Advance search

ชุมชนหนึ่งเดียวในอำเภอนาคูที่มีประชากรเป็นชาวญ้อและใช้ภาษาสำเนียงเดียวกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

บ้านนากระเดา
สายนาวัง
นาคู
กาฬสินธุ์
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
15 ส.ค. 2023
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
15 ส.ค. 2023
บ้านนากระเดา

มาจากที่ภายในหมู่บ้านมีต้นสะเดาขนาดใหญ่ หน่วยงานพัฒนาการเคลื่อนที่หน่วยที่ 1 ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานที่บ้านนาคู (ซึ่งขณะนั้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเขาวง) ได้ให้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ผู้นำหมู่บ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านนากระเดา” (จากข้อมูลเอกสารประจำหมู่บ้านนากระเดา โดยนายโสวัตร แหวนเพชร)


ชุมชนหนึ่งเดียวในอำเภอนาคูที่มีประชากรเป็นชาวญ้อและใช้ภาษาสำเนียงเดียวกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

บ้านนากระเดา
สายนาวัง
นาคู
กาฬสินธุ์
46160
16.7422314927437
104.033748060464
องค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง

บ้านนากระเดา มีบรรพบุรุษอพยพถิ่นฐานมาจากเมืองบก-เมืองวัง เป็นดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดิมหมู่บ้านนี้อยู่ที่หมู่บ้านภูแล่นช้าง ได้ย้ายถิ่นกันมาอยู่ที่บ้านนากระเดา และเป็นหมู่บ้านเดียวในเขตอำเภอนากระเดาที่มีภาษาถิ่นเป็นของตนเอง คือ “ภาษาญ้อ” มีสำเนียงเช่นเดียวกับภาษาถิ่นของชาวอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อก่อนนั้นที่ตั้งของหมู่บ้านมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ เหมาะแก่การทำไร่ ทำนา ทำการเกษตร จึงได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งบ้านนากระเดา มีบรรพบุรุษอพยพถิ่นฐานมาจากเมืองบก-เมืองวัง เป็นดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดิมหมู่บ้านนี้อยู่ที่หมู่บ้านภูแล่นช้าง ได้ย้ายถิ่นกันมาอยู่ที่บ้านนากระเดา และเป็นหมู่บ้านเดียวในเขตอำเภอนาคูที่มีภาษาถิ่นเป็นของตนเอง คือ “ภาษาญ้อ มีสำเนียงเช่นเดียวกับภาษาถิ่นของชาวอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อก่อนนั้นที่ตั้งของหมู่บ้านมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ เหมาะแก่การทำไร่ ทำนา ทำการเกษตร จึงได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง

ตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้าน

บ้านนากระเดา ตั้งอยู่ที่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ใกล้กับทิวเขาภูพาน ตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ: ติดต่อกับบ้านนาคู ตำบลนาคู และบ้านนากุมสิด ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์

  • ทิศตะวันออก: ติดต่อกับบ้านนากุมสิด ตำบลนากุมสิด ตำบลนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ และบ้านบ้านส้มป่อย ตำบลสระพังทอง อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

  • ทิศใต้: ติดต่อกับบ้านกุดตา ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์

  • ทิศตะวันตก: ติดต่อกับบ้านวังเวียง ตำบลนาคู อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์

ลักษณะกายภาพ

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ดอน เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่ มีลำห้วยไหลผ่าน 1 สาย คือ ลำห้วยมะโน อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาใกล้เคียง พื้นที่ของหมู่บ้านเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาข้าว ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านเกือบทั้งหมด ชาวบ้านปลูกข้าวเหนียวเป็นส่วนมากเมื่อบริโภคในครัวเรือน ปลูกข้าวเจ้าเพื่อจำหน่ายและปลูกพืชผักอื่นๆ เพราะสามารถรับน้ำจากชลประทานห้วยมะโน ที่ไหลผ่านตำบลนาคูทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ทำให้จากเดิมที่บ้านนากระเดาประสบปัญหาภัยแล้งจากการทำนา เพราะต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านนากระเดาถือได้ว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำไม่ท่วม ดินเป็นดินภูเขาไฟที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงส่งผลดีต่อการทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน จนมีการกล่าวกันว่า ข้าวที่ปลูกในพื้นที่อำเภอเขาวง-นาคูนุ่มอร่อยมาก จนขึ้นชื่อและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคไปทั่วจังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากจะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีแล้ว ลักษณะภูมิประเทศโดยรอบยังมีภูเขาภูพานล้อมรอบ หากมองรอบหมู่บ้านจะมองเห็นภูเขาล้อมรอบในระยะไกลอยู่ทุกทิศทางอีกด้วย

