Advance search

ชุมชนมลายูมุสลิมอายุกว่า 80 ปี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากชุมชนมลายูมสลิมในจังหวัดอื่นอันเกิดจากองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งการใช้ภาษามลายูถิ่นจะนะ รวมถึงการเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่ทำให้กงกาเยาะยังคงความเป็นชุมชนชนบทได้ท่ามกลางชุมชนเมืองจะนะ

กงกาเยาะ
ป่าชิง
จะนะ
สงขลา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
5 ส.ค. 2023
บ้านกงกาเยาะ


ชุมชนชนบท

ชุมชนมลายูมุสลิมอายุกว่า 80 ปี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากชุมชนมลายูมสลิมในจังหวัดอื่นอันเกิดจากองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งการใช้ภาษามลายูถิ่นจะนะ รวมถึงการเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่ทำให้กงกาเยาะยังคงความเป็นชุมชนชนบทได้ท่ามกลางชุมชนเมืองจะนะ

กงกาเยาะ
ป่าชิง
จะนะ
สงขลา
90130
6.915089
100.708511
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าชิง

บ้านกงกาเยาะ เป็นชื่อหมู่บ้านดั้งเดิมของหมู่บ้านในยุคที่ยังไม่มีการแบ่งเขตชุมชนอย่างชัดเจนดังเช่นปัจจุบันนี้ โดยคำว่า กงกาเยาะ แปลว่า ที่ช้างข้าม เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นที่ลุ่มดินโคลนกว้างขนาด 4 ไร่ จนแม้แต่ช้างที่เดินผ่านยังต้องระวัง เพราะหากตกหรือติดหล่มโคลนแล้วก็ยากจะขึ้นจากหลุมโคลนได้ ซึ่งในเวลาต่อมาหลุมโคลนดังกล่าวนี้ตื้นเขินจนชาวบ้านสามารถปลูกข้าวได้

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านขยายครัวมาจาก กำปงเติมเพราะ ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ริมคลอง ซึ่งปัจจุบัน คือ หมู่ที่ 4 บ้านท่าคลอง สาเหตุที่ชาวกงกาเยาะย้ายครัวเรือนออกมาจากกำปงเติมเพราะนั้นมีสาเหตุมาจากความหนาแน่นของประชากรกำปงเติมเพราะ ที่เคยเป็นชุมชนมุสลิมที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดในตำบลป่าชิง โดยเริ่มแรกนั้นรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านดอนไฟ และแยกออกมาเป็นบ้านกงกาเยาะเมื่อประมาณ 70 กว่าปีก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าชาวกงกาเยาะจะแยกตัวออกมากำปงเติมเพราะเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทว่า ชาวกงกาเยาะและกำปงเติมเพราะก็ยังคงมีสายสัมพันธ์ที่โยงร้อยกันไว้ผ่านเรื่องเล่าของตายายเกี่ยวกับการมีบรรพบุรุษร่วมกันของทั้งสองหมู่บ้าน 

บ้านกงกาเยาะ ตั้งอยู่ในตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีพื้นที่หมู่บ้านประมาณ 900 ไร่ โดยมีอาณาเขต

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านนาซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองจะนะ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลนาหว้า
  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่าคลอง หมู่ที่ 4 และบ้านดอนไฟ หมู่ที่ 6 ตำบลป่าชิง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านไร่ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าชิง 

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกงกาเยาะส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ บ้างก็ย้ายจากหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาอยู่อาศัยด้วยเหตุผลจากการแต่งงาน ความสัมพันธ์ของชาวบ้านนั้นส่วนมากแล้วมีความใกล้ชิดเป็นพี่น้องเครือญาติด้วยการสืบสายเลือด โดยพิจารณาได้จากนามสกุลที่จะมีนามสกุลหลักอยู่ 5 นามสกุล ได้แก่ สมาน เหาะสัน เสมาะเหม เหลาะหมาน และหมะขะเหร็ม โดยเฉพาะนามสกุลหมะขะเหร็มที่มีการเขียนต่างกันไปเป็น มะเข็ม หมะเหร็ม และมะเหร็ม แต่ล้วนแล้วแต่เป็นตระกูลเดียวกันทั้งสิ้น

