
ชุมชนชาวไทยญ้อและชาวภูไท และมีพระธาตุศรีเงินคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
เนื่องจากมีวัวเป็นจำนวนมาก โดยภาษาท้องถิ่นใชัคำว่า "งัว" หรือ "โง"
ชุมชนชาวไทยญ้อและชาวภูไท และมีพระธาตุศรีเงินคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
บ้านนางัวแต่ก่อนชาติพันธุ์ผู้ไทยหรือเผ่าผู้ไทยและชาติพันธุ์ญ้อหรือเผ่าญ้อ อพยพมาจากเมืองไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมและเมืองสกลนคร เริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2413 เดิมเป็นหมู่ที่ 10 ของตำบลนาหว้า กิ่งอำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมีนายทองคำ วะชุม เป็นกำนัน มีท้าวตาแสงเป็นผู้นำคนแรก ตำแหน่งขุนนางัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413–2472 จากนั้น นายสาย (ขุนนางัว) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำคนที่ 2 และมีผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด 5 คน ดังนี้
1. นายเสือ ไชยมาโย เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 1
2. นายอินทร์ นาโควงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2
3. นายอ่อน อุสาพรหม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3
4. นายแก้ว อุสาพรหม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4
5. นายชาลี อุสาพรหม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5
เมื่อปี พ.ศ. 2509 นายทองคำ วะชุม กำนันตำบลนาหว้าเกษียณอายุ และได้แต่งตั้งให้นายโจม อุปพรหม เป็นกำนันตำบลนาหว้า และมีนายฮ้ง นาโควงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้ขอแยกตั้งตำบลใหม่เป็นตำบลนางัวหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลนางัว อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ดังนี้
1. นายวันดี อุสาพรหม เป็นกำนันคนแรก
2. นายมนูศักดิ์ โกษาแสง เป็นกำนันคนที่ 2
3. นายบัว โกษาแสง เป็นกำนันคนที่ 3
4. นายจันทร์ ดีแสง เป็นกำนันคนที่ 4
5. นายสาคร บุนนท์ เป็นกำนันคนที่ 5
6. นายทองคำ อุสาพรหม เป็นกำนันคนที่ 6
7. นายลำใหญ่ บุนนท์ เป็นกำนันคนที่ 8 (องค์การบริหารส่วนตำบลนางัว, 2559, หน้า 7–10)
ทิศเหนือ ติดกับตำบลท่าเรือ และตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสกลนคร
ทิศตะวันออก ติดกับตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดสกลนคร
การดำรงชีวิตของชาวผู้ไทยเป็นแบบเรียบง่าย มีความเคารพผู้อาวุโส ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว มีความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติที่เหนียวแน่น มีความรักในพวกพ้องเดียวกัน มีความศรัทธาในพุทธศาสนาและชอบทำบุญ
สุวิทย์ ธีรศาศวัต และณรงค์ อุปัญญ์ ได้กล่าวถึงลักษณะครอบครัวของชาวผู้ไทยเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่อยู่ในสังคมครอบครัวใหญ่ (เครือญาติ) สมาชิกส่วนใหญ่ ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูก ในอดีตลูกที่แต่งงานจะอยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อตาแม่ยายก่อน 3 ปี แล้วจึงแยกไปตั้งครอบครัวใหม่และอยู่ไม่ไกลจากบ้านพ่อแม่และญาติพี่น้อง คือ อยู่ในละแวกเดียวกัน บางบ้านมีลูกสาวคนเดียวนิยมแต่งลูกเขยเข้าบ้าน ในสังคมผู้ไทยให้ความสำคัญกับผู้ชายอย่างมาก โดยให้เป็นใหญ่และสืบสายตระกูลฝ่ายชาย รวมทั้งฝ่ายหญิงให้ความนับถือสามีอย่างมาก เช่น มีการสมมาสามี(การกราบสามีก่อนนอน) ในวันพระ เป็นต้น และผู้อาวุโสมักจะสอนผู้หญิงให้เป็นแม่เรือนที่ดี อย่างสุภาษิตสอนหญิงที่ว่า “ไปช้าง ย้าง งาม รักษาเฮือนสาม น้ำสี่ อย่าชักหนี้มาลาม ชักความเสอ” คือ การไปไหนมาไหน ให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ให้รักษาเรือนสาม อันได้แก่ บ้าน ร่างกาย ผม และน้ำสี่ คือ การมีน้ำจิตน้ำใจ นอกจากนี้ยังมีการให้ความเคารพและความสำคัญกับญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายนั้นเท่ากัน และนับถือผีตระกูลของกันและกัน ทรัพย์สินมรดก (ส่วนใหญ่เป็นที่ดินบ้าน ที่นา สัตว์เลี้ยง โค กระบือ) นั้นมักให้ลูกคนโต ส่วนลูกที่อยู่ดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่าได้ในส่วนของพ่อแม่ที่กันไว้ ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ต่างช่วยกันทำมาหากิน ทำให้ขนาดของครอบครัวเล็กลง มีลูกน้อยลง และส่งเสียให้มีการศึกษาสูงๆ แม้การสมมาสามีมีให้เห็นน้อยลง แต่การให้ความเคารพนับถือสามียังมีให้เห็น และลูกหลานต่างให้ความเคารพเชื่อฟังพ่อแม่และญาติๆ เช่นดังเดิม
ญ้อ, ผู้ไทอาชีพและการทำมาหากินของชาติพันธุ์ผู้ไทย ส่วนมากเป็นอาชีพเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าวที่ใช้บริโภคในครัวเรือน นอกจากนี้ก็มีอาชีพเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานในครัวเรือน
สุวิทย์ ธีรศาศวัต และณรงค์ อุปัญญ์ ได้กล่าวถึงอาชีพและทำมาหากินของชาติพันธุ์ผู้ไทย ชาวผู้ไทยส่วนใหญ่ทำนา ปลูกข้าวเหนียว เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงนำไปขายในชุมชนและเก็บเมล็ดพันธุ์บางส่วนไว้ปลูกในปีหน้า ข้าวในสมัยก่อนๆ นั้น เป็นข้าวพันธุ์หนัก ได้แก่ ข้าวโงงช้าง (งวงช้าง) ข้าวโล้นแกน ข้าวตาเมย ต่อมาไม่มีคนนิยมปลูก ประกอบกับพันธ์ข้าวมีหลากหลายและพัฒนาขึ้น จึงมาใช้ข้าวสันป่าตอง ข้าว กข6 กข8 กข12 การเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์หนักราวๆ เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ส่วนข้าวพันธุ์เยา ได้แก่ ข้าวอีโพน ข้าวกระดูกงู ซึ่งเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนตุลาคม และบางบ้านเลี้ยงวัว เลี้ยงควายเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา นอกจากนี้ ผู้ไทยปลูกพืชผักสวนครัวไว้ทานเองในครอบครัว โดยจะปลูกรอบๆ บริเวณบ้านและไร่นา และปลูกพืชไร่ เช่น ปอ ฝ้าย มันสำปะหลัง ยาสูบ
อุตสาหกรรม
จำนวนอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (โรงสีขนาดเล็ก) จำนวน 15 แห่ง
การพาณิชย์
- สถานีบริการน้ำมัน 4 แห่ง
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2 แห่ง
- ร้านค้าต่างๆ 26 แห่ง
กลุ่มอาชีพ จำนวน 5 กลุ่ม
- กลุ่มผลิตปุ๋ย
