Advance search

บ้านท่าม่วง

วัดป่าสักดาราม วัดท่าม่วง วัดเหนือ องค์พระธาตุพนมจำลอง สิมรูปแบบล้านช้าง การอนุรักษ์อักษรธรรมและอักษรไทน้อย 

หมู่ที่ 2 3 4 และ 9
บ้านท่าม่วง และ บ้านท่าใหม่
ท่าม่วง
เสลภูมิ
ร้อยเอ็ด
จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง, ฐิติรัตน์ เวทย์ศิริยานันท์, ชิศพลว์ หารี
10 ก.พ. 2023
จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง, ฐิติรัตน์ เวทย์ศิริยานันท์
15 ต.ค. 2023
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
10 ต.ค. 2023
บ้านท่าม่วง

ความเป็นมาของชื่อชุมชนทางการ “บ้านท่าม่วง” เนื่องจากในอดีตของการอพยพย้ายถิ่นฐานมายังพื้นที่ชุมชนในปัจจุบัน มีท่าน้ำอยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมชนซึ่งมีต้นมะม่วงต้นใหญ่ตั้งอยู่ ทำให้คนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวเรียกชุมชนว่า “บ้านท่าม่วง”  ความเป็นมาของชื่อชุมชนท้องถิ่น ในอดีตชุมชนท่าม่วงประกอบด้วยบ้านท่าม่วง หมู่ที่ 2 3 และ 4 เมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองเพิ่มเติม ทำให้มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้น 1 แห่ง คือ “บ้านท่าใหม่” หมู่ที่ 9 แต่คนในชุมชนแห่งนี้ยังคงเรียกบ้านท่าใหม่ว่า “บ้านท่าม่วง” เนื่องจากการมีสำนึกของการเป็นคนในชุมชนเดียวกัน


ชุมชนชนบท

วัดป่าสักดาราม วัดท่าม่วง วัดเหนือ องค์พระธาตุพนมจำลอง สิมรูปแบบล้านช้าง การอนุรักษ์อักษรธรรมและอักษรไทน้อย 

บ้านท่าม่วง และ บ้านท่าใหม่
หมู่ที่ 2 3 4 และ 9
ท่าม่วง
เสลภูมิ
ร้อยเอ็ด
45120
เทศบาลตำบลท่าม่วง โทร. 0-4366-5000
16.11535327172379
103.87409296986762
เทศบาลตำบลท่าม่วง

- การอพยพย้ายถิ่นและการตั้งถิ่นฐาน

การอพยพย้ายถิ่นฐานของชุมชนท่าม่วงเริ่มจาก พ.ศ. 1990 ผู้คนจากบ้านนาพังสวนหม่อนซึ่งตั้งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่แขวงเมืองเวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยการนำของ “ตาสุทธิ์” และ “ยายบัปภา”6 เพื่อหนีความวุ่นวายในถิ่นฐานเดิม ผู้อพยพ กลุ่มดังกล่าวได้เดินทางมาจนถึงบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำชี (อยู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด) และเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ตั้งถิ่นฐานและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านท่าม่วง” เนื่องจากบริเวณ ท่าอาบน้ำมีต้นมะม่วงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2110 ชาวบ้านตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำชีในพื้นที่ ประมาณ 28 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่โนนน้ำท่วมไม่ถึงและเป็นที่ตั้งของชุมชนท่าม่วงในปัจจุบัน โดยชาวบ้านได้สร้างบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้กับแม่น้ำชี (คณะกรรมการวัดท่าม่วง, 2565) ดังคำบอกเล่าของ อาจารย์ฉลาดที่ว่า “ตามความเชื่อแต่เดิมที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อ ๆ กันมา บ้านเฮา (เรา – ผู้วิจัย) อพยพ มาจากบ้านนาพังสวนหม่อน เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยการนำของตาสุทธิ์และยายบัปภามาตั้งถิ่น ฐานอยู่บริเวณนี้ แต่เดิมอยู่ฝั่งธวัชบุรีแต่เกิดน้ำท่วมเลยย้ายมาที่ฝั่งซ้ายที่ตั้งอยู่ทุกวันนี้” (ฉลาด ไชย สิงห์, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565)

หลังจากย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำชีใน พ.ศ. 2110 ปีเดียวกันนี้เองชาวบ้านได้สร้างวัดป่าสักดารามซึ่งเป็นหนึ่งในสามวัดของชุมชนท่าม่วงในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นได้ชี้ว่าวัดป่าสักดารามก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2110 แต่กลับไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าใครเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามในระหว่าง พ.ศ. 2110 ถึง พ.ศ. 2440 มีเพียงบันทึกจากหนังสือประวัติของหลวงปู่สีลาจารวิสุทธิ์ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าม่วงที่ระบุว่าได้ไปศึกษาบาลีคัมภีร์มูลกัจจายน์จากท่านญาคูเบี้ยว (หลวงปู่เบี้ยว) ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดป่าสักดารามจนถึง พ.ศ. 2460 จึงพออนุมานได้ว่าหลวงปู่เบี้ยวอาจเป็นเจ้าอาวาสของวัดป่าสักดาราม ณ ขณะนั้น จากนั้นวัดป่าสักดารามถูกปล่อยร้างมาเป็นเวลายาวนานกว่า 60 ปี จึงมีการรับช่วงต่อโดยพระครูสีลสาราภรณ์ หรือที่คนในท้องถิ่นมักเรียกว่า “หลวงปู่สมสิทธิ์” เจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามองค์ปัจจุบันซึ่งอุปสมบทที่วัดบ้านหนองสิม ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ใน พ.ศ. 2520 และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน (คณะกรรมการวัดท่าม่วง, 2565) ข้อมูลข้างต้นตรงกับคำบอกเล่าของอาจารย์ฉลาดที่ว่า “จริง ๆ แล้ววัดป่าเนี่ยเป็นวัดร้างมาก่อนนะร้างมา ประมาณ 330 ปี นอกจากที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่าวัดป่าตั้งปี 2110 แล้วหลังจากตั้งวัดก็ไม่ได้มีการบอกเล่าอะไรกันต่อมาก็จนมาเป็นหลวงปู่ (เจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามองค์ปัจจุบัน – ผู้วิจัย) นี่แหละที่เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสจนทุกวันนี้” (ฉลาด ไชยสิงห์, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565

การย้ายมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำชีได้ส่งผลให้มีการขยายตัวของบ้านเรือนในชุมชนตามหลักความเชื่อที่ว่าด้วยเรื่องความเป็นสิริมงคลของพื้นที่ ในอดีตชาวบ้านมองว่าพื้นที่แห่งนี้เปรียบเสมือนตัวของจระเข้ การจะสร้างบ้านเรือนเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยและภัยพิบัติ ต่าง ๆ นั้นจะต้องตั้งบ้านเรือนในบริเวณหัวของจระเข้ก่อน เจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามได้เล่าให้ผู้วิจัยฟังเกี่ยวกับคติดังกล่าวว่า “คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังเขาก็มาตั้งวัดป่าก่อน พ.ศ. 2110 เขาข้ามมา เขามาดูที่ดูอะไร บ้านท่าม่วงมันจะเป็นรูปจระเข้ เขาถือกันว่าถ้ามาตั้งงอยบนหัวจระเข้ก่อนแล้วมันจะอยู่เย็นเป็นสุข จะไม่มีโรค ไม่มีภัยไข้เจ็บ ต้องตัวหัวมาก่อนเเล้วค่อยขยายไป” และ “ตั้งวัดป่า (ผู้วิจัย - วัดป่า สักดาราม) พ.ศ. 2110 พอ พ.ศ. 2112 มาตั้งวัดเหนือเป็นหางจระเข้ ตั้งวัดเสร็จก็มีชุมชน ทีนี้ พ.ศ. 2114 ตั้งวัดท่า (ผู้วิจัย - วัดท่าม่วง) นี่วัดกลางเป็นท้องจระเข้ ที่วัดป่าเป็นปากจระเข้ เเล้ววัดเหนือ เป็นหาง ตั้งห่างกันสองสองปี” (สมสิทธิ์ รักขิตสีโร, สัมภาษณ์15 สิงหาคม 2565)

ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างวัดป่าสักดารามขึ้นที่บริเวณหัวจระเข้เป็นแห่งแรก (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านท่าม่วงหมู่ที่ 3) จากนั้นใน พ.ศ. 2112 ได้ก่อตั้ง “วัดเหนือ” ขึ้นที่บริเวณหางของจระเข้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านท่าม่วงหมู่ที่ 4) ครอบคลุมพื้นที่ 6 ไร่ 5 ตารางวา โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรก คือ พระญา ครูชาดา (คณะกรรมการวัดท่าม่วง, 2565) หลังจากการตั้งวัดเหนือชาวบ้านได้เริ่มขยายพื้นที่บ้านเรือนไปอยู่บริเวณใกล้ ๆ วัดตามความเชื่อว่าเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับบ้านเรือนของตน ดังข้อมูลที่ ได้จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามที่ว่า “วัดเหนือบ้านท่าม่วงสร้างเมื่อ พ.ศ. 2112 อยู่ที่ ส่วนหางของจระเข้ แล้วชาวบ้านเขาก็ไปตั้งบ้านเรือนรอบ ๆ ตัววัด บ้านเรือนก็ขยายไปเรื่อย ๆ” (สมสิทธิ์ รักขิตสีโร, สัมภาษณ์15 สิงหาคม 2565) ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับคำบอกเล่าของอาจารย์ ฉลาดที่ว่า “ปีหนึ่งสอง (ผู้วิจัย - พ.ศ. 2112) เป็นปีก่อตั้งวัดเหนือ จากนั้นชาวบ้านก็ไปสร้างบ้านอยู่รอบ ๆ ตัววัด” (ฉลาด ไชยสิงห์, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565) ต่อมาใน พ.ศ. 2114 มีการก่อตั้ง “วัดท่าม่วง” บริเวณท้ายหมู่บ้านหรือบริเวณท้องของจระเข้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านท่าม่วง หมู่ที่ 2) ตามความเชื่อ ซึ่งมีเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรก คือ บาคูชาดา

