Advance search

หนึ่งในหมู่บ้านที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยโบราณตั้งแต่ยุคของอาณาจักรลังกาสุกะ

โสร่ง
เขาตูม
ยะรัง
ปัตตานี
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
12 ก.ย. 2023
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
12 ก.ย. 2023
บ้านโสร่ง

คําว่า “โสร่ง” นั้นเพี้ยนมาจากคําว่า “สูรง” (surong) อันหมายถึง ไม้ไผ่ที่ไว้เปิด-ปิดประตูเป็นเสมือนกำแพง 


หนึ่งในหมู่บ้านที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยโบราณตั้งแต่ยุคของอาณาจักรลังกาสุกะ

โสร่ง
เขาตูม
ยะรัง
ปัตตานี
94160
6.609051611
101.3316518
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาตูม

ชุมชนโสร่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในอดีตโสร่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามาเพราะถือว่าเป็นชุมชนคนเขาหรือคนป่านั่นเอง จากคำบอกเล่า คําว่า “โสร่ง” นั้นเพี้ยนมาจากคําว่า “สูรง” อันหมายถึง ไม้ไผ่ที่ไว้เปิด-ปิดประตูเป็นเสมือนกำแพง เมื่อคนต้องการเข้าออกหมู่บ้านจะต้องเข้าออกเพียงประตูเดียวเท่านั้น เพราะสาเหตุที่มีประตูเข้าออกเพียงทางเดียวนั้นเป็นการป้องกันสัตว์ดุร้ายต่าง ๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่ารก และการป้องกันขโมยอีกทางหนึ่งด้วย ขโมยมีอยู่ชุมมาก จึงมีการเข้าออกเพียงประตูเดียว นานเข้าจึงพูดกันติดปากว่าเมื่อต้องการเข้าหมู่บ้านนั้นจะต้องเอาออก “สูรง” ก่อนจึงจะเข้าได้ คนนอกมีการเข้ามาภายในชุมชนเช่นกันจึงตั้งชื่อเป็น “สูรง” และเพี้ยนมาเป็นโสร่งจนถึงปัจจุบัน

อีกหลักฐานหนึ่งที่พูดถึงเกี่ยวกับชื่อชุมชนนี้ คือ การที่ได้ชื่อว่า “โสร่ง” นั้นเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมาแต่โบราณ มีเรื่องเล่ากันว่าพื้นที่นี่เคยเป็นเมืองเก่าแก่สมัยโบราณในสมัยลังกาสุกะ เพราะมีหลักฐานที่สามารถเป็นไปได้ในปัจจุบัน คือ คูเมืองล้อมรอบอยู่ในบริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านต้นสนหรือหลังสถานีอนามัยตำบลเขาตูม ส่วนคำว่า “โสร่ง” มาจากในสมัยก่อนหมู่บ้านแห่งนี้มีการเลี้ยงวัวเป็นจำนวนมากจึงทำให้มีการสร้างคอกวัวเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของวัว โดยทางเข้าคอกวัวนั้นมีลักษณะเป็นประตูที่นำไม้ไผ่มากั้นแล้วยกขึ้นลง และยังมีผู้เล่ากันว่าในสมัยก่อนการปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่นี่จะอาศัยโดยปลูกสร้างบ้านใกล้กันประมาณ 5-6 หลัง และจะทำรั้วกั้นรอบบ้านกลุ่มนั้นไว้ เพื่อเป็นการป้องกันโจรผู้ร้าย ซึ่งประตูทางเข้านั้นชาวบ้านเรียกว่า “สูรง” เลยเป็นตำนานที่มาของหมู่บ้านและเรียกต่อๆกันมา จึงเกิดความผิดเพี้ยนจนกลายเป็น “โสร่ง” จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะของภูมิศาสตร์ของชุมชนโสร่งมีตั้งแต่พื้นที่ราบเชิงเขาและเป็นที่ราบลาดต่ำ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นการทำไร่ สวนผลไม้ ยางพารา การทำนา ระยะหลังพื้นที่นาและสวนลดน้อยลงไป ส่วนหนึ่งมีการขายเพื่อเป็นที่สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือน อาคารหอพักนักศึกษา และร้านค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา จากเดิมวิทยาลัยอิสลามยะลา ตั้งอยู่ที่บ้านปารามีแต ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ย้ายสถาบันมาเปิดใหม่ในชุมชนโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และมีการยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งเบื้องต้นมีการซื้อที่ดินในพื้นที่ในบ้านโสร่งจำนวนกว่า 72 ไร่ และต่อมามีการซื้อที่ดินเพิ่มเติมรวม 283 ไร่ ทำให้ชุมชนส่วนหนึ่งเปลี่ยนมาทำอาชีพค้าขาย ธุรกิจบ้านเช่า การเปิดร้านถ่ายเอกสารและอินเทอร์เน็ต มีการแบ่งที่ดินขายเป็นห้อง ๆ มีการขุดหน้าดินบนภูเขาไปถมในที่ลุ่มเพื่อปลูกบ้านเรือนและหอพักหลังจากที่สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษามาเปิดให้บริการในชุมชน ทำให้มีการพัฒนาที่รวดเร็ว มีการแข่งขันกันสร้างบ้านและหอพักเพื่อรองรับประชากรแฝงจากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาทั้งที่เป็นบุคลากร อาจารย์ รวมทั้งนักศึกษา บ้างมีการขายที่ดินที่เป็นที่สวน (ผลไม้ ยางพารา) และที่นาเพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายหรือไปซื้อที่ดินนอกเขตชุมชนโสร่งมาทดแทน ชุมชนโสร่งจะมีบุคคลภายนอกที่มาจากทุกภาคของประเทศไทย

