Advance search

ชุมชนที่มีราษฎรอพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินแถบเชิงเขาบริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลเขาพระในปัจจุบัน 

5
บ้านเขาทุเรียน
เขาพระ
เมืองนครนายก
นครนายก
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
8 ก.ย. 2023
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
8 ก.ย. 2023
บ้านเขาทุเรียน

มาจากตำนานนายพรานที่หลงในป่าทึบบนเขาแล้วเจอทุเรียนบนภูเขา จึงกินเพื่อประทังชีวิต เมื่อลงจากเขามาได้ถึงมาบอกชาวบ้าน ชาวบ้านจึงตั้งชื่อเขานั้นว่า "เขาทุเรียน" และได้นำมาตั้งชื่อชุมชนที่อยู่บริเวณนั้นในเวลาต่อมา


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่มีราษฎรอพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินแถบเชิงเขาบริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลเขาพระในปัจจุบัน 

บ้านเขาทุเรียน
5
เขาพระ
เมืองนครนายก
นครนายก
71150
14.26282077
101.2335031
เทศบาลตำบลเขาพระ

   บ้านเขาทุเรียน หมู่ 5 เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก หมู่บ้านนี้ตั้งชื่อตามชื่อของเขาทุเรียน เป็นแนวเขาที่เชื่อมต่อมาจากเขาฝาละมี เขาแท่น เขาพระ ตามแนวพาดเฉียงทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 4,773 ไร่ เขาทุเรียนเป็นภูเขาที่ประกอบด้วยหินภูเขาไฟชุดเขาใหญ่ มีพื้นที่โดยประมาณ 600-700 ไร่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-300 เมตร บนยอดเขามีต้นไม้ค่อนข้างหนาแน่น บริเวณเชิงเขาเป็นป่าที่ชาวบ้านปลูกพืชสวน (ข้อมูลจากสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่านครนายก)

   จากการร่วมทำงานสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเขาทุเรียน เมื่อพ.ศ.2552 ทำให้ได้ทราบว่าบริเวณพื้นที่นี้มีสิ่งที่น่าสนใจและมีความสำคัญในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนอกจากเอกสารที่บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นยังมีหลักฐานที่ยังคงมีหลงเหลือให้ได้ศึกษาในปัจจุบัน จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณด้านทิศเหนือค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขาทุเรียนมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ พบสิ่งก่อสร้างที่ทหารญี่ปุ่นสร้างขึ้น จำนวน 22 แห่ง แยกประเภทตามลักษณะได้เป็นหลุมบุคคล หลุมเพลาะยาว หลุมจอดรถ หลุมสำหรับตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน บันได บ่อน้ำ และลาน นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุจำนวน 33 ชิ้น แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ และไม่สามารถระบุหน้าที่ใช้งานชัดเจน

   นอกจากนี้ชุมชนบ้านเขาทุเรียนยังมีทรัพยากรด้านอื่นที่มีความสำคัญ ทั้งนี้จากการทบทวนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบ้านเขาทุเรียนทำให้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีการศึกษารวบรวมองค์ความรู้ของทรัพยากรในพื้นที่โดยเฉพาะทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรมซึ่งหมายถึงประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้เหล่านี้ยังคงอยู่ในรูปของความทรงจำของผู้สูงอายุไม่มีการจัดเก็บบันทึกให้เป็นระบบ ดังนั้นความรู้บางอย่างจึงมีการสูญหายไปบ้างแล้ว

   พื้นที่บริเวณบ้านเขาทุเรียน ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าชุมชนแห่งนี้มีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่เมื่อใด อย่างไรก็ตามจากหลักฐานที่แสดงให้เห็นช่วงเวลาในการอยู่อาศัยของกลุ่มคนบริเวณพื้นที่นครนายก ได้แก่ ขวานหินมีบ่า ไม่มีบ่า และขวานสำริด 2 ชิ้นที่พบโดยบังเอิญจากการขุดทรายประมาณ 200 ชิ้น บริเวณริมคลองบ้านนา ตั้งแต่เขตบ้านเขาเพิ่ม ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา แสดงถึงการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 3,000-5,000 ปีมาแล้ว และต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 13-18 พบหลักฐานที่แสดงถึงการอยู่อาศัยบริเวณเมืองโบราณดงละคร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครนายก พบหลักฐานเช่น โบราณสถานหมายเลข 1 ก่อด้วยอิฐผสมแกลบข้าว โบราณสถานหมายเลข 2 ก่อด้วยศิลาแลง มีการฝังแผ่นศิลาฤกษ์ตรงกลางและใส่วัตถุสำคัญ เช่น ลูกปัดแก้วและหิน ลูกกระพรวนสำริด แหวนสำริด ตุ้มหูสำริด เหล็ก และพิมพ์ดินเผา ยังมีการพบพระพุทธรูปสำริดศิลปะอินเดียประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 เครื่องถ้วยจีนและเปอร์เซีย เป็นต้น นอกจากนี้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 พบว่ามีชุมชนบริเวณอื่นอีก ได้แก่ ชุมชนบริเวณริมแม่น้ำแม่น้ำนครนายก บริเวณบ้านพรหมมณี ชุมชนบริเวณท่าแดง ริมคลองท่าแดง ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เป็นต้น

