Advance search

บ้านฮูหยงบาโร๊ะ, บ้านฮูยงบาโร๊ะ, บ้านบาลาสมีแล

บ้านฮูยงบาโร๊ะ ชุมชนชาวไทยมุสลิมที่ยังคงรักษาขนบ ค่านิยม และปฏิบัติตามหลักทางศาสนาอย่างเข้มงวด ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาตามปกิทินอิสลามที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน

บ้านปากมาบ หมู่ที่ 8
กายูบอเกาะ
รามัน
ยะลา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ส.ค. 2023
บ้านมาอาสนิแล
บ้านฮูหยงบาโร๊ะ, บ้านฮูยงบาโร๊ะ, บ้านบาลาสมีแล


ชุมชนชนบท

บ้านฮูยงบาโร๊ะ ชุมชนชาวไทยมุสลิมที่ยังคงรักษาขนบ ค่านิยม และปฏิบัติตามหลักทางศาสนาอย่างเข้มงวด ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาตามปกิทินอิสลามที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน

บ้านปากมาบ หมู่ที่ 8
กายูบอเกาะ
รามัน
ยะลา
75000
6.495657129
101.4118686
องค์การบริหารส่วนตำบลกายูบอกเาะ

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนเล่าว่า ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านฮูยงบาโร๊ะแห่งนี้มีลักษณะเป็นป่าทึบ มีบ้านเรือนเพียง 3-4 หลัง แต่ละหลังจะอยู่ห่างกันมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีถนน ไม่มีผู้คนเดินผ่านไปมา ซึ่งพื้นที่นี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “บาลาสมีแล” (บาลา-ศาลเจ้า หรือสถานที่ทําละหมาด สมีแล-เก้า) ซึ่งบาลาสมีแลนี้เป็นเสมือนศาลเจ้าที่ทำด้วยไม้ชนิดหนึ่ง สร้างขึ้นมาให้มีลักษณะ 9 ชั้น ชาวบ้านจะทำพิธีจับผีขังไว้ในศาลเจ้า แล้วนำไปวางไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่ และมีความเชื่อว่าเมื่อตั้งศาลเจ้าที่ต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นจะมีผีอยู่

ฮูยงบาโร๊ะ มาจาก “ฮูยง” แปลว่า ปลาย ส่วน “บาโร๊ะ” หมายถึง พรุ เนื่องจากหมู่บ้านถูกล้อมรอบด้วยน้ำ และตั้งอยู่บริเวณปลายพรุซึ่งน้ำจากลำน้ำสายต่าง ๆ จะไหลมารวมกันบริเวณนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าลักษณะดังกล่าวเปรียบเสมือนการพัดพาเอาโรคร้ายมากับสายน้ำ เป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ปลายพรุ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณที่เรียกว่าฮูยงบาโร๊ะหรือปลายพรุจึงต้องอพยพหนีโรคระบาดมาอยู่ที่บาลาสมีแล จากนั้นไม่นานได้มีการพัฒนาตัดผ่านถนนเข้ามาในหมู่บ้านภายใต้การสนับสนุนจากอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนมูลฐานและกลุ่มพัฒนาชุมชนที่เข้ามาร่วมศึกษาสภาพความเป็นอยุ่ของชาวบ้านฮูยงบาโร๊ะ นอกจากนี้ได้มีการก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเยาวชนซึ่งกลุ่มเยาวชนนี้ได้มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 แล้วดำเนินการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนขึ้นที่ค่ายลูกเสือหลังโรงพยาบาลรามันในปัจจุบัน ต่อมาในสมัยของนายอําเภอกิตติ (ไม่ทราบนามสกุล) ได้มีการสร้างกาเลาะ หรือกลองทําด้วยไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะกลมยาว แกะเอาเนื้อไม้ข้างในออกให้กลวง และมีไม้ใช้สําหรับตีกลองเพื่อเรียกให้ชาวบ้านออกมาประชุม ในการตีกลองจะมีจังหวะในการตี ถ้าตีเร็วปกติถือว่าเป็นการเรียกประชุมธรรมดา แต่ถ้าเป็นการตีอย่างรัวเร็ว ถือว่าเป็นการเรียกประชุมด่วน ชาวบ้านจะรีบออกมาประชุมด่วนทันที ในช่วงนี้จะมีความเจริญมากขึ้น มีการจัดอบรมบ่อยขึ้น นายอําเภอจึงได้ให้ชาวบ้านเขียนประวัติของหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะเขียนประวัติอย่างไรดี ชาวบ้านและผู้นําชุมชนจึงได้ปรึกษากันและได้มีการลงมติกันว่าจะเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก “บาลาสมีแล” มาเป็นหมู่บ้าน “ฮูยงบาโร๊ะ” (ปลายพรุ) ในปี พ.ศ. 2532 เหตุผลที่เปลี่ยนชื่อเป็น “ฮูยงบาโร๊ะ” เนื่องจากเป็นชื่อเรียกพื้นที่เดิมที่ชาวบ้านเคยอาศัยอยู่ก่อนย้ายมาที่บาลาสมีแล (แต่ชื่อทางการ คือ มาอาสนิแล) ภายหลังการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน บ้านฮูยงบาโร๊ะได้มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ โครงการพัฒนาถนน ไฟฟ้า รวมถึงคางกรเยาวชนต่อต้านยาเสพติดดีเด่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ดีเด่น เป็นต้น

ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ

บ้านฮูยงบาโร๊ะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอรามัน จังหวัดยะลา สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบสูง ลักษณะคล้ายปลายพรุ น้ำท่วมไม่ถึง มีฝนตกตามฤดูกาล ทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ น้ำ ดิน ยังคงความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะดินที่บริเวณตลอดริมทางเดินมีการขุดคูระบายน้ำตลอดพื้นที่หมู่บ้านอย่างทั่วถึง และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลอาซ่อง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลกายูบอเกาะ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลกายูบอเกาะ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลกอตอตือร๊ะ

สภาพภูมิอากาศ

  • ฤดูฝน อยู่ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม เป็นระยะเวลา 9 เดือน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ช่วงนี้จะมีฝนตกน้อย ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ระยะนี้จะมีฝนตกชุกและปริมาณมาก
  • ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ประชากร

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลกายูบอเกาะ หมู่ที่ 5 มาอาสนิแล (ฮูยงบาโร๊ะ) มีประชากรทั้งสิ้น 734 คน แยกเป็นประชากรชาย 353 คน ประชากรหญิง 381 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 171 ครัวเรือน

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและระบบเครือญาติ

บ้านฮูยงบาโร๊ะมีลักษณะครอบครัวทั้งที่เป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ต่ละครอบครัวมักจะประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก บางบ้านจะมีปู่ ย่า ตา ยาย ร่วมอาศัยอยู่ด้วย โดยลักษณะครอบครัวแบบนี้ส่วนมากจะปลูกบ้านอยู่ในละแวกเดียวกันกับบ้านพ่อแม่ โดยสมาชิกในครอบครัวมีบทบาทหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามสถานะของตนเอง

ลูกหลานชาวฮูยงบาโร๊ะเมื่อแต่งงานในระยะแรกจะมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ เมื่อตั้งตัวได้ มีความพร้อม และมีอาชีพที่มั่นคงจึจะแยกไปสร้างบ้านของตนเองแต่ก็ยังอยู่ในละแวกเดียวกับบ้านพ่อแม่ เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวบ้านฮูยงบาโร๊ะมีลักษณะเป็นแบบเครือญาติ ซึ่งหากมองในแง่บวกก็จะเป็นการดี คือ ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มักจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่หากมองในแง่ลบ เช่น ในการพิจารณาตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น การเมืองการปกครองที่จะต้องคัดเลือกโดยการลงคะแนนเสียงหรือพิจารณาจากเครือญาติเป็นอันดับแรก ส่วนประสบการณ์และความสามารถจะพิจารณาเป็นอันดับรองลงมา ส่งผลให้บางครั้งการดำเนินงานของผู้นำขาดความร่วมมือจากประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ใช่เครือญาติ และอาจเกิดความขัดแย้งกันในบางเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชนเกิดความล่าช้า 