- กลุ่มปลูกพืช เช่น แตงโม ฟักทอง ฯลฯ
- กลุ่มทอผ้า
- กลุ่มจักสาน
- กลุ่มเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร กบ ฯลฯ
สมใจ ดำรงสกุล ได้กล่าวถึงศาสนาและความเชื่อของชาติพันธุ์ผู้ไทยไว้ว่า ชาวผู้ไทยนับถือผีค้ำ คือ ผีบิดา มารดา หรือปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้ว ผีเหล่านี้เป็นผู้ปกครองคอยดูแลการกระทำของลูกหลานญาติพี่น้องอยู่เสมอ เมื่อมีการผิดผีหรือลูกหลานกระทำผิดต้องมีการเหยา เพื่อตรวจสอบว่าเป็นผีใดที่มาทำให้ลูกหลานไม่สงบสุขและต้องแก้ตามที่ผีบอกมา กับทั้งผู้ไทยมีการนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อยู่ที่เมืองวังในลาว ดังนั้น ผู้ไทยจึงรู้จักทำบุญ ปัจจุบันชาวผู้ไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี โดยยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน คือ การปฏิบัติตามฮีตสิบสองครองสิบสี่
ฮีตสิบสอง หมายถึง พิธีกรรมต่างๆ ใน 12 เดือน ซึ่งเป็นจารีตที่จะให้สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมชุมนุมกันทำบุญเป็นประจำเดือนทุกๆ เดือนของรอบปี อันเป็นผลให้ชาวบ้านได้เข้าวัด ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา มีความสามัคคีและความเสียสละทำงานเพื่อส่วนรวม
- เดือนอ้าย คือ บุญเข้ากรรมหรือเข้าปริวาสกรรม: การอยู่กรรมของพระภิกษุที่ต้องอาบัติหรือกระทำผิด โดยให้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์และปวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก ส่วนพุทธศาสนิกชนจัดเตรียมอาหารคาวหวาน ข้าวของเครื่องใช้ถวายพระ ซึ่งถือว่าได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป
- เดือนยี่ คือ บุญคูณลาน หรือบุญกองข้าว: ทำเมื่อชาวผู้ไทยเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านต่างนำข้าวเปลือก 1-10 ปี๊บ ไปกองที่ลานวัดหรือลานบ้าน และนิมนต์พระมาสวดเพื่อให้เจ้าของอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้องงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีทำบุญลานข้าวหรือบุญกองข้าวแล้ว ทุกครัวเรือนนำข้าวเปลือกไปใส่เล้าข้าวและเชิญขวัญข้าว คือ แม่โพสพมาและทำพิธีสู่ขวัญข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป
- เดือนสาม คือ บุญข้าวจี่ และวัดมาฆบูชา: เป็นการทำบุญในวัดมาฆบูชา ชาวบ้านนำข้าวจี่ คือข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนโรยเกลือทาไข่ไก่แล้วจี่ไฟให้สุก ไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัด พร้อมภัตตาหารอื่นๆ แต่เดิมการจี่ข้าวลงไปจี่ที่วัดแล้วถวายพระ
- เดือนสี่ คือ บุญพระเวสสันดร หรือบุญมหาชาติ (บุญผะเหวด) งานกองบุญ (กองเม็ง): บุญผะเหวด เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ ใช้เวลาการทำบุญ 3 วัน วันแรกเป็นการเตรียมการ ชาวผู้ไทยผู้ชายช่วยกันสานไม้ไผ่เป็นเรือนพระเวสสันดร (เฮือนผะเหวด) และชาวบ้านนำฟางข้าวมาทำเป็น ไก่ วัว ช้าง ฯลฯ และทำฉัตร ธง ดอกไม้ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนผู้หญิงเตรียมข้าวต้มมัด และขนมต่างๆ วันที่สอง ผู้ชายช่วยกันสร้างหอพระอุปคุต ณ หอพระด้านทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ แล้วนำเฮือนผะเหวดที่สานไว้มากั้นทำเป็นปะรำพิธีเทศน์มหาชาติ เวลาบ่ายทำพิธียกเสาผะเหวด นำข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย ผูกติดกับเสาไม้ไผ่ที่ลานวัด พรมน้ำหอม ผูกผ้า (ผ้าผะเหวด) ทั้งศาลาการเปรียญประดับประดาไปด้วยดอกไม้ต่างๆ เป็นพัน ในช่วงบ่ายมีการอัญเชิญพระอุปคุต โดยสมมติเอาก้อนหินตามห้วย หนอง บึง แม่น้ำ เป็นพระอุปคุต มาที่หอพระอุปคุต ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเภทภัยอันตราย และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชนด้วย วันที่สาม เช้ามืดมีการแห่ข้าวพันก้อน ในตอนสายมีเทศน์มหาชาติ ในงานบุญผะเหวด มีประเพณีการละเล่นที่เรียกว่า “การเอาฮุปเอาฮอย” หรือ “การฝังฮุปฝังฮอย” หรือ “การเล่นผีป่า” โดยมีความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายชะตาบ้านเมือง ถ้าไม่มีการละเล่นนี้บ้านเมืองไม่อยู่เย็นเป็นสุข
- เดือนห้า คือ บุญสงกรานต์หรือสรงน้ำพระ: งานบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยจัดในเดือนห้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งบางหมู่บ้านอาจจัดงานนานกว่านี้ก็ได้ ชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรที่วัด สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำผู้ใหญ่ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวที หลังจากนั้นจึงเล่นสาดน้ำกันได้ตลอดทั้งวันในช่วงงานบุญสงกรานต์ นอกจากนี้มีการก่อพระเจดีย์ทราย แล้วในตอนเย็นมีการตีกลองลงไหว้พระเจดีย์ทราย
- เดือนหก คือ บุญบั้งไฟ และวัดวิสาขบูชา: งานบุญบั้งไฟเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญก่อนชาวบ้านลงมือทำนาโดยเชื่อว่าต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป แล้วฝนจะไม่แล้งในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านอยู่อย่างเป็นสุข ในวันแรกเป็นการเตรียมการ ชาวบ้านมีการประดิษฐ์บั้งไฟเพื่อลงประกวดในวันรุ่งขึ้น ในวันที่สองจัดขบวนแห่บั้งไฟ มีการเซิ้ง การฟ้อนผู้ไทยอย่างสนุกสนาน ชาวบ้านต่างหมู่บ้านมาร่วมงานและร่วมขบวนแห่ มีการพูดจาหรือนำสัญลักษณ์เรื่องเพศมาล้อเลียนในขบวนแห่เป็นที่สนุกสนานและขบขันของคนทั่วไป และถือว่าไม่หยาบคายแต่อย่างใด แล้วนำบั้งไฟไปจุดภายในบริเวณที่โล่งของวัด ไม่เป็นอันตรายต่อคนที่มาชม บางหมู่บ้านมีการจัดบุญบั้งไฟคู่กับงานบุญผะเหวดตามภาวะเศรษฐกิจของท้องถิ่นในแต่ละปี นอกจากนี้มีงานบุญวันวิสาขบูชา ชาวบ้านไปทำบุญฟังเทศน์กันในตอนกลางวัน กลางคืนมีการเวียนเทียน