   จากการศึกษาแม้พื้นที่บริเวณบ้านเขาทุเรียนจะไม่พบหลักฐานแสดงถึงการอยู่อาศัยอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง คือ บ้านกุดตะเคียน หมู่ 8 และบ้านเกาะกระชาย หมู่ 2 ตำบลเขาพระ มีรายงานว่าเคยมีการพบเศษภาชนะดินเผาลายขูดขีด และเศษภาชนะดินเผา(หม้อ) ตามลำดับ กำหนดอายุในสมัยอยุธยา บ้านพราหมณี หมู่ 9 และบ้านวังดอกไม้ หมู่ 7 ตำบลสาลิกา พบเศษภาชนะดินเผาและพระพุทธรูปสมัยอยุธยา

   ชุมชนบ้านทุเรียนอาจเริ่มมีกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน เมื่อประมาณ 150-180 ปีมาแล้ว พบว่าก่อนจะมีการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มคนลาวที่อพยพมาบริเวณพื้นที่นี้ มีการอยู่อาศัยของงกลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่งก่อน(ไม่ทราบช่วงเวลาที่ชัดเจน) แต่จำนวนไม่มาก ประมาณ 2-3 ครอบครัว ทั้งนี้อาจเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า และภูเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งในอดีตบริเวณพื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งของโลกมาลาเรีย 

ที่ตั้งของชุมชน

   ชุมชนบ้านทุเรียนอยู่ในตำบลเขาพระ ซึ่งเดิมตำบลเขาพระได้มีราษฎรอพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินแถบเชิงเขาบริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลเขาพระในปัจจุบัน และได้ขึ้นไปหาอาหารและของป่าบริเวณเชิงเขา จึงทำให้บังเอิญไปพบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเทือกเขานั้น ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด เมื่อชาวบ้านได้กลับมายังหมู่บ้านได้เล่าขานให้เพื่อนบ้านฟังจนเป็นที่เลื่องลือต่อ ๆ กันมา คนทั่วไปจึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “เขาพระ” เมื่อกาลเวลาผ่านไปพระพุทธรูปดังกล่าวได้หายสาบสูญไป     

   ต่อมาเมื่อทางราชการได้มีการแบ่งท้องที่การปกครองออกเป็นหมู่บ้าน ตำบล จึงใช้ชื่อของตำบลตามที่ประชาชนเรียกขานเป็นมงคลว่า “ตำบลเขาพระ” มาจนถึงปัจจุบัน

   หมู่บ้านเขาทุเรียน หมู่ 5 ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก อยู่บริเวณที่ราบลุ่มและชายเขา การเดินทางเข้าหมู่บ้านใช้ถนนบ้านใหญ่-เขามะค่าทอง (วังรี) ประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงบ้านเขาทุเรียน (วัดเขาทุเรียน) มีพื้นที่ติดต่อกับหมู่บ้านอื่นดังนี้

ทิศเหนือ         ติดต่อกับหมู่ 8 บ้านกุดตะเคียน ตำบลเขาพระ

ทิศใต้            ติดต่อกับหมู่ 7 บ้านบุหย่อง ตำบลเขาพระ

ทิศตะวันออก    ติดต่อกับหมู่ 12 บ้านโนนบก ตำบลสาริกา

ทิศตะวันตก     ติดต่อกับหมู่ 4 บ้านเขาพระ ตำบลเขาพระ

   บ้านเขาทุเรียนเป็นชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนตามเชิงเขาทุเรียน ซึ่งเป็นทิวเขาที่ต่อมาจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เรียงตัวตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือมายังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยเขาฝาละมี เขาแท่น เขาพระ และเขาทุเรียน พื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าวเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2508 และมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2536  ในเรื่องพื้นที่และการรักษาป่าไม้ถาวรบริเวณป่าที่จัดสรรบ้านพรหมณี-บ้านเขาพระ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 7.639 ไร่ หรือ 4,773 ไร่ (ข้อมูลจากสถานีพัฒนาและสงเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่านครนายก