นอกจากนั้นชุมชนโสร่งยังมีคนต่างชาติทั้งที่เป็นบุคลากรมหาวิทยาลัยและนักศึกษาอีกด้วย ทำให้ชุมชนโสร่งมีภาคีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ นานา ชุมชนโสร่งมีสถานที่สำคัญในหมู่บ้านมากมาย เช่น โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนสอนกีรออาตี สถาบันปอเนาะ (ปอเนาะมูเดร์) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านต้นสน โรงเรียนบ้านต้นสน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลเขาตูม องค์การบริหารส่วนตำบลเขาตูม สถานีตำรวจภูธรบ้านโสร่ง ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ศูนย์ผลิตและจำหน่ายผ้าบาติก สำนักงานบริหารราชการตำบล กองทุนอัลอะมานะฮฺโสร่งดารุลอามาน สหกรณ์รักถิ่นโสร่ง และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาวิทยาเขตปัตตานี นอกจากนั้นเมื่อความเจริญเข้ามายังชุมชนแล้ว ประชาชนแข่งขันกันเปิดกิจการ ทั้งธุรกิจ ร้านค้า ร้านอินเทอร์เน็ตร้านขายข้าวและของชำ บริการบ้านเช่า เปิดร้านซ่อมรถ ร้านล้างอัดฉีด ร้านตัดผม บริการซักอบรีด และมีตลาดเปิดท้ายเกือบทุกวันในหนึ่งสัปดาห์ สำหรับใครบางคนที่มีที่ดินมาก ๆ ก็จะมีการแบ่งขายเป็นห้อง ราคาที่ดินก็สูงมากเมื่อเทียบกับสิบปีที่ผ่านตอนที่ยังไม่เจริญ บางห้องที่มีขนาดความกว้าง 4 เมตร ยาว 20 เมตร สามารถขายในราคาห้องละ 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) ซึ่งเมื่อเทียบราคากันแล้วจะแพงกว่าที่ดินในเขตเมืองยะลาอีกด้วย (คำสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านโสร่ง) ตอนนี้ในชุมชนโสร่งจะมีประชากรแฝงจากมหาลัยอิสลามยะลาเพิ่มขึ้นทุกวัน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ จรดหมู่ 4 บ้านจาเราะสโตร์ และหมู่ 7 บ้านนีปิสกูเล๊ะ
  • ทิศใต้ จรดค่ายสิรินธร
  • ทิศตะวันตก จรดหมู่ 2 บ้านจาเราะ และหมู่ 7 บ้านนีปิสกูเล๊ะ
  • ทิศตะวันออก จรดหมู่ 4 บ้านจาเราะสโตร์ และหมู่ 5 บ้านจาเราะบองอ

ประชากรเดิม ๆ ของชุมชนโสร่งนับถือศาสนาอิสลามร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากที่มีสถานีตำรวจภูธรบ้านโสร่งจะมีครอบครัวข้าราชการตำรวจที่นับถือศาสนาพุทธอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน นอกจากนี้ชุมชนโสร่งยังมีประชากรแฝงที่เป็นบุคลากรทางวิชาการ (อาจารย์) บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ (เจ้าหน้าที่) และนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

มลายู

สภาพทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านโสร่ง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร เช่น ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ตามฤดู นอกจากนี้ก็มีอาชีพรับจ้างและรับราชการ พืชเศรษฐกิจได้แก่ ยางพารา ลองกอง ผัก ผลไม้ต่างๆ ในท้องถิ่นตามฤดูกาล ผลผลิตที่จำหน่ายสู่ตลาดภายในและภายนอกชุมชน ได้แก่ ผ้าคลุมผมสตรีและตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษและสตรี ประชากรมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน มีเส้นทางคมนาคมในการขนส่งที่สะดวก เมื่อพิจารณาถึงการกระจายรายได้ของชุมชนโสร่ง จะเห็นได้ว่ายังปรากฏความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ ประชากรบางส่วนมีฐานะยากจน มีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เนื่องจากไม่มีงานทำหรือประกอบอาชีพรับจ้างทำสวน รับจ้างกรีดยาง และไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เป็นต้น จึงมีรายได้น้อยและไม่เพียงพอ ซึ่งต้องพึ่งพาระบบซะกาตของชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน

กลุ่มปักจักรและตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านโสร่ง

ปัจจุบันสภาพสังคมของชุมชนโสร่งได้เปลี่ยนจากชุมชนชนบทสู่ชุมชนที่พัฒนาคือ “เป็นชุมชนกึ่งเมือง” หลังจากที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาย้ายมาเปิดการเรียนการสอนในชุมชนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาในอดีตประชาชนในชุมชนโสร่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพทำสวนปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก และบางครอบครัวจะมีอาชีพทำนา ปัจจุบันประชาชนส่วนหนึ่งหันมาทำอาชีพค้าขาย เปิดร้านขายของชำ ร้านอาหาร ร้านถ่ายเอกสาร ร้านอินเทอร์เน็ต ธุรกิจบ้านเช่า ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตที่ต้องทำงานในป่าในสวนเข้าสู่การทำงานในสำนักงานและร้านที่มีการติดตั้งทั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ

นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่มีที่ดินเยอะ ๆ ก็จะมีการจัดสรรเป็นห้อง ๆ แบ่งขายเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย บ้านเช่าและนำเงินไปซื้อที่ดินในพื้นที่อื่นหรือเพื่อไปใช้ในการขยายธุรกิจของตน ความเป็นอยู่ในสังคมจะอยู่แบบครอบครัวเดียวกันอันเนื่องจากประชาชนในชุมชนโสร่งส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติกัน มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเป็นตัวกระตุ้นสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเจริญของชุมชน ด้านการเป็นอยู่ การศึกษา และวิถีชีวิต การเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนักเรียนในชุมชนโสร่งที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้ และสำหรับผู้ใหญ่ กลุ่มแม่บ้าน ผู้สูงอายุก็จะได้รับการเรียนรู้ด้านศาสนาโดยการฟังการบรรยายธรรมผ่านมัจลิสอิลมีของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาที่มีการจัดขึ้นในทุกๆ วันพุธที่มัสยิดอัลฮารอมัยน์ (มัสยิดมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา) เช่นกัน จะเห็นได้ว่าชุมชนโสร่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีการศึกษาด้านศาสนาเพื่อใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มขึ้น สนใจและรู้ถึงแนวทางปฏิบัติศาสนกิจที่ดี มีการจัดกิจกรรมและฟังบรรยายประจำสัปดาห์ ประจำเดือน และประจำปี (การพบปะมุตากอมุลิมะห์) ที่ชุมชนโสร่งจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี

1.นายมูฮำมัดรอโซ สิเดะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาตูม

กำแพงดินบ้านโสร่ง

จากการสัมภาษณ์ นายอาแซ คาเน็ง อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39/5 ม. 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทราบว่ากำแพงดินแห่งนี้ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลเขาตูม มีความสูงประมาณ 4 เมตร ความยาวเริ่มต้นจากโรงเรียนชุมชนบ้านต้นสน ม.3 ถึงบ้านบูเกาะวัด ม.4 ตำบลเขาตูม ประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันมีร่องรอยกำแพงดินเหลืออยู่ในโรงเรียนประมาณ 10 เมตรและนอกรั้วโรงเรียนซึ่งเป็นสวนผลไม้ของคนในชุมชนอีกเล็กน้อยเนื่องจากถูกทำลายและบุกรุก อาจารย์พอนนท์ มะดอรอ ครูโรงเรียนบ้านต้นสนได้ศึกษาค้นคว้าที่มาของกำแพงดิน ซึ่งเกี่ยวกับประวัติของลังกาสุกะว่า ในปีพ.ศ.1946 บนเกาะชวา มีกลุ่มคนอาศัยอยู่กระจัดกระจาย ตามแนวชายฝั่งทะเลและลุ่มแม่น้ำสุไหงปัตตานี พงศาวดารจีนเรียกว่า หลังยะเซี่ยว หรือ ลังกาสุกะ หมายถึง ดินแดนแห่งอินทรีย์สำราญ นักโบราณคดีเรียกว่าลังกาสุกะ ครอบคลุมพื้นที่รัฐปัตตานี