ลักษณะภูมิอากาศ

ฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงปลายเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัด ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เริ่มมีฝนตก ไปจนถึงเดือนตุลาคม แต่ปลายฤดูฝนฝนจะตกน้อยลง ในขณะเดียวกันอากาศจะเริ่มหนาวเย็น ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป โดยเฉพาะเดือนมกราคม อุณหภูมิประมาณ 10-15 °C ลักษณะหนาวแห้งแล้ง ลมพัดแรง จากการสอบถามชาวบ้านจึงทราบว่า ในปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของชุมชนได้เปลี่ยนไปจากอดีตเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นของประเทศไทย เช่น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและในฤดูฝนจะตกหนักกว่าปกติ เป็นต้น

เป็นชุมชนชาวญ้อทั้งหมด ยกเว้นคนที่มาแต่งงานกับคนในหมู่บ้านที่มาจากที่อื่นและเป็นภาษาอื่น เช่น ภาษาภูไท ภาษาลาว

ญ้อ

ชาวบ้านนากระเดาทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพแกะสลักหินเป็นอาชีพหลักของบางครอบครัว ส่วนอาชีพอื่นๆ ได้แก่ ปลูกยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ช่างทำบ้าน ทำเกมเต๋างู การรวมกลุ่มชุมชนเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  • กลุ่มแกะสลักหิน
  • กลุ่มสหกรณ์ร้านค้าสาธิต
  • กลุ่มเลี้ยงโค-กระบือ
  • กลุ่มกลองยาวบ้านนากระเดา(กลุ่มอนุรักษ์กลองยาว ลำซิ่ง)
  • กลุ่มจักสานบ้านนากระเดา
  • กลุ่มออมทรัพย์สตรีพัฒนา
  • โรงสีข้าวชุมชน

หมู่บ้านนากระเดาเดิมเป็นพื้นที่เก่าแก่ ชาวบ้านมีอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ในการเพาะปลูกชาวบ้านต้องเผชิญความเสี่ยงเรื่องฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางปีที่ประสบปัญหาภัยแล้งขึ้นมา ชาวบ้านมีข้าวไม่พอกิน จึงทำให้ต้องไปกู้ข้าวกิน และพยายามหาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ในขณะนั้นมีนายทุนมาจากประเทศลาวต้องการสินค้าที่เป็นวัตถุโบราณ ประกอบกับในพื้นที่บ้านนากระเดาก็มีวัตถุโบราณ เพื่อที่จะนำไปขายให้แก่นายทุนที่มาซื้อของเก่า เมื่อวัตถุโบราณที่ชาวบ้านหาได้เริ่มหมดไป ชาวบ้านจึงได้เริ่มทำของเลียนแบบวัตถุโบราณที่เป็นงานแกะสลักหินขึ้นมาเอง ซึ่งในช่วงแรกยังไม่มีใครแกะสลักหินได้สวยงามนัก เมื่อนายทุนที่อยู่ในประเทศลาวได้เลิกสั่งงานแกะสลักหินของหมู่บ้านนากระเดา ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพแกะสลักหินก็ได้เลิกทำอาชีพนี้ไป

อาชีพแกะสลักหินบ้านนากระเดาได้เริ่มทำขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.2500 โดยคุณลุง จันที แหวนเพชร ในขณะนั้นอายุ 30 ปี เป็นผู้นำความรู้และประสบการณ์ด้านการแกะสลักหินจากการไปทำงานที่กรุงเทพฯ ปราจีนบุรี ซึ่งเคยศึกษางานแกะสลักหินทรายตามปราสาทหินต่างๆในประเทศกัมพูชา และรับจ้างทำงานที่ทางใต้ของประเทศลาว จนเมื่ออายุ 43 ปีจึงกลับสู่บ้านนากระเดาและเริ่มทำงานแกะสลักหินในหมู่บ้านตั้งแต่นั้นมา