ลักษณะกายภาพ

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่บริเวณเขาทุเรียนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. สภาพภูมิประเทศ: บริเวณเขาทุเรียนมีลักษณะเป็นภูเขา ประกอบด้วยหินภูเขาไฟชุดเขาใหญ่ แนวพาด เฉียงทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่โดยประมาณ 600-700 ไร่ ความ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-300 เมตร ทางทิศเหนือเป็นป่าธรรมชาติ บนยอดเขามีต้นไม้ค่อนข้างหนาแน่น

2. ลักษณะภูมิอากาศ: อุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 38 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 21 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนตกเฉลี่ยประมาณ 140 วันในรอบปี โดยมีปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปี ประมาณ 2,000 มิลลิเมตร

พื้นที่บริเวณบ้านเขาทุเรียนมีกลุ่มชนที่เข้ามาอยู่อาศัย 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มคนไทย ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านเขาทุเรียนก่อนกลุ่มคนลาว

2. กลุ่มคนลาวเวียง ที่อพยพเข้ามาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ 180-150 ปีมาแล้ว

3. กลุ่มคนไทย ที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ลาวเวียง

   เมื่อมีการเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณบ้านเขาทุเรียน อาชีพที่กลุ่มคนบริเวณ ดังกล่าวยึดถือมาตั้งแต่แรกเริ่ม หรือ เรียกว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่นี้ คือ การทำนา และ เมื่อว่างจากการทำนาก็จะปลูกพืชสวนไว้รับประทานในครอบครัว สมัยก่อนไม่นิยมปลูกเพื่อขาย เนื่องจากไม่มีคนซื้อเพราะทุกบ้านต่างปลูกของตนเอง มีแต่แลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันกันเอง ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกัน คือ ไม่นิยมเลี้ยงขาย หากจะขายหรือซื้อเนื้อสัตว์ เช่น หมู ต้องเป็นช่วง 15 ค่ำ จะมีการทำขาย คนซื้อจะเอาข้าวไปแลก หรือลงขันกันซื้อแล้วนํามาแบ่งกัน สำหรับสัตว์ป่ามีการรับประทานบ้างแต่จะเป็นสัตว์เล็ก และมักไม่ได้จงใจล่าส่วนใหญ่แล้วเป็นช่วงที่สัตว์ ลงมาบริเวณใกล้บ้านแล้วจึงถูกจับ ทั้งนี้ไม่มีการล่าสัตว์เพื่อนําไปขายเนื่องจากสมัยนั้นไม่มีคนซื้อ

   รูปแบบดั้งเดิมของการทำนาบริเวณบ้านเขาทุเรียน คือ ทำนาดำปีละครั้ง ในสมัยช่วงแรกของการบุกเบิกจับจองพื้นที่เพื่อทำนา มีวิธีคือ หลังจากที่ถางป่าแล้ว จะมีการบุกเบิกนา โดยการใช้ควายหลัก 1 ตัว มีคนขี่พาวนเหยียบต้นไม้ ต้นหญ้า และควายตัวอื่นๆ จะวิ่งวนตาม วิ่งจนกระทั่งพื้นที่บริเวณนั้นจะเตียนโล่ง ใครบุกเบิกมากจะได้พื้นที่มาก การบุกเบิกครั้งหนึ่งใช้ควายประมาณ 20-30 ตัว โดยชาวบ้านจะนําควายของตนเองมารวมกัน เรียกว่า “การเอาแรง” ดังนั้น ควายจึงเป็นสัตว์เลี้ยงประเภทหนึ่งในสมัยนั้น บ้านหลังหนึ่งจะเลี้ยงประมาณ 9-20 ตัว เพื่อใช้บุกเบิกนาและทำนา นอกจากนี้ควายยังเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อขายด้วยตัวไหนขนาดใหญ่คัดไว้ ตัวเล็กขาย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมการเกษตรชุมชนบ้านเขาทุเรียน

ลักษณะเรือนท้องถิ่น

   การเลือกพื้นที่ในการตั้งที่อยู่อาศัยในระยะแรกนั้นจะเลือกบริเวณพื้นที่ราบใกล้เชิงเขาตั้งแต่บริเวณวัดเขาทุเรียนในปัจจุบันเป็นต้นไป และมักสร้างบ้านเรือนใกล้กับแหล่งน้ำอาจเป็นคู คลอง เพื่อสะดวกต่อการใช้ในการอุปโภคและบริโภค โดยใช้ลักษณะของการบุกเบิกพื้นที่ ในช่วงเริ่มแรกใช้กําลังคนต่อมาใช้ควายเป็นพาหนะในการบุกเบิกทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ให้ควายเป็นฝูงวิ่งวนไปเรื่อยจนพื้นที่เตียนโล่ง

