Advance search

บ้านโมคลาน

“ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังพระภูมี ต้นศรีมหาโพธิ เจ็ดโบสถ์ แปดวิหาร เก้าทวาร สิบเจดีย์”

หมู่ที่ 11
โมคลาน
โมคลาน
ท่าศาลา
นครศรีธรรมราช
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
6 ส.ค. 2023
บ้านโมคลาน


“ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังพระภูมี ต้นศรีมหาโพธิ เจ็ดโบสถ์ แปดวิหาร เก้าทวาร สิบเจดีย์”

โมคลาน
หมู่ที่ 11
โมคลาน
ท่าศาลา
นครศรีธรรมราช
80160
องค์การบริหารส่วนตำบลโมคลาน โทร. 0-7575-0055
8.583211
99.92519
องค์การบริหารส่วนตำบลโมคลาน

ตําบลโมคลานเป็นแหล่งที่มีความสําคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแหล่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากพื้นที่บางส่วนของตําบลนี้เคยเป็นชุมชนโบราณที่มีความเจริญมาช้านาน บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งโบราณคดีที่สําคัญแหล่งหนึ่งในภาคใต้

บ้านโมคลานเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุประมาณ 5,000-8,000 ปีมาแล้ว ได้มีการศึกษาสำรวจชุมชนโมคลานตั้งแต่ พ.ศ. 2500 พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย และในปี พ.ศ. 2511 ได้ค้นพบเนินโบราณสถานของโมคลาน หรือแนวหินตั้ง ซึ่งจัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ และห่างจากเนินโบราณสถานโมคลานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร คาดว่าแต่เดิมเป็นพรุลึกมากเรียกว่า “ทุ่งน้ำเค็ม” ปัจจุบันตื้นเขิน ทั้งนี้ ชาวบ้านยังได้ขุดพบเงินเหรียญแบบฟูนัน จึงสันนิษฐานว่าบ้านโมคลานอาจเป็นชุมชนเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก จากหลักฐานที่พบทั้งเทวสถาน โบราณวัตถุในศาสนาพราหมณ์ สระน้ำโบราณ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายในบ้านโมคลาน แต่ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาได้เข้ามาแพร่หลายในบ้านโมคลาน เพราะพบหลักฐานโบราณวัตถุ โบราณสถานทางศาสนาพุทธอยู่มากเช่นเดียวกัน แต่โบราณสถานทางศาสนาของบ้านโมคลานคงจะถูกทอดทิ้งไปเป็นเวลานาน อาจจะก่อนหรือพร้อมกับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยมุสลิม จากรัฐไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา 

ทั้งนี้ ชาวโมคลานมีกลอนอยู่บทหนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนลายแทงปริศนา ประวัติความเป็นมาชุมชนโมคลานว่า “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังพระภูมี ต้นศรีมหาโพธิ เจ็ดโบสถ์ แปดวิหาร เก้าทวาร สิบเจดีย์” ซึ่งพระอธิการนิติ นิปโก เจ้าอาวาสวัดโมคลาน ได้เฉลยปริศนาบทกลอน ดังนี้

  • ตั้งดินตั้งฟ้า คือ การตั้งเมืองสมัยก่อน

  • ตั้งหญ้าเข็ดมอน คือ พื้นที่เดิมของโมคลานเต็มไปด้วยหญ้าเข็ดมอน สมัยก่อนเชื่อว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ นี้ ด้วยว่าเป็นหญ้าที่มีต้นกำเนิดมาพร้อมดินและฟ้า ทำให้หญ้าเข็ดมอนมีอีกสถานะคือเป็น “หญ้าดึกดำบรรพ์” ชาวเมืองจึงจะไม่เดินข้ามหญ้าชนิดนี้ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว หญ้าเข็ดมอญนอกจากจะเป็นหญ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวโมคลานแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาแก้ปวดเมื่อย ซึ่งคำว่า “เข็ด” ภาษาใต้ แปลว่า ปวดเมื่อย

  • โมคลานตั้งก่อน คือ พื้นที่โบราณสถานโมคลานที่สร้างมาเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว

  • เมืองคอนตั้งหลัง คือ เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองหลังโบราณสถานโมคลาน

  • ข้างหน้าพระยัง คือ มีองค์พระ หลังมีการสำรวจพื้นที่ชุมชนโบราณโมคลานที่พบครั้งแรก 3 องค์ ปัจจุบันยังอยู่ในวัดโมคลาน (ยัง ภาษาใต้ แปลว่า มี)

  • ข้างหลังพระภูมี คือ มีองค์พระ

  • ต้นศรีมหาโพธิ์ คือ เคยมีต้นโพธิ์ ปัจจุบันไม่มีแล้ว

  • เจ็ดโบสถ์แปดวิหาร คือ หมายเลขลำดับโบราณสถาน หมายลขเจ็ด คือ โบสถ์ และหมายเลขแปด คือ วิหาร

  • เก้าทวารสิบเจดีย์ คือ หมายเลขลำดับโบราณสถาน หมายเลขเก้า ทวาร หมายเลขสิบ เจดีย์

บ้านโมคลานเป็นชุมชนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานของประชากรตั้งอยู่ตามแนวยาวของสันทรายเก่า ลักษณะของชุมชนกระจายในแนวยาวเหนือ-ใต้ มีลำน้ำไหลมาจากเทือกเขานครศรีธรรมราชผ่านชุมชน 2 สาย แล้วไปลงทะเลที่อ่าวไทย ได้แก่ คลองชุมขลิง (คลองยิง) และคลองโต๊ะแน็ง (คลองโมคลาน) แต่เดิมคลองทั้งสองนี้คงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่เพราะยังมีร่องรอยของตะกอนและการกัดเซาะ แต่ปัจจุบันตื้นเขิน มีที่ราบลุ่มทั้งสองฝั่งคลอง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรในชุมชนโมคลานจึงมีอาชีพทำนา ทำสวนมะพร้าว ยางพารา และสวนผลไม้บนสันทราย และยังมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผามีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยก่อน

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานสติถิประชากร ณ เดือนธันวาคม 2565 ระบุจำนวนประชากรตำบลโมคลาน หมู่ที่ 11 บ้านโมคลาน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 369 ครัวเรือน จำนวนประชากร 1,523 คน โดยแยกออกเป็นประชากรชาย 762 คน และประชากรหญิง 761 คน ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของบ้านโมคลานเป็นชาวไทยมุสลิมมากถึงร้อยละ 70 และอีกร้อยละ 30 เป็นชาวไทยพุทธ

มลายู

ชาวบ้านโมคลานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น การทํานา ทําสวนยางพารา ทําสวนมะพร้าว ทําสวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น และปลูกพืชไร่พืชผักไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีการประกอบอาชีพประมงและอาชีพรับจ้าง ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่มีอาชีพทํานาเพื่อบริโภคในครัวเรือน ทําสวนยาง ทําสวนมะพร้าว ทําประมง และรับจ้าง เช่น รับจ้างกรีดยาง รับจ้างทําโรงอิฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่มากนัก ทําให้มีฐานะยากจน เนื่องจากจากขาดความรู้ในการพัฒนาอาชีพและขาดเครื่องมือที่ทันสมัย ทั้งยังยึดมั่นในหลักศาสนาที่ว่าการคุมกําเนิดเป็นบาป จึงทําให้แต่ละครอบครัวมีบุตรมาก บางครอบครัวมีบุตรมากกว่า 10 คน ทําให้สิทธิในที่ทํากินมีน้อย ซึ่งส่งผลต่ออาชีพและรายได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ช่วยส่งเสริมอาชีพในตําบลด้วยการส่งเสริมให้หมู่บ้านทําไร่นาสวนผสม ซึ่งได้เข้ามาช่วยเหลือด้านงบประมาณและแนะนําให้ผู้ที่จะทําไร่นาสวนผสมดังกล่าวแบ่งพื้นที่บางส่วนที่มีอยู่มาทําการเกษตร เช่น ปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อบริโภค และที่เหลือจากบริโภคได้นําออกขายภายในหมู่บ้าน ทําให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