การก่อตั้งกลุ่มแกะสลักหิน (พ.ศ.2513-ปัจจุบัน)

ใน พ.ศ.2513 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มแกะสลักหินอย่างเป็นทางการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ในสมัยนั้นคือคุณดาวเรือง นิชรัตน์ เป็นผู้เข้ามาส่งเสริมให้อำเภอเข้ามาดูแลชาวบ้านนากระเดาที่แกะสลักหิน โดยส่งเสริมในเรื่องความรู้และตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการขึ้นมา ชื่อว่าศูนย์พัฒนาแกะสลักหินบ้านนากระเดา เนื่องจากเล็งเห็นว่าอาชีพแกะสลักหินของคนในชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวเป็นอย่างดี

วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น 12 เดือนของบ้านนากระเดา

เดือน ประเพณี กิจกรรม
มกราคม

วันปีใหม่

ชาวบ้านจะมีการไปทำบุญที่วัดเหนือและวัดใต้
กุมภาพันธ์ บุญกองข้าวใหญ่ วันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 อบต.สายนาวังเป็นผู้จัดงานร่วมกับชาวบ้าน กิจกรรม เช่น การนำข้าวมารวมกัน จัดประกวดซุ้มเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละหมู่บ้าน
มีนาคม บุญบั้งไฟ ไม่มีกิจกรรมมาหลายปีแล้ว
เมษายน
  • ประเพณีสงกรานต์
  • แห่กันหลอน
  • ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านและไปทำบุญตักบาตรที่วัด สรงน้ำพระตามประเพณี
  • เป็นพิธีที่ชาวบ้านทำบุญแห่รอบหมู่บ้านของตนเอง วันแรกตั้งกองบุญร่วมกัน วันที่2 ของงานจะมีการถวายกองบุญให้แก่วัด เวลาประมาณ 15.00 น. จะมีการแห่ต้นกันหลอนรอบหมู่บ้าน และมีพระสงฆ์นั่งบนเสลี่ยงเพื่อพรมน้ำมนต์ให้แก่ชาวบ้าน
พฤษภาคม ไหว้ผีตาแฮก เพื่อเป็นสิริมงคลในการทำนา นำเครื่องไหว้ไปไหว้ที่นา เช่น เหล้าขาว ข้าว อาหารคาวหวาน
มิถุนายน ทำบุญไหว้เจ้าปู่ เสริมสร้างกำลังใจให้แก่ชาวบ้าน มีการเลี้ยงให้แก่ศาลเจ้าปู่
กรกฎาคม บุญเข้าพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ มีการเข้าวัดตักบาตรกับเวียนเทียน
สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ กิจกรรมไหว้แม่ร่วมกับโรงเรียนนากระเดา
กันยายน บุญข้าวสลาก ทำบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าวิญญาณจะออกมาจากที่อยู่เพื่อมากินข้าวกินน้ำ
ตุลาคม ออกพรรษา , ซัดดอกข้าว การซัดดอกข้าวทำในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอกข้าวใหม่ๆ
พฤศจิกายน บุญกฐิน บางปีมีกฐินมาจากที่อื่น และในแต่ละปีจะมีกฐินที่มาจากลูกหลานในหมู่บ้านที่ออกไปทำงานในเมืองนำเข้าในหมู่บ้าน
ธันวาคม บุญกฐิน , วันสิ้นปีเก่า บางปีเลื่อนมาทอดกฐินเดือนธันวาคม

-นายโสวัติ แหวนเพชร: กำนันตำบลสายนาวัง

-จันที แหวนเพชร: เกิดวันที่ 10 กันยายน 2470 บ้านนากะเดา ตำบลสายนาวัง กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ บิดาชื่อนายมูล แหวนเพชร มารดาชื่อ นางล้น แหวนเพชร เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้สมรสกับนางยวน แหวนเพชร มีบุตรรวมกัน 13 คน เป็นชาย 7 คน และเป็นหญิง 6 คน ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 80 หมู่ที่ ตำบลบ้านนากระเดา อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้านการศึกษาจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านกุดตาน แล้วบวชที่วัดถ้ำภูค้อ อำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร

ผลงาน

  • จากปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา นายจันที แหวนเพชร ได้สร้างผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ งานแกะภาพประวัติแผ่นหิน จำนวน 57 แผ่น และงานแกะสลักรูปสัตว์ที่มีในโลก 108 ชนิด ให้วัดสามพราน จังหวัดนครปฐม

  • งานแกะสลักหินภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเยี่ยมพสกนิกร โดยนายจันที มีความประสงค์ที่จะมอบไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และที่ปราบปลื้มยิ่งเมื่อหินสลักแผ่นนี้ได้ถูกนำไปติดตั้งไว้ ณ บริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2538 เพื่ออวดต่อสายตาผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

เกียรติคุณที่ได้รับ

  • ได้รับยกย่องเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม (แกะสลัก) สาขาศิลปะการช่างฝีมือ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

  • พ.ศ. 2523 ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ให้นำผลงานไปร่วมแสดงในงานมหกรรมพื้นบ้านอีสาน

  1. วัดนากระเดา เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์

  2. ประติมากรรมสลักหิน ประวัติความเป็นมา: บริเวณภาคอีสานมีความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาถึงสมัยประวัติ ทวารวดี สมัยลพบุรี ขอม ซึ่งในแต่ละยุคได้นำหินมาเป็นวัสดุสร้างงานศิลปะ สำหรับชุมชนนากระเดาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองภูแล่นช้างตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2388 ด้านงานประติกรรมสลักหินอีสานที่ทำการศึกษา เริ่มต้นจากนายจันที แหวนเพชร ครั้งวัยหนุ่มได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อนลาสิกขา พระครูสอน สนฺตจิตฺโต ได้แนะนำให้ยึดอาชีพแกะสลักพระพุทธรูปไม้ ต่อมาจึงเริ่มแกะสลักหิน การที่นายจันที มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รู้จักช่างแกะสลักในไทยหลายคน และไปศึกษาดูงานศิลปะขอมโบราณที่นครวัดและนครธม แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับช่างชาวกัมพูชา เมื่อเผชิญกับสภาวะสงครามจึงเดินทางเข้าเมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว หวังจะข้ามแดนที่ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเดินทางถึงเมืองปากเซได้แวะขอพักแรมที่วัดโพธิ์มีเจ้าอาวาสคือ พระครูคำดี ได้พาไปพบกับเสด็จเจ้าบุญอ้อม จากนั้นให้ทำงานประติมากรรมสลักหินจำลองโบราณวัตถุหลายชิ้น ในระยะเวลาประมาณ 3 ปี เมื่อสถานการณ์สงครามรุนแรงขึ้น นายจันทีจึงขอกลับประเทศไทย จากนั้นได้รู้จักกับอาจารย์วิโรฒศรีสุโร ได้พานักศึกษามาศึกษาดูงานประติมากรรมสลักหินจึงทำให้องค์ความรู้ด้านนี้แพร่หลายออกไปในอีสาน ส่วนหนึ่งกลายเป็นอาชีพของชาวบ้านนากระเดาโดยมีบุตรชายทั้ง 5 คนเป็นกำลังสำคัญสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
  3. วัฒนธรรมการเรียกชื่อเพื่อนบ้านโดยใช้ชื่อลูกคนแรก (ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย) เช่น สามีภรรยามีลูกชายคนโตชื่อว่าคิม เพื่อนบ้านจะเรียกชื่อสามีและภรรยาว่า พ่อคิม/แม่คิม ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จะเรียกว่า น้าคิม (อาจจะต่อท้ายด้วยชาย/หญิง) ส่วนผู้สูงอายุจะเรียกว่า เฒ่า เป็นคำนำหน้าชื่อ เช่น คุณตาหงอก อายุ 93 ปี จะถูกเรียกว่า เฒ่าหงอก และลูกจะเรียกพ่อแม่ว่า อีพ่อ อีแม่ หลาจะเรียกปู่กับย่าว่า พ่อเฒ่า แม่เฒ่า

ภาษาไทย ภาษาย้อ ภาษาภูไท ภาษาลาว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาญ้อ

คนญ้อหรือไทญ้อ เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมบนดินแดนอุษาคเนย์กลุ่มหนึ่ง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย และลึกเข้ามาในแผ่นดินอีสาน คนญ้อ มีภาษาของตนเอง เรียกว่า ภาษาญ้อ ซึ่งมีความไพเราะ มีศัพท์เฉพาะหลากหลายน่าสนใจ เป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลไท (Tai) แต่ก่อนที่จะเรียนรู้ลักษณะภาษาญ้อ จะขอกล่าวถึงประวัติและการตั้งถิ่นฐานของคนญ้อพอเป็นสังเขป