   เรือนท้องถิ่นรูปแบบดั้งเดิมมีลักษณะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงคล้ายบ้านไทยภาคกลางสมัยดั้งเดิม แต่จะไม่โปร่งเท่าหลังคาเป็นทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องว่าว มีชายหลังคายื่นออกมาพอประมาณเพื่อป้องกันฝน บางบ้านอาจมีชานบ้านหรือระเบียงยื่นออกมาบริเวณใกล้กับบันได บริเวณใต้ถุนบ้านอาจใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ หรือใช้สำหรับนั่งทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำเครื่องจักสาน จัดการเกี่ยวกับผลผลิตการเกษตร รวมถึงการพักผ่อน เป็นต้น

 วัฒนธรรมและประเพณี

   ส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา และการดำรงชีวิตประจำวันแบบพื้นบ้าน โดยเน้นวัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณีเกี่ยวกับการประกอบอาชีพที่ยังคงมีการสืบทอดในปัจจุบัน คือ การทำนา เช่น ประเพณีสู่ขวัญข้าว พิธีทำบุญกลางบ้าน และวัฒนธรรมประเพณีที่เลือนหายไปจากท้องถิ่นพร้อมกับความทันสมัยที่มาจากภายนอก อาทิเช่น พิธีสู่ขวัญควาย พิธีสู่ขวัญเกวียน พิธีไหว้แม่บันได และพิธีไหว้แม่คีไฟ รวมถึงการแต่งกาย แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การแต่งกายเพื่อประกอบพิธีกรรม และการแต่งกายในชีวิตประจำวัน อาหารพื้นบ้าน การละเล่น และภาษาลาวเวียงที่ใช้ในท้องถิ่น

คุณตาแสวง แสงอรุณ ผู้ที่ยังสืบทอดการผลิตเครื่องจักสานภายในเขาทุเรียน อายุ 71 ปี (2553)

คุณตาปราถนา นวพรรรณ ผู้ที่ยังสืบทอดการทำไม้กวาดดอกหญ้าภายใชุมชนเขาทุเรียน อายุ 78 ปี (2553) 

วัดเขาทุเรียน

   เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนบ้านเขาทุเรียน ตามประวัติกล่าวว่าวัดเขาทุเรียนสร้างโดยพวกชาวมอญ คือ บริเวณโบสถ์หลังเก่า อายุ 200 กว่าปี และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยกลุ่มชาวลาวเวียงที่อพยพเข้ามาในช่วงรัตนโกสินทร์ ตามหลักฐานจากกรมศาสนาวัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 โดยครั้งแรกชื่อว่า “วัดหัวเขา” เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของเขา ต่อมาภายหลังชาวบ้านเห็นว่าบริเวณเหนือเขาวัดขึ้นไปมีต้นทุเรียน จำนวนมาก จึงเติมชื่อว่า “วัดหัวเขาทุเรียน” จากการสอบถาม ชาวบ้านพบว่าต้นทุเรียนป่าปัจจุบันไม่หลงเหลือแล้วเนื่องจากในสมัยหลวงพ่อปุ๋ย (เป็นคนลาวเวียงจันทร์ที่อพยพเข้ามา) เป็นเจ้าอาวาส มีการแปรรูปไม้ทุเรียนทำเป็นฝากุฏิ อย่างไรก็ตามได้มีการปลูกต้นไม้ทดแทน จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ในบริเวณเขาทุเรียนได้ตัดไม้สักและไม้ชนิดอื่นๆเป็นจำนวนมาก เพื่อทำเป็นค่ายทหารและค่ายเชลย ส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่ภายในเขาทุเรียนถูกทำลายจำนวนมาก แม้ชาวบ้านจะปลูกพืชสวนทดแทนในบริเวณเชิงเขา ปัจจุบันวัดแห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่รวมพลชาวบ้านในการประกอบกิจกรรมต่างๆของชุมชนรวมทั้งบริเวณภายในวัดเขาทุเรียนมีการสร้างอุทยานสวนพุทธะและอนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่น จึงเป็นสถานที่พักผ่อนและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถ่ายทอดจากความ ทรงจำของผู้คนร่วมสมัยภายในบ้านเขาทุเรียน และบริเวณใกล้เคียงสำหรับชาวบ้านในพื้นที่และบุคคลที่เข้ามาเยี่ยมเยือนอีกด้วย