ชุมชนท่าม่วงดำรงอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ได้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ส่งผลให้เมืองร้อยเอ็ดขึ้นกับมณฑลลาวกาวซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี โดยก่อตั้งตำบลท่าม่วงเป็นหนึ่งใน 18 ตำบลของอำเภอเสลภูมิ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตำบลตามชื่อหมู่บ้านท่าม่วง ประกอบด้วยหมู่บ้าน 12 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าม่วง บ้านหนองสิม บ้านดอนหาด บ้านนากระตึบ บ้านดงกลาง บ้านเหล่าแขม บ้านดอนกอก บ้าน โคกกุง บ้านหนองเม็ก บ้านโคกสว่าง บ้านดงหวาย และบ้านท่าสี (คณะกรรมการ วัดท่าม่วง, 2565)

- เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน

ภายหลังจากการอพยพย้ายถิ่นและตั้งบ้านเรือนใน พ.ศ. 1990 การมีขยายพื้นที่การตั้งบ้านเรือนอย่างต่อเนื่อง และ พ.ศ. 2465 มีการก่อตั้งโรงเรียนบ้านท่าม่วงขึ้น โดยการใช้ศาลากลางเปรียญวัดท่าม่วงเป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน ส่งผลทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น และใน พ.ศ. 2480 ได้ย้ายโรงเรียนบ้านท่าม่วงมาอยู่ที่บ้านท่าม่วงหมู่ที่ 4 ซึ่งตั้งเยื้องกับวัดเหนือบ้านท่าม่วงจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในปีเดียวกันนั้นมีงบประมาณจากรัฐส่วนกลางเข้ามาสนับสนุนการสร้างถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน โดยเริ่มสร้างถนนเส้นหลักของหมู่บ้านก่อน (ถนนสุทธิประภา ในปัจจุบัน) จากนั้นจึงขยายขอบเขตในการสร้างถนนต่อไป ทำให้การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้นจากการตั้งบ้านเรือนตามถนนภายในหมู่บ้าน (คณะกรรมการวัด ท่าม่วง, 2565)

พ.ศ. 2490 เกิดเหตุการณ์ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านความเชื่อที่สำคัญของชุมชนท่าม่วงจากความเชื่อเรื่อง “ผี” สู่ความเป็น “พุทธ” ในอดีตชาวท่าม่วงมีความเชื่อเรื่องผีหรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ตาสุทธิ์และยายบัปภาเป็นผู้นำในการอพยพย้ายถิ่นมายังพื้นที่บริเวณท่าม่วงในปัจจุบัน ส่งผล ให้เกิดความเชื่อที่ว่าหากใครต้องการเป็นลูกเขยเข้ามาอยู่ในท่าม่วงจะต้องเปลี่ยนนามสกุลเป็น “สุทธิประภา” เสียก่อน มิฉะนั้นจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับตัวผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ในปีดังกล่าวหลวงปู่ทองมา ถาวโร (พ.ศ. 2443 - 2534) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสว่างท่าสี ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลเกาะแก้ว) เนื่องจากความเชื่อเรื่องผีส่งผลกระทบและสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในท้องถิ่น หลวงปู่ทองมาซึ่ง ขึ้นชื่อในเรื่องคาถาอาคมและการปราบภูติผีได้มาทำพิธีปลดปล่อยดวงวิญญาณภูติผีตามความเชื่อของ ชาวท่าม่วง เพื่อให้คนให้ชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนจากการนับถือผีมานับถือหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ส่งผลให้ความเชื่อเรื่องผีของคนในชุมชนลดน้อยลง จนกระทั่ง พ.ศ. 2496 ได้มีการทำพิธีรื้อถอนศาล บริเวณดอนปู่ตาในพื้นที่บ้านท่าม่วงหมู่ที่ 4 ออก ภายหลังจากที่หลวงปู่ทองมา ถาวโรเข้ามาปรับเปลี่ยนระบบความเชื่อของคนในชุมชนท่าม่วง จนความเชื่อเรื่องผีในชุมชนหมดไป พ.ศ. 2503 ภาครัฐได้ใช้พื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่ตั้งของสถานีอนามัยบ้านท่าม่วง ซึ่งในปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลท่าม่วง (คณะกรรมการวัดท่าม่วง, 2565) ส่งผลให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์ที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งของชุมชนซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของชุมชน คือ อุกทกภัยครั้งใหญ่ ใน พ.ศ. 2521 ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการใช้ชีวิตของชุมชนซึ่ง อาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก น้ำท่วมใหญ่ในปีดังกล่าวทำให้เรือซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่ชาวบ้าน ใช้สำหรับการคมนาคมได้รับความเสียหาย เรือของบางครัวเรือนชำรุด ในขณะที่เรือของบางครัวเรือนก็สูญหาย ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ศ. 2523 ชาวบ้านในชุมชนจึงได้ซื้อรถยนต์เข้ามาใช้สำหรับการคมนาคมเป็นครั้งแรกและเริ่มยกเลิกการใช้เรือสำหรับการคมนาคมโดยหันมาใช้ยานพาหนะในการคมนาคม แทน ดังข้อมูลที่ได้จากอาจารย์ฉลาดที่ว่า “บ้านเรามันอยู่ติดน้ำชี เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ตอนปีสองหนึ่ง (ผู้วิจัย - พ.ศ. 2521) น้ำมันเอ่อขึ้นมาจนถึงนี่แหละตัววัดเลยเข้ามาในหมู่บ้าน ข้าวของเครื่องใช้ของ ชาวบ้านก็พังไปหมด โดยเฉพาะเรือพอน้ำมันท่วมมาเรือมันก็พุพังบางบ้านน้ำก็พัดเรือไหลหายไป ปีสองสาม (ผู้วิจัย - พ.ศ. 2523) คนก็ไม่ใช้เรือกันแล้ว” (ฉลาด ไชยสิงห์, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565)

ต่อมาใน พ.ศ. 2525 พระครูสีลสาราภรณ์ (หลวงปู่สมสิทธิ์ รักขิตสีโร) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสักดาราม และใน พ.ศ. 2529 หลวงปู่ฯ มีความคิดที่จะสร้างพระธาตุพนมจำลองขึ้นที่วัดป่าสักดาราม เพื่อให้ชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาแต่ไม่มีทุนทรัพย์ในการเดินทางไปสักการะพระธาตุพนมที่จังหวัดนครพนมได้มาสักการะพระธาตุพนมจำลองที่วัดป่าสักดาราม พ.ศ. 2535 พระธาตุพนมจำลองที่วัดป่าสักดารามจึงดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณหกปี (คณะกรรมการวัดท่าม่วง, 2565) และพระธาตุพนมจำลองแห่งนี้ได้นำมาซึ่งประเพณีสักการะพระธาตุพนมจำลอง ณ วัดป่าสักดารามที่มีผู้มีจิตศรัทธาเข้ามาร่วมพิธีกรรมเป็นจำนวนมาก และในปีเดียวกันนี้เองชุมชนท่าม่วงได้มีการยกเลิกประเพณีแข่งเรือยาว อาจกล่าวได้ว่าการยกเลิกประเพณีแข่งเรือยาวดังกล่าวเป็นการสิ้นสุดของการใช้เรือทั้งในฐานะของยานพาหนะหลักในการสัญจรและประเพณีของคนในชุมชนท่าม่วง เหลือเพียงเรื่องเล่าของผู้อาวุโสและเรือที่เคยใช้แข่งขันซึ่งในปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่วัดท่าม่วงสองลำและที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลท่าม่วงอีกหนึ่งลำ

จนกระทั่ง พ.ศ. 2544 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ และการศึกษาของชุมชนท่าม่วง เนื่องจากในปีดังกล่าวมีการก่อตั้ง “สถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด” ในแง่ของการศึกษา การเข้ามา ของสถาบันดังกล่าวส่งผลผู้คนในพื้นที่ทั้งชุมชนท่าม่วงและใกล้เคียงสามารถเข้าถึงการศึกษาใน ระดับอุดมศึกษาได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จากการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐส่วนกลาง ในการพัฒนาสถาบันและพื้นที่ใกล้เคียงยังนำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนท่าม่วงและใกล้เคียงซึ่งได้กลายเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของสถาบันแห่งนี้ การที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวอยู่ห่างจากชุมชนท่าม่วงเพียงเพียงประมาณสี่กิโลเมตรครึ่งทำให้ชาวบ้าน สามารถเดินทางไปทำงาน เช่น พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ลูกจ้าง ร้านค้าต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก และเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวท่าม่วงมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก มากยิ่งขึ้น

พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยมหาวิทยามหาสารคาม (มมส.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของ “อักษรธรรม” และ “อักษรไทน้อย” ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนท่าม่วงที่โดดเด่น มีนักวิจัยของ มมส. ได้ลงพื้นที่เพื่อ เก็บรวบรวมข้อมูลร่วมกับชาวบ้าน พร้อมทั้งจัดทำการเก็บรวบรวมอักษรธรรมและอักษรไทยน้อย่างเป็นระบบร่วมกับชุมชนจนกระทั่งการดำเนินการเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2555 ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ลงพื้นที่วิจัยที่ชุมชนท่าม่วง อาจารย์ฉลาด ไชยสิงห์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านท่าม่วงก็ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตร ท้องถิ่นโดยการนำภาษาไทน้อยเข้าไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนในโรงเรียนบ้านท่าม่วง การอนุรักษ์และสืบสานอักษรธรรมและอักษรไทน้อยในชุมชนโดย มมส. ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลดทอนความเชื่อเรื่องบทบาทชายเป็นใหญ่ซึ่งฝังรากลึกในชุมชนท่าม่วงและชุมชนอื่น ๆ ลง เนื่องมาจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาผู้หญิงไม่สามารถอุปสมบทได้เหมือนผู้ชาย จึงทำให้ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาซึ่งในอดีตผู้ชายมักได้รับการศึกษาผ่านการบวชเป็นสามเณรหรือพระสงฆ์เพื่อศึกษาเล่าเรียน ความเชื่อในบทบาทชายเป็นใหญ่ยังส่งผลให้ในอดีตส่งผลให้ผู้หญิงไม่สามารถจับใบลานอันเป็นแหล่งรวบรวมและบันทึกองค์ความรู้ผ่านการใช้ภาษาธรรมและภาษาไทน้อยได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเข้ามาดำเนินการอนุรักษ์อักษรธรรมและอักษรไทน้อยของสถาบันอุดมศึกษา 27 ซึ่งมีนักวิจัยผู้หญิงเข้ามาร่วมด้วยนั้น ทำให้ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงห้ามจับใบลานเริ่มลดน้อยลง ความยืดหยุ่นของความเชื่อดังกล่าวนำไปสู่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์อักษร ธรรมและอักษรไทน้อยในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2561 บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถีประจำจังหวัดร้อยเอ็ด (โอทอปจังหวัดร้อยเอ็ด, 2564) ส่งผลให้หมู่บ้านได้รับการสนับสนุนงบประมาณในส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณที่ใช้สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จนทำให้ชาวบ้านซึ่งแต่เดิมได้ผลิตสินค้าชุมชนขายอยู่แล้วมีช่องทางในการค้าขายอันเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 หรือ COVID-19) ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ได้ส่งกระทบต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนท่าม่วง ทำให้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนหรือมาซื้อสินค้าโอทอป สินค้าส่วนใหญ่จึงต้องขายผ่าน ช่องทางออนไลน์ การสั่งซื้อจากลูกค้าประจำ หรือการนำสินค้าไปจำหน่ายในงานต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาคภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง ด้วยเหตุนี้ ทุนวัฒนธรรมของชุมชนจึงยังไม่ได้รับการต่อยอดเท่าที่ควร

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ 

พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนท่าม่วงเป็นที่ราบและบางส่วนเป็นที่โนน (เนิน) บริเวณที่ติดแม่น้ำชีเป็นที่ราบซึ่งมักถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ลักษณะสำคัญคือเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง “แม่น้ำชี” นอกจากนี้ยังมีสภาพพื้นผิวดินเป็นในลักษณะของดินร่วนปนทรายและบางส่วนเป็น “ดินทาม” (ดินดำ) ริมน้ำ ด้วยลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว เกษตรกรในพื้นที่จึงสามารถทำนาได้ปีละสองครั้ง อีกทั้งยังมี “ป่าดงหัน” ซึ่งเป็น ป่าชุมชนที่ชาวบ้านในชุมชนท่าม่วงและชุมชนโดยรอบใช้ประโยชน์ร่วมกัน

สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

สถานที่ที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชุมชนท่าม่วง คือ พื้นที่วัดภายในชุมชน ได้แก่ วัดม่วง วัดเหนือ และวัดป่าสักดาราม เนื่องจากพื้นที่วัดถือเป็นศูนย์รวมทางจิตใจที่สำคัญของชุมชนท่าม่วง ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมต่าง ๆ ของทั้งภายในและภายนอกชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดป่าสักดาราม พื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญของชุมชน เช่น ประเพณีนมัสการพระธาตุพนมจำลอง อันเป็นประเพณีที่สำคัญที่สามารถสร้างจุดเด่นให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี จากการจำลององค์พระธาตุพนมจากจังหวัดนครพนมไว้ในบริเวณวัด เมื่อถึงช่วงเวลาในการดำเนินกิจกรรมจะมีทั้งผู้คนในชุมชน ชุมชนใกล้เคียง นักท่องเที่ยว และหน่วยงานเข้ามายังพื้นที่เพื่อนมัสการพระธาตุพนมจำลองเป็นจำนวนมากทำให้ในช่วงกิจกรรมจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายสินค้าบริเวณโดยรอบวัดด้วยเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่วัดป่าสักดารามในช่วงบุญประเพณีเป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้อีกด้วย

ทรัพยากรทางธรรมชาติ 

  • แม่น้ำชี แม่น้ำชีเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่สุดของชุมชนท่าม่วงใช้สำหรับการเพาะปลูกและการประมง รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านด้วย ในอดีตแม่น้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญทั้งภายในชุมชนและนอกชุมชน รวมทั้งเคยเป็นที่ฝึกซ้อมของฝีพายเรือยาวประจำชุมชน จากการที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อย่างแม่น้ำชี ทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกข้าวได้ปีละสองครั้ง ถึงแม้ว่าแม่น้ำชีจะทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนท่าม่วงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่แม่น้ำชีก็ส่งผลกระทบในเชิงลบกับคนในชุมชนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนซึ่งแม่น้ำมักมีปริมาณน้ำมากจนเอ่อล้นท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในชุมชนท่าม่วงและบริเวณใกล้เคียง ปัญหาน้ำท่วมดังกล่าวเกิดจากการที่ชุมชนตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำชี
  •  ดิน ลักษณะดินในพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนท่าม่วงเป็น “ดินทาม” ซึ่งเป็นดินในพื้นที่ทามที่มีน้ำท่วมถึงตลอดทุกปี (แสวง รวยสูงเนิน, 2532) ดินในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นดินร่วนปนทรายซึ่งมีคุณสมบัติ ระบายน้ำได้ดี อุ้มน้ำน้อย เมื่อเกิดน้ำท่วม หากน้ำไม่ท่วมสูงนัก ก็สามารถระบายได้ดี อาจารย์ฉลาดได้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับดินของชุมชนท่าม่วงไว้ว่า “ดินบ้านเรามันก็จะเป็นดินทามครับ มันจะเป็นดินที่อยู่ ตรงแม่น้ำชี แต่ตอนนี้(ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูล – ผู้วิจัย) แม่น้ำชีมันท่วมขึ้นมาหมดแล้วนะ ไม่มีแล้ว มันก็จะเป็นดินร่วนปนทรายเกือบทั้งหมดครับ” (ฉลาด ไชยสิงห์, สัมภาษณ์ 27 กันยายน 2565)
  • ป่าไม้ ป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนท่าม่วง คือ ป่าดงหัน ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชนเป็นป่าของทุกหมู่บ้านในชุมชนท่าม่วงและหมู่บ้านใกล้เคียง เนื่องจากพื้นที่ป่าดงหันตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับบ้านหนองสิม บ้านดอนหาด และบ้านนากระตึบ มีพื้นที่ประมาณ 671 ไร่ ดังข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์อาจารย์ฉลาดที่ว่า “ป่าดงหันมันอยู่ทั้งเขตบ้านท่า ม่วง บ้านดอนหาด บ้านหนองสิม บ้านนากระตึบมันอยู่กึ่งกลางมันเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับแต่ละบ้านก็ ใช้ที่ตรงนี้ด้วยกัน ก็จะมีพื้นที่อยู่ประมาณ 671 ไร่” (ฉลาด ไชยสิงห์, สัมภาษณ์ 27 กันยายน 2565) ในอดีตป่าดงหันที่เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน ในปัจจุบันคนในชุมชนท่าม่วงและใกล้เคียงได้ร่วมกันดูแลรักษาและฟื้นฟูผืนแห่งนี้ด้วยการใช้ทุนวัฒนธรรมในส่วนที่เป็นความเชื่อในเรื่องผีปู่ตาเป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่ป่าชุมชนมากเกินไป นอกจากนี้ป่าดงหันยังได้รับการจัดการดูแลโดยชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐผ่านการจัดทำแผนอนุรักษ์ป่าไม้ร่วมกับชุมชน ในปัจจุบันป่าดงหันยังคงมีชาวบ้านเข้าไปเก็บหาของป่า เช่น เห็ดและผักพื้นบ้าน เพื่อนำมาประกอบอาหารและค้าขายในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้การเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอยู่ภายใต้การดูของหน่วยงานภาครัฐและการมีส่วนร่วมของชุมชนเช่นกัน (กนกวรรณ ทุมอนันต์, อดิศักดิ์ ทุมอนันต์, และฉัตรชัย ชมชารี, 2564)

