ชุมชนวัดบ้านฆ้องมีจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชุมชน สะท้อนความเป็นมาของชาติพันธ์ลาวที่ถูกหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น
วัดบ้านฆ้องถูกเรียกขานว่าวัดฆ้องใหญ่ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นย่านที่ชาวลาวอพยพมาอาศัยอยู่กันในช่วงต้นของแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ซึ่งการบุกเบิกพื้นที่ของชาวลาวเวียงก็ทำให้ชาวลาวเวียงค้นพบกับโบสถ์ที่อยู่ในใจกลางที่รกร้าง เกิดการบูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นและขุดบ่อขังน้ำภายในเขตวัดแล้วพบกับฆ้องอันใหญ่มหึมา ทำให้ฆ้องที่พบนั้นกลายมาเป็นชื่อของชุมชนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ชุมชนวัดบ้านฆ้องมีจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชุมชน สะท้อนความเป็นมาของชาติพันธ์ลาวที่ถูกหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น
วัดบ้านฆ้องในอดีตเรียกกว่าวัดฆ้องใหญ่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตของอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยตัววัดบ้านฆ้องตั้งอยู่ในชุมชนกลุ่มลาวเวียงที่ถูกเทครัวมาจากเมืองเวียงจันทร์หรือนครหลวงเวียงจันทร์ของสปป.ลาว ในปัจจุบัน โดยเริ่มอพยพมาตั้งแต่ครั้นสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช จากการนำทัพของเจ้าพระยามหากษัตรย์ศึก (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) โดยอพยพมาอยู่ในบริเวณพื้นที่นี้ โดยในอดีตพื้นที่ใกล้เคียงเคยมีปัญหากับกลุ่มรามัญ (มอญ) ที่อยู่มาเดิม ทำให้ต้องถอยลงมาห่างจากแม่น้ำแม่กลอง 2 กิโลเมตร ภายหลังจาการถอยร่นก็มาอยู่ในเขตสามตำบล ในปัจจุบันคือบ้านฆ้อง บ้านเลือก และบ้านสิงห์
เนื่องจากอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นวัดมาก่อน หากแต่ว่าตอนที่กลุ่มชาวลาวเวียงอพยพเข้ามาพื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้เป็นวัดแล้วหลงเหลือเพียงตัวอาคาร โบสถ์ที่รกร้างไว้เท่านั้น โดยโบสถ์ได้รับการบูรณะจากพระอาจารย์มะนาวเชี่ยว ผู้บุกเบิกบูรณะวัดในพื้นที่นี้ ซึ่งระหว่างบูรณะก็ได้ขุดสระขึ้นในบริเวณวัด จากการขุดสระก็นำมาซึ่งคำว่า "ฆ้อง" ของชุมชน เพราะจากการขุดสระขังน้ำเป็นสระขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกของวัดในขณะที่ทำการขุดอยู่นั้น ปรากฏว่าได้พบฆ้องใหญ่มหึมาจมดินอยู่ใบหนึ่ง ประชาชนที่ขุดต่างก็ดีอกดีใจช่วยกันขุดเป็นการใหญ่ จนกระทั่งขุดขึ้นมาทำการเช็ดล้างและทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วก็ได้นำมาแขวนไว้ที่กิ่งต้นพิกุลใหญ่ ขนาดเท่าวงล้อเกวียนสมัยโบราณเนื้อคล้ายทองสัมฤทธิ์ พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว และ ประชาชนจึงได้ตั้งชื่อวัดร้างนี้ว่าวัดบ้านฆ้อง เป็นมงคลนามมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันตัวฆ้องที่ค้นพบก็ยังคงอยู่ภายในวัด และวัดบ้านฆ้องยังทำหน้าที่เป็นศาสนาสถานที่สำคัญของชุมชนระแวงบ้านฆ้องที่เป็นชุมชนลาวเวียง นอกจากนี้จากการที่กลุ่มชาวลาวเวียงได้อพยพไปในอำเภออื่น เช่น บ้านโป่งก็ทำให้ได้เกิดการสร้างชุมชนและวัดใหม่ในย่านชุมชนของตนเอง โดยใช้ชื่อว่าวัดบ้านฆ้องน้อยตามชื่อวัดบ้านฆ้องที่โพธาราม จังหวัดราชบุรี