จุดเด่นที่สำคัญ: 

  • ปูชนียสถานเก่าแก่ของวัดคือ โบสถ์หลังเก่าอายุกว่า 200 ปี เป็น ที่เคารพของประชาชนทั่วไปซึ่งปัจจุบันได้บูรณะเป็นวิหาร มณฑป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระโพธิสัตว์กวนอิม พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช และพระสังกัจจายน์ ซึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขาเหนือโบสถ์เก่าขึ้นไป 100 เมตร ศาลาใหญ่สร้างไว้บนยอดเขาทุเรียน สำหรับไหว้พระและชมวิว ศาลาที่ว่านี้จะสามารถมองเห็นได้ระยะไกลเป็นสิบๆ กิโลเมตร
  • คนทั่วไปจะจดจำและ "วัดเขาทุเรียน" แห่งนี้เรียกว่า วัดสีชมพู จากโทนสีหวานที่ทาอาคารส่วนใหญ่ของวัด รวมไปถึงห้องน้ำสะอาดรางวัลระดับประเทศพ.ศ. 2552 อาคารที่ตกแต่งด้วยสีชมพูและมีป้ายสุดยอดส้วมแห่งปี 2552 เมื่อเข้าไปจะพบกับการประดับตกแต่งด้วยดอกไม้บริเวณหน้าห้องน้ำ ภายในห้องน้ำมีการติดแอร์ โดยบริเวณห้องน้ำจะมีการแยกสัดส่วนที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และห้องน้ำผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เป็นห้องน้ำที่ดูสะอาดและแปลกตากว่าห้องน้ำปกติที่เคยเห็นตามสถานที่ทั่วไป

อาหารพื้นบ้าน

   ตามที่กล่าวในข้างต้นเกี่ยวกับที่มาของประชากรบริเวณบ้านเขาทุเรียนว่า ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศลาวเวียงจันทร์ และอาจมีกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนย้ายมาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมของตน ไม่ว่าจะเป็น ภาษา วัฒนธรรมบางอย่าง เช่น สาร์ทลาว การสู่ขวัญข้าว รวมถึงอาหาร ลักษณะอาหารพื้นถิ่นของพื้นที่นี้คล้ายคลึงกับอาหารทางภาคกลาง รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ลักษณะการรับประทานไม่ยุ่งยาก โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้พืชผักที่อยู่ตามธรรมชาตินํามาประกอบอาการ ต้ม ผัด หรือจิ้มน้ำพริก ทั้งนี้ลุงไสว ศรีทา (2553) ประธานสภาวัฒนธรรม ตำบลเขาพระ กล่าวว่า อาหารที่ต้องมีประจำบ้าน คือ ปลาร้า นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้ว ปลาร้ายังเป็นเครื่องปรุงรสอาหารพร้อมกันด้วย และสิ่งที่สำคัญปลาร้าเป็นรูปแบบการถนอมอาหารอย่างหนึ่งจึงสามารถเก็บไว้ได้นาน บ้านไหนที่มีปลาร้าไว้ที่บ้านบ้านนั้นจึงไม่อด

   วิธีการหมักปลาร้า ปลาที่สามารถนํามาทำปลาร้านั้น มีหลายชนิดจริงๆแล้วปลาทุก ชนิดสามารถนํามาหมักเป็นปลาร้าได้แต่ลักษณะรสชาติจะต่างกัน โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้ปลาเล็ก เพราะให้รสชาติที่กลมกล่อมกว่า เช่น ปลาเบญจพรรณ ปลาจ่อม ปลาเจ่า ปลาส้ม ปลากระดี่ ปลาช่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ก่อนที่จะทำการหมักปลาต้องทำความสะอาดตัวปลา เอาสิ่งปฏิกูลข้างในตัวปลาออกเสียก่อน ล้างให้สะอาด หมักเกลือ แล้วจึงทำการหมัก ส่วนผสมในการ หมักประกอบด้วยข้าวหรือข้าวคั่ว ขั้นตอนการทำ คือ นําปลาที่ทำความสะอาดแล้ว บรรจุใส่ไหที่มีข้าวหรือข้าวคั่วบรรจุอยู่ ปิดปากไหให้แน่น บริเวณปากไหอาจใส่พืชที่ เรียกว่า หนอนตาย ยาก เป็นพืชเถา เพื่อป้องกันหนอน แมลงวัน ปลาร้าที่ทำนี้ต้องเก็บไว้ระยะหนึ่งรอจนปลาร้าเป็น คือ ได้ที่แล้วจึงนํามาประกอบอาหาร จากนั้นสามารถเก็บไว้ได้นาน