นอกจากชาวกงกาเยาะจะเป็น “พี่น้อง” กันในทางการสืบสายเลือดดังที่กล่าวไปในเรื่องนามสกุลแล้ว ชาวกงกาเยาะยังเป็นพี่น้องกันในทางความเชื่ออีกด้วย นั่นคือ “ความเป็นลูกหลานซีละ" โดยเชื่อว่าพวกเขาล้วนเป็นลูกหลานของครูหมอ ซึ่งหมายถึง ปรมาจารย์ด้านซีละ หรือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ซีละตั้งแต่เก่าก่อน ซึ่งน่าสนใจที่ “ความเชื่อเรื่องครูหมอชีละ" ในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นระบบเดียวกับความเชื่อครูหมอโนราห์ที่พบในวัฒนธรรมภาคใต้ตอนบนตั้งแต่อําเภอระโนดของจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในชุมชนที่มีวัฒนธรรมความเชื่อผูกพันกับพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะความเชื่อครูหมอชีละที่เกิดขึ้นในกงกาเยาะจึงสามารถใช้เป็นภาพแทนของการผสานทางวัฒนธรรมข้ามศาสนา ซึ่งต้องอาศัยบริบททางประวัติศาสตร์ของเมืองจะนะมาร่วมอธิบาย (ศุภราภรณ์ กันตะพัฒนะ, 2556: 38)

มลายู

ชาวกงกาเยาะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมสวนยางพาราเพื่อส่งขายเป็นน้ำยางดิบให้พ่อค้าคนกลางที่โรงน้ำยางบ้านไร่ ชุมชนไทยพุทธที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านกงกาเยาะ นอกจากขายน้ำยางดิบแล้ว ส่วนที่เป็นขี้ยางชาวบ้านก็จะขายให้แก่รถรับซื้อขี้ยางของพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน สำหรับชาวบ้านที่ไม่ได้ทำสวนยาง ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย อีกทั้งผู้ชายส่วนหนึ่งในหมู่บ้านยังเดินทางไปเป็นพ่อค้าเร่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยกระจายตัวอยู่ในรัฐเประและรัฐเกดะห์ สินค้าที่นำไปขายส่วนมากคือของใช้ทั่วไปภายในบ้าน เช่น กะละมัง หม้อ เสื่อ จานชาม เป็นต้น ผู้ขายจะบรรทุกสินค้าทั้งหมดลงบนรถสามล้อเครื่องและขับเร่ขายไปตามชุมชนชานเมือง หรือชุมชนชนบท ซึ่งอาชีพพ่อค้าเร่ในประเทศมาเลเซียเป็นอาชีพที่มีมานานแล้วในหมู่บ้านกงกาเยาะ

ในอดีตชาวกงกาเยาะเคยประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา แต่ภายหลังมีการส่งเสริมการปลูกยางพาราเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน พื้นที่นาก็ถูกลดจำนวนลงแล้วถูกแทนที่ด้วยสวนยางพาราในสัดส่วนที่เท่ากัน แต่ต่อมาราคายางพาราสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ชาวบ้านที่เคยทำนาจึงเปลี่ยนมาทำสวนยางพารามากขึ้น ขณะเดียวกันการลดจำนวนพื้นที่นาเพื่อเพิ่มพื้นที่สวนยางพาราก็ส่งผลกระทบให้หนูมีจำนวนมากขึ้นและเข้าไปทำลายข้าวในไร่นา ทำให้ข้าวได้ผลผลิตไม่ดี รวมถึงระบบการจัดการน้ำในกงกาเยาะไม่ดีเหมือนก่อน น้ำไม่อุดมสมบูรณ์ ทำนาไม่สะดวก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพทำนาส่วนหนึ่งเปลี่ยนมาทำสวนยางพารา หรือไม่ก็เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันในกงกาเยาะยังมีหลายครอบครัวที่ยังคงทำนาอยู่ แต่เน้นเก็บผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือนมากกว่านำออกขาย จึงอาจกล่าวได้ว่า การทำนาในหมู่บ้านกงกาเยาะนั้นยังคงดำเนินอยู่เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว แต่ไม่ได้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวชาวกงกาเยาะเหมือนเมื่อ 10-20 ปีก่อน