อนึ่ง ในอดีตตำบลโมคลานเป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ ถึงขั้นว่ามีการก่อตั้งเป็นชุมชนเครื่องปั้นดินเผาที่ตั้งอยู่บนสันทรายเก่าห่างจากโบราณสถานโมคลานมาทางทิศเหนือราว 100 เมตร ในอดีตกาลประมาณการว่ามีพื้นที่กว่า 100 ไร่ ที่เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมืองของภูมิภาคนี้ ก่อนที่เครื่องเคลือบจากประเทศจีน และเครื่องชามสังคโลกสมัยสุโขทัยจะเข้ามาครองตลาด และแม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาตำบลโมคลานจะลดน้อยลง ทว่า โมคลานก็ยังคงเป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของภูมิภาค และบ้านโมคลานก็ยังคงมีประชากรบางส่วนที่ยึดการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลักอยู่ โดยเครื่องปั้นดินเผาที่เผาขึ้นลายเรียบร้อยแล้วจะมีทั้งที่วางขายในหมู่บ้าน และส่วนหนึ่งก็จะนำออกไปจำหน่ายภายนอกชุมชน เช่น ที่ทำการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิง (เครื่องปั้นดินเผา) อำเภอท่าศาลา

ชาวตำบลโมคลานเกือบทั้งตำบลเป็นชาวไทยมุสลิม กระทั่งบางพื้นที่ในตำบลไม่มีชาวไทยพุทธหรือชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่นปะปนอยู่เลย โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านวัดโหนดเป็นพื้นที่ที่มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุด รองลงมา คือ หมู่ที่ 9 บ้านทุ่งเกราะล่าง และบริเวณแหล่งชุมชนโบราณหมู่ที่ 10 บ้านนางไกร และหมู่ที่ 11 บ้านโมคลาน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ที่ปรากฏในตำบลโมคลานเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ เช่น เทศกาลถือศีลอด พิธีฮัจญ์ สภากาแฟ (ร้านน้ำชา) ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งการมีอยู่ของวัฒนธรรมประเพณีทางพุทธศาสนา พุทธศาสนานั้นยังคงมีอยู่ เพียงแต่เป็นเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนโบราณโมคลาน

ชุมชนโบราณโมคลานเป็นบริเวณที่มีหลักฐานทางโบราณที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะลัทธิไศวนิกายหลายอย่างในชุมชนแห่งนี้ เช่นเดียวกับที่พบในเขตอำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพราหมณ์ดังกล่าว ส่วนใหญ่ทำด้วยหิน และมีอายุในราวพุทธศควรรษที่ 12-14 หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ ณ แหล่งศิลปกรรมโมคลาน ได้แก่

  1. หลักหิน เป็นหินแสดงขอบเขตของโบราณสถานหรือเขตวัดจำนวนหลายแนวจะปักหินเป็นแนวตรงกันไป ต่อมาได้มีผู้เคลื่อนย้ายเสาหินมาเพื่อที่จะสร้างกุฏิ อยู่ทางทิศเหนือของโบราณสถานประมาณ 100 เมตร ซึ่งปัดเรียงรายอยู่ในปัจจุบัน
  2. ซากเจดีย์ พบเป็นเนินโบราณสถานทางทิศตะวันออกของแนวหลักหินแนวแรก ห่างประมาณ 20 เมตร มีซากเจดีย์อยู่องค์หนึ่งสภาพคล้ายกับจอมปลวก ไม่สามารถเห็นได้ชัดว่าเป็นเจดีย์ทรงอะไร ปัจจุบันได้รับการขุดแต่งและบูรณะพระเจดีย์องค์นี้แล้ว
  3. ซากเทวสถานปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยของเสากุฏิส่วนโบราณวัตถุจากเทวสถานจำนวนมากได้เคลื่อนย้ายออกมาวางไว้ตามโคนต้นไม้ทางด้านทิศเหนือของเนิน
  4. โยนิ โดยพบในซากของเทวสถานหลายชิ้น
  5. พระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดสูงราว 50 เซนติเมตร จำนวน 1 องค์ ปัจจุบันไม่ทราบว่าถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ใด
  6. เศษภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุอื่น ๆ (กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม, 2563: ออนไลน์)

นิทานพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมโมคลาน

เนื่องจากตำบลโมคลานเป็นพื้นที่ชุมชนโบราณและแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ และเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมเข้ามาอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้มีการสั่งสมมรดกทางวัฒนธรรมไว้มากมาย ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธโดยทั่วไป ในบรรดาวัฒนธรรมต่าง ๆ นั้น นิทานพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมที่สําคัญอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิมในตําบลนี้ โดยมีนิทานที่เล่าสู่กันฟังมาช้านาน ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมในตำบลโมคลานได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงปรากกฏการเล่านิทานในกลุ่มชาวไทยมุสลิมอยู่มาก โดยนิทานพื้นที่ของชาวไทยมุสลิมที่ปรากฏในตำบลโมคลานนั้นมีถึง 140 เรื่อง จัดจำแนกออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. นิทานมุขตลก เป็นนิทานที่มุ่งให้ความบันเทิงใจแก่ผู้ฟัง ก่อให้เกิดอารมณ์ขันและความสนุกสนาน มีทั้งหมด 35 เรื่อง เช่น อาหวางไปเหรา คนสามชื่อ แก้วสารพัดนึก ลุงบอดกับยายหนวก น้ำเต้าทอง อาหวางเฝ้าเมีย อ้ายเท่งกับอ้ายทอง ตาบอดลักไก่ ลูกเขยคนใหม่ ไอ้ทองลักพร้าวของไอ้นุ้ย ไอ้เรือรั่ว ฯลฯ

ตัวอย่างเรื่อง อาหวางไปเหรา

“วันหนึ่งอาหวางไปเหรา (สุเหร่า) มันไม่เคยไปสักวัน วันศุกร์มันไปเหรา พอไปถึงเอาน้ำละหมาดแล้วขึ้นไปละหมาด พอโต๊ะอิหม่ามก้มเห็ดเล็ดไข (ลูกอัณฑะ) อาหวาง โต๊ะอิหม่ามตกใจโดดหน้าต่างวิ่งจบท็อง (ทั่วทุ่งนา) อาหวางวิ่งตามไป อาหวางไม่รู้นึกว่าพาละหมาดจึงวิ่งตามไป อาหวางกลับบ้านไปบอกเมียละหมาดเหนื่อยไม่ไปเราแล้ว เพราะละหมาดเหนื่อยเหลือเกิน”

2. นิทานอธิบาย เป็นนิทานที่มุ่งเน้นให้คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาและสภาพของมนุษย์ สัตว์ พืช หรือธรรมชาติต่าง ๆ นิทานประเภทนี้มีทั้งหมด 20 เรื่อง เช่น ดาโหรบ้า แม่ไก่กะมูสัง เต่ากับควาย ในดาน หมากับแมว เสือกับจง ฯลฯ

ตัวอย่างเรื่อง ในดาน

“มีคนเดินทางอยู่คนหนึ่งต้องการเดินทางไปเมืองยักษ์ เรียกว่าเมืองดาน แล้วเที่ยวถามชาวบ้านว่ารู้จักทางที่จะไปในดานไหม ชาวบ้านก็บอกว่าให้ไปถามแมง (แมลง) ภู่ซิว่าเมืองยักษ์ไปทางไหน แล้วคนเดินทางคนนั้นก็ไปหาแมลงภู่ พบแมลงภู่อยู่ในรูกระดาน แล้วทำให้คนเดินทางคนนั้นได้รู้ว่าทางไปดานไปทางไหน”

3. นิทานภูมินามหรือนิทานเกี่ยสกับกำเนิดสถานที่ เป็นนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ มี 3 เรื่อง ได้แก่ ประวัติทุ่งประ ตำนานบ้านทุ่งเกราะ และวังแม่ลูกอ่อน