   นอกจากการถนอมอาหารด้วยวิธีการหมักแล้ว ชาวบ้านยังนิยมถนอมอาหารด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การย่าง นิยมใช้ปลาในการนําไปย่าง เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลากด ปลาช่อน ปลากระสง ปลาชะโด โดยการใช้กาบมะพร้าวปิดด้วยใบตองทำให้เหลือง ย่างแล้วนําไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วจึงเก็บใส่ปั๊บไว้สามารถเก็บได้นาน นอกจากย่างแล้ว ยังสามารถนําไปทำปลาเค็มได้ด้วย และการดอง โดยการนําพืชผักต่างๆมาดองเค็ม โดยใช้เกลือเป็นส่วนประกอบหลัก และข้าวสุก อาจใส่น้ำตาลเพื่อเพิ่มความเปรี้ยว ผักที่นิยมนํามาดอง ได้แก่ หน่อไม้ (หาได้จากบนเขา) ผักกาดเขียว ผักเสี้ยน ผักกุ่ม ถั่วงอก โสน ผักหนาม โดยส่วนมากชาวบ้านที่อยู่บริเวณเชิงเขาจะนิยมถนอม อาหารโดยการดองผักต่างๆไว้เพื่อรับประทานกับน้ำพริก

   อาหารต่างๆเหล่านี้เป็นอาหารที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้ว ชาวบ้านบ้านเขาทุเรียนมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง ดังสังเกตจากรูปแบบอาหาร คือเน้นของที่มีอยู่ในพื้นที่ จําพวกผักปลา และมีลักษณะการถนอมอาหารที่ทำให้อาหารอยู่ได้นาน เป็นลักษณะของคนไทยท้องถิ่นแท้จริง

   ประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวกับอาหาร: ชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านเขาทุเรียนยังคงมีอาหารที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและประเพณีเช่นเดียวกับพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ งานมงคล นิยมจัดอาหารที่มีชื่อเป็นสิริมงคล ชื่อที่เกี่ยวกับการมั่งมีเงินทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก ชื่อที่เกี่ยวกับการเฟื่องฟู เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมชั้น แสดงความสามัคคี เช่น รวมมิตร แสดงความยืดยาวการสืบต่อไม่มีที่สิ้นสุด เช่น ขนมจีน ลอดช่อง งานอวมงคล ไม่นิยมอาหารที่เป็นเส้นยาว เพราะจะทำให้มีงานอวมงคลไม่มีที่สิ้นสุด เช่น พวกขนมจีน วุ้นเส้น เป็นต้น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

   ภูมิปัญญาท้องถิ่นภายในบ้านเขาทุเรียนเน้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คือ การทำสวนในป่าของชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาซึ่งแสดงถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมลักษณะคล้ายคลึงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคกลาง ภูมิปัญญาที่ยังคงมีผู้สืบทอดในปัจจุบัน คือ เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต และการทำไม้กวาดดอกหญ้าในเรื่องของกระบวนการในการผลิตเพื่อเป็นการรักษาข้อมูล และคุณค่าของภูมิปัญญาเหล่านั้น ปัญหาที่พบ คือ ไม่มีการจัดการเพื่อให้เกิดการสืบสานสิ่งเหล่านั้นในปัจจุบันเหลือเพียงรุ่นเดียวซึ่งมีอายุค่อนข้างมาก ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการสืบทอดสิ่งเหล่านี้ต่อไป