ลักษณะที่บ่งบอกความเป็นลังกาสุกะ คือ ตัวเมืองเป็นศูนย์กลางของชุมชนและมีกำแพงล้อมรอบ จะเพิ่มกำแพงดินเผาหรือกำแพงดินมีประตูเข้า-ออก ลักษณะการเปิด-ปิด กำแพงดิน ชาวบ้านเรี่ยกว่าซูรงหรือซือรง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านทุกวันนี้และเรี่ยกเพี้ยนเป็นโสร่ง กำแพงดินจึงสันนิษฐานว่าเป็นร่องรองความรุ่งเรือนของลังกาสุกะในอดีต

การแต่งกาย

ประเพณีการแต่งกายของชาวปัตตานีโดยทั่วไป ทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามมีความนิยมเหมือนกันคือการนุ่งผ้าถุงหรือโสร่ง คนปัตตานีนิยมนุ่งผ้าถุงหรือโสร่งทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ชายนิยมนุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ สวมเสื้อที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ในความนิยมที่เหมือนกันก็จะมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามคือ ผู้หญิงมุสลิมเมื่อออกจากบ้านจะแต่งกายแบบมิดชิด โดยใส่เสื้อแขนยาวและมีผ้าคลุมศีรษะ (กายกูบง) ผู้ชายเมื่อออกจากบ้านจะนุ่งผ้าโสร่งสวมเสื้อแขนยาวและจะมีผ้าโพกศีรษะ เรียกว่า “ผ้าหรือแบ” หรือ “ซื้อแบ” หากไม่ใช้ผ้าโพกศีรษะก็จะใช้หมวกที่เรียกว่า “กาปีเยาะ” หรือ “ซอเก๊าะ” ผู้หญิงมุสลิมนิยมนุ่งผ้าปาเต๊ะสวมเสื้อบานงหรือบายอหรือกรง และเสื้อประเภทท่อนที่ตัดเย็บแบบ ถ้าอยู่กับบ้านจะไม่ใช้ผ้าคลุมศีรษะเมื่อออกจากบ้านจึงจะคลุมศีรษะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัย ฐานะ และการศึกษาของแต่ละบุคคล ส่วนผู้ชายนิยมสวมเสื้อซื้อโละบางอ มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมอาจ มีคอตั้งแบบคอจีนผ่าหน้าครึ่งหนึ่ง ติดกระดุมโลหะ 3 เม็ด แขนเสื้อทรง กระบอกกว้างยาวจดข้อมือแต่สากลหรือเสื้อยืดพับชายขึ้นมาเล็กน้อย สวมกางเกงยาวแบบสากล สวมหมวกซอเกาะที่ทำด้วยกํามะหยี่สีต่างๆ หรืออาจสวมหมวกกะปิเยาะซึ่งเป็นหมวกทรงกลม

ในวันนักขัตฤกษ์หรือวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม ชายมุสลิมในท้องถิ่นนี้อาจจะแต่งกายที่เรียกว่า “ชุดสลีแน” ลักษณะเหมือนชุดประจำชาติมาเลเซีย (ชุดเกอบังซาอัน) ชุดสลีแนประกอบด้วย เสื้อคือโละบลางอ มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลมอาจมีคอตั้งแบบคอจีนผ่าหน้าครึ่งหนึ่ง ติดกระดุมโลหะ 3 เม็ด แขนเสื้อทรงกระบอกกว้างยาวจดข้อมือแต่พับชายขึ้นมาเล็กน้อย นุ่งกับกางเกงจีน มีผ้าซอแกะขนาดสั้นกว่าที่ใช้เป็นผ้านุ่งของผู้หญิงนุ่งทับกางเกงให้ยาวเหนือเข่า อาจเหน็บกริชที่สะเอว และใช้ผ้าสตาแงโพกศีรษะ (เป็นผ้าโพกศีรษะที่พับเป็นรูปต่างๆ) หญิงมุสลิมอาจแต่งกายด้วยเสื้อบานง ภาษามลายูกลางเรียกว่า “บันคง” เป็นเสื้อคอวีผ่าหน้าตลอดกลัดด้วยเข็มกลัดตัวเสื้อเน้นรูปทรงแขนยาวรัดรูปจดข้อมือ ชายเสื้อตรงหรือแหลมเล็กน้อย ต่อมาประยุกต์เป็นอีกแบบหนึ่ง คือเสื้อคอวีลึกปิดทับด้วยลิ้นผ้าสามเหลี่ยม เสื้อแบบนี้เรียก “บานงแมแค” เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย นิยมใช้ผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วน หรือผ้าชีฟองตัดเสื้อ ใช้นุ่งกับผ้าถุงธรรมดาหรือผ้าซอแกะ

