ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี
มาจากชื่อสะพานสะเตงในชุมชนที่ใช้ข้ามร่องน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำปัตตานี
ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี
จากการไปสัมภาษณ์คนในชุมชนหัวสะพานสะเตง ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทราบประวัติความเป็นมาของชื่อชุมชนเท่าใดนัก ทราบเพียงแต่ว่าตั้งตามชื่อของสะพานที่มีชื่อว่า “สะเตง” ซึ่งในอดีตหากใครจะเข้าไปในชุมชนจะต้องผ่านสะพานสะเตงก่อน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อชุมชนนี้ติดปากมาจากชื่อสะพาน หรือ “หัวพานเตง”(ภาษาปักษ์ใต้) โดยสะพานสะเตงเดิมเป็นสะพานไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นมาคร่อมร่องน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำปัตตานี จนเมื่อปี พ.ศ.2500 กว่าๆ ทางราชการได้มาสร้างเป็นสะพานถาวร และสะพานเป็นเขตที่บ่งบอกว่ากำลังเข้าสู่ชุมชนสะพานสะเตงอีกด้วย
ที่มาของชื่อสะเตงไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ตั้งขึ้น เพราะคนที่อาจจะทราบเรื่องราวเหล่านี้ได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่จะทราบเพียงว่า บริเวณที่ตั้งของชุมชนสะเตงดังกล่าวในอดีตนั้นมีผู้คนตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมือง คือ ชาวมลายู และมักจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังคงมีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์หรือผีสางอยู่บ้าง และพื้นที่นี้ในอดีตจะเป็นป่า สาธารณูปโภคยังเข้าไม่ถึง
ต่อมามีการทยอยอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่น คือ คนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีนและไทยมุสลิมที่อพยพมาจากที่อื่นตลอดเวลาเพื่อเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าขาย หรือเข้ามาหาที่ทำกิน ยิ่งช่วงที่ย้ายมาจากตำบลท่าสาปเข้ามาที่บ้านสะเตงในปี พ.ศ.2459 ปรากฏว่ามีผู้คนจากท้องที่อื่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีมากกกว่า 100 หลังคาเรือน เพราะที่บริเวณสะเตงในอดีตนั้นอุดมสมบูรณ์มาก สามารถหาของยังชีพเกือบทุกอย่างได้จากในป่า เช่น อาหาร สมุนไพร แหล่งน้ำสะอาด ฯลฯ แม้ในช่วงเวลานั้นที่ยังไม่มีน้ำประปาหรือไฟฟ้าใช้ก็ไม่ได้เดือดร้อนแต่อย่างใด
ที่ตั้งและขนาด
บ้านสะเตงอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดยะลา มีพื้นที่ 19 ตารางกิโลเมตร อยู่บนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำปัตตานี และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร โดยเส้นทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษม(สายเก่า) ประมาณ 1,395 กิโลเมตร และเส้นทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษม(สายใหม่) ประมาณ 1,084 กิโลเมตร
เทศบาลนครยะลา มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลยุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน
ชาวบ้านในชุมชนสะเตงส่วนใหญ่มักจะเป็นเครือญาติกัน และตั้งบ้านเรือนติดกัน ถึงแม้บ้านใกล้เรือนเคียงหลังไหนจะไม่ใช่เครือญาติกัน แต่ทุกคนก็สนิทและไปมาหาสู่กันตลอดเวลาทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม
การนับญาติจะมีอยู่ 3 แบบ คือการนับญาติฝั่งบิดาเพียงอย่างเดียว การนับญาติฝั่งมารดาเพียงอย่างเดียว และการนับญาติทั้งสองฝ่าย โดยขึ้นอยู่กับว่าในละแวกชุมชนนั้น ญาติของฝ่ายใดอาศัยอยู่มากกว่า และสนิทหรือไปมาหาสู่กันมากน้อยเพียงไหน
การนับญาติของชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในชุมชน หากฝ่ายบิดาที่เป็นชาวมุสลิมมีภรรยามากกว่า 1 คน ลูกๆที่เกิดมาจะสนิทกับฝ่ายแม่มากกว่า เพราะได้อยู่กับแม่มากกว่า แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะลูกๆของภรรยาคนแรก จะสนิทและใกล้ชิดกับพ่อมาก เพราะมีระยะเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่า และดูได้จากการแบ่งมรดกให้ภรรยาคนแรกๆ จะได้รับมรดกมากกว่า โดยฝ่ายมารดาจะเป็นคนมาแบ่งมาให้ลูกๆแต่ละคนอีกต่อหนึ่ง