ถิ่นฐานคนญ้อ

เมื่อ 200 ปีก่อน คนญ้อได้อพยพมาจากเมืองคำเกิด แขวงคำม่วนใน สปป.ลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองชัยสุตอุตมะบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันเมืองชัยสุดอุตะมะ ในสปป.ลาว หลงเหลือร่องรอยเป็นวัดร้าง 3 แห่ง ได้แก่ วัดกลาง วัดศรีบุญเรือง และวัดยอดแก้ว เท่านั้น) ต่อมาเกิดสงครามจึงได้มีการอพยพออกไปตั้งเมืองที่อำเภอโปงเลงใกล้ประเทศเวียดนาม และสุดท้ายได้ย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอท่าอุเทนอีกครั้ง อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบผู้ที่พูดภาษาญ้อในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอท่าบ่อ และอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย, อำเภอท่าอุเทน ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม และอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม, เขตอำเภอวานรนิวาส สว่างแดนดิน อากาศอำนวย กุดบาก กุสุมาลย์ และอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร, บ้านโพนสิม ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และบ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นอกจากนี้ยังมีพูดกันในอำเภอคลองน้ำใส จังหวัดจันทบุรี อีกด้วย

การย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อมีสาเหตุมาจากการถูกเกณฑ์และอพยพมาในภายหลังเพื่อตั้งถิ่นฐานตามญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยการอพยพแต่ละครั้ง จะมีผู้นำมาด้วย เช่น ในปี พ.ศ. 2351 ญ้อเมืองท่าอุเทน มีท้าวหม้อ เป็นหัวหน้า ได้พาลูกเมียและบ่าวไพร่จำนวน 100 คน ตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ปากแม่น้ำสงครามซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดนครพนม แต่หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2369 ได้มีการอพยพกลับไปตั้งถิ่นฐานอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เมืองปุงลิง (ปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วน สปป.ลาว) และในปี พ.ศ. 2371 ก็อพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของเมืองหงสา เมืองไชยบุรี ในแขวงไชยบุรี สปป.ลาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2376 เจ้าเมืองหลวงปุงลิงได้พาครอบครัวและบ่าวไพร่ข้ามแม่น้ำโขงมาประเทศไทยโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานที่เมืองท่าอุเทน ปัจจุบันเป็นอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

ส่วนหัวหน้าของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้ออีกกลุ่มหนึ่ง คือ พระคำก้อน เจ้าเมืองคำเกิด สปป.ลาวได้ขอสวามิภักดิ์ต่อกรุงสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2379 และในปี พ.ศ. 2382 ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองท่าขอนยาง ปัจจุบันเป็นตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

จากงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อของ บัญญัติ สาลี และคณะ (2551) พบจารึก 2 แผ่นที่เป็นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อในหมู่บ้านท่าขอนยาง คือ จารึกใบเสมาและจารึกบนฐานพระพุทธรูปซึ่งพบที่วัดมหาผล บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ในจารึกทั้ง 2 หลักได้กล่าวถึงเจ้าเมืองท่าขอนยาง นามว่า พระสุวรรณภักดี ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ญ้อได้สร้างพัทธสีมาและพระพุทธรูปในจุลศักราช 1222 นอกจากจะนับถือศาสนาพุทธแล้ว คนญ้อยังมีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นับถือผีฟ้า ผีเฮือน อีกด้วย

ประเพณีและการละเล่นของญ้อ

กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อในประเทศไทยมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก ประเพณีที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อคือประเพณีไหลเรือไฟในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือวันออกพรรษา เรียกว่า “ไหลเฮือไฟ” นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ คือ หมากโข่งโหล่ง หมากต่อไก่ หมากนู่เนียม ปาบึกแล่นมาฮาด หม่อจ้ำหม่อมี และหมากอีหมากอำ การละเล่นแต่ละประเภทจะมีวิธีการเล่นและมีเพลงประกอบการละเล่นด้วย เช่น การละเล่นหม่อจ้ำหม่อมี มีเพลงประกอบว่า จั้มหม่อมี่มาจี่หม่อหม่น หักคอคนเซอหน้านกกด หน้านกกดหน้าลิงหน้าลาย หน้าผีพายหน้ากิกหน้าก่อม หน้ากิก (หน้าสั้น) หน้าก่อม (หน้ากลม) ยอมแยะแตะปีกผึ่งวะผึ่งวะ (ซ้ำตั้งแต่ต้นไปเรื่อยๆ) เป็นต้น

