Advance search

“แหล่งบ้านเรือนโบราณ สืบสานศาสนา งามตาสวนผลไม้ ประชาชนสุขสบายด้วยวิถีพอเพียง”

หมู่ที่ 5
ควน
บ้านควน
เมืองสตูล
สตูล
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ส.ค. 2023
บ้านควน


ชุมชนชนบท

“แหล่งบ้านเรือนโบราณ สืบสานศาสนา งามตาสวนผลไม้ ประชาชนสุขสบายด้วยวิถีพอเพียง”

ควน
หมู่ที่ 5
บ้านควน
เมืองสตูล
สตูล
91140
6.697788
100.0669
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน

บ้านควน หมู่ที่ 5 ตําบลบ้านควน อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ในภาษามาลายูเรียกว่า กําปงฆวก คําว่า กําปง แปลว่า หมู่บ้าน ส่วนคําว่า ควน เป็นภาษาใต้ หมายถึง เนินหรือที่สูง สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านควนเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ขึ้นกับตำบลมำบัง อำเภอมำบังฆรา (ปัจจุบัน คือ ตำบลพิมาน อำเภอเมือง) มีวัฒนธรรมพราหมณ์หรืออินดูที่อาณาจักรศรีวิชัยเคยปลูกฝังไว้ ก่อนที่จะจางลงเพราะศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาแทนที่ แต่ยังมีประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์หลงเหลืออยู่บ้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ได้มีการก่อตั้งปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) แห่งแรกที่บ้านควน นับเป็นปอเนาะแห่งแรกของจังหวัดสตูล โดยท่านฮัจญีหมัดซีเกร นาปาเลน เป็นโต๊ะครูเปิดสอนวิชาศาสนาอิสลาม มีผู้คนทั้งในและต่างจังหวัด หลั่งไหลเข้ามาเพื่อหาวิชาความรู้ ทำให้บ้านควนมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วทุกสารทิศ

หลังจากนั้นมา บ้านควนเป็นชุมชนที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ค่อนข้างหลากหลายกล่าวคือ ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ เน้นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม ภาษาที่พูดใช้ภาษากลาง สำเนียงเพี้ยนไปทางตอนเหนือของแหลมมลายูผสมผสานภาษาไทยบ้าง ซึ่งวิถีชีวิตของชาวบ้านควนได้รับความสนใจจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นอย่างมากโดยเฉพาะท่านพระยาภูมินารถภักดี เจ้าเมืองสตูล ได้นำขบวนช้างออกตรวจราชการเป็นประจำ จนกระทั่งสมรสกับสาวชาวบ้านควน และหลานของบุรีรักษ์เจ้าเมืองสตูล ทั้งสองท่านได้สมรสกับสาวชาวบ้านเช่นกัน

ในอดีตบ้านควนมี 3 ตระกูลใหญ่เข้ามาอยู่อาศัย คือ ตระกูลนิสาแล๊ะ ตระกูลฮะอุรา และตระกูลหลังปูเต๊ะโดยตระกูลฮะอุรามีบทบาทในการปกครองท้องถิ่น ส่วนตระกูลนิสาแล๊ะมีบทบาทในการเป็นผู้นําศาสนา ส่วนตระกูลหลังปูเต๊ะเข้ามาอาศัยอยู่ในฐานะเป็นเขยตระกูลนิสาแล๊ะ มีความรู้ทางด้านศาสนา และต่อมาภายหลังก็มีบทบาทในการปกครองชุมชนควบคู่กับการเป็นผู้นำทางศาสนา

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 6, 7 ตำบลคลองขุด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3, 5 ตำบลบ้านควน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2, 4 ตำบลเกตรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านควน

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านควนมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มและเป็นที่ราบส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรและทําสวนผลไม้ที่ราบลุ่มเป็นที่ทํานาข้าว พื้นที่ทั้งหมด 4,500 ไร่ มีลําคลองกําบัง (คลองดุสน) คลองชลประทานและมีลําห้วยไหลผ่านในพื้นที่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 12 กิโลเมตร มีฝนตกชุกตลอดปี พื้นที่ชุมชนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกและลมมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านตลอดสลับกันทั้งปี สภาพอากาศของชุมชนมีลักษณะเช่นเดียวกับพื้นที่ท้องถิ่นภาคใต้ทั่วไป คือ มี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยส่วนมากจะเริ่มตกประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม ในช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกมากที่สุดคือเดือนตุลาคม เพราะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนฤดูแล้งจะเริ่มประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนอาจจะมีฝนตกบ้างเนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแต่ไม่มากนัก เดือนมีนาคมและเดือนเมษายนจะมีอากาศร้อนที่สุด ในพื้นที่บ้านควนมีพื้นที่ราบและที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา ไม่มีแหล่งน้ำ การเกษตรส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำฝน มีคลองมำบัง (คลองดุสน) ซึ่งมีน้ำไหลผ่านจากอําเภอควนโดน ผ่านตําบลฉลุง ตําบลบ้านควน ตําบลควนขันลงสู่ทะเล ช่วงฝนตกติดต่อกันหลายวัน น้ำคลองจะล้นตลิ่งทําให้เกิดน้ำท่วม แต่เมื่อฝนหยุดตกติดต่อกันหลายวัน น้ำคลองจะแห้ง ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงกับการเกษตร

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านควน ตำบลบ้านควน มีจำนวนประชากร 2,112 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,020 คน ประชากรหญิง 1,092 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 544 ครัวเรือน 

มลายู

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านควน หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีอาชีพหลัก คือ ทำสวนยางพารา อาชีพรอง คือ รับจ้าง และอาชีพเสริม คือ ปลูกผักสวนครัว และรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว โดยชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 38,689 บาท/คน/ปี

ผลิตภัณฑ์ชุมชน

  • การจักสานเสื่อด้วยวัสดุในท้องถิ่น
  • ทําเครื่องมืออุปกรณ์ประมงน้ำจืด
  • ทําขนมพื้นเมือง ขนมขันหมากแห่เจ้าบ่าวเจ้าสาว
  • ทําผ้านวมและผ้าคลุมศีรษะสตรี

กลุ่มองค์กรชุมชน

  • คณะกรรมการพัฒนาสตรี (กพ.สม.)
  • คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน (กองทุน 9,000,000 บาท)
  • คณะกรรมการเยาวชนหมู่บ้าน (กยม.)

ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของบ้านควนส่วนมากจะเน้นด้านศาสนาอิสลามและประเพณีนิยมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนา มีดังนี้

  • ประเพณีวันศุกร์ เป็นวันสําคัญทางศาสนาอิสลามเป็นอย่างยิ่ง ในวันนี้ชาวมุสลิมทุกคนจะต้องไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งถือว่าเป็นการละหมาดร่วมกันครั้งสำคัญในรอบสัปดาห์เฉพาะมุสลิมที่เป็นสุภาพบุรุษ

  • วันอิดิลฟิตรี นอกจากการละหมาดร่วมกันในทุกวันศุกร์เป็นประจําสัปดาห์แล้ว ในรอบปีตามหลักศาสนาชาวมุสลิมยังมีวันสําคัญอีกวันหนึ่ง คือ วันอิดิลฟิตรี หรือที่เรียกว่า รายาออกบวช ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองความสําเร็จในการถือศีลอด (บัวซา) ครบหนึ่งเดือนนเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม) มีการละหมาดร่วมกัน ในเวลา 08.00 น. หรือ 09.00 น. ตามมัสยิดกําหนด การละหมาดครั้งนี้ทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีหลัง การละหมาดเสร็จแล้วจะเดินทางไปขอขมาโทษจากผู้สูงอายุและเยี่ยมกุโบร์ (สุสานอิสลาม) ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

  • วันอิดิลอัฎฮา (รายอฮัจยี) เป็นวันครบรอบ 30 วัน นับจากวันอิดิลฟิตรี ตรงกับวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจญะห์ (เดือน 12 ตามปฏิทินอิสลาม) เป็นวันที่มุสลิมทั่วโลกเดินทางไปร่วมกันเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ น นครมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่วนที่ไม่สามารถเดินทางไปได้จะประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิดในพื้นที่ หรือสถานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวันสําคัญดังกล่าว เมื่อละหมาดเสร็จแล้วจะมีการเชือดสัตว์ แจกจ่ายเนื้อเพื่อเป็นทานให้แก่คนในคอเรียะห์ เรียกว่า การทำกุรบาน

  • วันเมาลิดินนาบบี หรือวันเมาลิดินรอซูล เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ของเดือนรอบิอุลอาวัล (เดือนนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม) โดยในวันนี้จะมีการเล่าประวัติของนบีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนบี และสรรเสริญนบีที่มัสยิด หรือสถานที่ที่จัดไว้เป็นพิเศษก็ได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการประกอบอาชีพมีดังนี้

  • การจักสานเสื่อด้วยวัสดุในท้องถิ่น
  • ทําเครื่องมืออุปกรณ์ประมงน้ำจืด
  • ทําขนมพื้นเมือง ขนมขันหมากแห่เจ้าบ่าวเจ้าสาว
  • ทําผ้านวมและผ้าคลุมศีรษะสตรี
  • หมอต่อกระดูกและคลายเส้น
  • หมอนวดแผนโบราณ

ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจําวัน คือ ภาษามาลายูถิ่นสตูล ควบคู่กับภาษาไทยปักษ์ใต้ ในอดีตประชากรบ้านควนไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แต่ในระยะหลังมานี้ เยาวชนในชุมชนได้เข้าเรียนในสถานศึกษาของรัฐ จบชั้นประถมปีที่ 4 หรือชั้นประถมปีที่ 6 สามารถพูดภาษาไทยได้จนถึงปัจจุบัน ภาษาที่ใช้สําหรับเขียน คือ ภาษาไทย ภาษายาวี (ภาษามลายูเขียนด้วยอักษรอาหรับ) ภาษารูมี (ภามาลายูเขียนด้วยอักษรอังกฤษ)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมพัฒนาชุมชน. (ม.ป.ป.). รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน Village Development Report (VDR) บ้านควน หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้นควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล. สตูล.

กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านควน สตูล. (2566). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/