ขนบธรรมเนียมประเพณี

1.ประเพณีมาแกปูโละ ประเพณีมาแกปูโละหรือการกินเหนียว เป็นประเพณีท้องถิ่นที่นิยมทำกันทั้งชาวไทย พุทธและชาวไทยมุสลิมในเดือน 12 และเดือน 1 ของอิสลาม ซึ่งรวมเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม ทางฝ่ายมุสลิมจะมีการเชิญกินเหนียวหรือมาแกปูโละกันมาก ข้าราชการชั้นหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายอำเภอ ตั้งแต่นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่อื่นๆ จะได้รับเชิญไปร่วมด้วย การจัดงานมาแกปูโละนี้อาจจะจัดในงานแต่งงานลูกสาวหรือเข้าสุหนัตลูกชาย หรืออาจจัดเนื่องในโอกาสอื่นๆ เช่น หาเงินสร้างมัสยิด เป็นต้น สำหรับทางชาวไทยพุทธมีงานกินเหนียวในงานแต่งงานลูกสาวเป็นส่วนมาก

2.ประเพณีเข้าสุหนัต การเข้าสุหนัต หมายถึง การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ภาษามลายูเรียกว่า “มาโซะยาวี” หมายถึง การเข้าแขก ชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่นิยมทำการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศกับทารกที่ยังเล็กอยู่ แต่มักจะทำเมื่อเด็กโตขึ้นประมาณ 7-10 ขึ้นไป ตามหลักการศาสนาอิสลามได้ส่งเสริมเพศชายทุกคนที่เป็นมุสลิมให้เข้าสุหนัต แต่มิใช่เป็นการบังคับ ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมไม่สมบูรณ์และต้องทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้ง ก่อนจะทำพิธีละหมาดวันละ 5 เวลา ซึ่งเป็นการยุ่งยากและเสียเวลาจึงนิยมเข้าสุหนัตเพื่อความสะดวกและหมดปัญหา โดยทั่วไปสังคมชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมจัดให้มีประเพณีกินเหนียวมาโซะยาวี เพื่อให้เกียรติเฉลิมฉลองแก่บรรดาเด็กชายที่จะทำพิธีเข้าสุหนัต

3.ประเพณีแห่นก เป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาช้านานนับร้อยปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าคงรับมาจากประเทศอินโดนีเซีย ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่หลายเข้ามายังภูมิภาคนี้ เมื่อราว พ.ศ.2060 การแห่นกมักจะจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีเข้าสุหนัตหรือมาโซะยาวีเป็นสำคัญ เล่ากันว่าการแห่นกเริ่มมีขึ้นที่ชวาเมื่อหลายร้อยปีก่อนและก็ไม่ได้จัดในพิธีเข้าสุหนัต แต่เป็นเพียงการเล่นเพื่อความบันเทิงใจของพระธิดาของรายาแห่งชวาเท่านั้น

4.ประเพณีวันฮารีรายอ เป็นประเพณีวันตรุษทางศาสนาอิสลาม ในปีหนึ่งมี 2 วัน คือ วันอีดีลฟริตริ หรือ รายาปูวาซา ตรงกับวันที่ 1 ขึ้น 1 ค่ำ เดือนเชาวาล (เดือน 10 ของมุสลิม) วันตรุษนี้เป็นวันตรุษที่มุสลิมออกจากการถือศีลอด จึงนิยมเรียกวันนี้ว่าวันออกบวชหรือฮารีรายอปอซอ และอีกวันหนึ่งคือ วันอีดิลอัฎฮา หรือรายาฮายี ตรงกับวันที่ 10 ของเดือนซุลฮัจญะห์ (เดือนที่ 12 ของมุสลิม) วันตรุษนี้เป็นวันรื่นเริงเนื่องในการเสร็จสิ้นการประกอบพิธีฮัจญ์ และจะมีการเชือดสัตว์พลีเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน วันตรุษทั้ง 2 วันห่างกัน 70 วัน ชาวมุสลิมจะไปร่วมกันละหมาดในวันตรุษ ดังกล่าวที่มัสยิดประมาณเวลา 9.00 น. โดยพาครอบครัวไปด้วย หลังจากนั้นก็จะมีการพบปะให้พรกัน ขออภัยซึ่งกันและกัน และไปเยี่ยมเยียนผู้ใหญ่ตลอดจนเยี่ยมกูโบร์ (สุสาน) และให้ความสนุกสนานแก่เด็กๆ และการทำทาน