มลายู
อาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนสะเตงเมื่อก่อนก็คือการทำนา โดยจะนิยมทำนาปี เพราะในแต่ละปีมีน้ำมากเพียงแค่ช่วงเดียวคือในเดือนตุลาคม-มกราคม เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ชาวบ้านทั้งชาวไทยและชาวมลายูมุสลิมก็จะมาช่วยกัน ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เพื่อไม่เป็นการปล่อยให้นาว่างไปเฉยๆ จะปลูกถั่วเขียวเพื่อนำไปบริโภค นำไปขาย และเก็บไว้ทำพันธ์ต่อไป
นอกจากการทำนา ยังมีการปลูกต้นตาล แต่ส่วนมากจะเติบโตขึ้นมาเองตามธรรมชาติโดยทั่วไปในท้องนา ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบจากต้นตาลมาทำน้ำหวาก(น้ำตาลเมา) น้ำตาลสด หรือนำมาเชื่อมเป็นขนมหวาน เพื่อนำมาบริโภคกันเองในครอบครัวหรือนำไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริม ในตอนตกค่ำหลังจากทำงานมาเหนื่อยๆ เหล่าผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ก็มาล้อมวงเพื่อสังสรรค์ดื่มน้ำหวากกันเป็นประจำ โดยใช้กะลาเป็นภาชนะในการใส่น้ำหวาก โดยการสังสรรค์นี้จะมีเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น เนื่องจากผิดหลักศาสนาของอิสลาม จึงไม่มีการเชิญชวนพวกบรรดาพวกผู้ชายที่เป็นชาวมุสลิมมลายูไปร่วมด้วย เพราะกลัวจะเป็นบาปแก่คนที่ชวนแม้จะนับถือต่างศาสนากัน
บรรดาผู้ใหญ่ชาวมลายู-มุสลิมที่เป็นผู้ชายมักจะนอนเร็วมาก เพราะต้องออกไปกรีดยางตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งสวนยางจะอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร อาจเป็นสวนของตนเองหรือไปรับจ้างกรีดยางสวนของคนอื่น ชาวพุทธบางคนก็ไปรับจ้างกรีดยางให้ชาวมุสลิมแต่มีไม่มาก อาชีพกรีดยางถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนในภาคใต้ เพราะพื้นที่ภาคใต้มีภูมิอากาศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นยางพาราคือฝนตกชุกและร้อนชื้น เป็นผลทำให้มีการทำสวนยางกันเป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ไม่น้อย ซึ่งการกรีดยางมักจะทำในช่วงเช้ามืดทำให้มีเวลาไปประกอบอาชีพอื่นได้อีกในช่วงเที่ยงหรือเย็น เช่น ทำนา เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย โดยมักไปขายของกันที่ตลาดหัวสะพานสะเตงหรือบางคนก็นำของเข้าไปขายที่ตลาดเสรีในตัวเมืองยะลาด้วย
นอกจากการทำอาชีพเกษตรกรรม ชาวบ้านบางคนยังประกอบอาชีพรับราชการ เช่น เป็นครู หรือเป็นเป็นพยาบาล โดยชาวพุทธบ้านไหนที่มีลูกหลานรับราชการจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ครอบครัว ส่วนชาวมลายูมุสลิมที่รับราชการมักจะไม่ค่อยมี เนื่องจากค่านิยมของชาวมลายูมุสลิมมักจะให้บุตรหลานของตนเองแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่นิยมให้เรียนหนังสือสูงๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เรียนจบชั้นประถมศึกษา อายุ 14-15 ปี ก็จะให้แต่งงาน ส่วนผู้ชายที่เมื่อเรียนจบการศึกษาภาคบังคับก็จะไม่ศึกษาต่อเช่นกัน แต่จะให้มาช่วยเหลือทางบ้าน ถึงอย่างไรก็ตามลูกชายและลูกสาวยังคงต้องไปเรียนศาสนาที่มัสยิด ซึ่งจะเปิดสอนโดยโต๊ะครูหรือที่เรียกกันว่าโต๊ะอิหม่าม บางครั้งก็จะไปเรียนที่บ้านของโต๊ะอิหม่ามเอง
ในบางครั้งก็มีการฉายหนังกลางแปลง จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากต่างถิ่นนำสินค้าแปลกๆเข้ามาขาย เช่น ของเล่นเด็กต่างๆ ชาวบ้านก็มักจะซื้อให้บุตรหลานอยู่เสมอ เมื่อหนังเลิกฉายจะเป็นเวลาเที่ยงคืน ชาวบ้านต่างคนก็ต่างโยกย้ายกันกลับบ้าน ซึ่งการฉายหนังกลางแปลงที่เลิกดึกก็เป็นที่ลำบากใจให้กับพวกผู้ใหญ่ไม่น้อย เนื่องจากทำให้ลูกหลานที่มาดูหนังตื่นสายและไม่ยอมไปโรงเรียนในรุ่งเช้า
