วัดโพธิ์ศรี นาเวียง เป็นหนึ่งใน 4 วัดในอำเภอด่านซ้ายที่จัดงานบุญหลวง และมีการละเล่นผีตาโขน มีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนบ้านนาเวียง จัดแสดงหน้ากากผีตาโขนในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในวัดที่มีการต่อเรือยาว และเป็นหนึ่งในสนามแข่งเรือเมื่อครั้งสมัยก่อน เป็นหนึ่งใน 2 ชุมชนสุดท้ายในอำเภอด่านซ้ายที่ยังมี “พัดทดน้ำ” หรือ “ระหัดวิดน้ำ” ภูมิปัญญาของชาวลุ่มน้ำหมัน หลงเหลือให้เห็นอยู่ในแม่น้ำหมัน
นา หมายถึง พื้นที่ราบสำหรับทำนา
เวียง หมายถึง เมือง กำแพง ในที่นี้หมายถึง เวียงจันทร์ เพราะเชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีชาวเวียงจันทร์มาพักอาศัยเพื่อสร้างพระธาตุศรีสองรัก นาเวียง จึงหมายถึง ทุ่งนาที่ชาวเวียงจันทร์มาพักอยู่
สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “บ้านนาเวียง” คือตั้งตามลักษณะของคนเวียงจันทน์ที่มาพักอาศัยเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านเทิงนา” สาเหตุเพราะต้องการแยกหมู่บ้าน เนื่องจากมีประชากรจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันได้มีการประชาคมในหมู่บ้าน ชาวบ้านมีความเห็นว่า จะเปลี่ยนชื่อเป็นนาเวียงเหมือนเดิม แต่ไปซ้ำกับบ้านนาเวียง หมู่ที่ 9 ชาวบ้านจึงมีมติร่วมกัน และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านนาเวียงใหญ่” จนถึงปัจจุบัน
วัดโพธิ์ศรี นาเวียง เป็นหนึ่งใน 4 วัดในอำเภอด่านซ้ายที่จัดงานบุญหลวง และมีการละเล่นผีตาโขน มีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนบ้านนาเวียง จัดแสดงหน้ากากผีตาโขนในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในวัดที่มีการต่อเรือยาว และเป็นหนึ่งในสนามแข่งเรือเมื่อครั้งสมัยก่อน เป็นหนึ่งใน 2 ชุมชนสุดท้ายในอำเภอด่านซ้ายที่ยังมี “พัดทดน้ำ” หรือ “ระหัดวิดน้ำ” ภูมิปัญญาของชาวลุ่มน้ำหมัน หลงเหลือให้เห็นอยู่ในแม่น้ำหมัน
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2103 ที่ผ่านมาได้มีชาวเวียงจันทน์มาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่บ้านนา (ชื่อหมู่บ้านเดิมในอดีต) ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างองค์พระธาตุศรีสองรัก เมื่อองค์พระธาตุสร้างเสร็จเรียบร้อย ได้มีชาวเวียงจันทน์บางส่วนอพยพกลับสู่ถิ่นฐานเดิม บางส่วนที่ไม่อพยพกลับได้ตั้งถิ่นฐานอยู่กับครอบครัวที่หมู่บ้านเทิงนา
กระนั้นประมาณปี พ.ศ. 2107 ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่ลงความเห็นให้เปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้าน จากเดิมบ้านนา ได้เปลี่ยนมาเป็น บ้านนาเวียง และในที่สุดกลายมาเป็น บ้านนาเวียงใหญ่ ซึ่ง ที่ผ่านมาบ้านนาเวียงได้มีผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งมาแล้ว 6 คน สมัยนั้นได้มีการปกครองแบบพี่น้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน
ใน พ.ศ. 2526 นายกองเกียน โพธิ์ปลัด ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านเทิงนา ซึ่งการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านรับรู้ ทำให้ชาวบ้านไม่คุ้นเคยและชื่อใหม่นี้ก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก จึงเป็นสาเหตุให้ต้องนำชื่อหมู่บ้านนาเวียงใหญ่กลับมาใช้เหมือนเดิม เพราะชื่อหมู่บ้านเทิงนานั้นปัจจุบันเป็นชื่อเดิมของหมู่บ้านที่ร้างไปนานแล้ว ชาวบ้านจึงไม่เห็นสมควรที่จะใช้ชื่อหมู่บ้านนี้
กระทั้งสมัยผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน นางประพันธ์จิต มิ่งแก้ว ได้มีการประชุมคณะกรรมการและชาวบ้านในหมู่บ้านเพื่อหาข้อยุติ เพื่อแจ้งให้ชาวบ้านได้รับรู้ในการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน จากหมู่บ้านเทิงนา ให้เปลี่ยนมาเป็นชื่อหมู่บ้านนาเวียงใหญ๋เหมือนเดิม และชาวบ้านได้มีมติที่ประชุมพร้อมใจกันลงมติเห็นชอบปลี่ยนชื่อดังกล่าว ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของหมู่บ้าน
รายชื่อผู้ใหญ่บ้านนาเวียง ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
1. นายกัญหา | นนทะโคตร |
2. นายสมุทร | นนทะโคตร |
3. นายพง | มิ่งแก้ว |
4. นายบัวเรียน | มิ่งแก้ว |
5. นายกองเกียน | โพธิ์ปลัด |
6. นายประพันธ์จิต | มิ่งขวัญ |
7. นายคำมุง | สารมะโน |
8. นายวิธัช | สุวรรณเกิด |
บ้านนาเวียงใหญ่อยู่ห่างจากตัวเมืองด่านซ้ายไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีภูอังลังที่เชื่อมต่อกับภูก้อม หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า ภูฝรั่งส่อง (เหตุมาจากช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณด่านซ้าย ว่ากันว่าภูนี้เป็นที่ที่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสใช้เป็นป้อมสังเกตการณ์) และ ภูงอยชู้ (งอย เป็นภาษาถิ่นหมายถึงการยืนชิดขอบภูที่มีชะง่อนหิน) ภูเขาเหล่านี้เป็นเขตแดนกั้นบ้านนาเวียงใหญ่กับบ้านห้วยตาด และเป็นต้นห้วยที่ไหลผ่านที่นาของหมู่บ้าน คือ ห้วยยางบง (ยางบง หมายถึงไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง) ที่ไหลลงสู่ ลำน้ำหมันและยังมีห้วยน้อยๆ ที่เป็นร่องน้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวาอีกหลายสาย ด้านทิศตะวันตก มีลําน้ำหมันกั้นเขตกับบ้านนาเวียง หมู่ 9 (เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน) ทิศใต้เป็นที่ราบติดต่อกับบ้านนาอ้อ ทิศเหนือเป็นที่ราบติดกับบ้านบุ่งกุ่ม
บ้านนาเวียงใหญ่มีพื้นที่ราบซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ไร่ พื้นที่และไร่เชิงเขาประมาณ 4-5 ตารางกิโลเมตร แต่เดิมชาวบ้านทํามาหากินด้วยการทํานาข้าวเป็นหลัก เพราะที่นามีความสมบูรณ์จากตะกอนดินริมฝั่งน้ำ อีกทั้งมีการรวมกลุ่มเครือญาติหรือคนที่นาใกล้เคียงกันเพื่อสร้าง “พัด” หรือระหัดวิดน้ำสําหรับผันน้ำจากน้ำหมันเข้าแปลงนา ทําการเพาะปลูกได้ตั้งแต่ต้นปีโดยไม่ขาดน้ำ การจัดการน้ำแบบนี้พัฒนามาจนปัจจุบันซึ่งมีการขุดบ่อกักน้ำไว้ทางด้านตีนเขา ทำให้สามารถมีน้ำเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง บางครัวเรือนจะทำไร่ข้าวโพดที่เชิงภูเล็กน้อย แต่ละครัวเรือนจะมีที่ทํากินเฉลี่ยครัวเรือนละ ประมาณ 4-5 ไร่ สามารถผลิตข้าวได้สูงประมาณ 65-70 ถัง/ไร่ ทําให้ไม่ขาดแคลนข้าว เพราะคุณภาพดินดีและไม่กันดารน้ำ แต่เมื่อชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้นก็ทําให้สมาชิกในชุมชนบางรายไม่มีที่นา เพราะที่ดินมีจํากัด ทําให้สมาชิกใหม่ต้องประกอบ อาชีพที่หลากหลายขึ้น สำหรับอาชีพส่วนใหญ่ยังทําไร่ ทํานาอยู่กับบ้าน บางส่วนมีอาชีพรับราชการทหาร ครู ค้าขายในตลาด และรับจ้างในอําเภอหรือจังหวัด เป็นต้น สภาพบ้านในหมู่บ้านส่วนมากจะเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้เป็นส่วนใหญ่
ปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีประมาณ 125 ครัวเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย 89 คน ประชากรหญิง 96 คน รวม 185 คน (ข้อมูลจากสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566)
ชาวบ้านที่อยู่อาศัยเป็นชาวไทพื้นถิ่น เรียกตนเองว่า ไทด่าน มีผสมเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทร์ (ลาวเวียง) ในอดีต
ลาวเวียงอาชีพส่วนใหญ่ยังทําไร่ ทํานาอยู่กับบ้าน บางส่วนมีอาชีพรับราชการทหาร ครู ค้าขายในตลาด และรับจ้างในอําเภอหรือจังหวัด เป็นต้น
เดือน 4 (มีนาคม) บุญข้าวเปลือกข้าวสาร หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะนําข้าวใหม่ ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร เงิน เทียน อาหาร มาทําบุญ โดยทําพิธีสงฆ์แล้วหมอขวัญก็จะทําพิธีสู่ขวัญข้าว เป็นการไหว้คุณข้าว ส่วนข้าวที่ได้จะเอามาขายให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนข้าวในราคาถูกกว่าราคาตลาดเพื่อนําเงินมาใช้ในการบํารุงวัด หรือทํากิจการสาธารณะอื่น ๆ
เดือน 5 บุญสงกรานต์ เดิมจะมีการแห่ดอกไม้ สงฆ์น้ำพระ คนหนุ่มคนสาวในหมู่บ้านจะต้องไปหาบน้ำจากน้ำหมัน มาทำเป็นน้ำอบน้ำหอม อาบให้คนเฒ่าคนแก่ เพื่อเป็นการตอบแทนบุณคุณ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพิธีรดน้ำดําหัวรวมกันทั้งหมู่บ้านที่วัดแทน
เดือน 6 บุญไหว้พระธาตุศรีสองรัก ชาวบ้านจะทําต้นเทียนไปไหว้ และร่วมงานกับชาวบ้านบ้านอื่นเดือน 7 เลี้ยงหอหลวง เลี้ยงหอเจ้านาย และพิธีแฮกนา (แรกนาขวัญ)
เดือน 8 งานประเพณีบุญหลวงและงานไหลผีตาโขน
วัดโพธิ์ศรีนาเวียง บ้านนาเวียงใหญ่ เป็นหนึ่งใน 4 วัดในอำเภอด่านซ้ายที่มีการจัดประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน โดยในแต่ละปีจะมีกำหนดการแตกต่างกันไป แต่ก็จะยึดวันของวัดโพนชัยเป็นที่แรก ซึ่งจะถูกกำหนดโดยการเข้าทรงของเจ้าพ่อกวน และวัดโพธิ์ศรีนาเวียงจะเป็นวัดสุดท้ายที่จัด อันเป็นที่มาของ “งานไหลผีตาโขน” แต่ละปีอาจมีช่วงระยะเวลาของวันที่จัดแตกต่างกันไป แต่จะมีลำดับกิจกรรมได้แก่
- มื้อแต่ง: วันที่พระสงฆ์และชาวบ้านช่วยกันตกแต่งสถานที่
- มื้อโฮม และแห่ผี: มีการเบิกพระอุปคุตแต่เช้ามืด ชาวบ้านเล่นบุญแห่ผีกันตามประเพณี ส่วนช่วงเย็นจะเป็นการละเล่นผีตาโขนที่เป็นสมัยใหม่ มีการประกวดฉลองตามวาระแต่ละปี
- มื้อแห่พระ: ชาวบ้านเล่นบุญตามประเพณี มีขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง
- มื้อเทศน์: เทศน์มหาชาติ มีพิธีสวดส่งนพเคราะห์