- เดือนเจ็ด คือ บุญชำฮะ หรือบุญชำระ: งานนี้เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดี ความสกปรกภายนอกได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตใจเกิดความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น) หรือปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากบ้านเมือง ชาวบ้านตั้งปะรำขึ้นกลางหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนเตรียมของ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ขันน้ำ ฝ้ายผูกแขน หินแร่ทราย เป็นต้น มารวมกันที่ปะรำพิธี กลางคืนนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ช่วงเช้าถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แล้วท่านให้พรและพรมน้ำมนต์ ชาวบ้านนำขันน้ำมนต์ ฝ้าย หินแร่ทรายกลับบ้านและนำน้ำมนต์ไปรดลูกหลาน บ้านเรือน วัวควาย ฝ้ายผูกแขนลูกหลาน หินแร่ทราย นำไปหว่านรอบบ้านเรือนเพื่อเป็นสิริมงคลตลอดปี นอกจากนี้ยังจัดให้มีการทำพิธีบูชาผีบรรพบุรุษ คือ ผีบ้านผีเมือง ผีปู่ตา เจ้าปู่ถลาหรือทำบุญบวงสรวงเสามเหศักดิ์(เสาหลักเมือง) เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณในการที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข
- เดือนแปด คือ บุญเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8: งานบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านต่างเตรียมห่อข้าวต้มมัดก่อนแล้วในวันรุ่งขึ้นช่วงเช้าชาวบ้านไปวัด เพื่อทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์สามเณร ถวายต้นเทียนพรรษา มีการฟังธรรมเทศนา
- เดือนเก้า คือ ทำบุญข้าวประดับดิน: เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วตลอดจนผีที่ไม่มีญาติพี่น้องอุทิศส่วนกุศลไปให้ (เปรต) ชาวบ้านต่างพากันทำห่อข้าวแต่เช้ามืด ซึ่งในห่อข้าวประกอบไปด้วย ข้าวปลาอาหารคาวหวาน (อาหารแห้งและขนม) พร้อมหมากพลูห่อใส่ใบตอง ช่วงเช้าชาวบ้านนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณร เมื่อพระรับแล้ว จึงนำข้าวห่อไปวางไว้ใต้ต้นไม้ในบริเวณวัดหรือตามรั้ววัด โดยเชื่อว่าผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้รับการปลดปล่อยให้ออกมาท่องเที่ยวได้ในเดือนเก้าเพื่อมากินข้าวห่อ
- เดือนสิบ คือ บุญข้าวสาก: เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีทั้งหลาย โดยชาวบ้านนำสิ่งของที่ห่อเตรียมไว้ในถวายพระก่อนเพลและมีการทำสลากให้พระจับ เพื่อจะได้ถวายของตามสลากนั้น ชาวบ้านนำห่อข้าวสากไปวางไว้บริเวณวัด ซึ่งเป็นการทำบุญส่งผู้ที่ล่วงลับและเปรตกลับสู่แดนของตนหลังจากได้ออกมาท่องเที่ยวแล้ว
- เดือนสิบเอ็ด คือ บุญออกพรรษา: ชาวบ้านห่อข้าวต้มมัดไปถวายพระ เตรียมภัตตาหารคาวหวานไปทำบุญตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์ รับศีล สวดมนต์ ฟังเทศน์และถวายผ้าจำนำพรรษา (ผ้าที่พระภิกษุจะรับได้ต่อเมื่อจำพรรษาแล้ว)
- เดือนสิบสอง คือ ลอยกระทง: งานบุญกฐินเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ก่อนงานบุญ เจ้าภาพต้องจองวัดและกำหนดวันล่วงหน้า บอกกล่าวญาติมิตร เตรียมผ้าไตรจีวรพร้อมเครื่องอัฐบริขารและเครื่องไทยทาน ในช่วงข้าวของงานพิธีชาวบ้านแห่ขบวนกฐินเพื่อนำไปทอดที่วัด โดยเวียนประทักษิณ 3 รอบ แล้วทำพิธีถวายผ้ากฐิน นอกจากนี้มีงานลอยกระทงซึ่งชาวบ้านต่างนำไปลอยในแหล่งน้ำที่ใกล้บ้าน โดยเชื่อว่าเป็นการลอยความทุกข์โศกทั้งหลายออกไปจากตัว และเป็นการขอขมาพระแม่คงคาด้วย
ครองสิบสี่
หมายถึง แนวทางปฏิบัติวิถีทางที่ดีที่นักปราชญ์บรรพบุรุษชาวอีสานวางไว้ เพื่อให้ผู้ปกครองนำไปเป็นแนวทางในการปกครอง พ่อแม่นำไปสอนลูก ปู่ย่าตายายนำไปสอนหลาน พระนำไปสอนพุทธศาสนิกชนและประชาชน เพื่อนำไปปฏิบัติ และเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีทั้งหมด 14 ข้อซึ่งเป็นแนวปฏิบัติระดับบุคคลครอบครัวและส่งผลต่อส่วนรวม ซึ่งยกได้ 2 แนวคือบุคคลทั่วไปและสำหรับท้าวพระยาข้าราชการผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งความเป็นจริงครองสิบสี่มีความเป็นมาจากประเทศลาวเพราะกฎหมายมีครองสิบสี่ปรากฏชัดเจนและชาวอีสานก็ใช้ภาษาอักษรลาวและประชาชนแก่ก็อ่านออกได้มาก ทำให้ครองสิบสี่ถูกนำเข้าสู่อีสานได้ง่าย เป็นแบบอย่างฮีตครองจนถึงปัจจุบัน ครองสิบสี่มีหลายประเภทต่างกันแต่สามารถแบ่งได้มี 3ประเภท ได้แก่ สำหรับประชาชนทั่วไป พระสงฆ์ และ ผู้ปกครองตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านจนถึงพระมหากษัตริย์
ครองสิบสี่ประเภทสอนผู้ปกครองเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ชาวลาวไทยนับถือเคารพเหมือนกันเป็นศูนย์รวมจิตใจ คือพระมหากษัตริย์ และชาวอีสานจะให้ความเคารพเชื่อถือมาก หากผู้นำมีคุณธรรมยิ่งเคารพและนับถือมาก ดังนั้นจึงบัญญัติครองสิบสี่ขึ้น เพื่อผู้ปกครองจะได้ปกครองจะได้ปกครองให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข
- ครอง 1 ผู้ปกครองต้องรู้จักแต่งตั้งอำมาตย์ราชมนตรีผู้มีความรู้ฉลาดและตั้งมั่นในพรหมวิหารธรรม คือ มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกงเป็นผู้ปกครองที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข
- ครอง 2 ผู้ที่เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ต้องตั้งมั่นในคุณธรรม 10 ประการ คือ ให้ทาน รักษาศีล บริจาค ซื่อตรง อ่อนโยน ความเพียร ไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน อดทน ไม่ประพฤติผิด
- ครอง3 ปีใหม่ผู้นำต้องน้ำอบน้ำหอมไปสรงพระตามประเพณี
- ครอง4 เมื่อถึงสงกรานต์ต้องมีพิธี แห่พระสงฆ์ สรงน้ำพระและพิธีเลื่อนตำแหน่งพระ
- ครอง5 ต้องทำพิธีสู่ขวัญเพื่อถวายพระพรแด่พระราชาและสรงน้ำพระราชา
- ครอง6 พอวันปีใหม่ประชาชนทำพิธีดื่มน้ำสาบานเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระราชา
- ครอง7 ถึงเดือนเจ็ดทำพิธีบูชาถวายเครื่องสังเวยแด่เทพารักษ์หลักเมือง เป็นการแก้บน
- ครอง8 จัดให้มีพิธีทำขวัญเมืองสะเดาะเคราะห์เมือง ยิงปืนหว่านกรวดทรายไล่ภูตผี
- ครอง9 ให้ทำบุญข้าวประดับดินเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติ เปรตผู้ล่วงลับไปแล้ว
- ครอง10 ให้ทำบุญข้าวสากเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไป
- ครอง11 ให้ทำบุญออกพรรษามีพิธีปวารณาประทีปโคมไฟตามสถานที่ต่างๆ ล่องเรือไฟ
- ครอง12 ให้แข่งเรือเพื่อบูชาพญานาคสิ่งสถิตใต้บาดาล
- ครอง13 ให้มีพิธีสมโภชแห่แหนพระราชา ทำบุญให้ทานฉลองแสดงความจงรักภักดี
- ครอง14 ให้พระราชาจัดหาสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ดีมีสุข เป็นปึกแผ่นและเจริญก้าวหน้า
ครองสิบสี่ ประเภทสอนพระสงฆ์เพื่อเตือนพระสงฆ์ให้ปฏิบัติถูกต้องตามทำนองธรรม