ตัวอย่างเรื่อง ประวัติทุ่งประ

“มีครอบคัวอยู่ครอบครัวหนึ่ง ในสมัยก่อนเป็นที่ป่าเขาไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีคนเฒ่าคนแก่จากเมืองคอน (นคร) เป็นคนอิสลาม ได้มาทำนาหากินอยู่บริเวณท็อง (ทุ่ง) คนอิสลามเรียกว่า ‘ปะ’ ต่อมาลูกของเขาได้มาหา แล้วได้ยินข่าวว่าที่นั่นเป็นท็อง จึงเรียกว่า ‘ท็องปะ’ ”

4. นิทานเกี่ยกับความเชื่อต่าง ๆ เป็นนิทานเกี่ยกับความเชื่อในอำนาจเร้นลับ ทีปรากฏในตำบลโมคลานมีทั้งหมด 39 เรื่อง เช่น โอ่งวิเศษ ผีมะจากกุโบร์ ลูกสิบสองคน เมียงู การผจญภัยในภูเขาแก้ว คนลักอ้อย กวางวิเศษ ลูกฆ่าพ่อ หุ่นไม้พูดได้ เพทกุมาร คนขาดมะหยาง เป็ดของพระเจ้า ฯลฯ

ตัวอย่างเรื่อง ผีมะจากกุโบร์

“อยู่มาวันหนึ่งผัวหมัน (มัน) ไปกินเหล้า พอหมันไปกินจนเสร็จแล้วก็ได้กลับมาบ้าน แล้วพอมาถึงบ้านหมันก็ได้เรียกเมียว่า ‘อีเมียเหอ (เอ๋ย) มาเปิดตู (ประตู) ให้กูที’ ฝ่ายเมียหมันหลับกะไม่ได้ยินผัวเยียก (เรียก) ผัวหมันจึงเดินเข้าไปนอนที่ดงกล้วยข้างบ้านซึ่งอยู่ใกล้กุโบร์ พอนอนได้สักพักมันได้ยินเสียงดังหึ ๆ อยู่ในดงกล้วย และก่า (ก็) มีมือมากิด (สะกิด) ที่หลัง หมันก่าไม่ผั (หัน) ไปแล (ดู) เพราะคิดว่าต้องเป็นมะ (แม่) ที่ตายเมื่อไม่กี่วันที่เขาได้พากันไผฝังไว้ที่กุโบร์ข้างบ้าน หมันกะออกวิ่งไปที่บ้าน เมียหมันกะตื่นพอดี เปิดดูแล้วถามว่า ‘มึงหนีอะไรมา’ ผัวตอบว่า ‘ผีมะหมันมากิดกู’ ว่าแล้วก็เข้านอน ต่อเช้า (พรุ่งนี้เช้า) ผมร่วงหมดเลย”

5. นิทานคติ เป็นนิทานที่มีเนื้อหาอบรมสั่งสอน หรือให้แง่คิดในการดำเนินชีวิต นิทานคติที่ปรากฏในตำบลโมคลานมีทั้งหมด 43 เรื่อง เช่น ชายคนหนึ่งกับความจน วัววิเศษกับสาวมีเหา กวางเขางาม ลูกสอนพ่อ ใจเร็วด่วนได้ แม๊ะจี้หวีกับแม๊ะตี เมาะข้าว รวยเพราะขึ้นเขา ไชชาย ลูกที่ไม่เชื่อพ่อแม่ ครอบครัวผีเสื้อ ฯลฯ  

ตัวอย่างเรื่อง กวางเขางาม

“วันหนึ่งมีกวางตัวหนึ่งเขามันงาม วันหนึ่งมันออกไปหากิน มันเห็นควายตัวหนึ่งยืนกินหญ้าขวางทาง กวางคิดว่าเขาของควายงามสู้เขาของมัยไม่ได้ กวางจึงพูดว่า ‘เขาของมึงใหญ่กว่าเขาของกู แต่ไม่งามเหมือนของกู’ ควายได้ฟังก็รู้สึกโมโห จึงพูดว่า ‘เขาของกูไม่งาม แต่เขาของกูทำให้มึงตายได้’ กวางจึงพูดเยาะเย้ยควายว่า ‘ถ้ามึงเก่งมึงไปฆ่าตัวอื่นให้กูแลที’ ควายก็โกรธวิ่งเข้าขวิดกวางหนุ่มทันที กวางหนุ่มตกใจโดดหนีคิดว่าเราพูดไม่ดี จึงเป็นอันตรายอย่างนี้”