พื้นที่ที่มีกิจกรรมทีมีกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

ชุมชนท่าม่วงเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญ คือ “วัดป่าสักดาราม” อันเป็นศูนย์รวมที่ร้อยเรียงผู้คนในชุมชนท่าม่วงและชุมชนใกล้เคียง รวมถึงคนนอกพื้นที่ชุมชนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามของพระ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่ผู้คนมักที่จะเข้ามาแวะเวียนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการสักการะพระธาตุพนมจำลองที่จะจัดขึ้นประมาณเดือนสาม จะมีผู้คนจากทุกพื้นที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในชุมชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับพื้นที่ในการเพิ่มรายได้จากการตั้งร้านขายสินค้าอีกด้วย

ไม่เพียงแค่พื้นที่ของวัดป่าสักดารามเพียงเท่านั้นแต่พื้นที่ของวัดเหนือ ซึ่งมีสิมโบราณตั้งอยู่ และพื้นที่ของวัดท่าม่วงซึ่งมีเรือยาวสาวมโนราห์และศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นท่าม่วง ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ทั้งผู้คนในชุมชนจะร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ที่สำคัญในการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมของชุมชนอีกด้วย 

จำนวนครัวเรือน-ครอบครัว และจำนวนประชากร

จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนของผู้วิจัยพบว่าขณะที่เดินสำรวจชุมชนชาวบ้านส่วนใหญ่ที่พบเป็นกลุ่มคนในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนในวัยหนุ่มสาวได้ไปศึกษาหรือทำงานนอกชุมชนท่าม่วงทั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและพื้นที่อื่น ๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค

ข้อมูลสถิติ ประชากรจากทะเบียนราษฎร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดย เทศบาลตำบลท่าม่วง (2564) ชี้ว่า

บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 2 มีครัวเรือนทั้งสิ้น 97 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 341 คน แบ่งเป็นเพศชาย 162 คน และเพศหญิง 179

บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 มีครัวเรือนทั้งสิ้น 150 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 579 คน แบ่งเป็นเพศชาย 283 คน และเพศหญิง 296 คน

บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 4 มีครัวเรือนทั้งสิ้น 185 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 445 คน แบ่งเป็นเพศชาย 223 คน และเพศหญิง 222 คน

และบ้านท่าใหม่ หมู่ที่ 9 มีครัวเรือนทั้งสิ้น 99 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 351 คน แบ่งเป็นเพศชาย 159 คน และเพศหญิง 192 คน

ดังนั้น ชุมชนท่าม่วงแห่งนี้เมื่อต้น พ.ศ. 2564 มีประชากรประมาณ 1,700 คน

ระบบเครือญาติ 

จากการสัมภาษณ์ระบบเครือญาติของแม่ราตรี สุทธิประภา สะท้อนให้เห็นระบบเครือญาติถึง 5 รุ่นวัยในตระกูลสุทธิประภาของแม่ราตรี โดยสมาชิกส่วนใหญ่ในเครือญาติของแม่สายตรีโดยเฉพาะในรุ่นที่ 2 เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวความดัน เบาหวาน ทั้งนี้การเสียชีวิตดังกล่าวเกิดจากความชราของร่างกาย ซึ่งโรคประจำตัวที่มีของสมาชิกในรุ่นที่ 2 ยังคงถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมมายังสมาชิกรุ่นที่ 3 ของระบบเครือญาติอยู่ และสมาชิกส่วนใหญ่ของรุ่นที่ 3 ที่เสียชีวิตเกิดจากการเสียชีวิตด้วยความชราและอาการกำเริบของโรคประจำตัว นอกจากนี้สมาชิกส่วนใหญ่ในเครือญาติยังคงเป็นสมาชิกในวัยพึ่งพิง สะท้อนให้เห็นว่าระบบเครือญาติของแม่ราตรี สุทธิประภา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าระวังโรคประจำตัวที่อาจเกิดขึ้นได้กับสมาชิก

กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนที่พูดภาษาอื่นอาศัยอยู่ในชุมชน

คนในชุมชนท่าม่วงส่วนใหญ่เป็น “ลาวเวียง” เนื่องจากบรรพบุรุษอพยพมาจากบ้านนาพัง สวนหม่อน ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในแขวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยการนำของตาสุทธิ์และยายบัปภา อย่างไรก็ตามมีบางส่วนที่บรรพบุรุษอพยพมาจากหลวงพระบาง ถึงแม้ภาษาพูดของคนที่นี่คล้ายคลึงกับภาษาพูดของคน “ลาวอีสาน” ในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ คนในชุมชนท่าม่วงก็ไม่ได้เรียกกลุ่มของตนเองว่าเป็น “คนลาว” หรือ “ลาวเวียง” แต่ใช้คำว่า “ไทน้อย” ในการเรียกกลุ่มของตนเอง ดังจะเห็นได้จากตราผลิตภัณฑ์ของ กลุ่มผ้าไหมของชุมชนท่าม่วงที่ใช้อักษรไทน้อยในการนำเสนอความเป็น “ไทน้อยท่าม่วง” รวมทั้งมีข้อความที่พิมพ์ด้วยภาษาไทยว่า “ท่าม่วง ชุมชนลุ่มน้ำชี วิถีไทน้อย” เพื่อตอกย้ำตัวตนของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ 

ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าการเรียกกลุ่มตนเองว่า “ไทน้อย” นั้นน่าจะเกิดจากการประกอบสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์โดยบนพื้นฐานของอักษรไทน้อยซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่เคลื่อนย้ายมาจากลาว ในบริบทซึ่งชุมชนได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐในเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีเมื่อประมาณสี่ปีที่ผ่านมา กระนั้นข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังนำไปสู่คำถามต่อไปว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงเหตุใดจึงมีการนำอักษรไทน้อยมาประกอบสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มทั้ง ๆ ที่ชุมชนแห่งมีเอกสารโบราณ คือ ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมจำนวนมากกว่าอักษรไทน้อยเป็นอย่างมาก

คนในชุมชนท่าม่วงไม่เพียงนิยามตนเองว่าเป็น “ไทน้อย” เท่านั้น แต่ยังเรียกเครื่องแต่งกายของพวกเขาว่า “ชุดไทน้อย” ด้วยเช่นกัน ดังทัศนะของแม่มะลิวรรณ ในวัย 58 ปี ซึ่งเป็นคนท่าม่วงแต่กำเนิด ปัจจุบันเป็นรองประธานกลุ่มทอผ้าไหมที่ว่า “ชุดที่พวกแม่ใส่อยู่ก็เป็นชุดไทน้อยนะ มันจะมีลายที่เป็นลายโบราณเป็นลายดอกแก้วเป็นลายของชุมชน ปู่ย่ายายสอนมาก็ทำ” (มะลิวรรณ ไชยยะ, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565) ข้อมูลที่ได้จากแม่มะลิวรรณข้างต้นได้รับการตอกย้ำโดยอาจารย์ฉลาด ซึ่งชี้ว่า “ชุมชนเราก็มีชุดนะครับ เป็นชุดไทน้อย เป็นกางเกงขาก๊วยสีคราม เสื้อขาวแขนยาว ผู้หญิงก็ใส่ผ้าถุงผ้าไหมมีผ้าขิดเบี่ยง มันจะมีลายประจำของตำบลท่าม่วงอยู่ครับ เป็นลายนาคเกี้ยว ก็จะใส่ช่วงเทศกาลครับ เราเอาอักษรไทน้อยเป็นตัวชูครับ” (ฉลาด ไชยสิงห์, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565)

ลาวเวียง

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของชุมชน ประกอบด้วย 

1) กองทุนหมู่บ้าน เป็นการเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างพัฒนาความคิดริเริ่มและการแก้ไขปัญหาและ เสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยรัฐบาลจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนละหนึ่งล้านบาท พร้อมเสริมสร้างและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบบริหารจัดการเงินกองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มกองทุนหมู่บ้านจะมีผู้ใหญ่บ้านของแต่ละหมู่เป็นประธาน 

2) ฌาปนกิจหมู่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการหนึ่งของกองทุนหมู่บ้านท่าม่วง ที่จัดให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและครอบครัวเป็นสมาคมที่มั่นคงให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ทำบุญร่วมกันในการสงเคราะห์ศพสมาชิกและครอบครัว 

3) กลุ่มทอเสื่อกกบ้านท่าม่วง หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 กลุ่มนี้ทำงานด้านการอนุรักษ์เสื่อกกพื้นเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนา รวมถึงการฟื้นฟูองค์ความรู้ ในการทอผ้าพื้นเมืองเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือนและเป็นผลิตภัณฑ์เสริมรายได้แก่ครัวเรือนของสมาชิก 

4) กลุ่มโรงงานผลิตน้ำดื่ม บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 2 ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2560 เนื่องจากในอดีตคนในชุมชนบ้านท่าม่วงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม ต้องสั่งซื้อจากโรงน้ำดื่มเอกชน ชาวบ้านจึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้น โดยรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นโรงงานผลิตน้ำดื่มขึ้นเพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง เป็นการสร้างงานสร้างรายได้และยังแก้ปัญหาในชุมชนให้กับสมาชิก โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากพัฒนาการอำเภอเสลภูมิ จังหวัด ร้อยเอ็ด มีการรวมหุ้นและปันผลเงินกำไรจากการขายน้ำให้กับสมาชิกทุกปี 

5) กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 มีวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกภายในกลุ่มรวมถึงชาวบ้านในชุมชน 

6) กลุ่มเพาะเห็ด บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 มีวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกภายในกลุ่มรวมถึงชาวบ้านในชุมชน

7) กลุ่มทอผ้าไหม บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 มีวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกภายในกลุ่มรวมถึงชาวบ้านในชุมชนผ่านการนำลวดลายบนผ้าคัมภีร์โบราณของชุมชนมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของชุมชน

8) กลุ่มโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตนเอง โดยในช่วงสิ้นปีจะมีการปันผลคืนกำไรให้กับสมาชิกภายในกลุ่มถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกนำข้าวเปลือกมาสีที่โรงสีข้าวชุมชน

9) กลุ่มท่าใหม่พัฒนา บ้านท่าใหม่ หมู่ที่ 9 `เป็นกลุ่มที่มีมีการจัดบริการรับเหมาจัดโต๊ะจีน อาหาร เครื่องดื่ม ในงานต่าง ๆ โดยมีแนวคิดที่ก่อตั้งกลุ่มเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มและเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ทำงานร่วมกัน

10) กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า เป็นกลุ่มที่สมาชิกจะร่วมกันเพาะเห็ดนางฟ้าสำหรับการขายทั้งในชุมชนและภายนอกชุมชน ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับสมาชิก

การรวมกลุ่มทางสังคมของชุมชน ประกอบด้วย

1) ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากทั้ง 4 หมู่บ้าน เป็นกลุ่มแกนนำด้านสุขภาพ การดูแลผู้ป่วย การป้องกันควบคุมโรคติดต่อ งานเยี่ยมบ้าน การดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สมาชิกประกอบด้วย แกนนำในชุมชน และประชาชนโดยทั่วไป ที่มีความสนใจและให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนในชุม

2) กลุ่มโอทอปนวัตวิถีเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการดูแลและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับภาครัฐ

3) ชมรมผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุประจำหมู่บ้านที่รวมตัวประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่เทศบาลตำบลท่าม่วงและสมาชิกเห็นสมควร โดยเทศบาลฯ ได้ตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นในบริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลท่าม่วงเพื่อให้ผู้สูงอายุและชาวบ้านร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การออกกำลังกาย การเล่นเครื่องดนตรีเพื่อการผ่อนคลาย การเรียนรู้การทำอาชีพ การส่งเสริมสุขภาพ การให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การสอนธรรมะ เป็นต้น

4) กลุ่มแม่บ้าน โดยมีนางอำนวย สิงห์ท้วม เป็นประธานกลุ่ม เป็นกลุ่มที่จัดขึ้นเพื่อรวบรวมสมาชิกที่จิตอาสาในการการช่วยเหลือจัดกิจกรรมและดำเนินงานต่าง ๆ ภายในชุมชน 

อาชีพและการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในชุมชน (อาชีพหลัก อาชีพเสริม)

ปัจจุบันชาวบ้านชุมชนท่าม่วงบางส่วนได้หันมาประกอบอาชีพค้าขายภายในหมู่บ้านของตัวเองหรือเดินทางไปทำงานที่อื่นหรือพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ ไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กระนั้น ระบบเศรษฐกิจของชุมชนยังพึ่งพากับเกษตรกรรม คนในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการทำนาข้าวเป็นหลัก

จากการพูดคุยกับอาจารย์ฉลาดทำให้ทราบว่าพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของคนในชุมชนแห่งนี้อยู่อีกฝั่งของ แม่น้ำชีซึ่งในแง่ของเขตการปกครองแล้วถือว่าไม่ได้อยู่ในตำบลท่าม่วง จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ทำให้ทราบว่าถึงได้ผลผลิตไม่ดีเท่ากับการทำนาดำ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเลือกทำนาหว่าน เนื่องจากขาดแรงงานหากทำนาดำพวกเขาต้องใช้แรงงานมากกว่าหรือต้องมีต้นทุนในการปลูกข้าวมากขึ้นเพราะต้องจ้างคนมาช่วยดำนา ผลผลิตข้าวที่ได้มักเก็บไว้กินภายในครัวเรือน หากเหลือจากการบริโภคจึงจะนำไปขาย อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรบางส่วนได้ตัดสินใจกลับมาทำนาดำเหมือนเดิมถึงแม้ว่าจะขาดแรงงานก็ตามเพราะผลผลิตที่ได้จากการทำนาหว่านไม่เป็นไปตามที่คิดและไม่สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าชาวบ้านในชุมชนท่าม่วงจะเลือกทำนาดำหรือนาหว่านก็ตาม แต่การที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ทำให้พวกเขาสามารถทำนาข้าวได้ปีละสองครั้ง ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มจากผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึงสองครั้งต่อปี นอกจากนี้ชุมชนยังมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกชุมชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมและผ้าฝ้ายลายขิดของกลุ่มทอผ้า บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 โดยการนำของทองจันทร์ บุตรพรม และมะลิวรรณ ไชยยะ พร้อมทั้งสมาชิกอีก 20 คน จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ทำให้ทราบว่ากลุ่มทอผ้าดังกล่าวเริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2538 โดยเริ่มจากการทอเพื่อใส่เอง ต่อมามีผู้ที่สนใจซื้อจึงเริ่มทอเพื่อขาย ในช่วงแรกลูกค้าส่วนใหญ่ได้แก่เครือญาติจนเริ่มทอขายเป็นกิจจะลักษณะทำให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น ผ้าทอของชุมชนท่าม่วงได้รับการประชาสัมพันธ์และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงที่บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 ได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จุดเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลให้สมาชิกของกลุ่มทอผ้าสามารถเดินทางไปขายสินค้าในงานจัดแสดงสินค้าระดับประเทศซึ่งช่วยคนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

เครือข่ายการค้าขาย/แลกเปลี่ยนภายใน-ภายนอกชุมชน

ชุมชนท่าม่วงถือเป็นชุมชนที่มีเครือข่ายภายในชุมชนที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมากจากการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มในทางเศรษฐกิจและสังคม แม้ว่าในแง่ของการบริหารจัดการ การดำเนินกิจกรรม และการผลิตสินค้าจะมีการแยกกันในแต่ละหมู่และงบประมาณส่วนใหญ่จะลงที่บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 แต่เมื่อใดก็ตามที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหรือมีหน่วยงานต้องการเข้ามาศึกษาดูงานภายในชุมชน เครือข่ายภายในชุมชนจะประสานงานกันเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับผู้มาเยือนช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ชุมชนยังมีเครือข่ายภายนอกชุมชนที่เข้มแข็งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของทุนวัฒนธรรมในชุมชนและให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

การออกไปทำงานนอกชุมชน - การเข้ามาทำงานในชุมชนของคนต่างถิ่น

สืบเนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยพึ่งพิง (เด็กและผู้สูงอายุ) สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยแรงงานจึงต้องออกไปทำงานภายนอกชุมชนไม่ว่าจะเป็นการทำงานในภาคอุตสาหกรรมใกล้เคียงและการทำงานในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด รวมทั้งการไปทำงานในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบปี

%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87_6525231a6fb8d.png

- กิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนาที่เกิดขึ้นในรอบปี

%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%872_6525231a6fc44.png%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%871_6525231a6fce7.png%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%873_6525231a6fd86.png

1.นายศิริพงษ์ สุทธิประภา 

- อายุ: 57 ปี

- ที่อยู่: บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

- ผู้นำชุมชน: สมาชิกสภาเทศบาลตำท่าม่วง

พ่อศิริพงษ์ สุทธิประภา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2509 เป็นคนชุมชนท่าม่วงโดยกำเนิด ชีวิตในวัยเด็กมีความผูกพันกับแม่น้ำชีเป็นอย่างมาก เนื่องจากพ่อศิริพงษ์ในวัยเด็กมักไปเล่นน้ำชีกับเพื่อนในวัยเด็กอยู่เป็นประจำ 

ใน พ.ศ. 2516 พ่อศิริพงษ์เริ่มเข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านท่าม่วง ซึ่งการเดินทางไปโรงเรียนในแต่ละวันจะต้องเดินด้วยเท้าเปล่าไปโรงเรียนยังไม่มีการซื้อรองเท้าใส่ไปโรงเรียน อีกทั้งขณะที่เรียนอยู่ในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านท่าม่วงนี้ทุก ๆ คนต่างมีความเชื่อที่ว่าจำเป็นจะต้องอาบแม่น้ำชีทุกครั้งก่อนที่จะไปสอบเพื่อเลื่อนชั้น เด็ก ๆ เกือบทุกคนในวันสอบเลื่อนชั้นจะตัวเปียกไปโรงเรียน ทั้งนี้เป็นการทำเพื่อความสบายใจของเด็ก ๆ ในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นว่าแม่น้ำชีถูกให้สำคัญว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตและจิตใจของผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก ระหว่างที่พ่อศิริพงษ์เรียนอยู่ระดับประถมศึกษานี้เอง