การละเล่นพื้นเมืองของชาวปัตตานี

1.ดีเกฮูลู เป็นการแสดงโต้คารมและแสดงปฏิภาณเป็นคำกลอนของชาวไทยมุสลิม ทำนองเดียวกันกับลำตัดของไทย มีรำมะนาเป็นเครื่องให้จังหวะ ภาษาที่ใช้ในบทร้องเป็นภาษามลายูถิ่นปัตตานี คนไทยนิยมเรียก “ลิเกฮูลู” หรือจะเรียกลำตัดมลายูก็ได้ มีรากกำเนิดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาอิสลาม คือพวกพ่อค้าชาวเปอร์เซียได้นำเอาศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ด้วย ซึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามมีบทสวดสรรเสริญพระเจ้าตามปกติ เป็นบทขับร้องสำคัญที่ขับร้องในวันสำคัญทางศาสนาในสมัยพระยาเมืองปกครอง 7 หัวเมือง เช่น งานเมาลิด หรือ วันกำเนิดพระนาบี บทสวดนี้ชาวเปอร์เซียเรียกว่า “ดีเกร์เมาลิด” มาจากคำว่า “Zikir” ในภาษาอาหรับ เป็นการขับร้องที่มีเสียงไพเราะน่าฟังเรียกกันว่า “ละไป” หรือ “ซีเกร์มัรฮาบา” เป็นการร้องเพลงประกอบการตีกลองรำมะนา

2. รองเง็ง เป็นลักษณะรองเง็งแบบราชสำนักที่ดัดแปลงมา มีท่าเต้นแตกต่างกันไปตามลักษณะของเพลง ไม่มีคําร้องประกอบ นิยมเล่นกันในจังหวัดปัตตานี มีท่ารําเป็นแบบฉบับแน่นอน กล่าวกันว่ารองเง็งได้อิทธิพลแบบอย่างมาจากชาวยุโรป คือ โปรตุเกส สเปน ซึ่งเข้ามาค้าขายและสร้างคลังสินค้าตั้งอาณานิคมขึ้นในย่านนี้ ชาวมลายูเห็นจึงได้นํามาฝึกซ้อมหัดเล่นขึ้นบ้าง โดยระยะแรกเริ่มฝึกหัดกันในวงแคบเฉพาะในหมู่ขุนนางและวังเจ้าเมืองสุลต่าน เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อหรือเวลามีงานรื่นเริงต่างๆ เป็นการภายใน ภายหลังจึงได้แพร่หลายออกสู่ชาวพื้นเมือง

3.ซัมเป็ง เป็นการเต้นรําพื้นบ้านที่นิยมกันในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมลายูแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนในแถบประเทศมาเลเซีย เป็นการเต้นรําที่ได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากพวกสเปน ราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 ที่เดินทางเข้ามาค้าขายย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และได้ยึดครองฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคม แต่ได้ดัดแปลงกระบวนท่าเต้นรําให้เหมาะสมเป็นแบบฉบับของ ท้องถิ่นตนเอง และชื่อ “ซัมเป็ง” ก็เพี้ยนมาจากสเปนนั่นเอง ซัมเป็งได้แพร่หลายเข้ามายังแหลมมลายู โดยผ่านพวกมลายูที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะต่างๆ ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ในยุคแรกนิยมเต้นรํากันใน เฉพาะในวังของเจ้าเมืองและบ้านขุนนางก่อน เพื่อใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปสู่ชาวบ้าน และเป็นที่นิยมแพร่หลายคู่กันกับรองเง็งซึ่งเป็นการเต้นรําแบบชายหญิงคู่กัน

4.มะโย่ง เป็นการแสดงของชาวไทยมุสลิม จัดอยู่ในประเภทละคร มีลักษณะการแสดงคล้ายโนรา คือมีทั้งการร้อง การรํา การเจรจา และเล่นเป็นเรื่อง มีตัวพระเอก ตัวนางเอก และตัวตลก ภาษาที่ใช้ในบทร้องเป็นภาษามลายูถิ่นปัตตานี ตํานานการละเล่นมะโย่งเล่าว่า มีครูสอนมะโย่งคนหนึ่ง ชื่อ “บาเคาะปูเต๊ะ” เป็นเจ้าสำนักนาฏศิลป์ดนตรีอยู่ที่เมืองบรือดะ เป็นนักแสดงพื้นบ้านที่มีความรู้ความชํานาญทั้งการเล่นดนตรี สีซอ การขับร้อง และการร่ายรํา ต่อมามีคนในวังซึ่งเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองบรือดะที่มีความสนใจรักศิลปะการแสดง รู้ข่าวว่ามีคนที่มีความรู้ความสามารถทางการแสดงมหรสพ ดังกล่าวจึงได้เดินทางออกไปเล่าเรียน เมื่อได้รับการถ่ายทอดวิชาเสร็จกลับมาจึงได้คิดตั้งโรงเปิดแสดงมะโย่งขึ้นในพระราชวัง เพื่อให้พระราชบิดามารดาและข้าราชบริพารในราชสำนักได้ชม หลังจากนั้นการแสดงมะโย่งก็ได้เจริญแพร่หลายได้รับความนิยมกันทั้งในวังและนอกวัง