เมื่อนานมาแล้วในหมู่บ้านกงกาเยาะเคยมีสวนส้มจุก ผลไม้พื้นถิ่นที่เคยสร้างชื่อให้อำเภอจะนะ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก เพราะชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่สวนส้มจุกมาเป็นสวนยางพารา อีกทั้งในหมู่บ้านยังมีการเลี้ยงวัวและแพะไว้ขายเนื้อด้วย แต่เป็นจำนวนน้อยเท่านั้น เนื่องจากรายได้หลักส่วนใหญ่ของชาวกงกาเยาะก็ยังคงมาจากสวนยางพาราเป็นอันดับต้น

นอกจากการทําเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวกงกาเยาะบางส่วนยังทําการค้าในชุมชน โดยเปิดเป็นร้านขายของชำ มีสินค้าอุปโภคบริโภคให้จับจ่ายใช้สอยเกือบทุกชนิดเช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อกลางตลาด รวมถึงเปิดเป็นร้านน้ำชาให้ผู้คนกงกาเยาะโดยเฉพาะผู้ชายได้มาสังสรรค์พูดคุยสนทนาคล้ายสภากาแฟในช่วงเช้าของทุกวัน ซึ่งชายชาวกงกาเยาะจํานวนหนึ่งจะมีร้านน้ำชาประจําของตนเองคล้ายสังกัดทางสังคมที่คนกลุ่มนั้น ๆ เลือกเข้าไปมีสังคมร่วมกัน

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้จะสังเกตได้ว่า แม้จะอยู่ใกล้เมืองจะนะมากแต่บ้านกงกาเยาะก็มีลักษณะ เป็นชุมชนชานเมืองที่มีความเป็นชนบทสูง ทั้งจากสาเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และจากการที่ชุมชนไม่ได้เป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างของรัฐ รวมถึงหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ จากภายนอกเลย ด้วยเหตุนี้แม้กงกาเยาะจะมีความใกล้เมืองเพียงใด แต่ก็ยังคงมีลักษณะความเป็นชุมชนชานเมืองที่สามารถรักษาลักษณะเฉพาะบางอย่างของความเป็นท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

ชาวกงกาเยาะมีวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับชาวมลายูมุสลิมอื่นทั่วไป คือ มีความเชื่อและพิธีกรรมพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งการเข้าสุนัตหมู่หรืองานมาโซะยาวี การทําบุญขึ้นบ้านใหม่ที่ประกอบด้วยเครื่องเซ่นและบายศรีหมากพลูที่เรียกว่า บุหงาซีเระ และการจัดงานมาแกปูโละ รวมถึงการสวดดูอาที่หลุมศพ และพิธีกรรมการเฝ้ากุโบรฺ รวมถึงการทําบุญให้บรรพบุรุษ ซึ่งชาวกงกาเยาะหลายครอบครัวจัดขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับวัตถุมงคล มีการพกเครื่องรางที่มีพระนามหรือพระวจนะของอัลเลาะห์ รวมถึงพิธีกรรมการรักษาความเจ็บป่วยทั้งกายใจด้วยผู้เชี่ยวชาญพลังเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า บอมอ และพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ซีละ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สําคัญอีกด้วย และจากคําบอกเล่าของชายผู้อาวุโสส่วนใหญ่กล่าวว่าตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ สืบทอดมาจนรุ่นปัจจุบันล้วนเคยฝึกซีละมาแล้ว บ้างก็มีญาติเป็นนักดนตรีของซีละ บางส่วนสืบเชื้อสายมาจากซีละหมู่บ้านอื่น เพราะความนิยมในกีฬาซีละไม่ได้มีอยู่เพียงบ้านกงกาเยาะ หากแต่มีอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านมุสลิมตําบลต่าง ๆ ของอําเภอจะนะไปจนถึงอําเภอเทพา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศิลปะการต่อสู้ซีละ

บ้านกงกาเยาะมีศิลปะการต่อสู้ที่เป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งชื่อว่า ซีละ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญของชาวมลายูแถบอำเภอจะนะและอำเภอเทพา ซีละ หรือเรียกว่าดีกา หรือบือดีกา เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยได้รับอิทธิพลด้านศิลปะการแสดงที่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเชีย หรือจากมะละกา และแพร่กระจายมายังประเทศมาเลเซียและทางตอนใต้ของประเทศไทย