งานประเพณีบุญหลวง และงานไหลผีตาโขนอาจมีการเปลี่ยนแปลงวันในแต่ละปี แต่จะต้องเกิดขึ้นก่อนวันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา ซึ่งในช่วงวันอาสาฬหบูชา หลังงานไหลผีตาโขนนี้เอง ชาวบ้านนาเวียง (นาเวียงใหญ่) จะจัดพิธีบูชาภูอังลัง เป็นการสืบต่อความเชื่อ ความศรัทธา และความกตัญญูต่อเทพเทวดาผู้ปกปักษ์รักษาป่า แหล่งอาหารและที่ทำกินของชาวบ้าน จากนั้นก็กลับมาทำบุญเข้าพรรษาในวันถัดมา ในระหว่างช่วงเข้าพรรษาจะต้องเอาบุญบ้าน โดยจะมีการสวดซําฮะบ้าน 3 คืน (สวดชำระสิ่งไม่ดีในหมู่บ้าน กำหนดวันจัดพิธีเป็นวันใดวันหนึ่งในช่วงเดือนพรรษา)
ประเพณีไหว้ภูอังลัง
งานไหว้ภูอังลังเป็นงานประเพณีของหมู่บ้านนาเวียงที่มีมาแต่โบราณ แต่ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นที่เคารพศรัทธาหรือมีความเชื่อต่อภูอังลังก็นิยมเดินทางเข้ามาประกอบพีด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อถึงเดือน 8 วันอาสาฬหบูชา หรือก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน ชาวบ้านนาเวียงและหมู่บ้านใกล้เคียงจะไปตักบาตรทำบุญที่วัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว กวนจ้ำ นางแต่งและภิกษุสงฆ์ 4 รูป จะร่วมกันเดินทางขึ้นไปยังภูอังลัง ในส่วนของชาวบ้านจะจัดเตรียมน้ำ กับข้าว และเครื่องที่จะนำไปแต่งสักการะบูชาภูอังลัง ระหว่างทางก็จะตีฆ้อง ตีกลองและตีฉาบเป็นที่สนุกสนาน เหนื่อยก็พักกันระหว่างทาง หายเหนื่อยก็เดินต่อ แต่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเดินไปถึงภูอังลังก่อนเที่ยง และระหว่างเดินขึ้นห้ามดื่มน้ำและกินอาหารเป็นอันขาด จึงต้องอาศัยความศรัทธาและอดทนสูง ดังนั้นหากครอบครัวใดผู้เฒ่าผู้แก่ขึ้นไปไม่ได้ก็จะส่งลูกหลานเป็นตัวแทนขึ้นไปไหว้ภูอังลังแทน พอไปถึงสถานที่ประกอบพิธีชาวบ้านจะช่วยกันแต่งเครื่องบูชา แต่งเครื่องร้อยเครื่องพัน และจัดหาใบไม้ใหญ่มาเย็บจอกให้ได้ 125 จอก เครื่องไหว้แต่ละจอกประกอบด้วยกล้วย อ้อย แกงส้ม แกงหวาน เมี่ยง หมาก เทียน ดอกไม้ ขนมหวาน เนื้อย่าง ปลาย่าง ผลไม้ ข้าวโพด ข้าวต้ม ข้าวตอก ใบพลู ทั้งหมดที่กล่าวมานี้อย่างน้อยต้องมีอย่างละ 10 ชิ้น บริเวณที่ใช้ประกอบพิธีบนภูอังลังมีข้อห้ามว่าห้ามคนเข้ามานั่งเล่น ห้ามผู้หญิงผ่านลานหิน ซึ่งจัดทำเป็นอาสนะของพระสงฆ์ ดังนั้นเวลาประกอบพิธีผู้หนึ่งจึงต้องนั่งคนละฝั่งกับผู้ชายและพระสงฆ์
หลังจากนั้นกวนจ้ำจะจัดศาลทั้ง 5 หิ้ง ใส่เครื่องไหว้หิ้งละ 25 จอก โดยกวนจ้ำจะเป็นผู้ประกอบพิธีถวายเครื่องสักการบูชาเจ้าภูอังลัง ต่อจากนั้นชาวบ้านจะร่วมกันถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ เมื่อฉันเสร็จแล้วเทศน์หนึ่งกัณฑ์ ก่อนที่กวนจ้ำจะประกอบพิธีต่อเพื่อขอฟ้าขอฝนให้ตกตามฤดูกาล ขอให้มีน้ำไว้ใช้ในนา ขอเจ้าป่าเจ้าเขาและเหล่าเทวดาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภูอังลัง ภูผาแดด ภูผาด่าน ผาแดงนางไอ่ มาร่วมเพื่อเป็นสักขีพยาน เพื่อให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขหมดเคราะห์หมดโศก ขอให้ทำนาทำไร่ได้ผลอุดมสมบูรณ์ จากนั้นจำแขวนธงสักการบูชาภูอังลัง แล้วจุดบั้งไฟเป็นการเสี่ยงทายว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะดีไหม ถ้าฝนดีจะได้ทำนาก็ข้อให้บั้งไฟที่จุดเสี่ยงทายขึ้นดี ถ้าไม่มีฟ้าไม่มีฝนก็อย่าได้ขึ้น หลังจากเสร็จพิธีต่าง ๆ แล้ว สุดท้ายกวนจ้ำจะนำทำพิธีคารวะต่อเจ้าภูอังลัง เพื่อให้ลูกหลานทุกคนที่ข้นไปร่วมพิธีในครั้งนี้ ที่อาจจะทำอะไรไม่ถูกไม่ควรก็ขออภัยเจ้าของพื้นที่เป็นอันเสร็จพิธี