5.สิละหรือดีกา เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวไทยเชื้อสายมลายูแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลักษณะเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เน้นลีลาการร่ายรําและการเคลื่อนไหวที่สวยงามมากกว่าจะเป็นศิลปะการต่อสู้แบบสมจริง มีตํานานเล่าว่ากำเนิดมาจากเกาะสุมาตรา โดยมีชายผู้หนึ่งไปนั่งชมน้ำตกและนําเอาความคิดตัวอย่างมาจากกระแสน้ำตก และระลอกคลื่นที่พาเอาดอกไม้ชนิดหนึ่ง (ดอกอินทนิล) ไหลหมุนเวียนไปมาไม่จม จึงสนใจนําลีลาการลอยดอกไม้มาประยุกต์ประดิษฐ์เป็นลีลาการเคลื่อนไหวอาศัยแขนขาป้องกันคู่ต่อสู้ และได้สอนแก่เพื่อนและถ่ายทอดแก่คนอื่นต่อมา และมีดนตรีประกอบคือ กลองแขก 2 ใบ ฆ้อง 1 ใบ และปี่ชวา 1 เลา

ภาษามลายูปาตานี ใช้ตัวอักษรยาวีในการเรียนการสอน (ในอดีตใช้ตัวอักษรรูมีในการเขียน เนื่องจากในอดีตมีผู้นำชุมชนที่อพยพมาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย จึงมีการใช้ตัวอักษรรูมีในการเรียนการสอน) และภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประวัติมหาวิทยาลัยฟาฎอนี

การก่อตั้งสถาบันในฐานะวิทยาลัย

แนวคิดในการสร้างสถาบันการศึกษาอิสลามระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก อยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย อาทิ นายอิสมาอีลุตฟี จะปะกียา นายอิสมาแอ อาลี นายอับดุลฮาลี ไซซิ นายญิฮา บูงอตายง นายอาหมัดอูมาร์ จะปะเกีย โดยเห็นว่าสังคมมุสลิมในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีสถาบันอุดมศึกษาอิสลามเพื่อทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้าและมีความสงบสันติดั่งเจตนารมณ์ของอิสลามต่อไป

หลังจากรวบรวมเงินได้ประมาณหนึ่งล้านบาท ในปี พ.ศ.2526 จึงได้ทำการส่งเงินดังกล่าวกลับมายังประเทศไทย และได้ก่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้ชื่อว่า “คณะกรรมการการก่อตั้งโครงการวิทยาลัยอิสลามเอกชนภาคใต้” หลังจากได้พิจารณาความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโครงการฯ แล้วคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ตัดสินใจซื้อที่ดิน จำนวน 70 ไร่ 32 ตารางวา ณ บ้านโสร่ง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นสถานที่ก่อตั้งวิทยาลัย

ปี พ.ศ.2532

การดำเนินการก่อสร้างสถาบันอิสลามศึกษาขั้นสูงแล้วเสร็จ อันประกอบด้วย อาคารเรียนและที่ทำการฝ่ายบริหาร มัสยิด ห้องสมุด หอพักอาจารย์ หอพักนักศึกษา และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ แต่การดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532-2539 ประสบกับความล่าช้าเนื่องจากขาดบุคลากรและงบประมาณ

เดือนเมษายน 2541

ฯพณฯ นาวาโทนายแพทย์เดชา สุขารมณ์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อนุญาตให้มูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาประเภทวิทยาลัย ชื่อว่า “วิทยาลัยอิสลามยะลา” ตามใบอนุญาตเลขที่ 4/2541 และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ทบวงมหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งที่ 114/2541 แต่งตั้งกรรมการสภาวิทยาลัยอิสลามยะลาชุดแรก และวิทยาลัยอิสลามยะลาได้จัดการประชุมกรรมการสภาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกในวันที่ 27 เดือนเดียวกัน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิทยาลัย นายอารีย์ วงศ์อารยะ ดำรงตำแหน่งอุปนายก ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ดำรงตำแหน่งอธิการ ดร.อัฮมัดอูมัร จะปะเกีย ดำรงตำแหน่งรองอธิการฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา และนายมัสลัน มาหะมะ ดำรงตำแหน่งเลขานุการสภาวิทยาลัย

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2541

ทบวงมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ผู้แทนคณะกรรมการพิจารณาการขอเปิดดำเนินการหลักสูตรและการรับรองมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สาขาวิชานิติศาสตร์ และสาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและประวัติศาสตร์ เดินทางมายังวิทยาลัยเพื่อพิจารณาศักยภาพความพร้อมและความเหมาะสมในการเปิดดำเนินการสาขาวิชาชะรีอะฮ์และสาขาวิชาอุศูลุดดีน ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบแก่วิทยาลัยอิสลามยะลาเปิดดำเนินการทั้งสองหลักสูตรได้ในปีเดียวกัน และมีการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในเดือนพฤศจิกายน ในทั้งสองสาขาวิชา ๆ ละ 100 คน และทางวิทยาลัยได้จัดงานวันสถาปนาวิทยาลัยขึ้น เพื่อประกาศการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ปี พ.ศ.2543