ลักษณะภาษาญ้อ

ภาษาญ้อเป็นภาษาประจำกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ เป็นภาษาที่สำคัญภาษาหนึ่งในภาคอีสาน เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อมีประวัติความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน กล่าวคือ มีความแตกต่างจากภาษาไทยกลางหรือภาษาไทยอีสานในเรื่องของคำ เสียงสระและวรรณยุกต์

ระบบเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ของภาษาญ้อในแต่ละพื้นที่จะมีความแหมือนหรือแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงระบบเสียงในภาพรวม ดังนี้

  • พยัญชนะ ได้แก่ /ก ค ง จ ซ ญ ด ต ท น บ ป พ ฟ ม ย ล ว อ ฮ/ หน่วยเสียงทั้งหมดนี้ปรากฏในตำแหน่งพยัญชนะต้นได้ทั้งหมด และหน่วยเสียงที่เป็นพยัญชนะท้าย ได้แก่ /-ก -ง -ด -น -บ -ม -ย -ว/ รวมถึงเสียงกักที่เส้นเสียงข้างท้ายพยางค์ที่มีสระเสียงสั้น

  • สระเดี่ยว ได้แก่ /อิ, อี, เ-ะ, , แ-ะ, , อึ, อื, เ-อะ, เ-อ, อะ, อา, อุ, อู, โ-ะ, โ-, เ-าะ, ออ/ สระบางตัวของภาษานี้มีความแตกต่างจากภาษาไทยกลางและไทยอีสาน เช่น  เสียงสระ เออ ของคำที่ตรงกับเสียงสระ ใ –ของภาษาไทยอีสานและไทยกลาง เช่น หัวเจ๋อ = หัวใจ เฮอ = ให้ ผู้เญ่อ = ผู้ใหญ่ ลูกเพ่อหรือ ลูกพ่อ = ลูกสะใภ้ เส้อ = ใส่ เบ๋อ = ใบไม้ เม่อ = ใหม่ เสอ = ใส เตอ = ใต้ เกอ = ใกล้ เญ่อ = ใหญ่ เน้อ = ใน

  • สระประสม ได้แก่ /เอีย, เอือ, อัว/

  • วรรณยุกต์ ได้แก่ วรรณยุกต์ที่ 1 (ต่ำ-ขึ้น) วรรณยุกต์ที่ 2 (กลางระดับ, กลาง-ขึ้น) วรรณยุกต์ที่ 3 (ต่ำ-ตก, กลาง-ตก) วรรณยุกต์ที่ 4 (สูง-ขึ้น-ตก, กลาง-ขึ้น-ตก) อย่างไรก็ตามวรรณยุกต์ภาษาญ้อจะแตกต่างไปตามท้องถิ่นต่างๆ

ลักษณะที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ คำแสดงคำถามซึ่งเป็นการใช้คำที่แตกต่างจากภาษาไทยกลางและไทยอีสาน ตัวอย่าง เช่น

  • เตอ/เบอะเตอ = อะไร  เช่น นั่นเตอ / นั่นเบอะเตอ = นั่นอะไร เจ้า เฮ็ดเตอ / เจ้า เฮ้อ เบอเต๋อ = คุณทำอะไร

  • เฮ็ดเตอ = ทำไม เช่น ถาม ข้อย เฮ็ด เตอ = ถามฉันทำไม

  • เล่อ เล่อ / จั้งเลอ = อย่างไร เช่น เขา เว่อ เลอ เล่อ = เขาพูดอย่างไร แม่ ซิ เฮ็ด เลอ เล่อ = แม่จะทำอย่างไร เจา ซิ เว่า จั้งเลอ = คุณจะพูดอย่างไร

  • มื่อเล่อ = เมื่อใด/เมื่อไร เช่น เจา คึ้น เฮือน มื่อเล่อ = คุณขึ้นบ้านใหม่เมื่อใด