ผู้ใดหอบหิ้วสิ่งของขึ้นไปก็ต้องรับผิดชอบเอาลงมา ระหว่างทางการเดินทางขึ้นลงจะมีการตีฆ้อง และกลองร้องรำสนุกสนาน เมื่อกลับมาถึงเชิงเขาสาดน้ำขี้โคลนเล่นกันเป็นที่สนุกสนาน ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน เป็นอันเสร็จพิธี
ชาวนาเวียงเชื่อว่าหากครอบครัวไหนไม่ไปร่วมไหว้ภูปีถัด ๆ ไปจะต้องนำเครื่องเซ่นไปทำบุญเป็นสองเท่า หากปฏิบัติไหว้ภูทุกปีจะทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ประสบแต่ความสุข อีกทั้งเป็นการเตรียมตัวว่าปีนี้ควรจะวางแผนในการการเพาะปลูกอย่างไร ถ้าฝนฟ้าดีก็ตัดสินใจทำนา แต่หากน้ำขาดแคลนชาวบ้านพึงระมัดระวังการทำมาหากิน
นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อว่าที่ภูอังลังมีลูกแก้วขนาดเท่าลูกมะพร้าวมาสถิต ก่อนจะวิ่งไปภูผาแดด พร้อมกับระเบิดเสียงดัง แต่เดียวนี้ลูกแก้วไม่ค่อยเกิดแล้ว ชาวบ้านเองก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็ยังสักการะบูชาอยู่เช่นเดิม ชาวบ้านบอกว่าไม่เห็นลูกแก้มานานเป็น 10 ปีแล้ว
ปัจจุบันประเพณีการไหว้ภูอังลังในแง่พิธีกรรมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ของที่ใช้แต่งบูชาภูอังลังยังเหมือนเดิม และจุดประสงค์ก็คล้ายกัน คือ เพื่อให้ปกปักรักษาคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้ปลอดภัย แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ จำนวนชาวบ้านที่ขึ้นไปภูอังลังที่ลดจำนวนลงมาก จากสมัยก่อนที่ผู้คนนิยมขึ้นไปบูชาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทางหมู่บ้านยังคงปฏิบัติประเพณีนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนสาเหตุที่ชาวบ้านไม่นิยมขึ้นบูชาภูอังลัง เพราะว่าสถานที่ประกอบกับอยู่บนภูต้องเดินทางไกล การเดินทางก็ลำบาก ทำให้เดินขึ้นกันไม่ไหว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีความอดทนสูง ประกอบหลายครอบครัวเปลี่ยนอาชีพจากการเกษตรไปทำอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง รับข้าราชการ เป็นต้นรวมไปถึงการที่ชาวบ้านได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ก็มีส่วนสำคัญต่อการทัศนะและโลกทัศน์ต่อความเชื่อดังกล่าว
เดือน 9 บุญข้าวประดับดิน ทําบุญสําหรับผู้ตาย เอาอาหารหวานคาวไปวางไว้บนดิน ไร่นา ให้ผีไม่มีญาติ
เดือน 10 บุญข้าวสาก ทําบุญในวัดจะมีการจับสลากเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์และการเพาะปลูก
เดือน 11 บุญออกพรรษา ชาวบ้านจะแกงขี้ผึ้ง (ต้มขี้ผึ้ง) เพื่อใช้ทําปราสาทผึ้ง ทําเรือไฟ ไปไหลในลําน้ำหมัน (อาจมีการเอาบุญผ้าป่า บุญกฐิน แล้วแต่ตกลงกัน)
เดือน 12 ลอยกระทง เดือนอ้าย/เดือนยี่ (เดือน 1 เดือน 2) บุญแจกข้าว เป็นการทําบุญถึงญาติที่ล่วงลับไป
เดือน 3 บุญข้าวจี่
1. วิธัช สุวรรณเกิด