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บทบาทของร้านน้ำชาในพื้นที่ทางวัฒนธรรมคนเมืองคอน

การก่อตัวของพื้นที่สภากาแฟในเมืองนครศรีธรรมราชนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยปรากฏตามย่านชุมชน ทั้งตลาดนัด มัสยิด และย่านการค้า หากแต่ไม่ได้เรียกว่า สภากาแฟ แต่เรียกว่า ร้านน้ำชา เพราะลักษณะแบบสภากาแฟในภาคใต้นั้นส่วนใหญ่นิยมขายน้ำชามากกว่ากาแฟ เริ่มแรกนั้นร้านน้ำชาไม่ได้เป็นที่นิยมดังเช่นปัจจุบัน แต่ต่อมาเริ่มทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยพื้นที่สาธารณะของชาวมุสลิม เช่น มัสยิด ถูกคลายความสำคัญลงเนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองการปกครองของรัฐส่วนกลาง ด้วยอุดมการณ์การสร้างรัฐชาติในสมัยรัชกาลที่ 6 และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พื้นที่สาธารณะเหล่านั้นถูกควบคุมมากขึ้นและไม่อนุญาตให้ราษฎรเข้าไปใช้ได้อย่างเสรี ประกอบกับกระแสโลกาภิวัฒน์และการเข้ามามีบทบาทของสื่อสมัยใหม่ยิ่งทำให้พื้นที่สาธารณะ ทั้งวัด มัสยิด และมหรสพ ถูกคลายความสำคัญลงไปอีก ร้านน้ำชาจึงค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทในการเป็นพื้นที่สาธารณะของชาวมุสลิมมากยิ่งขึ้น เช่น เปิดโอกาสให้ผู้คนได้พบปะและปฏิสัมพันธ์กันอย่างอิสระและปราศจากกฎเกณฑ์อำนาจรัฐมาควบคุม และเป็นพื้นที่แห่งการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและวัฒนธรรมของคนในชุมชน ร้านน้ำชาจึงกลายเป็นสโมสรประจำกลุ่ม แต่ละคนต่างเข้าไปในร้านน้ำชาตามเงื่อนไขที่ตนเองต้องการ เช่น เข้าไปเพื่อหย่อนใจ พูดจาตลกขบขัน แลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสารบ้านเมือง เข้าไปเพื่อพบเจอกลุ่มคนที่สนใจงานอดิเรกเดียวกัน ทั้งการเล่นหมากรุก ดูนกกรงหัวจุก เข้าไปพูดคุยเรื่องหวย พบเจอนายหัวเพื่อหางาน หาอาชีพให้ตนเอง ตลอดจนกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เข้าไปเพื่อฟังเพลง พูดถึงเรื่องเสื้อผ้า หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจ เป็นต้น 

กรมการปกครอง. สำนักบริหารการทะเบียน. (2565). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2563). ชุมชนโบราณโมคลาน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

แผนที่ความรู้ในตัวคน ชุมชนถิ่นใต้. (2557). แผนที่ความรู้ในตัวคน " เครื่องปั้นดินเผาโมคลาน ". สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/KnowledgeMapOnline

มูลนิธิพ่อตากแม่ปราง. (2560). แหล่งอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาแห่งโมคลาน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎคม 2566, จาก http://tcpall.com/

สุทธาทร พูลสวัสดิ์. (2539). ศึกษานิทานพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมที่ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

โอปอล์ ประภาวดี. (2547). ร้านน้ำชา : พื้นที่มีความหมายของคนเมืองนครศรีธรรมราช กรณีศึกษาเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

Boonpen Chootong. (2566). โบราณสถานโมคลาน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎคม 2566, จาก https://library.wu.ac.th/

Njoy. (2552). แหล่งโบราณคดีภาคใต้ – บ้านโมคลาน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎคม 2566, จาก http://www.openbase.in.th/

Thailandtourism. (2566). โบราณสถานวัดโมคลาน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/