ซีละ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ ซีละมือเปล่า โดยผู้แสดงจะใช้เฉพาะมือ แขน และขา เคลื่อนไหวปัดป้องเพื่อทำร้ายคู่ต่อสู้ ซึ่งผู้เล่นซีละจะไม่กำหมัดแน่น เพราะในการเล่นซีละจะมีการตบ จับแขน จับขาคู่ต่อสู้เพื่อเหวี่ยงให้ล้ม การใช้เท้าเพื่อถีบหรือเตะก็ไม่ได้มีท่าทางหนักหน่วง การเล่นซีละมือเปล่าจึงค่อนไปทางการเน้นลีลาการแสดงท่าร่ายรำเสียมากว่าจะเป็นการต่อสู้อย่างจริงจัง และซีละอีกประเภทหนึ่ง คือ ซีละที่ใช้กริชประกอบการต่อสู้ โดยผู้แสดงจะถือกริชคนละ 1 เล่ม แต่เดิมซีละประเภทนี้มีการวางท่าทางแสดงการแทง การหลบหลีก ปัดป้อง ถีบ รับ และการทำลายพลังกล้ามเนื้อคู่ต่อสู้เพื่อให้กริชหลุดออกจากมือ แต่การเล่นซีละกริชในปัจจุบันจะเน้นแสดงท่าทางต่าง ๆ เพียงเบา ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บมากกว่าจะเป็นการต่อสู้จริงจังดังเช่นในอดีต

ขนบและวิธีการเล่นนั้น ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นคู่ชายล้วน แต่งกายรัดกุมสวยงามตามแบบพื้นเมืองมลายู โดยสวมเสื้อคอตั้งแขนยาวผ่าหน้าระดับอก ติดกระดุมโลหะ 3 เม็ด หรือสวมเสื้อยืดแขนสั้น นุ่งกางเกงายาวแบบกางเกงจีนหรือกางเกงแพร มีผ้าลวดลายสวยงามพันทับจากเอวถึงเหนือเข่าและใช้ผ้าคาดเอวทับอีกชั้นหนึ่ง ศีรษะโพกด้วยผ้าที่มีสีสันหรือลวดลาย ถ้าเป็นซีละกริชผู้เล่นจะเหน็บกริชไว้ข้างลำตัว มีกลองแขก 2 ใบ ฆ้อง 1 ใบ และปี่ชวา 1 เลา เป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดง เมื่อดนตรีประโคมขึ้นสักครู่หนึ่ง ผู้เล่นจะก้าวออกมาสู่เวทีพร้อมกันแล้วผลัดกันรำไหว้ครูทีละคน พร้อมทั้งว่าคาถาอาคมต่าง ๆ กระบวนท่ารำการไหว้ครูนั้นจะแตกต่างกันไปตามแบบอย่างของสำนักที่ได้ฝึกหัดมา จากนั้นทั้งสองฝ่ายจะทำความเคารพซึ่งกันและกันแบบพื้นเมือง เรียกว่า สลามมัต แล้วจึงเริ่มแสดงลวดลายท่ารำ ในช่วงแรกจะเป็นการดูชั้นเชิงกันก่อน บางครั้งจะมีการกระทืบเท้า ตบมือ หรือใช้ฝ่ามือตบต้นขาของตนให้เกิดเสียงเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ เมื่อเครื่องดนตรีประโคมเร่งขึ้น ผู้เล่นจะขยับเข้าใกล้กันและหาจังหวะเข้าต่อสู้เพื่อให้คู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ จนเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้จึงถือเป็นการจบการแสดง

ซีละ สามารถเล่นหรือแสดงได้ในหลายโอกาส เช่น งานเฉลิมฉลองในโอกาสที่มีบุตรชาย งานเฉลิมฉลองในเทศกาลสำคัญ งานรื่นเริง งานแก้บน และพิธีเข้าสุนัต แต่โดยปกติการเล่นซีละในพิธีเข้าสุนัตนี้มักจะมีขบวนแห่นกร่วมด้วยเพื่อความรื่นเริงและสนุกสนาน