เศรษฐกิจของชุมชนหัวสะพานสะเตงในปัจจุบันนี้ ได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมาก ตลาดที่เคยมีอยู่ในชุมชนก็ไม่มีอีกแล้ว กลับกลายเป็นเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนแทน ส่วนตลาดที่มีความสำคัญในขณะนี้คือตลาดเสรีและตลาดเมืองใหม่ เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในเมืองยะลา ซึ่งอยู่นอกชุมชนหัวสะพานสะเตงออกไป และยังมีห้างสรรพสินค้าอีกหลายแห่ง เช่น ห้างสรรพสินค้าดีพาร์ทเม้นสโตร์ยะลา ห้างสรรพสินค้าแฟมิลี่ โรงคลังศรีสมัย และห้างสรรพสินค้าซึ่งเปิดใหม่ชื่อว่า โคลิเซี่ยม อีกแห่งหนึ่ง เป็นต้น ชาวบ้านในชุมชนหัวสะพานสะเตงจะไปจับจ่ายซื้อของกันในสถานที่เหล่านั้นแทน เพราะในขณะนี้การคมนาคมสะดวกมากขึ้น แต่ละบ้านก็มีพาหนะใช้เป็นส่วนตัวแล้ว หนังกลางแปลงที่เคยเร่มาฉายก็ไม่มีอีกแล้ว ชาวบ้านหันไปดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์รามันกันแทน (ตอนนี้เป็นโรงภาพยนตร์โคลิเซี่ยมแล้ว)
วิถีชีวิต
การสร้างบ้าน: การสร้างบ้านในอดีตจะนิยมยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ตัวบ้านทำจากไม้หลุมพอ ซึ่งเป็นไม้ที่สามารถหาได้ตามป่าในท้องถิ่น เป็นไม้เนื้อแข็ง บางบ้านสร้างเป็นเรือนเดี่ยว บ้างก็สร้างเป็นเรือนยาวมีหลายห้อง เหมือนห้องแถวในปัจจุบัน แต่จะใช้ไม้ฝากระดานเป็นตัวกั้นห้องเอาไว้ ส่วนประตูบ้านจะเป็นประตูโบราณ เป็นประตูบานพับที่ทำจากไม้ ปกติจะเปิดเพียงสองบานพับตรงกลางเท่านั้น ยกเว้นเวลามีงานจึงจะเปิดทั้งหมด เวลาปิดประตูจะมีไม้ยาวมาขัดบานพับไว้ด้านใน คนด้านนอกก็จะไม่สามารถเปิดได้ บริเวณใต้ถุนบ้านจะเป็นที่เก็บเครื่องมือต่างๆ เช่น อุปกรณ์ทำสวน ไซดักปลา หรือไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ หลังบ้านจะทำเป็นแปลงปลูกผักสวนครัว หรือปลูกต้นกล้วย ซึ่งเกือบทุกบ้านจะต้องปลูกไว้ เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารหรือใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย การสร้างส้วมจะสร้างให้อยู่ห่างจากตัวบ้าน เป็นส้วมหลุม ฝากั้นห้องจะสร้างด้วยเสื่อ แต่บางบ้านก็นำกระสอบด้ายป่านมาตัดเป็นฝากระดานแทนเสื่อก็มี ซึ่งการสร้างบ้านแบบนี้จะเป็นที่นิยมทั้งกลุ่มชาวไทยพุทธและชาวมลายูมุสลิม บ้านที่มีฐานะก็จะสร้างบ้านไว้ 2 หลัง หลังแรกไว้ค้าขาย หลังที่สองไว้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเก็บของเวลาน้ำท่วม
น้ำประปาและไฟฟ้า: ในอดีตน้ำประปาและไฟฟ้ายังไม่มีใช้กัน ชาวบ้านจะใช้ทำบ่อในการอุปโภคบริโภค ไฟฟ้าชาวบ้านเพียงตะเกียงที่ทำจากกระป๋อง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตะเกียงป๋อง” แต่หากมีการจัดการ เช่น งานศพ งานวัด เป็นต้น ก็จะมีการน้ำตะเกียงเจ้าพายุมาใช้กันเพราะให้แสงสว่างมากกว่าตะเกียงป๋อง ซึ่งไฟฟ้าเพิ่งจะมีใช้เมื่อประมาณ พ.ศ.2508-2509 แต่ก็เป็นเพียงเครื่องปั่นไฟเท่านั้น
ด้านยานพาหนะ: เกือบทุกบ้านจะมีจักรยานใช้กัน แต่ถ้าบ้านไหนมีรถจักรยานยนต์ แสดงว่าบ้านนั้นมีฐานะร่ำรวย เพราะในอดีตรถจักรยานยนต์จะมีราคาแพงมาก ส่วนรถยนต์ก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะชาวบ้านไม่เคยฝันว่าจะมี แต่หากต้องการเดินทางเข้ามาในตัวเมือง จะมีรถประจำทาง เรียกว่า “รถขนส่ง” ไว้คอยบริการ ตัวรถคล้ายรถเมล์แต่มีขนาดเล็กกว่า นอกจากนั้นยังมีรถสามล้อถีบ ในอดีตจะเป็นรถสามล้อซึ่งมีที่นั่งของผู้โดยสารอยู่ข้างๆ ทำด้วยหวาย และจะมีหนึ่งล้อไว้รองรับ บวกกับอีกสองล้อของจักรยาน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “สามล้อถีบ” โดยคำว่าถีบ หมายถึงการปั่นจักรยาน
ประเพณีในรอบปี
เป็นประเพณีจัดขึ้นในแต่ละปี โดยจะกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน หรืออาจใช้บางสิ่งเป็นเกณฑ์ในการถือเอาเป็นวันประกอบพิธีกรรม ได้แก่ การดูดวงจันทร์ การถือเอาข้างขึ้นข้างแรมตามปฏิทินของศาสนา เป็นต้น และส่วนใหญ่แล้วประเพณีในซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นในชุมชนหัวสะพานสะเตงและในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นประเพณีของชาวมลายูมุสลิม ที่เห็นว่ามีการจัดขึ้นแตกต่างจากที่อื่นคือ