- ครอง1 ให้พระศึกษาพระธรรม 227ข้ออย่าให้ขาด
- ครอง 2 ให้ดูแลกุฏิวิหารปัดกวาดเช็ดถูอย่าให้เศร้าหมอง
- ครอง 3 ให้กระทำปฏิบัติและสนองศรัทธาประชาชน
- ครอง 4 ถึงเดือนแปดให้เข้าพรรษา 3 เดือนและเดือน 12 รับผ้ากฐินครบสี่เดือน
- ครอง 5 ออกพรรษาแล้วภิกษุต้องเข้าอยู่ปริวาสกรรม
- ครอง 6 ให้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร
- คลอง 7 ให้สวดมนต์ ทำวัตรเจริญสมาธิทุกคืนอย่าขาด
- คลอง8 วันพระประชุมลงอุโบสถ ทำสังฆกรรมไม่ขาด
- ครอง 9 ปีใหม่ให้นำน้ำสรงพระพุทะรูปพระเจดีย์
- ครอง 10 ถึงศักราชปีใหม่พระเจ้าแผ่นดินให้ไหว้พระสรงน้ำในพระราชวังและทำบายศรี
- ครอง 11 ให้ทำตามกิจนิมนต์ชาวบ้าน
- ครอง 12 ให้สร้างวัดวาอารามพระธาตุเจดีย์
- ครอง 13 ให้รับสิ่งของ ทายกให้ทาน
- ครอง 14 พระมหากษัตริย์ ข้าราชการขั้นผู้ใหญ่มีศรัทธานิมนต์ให้มาประชุมกันในพระอุโบสถในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด เป็นงานใหญ่อย่าขาด ชาวอีสานและลาวได้ถือครองร่วมกันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของสงฆ์ที่ต้องปฏิบัติ ทำให้พระสงฆ์ของอีสานในอดีตไม่มีปัญหาและมีพระอริยสงฆ์เกิดขึ้นมากมาย เพราะท่านเคร่งครัด ทำให้วัตรปฏิบัติท่านดีงาม นำมาซึ่งความสุขคุณธรรมคำสอนที่ดี
คลองสิบสี่ประเภทสอนประชาชนทั่วไป โดยสรุปได้เป็นแนวปฏิบัติ คือ เมื่อฤดูข้าวออกรวงเก็บผลผลิตอย่าพึ่งนำมารับประทานให้นำไปทำบุญก่อน อย่าเป็นคน โลภมาก เห็นแก่ตัว ให้สร้างหอบูชาสี่มุมบ้าน รั้วกำแพงวัด ก่อนขึ้นบนบ้านให้ล้างเท้า เมื่อถึงวันพระให้คาราวะก้อนเส้า บันไดบ้านประตูบ้าน และนำดอกไม้ธูปเทียนคาราวะสามี และวันอุโบสถให้ถวายพระสงฆ์ ก่อนนอนให้ล้างเท้าให้สะอาด และพอถึงวันดับขึ้นหรือแรม 15ค่ำ ให้นิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์และตักบาตรบ้าน เมื่อพระมาใส่บาตรอย่าให้ท่านได้รอ และเมื่อพระเข้าปริวาสกรรมเสร็จให้ถวายดอกไม้ธูปเทียน ภิกษุเดินผ่านให้นั่งลงยกมือไหว้ก่อนพูดด้วย อย่าเยียบเงาพระสงฆ์ อย่าเอาอาหารเหลือกินไปถวายและอย่าให้สามีกินเพราจะบาปตลอดชาตินี้และหน้าและสำคัญ เมื่อถึงวันพระ เข้าพรรษา ออกพรรษา วันมหาสงกรานต์ ห้ามเสพเมถุน(ร่วมเพศ) เพราะลูกหลานจะสอนยาก จากครองคำสอนที่กล่าวมาถ้าปฏิบัติได้จะนำมาซึ่งความสงบสุข
ครองสิบสี่ประเภทสอนทุกเพสทุกวัยทุกฐานะ
- ฮีตเจ้าคลองขุนคือแบบแผน คำสอนที่ผู้ปกครองระดับสูงพึงนำไปปฏิบัติ เพื่อให้ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข ปกครองด้วยความเท่าเทียมกันทุกคนมีความเสมอภาค
- ฮีตท้างคลองเพีย คือเหตุร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ปกครองปล่อยปะละเลยห่างจากทศธรรม ทำให้ประชาชนละเลยศีลธรรมปัญหาจึงเกิด
- ฮีตไพร่คลองนาย คือผู้ปกครองอย่าอวดอ้าง อย่าลืมตัว เจ้านายจะดีคนเดียวไม่ได้ ได้ดีแล้วอย่าลืมตัว เป็นใหญ่แล้วให้ รักผู้น้อยและใครทำดี ได้ดีก็ให้เคารพ
- ฮีตบ้านคลองเมือง คือ มุ่งให้ทุกคนรู้จักฮีตสิบสองครองสิบสี่เพื่อทุกคนได้ปฏิบัติต่อกันอย่างมีความสุขและผู้ปกครอง ต้องมีใจเป็นธรรมและกล้าหาญ
- ฮีตผัวคลองเมีย มุ่งให้สามีภรรยาปฏิบัติดีต่อกัน
- ฮีตพ่อคลองเมีย มุ่งสอนพ่อแม่ให้อบรมเลี้ยงดูลูกให้ถูกทาง
- ฮีตลูกคลองหลาน สอนลูกหลานให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีมีความยำเกรงต่อผู้ใหญ่
- ฮีตใภ้คลองเขย มุ่งสอนลูกสะใภ้และลูกเขยให้ปฏิบัติต่อพ่อตาแม่ยายปู่ย่าตายายให้ถูกต้องตามคลองธรรม
- ฮีตป้าคลองลุง สอนให้ป้าลุงปฏิบัติต่อกันญาติพี่น้องให้ดี
- ฮีตปู่คลองย่าฮีตตาคลองยาย สอนให้ปู่ยาตายายปฏิบัติตนเป็นปูชนียบุคคลที่ดี
- ฮีตเฒ่าคลองแก่ มุ่งสอนคนแก่ทั่วไป
- ฮีตปีคลองเดือน สอนชาวอีสานรักษาฮีตสิบสองคลองสิบสี่
- ฮีตไฮ่คลองนา มุ่งสอนให้ชาวนารู้จักรักษาดูแลไร่นา
- ฮีตวัดคลองสงฆ์ มุ่งสอนให้ปฏิบัติ วัตรฐาก ดูแลวัดวาอาราม บำรุงสงฆ์
คลองสิบสี่เป็นแนวแบบแผนประพฤติปฏิบัติของบุคคลกลุ่มต่างๆที่ให้ผู้คนต้องปฏิบัติตามจึงทำให้สังคมอีสาน มีความสุขสงบ ร่มเย็นตลอดมา ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่ชาวอีสานและคนภาคอื่นควรเรียนรู้ แล้วนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์แก่การปกครอง การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมได้
สภาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไท
- ชื่อ-สกุล: นายขาน ตะไลชั่ง
ที่อยู่: 27 หมู่ที่ 11 ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า
วัน/เดือน/ปีเกิด: 19 มิถุนายน 2493
- ชื่อ-สกุล: นายคำหล้า ศรีระวงศ์
ที่อยู่: 42 หมู่ 6 บ้านกุดน้ำใส ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า
วัน/เดือน/ปีเกิด: 5 มกราคม 2489
- ชื่อ-สกุล: นายไพรี ประกิ่ง
ที่อยู่: 53 หมู่ 11 ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า
วัน/เดือน/ปีเกิด: 3 มิถุนายน 2493
- ชื่อ-สกุล: นายไป่ ประกิ่ง
ที่อยู่: 40 หมู่ 11 ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า
วัน/เดือน/ปีเกิด: 5 พฤศจิกายน 2497
- ชื่อ-สกุล: นายตุ่น ประกิ่ง
ที่อยู่: 79 หมู่ 11 ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า
วัน/เดือน/ปีเกิด: 2 มิถุนายน 2511
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ไพโรจน์ เพชรสังหาร ได้กล่าวถึงการตั้งบ้านเรือนและการสร้างบ้านของชาวผู้ไทยไว้ว่า เรือนผู้ไทย เป็นเรือนเสากลมพื้นบ้าน มีหลายรูปแบบต่างกัน ดังนี้
- เรือนแฝดทรงไทย ซึ่งเป็นบ้านของผู้มีฐานะดี
- เรือนเกยประเภทมีเรือนโข่ง
- เรือนเกยธรรมดาชนิดมีเรือนไฟ
- เรือนเกยประเภทไม่มีเรือนโข่ง
- เรือนเกยธรรมดาชนิดไม่มีเรือนไฟ ใช้เกยหรือระเบียงด้านทิศตะวัดตก 1 ห้อง เป็นที่ประกอบอาหารและเรือนชั่วคราว ส่วนใหญ่เป็นเรือนสำหรับผู้ออกเรือนใหม่ หรือคู่แต่งงานใหม่