ชาวกงกาเยาะมีลักษณะการใช้ภาษาที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ส่วนใหญ่ กล่าวคือ ใช้ภาษามลายูถิ่นจะนะเป็นภาษาสื่อสารหลักภายในท้องถิ่น โดยภาษามลายูถิ่นจะนะ มีลักษณะสําเนียงเฉพาะที่แตกต่างจากภาษามลายูถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และถิ่นอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น การอ่านออกเสียงคําที่ต่างจากภาษามลายูปัตตานี เช่นคําว่า กะแจ๊ะ (พูด) ออกเสียงเป็น กะเจ๊าะ, ดูอา (สวด) ออกเสียงเป็น ดอ-ออ, อาเยาะ (พ่อ) ออกเสียงเป็น ยอ และคําว่า จะนะ ออกเสียงเป็น จอเนาะ ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้คําศัพท์ที่แตกต่างกันกับภาษามลายูถิ่นปัตตานี เช่น ฮารีรายอ ที่ในภาษามลายูถิ่นจะนะเรียกว่า รายาปิฎตระ ฆาปอ (อะไร) มลายูถิ่นจะนะพูดว่า แต่ปอ และเตาะแซ (ไม่เอา) พูดว่า เตาะโฆ๊ะ ฯลฯ 


บ้านกงกาเยาะในเหตุการณ์ความไม่สงบร่วมสมัย

กงกาเยาะ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งจนทำให้ชาวกงกาเยาะส่วนใหญ่ต้องขยับขยายต่อเติมบ้านเรือนให้สูงขึ้นเพื่อหลีกหนีน้ำท่วมเกือบทั้งหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการต่อต้านการสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติในตำบลตลิ่งชันและบางส่วนของตำบลป่าชิง รวมถึงสถานการณ์สำคัญที่มีผลกระทบกับชาวกงกาเยาะมากในขณะนี้ คือ สถานการณ์ยาเสพติดและสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากสถานการณ์ยาเสพติดในอำเภอจะนะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั้งหน่วยงานภาครับและเอกชนต่างก็ให้ความสนใจ เนื่องจากมีการระบาดหนักโดยเฉพาะในตำบลป่าชิงและบ้านกงกาเยาะ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดสูตร 4*100 (เครื่องดื่มเสพติดที่ผสมระหว่างน้ำต้มใบกระท่อม น้ำอัดลม ยาแก้ไปบางชนิด และยากล่อมประสาทประเภทยากันยุง) น้ำกระท่อม ยาบ้า และยาอัลฟาโซแรม (Alprazolam) หรือยาเสียสาวที่เข้ามาในพื้นที่ผ่านคลินิกเถื่อน ประกอบกับสถานะที่ตั้งบ้านกงกาเยาะที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนเมืองซึ่งเป็นแหล่งค้ายาเสพติดสำคัญของอำเภอจะนะ ยิ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยาเสพติดเข้ามาระบาดแพร่หลายในบ้านกงกาเยาะได้ง่าย

นอกจากนี้ จะนะยังคงเป็น 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยที่ผ่านมามีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ ย้อนไปในปี 2549 เริ่มจากช่วงต้นปีมีการวางระเบิดขนาดใหญ่หน้าที่พักสายตรวจ สถานีตํารวจภูธรอำเภอจะนะซึ่งเป็นบริเวณกลางเมือง ทําให้มีตํารวจบาดเจ็บสาหัส 7 นาย และชาวบ้านอีก 5 คน รวมถึงอาคารใกล้เคียงได้รับความเสียหายมาก ต่อมาในปีเดียวกันมีการวางระเบิดแสวงเครื่องบนทางรถไฟรอยต่อระหว่างสถานีรถไฟอำเภอจะนะและสถานีรถไฟท่าแมงลักซึ่งเป็นสถานีย่อยที่ห่างจากอำเภอจะนะ 4 กิโลเมตร เหตุการณ์ดังกล่าวทําให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย และในปีถัดมีการเก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักกว่า 15 กิโลกรัม ได้ที่ร้านข้าวต้มแห่งหนึ่งในอำเภอจะนะ โดยครั้งแรกมีการก่อเหตุยิงเจ้าของร้านบาดเจ็บก่อนซุกระเบิดเพื่อทําร้ายเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามากู้เหตุ แต่วงจรระเบิดไม่ทํางาน โดยครั้งที่ 2 มีการเตรียมระเบิดไว้ที่หน้าร้านแต่มีการเก็บกู้ได้ก่อน แม้ระยะหลังสถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างลดลง แต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าอำเภอจะนะเป็นอำเภอที่ปลอดจากเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ แม้ว่าเมื่อต้นปี 2556 ฝ่ายทหารได้มีการส่งมอบพื้นที่อำเภอจะนะและอำเภอนาทวีคืนให้ฝ่ายปกครองภาคพลเรือนดูแล แต่คนในพื้นที่เองก็ยังคงมีความหวาดหวั่นต่อสถานการณ์ความรุนแรงเสมอ ที่บ้านกงกาเยาะก็เช่นกัน (ศุภราภรณ์ กันตะพัฒนะ, 2556: 43)