ประเพณีกวนอาซูรอ: จะกระทำกันในช่วงเวลาตรงกับวันที่ 10 เดือน มุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีในศาสนาอิสลาม (ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี) ซึ่งความเป็นมาของการกวนข้าวอาซูรอ หรือกวนขนมอาซูรอ สืบเนื่องจากได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยท่านนบีนุฮฺ (อล) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและไร่นาของประชาชน และสาวกของท่านนบี ผู้คนต่างอดอยาก ท่านนบีจึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานให้เอามากองรวมกัน และให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนรับประทานอาหารโดยทั่วหน้ากัน โดยประเพณีนี้ได้กลายมาเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวมลายู-มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า “อาซูรอ” เป็นภาษาอาหรับ แปลว่าการผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิงหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะให้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอันเป็นผลต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม
การกวนอาซูรอ มีการประกอบพิธีกรรม เริ่มด้วยการที่เจ้าภาพจะประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการกวนข้าวอาซูรอที่ไหนและเมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมายของชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น ถั่ว ข้าวสาร มะละกอ ฟักทอง กล้วย มัน เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น หอม ข่า ตะไคร้ เกลือ น้ำตาล กระเทียม ผักชี กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสมโดยตัดเป็นชิ้นเล็กๆเช่นเดียวกัน จากนั้นนำกระทะใบใหญ่มาตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับคนกวน คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบๆใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่างๆที่กล่าวมาในข้างต้น จากนั้นก็คนด้วยไม้พายจนเปื่อยยุ่ย กวนจนทุกอย่างเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่องวดได้ที่แล้วก็ตักใส่ถาดโรยหน้าด้วยเนื้อสมัน ปลาสมัน (สมัน หมายถึง ปลาหรือเนื้อวัวที่ต้มด้วยเครื่องแกงจนแห้งแล้วทำเป็นฝอย) กุ้ง ผักชี หอมหั่นฝอย ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น จากนั้นก็ตัดเป็นชิ้นๆแจกจ่ายกันรับประทาน
ความเชื่อ
นอกจากชาวบ้านในชุมชนหัวสะพานสะเตงซึ่งส่วนมากเป็นชาวมลายู-มุสลิม และนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลักแล้ว แต่ก็ยังปรากฏว่ามีความเชื่อที่เกี่ยวข้องไสยศาสตร์ หรือ ผีสางอยู่บ้าง คงได้รับอิทธิพลมาจากชวา ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 8 เพราะผู้คนในดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับชนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ซึ่งเดินทางมาโดยเรือเพื่อทำการค้า โดยเฉพาะชาวชวา จากหมู่เกาะชวาซึ่งมีความสามารถในการเดินเรือ นอกจากนั้นก็ยังมีชาวอินเดียด้วย
ที่มาดังกล่าวทำให้ปัจจุบันยังพบว่ามีวัฒนธรรมอินเดีย-ชวาหลงเหลืออยู่และได้ผสมผสานกันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ ผ้าปาเต๊ะแบบชวา พิธีแต่งงานที่มาการขึ้นบัลลังก์ หนังตะลุง(หนังชวา) อาหารประเภทคาวหวานต่างๆ ได้แก่ สะต๊ะ เต้าคั่ว(รอเฌาะ) แกงกะหรี่ แกงสมรม โรตี รวมถึงการใช้ไสยศาสตร์แบบอินเดีย-ชวาด้วย
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา
นายสุทิน แก้วมาก สมาชิกสภาเทศบาล เขต 1
นายต่วนอับดุลกอเดร์ ลงสะรี สมาชิกสภาเทศบาล เขต 1
นายรุสลัน สาและ สมาชิกสภาเทศบาล เขต 1
นายสมหมาย ภักดี สมาชิกสภาเทศบาล เขต 1
นายมาหะมะกอรี อาดัม สมาชิกสภาเทศบาล เขต 1
นายมานิต อาบูลี สมาชิกสภาเทศบาล เขต 1
ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิต
เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน หรือในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าจะต้องประกอบขึ้นมาเมื่อใด เหมือนกับประเพณีในรอบปี ประเพณี่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ได้แก่ ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเกิด การแต่งงาน การตาย เป็นต้น ในที่นี้จะขอยกประเพณีการแต่งกายและประเพณีแต่งงานของชาวมลายูมุสลิม ดังนี้