ลักษณะภูมิศาสตร์ของบ้านฆ้องพื้นที่โดยรวมของชุมชนบ้านฆ้อง ตั้งอยู่บนที่ราบสูงน้ำไม่ท่วมถึง โดยห่างจากแม่น้ำแม่กลองโดยประมาณ 2 กิโลเมตร จากการที่พื้นที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ดี ส่งผลให้ในย่านชุมชนบ้านฆ้องมีแต่ย่านชุมชนเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรจากการขยายตัวของถนน ทำให้ชุมชนนี้ได้กลายมาเป็นชุมชนเมืองโดยเฉพาะในบริเวณที่ใกล้กลับถนนเพชรเกษมฝั่งเข้ากรุงเทพมหานคร อีกทั้งฝั่งนั้นก็ยังใกล้กับตัวอำเภอของโพธาราม
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบ้านเลือก
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบ้านสิงห์
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลวัดแก้ว
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลคลองตาคต
ในห่วงเวลาก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ชุมชนแห่งนี้ได้โอบรับกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนลงมาจากเวียงจันทร์ ซึ่งการเข้ามาของชาวเวียงจันทร์มีอยู่ 2 ประเภท คือ หนึ่ง ต้องอยู่ภายใต้สังกัดมูลนายแก่นายกองที่กำชัยในครั้งนั้น หรืออีกกลุ่มก็สามารถอยู่ได้อย่างอิสระตามพื้นที่ราชสำนักได้กำหนดไว้ ซึ่งก็คือบริเวณพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี
ในปัจจุบัน ชุมชนบ้านฆ้องก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่มาจากการอพยพเทครัวลงมา โดยบริเวณแรกที่อาศัยอยู่เป็นบริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งก็เกิดข้อพิพาทในการทำมาหากินระหว่างชาวลาวและรามัญ ทำให้เกิดการตกลงใหม่ที่ให้คนลาวขยับถอยห่างจากแม่น้ำแม่กลอง 2 กิโลเมตร โดยประมาณ ในบริเวณตำบลบ้านเลือก บ้านฆ้อง และบ้านสิงห์ ส่วนชาวรามัญหรือมอญอาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำ โดยชุมชนทั้งสองอาศัยอยู่ในพื้นที่ตนเองอย่างสงบสุข โดยในพื้นที่ตำบลบ้านฆ้องมีประชากรทั้งสิ้น 8,600 คน โดยประมาณ และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 3,708 ครัวเรือน ข้อมูลในปี 2566
ลาวเวียงกลุ่มที่นอนนุ่นปวีณา โดยป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อยในชุมชนที่มาจากเดิมเคยทำงานเป็นฝ่ายการตลาดให้กลุ่มที่นอนนุ่นปวีณา โดยไปออกขายตามงานต่าง ๆ รวมทั้งไปงาน OTOP ที่เมืองทองธานีด้วย ซึ่งได้ไปติดต่อกันถึง 5 ปี และจากการที่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและทราบความต้องการของลูกค้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะตั้งกลุ่มเพื่อทำการผลิตเอง ทำการตลาดเพื่อขายด้วยตนเอง
โดยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจร่วมกับเครือญาติประมาณ 10 คน ในช่วงเริ่มต้นของการประกอบกิจการจะขายตามตลาดนัด ประมาณ 1-2 ปี จากนั้นจึงได้จดทะเบียนเป็นกลุ่ม OTOP โดยใช้วัตถุดิบภายในชุมชนเพราะว่าชุมชนโพธารามเป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาส่งออกรายต้น ๆ ของประเทศ ทำให้การหาวัตถุดิบไม่ยุ่งยาก โดยกลุ่มที่นอนนุ่นปวีณาเป็นการรวมทุนแบบวิสาหกิจชุมชน
