้เรียกกลับมายังบ้านเรือน เพื่อไม่ให้โดนวัว ควาย เหยียบย่ำ ในพิธีรับเจ้าเข้าเมืองชาวบ้านจะเตรียม ข้าวสวย ข้าวสาร ผลไม้ เหล้าแดง น้ำปลาทอด หรือปลาเค็มทั้งหัวทั้งหาง ธูป เทียน และธงเทียว โดยในขั้นแรกนั้นจะตักเอาอาหารที่เตรียมมาใส่กระทงเพื่อเลี้ยงเจ้าก่อนที่จะส่งกลับ จากนั้นผู้ทําพิธีจะนําธงเทียว เทียน และธูปไปรวมกันไปที่ตรงกลางโดยให้ชาวบ้านนั่งล้อมเป็นวงกลม จะนําเทียนไปปักบนไม้คฑา เอาธงเที่ยวไปปักรวมกันไว้ที่ตรงกลาง แล้วนําธูปมารวมกันผู้ทําพิธีจะนําธูปที่รวมกันและจุดวิ่งวนไปรอบ ๆ วงที่ชาวบ้านนั่งเป็นจํานวน 4 รอบ จากนั้นก็จะนํามาปักไว้ที่ตรงกลางเช่นเดียวกับเทียนและธงเทียว พร้อมกับเอ่ยพูดขอบคุณเจ้าเก่าและส่งเจ้าเก่ากลับ แล้วนําข้าวสารที่เตรียมมาขึ้นมาปาหรือโรยไปข้างหน้า จากนั้นก็จะเอ่ยเรียกเจ้าใหม่ให้เข้ามาปกปักรักษาบ้านเมือง สัตว์เลี้ยง และพืชผลทางการเกษตร หลังจากนั้นก็จะปาข้าวสารอีกหนึ่งครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว ชาวบ้านก็จะนําเอาเทียน และธงเทียวกลับมาบ้านเพื่อนํามาจุดไว้ที่รั้วบ้าน คอกสัตว์ หรือยุ้งข้าวเพื่อให้เจ้าใหม่ได้ปกปักรักษาดูแล
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ชาวไทยยึดถือปฏิบัติในการทําบุญตักบาตร เพื่อความ เป็นสิริมงคล เนื่องในโอกาสวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับวันขึ้นปีใหม่
ประเพณีรดน้ำผู้สูงอายุ เป็นประเพณีของงานสงกรานต์ที่เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี โดยจะมีกิจกรรมทําบุญตักบาตร รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ รดน้ำพระพุทธรูป เป็นต้น
ประเพณีชักพระ ประเพณีชักพระจะจัดขึ้นในวันออกพรรษา โดยผู้คนในชุมชนจะมาร่วมกันทําเรือ พระและตกแต่งเรือพระ แล้วรวมกันชักเรือพระไปรอบ ๆ หมู่บ้านและชุมชน
1. ลุงวร จันทร์วงค์
ลุงวร จันทร์วงค์ หรือลุงวร เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ มากมาย นับว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าของชุมชน เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนโดยทั่วไป ลุงวรเป็นผู้มีจิตอาสา ช่วยเหลืองานของชุมชน เช่น เป็นผู้นําสวดมนต์ในทุกวันพระ และวันเสาร์ เป็นพิธีกรนําสวดในงานพิธีต่าง ๆ นอกจากนี้ ลุงวรยังมีความสามารถในการดูฤกษ์ยามในพิธีต่าง ๆ ลุงวรมีอาชีพในการทําเครื่องจักสาน เช่น กระด้ง ตะกร้า ไม้กวาด สุ่มไก่ชน และทํานา ซึ่งยังมีการเก็บรักษาเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทําเครื่องจักสาร (พร้า มีดตอก ขวาน มีดดิ้ง มอด เลื่อย ซึ่ง ปากเป็ด เป็นต้น) และเครื่องมือด้านการเกษตรมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในอดีต เช่น ไถแอก จอบ และเลื่อยเหนะ ฯลฯ
หัตถกรรมเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้ในการจักสาน
แม้ว่าชุมชนตลาดตากใบจะมีลักษณะเป็นสังคมตลาด หรือสังคมเมืองค่อนข้างสูง ทว่า ภายในชุมชนยังคงมีการสืบสานภูมิปัญญาเก่าแก่ดังเช่นการทำหัตถกรรมเครื่องจักสาน โดยมีลุงวร จันทร์วงค์ เป็นผู้ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดภูมิปัญญา เครื่องจักสานที่พบในชุมชนตลาดตากใบ ยกตัวอย่าง ดังนี้
1. กระด้ง เป็นเครื่องจัดสารที่ผู้คนในอดีตนิยมใช้ในการร่อนข้าว ฝัดข้าว โรยข้าว แต่ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากกระด้งลดลง มีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่ยังใช้อยู่ ปัจจุบันในชุมชนมีเพียงบ้านลุงวรแห่งเดียวที่ยังผลิตกระด้งอยู่ ซึ่งกระด้ง หรือด้ง เป็นภาชนะจักสานจากไม้ไผ่ มีลักษณะแบนขอบกลม มีหลายขนาด ซึ่งแต่ละประเภทจะมีความถี่ของการสานต่างกัน ดังนี้