ประเพณีการแต่งกายของชาวมลายูมุสลิม
การแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมโดยทั่วไปในจังหวัดยะลา มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง บ้างก็จะบอกว่าคล้ายกับชาวมาเลเซีย หรือชาวอินโดนีเซีย ซึ่งคำกล่าวนี้อาจไม่เหมือนกันสักทีเดียว เพียงแต่คงได้รับอิทธิพลมาบ้างเนื่องจากอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อาจเกิดการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมได้
การแต่งกายของผู้หญิง ตามประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาและวิวัฒนาการมาอีกขั้นหนึ่ง คือ ชุดบานง ภาษามลายูกลางเรียกว่า บันดง มาจาก Bandung ชื่อเมืองทางตะวันตกของเกาะชวา เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย
เสื้อผ้าบานงมักตัดด้วยเนื้อผ้าค่อนข้างบาง อาจปักลวดลายตรงชายเสื้อ เป็นเสื้อคอวีผ่าหน้า และพับริมปกเกยซ้อนไว้ตลอด กลัดด้วยเข็มกลัด 3 ตัว ชายเสื้อด้านหน้าแหลม แขนเสื้อยาวรัดรูปจรดข้อมือ เสื้อบานงจะใช้นุ่งกับผ้าถุงธรรมดา ผ้าป้ายหรือผ้าพันคอที่ท้องถิ่นเรียกว่า “กาเฮงบือเละ” ผ้าพันเป็นลวดลายปาเต๊ะยาวประมาณ 3 เมตร ไม่เย็บเป็นถุง วิธีที่นุ่งผ้าพันนี้ไม่ง่ายนัก ต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อให้ก้าวขาเดินได้สะดวก ชายผ้าด้านนอกอาจจีบทบแบบจีบหน้านาง หรือม้วน หรืออาจปล่อยให้สุดปลายผ้าเฉยๆ โดยเหน็บชายผ้าไว้ตรงกลางเอว และนิยมให้ปลายผ้าด้านล่างทแยงเล็กน้อย
การแต่งกายชุดบานง เมื่อใส่เสื้อชุดบานงเรียบร้อยแล้วจะนิยมใช้เครื่องประดับตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงามยิ่งขึ้น และเพื่อแสดงถึงฐานะ เช่น เข็มกลัด สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล และต่างหู ต่อมามีการประยุกต์เสื้อบานงอีกแบบหนึ่ง คือเป็นเสื้อคอวีลึก ปิดทับด้วยผ้าสามเหลี่ยม เสื้อแบบนี้เรียกว่า “บางนงแบแด” ภาษามลายูกลาง เรียกว่า บันนงเมดา เป็นชื่อเมืองทางเหนือของเกาะสุมาตรา เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย นิยมมตัดด้วยผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วน และผ้าชีฟอง อาจจะนุ่งกับผ้าถุงธรรมดา ผ้าถุงสำเร็จ ผ้าพัน หรือกระโปรงปลายบานก็ได้ การแต่งกายชุดบานงในปัจจุบันจะแต่งเฉพาะพิธีสำคัญเท่านั้น เช่นงานแต่งงาน เยี่ยมผู้ใหญ่ หรืองานฉลองต่างๆ เพราะในปัจจุบันผู้หญิงจะใส่ชุดตามแฟชั่นมากกว่า แต่ยังคลุมผ้าฮิญาบ เสื้อแขนยาว กระโปรงหรือกางเกงยาว เนื่องจากอากาศที่ร้อนมากขึ้น การตัดชุดมีราคาแพง และไม่ค่อยสะดวกเวลาทำสิ่งต่างๆ
การแต่งกายของผู้ชายมลายู-มุสลิมในท้องถิ่น แต่เดิมนิยมสวมเสื้อตือโละบลางอ ลักษณะเป็นเสื้อคอกลม อาจมีคอตั้งแบบคอจีนก็ได้ ผ่าหน้าครึ่งหนึ่ง ติดกระดุมโลหะ 3 เม็ด สมัยก่อนมักจะใช้กระดุมทองคำ แขนเสื้อกระบอกกว้าง ยาวจรดข้อมือ โดยเสื้อตือโละบลางอ ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย นิยมนุ่งกับผ้าปาลิกัต ซึ่งเป็นผ้าอินเดีย การแต่งกายด้วยเสื้อตือโละบลางออาจมีผ้าคลุมไหล่ที่เรียกว่า ตืรแบ หรือ ซือแบ ชุดนี้เป็นที่นิยมสำหรับโต๊ะครู ซึ่งเป็นเจ้าของสถานศึกษาศาสนาอิสลาม และอุสตะห์หรือครูสอนศาสนา ปัจจุบันเสื้อตือโละบลางอบางแบบอาจใช้สวมกับกางเกงขายาวแบบสากล แต่ยังสวมหมวกชอเก๊าะ ที่ทำด้วยกำมะหยี่สีต่างๆ ที่นิยมกันมากคือสีดำ หรืออาจสวมหมวกสีขาวที่เรียกว่า กูปีเยาะ ซึ่งเป็นหมวกทรงกลม ทำด้วยผ้าปักดินแวววาวหรือปักด้วยด้ายธรรมดา บางทีอาจใส่เสื้อผ้านิยมตามแฟชั่น
การแต่งงานของชาวมลายูมุสลิม
ประเพณีการแต่งงาน ตามบัญญัติทางศาสนาอิสลามมุสลิมจะต้องแต่งงานกับมุสลิมด้วยกัน ถ้ามีความจำเป็นจะต้องแต่งงานกันคนต่างศาสนา ต้องมีข้อตกลงให้มายอมรับศาสนาอิสลามเสียก่อน ข้อห้ามอีกอย่างหนึ่งคือห้ามไม่ให้มุสลิมแต่งงานกับเครือญาติใกล้ชิด 7 ตำแหน่ง ได้แก่บิดาหรือมารดา บุตรหรือธิดา พี่หรือน้องผู้ร่วมมารดา บุตรหรือธิดาของพี่หรือน้องชาย บุตรหรือบิดาพี่หรือน้องหญิง ผู้มีความสัมพันธ์ทางดื่มน้ำนมร่วมกันมี 2 ตำแหน่ง คือแม่นมและพี่ หรือน้องที่ร่วมดื่มน้ำนมจากแม่นมคนเดียวกัน สำหรับขั้นตอนของประเพณีการแต่งงานของชาวมุสลิมมีดังนี้ คือ