ใน พ.ศ. 2518 มีการเลิกใช้เรือโดยสารทำให้ในชุมชนใช้เรือเฉพาะภายในครัวเรือนและเครือญาติเท่านั้น แต่เมื่อ พ.ศ. 2521 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้เรือของหลายครัวเรือนชำรุดเสียหาย เรือของบางครัวเรือนสูญหาย ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวเรือเริ่มถูกลดทอนความสำคัญในฐานะยานพาหนะหลักในการเดินทางลง ท่ามกลางเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2522 พ่อศิริพงษ์ได้สำเร็จการศึกษาจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเข้าไปศึกษาต่อที่โรงเรียนธงธานี อำเภอธวัชบุรี โดยมีจักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทางไปโรงเรียน อีกทั้งในช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่พ่อศิริพงษ์ได้ใส่รองเท้าไปโรงเรียนครั้งแรก

พ่อศิริพงษ์เรียนอยู่ที่โรงเรียนธงธานีจนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2525 และตัดสินใจเข้าไปเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด สาขาช่างไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองร้อยเอ็ดทำให้พ่อศิริพงษ์จำเป็นจะต้องเช่าห้องพักรวมกันกับเพื่อน ณ ขณะนั้นค่าเช่าห้องมีราคาเพียง 300 บาทต่อเดือน ซึ่งภายหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. มาแล้วพ่อศิริพงษ์ก็กลับมาอาศัยอยู่ที่ชุมชนท่าม่วง โดยทำงานเป็นช่างก่อสร้างกับเครือญาติของตนเอง โดยทำการก่อสร้างหลักอยู่ที่วัดป่าสักดารามโดยอาศัยการทานข้าวก้นบาตรพระเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

สืบเนื่องจากความศรัทธาที่พ่อศิริพงษ์มีต่อเจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามทำให้พ่อไม่ได้คำนึงถึงค่าตอบแทนที่จะได้รับเป็นสำคัญ แต่คำนึงถึงการก่อสร้างโบสถ์และพระธาตุพนมจำลองให้แล้วเสร็จเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธศาสนารวมถึงผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างเจ้าอาวาส เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชนไว้อย่างเหนียวแน่น ต่อมา พ.ศ. 2532 พ่อศิริพงษ์ได้แต่งงานกับคนในชุมชนท่าม่วง จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2537 พ่อได้มีบุตรชายที่ 1 และ 2 ตามลำดับ 

การดำเนินชีวิตประจำของพ่อศิริพงษ์ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยวัดเป็นที่พึ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต ร่วมกับการทำการเกษตรตามฤดูกาลกว่า 23 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2548 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพ่อศิริพงษ์ โดยในปีดังกล่าวนี้เองพ่อศิริพงษ์ได้เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองท้องถิ่น จากการชักชวนของนายมิตร สุทธิประภา เครือญาติของพ่อศิริพงษ์ให้เข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นได้ 2 สมัย สมัยละ 4 ปี จากกนั้นจึงทำการลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าม่วงหนึ่งสมัย ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 7 ปี ซึ่งในปัจจุบันยังคงเป็นการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าม่วงในสมัยที่ 2 อยู่ สะท้อนให้เห็นว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของการดำเนินชีวิตประจำวันของพ่อศิริพงษ์เกิดจากเครือข่ายของเครือญาติสุทธิประภา ทำให้พ่อศิริพงษ์ได้มีโอกาสในการเข้ามาดำรงตำแหน่งการเมืองท้องถิ่นจนกระทั่งปัจจุบัน

ทุนวัฒนธรรม: ชุมชนท่าม่วงมีทุนวัฒนธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่ผ่านการสั่งสมและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณคนในชุมชนแห่งนี้ได้ใช้ทุนวัฒนธรรมดังกล่าวมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้าง รายได้ให้กับคนในชุมชน รวมทั้งใช้ในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ “คนไทน้อย” ประกอบด้วย

อักษรไทน้อยและอักษรธรรม

อักษรไทน้อยและอักษรธรรมเป็นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญสำหรับชาวท่าม่วงอักษร ทั้งสองรูปแบบนอกจากปรากฏอยู่ในผ้าผะเหวดโบราณที่จัดเก็บไว้ที่วัดป่าสักดารามแล้ว ยังปรากฏอยู่ ในใบลานจำนวน 360 ผูกที่ถูกรวบรวมและจัดเก็บไว้ที่ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ วัดท่าม่วงด้วย ใบลานเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจารด้วยอักษรธรรมถูกรวบรวมและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อ พ.ศ. 2554

ในปัจจุบันอักษรไทน้อยปรากฏอยู่เพียงไม่กี่แห่งในชุมชน อาทิ ป้ายโรงเรียนบ้านท่าม่วง วัดท่าม่วง และตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มทอผ้าไหม และในส่วนของอักษรธรรมภายในชุมชนท่าม่วงเริ่มมีบทบาทนอกพื้นที่ศาสนาซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น จากการที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ามาร่วมอนุรักษ์อักษรธรรมและอักษรไทน้อย เมื่อ พ.ศ. 2554 ส่งผลให้คนทั่วไปเข้าถึงอักษรธรรมได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีผู้เรียนรู้และสืบทอดอักษรธรรมต่อไปได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าคนทั่วไปสามารถเข้าถึงอักษรธรรมได้ง่ายขึ้นในพื้นที่ทางโลก แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของอักษรธรรมนั้นไม่ได้ลดลงไปแต่อย่างใด

ผ้าผะเหวดโบราณ ปัจจุบันผ้าผะเหวดโบราณประจำชุมชนท่าม่วงปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าสักดาราม สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 450 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งวัดป่าสักดาราม ตัวผ้ามีความกว้างหนึ่งเมตร ยาว 21 เมตร สีที่ใช้วาดภาพและเขียนอักษรธรรมและไทน้อยที่บนผ้าผะเหวดเป็นสีจากเปลือกไม้ ดังคำบอกเล่าของ เจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามที่ว่า “เขาบอกว่าเป็นสีเปลือกไม้อะไรนี่แหละที่เขามาวิจัยกัน ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ก็มาวิจัย มาถ่ายรูปไป มันจะอยู่กับชุมชนมท่าม่วงมาตลอด ยาวประมาณหนึ่งคูณยี่สิบเอ็ดเมตร” (สมสิทธิ์ รักขิตสีโร, สัมภาษณ์ 15 สิงหาคม 2565) ผ้าผะเหวดของชุมชนท่าม่วงแตกต่างจากผ้าผะเหวดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออื่น ๆ กล่าวคือ ผ้าผะเหวดโดยทั่วไปมักเป็นเรื่องราวที่วาด ตามลำดับกัณฑ์ในเวสสันดรชาดกแต่ผ้าผะเหวดของชุมชนท่าม่วงเป็นการเรียงตามการดำเนินชีวิต

ผ้าผะเหวดโบราณผืนนี้เป็นทุนวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนท่าม่วงได้รับการซ่อมแซมมาแล้วหนึ่งครั้ง ระหว่างการดำเนินการซ่อมแซมผ้าผะเหวดโบราณนั้นสร้างความไม่สบายใจให้กับทั้งเจ้าอาวาสและชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผ้าผะเหวดโบราณเป็น “มูลมัง” หรือมรดกที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษจะต้องถูกนำออกไปในซ่อมแซมในพื้นที่อื่นเป็นระยะเวลานาน แต่เมื่อผ้าผะเหวดได้กลับมาสู่ชุมชนแล้วทั้งเจ้าอาวาสและชาวบ้านต่างพึงพอใจกับผ้าผะเหวดที่ได้รับการซ่อมแซมเป็นอย่างมาก คนในชุมชนสบายใจเมื่อผ้าผะเหวดโบราณได้กลับมาอยู่ในมือของชุมชนท่าม่วงอีกครั้ง

ผ้า การทอผ้าเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญของผู้หญิงท่าม่วงในอดีตผู้หญิงในชุมชนท่าม่วงสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษ ดังคำบอกเล่าของแม่มะลิวรรณ ไชยยะ รองประธาน กลุ่มทอผ้าไหม บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 ที่ว่า “คนแต่ก่อนก็น่าจะทอเป็นหมดนะคะ เพราะแม่ที่บ้านทอผ้าเก่งมาก” (มะลิวรรณ ไชยยะ, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565) ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้าจะลดน้อยลง แต่คนในชุมชนยังคงพยายามที่จะอนุรักษ์การทอผ้าทั้งผ้าไหมมัดหมี่และผ้าฝ้ายซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน ประกอบด้วย

ผ้าไหมมัดหมี่

ในอดีตผู้หญิงในชุมชนท่าม่วงทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้สำหรับใช้ในครัวเรือนลวดลายที่มีความโดดเด่นที่สุดของชุมชน คือ ลายนาคเกี้ยว ซึ่งเป็นลวดลายโบราณที่ได้มาจากการเลียนแบบลวดลายบนผ้าห่อพระคัมภีร์ใบลานของชุมชนจนกลายเป็นลวดลายผ้าที่นิยมทอลงบนผ้าไหม นอกจากนี้ชุมชนท่าม่วงยังมีลวดลายโบราณอื่น ๆ ซึ่งชาวบ้านนิยมทอ เช่น ลายดอกแก้วและลายเต่าน้อย ทั้งนี้เส้นไหมส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตผ้าไหมมัดหมี่ของชุมชนถูกย้อมด้วยสีธรรมชาติเพื่อให้ได้ผ้าไหมที่มีความสวยงาม ดังข้อมูลที่ได้จากแม่มะลิวรรณที่ว่า “เป็นผ้าไหมที่พวกแม่ย้อมสีธรรมชาติค่ะ พวกแม่ฝึกย้อมสีธรรมชาติ อาจารย์ทางราชภัฏมาสอนค่ะ ถ้าไหมที่เราเลี้ยงเองเส้นจะไม่เรียบมีขี้ติด เส้นพุ่งจะเอาไหมที่บ้าน มีขี้ไหมมันทำให้ผ้าเราดูมีเสน่ห์ เนื้อมันจะนุ่มนวลกว่าเส้นพุ่งเป็นของหม่อน ไหม อีกเส้นเป็นไหมเราเอง” (มะลิวรรณ ไชยยะ, สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565) เนื่องจากผ้าไหมมัดหมี่ของชุมชนมีความโดดเด่นจึงได้รับการสนับสนุนและพัฒนาต่อยอดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