ด้วยการประสานงานของชีคอับดุลลอฮฺ บินหมัด อัลญาลาลีย์ กษัตริย์หัมดฺ บิน คอลีฟะฮฺ อาลษานีย์ ได้ทรงมีพระราชสาสน์ถึงประธานมูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้ แจ้งว่าทรงมีพระราชประสงค์จะบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงิน 43,000,000 บาท (สี่สิบสามล้านบาท) เพื่อเป็นงบก่อสร้างอาคารสำนักงานอธิการ และอาคารเรียนรวม และรวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่าง ๆ

การเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัย

จากความพยายามในการสร้างคุณภาพให้กับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยพบว่า สถานที่ตั้งของวิทยาลัยมีข้อจำกัดในด้านการขยายตัว ด้วยเหตุนี้คณะผู้บริหารจึงได้ดำเนินการทบทวนสถานที่สำหรับการขยายวิทยาลัย โดยมีมติที่จะนำที่ดินที่มีการจัดซื้อไว้ในตอนเริ่มโครงการครั้งแรกมาพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของวิทยาลัย โดยในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2543 มูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาภาคใต้ได้จัดพิธีวางศิลารากฐานเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานอธิการ และอาคารเรียนรวม ณ โครงการจัดตั้งเมืองมหาวิทยาลัยบ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีขึ้น ภายใต้ความช่วยเหลือของกษัตริย์ หัมดฺ บิน คอลีฟะฮ อาลษานีย์ แห่งประเทศกาตาร์ โดยมีนายวันอาหมัด ปานากาเซ็ง ประธานมูลนิธิฯ เป็นประธานในพิธี มี ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการวิทยาลัย กรรมการมูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้ กรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัยอิสลามยะลา กรรมการบริหารวิทยาลัยอิสลามยะลา คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้นำชุมชน แขกผู้มีเกียรติ และชาวบ้านจากบริเวณใกล้เคียงร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 200 คน

28 กันยายน 2546

วิทยาลัยอิสลามยะลาได้ใช้ที่จัดตั้งใหม่ในการจัดพิธีประสาทปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2545 ซึ่งเป็นครั้งแรกของสถาบัน โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 249 คน จาก 3 สาขาวิชา คือสาขาวิชาชะรีอะฮฺ สาขาอุศูลุดดีน และสาขาวิชาการสอนอิสลามศึกษา และได้รับเกียรติจากจุฬาราชมนตรี ฯพณฯ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นประธานในพิธี

10 มีนาคม 2547

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยหม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ทรงเปิดวิทยาลัยอิสลามยะลาอย่างเป็นทางการ ณ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรวิทยาลัยอิสลามยะลา ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป พร้อมใจร่วมให้การรับเสด็จฯ และได้รับเกียรติจากท่านจุฬาราชมนตรีได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย

14 มิถุนายน 2550

วิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับการอนุญาตเปลี่ยนชื่อและประเภท โดยได้รับการอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อและประเภทเป็น “มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา” ตามใบอนุญาตเลขที่ 5/2550 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2550 และในวันที่ 27 มิถุนายน 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้เกียรติในพิธีมอบใบอนุญาต และเปิดป้ายมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา พร้อมกันนี้ได้จัดพิธีมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ ฯพณฯ ศ.ดร. อับดุลลอฮฺ บิน อัลมุหฺซิน อัตตุรกี เลขาธิการสันนิบาติโลกมุสลิม

การเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย

31 ตุลาคม 2556

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ออกประกาศโดยกระทรวงศึกษาธิการ

4 พฤศจิกายน 2556

กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ลงในราชกิจจานุเบกษา ให้ทราบโดยทั่วกัน

นินาดีย๊ะห์  อาแย. (2558). แนวทางการพัฒนาระบบซะกาตจากฐานรากหญ้า : กรณีศึกษาชุมชนโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

มะดาโอะ ปูเตะ และคณะ. (2556). รายงานวิจัยชุมชนฉบับสมบูรณ์เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการชุมชน ในสภาวการณ์น้ำท่วม : กรณีศึกษาชุมชนโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี. สถาบันพระปกเกล้า

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี. (ม.ป.ป.). กำแพงดินบ้านโสร่ง. ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จาก http://www.m-culture.in.th/album/123066

มหาวิทยาลัยฟาฎอนี​. (ม.ป.ป.). ประวัติมหาวิทยาลัยฟาฎอนี.​ จาก https://ftu.ac.th/about/