ผู้ใหญ่บ้านผู้นำของชุมชนบ้านนาเวียงใหญ่ เป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นถิ่นของบ้านนาเวียงใหญ่ ทั้งการฟื้นฟูอนุรักษ์พัดทดน้ำ บูรณะวัดโพธิ์ศรีนาเวียง รวมกำลังสร้างหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปประจำวันเกิด พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนนาเวียง รวมทั้งเป็นผู้นำในการจัดงานไหลผีตาโขน จัดมหรสพทุกปี ระหว่างที่ไม่มีเทศกาลหรืองานประเพณี บ้านนาเวียงใหญ่ก็มักใช้พื้นที่วัดโพธิ์ศรีนาเวียงในการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น เวิร์คช็อปการทำต้นผึ้ง การทานอาหารพื้นถิ่น ภูมิปัญญาน้ำผักสะทอน เป็นต้น
- กังหันวิดน้ำขนาดใหญ่ ที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของการประกอบอาชีพเกษตรในลุ่มน้ำหมัน
- พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนนาเวียง สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยว หรือผู้สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีการละเล่นผีตาโขน และศิลปะของการทำหน้ากากผีตาโขนได้ตลอดทั้งปี
- ชาวบ้านที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น ทั้งการต้มน้ำผักสะทอน หรือการหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติตามฤดูกาล
ภาษาไทพื้นถิ่น เรียกกันว่าไทด่าน เป็นภาษาที่มีสำเนียงแปร่งจากอำเภออื่นในจังหวัดเลย ใกล้เคียงภาษาลาวทางหลวงพระบาง ภาษาลาวเวียง และภาษาไทยกลาง
ปัจจุบันกลุ่มผู้ใหญ่บ้านนาเวียงใหญ่มีความแข็งขันในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งยังมีความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาจากรากฐานอย่างยั่งยืนที่จำกัด เป็นการพัฒนาที่เป็นไปตามกระแสนิยม รวมทั้งเป็นช่วงที่ยังไม่มีความหลากหลายของผู้นำ จึงยังไม่มีกระบวนการแบบมีส่วนร่วม อันนำพาแนวคิดในการพัฒนาที่เป็นทางเลือกอื่นเข้ามาเท่าใดนัก
ชาวบ้านนาเวียงใหญ่มีความภูมิใจในความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของตนที่มีมาแต่โบราณ ความเป็นวัฒนธรรมลาวเวียงอันรุ่มรวย ดังจะเห็นได้จากความตื่นตัวของชาวบ้านในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมประเพณีท้องถิ่นต่างๆ นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของนายทอง วังคีรี (อายุ 85 ปี) เมื่อปี 2500 เป็นปีที่มีการบวชพระหลวง บ้านนาเวียงเป็นเจ้าภาพจัดแข่งเรือครั้งใหญ่ มีรางวัลเป็นน้ำมันก๊าดให้แก่เรือของหมู่บ้านที่ชนะ (นำไปใช้ต่อที่วัดชุมชน) เรือของบ้านนาเวียงจะมีลักษณะสวยงาน ทาสีทองวิจิตรกว่าบ้านอื่น แกะสลักเป็นรูปหงส์ ได้ชื่อเรือว่า “หงส์ทอง”
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านซ้าย. (ม.ป.ป.). ประวัติศาสตร์หมู่บ้าน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. เลย: ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านซ้าย.
นักวิจัยท้องถิ่นด่านซ้าย. (2559). ชีวิต ประเพณีและความเชื่อหัวใจหลักของวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยพันธุ์ https://lek-prapai.org/
บำเพ็ญ ไชยรักษ์. (2553). นาเวียงใหญ่ : กลุ่มชาติพันธ์ุลาวเวียงในหุบเขาด่านซ้าย จังหวัดเลย. ดำรงวิชาการ, คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นจาก http://www.damrong-journal.su.ac.th/
คำบอกเล่าของชาวบ้านบ้านนาเวียงใหญ่, สัมภาษณ์ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566