  • เครื่องจักสาน เครื่องจักสานที่พบภายในบ้านเขาทุเรียนเป็นรูปแบบเครื่องจักสานที่ผ่านกระบวนการคิดเพื่อสร้างเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสร้างรูปทรงเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ด้วยวิธีการสอดขัดและสานกันของวัสดุที่เป็นเส้นเป็นริ้ว เช่นเดียวกับเครื่องจักสานที่พบในทุกพื้นที่ จากการสอบถามพบว่าเครื่องจักสานที่นิยมผลิตส่วนมาก เป็นเครื่องมือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวัน และมักเกี่ยวข้องกับเครื่องจักสานที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการดักสัตว์น้ำตามทุ่งนาหรือลำคลองต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์อํานวยความสะดวกในการเก็บผลไม้ เนื่องจากชาวบ้านมักปลูกผลไม้ไว้รับประทานในครัวเรือน เช่น ลอบดักปลา ลอบดักกบ ไซ สุ่มไก่ สุ่มดักปลา ตะต้อง ตะกร้อสอยผลไม้ เป็นต้น แต่เดิมการทำเครื่องจักสานต่างๆมักนิยมทำในเวลาว่างหรือหลังหมดฤดูปลูกข้าวแล้ว อุปกรณ์ในการผลิตในสมัยก่อนใช้วัตถุดิบจากบนเขาทุเรียนและเขาโดยรอบ ปัจจุบันมีวัตถุดิบบางประเภทที่เพิ่มขึ้นมาและสามารถซื้อจากตลาดนครนายก วัสดุที่สำคัญในการนํามาจักสาน คือ ไม้ไผ่ และหวาย
  • การทำไม้กวาดดอกหญ้าเป็นงานหัตถกรรมที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านในการประดิษฐ์เพื่อใช้สอยในครัวเรือน ชาวบ้านจังหวัดนครนายกนิยมนําดอกพงหรือดอกแขมมาถูก เป็นไม้กวาดดอกหญ้าเนื่องจากส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนติดภูเขามีต้นพงขึ้นมาก หมู่บ้านเขาทุเรียนก็เช่นกัน หากแต่ปัจจุบันมีผู้สืบทอดเพียงคนเดียว คือ คุณตาปรารถนา นวพรรณ อายุ 78 ปี (2553) เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เข้ามาอยู่ในบ้านเขาทุเรียนตั้งแต่อายุ 28 ปี เริ่มทำไม้กวาดดอกหญ้าประมาณ 40 ปีมาแล้ว เริ่มจากการที่ไปจำวิธีการทำจากชาวบ้านที่เมืองนครนายกแล้วนํามาถักเอง โดยเริ่มจากการทำไว้ใช้เอง และต่อมาจึงเริ่มมีการผลิตเพื่อเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำสวนแต่ไม่ได้ทำมากเนื่องจากทำอยู่เพียงคนเดียว และไม่มีลูกหลานสืบทอด

 

จากการศึกษาเกี่ยวกับที่มาของกลุ่มประชากรบริเวณบ้านเขาทุเรียน มีกลุ่มชนที่เข้ามาอยู่อาศัย 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มคนไทย ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านเขาทุเรียนก่อนกลุ่มคนลาว

2. กลุ่มคนลาวเวียง ที่อพยพเข้ามาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ 180-150 ปีมาแล้ว

3. กลุ่มคนไทย ที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณ 100 ปี

ดังนั้นรูปแบบภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร (พูด) ภายในท้องถิ่นจึงแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ได้ 3 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มภาษาไทยดั้งเดิม

2) กลุ่มภาษาลาวเวียง

3) กลุ่มภาษาไทยอีสาน (ภาษาลาวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ทั้งนี้ในที่นี้จะกล่าวถึงภาษาที่ใช้เป็นส่วนมาก คือ ภาษาลาวเวียง ซึ่งจะคล้ายกับภาษาลาวพวนแต่จะมีบางข้อแตกต่างบางประการ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อักษรลาว

อักษรลาวมีรากเดิมมาจากตัวหนังสือไทน้อย ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากตัวสันสกฤตหรือเทวนาครี รูปปพยัญชนะมีจำนวน 27 รูป คือ

1. "ก ไก่" รูปสะกดคล้าย ๆ สำเภา

2. “ข ไข่

3. "ค ควาย" รูปสะกดคล้าย ถ ถุง

4. “งู”

5. "จ จัว"

7. "ช ช้าง" ออกเสียง /s/

8. "ย ยุง”

9. "ด เด็ก"

10. "ต ตา"

11. "ถ ไถ" รูป สะกดคล้าย ๆ สำเภาของไทยแต่ลากหางลงมา

12. "ท ทุง" (ธง)

13. "น นก"

14. "บ เบ็ด"

15. "ป ปา" (ปลา)

16. "ผ เผิ้ง" (ผึ้ง)

17. "ฝ ฝา"

18. "พ พู" (ภูเขา)

19. “ฟอ ไฟ"

20. ม ม้า"

21. "ย ยา" รูปสะกดคล้าย ย ยุง แต่ต้องลากหางขึ้นเหนือเส้นบรรทัด อ่านออกเสียงเหมือน "ย ยักษ์"

22. "ร รถ"

23. "ล ลีง" (ลิง)

24. "ว วี" (พัด)

25. "ห ไห"