  • กะเล่อ = ที่ไหน / ไหน เจา ซิ ไป กะเล่อ = คุณจะไปไหน

คำศัพท์ที่ใช้ในประโยคคำถามเกี่ยวกับบุคคล ใช้คำว่า เผอ = ใคร เผอเลอ = ใคร สามารถใช้ทั้งขึ้นต้น และลงท้ายประโยค เช่น

เผอ มา ห่า ข้อย = ใครมาหาฉัน

เผอเลอ เอิ้น ข้อย = ใครเรียกฉัน

เฮือน ของ เผอเลอ = บ้านของใคร

เผอ มา เฮ็ด ปะ เตอ = ใครมาทำอะไร

จากตัวอย่างข้างบนจะพบว่า การเรียงประโยคจะมีลักษณะที่เป็น ประธาน-กริยา-กรรม

อย่างไรก็ตาม ภาษาญ้อในแต่พื้นที่มีการใช้คำศัพท์หรือสำเนียงทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันออกไป คำพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นคำเดียวกัน แต่มีคำศัพท์บางหมวดที่ใช้แตกต่างกันตามการปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นที่อยู่รอบข้าง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาษาญ้อแตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น คำว่า เท้าแพลง ภาษาญ้อสกลนครเรียกกว่า ตีน-ขะหล่อย ภาษาญ้อนครพนม เรียกว่า ตีน-พิก-โบก เป็นต้น

สภาวะการณ์ภาษาและวัฒนธรรม

ภาษาเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนตัวตนของคน เมื่อคนมีการติดต่อสื่อสารกัน ก็จะซึมซับและส่งผ่านภาษาและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ภาษาที่มีบทบาทมากกว่า มีคนใช้มากกว่า ก็จะกลืนกลายภาษาเล็กๆ ภาษาญ้อก็เช่นกันที่อยู่ท่ามกลางภาษาไทยอีสาน จึงรับภาษาไทยอีสานเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน และรับภาษาไทยมาตรฐานผ่านการศึกษาและสื่อต่างๆ ส่งผลให้ผู้ที่พูดภาษาญ้อเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤต แม้ว่าจะมีการใช้ภาษาญ้อในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าวแล้วก็ตาม ดังนั้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษาญ้อจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

การเฝ้าระวังและสงวนรักษา

ด้วยความตระหนักในสถานการณ์วิกฤตทางภาษาและวัฒนธรรม หน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ ทั้งที่เป็นงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และกิจกรรมเสริมสร้างให้เกิดความสำนึกในการอนุรักษ์ภาษา ดังที่กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ ท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จัดให้มีโครงการหลายประเภท เพื่อการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ภาษาญ้อ เช่น โครงการวิจัยเรื่อง การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ภาษา ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการละเล่นพื้นบ้านญ้อ บ้านท่าขอนยาง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม การจัดศาลาวัฒนธรรมญ้อสร้างขึ้นเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมญ้อ ชุมนุมวัฒนธรรมญ้อก่อตัวขึ้นมาในโรงเรียน ประเพณีไหลเรือไฟได้รับการฟื้นฟูการละเล่นญ้อปรากฏอยู่ในลานวัด จัดทำป้ายแหล่งวัฒนธรรมญ้อ และร่วมสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมญ้อท่าขอนยาง ปฏิบัติการทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมและภาษาของตนเองท่ามกลางการสูญหายไปของภาษาและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเล็งเห็นความสำคัญของภาษาญ้อ จึงได้ยกระดับภาษาญ้อขึ้นเป็นมรดกทางสังคม โดยการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พุทธศักราช 2557 เพื่อจะได้สนับสนุนและเสริมแรงใจให้กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อได้ร่วมสร้างสำนึก อนุรักษ์ และฟื้นฟูวัฒนธรรมของตนเองต่อไป  

อาทิตย์ พิลาบุตร.อาชีพแกะสลักหินทรายกับการเพิ่มรายได้ครัวเรือนของช่างแกะสลักหิน บ้านนากระเดา ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์, สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.นาคู“แหล่งค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์” , ได้จาก http://www.m-culture.in.th/album/นาคู“แหล่งค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์”

บัญญัติ สาลี, มยุรี ถาวรพัฒน์.ภาษาญ้อ, วารสารวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จาก http://article.culture.go.th/index.php/ภาษาญ้อ