วัฒนธรรมสยามและมลายูปาตานี และกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลามที่มีต่อซีละ

ในทางประวัติศาสตร์ เมืองจะนะมีสถานะเป็นเมืองชายขอบหรือรอยต่อของศูนย์กลางอํานาจทางการเมืองและวัฒนธรรมในภาคใต้ โดยเฉพาะระหว่างนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ซึ่งมีความเข้มทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา กับเมืองปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูอันเป็นศูนย์กลางสำคัญของการเผยแพร่วัฒนธรรมมลายูพื้นถิ่นและศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลาม ประชาชนของจะนะเองก็ผสมปะปนกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิม (สภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา 2548: 5) รวมถึงลักษณะเฉพาะของความเป็นเมืองหน้าด่านในสภาวะจำยอมต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับปัตตานีในแง่ของการเมืองการปกครองที่มักปรากฏเมื่อสยามหรือรัฐไทยกำลังอ่อนแอหรือเสื่อมอิทธิพล ความสัมพันธ์ดังกล่าวระหว่างจะนะ สยาม และปัตตานี ส่งผลให้จะนะได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมทั้งจากรัฐสยามและมลายูปัตตานี ทว่า จะนะก็ไม่ได้รับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งอย่างสมบูรณ์ แต่เลือกรับปรับใช้เพียงบางวัฒนธรรมให้มีความสอดคล้องกับวิถีอิสลามพื้นบ้านของชาวจะนะจนมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่นเดียวกับการผสมผสานความเชื่อเรื่องครูหมอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ซีละในพื้นที่บ้านกงกาเยาะและชุมชนใกล้เคียง

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา คณะซีละในหมู่บ้านกงกาเยาะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลาม ทำให้คณะซีละส่วนใหญ่เริ่มปิดตัวลง คงเหลือเพียงคณะเดียวที่ยังคงรับงานแสดงอยู่บ้างประปราย แต่จำนวนงานที่มาเชิญคณะซีละไปร่วมแสดงก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด กระทั่งปี 2536 ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้เดินทางมาเยี่ยมหมู่บ้านกงกาเยาะ หมู่บ้านกงกาเยาะนำโดยนายเซ็ง อดีตนักกีฬาซีละท้องถิ่นได้ชักชวนคณะซีละเก่าจัดแสดงซีละต้อนรับคณะของ ดร.ไตรรงค์ และการแสดงครั้งนั้นได้รับถ่ายทอดสดออกอากาศทางโทรทัศน์ ทำให้มีมัสยิดและหน่วยงานต่าง ๆ สนใจเชิญชวนคณะซีละจากบ้านกงกาเยาะไปร่วมแสดง โดยในปี 2548 สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มอบงบประมาณ 200,000 บาท แก่ชุมชนเพื่อร่วมฟื้นฟูวัฒนธรรมการละเล่นซีละในกลุ่มเยาวชน การละเล่นซีละจึงได้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง แต่ฝึกได้เพียง 2-3 ปี เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่มีทักษะปานกลางและไม่ค่อยได้แสดงก็เลิกราไป เหลือเพียงเด็กที่พอมีแววแสดงซีละได้ดีเพียงไม่กี่คน แต่เด็กกลุ่มนี้เมื่อเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาก็มักไม่กลับมาเล่นซีละต่อ ด้วยกังวลว่าวิถีซีละซึ่งมีทั้งการไหว้ครูและพิธีกรรมบูชาครูหมอจะผิดหลักศาสนาอิสลาม ปัจจุบันสมาชิกหลัก ๆ ของคณะซีละจึงยังคงเป็นชายวัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่

การเล่นซีละผิดต่อหลักศาสนาอย่างไร ?