ผ้าฝ้าย

ในปัจจุบันผู้หญิงของชุมชนท่าม่วงนิยมทอผ้าฝ้ายเป็นอย่างมาก โดยใช้ด้ายโทเรที่ย้อมด้วยสีเคมีเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทอผ้า สำหรับลายที่ทอนั้นส่วนใหญ่เป็นลายโบราณ นอกจากใช้ผ้าฝ้ายเป็นผืนสำหรับตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายแล้ว คนในชุมชนยังทอผ้าฝ้ายในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของคนทั้งในและนอกชุมชนด้วย เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง เป็นต้น

การแต่งกาย คนในชุมชนท่าม่วงมีภูมิหลังทางชาติพันธุ์เป็นคนลาว แต่จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่วิจัยพบว่าในปัจจุบันคนในชุมชนไม่ได้เรียกกลุ่มของตนเองว่าเป็นคนลาวแต่อย่างใด แต่กลับใช้คำว่า “ไทน้อย” ในการนำเสนอตัวตนต่อคนภายนอกชุมชน จากการที่ชาวบ้านเรียกตนเองว่าเป็นชาวไทน้อย ส่งผลให้ทุนวัฒนธรรมที่ชุมชนพยายามประกอบสร้างขึ้นถูกยึดโยงเข้ากับความเป็นไทน้อย ดังจะเห็นได้จากเครื่องแต่งกายไทน้อยที่ชาวบ้านมักสวมใส่ในยามมีงานบุญประเพณีของชุมชน ชุดไทน้อยผู้หญิงประกอบด้วยเสื้อที่ทำจากผ้าไหมสีขาวย้อมสีธรรมชาติห่มทับด้วยผ้าสไบ (ผ้าเบี่ยง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีแดงลายขิดโบราณอย่างลายเต่าน้อยและลายดอกแก้ว ส่วนผ้านุ่งนั้นเป็นผ้าไหมและไหมมัดหมี่ลายนาคเกี้ยวซึ่งถือเป็นลายโบราณของชุมชนท่าม่วงเป็นลายที่ได้มาจากการเลียนแบบลาย ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานของชุมชน สำหรับชุดไทน้อยของผู้ชายเป็นกางเกงขาก๊วยสีคราม เสื้อผ้าฝ้ายหรือไหมแขนยาวสีขาว

ในปัจจุบันคนในชุมชนได้ใช้ผ้าฝ้ายในการตัดเย็บชุดไทน้อย เนื่องจากผ้าไหมและผ้าไหมมัดหมี่นั้นมีต้นทุนในการทำค่อนข้างสูงและต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก ส่วนสีที่ใช้ย้อมผ้าในนั้นพบว่าชาวบ้านจำนวนไม่น้อยใช้สีเคมีย้อมผ้าเพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนในการผลิต ถึงแม้เวลาจะผ่านไปแต่ชุดไทน้อยยังคงสะท้อนความเป็นชุมชนท่าม่วงได้เป็นอย่างดีเห็นได้ จากเครื่องแต่งกายที่เน้นสีสดใสเนื่องจากคนในชุมชนท่าม่วงมีนิสัยรักความสนุกสนาน

พระธาตุพนมจำลอง หลวงปู่สมสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดป่าสักดารามซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบันมีความต้องการสร้างพระธาตุพนมจำลองไว้ที่วัดป่าสักดาราม เนื่องจากในอดีตชาวบ้านชุมชนท่าม่วงผู้มีจิตศรัทธาต้องการเดินทางไปสักการะพระธาตุพนมที่จังหวัดนครพนม แต่ขาดทุนทรัพย์ในการเดินทาง ทำให้หลวงปู่สมสิทธิ์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาได้เดินทางไปสักการะพระธาตุพนมตามที่หวังไว้ เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านมีความคิดที่จะจำลองพระธาตุพนมมาไว้ที่วัดป่าสักดารามเนื่องจากเป็นพระธาตุที่คนลาวทั้งใน สปป. ลาวและในภาคอีสานนับถือเพื่อให้ชาวบ้านที่ต้องการสักการะพระธาตุพนมแต่ไม่มีทุนทรัพย์ในการเดินทางสามารถสักการะพระธาตุพนมจำลองที่วัดแห่งนี้ได้ 

สิมรูปแบบล้านช้าง หลวงปู่สมสิทธิ์ยังมีความคิดที่จะสร้างสิม (อุโบสถ) ใน รูปแบบเดียวกับสิมวัดเชียงทองที่เมืองหลวงพระบางของลาวไว้ที่วัดป่าสักดารามสิมหลังนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ภายในมีภาพฝาผนังประวัติพระเจ้าสิบชาติ ภาพผะเหวดทั้ง 13 กัณฑ์ และภาพฮีต 12 คอง 14 รวมถึงประวัติการก่อตั้งชุมชนของชุมชนท่าม่วงเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้สิมรูปแบบล้านช้างหลังนี้สำหรับการเรียนรู้และสืบทอดประวัติศาสตร์ของชุมชน การสร้างสิมดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำคนในชุมชนท่าม่วงให้ระลึกถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มที่อพยพมาจากประเทศลาว

สิมโบราณ ตั้งอยู่ที่วัดเหนือบ้านท่าม่วงถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญสำหรับชาวชุมชนท่าม่วงและนักท่องเที่ยว สิมหลังนี้มีอายุเก่าแก่โดยสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งวัดเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2112 มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น กล่าวคือ เป็นสิมทึบมีบันไดสองด้านรูปทรง สี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังก่ออิฐถือปูน มีการเจาะช่องประตูหน้าต่าง ฐานรองสิมมีลักษณะเป็นฐานบัวคล้ายลวดลายบัวลูกแก้วอกไก่ที่ตวัดปลายงอนขึ้น เรียกว่า ฐานเอวขันธ์หรือแอวขันธ์ ในปัจจุบันยังมีการใช้สิมหลังนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมหรือทำวัดของพระภิกษุสงฆ์

เรือยาวสาวมโนราห์ เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งสามารถห์สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของคนในชุมชนท่าม่วงในอดีตกับแม่น้ำชีได้เป็นอย่างดี ในอดีตคนในแห่งนี้มีเรือหางยาวเกือบทุกหลังคาเรือน เนื่องจากต้องเดินทางสัญจรโดยใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก ไม่เพียงเท่านั้นชุมชนยังมีประเพณีการแข่งเรือหางยาว การเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2521 จนทำให้เรือของชาวบ้านจำนวนมากชำรุดเสียหายหรือเรือของ บางครัวเรือนก็ถูกน้ำพัดหายไป รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมทางบก ส่งผลให้การสัญจรทางเรือและประเพณีการแข่งเรือถูกยกเลิกไป หลงเหลือไว้เพียงประจักษ์พยานของวิถีชีวิตในอดีต นั่นคือ เรือยาวสาวมโนราห์ซึ่งจัดแสดงที่วัดท่าม่วงและเรือยาวอีกหนึ่งลำจัดแสดงที่เทศบาลตำบลท่าม่วง

ทุนมนุษย์: ชุมชนท่าม่วงเป็นชุมชนที่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทั้งผู้นำทางการ คือ ผู้ใหญ่บ้านพร้อมทั้งผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน และผู้นำทางจิตวิญญาณ คือ เจ้าอาวาสวัดป่าสักดาราม รวมถึงปราชญ์ชุมชนที่มีทักษะที่เชี่ยวชาญในภูมิปัญญาอันโดดเด่นของชุมชน เช่น อักษรไทน้อย การทอผ้าลายนาคเกี้ยว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชนสามารถดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นจากการนำของกลุ่มผู้นำชุมชนที่มีความสามารถ

ทุนสังคม: ชุมชนท่าม่วงเป็นชุมชนที่มีเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งทั้งภายในชุมชน ผ่านการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่ม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การพัฒนาชุมชนและขับเคลื่อนชุมชน นอกจากนี้ชุมชนท่าม่วงมีเครือข่ายระหว่างชุมชนและเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เข้มแข็ง ทำให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนทั้งในมิติสังคมผ่านการช่วยเหลือจากชุมชนรอบข้าง และในมิติทางเศรษฐกิจจากหน่วยงานที่ข้องที่นำเงินทุนมาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชุมชน เช่น พัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานเทศบาลตำบลท่าม่วง มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เป็นต้น

ทุนกายภาพ: ชุมชนท่าม่วงตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำชีจึงเป็นชุมชนที่มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง จากทุนธรรมชาติที่ชุมชนมีทำให้ชาวบ้านมีโอกาสในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น จากการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี 