- กระด้งสําร่อน (ด้งร่อน) จะสานให้มีรู เพื่อใช้ร่อนข้าวเปลือกเอาฟางและระแง่ออกจากข้าวเปลือก
- กระด้งสําหรับผัด (ด้งฝัด) จะสานให้ชิด ไม่มีรู เพื่อใช้ฝัดข้าวเปลือกเอาข้าวลีบออก โดยการฝัดและโรยเหนือลม และใช้แยกเปลือกข้าวเปลือกหลังจากที่ทํากะเทาะเปลือกแล้ว
- กระด้งสําหรับแร่ง (ด้งแร่ง) ลักษณะเหมือนกับกระด้งฝัด ใช้ในการแร่งข้าวสารเพื่อแยกปลายข้าวและรําข้าวออกจากข้าวสาน
2. ซึ่ง เป็นเครื่องมือช่างในอดีต ใช้ในการเจาะเหล็กและเจาะไม้ โดยที่หัวเจาะจะใช้เป็นเหล็ก ใช้ แรงเหวี่ยงของเชือกที่ไขว้กันไว้ในการหมุน โดยกดตัวไม้ที่ผูกไว้กับเชือกขึ้น-ลง เพื่อให้เกิดการหมุน
3. ลัน เป็นอุปกรณ์ในการใช้ดักปลาไหล โดยใช้กระบอกไม้ไผ่ตัดเป็นท่อน แล้วเจาะรู้ด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อดักปลาไหลให้เข้าไปในกระบอก โดนผ่านงาเข้าไป
4. สุ่ม เป็นอุปกรณ์จับปลาชนิดหนึ่งที่สานด้วยไม้ไผ่เป็นตา ๆ มีลักษณะมีลักษณะคล้ายทรงกระบอก ต่างกันเพียงช่องด้านล่างจะมีขนาดใหญ่กว่าช่องด้านบน ช่องด้านบนมีไว้เพื่อให้สามารถเอามือล้วงลงไปได้
5. ทน เป็นเครื่องจักสานจากไม้ไผ่เพื่อใช้ในการใส่ปลา หรือสัตว์น้ำที่จับได้ มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรี มีฝาเปิดด้านใดด้านหนึ่ง ฝาของทนนิยมทําด้วยไม้ หรือกะลามะพร้าว
6. ข้อง เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ ปากแคบอย่างคอหม้อ มีฝาปิด-เปิดได้ เรียกว่า ฝาข้อง ฝาข้องมีชนิดที่ทําด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้เรียกว่า งา ข้อง ใช้สําหรับใส่ ปลาปู กุ้ง หอย ที่จับหามาได้
ภาษาพูด : ภาษาถิ่นใต้สำเนียงตากใบ หรือภาษาเจ๊ะเห
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ภาษาไทยถิ่นใต้สําเนียงตากใบ หรือภาษาเจ๊ะเห เป็นภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มหนึ่งที่พูดกันมากตั้งแต่อำเภอปา นาเระ อำเภอสายบุรีของจังหวัดปัตตานี ลงไปจนถึงชายแดนไทย-มาเลเซียฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส รวมถึงในเขตอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ ภาษาเจ๊ะเห ยังใช้พูดกันในกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐกลันตันของมาเลเซียด้วย ถือเป็นภาษาไทยถิ่นใต้ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ มีการใช้คําที่แตกต่างจากภาษาไทยถิ่นใต้ทั่วไปค่อนข้างมาก ด้วยคําพูดและสําเนียงภาษาได้สร้างความพิศวงแก่ทั้งชาวใต้ด้วยกันเองและชาวไทยกลุ่มอื่น คือ จะมีสําเนียงพูดเสียงชาวใต้ผสมกับภาษาไทยถิ่นเหนือ (เช่น ญิใด๋ ในภาษาเจ๊ะเห ตรงกับ ญิใด ในภาษาไทยถิ่นเหนือ เป็นต้น) เช่น ถ้าชาวตากใบถามว่ามาทําไม เขาจะพูดว่า “มาญิใด๋” ปลายประโยคทอดเสียงยาวว่า “มาเญียด้าย”
นรี บุณยเกียรติ. (2565). รู้จัก “ปลากุเลาเค็มตากใบ” เปิดที่มา “ราชาแห่งปลาเค็ม”. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.pptvhd36.com/
ประจักษ์ เทพคุณ และคณะ. (2559). แนวทางการพัฒนาศักยภาพกรท่องเที่ยวโดยชุมชนบนรากฐานของภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชุมชนวัดชลธาราสิงเห ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ทั่วถิ่นแดนไทย. (2564). ที่นี่ตากใบ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
Chaicatawan. (2561). เที่ยวนราธิวาส ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ตากใบ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.chaicatawan.com/
Google Earth. (2560). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/