มลายู

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านฮูยงบาโร๊ะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทําสวนยางพารา อาชีพรองลงมา คือ ทํานาและบางส่วนประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น รับจ้าง ค้าขาย รับข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท ธุรกิจส่วนตัว โดยทั่วไปชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 18,000 บาทต่อปี ประมาณ 6 โมงเช้า หลังประกอบศาสนกิจเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะออกไปกรีดยาง สําหรับคนที่ทํายางก้อนก็จะกลับมาประมาณ 9 โมงกว่า ๆ แต่สําหรับคนที่ทํายางแผ่น มักจะนําอาหารเช้าไปทานที่สวนยาง เสร็จประมาณบ่าย 2 แล้วจึงกลับมาทานอาหารเที่ยงที่บ้าน และมีบางส่วนออกไปทําสวนในช่วงเย็น ทั้งนี้ ยังมีบางอาชีพที่ชาวบ้านสามารถทำหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ดังนี้

  • รับจ้าง อาชีพรับจ้างที่ทําอยู่มี รับจ้างกรีดยาง รับจ้างรับเหมาก่อสร้าง
  • ขายของในชุมชน การขายของชํา อาหารสด อาหารแห้ง อาหารสําเร็จรูป
  • เลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ที่มี คือ การเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงแพะ เลี้ยงปลา

ศาสนา

ชาวบ้านฮูยงบาโร๊ะทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม โดยมีการปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันเป็นประจำ เช่น การละหมาดวันศุกร์ และการละหมาดในทุก ๆ วัน วันละ 5 เวลา การถือศีลอด วันรายออีดิลฟิตตริ และวันรายออีดิลอัฎฮา การทำอาชูรอ การละหมาดศพ การเข้าสุนัต การทำบุญ 7 วัน

ปฏิทินกิจกรรมชุมชน บ้านฮูยงบาโร๊ะ (ปฏิทินอิสลาม)

เดือนอิสลามกิจกรรม
มุฮัรรอม                                                

- วันขึ้นปีใหม่อิสลาม

- วันอาชูรอ ตรงกับวันที่ 9-10 ช่วงนี้จะมีการถือศีลอด

- เกี่ยวข้าว กรีดยาง
ศอฟัร- กรีดยาง
รอบีอุลเอาวัล

- วันเมาลิดนบีมุฮัมหมัด หรือวันแห่งการยกย่องวันเกิดท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.)

- กิจกรรมการเข้าสุนัต

- เกี่ยวข้าว กรีดยาง
รอบีอุษษานี- กรีดยาง
ญุมาดัลอูลา- กรีดยาง
ญุมาดัษษานียะหฺ - กรีดยาง
รอญับ- วัสอิสเราะห์ แมะเราะฮ์ ตรงกับวันที่ 27 ในวันนี้จะมีการศึกษาประวัติของท่านนบีมุฮัมหมัดที่มัสยิดในตอนค่ำ 
ชะอฺบาน- วันนิสฟูชะห์บาน ตรงกับวันที่ 15 ของเดือน กิจกรรมในวันนี้จะมีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาร จบแล้วของดุอาต่ออัลลอฮฺ
เชาวาล

- วันรายออีดิลฟิตริ คือ วันที่ 1 เดือนเชาวาล หรือวันสุดท้ายของการถือศีลอด จะมีการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนถัดไป ซึ่งทางสำนัจุฬาราชมนตรีจะเป็นผู้ประกาศตามสื่อต่าง ๆ ให้ชาวมุสลิมได้รับทราบทั่วกัน

- วันที่ 2 เดือนเชาวาล จะเป็นการถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลา 6 วัน ซึ่งผลบุญในการถือศีลอด 6 วัน ติดต่อกันในเดือนนี้จะเท่ากับการถือศีลอดตลอดทั้งเดือน วันที่ 8 เชาวาล ก็จะสิ้นสุดของการถือศีลอด ในวันนี้จะมีกิจกรรมการละหมาดที่มัสยิดในตอนเช้า หลังจากนั้นจะมีกิจกรรมการพัฒนาแหล่งสาธารณประโยชน์ (กูโบ) ของหมู่บ้าน