แต่ก่อนฝ่ายชายต้องอยู่ช่วยงานบ้านฝ่ายหญิง 3 ปี จึงจะปลูกเรือนในบริเวณบ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง ชาวผู้ไทยกล่าวว่า “ปลูกเฮือนไม้เมาะ เตาะไม่ลืม” เรียกว่า “ตูบต่อเล้า” ลักษณะเฉพาะของเรือนผู้ไทย เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ผังเรือนมีลักษณะเรียบง่าย มีตัวเรือนใหญ่ ประกอบไปด้วย ห้องนอนพ่อแม่ ห้องนอนลูกสาวและห้องผีบรรพบุรุษ เป็นห้องนอนของลูกชายหรือที่รับรองญาติผู้ใหญ่ที่มาพักแรม มีประตูหน้าเรือนเข้าออก 2 ประตู มีหน้าต่างแห่งเดียวเล็กๆ พอลอดศีรษะเข้าออกได้ เกยหรือเฉลียง ชาน เรือนไฟ เรือนส่วนใหญ่มีขนาดไม่กว้างและเปิดโล่ง พื้นที่ใช้ได้อย่างอเนกประสงค์ ใช้ไม้เนื้อแข็ง (ไม้ตะเคียน ไม่เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ฯลฯ) เป็นตัวโครงสร้างของเรือน หลังคาที่เรียกว่า “ทรงมะนิลา” หลังคาสามเหลี่ยมยอดแปลมตั้งสูง ชาวบ้านเรียก “ทรงมะนิลา” และมุงด้วยจาก แฝก กระเบื้องดินเผาหรือไม้ การวางตัวเรือนอยู่ในแนวทิศตะวันออกและตะวันตกเพื่อรับลม ฝาบ้านของชาวผู้ไทยมีทั้งฝาไม้กระดาน ฝาไม้ไผ่สานลายคุบ ลายสองหรือฝาไม้โก๊ะ ส่วนเรือนไฟนิยมใช้ฝาไม้ไผ่เฮียะ มาสานขัดแตะ หรือใช้ใบตองกุง ใบพลวง ใบตองชาดมาสาน เรียกว่า "ฝาแขบตอง" วัสดุแต่ละชนิดที่ใช้นั้นแล้วแต่ฐานะของเจ้าของเรือนและมีบันไดโปร่ง จำนวนขั้นบันไดเป็นเลขคี่ ซึ่งไม่มีราวบันไดสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ บริเวณใต้ถุนเรือนมีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนในการใช้สอย วางกี่ทอผ้า และแคร่นั่งทำงานในการทอผ้า คอกสัตว์ วัว ควาย เป็นที่เก็บเครื่องมือในการประกอบอาชีพ จำพวกเครื่องไถ เครื่องมือดักสัตว์หรือจับสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ รวมทั้งเครื่องใช้จักสานต่างๆ โดยห้อยตามมุมเสาของใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ส่วนห้องน้ำห้องส้วม มีการสร้างไว้นอกเรือนในบริเวณลานบ้าน นอกจากนี้มีเล้าข้าวหรือยุ้งข้าวห่างจากตัวเรือนไม่มากนัก ชาวผู้ไทยนิยมปลูกพืชสวนครัว เช่น ฟักทอง พริก มะเขือเปราะ ใบพลู ต้นไม้ใหญ่จำพวกขนุน มะม่วง เป็นต้น และไม้ดอกไว้รอบบริเวณบ้าน
การแต่งกาย
ชลิต ชัยครรชิต ได้กล่าวถึงการแต่งกายและเครื่องนุ่งห่มของชาวผู้ไทยไว้ว่า ทุกวันนี้แม่หญิงผู้ไทยยังสืบทอดมรดกการทอผ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวันและงานพิธีต่างๆ ได้ดี และทุกหลังคาเรือนส่วนใหญ่จะพบผ้าห่ม หมอนขิดอยู่ในตู้จำนวนมาก สำหรับผู้มาเยี่ยมเยียนและพักแรม ในงานประเพณีงานบุญต่างๆ ชาวผู้ไทยทั้งหญิงชายต่างพร้อมใจกันใส่เสื้อผ้าประจำกลุ่มตน ดังนี้
- ผู้หญิงใส่เสื้อสีดำ คอกลม แขนยาว ผ่าอกติดกระดุมแถวยาวประมาณ 30-40 เม็ด ในสมัยก่อนใช้เหรียญ 5 สตางค์หรือ 10 สตางค์ร้อยซ้อนกับลูกกระดุม ปัจจุบันหายาก จึงใช้แต่กระดุมอย่างเดียว เสื้อนี้ทำจากผ้าฝ้ายย้อมสีดำจากต้นคราม ขลิบด้วยสีแดง ส่วนผ้าซิ่นเป็นผ้ามัดหมี่ต่อตีน และมีผ้าเบี่ยง หรือแพรวาใช้พาดบ่า มีเครื่องประดับเป็นเครื่องเงิน ทั้งเข็มขัด กำไล สร้อย ต่างหู (จอนหู) ส่วนทรงผม ผู้หญิงไว้ผมยามเกล้ามวยไว้ด้านหลัง และใช้ผ้าแพรวารัดรวบมวยผม เรียกว่าผ้าแพรมน มีชายผ้าขิดตกไปด้านหลัง ถ้าหญิงผู้ไทยอยู่กับบ้านจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่หาซื้อได้ในตลาด หน้าร้อนใส่เสื้อคอกระเช้า หรือใช้ผ้าขาวม้าเป็นผ้ากระโจมอกและนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่และซิ่นตลาด ถ้าไปนาแต่งกายทะมัดทะแมง สวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาวให้มิดชิด เพื่อป้องกันแสงแดด สำหรับเครื่องแต่งกายของผู้สูงอายุ นิยมใส่เสื้อคอกลมสีขาว ทั้งแขนสั้นแขนยาว ผู้หญิงใส่ซิ่นที่มีตีนซิ่นทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม มีผ้าเบี่ยงจากบ่าปล่อยชายให้ตกลงมา ส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายมากกว่าผ้าไหมเพราะดูแลรักษาได้ง่ายกว่า ส่วนผ้าไหมใส่ในงานบุญ
- ผู้ชาย ในอดีตนั้นเมื่ออยู่บ้านนุ่งผ้าขาวม้า ไม่สวมเสื้อ ถ้าสวมเสื้อจะเป็นเสื้อหม้อฮ่อม กางเกงหม้อฮ่อมซึ่งเป็นกางเกงขาก๊วยทำจากผ้าฝ้าย และมีผ้าขาวม้าคาดเอวอีกชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันแต่งตามสมัยนิยมทั่วไป ถ้าในงานบุญประจำปีนุ่งโสร่งไหม และไว้ผมสั้น
หญิงสาวชาวผู้ไทยต้องทำเครื่องนุ่งห่ม 4 อย่าง ที่เรียกว่า “ส้างเคิ้ง” หรือการสร้างเครื่องให้เป็น คือ ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ผ้าแพรหรือผ้าขาวม้า ซึ่งจะเป็นที่หมายปองของชายในหมู่บ้านเพราะเครื่องนุ่งห่มเหล่านี้เป็นสิ่งของที่ใช้ในการสมมาตอบแทนญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย เมื่อหญิงสาวจะเข้าพิธีแต่งงาน ลวดลายที่ปรากฏบนผ้าผู้ไทยนั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามลักษณะการทำ คือ การมัดหมี่และการขิด ลายมัดหมี่นิยมทอเป็นลายสำหรับตัวผ้าซิ่น ส่วนลายขิดนิยมทอเป็นผ้าแพรวา ผ้าเบี่ยง ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม หัวซิ่นและตีนซิ่น ทั้ง 2 วิธี แตกต่างกันที่กระบวนการทอ การมัดหมี่ คือ การย้อมเส้นด้ายทางพุ่งให้เป็นสีต่างๆ เป็นช่วงๆ ตามลวดลายที่ออกแบบไว้โดยใช้เชือกฟางมัดกลุ่มเส้นด้าย แล้วไปย้อมสีต่างๆ จากธรรมชาติ (ปัจจุบันใช้สีเคมี) แล้วนำมาทอในลักษณะสานกับด้ายทางยืน สลับกันขึ้นลง ส่วนการขิดเป็นการสานด้วยทางพุ่งที่ย้อมสีต่างๆ ขึ้นลงผ่านด้วยทางยืน ให้เกิดลวดลายต่างๆ ลวดลายที่เกิดขึ้นมี 2 แบบ คือ รูปทรงทางเรขาคณิต เช่น ลายขอน้อย ลายข้าวหลามตัด เป็นต้น และรูปทรงตามธรรมชาติ เช่น คน แมงมุม สิงห์ นกยูง หงส์ ลายดอกแก้ว ดอกตุ้ม และดอกพิกุล เป็นต้น และอาจเกิดการผสมผสานลวดลาย 2 รูปแบบ เช่น ลายปราสาท ลายกาบเครือ ลายตาขอ ลายพญานาค ได้พัฒนามาจากลายหมากเบ็ง(ลายบายศรีหรือขันธ์ห้า) ซึ่งแสดงถึงการเคารพบูชาในทางพุทธศาสนา ส่วนลายอื่นๆ มีการพัฒนาให้เกิดลวดลายใหม่ๆ อยู่เสมอตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทอและตามความนิยมของผู้ใช้ผ้าทอ
สรุปได้ว่าการแต่งกายและเครื่องนุ่มห่มของชาวผู้ไทยมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากชาติพันธุ์อื่นๆ เสื้อผ้าทำมากจากผ้าฝ้ายที่ปลูกเองแล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า มีการทอผ้า โดยมีลวดลายตามความเชื่อ ประเพณี ศาสนาและค่านิยมต่างๆ ที่มีมาแต่โบราณ
ประเพณีในวิถีชีวิต
สมใจ ดำรงสกุล ได้กล่าวถึงประเพณีในวิถีชีวิตไว้ดังนี้