- การสู่ขอ ผู้ไปสู่ขอคือมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย จะไปในลักษณะทาบทามและสู่ขอ โดยจะมีของฝากไปด้วย อาทิ ขนมหรือผลไม้ไปมอบให้ฝ่ายหญิง ซึ่งฝ่ายหญิงจะไม่ตอบตกลงในทันที แต่จะขอให้รอคำตอบประมาณ 7 วัน ถ้าตกลงฝ่ายหญิงจะส่งผู้ใหญ่ไปบอกฝ่ายชายเอง ถ้าไม่ตกลงจะนิ่งเฉยเสียให้เป็นที่รู้เอาเอง เมื่อฝ่ายหญิงตกลงแล้วผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ ไปบ้านฝ่ายหญิงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดนัดหมายวันแต่งงาน สินสอด ของหมั้น (มะฮัร) โดยทั้งสองฝ่ายจะเอาวันเดือนปีเกิดไปให้โต๊ะครูหรือโต๊ะอิหม่ามดูฤกษ์หาวันแต่งงานการสู่ขอ ผู้ไปสู่ขอคือมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย จะไปในลักษณะทาบทามและสู่ขอ โดยจะมีของฝากไปด้วย อาทิ ขนมหรือผลไม้ไปมอบให้ฝ่ายหญิง ซึ่งฝ่ายหญิงจะไม่ตอบตกลงในทันที แต่จะขอให้รอคำตอบประมาณ 7 วัน ถ้าตกลงฝ่ายหญิงจะส่งผู้ใหญ่ไปบอกฝ่ายชายเอง ถ้าไม่ตกลงจะนิ่งเฉยเสียให้เป็นที่รู้เอาเอง เมื่อฝ่ายหญิงตกลงแล้วผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ ไปบ้านฝ่ายหญิงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดนัดหมายวันแต่งงาน สินสอด ของหมั้น (มะฮัร) โดยทั้งสองฝ่ายจะเอาวันเดือนปีเกิดไปให้โต๊ะครูหรือโต๊ะอิหม่ามดูฤกษ์หาวันแต่งงาน
การหมั้น เมื่อถึงวันหมั้น ฝ่ายชายจะจัดขบวนขันหมากไปบ้านฝ่ายหญิงผู้เป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย ขันหมากประกอบด้วยพานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนมอาจจะมีพานใส่ขนมอื่น ๆ อีกก็ได้ พานหมากพลูจะใส่เงินสินสอดเอาไว้เงินนี้เรียกว่า “เงินรองพลู” ทุกพานจะคลุมด้วยผ้าหลากสีสวยงาม เมื่อขบวนขันหมากไปถึงบ้านฝ่ายหญิง ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะให้การต้อนรับ ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะบอกว่าได้นำของมาหมั้นฝ่ายหญิงเป็น เงินขันหมากจำนวนเท่าใด ฝ่ายหญิงจะตอบตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ การถาม-ตอบเป็นการยืนยันจำนวนเงินตามที่ตกลงไว้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะปรึกษากันถึงวันแต่งงานและการกินเลี้ยง ก่อนที่ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะเดินทางกลับ ฝ่ายหญิงจะนำผ้าโสร่งหรือผ้าดอก และขนมใส่พานหมากและพานขนมเป็นของตอบแทน
พิธีแต่งงาน (นิกะห์) หรือพิธีสมรส เมื่อถึงวันแต่งงานฝ่ายชายจะจัดขบวนขันหมากไปบ้านฝ่ายหญิง ในขบวนจะประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ประมาณ 5-6 คน เงินหัวขันหมาก (จะต้องเป็นจำนวนเลขคี่) ใส่ในพานหรือขันทองเหลืองใบเล็ก ๆ ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าให้เจ้าบ่าวถือไป พร้อมด้วยกล้วยพันธุดี เช่น กล้วยหอมหรือกลัวยน้ำว้า 2-3 หวี ซึ่งจะต้องเดินทางไปถึงบ้านเจ้าสาวให้ทันฤกษ์กำหนดนิกะห์ การนิกะห์ คือการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เพื่อเป็นสามีภรรยากัน โดยพิธีสมรสตามหลักของศาสนาอิสลามกล่าวโดยสรุปมีได้ดังนี้คือ
- เจ้าบ่าวและเจ้าสาวโดยผ่านการเจรจาตกลงที่จะนิกะห์ และกำหนดมะมะฮัรกันแล้ว
วะสีหรือผู้ปกครอง หมายถึงผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวและเจ้าบ่าวที่มีสิทธิให้ความยินยอมในการทำนิกะห์ตามที่ศาสนาอิสลามบัญญัติไว้ เช่น บิดา ปู่ พี่ชาย ฯลฯ ส่วนผู้หญิง ไม่มีสิทธิ
- พยานในการนิกะห์ มีอย่างน้อย 2 คน
- .ผู้กล่าวกุฎษะห์ คือผู้ที่มีความรู้ทางศาสนากล่าวอบรมหรือให้ข้อคิดแก่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว
สินสอด ซึ่งเป็นเงินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิง
การกล่าวเสนอและต้อนรับนิกะห์ คือผู้ทำพิธีนิกะห์จะกล่าวกับเจ้าบ่าวโดยเรียกชื่อ เจ้าบ่าวว่า “ฉัน ขอนิกะส์ห่านกับนางสาว….. บุตรีของนาย….นาง…ด้วยสินสอด …(และอาจจะกล่าวเป็นจำนวนเงินหรือทองตามที่ตกลงกัน) สำหรับเจ้าบ่าวผู้รับนิกะห์จะตอบว่า “ข้าพเจ้าขอรับนิกะห์กับนางสาว….. ด้วยสินสอดดังกล่าว”