ภาษาในชุมชนท่าม่วงโดยทั่วไปนั้นใช้ภาษาไทอีสานในการสื่อสารกันเป็นหลัก แต่ภาษาที่ชุมชนมองว่าเป็นภาษาที่โดดเด่น คือ ภาษาไทน้อย แต่ในปัจจุบันภาษาไทน้อยนั้นกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดการสืบทอด เนื่องจากหลักสูตรท้องถิ่นประจำโรงเรียนในชุมชนไม่มีการสอนภาษาไทน้อยเช่นในอดีต อีกทั้งตัวอักษรไทน้อยที่ปรากฎอยู่ในชุมชนก็มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น ได้แก่ ป้ายโรงเรียนบ้านท่าม่วง วัดท่าม่วง และตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มทอผ้าไหม


สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท่าม่วงและชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศอย่างรุนแรงคงหลีกหนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การแพร่ระบาด ที่มีความรุนแรงส่งผลให้ชุมชนท่าม่วงซึ่งได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีไม่สามารถจัดกิจกรรม และรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ได้ ทำให้ชุมชนขาดโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและต้องพยายามแสวงหาช่องทางอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ครัวเรือนและชุมชน นอกจากนี้ชุมชนยังคงประสบปัญหาจากการได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานที่ไม่ตรงจุด กล่าวคือ การพัฒนาจากภาครัฐส่วนกลางโดยขาดความเข้าใจบริบทของหมู่บ้าน การพัฒนาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่าง มาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ OTOP นวัตวิถีที่หน่วยงานภาครัฐนำเข้ามาในชุมชนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาครัฐพยายามแสวงหาวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนและได้เลือกภาษาไทน้อยขึ้นมาเป็นจุดเด่นของชุมชนท่าม่วง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วชุมชนแห่งนี้มีคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักษรไทน้อยอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับใบลานที่จารด้วยอักษรธรรม อีกทั้งการที่หน่วยงานของรัฐเลือกเฉพาะบ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีเพียงหมู่บ้านเดียวก่อให้เกิดปัญหาด้วยเช่นกัน

เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วคนที่อาศัยอยู่ในสี่หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนท่าม่วงมีสำนึกของการเป็นคนในชุมชนเดียวกันมาตั้งแต่อดีต ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนร่วมกัน เมื่อภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 เพียงหมู่บ้านเดียว ทำให้คนในหมู่บ้านอื่น ๆ เกิดความไม่พอใจ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3 จึงจำเป็นต้องจัดการปัญหาด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ได้มาให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ในชุมชนท่าม่วงด้วย และปัญหาส่วนที่สำคัญที่สุดคือการจัดสรรงบประมาณโครงการหรือการดำเนินกิจกรรมของภาครัฐที่มีต่อชุมชน ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานหรือเป็นการแก้ไขโดยไม่เข้าใจบริบทชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขและคนในชุมชนท่าม่วงยังต้องเผชิญกับปัญหาต่อไป


การเปลี่ยนทางด้านสังคมและวัฒนธรรมส่งผลต่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชุมชน คือ ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่ต้องเรียนหนังสือหรือบางส่วนเดินทางไปเรียนหรือทำงานในต่างพื้นที่ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นเด็กและผู้สูงอายุ ชาวบ้านจึงมีความต้องการให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งต้องการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และอนุรักษ์วัฒนธรรมอันโดดเด่นของชุมชนไว้


ถึงแม้ว่าในอดีตบรรพบุรุษของชาวท่าม่วงได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากอีกฝั่งของแม่น้ำชีเพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม โดยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่โนนซึ่งเป็นพื้นที่ของชุมชนท่าม่วงในปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันชุมชนท่าม่วงก็ยังคงตั้งอยู่ติดแม่น้ำชีเช่นเดิมทำให้ชุมชนยังคงประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ ทั้งนี้ความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละปี เนื่องจากบางปีชุมชนแห่งนี้ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนี้เนื่องจากชุมชนท่าม่วงและบริเวณใกล้เคียงตั้งอยู่ริมแม่น้ำชี หลังจากที่มีการสร้างถนนแล้ว พบว่ามีเส้นถนนบางเส้นทรุดตัวเนื่องมาจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานภาครัฐ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนกวรรณ ทุมอนันต์, อดิศักดิ์ ทุมอนันต์, และฉัตรชัย ชมชารี. (2564). การจัดการป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษา ป่าชุมชนดงหัน บ้านท่าม่วง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารพุทธปรัชญาวิวัฒน์, 5(1), 33-41.

คณะกรรมการวัดท่าม่วง. (2565). หนังสือที่ระลึกฉลองพระอุโบสถวัดท่าม่วง. ร้อยเอ็ด: ม.ป.พ.

ชนาใจ หมื่นไธสงค์ และ ศักดิ์ศรี สืบสิงห์. (2561). The Adaptation of Thai Farmers in Isaan after the End of the Mystery of the ASEAN Community. บทความนำเสนอ ใน 14th International Conference on Humanities and Social Sciences 2018 (IC-HUSO 2018) 22-23 November 2018, Faculty of Humanities and Social Sciences, Khon Kaen University, Thailand.

เทศบาลตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. (2561). รายงานวิจัยชุมชนด้วยการวิจัยเชิง ชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วน (Rapid Ethnographic Community Assessment Process: RECAP). 

เทศบาลตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. (2564). สถิติประชากรจากทะเบียนราษฎร์. สืบค้น 13 กันยายน 2565, จาก https://www.thamuang101.go.th/all-download/ 

เทศบาลตำบลท่าม่วง. (2565). แผนพัฒนาพัฒนาชุมชน ประจำปี 2565 บ้านท่าใหม่ หมู่ที่ 9 ตำบล ท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. เทศบาลตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

นราวิทย์ ดาวเรือง. (2555). กระบวนการสืบทอดอักษรโบราณอีสานและการสร้างคุณค่าโดยการมีส่วน ร่วมของชุมชนบ้านท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่, 5(2), 5-18.

พิเภก เมืองหลวง. (2555). งานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์: สัญลักษณ์ในพิธีกรรมประดิษฐ์จากคัมภีร์ใบลาน. วารสารไทยศึกษา, 8(1), 69-86.

ภานุ พิมพ์บูรณ์ และสุรพงษ์ แสงเรณู. (2564). การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นฐาน บ้านท่าม่วง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารมหาจุฬาคชสาร, 12(2), 163-172.

ศักดิ์ศรี สืบสิงห์, นิธินาถ อุดมสันต์, และ สุภิมล บุญพอก. (2561). การพัฒนารูปแบบการอนุรักษ์ป่าไม้ กรณีศึกษา : ป่าดงหันบ้านท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยใช้กระบวนการทาง สิ่งแวดล้อมศึกษา. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยธนบุรี, 12(29), 77-86.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร [องค์การมหาชน]. (ม.ป.ป.). ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นท่าม่วง. ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://db.sac.or.th/museum/

แสวง รวยสูงเนิน. (2532). ถาวรภาพของความอุดมสมบูรณ์ของดินนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. โครงการวิจัยถาวรภาพการใช้ที่ดิน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด. (2561). เทศบาลตำบลท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2561. ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://thainews.prd.go.th/th/news/

อนันตศักดิ์ พลแก้วเกษ. (2562). การศึกษาตัวบทและบทบาทของผีปู่ตา อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารวิชาการธรรมทรรศน์, 19(4), 1-11

โอทอปจังหวัดร้อยเอ็ด. (2564). ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีบ้านท่าม่วง หมู่ 3 ตำบล ท่าม่วง อำเภอ เสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, https://www.youtube.com/

ผู้ให้ข้อมูล

ฉลาด ไชยสิงห์. ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนท่าม่วง. สัมภาษณ์ 15 สิงหาคม 2565, 4 กันยายน 2565, 27 กันยายน 2565. 

เฉลิมโอพาโส. เจ้าอาวาสวัดเหนือ. สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565. 

ชนาใจ หมื่นไธสงค์. อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ร้อยเอ็ด. สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2565. 

ชาญยุทธ สอนจันทร์. อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด. สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2565. 

ฐิติรัตน์ เวทย์ศิริยานันท์. อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด. สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565, 4 กันยายน 2565, 5 กันยายน 2565. 

ถาวร ไชยยะ. ผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3. สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565.

ทองจันทร์ บุตรพรม. ประธานกลุ่มทอผ้าไหม บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3. สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565. 

นิมิต สุทธิประภา. นายกเทศมนตรีตำบลท่าม่วง. สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2565. 

พงศ์กร ประเสริฐสังข์. ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลท่าม่วง. สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565. 

เพียรฤดี ศรีเมืองแพน. นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด. สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565. 

มะลิวรรณ ไชยยะ. รองประธานกลุ่มทอผ้าไหม บ้านท่าม่วง หมู่ที่ 3. สัมภาษณ์ 4 กันยายน 2565. 

ศศิธร โคตรเพชร. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลท่าม่วง. สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2565. 

สมสิทธิ์ รักขิตสีโร. เจ้าอาวาสวัดป่าสักดาราม. สัมภาษณ์ 15 สิงหาคม 2565, 3 กันยายน 2565. 

สำเลิง สุทธิประภา. นักพัฒนาชุมชนเทศบาลตำบลท่าม่วง. สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2565. 

อนันตศักดิ์ พลแก้วเกษ. อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด. สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2565.