- กรีดยาง
ซุลกออิดะหฺ- กรีดยาง
ซุลฮิจญะหฺ

- วันที่ 9 หรือวันอารอฟะห์ มีการถือศีลอด

- วันที่ 10-12 วันตรุษอีดิลอัฎฮา หรือเรียกว่าวันรายอกุรบาน ในวันนี้ มีการเชือดวัวเป็นการทําบุญ และพิธีการละหมาดรายอที่มัสยิด และอีกกิจกรรมหนึ่งสําหรับผู้ที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ก็จะเดินทางไปแสวงบุญหรือประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาเบีย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านฮูยงบาโร๊ะใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสารกันภายในชุมชน เนื่องจากประชาชนในหมู่บ้านทั้งหมดเป็นชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางท่านไม่สามารถฟังและสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ สำหรับการติดต่อกับทางราชการจะใช้ภาษากลางในการสื่อสาร


สถาบันทางการศึกษาไม่ใช่หมายถึงเพียงแต่โรงเรียน หรือสถาบัน ที่ทําหน้าที่สอนหนังสือ แต่ยังรวมไปถึงแบบแผนการปฏิบัติหรือระบบความสัมพันธ์ที่มีการถ่ายทอด ประสบการณ์ ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ส่งผลให้การศึกษาในชุมชนบ้านฮูยงบาโร๊ะแบ่งออกเป็น 2 ระบบ ดังนี้

1) การศึกษาอย่างเป็นทางการ (Formal Education) หมายถึง การศึกษาในโรงเรียน สําหรับบ้านฮูยงบาโร๊ะมีสถาบันการศึกษาศาสนาควบคู่สายสามัญอยู่ 1 แห่ง คือ โรงเรียนแสงจริยธรรมวิทยา มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านฮูยงบาโร๊ะ รับเด็กที่มีอายุ 2 ปีครึ่งถึง 5 ปี โดยทางโรงเรียนจะมีการดูแลสุขภาพแก่เด็กนักเรียนโดยจะให้เด็กแปรงฟันหลังรับประทานอาหารตอนเที่ยง จัดโครงการอาหารกลางวัน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลขององค์การบริการส่วนตําบลกายูบอเกาะ

2) การศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Education) เป็นการศึกษาแบบไม่เป็นระบบ เป็นการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม การติดต่อกับผู้อื่น ไม่มีหลักสูตรและแบบแผน มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ที่พบส่วนใหญ่ในแหล่งต่าง ๆ คือ มัสยิด ร้านน้ำชากาแฟ และร้านขายอาหาร และเนื่องด้วยชาวบ้านทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น มัสยิดจึงถือเป็นสถาบันการเรียนรู้ทางศาสนาที่มีความสําคัญต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่ศูนย์รวมชาวบ้านในการทําศาสนกิจ เช่น การละหมาด ในสมัยก่อนมัสยิดจะมีการสอนหนังสือแก่เด็กและเยาวชนในชุมชน เป็นการสอนหลักศาสนา แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะไม่มีการสอนหนังสือในมัสยิดแล้ว แต่ยังมีโต๊ะ เก้าอี้ วางอยู่ในบริเวณมัสยิด เป็นสถานที่จัดประชุมของชาวบ้าน เป็นสถานที่รวมตัวที่สําคัญของชาวบ้าน นอกจากการส่งเสริมในการให้ความรู้ผ่านคําสอนของศาสนาแล้ว มัสยิดยังเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางหอกระจายข่าว เช่น การนัดประชุมภายในหมู่บ้าน ข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ซารีพ๊ะ กามาเซะ และคณะ. (2551). ศึกษาปัจจัยส่งเสริมภาวะโภชนาการเด็กอายุ 0-72 เดือน บ้านฮูยงบาโร๊ะ หมู่ที่ 5 ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค. 

องค์การบริหารส่วนตำบลกายูบอเกาะ. (2558). กิจกรรม : โครงการส่งเสริมสุขภาพออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ “ขยับกาย สบายชีวี ด้วยการออกกำลังกาย”. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.kayuboko.go.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/