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานแล้วจะมีงานเลี้ยงกินข้าวเหนียว (มาแกปูโละ) การจัดเลี้ยงจะเริ่มตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงเที่ยงคืน ช่วงกลางคืนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะนั่งบนแท่นบัลลังก์ เรียกว่า “ปงายาวัน” เพื่อนเจ้าบ่าวจะยืนทางขวาคอยโบกพัดช้าๆ จะมีหญิงอาวุโส ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือออกมาป้อน “ซือมางัด” คือ ข้าวเหนียวสีเหลือง แดง ขาว แก่คู่บ่าวสาว จากนั้นญาติมิตรฝ่ายชายจะมาทำพิธี “มางานา” คือมารู้จักกัน และมอบของขวัญให้แก่ คู่บ่าวสาว ขณะเดียวกันคู่บ่าวสาวจะแจกของที่ระลึกแก่แขกเหรื่อ และลงจากบัลลังก์มาร่วมรับประทานอาหาร เสร็จพิธีแล้วเจ้าบ่าวจะนอนค้างคืนที่บ้านเจ้าสาว 3 คืน แล้วจะมีพิธีส่งตัวเจ้าสาวไปที่บ้านเจ้าบ่าว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะจัดอาหารเลี้ยงต้อนรับผู้ไปร่วมพิธีด้วย
การหย่าร้างและการคืนดี การหย่าของสามีภรรยาย่อมจะเกิดขึ้นได้ แต่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะต้องพยายามระงับมิให้เกิดการหย่า หากจำเป็นต้องหย่าร้าง ก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติกล่าวคือการหย่าจะหย่าได้เมื่อผู้หญิงนั้นไม่ได้กำลังมีระดู และทั้งคู่ไม่ได้อยู่ในอารมณ์โกรธ และจะต้องมีพยาน 2 คน การหย่าจะสมบูรณ์ คือให้ผู้หญิงแต่งงานใหม่ก็เมื่อครบ “อิดตะฮฺ” คือหลังจากมีประจำเดือน 3 เดือน และให้คืนดีกันได้ 2 ครั้ง ถ้าคืนดีก่อนครบอิดตะฮฺ ไม่ต้องแต่งงานใหม่ แต่ต้องมีพยานและเรียกได้ว่าเคยหย่ากัน 1 ครั้งแล้ว ถ้าครบอีตตะฮฺแต่ต้องการคืนดี ต้องแต่งงานใหม่ให้ของหมั้นใหม่ ในการหย่าแต่ละครั้งถึงจะพูดว่า “ฉันหย่าเธอ 3 ครั้ง” ก็ยังถือว่าเป็นการหย่าครั้งนั้นครั้งเดียว ถ้าหย่าครบ 3 ครั้งแล้วจะแต่งงานกับสามีเดิมไม่ได้ จะต้องมีสามีใหม่แล้วเกิดหย่าสามีใหม่จะต้องรอจนครบอิดตะฮฺแล้ว จึงหวนมาแต่งงานกับสามีเดิมได้อีกถ้าต้องการ
ชาวไทยพุทธใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ชาวมลายูมุสลิมจะใช้ทั้งภาษาไทยและมลายูถิ่นในการสื่อสาร
โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ประกอบด้วย
1. หลักสูตรปฐมวัย
2. หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐาน
- ภาษาไทย
- คณิตศาสตร์
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- สังคมศึกษา
- ประวัติศาสตร์
- สุขศึกษาและพลศึกษา
- ศิลปะ
- การงานอาชีพ
- ภาษาอังกฤษ
- ตาดีกา
- หลักสูตรแนะแนว
- หลักสูตรลูกเสือ–เนตรนารี
- หลักสูตรชมรม
การจัดการศพตามวิถีอิสลาม
“ความตาย” ตามหลักศาสนาอิสลาม
ชาวมุสลิมถือว่า “ความตาย” ไม่ใช่เป็นการสิ้นสุดหรือจุดสุดท้ายของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวไปสู่ชีวิตที่แท้จริงและเป็นนิรันดร์ หรือแปลได้อีกอย่างว่าเป็นการกลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าหรือพระอัลเลาะห์ที่มีชื่อว่า “อายัล” นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่าเนื้อแท้ของมนุษย์เป็นวิญญาณ (รูห์) ที่ยังคงสภาพอยู่และเตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่ชีวิตใหม่ ไม่ใช่เรือนร่างอันเป็นวัตถุอย่างที่เข้าใจกัน โดยหลักศรัทธาที่ชาวมุสลิมยังคงยึดถือมาตลอดก็คือการศรัทธาในโลกหน้าหรือการฟื้นคืนชีพหลังความตายเพื่อรับการไต่สวนในการกระทำของตน ซึ่งการเสียชีวิตของชาวมุสลิมถือเป็นการเตือนสติชาวมุสลิมที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ตระหนักถึงวันแห่งการตัดสินเรื่องความตายและชีวิตหลังความตายอยู่เสมอ
ขั้นตอนการจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิม การจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิมมีทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังนี้คือ