1. การเกิด ในสมัยก่อนหญิงผู้ไทยให้หมอตำแยทำคลอดให้ บางครัวเรือนให้พี่สาวหรือแม่ทำคลอดให้ (ผู้เคยมีประสบการณ์มาแล้ว) บางครั้งทำคลอดเอง (ท้องที่ 2 เป็นต้นไป) เมื่อเด็กคลอดออกมา หมอตำแยใช้ไม้กระแสน (ไม้รวกเหลาให้คม) ตัดสายสะดือ สามีนำสายสะดือไปใส่ในน้ำเต้าแล้วไปฝังใต้บันได (ให้รักบ้าน) แล้วนำเด็กไปอาบน้ำ ห่อตัวเด็กใส่กระด้ง ทำพิธีร่อนกระด้ง คือ ยกกระด้งร่อนแล้วกระแทกพื้นให้เด็กสะดุ้งตกใจร้อง เป็นเคล็ดไม่ให้เด็กเป็นคนขลาดกลัว สำหรับแม่นั้นต้องอยู่คำ (อยู่ไฟ) ใช้เวลา 7 วัน 14 วัน หรือ 21 วัน ถ้าเป็นลูกคนแรกอยู่นานหน่อย โดยแม่และเด็กนอนอยู่บนแคร่ไม้ไผ่สูงประมาณ 1 ศอก แม่จะถอดเสื้อและคล้องคอไว้ ปิดอกให้แผ่นหลังอังกับไฟไว้ ข้างแคร่มีกองไฟ 2 กอง ไว้ต้มน้ำอาบและต้มน้ำสมุนไพรเป็นยาบำรุงร่างกาย (แก่นไม้แดง ไม้จิก รากไม้นมวัว และใบของไม้ตั้งตูน) ให้แม่ดื่มวันละ 3-4 หม้อ ส่วนใต้แคร่มีถ่ายไฟเพื่อให้แผลหายเร็ว ข้างเหนือที่นอนของแม่อยู่คำ มีแหดักปลากางไว้ และวางหนามพุทราไว้ใต้ถุนเรือนและทำตะแหล่วที่เชิงบันไดป้องกันผีมารังควาน ส่วนอาหารนั้นห้ามทานเนื้อปลาดุก ปลาช่อน ให้ทานปลาหมอ (ปิ้ง) และข้าวจี่ ปูนาปิ้งทานได้ แต่น้ำปลาห้ามทาน ทานผักได้ทุกชนิดยกเว้นชะอม นอกจากนี้มีการรักษาให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นด้วยการนำก้อนหินเผาไฟให้ร้อน สาดน้ำแล้วใช้ผ้าดำห่อมาประคบท้อง เมื่อถึงเวลาออกคำ มีพิธีสู่ขวัญให้พ่อแม่และลูก ด้วยการให้ผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนใหญ่เป็นปู่ย่า ตายาย ผูกแขนทั้งพ่อแม่ลูก ด้วยด้ายที่ทำจากฝ้าย (ทั้งนี้เพราะสามีก็ต้องอยู่ดูแลภรรยาตลอดช่วงอยู่คำ) ก่อนผูกแขนจะกล่าวว่า “ความร้ายให้หนีไป ความดีให้อยู่ ความเจ็บไม่ให้ได้ ความไข้ไม่ให้มี ขอให้มีความสุขความเจริญ” หลังจากนั้นเป็นการขอขมาปู่ย่า ตายาย รวมทั้งสามีด้วยเช่นกัน
2. การแต่งงาน ก่อนการแต่งงาน หนุ่มผู้ไทยจะจีบสาวในช่วงเวลาลงข่วง หรืออยู่ค่ำตามบ้าน โดยมีแคนคู่ใจหรือไปเป็นกลุ่ม เป่าแคน ดีดกระจับปี่ (เป็นพิณชนิดหนึ่ง) เลาะไปตามบ้านสาวที่ทำงานปั่นฝ้าย อิ้วฝ้าย คือ การนำเมล็ดฝ้ายออกจากดอกฝ้าย ตำข้าว โดยสาวมักนั่งบนแคร่ทำงานในบริเวณบ้าน หนุ่มสาวจะพูดคุยกันโดยหนุ่มกล่าวผญา หรือคำกลอน ให้แก่หญิงและหญิงโต้กลับเป็นคำกลอนเช่นกัน แต่ต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่ฝ่ายหญิงตลอดเวลา ห้ามแตะต้องเนื้อตัวกัน เพราะผิดผี จนเมื่อรักใคร่ชอบพอกันก็แต่งงานกัน
ประเพณีแต่งงาน ชาวผู้ไทยเรียกว่า “เอ็ดประชู (พระชู)” ในการสู่ขอนั้นพ่อแม่ฝ่ายชายและผู้อาวุโสในหมู่บ้าน จำนวน 4-5 คน หรืออาจเป็นล่ามและผู้อาวุโสจำนวนหนึ่ง ญาติฝ่ายชายต้องหาพ่อล่ามไว้ในงานแต่งงาน อาจหาเพื่อไปสู่ขอหรือหาตอนไปแต่งงานก็ได้ ซึ่งเฒ่าแก่ฝ่ายชายเปรียบเสมือนพ่อคนที่สองที่ต้องรับผิดชอบเจ้าบ่าว ดังนั้น ต้องเป็นคนที่มีความประพฤติดีมีคุณธรรมและไม่เป็นญาติฝ่ายใด พร้อมดอกไม้ เทียนคู่ กับเหล้าขาวขวดหนึ่ง และเงินจำนวนหนึ่ง แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียก มาขอไขคำปากคำขอ ไขคำพูดว่าจะเรียกสินสอดเท่าไร กับลุงตา (เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิง เช่น ลุง เป็นต้น) แล้วนัดวันแต่งงาน ในวันแต่งงาน ปัจจุบันมีการนำพิธีสู่ขอมาจัดในวัดแต่งงานเพื่อความสะดวกของทั้งสองฝ่าย และแล้วแต่ว่าให้ผู้ใดมาสู่ขอสาว เช่น ถ้าเป็นพ่อล่ามไปสู่ขอแทนพ่อแม่ฝ่ายชาย จะจัดพิธีสู่ขอก่อนวันแต่งงาน แต่ถ้าเป็นพ่อแม่ไปสู่ขอสาวเองจัดพิธีสู่ขอในวันแต่งงานและจำต้องมีพ่อล่ามมาสู่ขอและจัดการงานแต่งงาน เป็นต้น เมื่อถึงเวลาตามฤกษ์ พ่อล่ามจะนำขบวนโดยสะพายดาบหรือง้าวและถึงย่ามพร้อมเงินค่าสินสอด ตามด้วยขันหมาก ส่วนเจ้าบ่าวหิ้วกาน้ำ (น้ำเต้า) และมีไข่ต้ม 1 ฟอง หลอดด้าย พร้อมเพื่อนเจ้าบ่าวและญาติๆ พ่อล่ามเข้าไปบ้านเจ้าสาวก่อน ส่วนเจ้าบ่าวอยู่ข้างนอก พร้อมดอกไม้ เทียนคู่ ไปไหว้ลุงตา และค่าสินสอด เพื่อทำการสู่ขอ โดยทำการ “เนงฮีต เนงคอง” คือ ลุงตาให้ทางฝ่ายชายยึดถือประเพณี และสอบถามความประพฤติของเจ้าบ่าวกับพ่อล่าม ซึ่งพ่อล่ามต้องตอบว่าเป็นคนดีไม่เคยมีลูกเมียมาก่อน ขยันเอาการเอางาน แล้วพ่อล่ามมอบของหมาย (เครื่องโอม) คือ กะหยัง (ตะกร้าสะพายใส่ของ) 4 ใบ บรรจุสิ่งของเป็นคู่ลงไป ประกอบไปด้วย กะหยังข้าวต้มมัด 2 ใบ กะหยังข้าวสาร และผ้าเช็ดหน้า 1 ใบ และกะหยังกล้วยอ้อย 1 ใบ แต่ใจปัจจุบันพ่อล่ามยกขันแทนซึ่งภายในมีขันธ์ห้า ขันธ์แปด พลู 2 แหนบสีเสียด 2 ตัด แล้วพ่อล่ามบอกกล่าวกับลุงตาและญาติฝ่ายหญิงว่าได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ฝ่ายชายนำของมาหมั้นหมายตามฮีตคองทุกอย่าง เพื่อสู่ขอลูกสาวไปเป็นลูกสะใภ้ แล้วญาติฝ่ายหญิงมอบกะหยังคืนให้ฝ่ายชายไป 2 ใบ พร้อมของต่างๆ (พ่อฝ่ายชาย 1 ใบ และพ่อล่าม 1 ใบ) แล้วพ่อล่ามมอบเงินสินสอดให้ลุงตา หลังจากนั้นพ่อล่ามนำไก่ต้ม 1 ตัว ข้าวเหนียว 1 กระติบ เหล้า 1 ขวด และดอกไม้เทียนคู่ มาไหว้ลุงตาให้พิธีเฆี่ยนเขย (สอนเขย) ก่อน โดยกล่าวฝากความเฆี่ยนไว้กับพ่อล่าม แล้วพ่อล่ามทำพิธีขอย้ายตีนนาง ส่วนเจ้าบ่าวนั้น พ่อล่ามส่งคนให้แห่เจ้าบ่าวมา เมื่อมาถึงหัวบันไดบ้านทำการล้างเท้าเขยก่อนขึ้นบ้าน โดยเจ้าบ่าวถอดรองเท้าเหยียบบนใบตอง ซึ่งวางบนหินลับมีดอยู่ มีเด็กมาตักน้ำล้างให้ แล้วเจ้าบ่าวมานั่งล้อมพาขวัญ (ขันบายศรีสู่ขวัญ) ที่ญาติเจ้าสาวเตรียมไว้ ฝ่ายลุงตาพาเจ้าสาวมานั่งใกล้เจ้าบ่าว หมอสูตรทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ส่วนพ่อล่ามทำการ “จ้ำหวัน” (สู่ขวัญ) แล้วป้อนข้าวให้บ่าวสาว และพ่อล่ามแบ่งไข่สู่ขวัญ ให้บ่าวสาวคนละครึ่ง โดยให้มือพ่อล่ามทั้งสองไขว้กันและใช้มือขวาป้อนเจ้าบ่าวมือซ้ายป้อนเจ้าสาว หลังจากนั้นทำการผูกแขนเจ้าสาว พ่อล่ามผูกแขนเจ้าบ่าวก่อนพร้อมสั่งสอนการครองรักครองเรือน หลังจากผูกแขน บ่าวสาวทำพิธีสมมา โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวนำเครื่องสมมา 1 ชุด ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าแพร อย่างละ 1 ชิ้น ซึ่งเจ้าสาวทำไว้ไปสมมาญาติพี่น้อง ซึ่งการสมมาเป็นการขอศีลขอพรจากญาติผู้ใหญ่ ญาติที่รับสมมาให้ศีลให้พร รวมทั้งให้เงินทองแล้วแต่จะให้ การสมมาเริ่มที่พ่อล่าม แล้วตามด้วยพี่น้องทางฝ่ายพ่อเจ้าบ่าวเรียงตามลำดับอาวุโส และพี่น้องของแม่เจ้าบ่าว เรียงตามลำดับอาวุโสเช่นกัน และให้ครบชุด ส่วนญาติต่างๆ สมมาเพียงแต่หมอนเท่านั้น หลังจากนั้น จึงสมมาญาติพี่น้องเจ้าสาวโดยใช้ธูปเทียนเท่านั้น และไม่มีเงินตอบรับ มีแต่ให้ศีลให้พรเท่านั้น เมื่อเสร็จพิธีสมมาแล้วลุงตาฝ่ายหญิงมอบสำรับอาหารเลี้ยงเขยทั้งหมดเรียกว่า “พาเขย” เขยเรียกร้องอะไรทั้งเหล้า บุหรี่ ต้องจัดเตรียมไว้ให้ เพื่อให้เขยใหม่และเขยเก่ารู้จักกัน เมื่อเสร็จพิธีบ้านเจ้าสาวแล้ว แห่เจ้าบ่าวเจ้าสาวไปบ้านเจ้าบ่าว เจ้าสาวเตรียมเครื่องสมมาไปสมมาญาติฝ่ายชายที่จัดเตรียมงานอยู่ทางบ้านเจ้าบ่าวด้วย และต้องจัดเตรียมเสื่อ 1 ผืน หมอน 1 ใบ เงิน 6 ตำลึง ปัจจุบันแล้วแต่กำหนด ผ้าซิ่น 1 ผืน ขันน้ำ 1 ใบ แพรเบี่ยง 1 ผืน มุ้ง 1 หลัง และขันธ์ 5 หรือขันธ์ 8 ตามที่ฝ่ายเจ้าบ่าวกำหนดมา สิ่งของเหล่านี้นำไปสมมาปู่ย่า (พ่อแม่เจ้าบ่าว) ที่คอยรับลูกสะใภ้อยู่ หลังจากนั้นทำพิธีส่งตัวโดยนำขนมและเงินโยนไปที่นอนบ่าวสาวให้เด็กๆ มาเก็บเงินเก็บขนมเป็นเคล็ดให้อยู่กันยืนยาวจนมีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อเสร็จพิธีแต่งงานแล้ว ผู้มาร่วมงานต่างแยกย้ายกลับบ้าน ส่วนพ่อล่ามมีคนไปส่งถึงบ้าน ประเพณีแต่งงานในปัจจุบันได้ตัดพิธีบางส่วนไปบ้างตามสภาพเศรษฐกิจและตามความเชื่อในพุทธศาสนา ส่วนบ้านที่ยังคงนับถือผี ยังมีพิธีบางอย่างอยู่
หลังแต่งงาน 9 วัน ฝ่ายชายนำสิ่งของไปไหว้ผีทางฝ่ายหญิง เมื่ออยู่กินกันได้ครบ 3 ปี ทำพิธีดอง ทำอาหารไหว้ผีและเลี้ยงแขกญาติผู้ใหญ่ และมีการจัดเลี้ยงอีกตามวาระ การมีลูก 2 คน (กินด่าง) ลูก 3 คน (กินซวด) ลูก 4 คน (กินหมูฮมฮอย)เป็นต้น และบางบ้านทำพิธีสลับกันบ้าง เช่น พิธีเฆี่ยนเขย อาจทำก่อนพิธีบายศรีสู่ขวัญ หรือก่อนเลี้ยงพาเขยก็ได้ เป็นต้น แต่โดยทั่วไปยังคงมีพิธีหลักๆ อยู่ เช่น การโอม (การสู่ขอ) บายศรีสู่ขวัญ ผูกแขนสมมา ซึ่งการสมมานี้เป็นลักษณะเฉพาะของชาวผู้ไทยในทุกท้องที่
3. การตาย เมื่อญาติผู้ใหญ่ป่วยมาจนใกล้ตาย ญาติพี่น้องจะเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน ให้ผู้ป่วยประนมมือ เพื่อให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยและขอขมาลาโทษสิ่งที่ทำไม่ดีในอดีต จนเมื่อสิ้นใจแล้ว จึงแจ้งให้ญาติพี่น้องและเขยทุกคนทราบ ในบรรดาเขยทั้งหลาย เขยใหญ่เป็นผู้นำและจัดงานศพตามรูปแบบพิธีกรรมตามคำแนะนำของผู้อาวุโสตั้งแต่เริ่มงานจนเสร็จงาน เขยใหญ่อาบน้ำศพด้วยน้ำส้มป่อยหรือน้ำขมิ้น สวมชุดที่ผู้ตายชอบ แล้วทำการมัดข้อมือและประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนและเงิน เพื่อเป็นค่าเบิกทาง และใช้ในภพหน้า มัดข้อเท้าและมัดตัว (ปัจจุบันให้นอนหงายมือ นำดอกไม้ ธูปเทียน เงิน วางไว้ในมือ และนำผ้าขาวมาปิดหน้า) ส่วนเขยคนอื่นๆ ไปจัดหาโลงศพ และการตั้งศพในบ้านให้วางไว้ใต้ขื่อตามแนวยาว มีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารในช่วงเช้าและมีการบำเพ็ญบุญด้วยการห่ออนิจจาและห่อยอดมุข แล้วนิมนต์พระจำนวนคู่มาสวด และเมื่อถึงเวลาทานข้าว ญาติพี่น้องจัดอาหารคาวหวานมาตั้งที่หัวโลงแล้วเคาะโลงปลุกผู้ตายให้มาทานข้าว ส่วนกลางคืน ญาติพี่น้องมาอยู่เป็นเพื่อนและช่วยเจ้าภาพ เรียกว่า การคบงัน มีการอ่านหนังสือนิทานต่างๆ และเล่นเกม เช่น เล่นไพ่ เป็นต้น
ในวันปลงศพ (วันเผาศพ) มีข้อห้ามคือห้ามเผาในวันเก้ากองหรือเดือนดับ (ข้างแรม) เชื่อว่าจะมีคนตายเพิ่มอีก ช่วงเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตร ถวายไทยทานต่างๆ ส่วนพวกเขยไปจัดเตรียมสถานที่เผาศพให้เรียบร้อย ในช่วงสายบรรดาเขยต่างๆมาที่หน้าศพและญาติหาข้าวให้ทาน เรียกว่า กินข้าวหน้าศพ หลังจากนั้นนิมนต์พระมาทำพิธีบรรพชาภิกษุสามเณรหน้าไฟ หรือบวชชีพราหมณ์ เป็นการทดแทนคุณ แล้วเคลื่อนย้ายศพไปที่เมรุ แต่ก่อนบรรดาเขยต้องหามศพไปถึงป่าช้า ปัจจุบันเคลื่อนศพโดยวิธีใช้รถ ญาติบางส่วนที่อยู่บ้านทำการกวาดบ้าน กวาดเศษดอกไม้ ธูปเทียน มากองตรงที่ตั้งศพ และนำกระด้งมาครอบปิดไว้ และนำหินมาทับไว้อีกทีหนึ่ง ข้างๆ มีกระบุงขี้เถ้าอยู่ด้วย ไว้เสร็จงานที่วัดแล้วเขยใหญ่จะมาทำพิธีไล่ผี
การจูงศพ ใช้ผ้าขาวหรือเชือกจูงศพ พระนำหน้า ตามด้วยภิกษุ สามเณร ชีพราหมณ์ ตามด้วยญาติพี่น้อง ระหว่างทางมีการหว่านเงิน (อุทิศให้ผู้ตาย) และข้าวตอก (เสมือนเป็นการเตือนสติว่าคนตายนั้นเหมือนข้าวที่คั่วแล้ว (ข้าวตอก) ไม่มีวันเกิดหรือข้าวงอกได้อีก) ในขบวนศพนั้นเขย (หล้า) ต้องหามบุงปาง คือ สิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ตายไว้ใช้ในภาพหน้า เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง เสื้อผ้า ผ้าห่ม ข้าวของผู้ตาย มีดพร้า บุหรี่ และหมากพลู ใส่ในตะกร้าใบใหญ่ เมื่อถึงเมรุจึงเวียนซ้าย 3 รอบ แล้วยกขึ้นเมรุ ประกอบพิธีทางศาสนา มีการสวดมาติกา บังสุกุล แล้วพระให้พร จึงประชุมเพลิง บรรดาแขกต่างๆ ต่างกลับบ้าน ส่วนเขยต้องเฝ้าดูแลจนไฟไหม้เกือบหมดแล้วจึงกลับบ้าน พระภิกษุมาที่บ้านเพื่อสวดปัดรังควาน ทำน้ำพระพุทธมนต์ แล้วพรมไปทั่วบ้าน และน้ำมนต์นี้เขยที่กลับจากวัดต้องประพรมทุกคน แล้วเขยใหญ่ทำการไล่ผีออกจากบ้าน โดยไปที่กระด้งครอบเศษดอกไม้ธูปเทียนและนำก้อนหินที่ทับไว้ออก แล้วนำไม้กวาดกดทับแทน แล้วครูดไปกับพื้น พร้อมวิ่งกระทืบเท้าเสียงดังเพื่อนำไปทิ้งนอกบ้าน ส่วนเขยอีกคนก็นำกระบุงขี้เถ้าวิ่งกระทืบเท้าเสียงดังตามมาด้วยจนเศษดอกไม้ธูปเทียนนั้นได้ออกไปจากบ้านแล้วจึงเทขี้เถ้าตามไปด้วย ส่วนพวกที่อยู่ข้างล่างก็โยนก้อนหินแล้วส่งเสียงร้องขับไล่ผีออกจากเรือนไป หลังจากนั้นมีการเลี้ยงบรรดาเขย หรือสู่ขวัญเขยโดยเจ้าบ้านนำบุหรี่ เหล้า อาหาร กระจกส่องหน้าและนำหวีมาให้เขย เพื่อได้แต่งตัวหลังจากตรากตรำกับงานศพมานาน มีการเลี้ยงดูปูเสื่อให้แก่เขยอย่างดี เพราะบรรดาเขยได้ช่วยเหลืองานทั้งหลาย และเสร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้เจ้าภาพผู้ใหญ่ได้กล่าวอวยพรให้เขยอยู่ดีมีสุข แล้วร่วมกันทานอาหารดื่มกินกันสนุกสนาน หลังจากงานศพผ่านพ้นไปแล้ว 3-4 วัน จึงทำพิธีอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย เรียกว่า “แจกข้าว” และถ้าเป็นผีตายโหง ต้องเว้นไป 3 ปี จึงทำ “กองบุญ” ไปให้ ซึ่งจะทำในงานบุญผะเหวด
*การเฆี่ยนเขย คือ การอบรมผู้ที่มาเป็นเขยให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมเขย 14 ข้อ ตามฮีตคอง เช่นให้ขยันทำมาหากิน ซื่อสัตย์ต่อลูกเมีย ให้ความเคารพญาติของฝ่ายหญิง ละเว้นสิ่งอบายมุขทั้งหลาย เป็นต้น