26. "อ โอ" รูปสะกดคล้าย อ อ่าง แต่ลากหางเข้าข้างใน

27. "ร เรือ" ออกเสียง /h/

   ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพยัญชนะลาว คือ ภาษาลาวไม่มี “ฉ, ช” คําที่สะกดด้วย " นิ่ง" ในภาษาไทยมักตรงกับ "ส เสือ" ในภาษาลาว เช่น ปลังเกียดเสียดกัน (ไม่รังเกียจเดียดฉันท์) และคําไทยที่สะกดด้วย "ซ ช้าง" และ "ซ โซ่" จะตรงกับ “ช ช้าง” ซึ่งออกเสียง // ในภาษาลาว เช่น ซกมวย (ชกมวย) ซาวนา (ชาวนา)

   รูปสระมีทั้งหมด 28 รูป แบ่งเป็น คู่สระสั้นยาว 12 คู่ และสระพิเศษอีก 4 รูป และรูป วรรณยุกต์ มี 4 รูป คือ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตี๋ หรือ ไม้ตรี และไม้จัตวา คําส่วนใหญ่มักมีเครื่องหมายไม้เอกและไม้โทกับ พบการใช้ไม้ตรีและจัตวาน้อยส่วนใหญ่เป็นคําอุทาน หรือคําลงท้าย

   สรรพนามที่ใช้เรียกบุรุษที่ 1 โดยทั่วไปแล้วมักใช้คําว่า "อ้อย" แทนสรรพนามบุรุษที่ 2 ด้วยคําว่า "เจ้า", "โต" หรือ "ท่าน" และสรรพนามบุรุษที่ 3 หากเป็นเอกพจน์ มักแทนด้วย “มัน” หรือ “เพิ่ม” และสรรพนามที่เป็นพหูพจน์มักขึ้นต้นด้วยคําว่า “พวก” เช่น “พวกเพิ่น"

   การกล่าวคําทักทายในภาษาลาวไม่กล่าวว่า "สวัสดี" แต่จะกล่าวว่า “สบายดี “สบายดีบ่” เมื่อพบกัน หรือ “เป็นจั่งใด?" และกล่าวคําอำลาว่า "ไปก่อนเด็” หรือ “มื้ออื่นพบกันใหม่" ผู้ร่วมสนทนาทั้งสองฝ่ายเมื่อกล่าวลาแล้วที่นิยมกล่าวต่อ คือ “โชคดี” ซึ่งถือเป็นการให้พรต่อกันหลังจากพบและสนทนาแล้ว

   การตั้งคําถามและการตอบรับ สำหรับการตั้งคําถามภาษาลาวมักมีคําที่ใช้ลงท้ายเพื่อ เป็นการเน้นว่าต้องการถามเกี่ยวกับสิ่งใด เช่น เจ้าชื่ออีหยัง? แปลว่า คุณชื่ออะไร?, เจ้ามาจากใส? แปลว่า คุณมาจากไหน ? บ้านอยู่บ่อนใด? แปลว่า บ้านอยู่ที่ไหน? การตอบรับอาจตอบประโยชน์ หรือ ตอบว่า ใช่ "แม่น" หรือ ไม่ใช่ “บ่แม่น" หรือ ไม่ "บ"

   การสนทนาภาษาลาวมักมีคําลงท้ายเพื่อสื่ออารมณ์และแสดงความรู้สึกของผู้พูด เช่น...ได้ (...หรอกนะ หรือ จะบอกให้), (เถอะ/เถิด), โลด (เลย)

   ลักษณะนาม การวางตำแหน่งลักษณะนามภาษาลาวเหมือนกับภาษาไทย คือตามหลังคํานามและจำนวนนับตามลำดับมากที่ใช้ไม่ตรงกับภาษาไทย ตัวอย่างเช่น หน่วย

   อย่างไรก็ตามมีลักษณะนามในภาษาลาวเป็นจำนวนหน่วย ใช้สำหรับผลไม้ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ หรือภาชนะขนาดกระทัดรัด ได้แก่ ส้ม 1 ป่อง ใช้สำหรับสิ่งที่เป็นรู (ป่อง หมายถึง รู) เมื่อ ตรงกับคําว่า "ครั้ง” หรือ “ที” ในภาษาไทย บ่อน บอกจำนวนสถานที่ ตรงกับคําว่า "ที่" หรือ "แห่ง โต ตรงกับคําว่า "ติว"

ปรมปณต แก้วนนท์. แนวทางการจัดการแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตภายในบ้านเขาทุเรียน ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก , สาขาการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. วัดเขาทุเรียน(วัดสีชมพู) จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/attraction/4870