หากจะอธิบายว่าการเล่นซีละผิดต่อหลักศานาอิสลามอย่างไรนั้น มีคำกล่าวคำหนึ่งซึ่งสามารถอธิบายประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี คือ เมาะซิยะหฺ หมายถึง สิ่งที่อิสลามไม่ควรแลดูเพราะจะดึงจิตใจให้ออกห่างจากศาสนา กล่าวคือ พิธีกรรมความเชื่อพื้นบ้าน ตลอดจนการละเล่น ร้องรำ ประเพณีรื่นเริงต่าง ๆ ล้วนเข้าข่ายเมาะซิยะหฺทั้งสิ้น โดยคำกล่าวนี้เป็นคำที่กลุ่มเคร่งศาสนา โดยเฉพาะกลุ่ม เญมาอะฮฺตับลีฆ หรือที่เรียกติดปากว่า กลุ่มดะวะหฺ ใช้วิพากษ์วิจารณ์การละเล่นซีละ แต่มีข้อแย้งกันอยู่ว่าดะวะหฺที่ต่อต้านซีละนั้นไม่ใช่ดะวะหฺกลุ่มเญมาอะฮฺตับลีฆ หรือชาวบ้านเรียกว่าดะวะหฺกลุ่มหลังที่เข้ามาภายในพื้นที่เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน แต่เป็นดะวะหฺกลุ่มแรกที่เข้ามาก่อนหน้านั้นต่างหากที่มีแนวคิดแบบเมาะซิยะหฺ

ในอดีตกงกาเยาะมีประเพณีพื้นบ้านมากมาย ไม่เพียงแต่ซีละ แต่ยังมีเมาะโย่ง มาโซะยาวี และดีเกร์ฮูลู เป็นอาทิ แต่ภายหลังการเข้ามาของกลุ่มที่รับเอาแนวคิดกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลามไปปรับใช้ หรือกลุ่มดะวะหฺกลุ่มแรกที่เข้ามาในกงกาเยาะเพื่อเผยแผ่แนวคิดกลับสู่วิถีอิสลามดั้งเดิม ซึ่งมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามเข้มงวดมากมาย แม้กะทั่งการดูโทรทัศน์หรือฟังวิทยุ รวมถึงเครื่องดนตรีทุกชนิดล้วนเป็นสิ่งต้องห้าม (เมาะซิยะหฺ) สำหรับผู้ยึดถือแนวคิดนี้ และความเข้มงวดนี้เองที่ทำให้ชาวกงกาเยาะปฏิเสธไม่เข้าร่วมกิจกรรมซีละไปจนถึงต่อต้าน ส่งผลให้ซีละค่อย ๆ ลดบทบาทลงไปจากชุมชน แต่ไม่นานดะวะหฺกลุ่มดังกล่าวก็ออกไปจากหมู่บ้าน และมีดะวะหฺกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าเญมาอะฮฺตับลีฆเข้ามาแทน โดยกลุ่มนี้ไม่ได้ห้ามหรือต่อต้านซีละ เพียงแต่บอกว่าไม่สมควรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของซีละภายในกงกาเยาะปัจจุบันก็ยังนับว่าน่าเป็นห่วง เพราะนอกจากหลักศาสนาที่เข้ามามีบทบาทต่อความนิยมของซีละแล้ว ยังมีเรื่องยุคสมัย รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอีกหลายประการที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสืบทอดซีละ และน่าเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ซีละอาจหายไปจากวิถีชีวิตของชาวกงกาเยาะรวมถึงความทรงจำของชาวมลายูในจะนะก็เป็นได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เจษฎา เนตรพลับ. (2549). การแสดงสิละคณะพิกุลทอง จังหวัดปัตตานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เจษฎา เนตรพลับ. (2553). สนีซีละ : นาฏยศิลป์ในพิธีกรรมประเพณีของชาวมลายูปาตานี. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://kb.psu.ac.th/

เนชั่นออนไลน์. (2560). ซีละ ,ดีกา หรือบือดีกา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิม แต่เดิมสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากชวาหรือคาบสมุทรมาลายูทางตอนใต้ ก่อนเข้ามาแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน. ตานี. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.nationtv.tv/news/

ศุภราภรณ์ กันตะพัฒนะ. (2556). พิธีกรรมความเชื่อท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษาบ้านกงกาเยาะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา. (2548). โครงการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ชื่อบ้านนามเมือง) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา. สงขลา: สำนักงานเลขาธิการสภาวัฒนธรรมอำเภอจะนะ. 

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/