พิธีขอย้ายตีนนาง คือ ขอลูกสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว(เรือนปู่ย่าคือพ่อแม่เจ้าบ่าว)
อาหาร
อาหารของผู้ไทยหาได้จากธรรมชาติและจากการปลูกในครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นน้ำพริก แกง อ่อม ส้มตำ ลาบต่างๆ ปิ้งปลาดุก ปลานึ่ง ป่นปลา เป็นต้น บริโภคกับข้าวเหนียวเป็นหลัก และผักเป็นผักพื้นบ้าน เช่น ยอดฟักทอง มะเขือ ผักติ้ว ผักหวานป่า น้ำพริกเรียกว่า “แจ่ว” ใช้พริกสดกับกระเทียม ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ตำด้วยกันใส่เกลือ มะนาว น้ำปลา “แจ่วบอง” ใช้พริกแห้งคั่วมาตำกับใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม ใส่ปลาร้า น้ำปลา ชูรส แล้วใส่กระปุก เวลาทานตักออกมาและบีบมะนาวใส่ ผักจิ้ม น้ำพริกมีทั้งผักสดผักลวกและผักนึ่ง (นึ่งมวย หรือหวด) ซึ่งเป็นผักในบริเวณรั้วบ้าน เช่นผักตำลึง ชะอม ยอดมะระ ยอดบวบ กระถิน ยอดฟักทอง มะเขือ ถั่วฝักยาว ผักแผ่ว ผักชีลาว (ผักหอมฮ้อ) และผักสะระแหน่ (ผักเสิม) เป็นต้น ปลาต่างๆ ได้จากการเลี้ยงเอง และมาจากหนองน้ำ รวมทั้งสัตว์ต่างๆ ในนา ทั้งแมลงและหนูนาก็นำมาทำเป็นอาหาร ถ้าเป็นงานบุญนิยมทำลาบเนื้อวัว เนื้อหมู ถวายพระและบางส่วนทานกันในครอบครัว มีลาบแดงที่เรียกว่า “ก้อย” และมี “อุ” (เหล้าไห) ใช้ในงานพิธีกรรม ขนมของชาวผู้ไทยมีไม่มากนัก และหาทานได้เมื่อมีงานประเพณีหรือพิธีกรรม เช่น ข้าวต้มมัด คือ ข้าวเหนียวห่อกล้วยแล้วต้ม ข้าวต้มผัด ใช้ข้าวเหนียวผัดกับกะทิก่อนแล้วนำมาห่อกับกล้วยแล้วนิ่ง ขนมกะทิมะขาม (สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 เดือน ทุกวัยทานได้ เป็นของว่าง หลังทานอาหารหนัก ขนมนี้ทำจากมะพร้าวคั่ว ผัดในกระทะกับน้ำตาลทราย น้ำอ้อย โดยคั่วให้แห้งและปล่อยให้เย็น มาคลุกเคล้ากับมะขามแกะเมล็ดแล้ว) และขนมหมก คือ ข้าวเหนียวดำบดให้ละเอียดมานวดเป็นแป้งข้าวเหนียวใส่ไส้มะพร้าวที่คั่วกับน้ำตาลน้ำอ้อยแล้วนึ่ง นิยมทำในงานบุญ และข้าวต้มตัด คือ ข้าวต้มมัดมาตัดเป็นท่อน มาคั่ว(ผัดคลุกเคล้า) กับมะพร้าว น้ำตาลน้ำอ้อย
ภาษาไทยอีสาน ภาษาผู้ไทย
วัดโพธิ์ชัย ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
ในชุมชนเก่าแก่ บ้านนางัว ตําบลนางัว อําเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ยังมีชนเผ่าไทยญ้อและภูไท ที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ําโขง มาตั้งรกรากอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่3 ต่อมาในปี พ.ศ 2444 สมัยรัชกาลที่5 นายเฮ้า และนายเชียงแพง วงศ์ศรีชู ได้บริจาคที่ดินจํานวน 8 ไร่เศษ เพื่อสร้างวัดโพธิ์ชัย ให้เป็นที่ศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ ด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และเจ้าอาวาสรูปแรก พระขันตรี ได้พัฒนาวัดสืบต่อเรื่อยมา จนถึงเจ้าอาวาส พระครูปัญญา พระอินทร์ พระวงศ์ พระเกศ พระครูสิริมงคล (หนู) อาหโย พระครูโพธิชญานุกูล และเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระมหาชัยวุฒิ พุทธวโร ภายในวัดมีพระธาตุศรีเงินคําที่โดดเด่นเป็นสง่างดงาม พระมหาชัยวุฒิ พุทธวโร เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจในการสร้างพระธาตุเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้รับ หลวงปู่คําพัน โฆษกปัญโญและหลวงปู่พระเทพ มงคลเมธี อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม วัดมหาธาตุมาแล้ว ก็ได้มาประชุมชาวบ้านเพื่อสร้างพระธาตุเจดีย์ศรีเงินคําขึ้นมา พระธาตุเจดีย์ศรีเรือนคําวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2545 โดยมีหลวงปู่คําพัน โฆษกปัญโญ และพระเทพมงคลเมธี อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนมมาเป็นประธาน หลังจากนั้นหนึ่งปีจึงได้เริ่มดําเนินการก่อสร้าง ใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จ พระธาตุศรีเงินคํา ฐานกว้าง 11 เมตร สูง 45 เมตร ลักษณะเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม คล้ายพระธาตุอิงฮัง ที่ประเทศลาว รอบองค์พระธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ พร้อมด้วยพระพรหม พระอินทร์ เทวดา พญาครุฑ พญานาค รักษารอบเจดีย์ทั้งแปดทิศ ต่อมาทางวัดโพธิ์ชัยได้รับพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเพิ่มเติมอีก วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562 จึงได้มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และยกฉัตรพระธาตุเจดีย์ศรีเงินคํา ข้างพระธาตุเจดีย์ศรีเงินคํา มีวิหารที่สร้างเชื่อมต่อกับองค์พระธาตุ บานหน้าต่างทุกบานแกะสลักลวดลายพุทธประวัติ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป พระเจ้าใหญ่องค์ล้าน หรือ "พระพุทธะทะสะสะตะสะหัสสะปารมี" แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีพระคุณความดีตลอดล้านปี และมีภาพกิจกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติที่งดงาม นอกจากนั้นวัดโพธิ์ชัย ยังมีอุโบสถที่เก่าแก่ กว้าง 5 เมตร ยาว 13 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2487 โดยฝีมือช่างชาวเวียดนาม พร้อมด้วยศาลาการเปรียญก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวทรงไทย ศิลปะผสมฝรั่งเศส สร้างในปี พ.ศ.2497 โดยพระครูสิริมงคล อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย รูปที่ 6 ภายในมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ชาดกพระเจ้าสิบชาติ พระเวชสันดรชาดก ประเพณียี่สิบสองครองสิบสี่
ยศกร สิทธิศักดิ์ไพบูลย์. การศึกษาภาษาผู้ไทยสู่การพัฒนาหลักสูตรเพื่อการสืบสานและการอนุรักษ์สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย : กรณีศึกษาบ้านนางัว, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชา วิจัยหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2566-2570, องค์การบริหารส่วนตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม Plus. วัดโพธิ์ชัย บ้านนางัว ต.นางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม "พระธาตุศรีเงินคำ", https://www.youtube.com/watch?v=PFxET9BzgPk&t=218s