1.อาบน้ำให้ศพ ชาวมุสลิมเชื่อว่ากายของคนเรานั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ กายหยาบหรือร่างกาย กับกายละเอียดหรือจิตวิญญาณ ซึ่งความตายเป็นการที่กายละเอียดแยกออกจากกายหยาบและไม่สามารถควบคุมกายหยาบได้อีก และเมื่อมีผู้เสียชีวิต ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับจะต้องทำหน้าที่จัดการดูแลกายหยาบของผู้ล่วงลับให้เรียบร้อย นั่นก็คือการอาบน้ำทำความสะอาดศพและห่อด้วยผ้าขาว โดยเป็นหน้าที่เฉพาะเพศเดียวกับผู้ล่วงลับเท่านั้น แต่หากไม่มีบุคคลเพศเดียวกันก็สามารถเป็นหน้าที่ของสามี ภรรยา หรือลูกหลาน
2.การกะฝั่น (ห่อ) หลังจากที่ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับก็จะทำหน้าที่ห่อศพด้วยผ้าขาว จากนั้นจึงนำศพของผู้ล่วงลับมาใส่ไว้ในโลงศพ ซึ่งการประดับตกแต่งโลงศพจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย คือ คลุมด้วยผ้าประดับลวดลายโองการจากพระคัมภีร์ หรือตกแต่งด้วยดอกไม้หรือใบไม้ประเภทพืชตระกูลมินต์ที่ให้น้ำมันหอมระเหยอย่าง “ใบโหระพา” อันเป็นสัญลักษณ์ของพืชแห่งสรวงสวรรค์
3.ละหมาดให้แก่ผู้ล่วงลับ เมื่อนำศพของผู้ล่วงลับห่อด้วยผ้าขาวและใส่ในโลงศพแล้ว ครอบครัว ญาติพี่น้อง และชาวมุสลิมคนอื่น ๆ ที่มาร่วมงานศพจะทำการละหมาดหรือสวดวิงวอนพระเจ้าเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ
4.ฝังศพ ชาวมุสลิมจะใช้วิธีการฝังศพเพื่อให้ร่างสลายไปตามธรรมชาติเท่านั้น และจะต้องฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง หรือฝังให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนสถานที่ฝังศพหรือสุสานนั้น ชาวมุสลิมเรียกว่า “กุโบร์” ซึ่งกุโบร์นี้ถือเป็นสถานที่แรกที่ดวงวิญญาณจะพำนักรอคอยก่อนเข้าสู่การตัดสินในวันแห่งการพิพากษาที่เกิดขึ้นหลังวันสิ้นโลก โดยจะต้องให้ญาติพี่น้องหรือลูกหลานที่เป็นผู้ชายทำหน้าที่นำศพลงหลุม และการฝังศพนี้จะฝังในท่านอนตะแคงให้ส่วนศีรษะและใบหน้าของศพหันไปทางทิศตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของวิหารกะบะฮ์ที่ตั้งอยู่ในนครเมกกะ นอกจากนี้การฝังศพของชาวมุสลิมจะไม่มีการฝังสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ลงไปในหลุมศพกับผู้ล่วงลับด้วย เนื่องจากชาวมุสลิมเชื่อว่าสิ่งที่จะติดตัวผู้ล่วงลับไปมีเพียงสามอย่างเท่านั้น ได้แก่ ความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและศาสนกิจที่ตนสั่งสมไว้, วิทยาทานหรือกุศลทาน และการมีบุตรที่ดีเพื่อทำหน้าที่ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ตนหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว
เหตุผลของการจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิมภายใน 24 ชั่วโมง
- เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพให้แก่ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับ
- ป้องกันโรคระบาดจากศพ
- ชาวมุสลิมจะไม่ใช้วิธีการรักษาสภาพศพเหมือนศาสนาอื่น ดังนั้นเมื่อเสียชีวิตจึงต้องรีบฝัง
- ไม่ต้องการให้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของผู้ล่วงลับนานจนเกินไป
- การฝังศพจะทำให้ศพย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ว่าการจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิมนั้นจะมีระยะเวลาที่สั้นกว่าการจัดพิธีงานศพในศาสนาอื่น แต่ก็ยังคงมีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การแสดงความเคารพ ให้เกียรติ และรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ล่วงลับนั่นเอง
สวรรยา กุลทวี. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมลายูมุสลิม กรณีศึกษา : ชุมชนหัวควนและชุมชนหัวสะพานสะเตง จังหวัดยะลา, รายงานภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา, ข้อมูลจาก https://yalacity.go.th/ (สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2566)
ฝ่ายพัฒนาระบบสารสนเทศ. ประเพณีการแต่งงานของชาวมุสลิม, สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หรีดมาลา. ไขข้อสงสัย! เหตุใดพิธีงานศพของชาวมุสลิมจึงต้องจัดภายใน 24 ชั่วโมง, ข้อมูลจาก https://www.wreathmala.com/ (สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2566)