ประเพณีสารทลาว จัดขึ้นในเดือนสิบกลางเดือน เหตุที่ทำในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี เนื่องจากชาวลาวเวียงจันทน์มีความเชื่อว่าในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่ดวงวิญญาณถูก ปลดปล่อยจากขุมนรกหรือสวรรค์ ให้มารับส่วนบุญจากลูกหลาน ประเพณีสารทลาวมีมาอย่างยาวนาน มี การทำขนมกระยาสารท อาหาร ข้าว และผลไม้แล้วนำไปใส่ใบตองแล้วนำไปทำบุญที่วัดตอน 11 นาฬิกา ในช่วงเช้ามีการทำบุญใส่บาตรเมื่อพระฉันท์เพลชาวบ้านก็จะนำข้าวที่ห่อมาจากบ้านลงไปแก้ที่ธาตุกระดูกที่ บรรจุกระดูกบรรพบุรุษหรือนำโกศที่เก็บอัฐิอยู่บ้านมาที่วัดเพื่อทำพิธีตามประเพณี เพื่อส่งข้าวปลาอาหารให้กับ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีการบังสุกุลให้กับปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษที่เสียชีวิต เมื่อแก้ห่อข้าวเสร็จก็จะมี การกรวดน้ำ ในขณะเดียวกันก็จะห่อใบตองขนาดเล็กตามจำนวนที่นาของตนเองแล้วนำไปให้พระทำพิธี พอเสร็จพิธีก็นำใบตองไปไว้ตามที่นาของตนและบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง แม่นาธรณี เพื่อขอให้ข้าวงอกงาม ตามที่หวัง แต่ปัจจุบันมีการนำอาหารใส่ถาดหรือปิ่นโตแทนการห่อใบตองและไม่ต้องรอทำพิธีอยู่ที่วัด จนถึงเวลา 11 นาฬิกา เมื่อถึงเวลาทำพิธีแก้ห่อข้าวลูกหลานก็จะมารวมตัวกันที่บริเวณธาตุเพื่อทำพิธี พิธีแก้ห่อข้าว ถือเป็นวันรวมญาติของชาวลาวเวียงจันทน์ เนื่องจากลูกหลานญาติพี่น้องจะมารวมกัน เพื่อทำพิธีแก้ห่อข้าว
พิธีบุญเบิกบ้าน จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปีทำพิธีที่บริเวณศาลเจ้านาย และมีการปั้นหุ่นทำจากดินเหนียวหรือดินน้ำมันตามจำนวนสมาชิกในแต่ละบ้านและสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัว ผู้หญิงจะมีการนุ่งผ้าใส่เสื้อ มีการนำเศษผ้ามาทำเป็นสไบหรือผ้าแพร เมื่อปั้นครบตามจำนวนสมาชิกในบ้านแล้วก็จะนำไปใส่ในกระทง กาบกล้วยรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ภายในกระทงกาบกล้วยประกอบไปด้วย ธูป ดอกไม้ ข้าวสาร พริกแห้ง หอม และเงินตามธรรมเนียม (ซึ่งคล้ายคลึงกับการเซ่นไหว้ ) นำไปไว้รวมกันที่บริเวณศาลเจ้านายตอน 10 นาฬิกา หลังนั้นจะมีคนทรงมารำถวายและประกอบพิธีบุญเบิกบ้านทำเฉพาะหมู่บ้านลาว หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 10 ซึ่งพิธีเบิกบ้านเปรียบเสมือนการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาให้กับสมาชิกใน ครัวเรือนและหมู่บ้าน ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน
1.พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว พระอาจารย์ผู้บุกเบิกพื้นที่นี้ในช่วงที่คนในชุมชนต้องอพยพมา จากการที่รัฐให้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ และเป็นผู้ริเริ่มในการบูรณะวัด ซึ่งภายหลังกลายศาสนสถานที่สำคัญของชุมชนลาวเวียง และมีคำบอกเล่าว่า พระคุณเจ้ารูปนี้ มีความสามารถพิเศษทั้งสามารถรู้ภาษาสัตว์ต่าง ๆ และสามารถท่องมนต์คาถาต่าง ๆ ได้รวดเร็วเพียงชั่วปาดมะนาวขาด ทำให้มีชื่อเรียกขานท่านว่าพระอาจารย์มะนาวเชี่ยว
ทุนเศรษฐกิจ
การที่ภายในชุมชนโพธารามมีโรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ภายในชุมชน ทำให้วัสดุอุปกรณ์สามารถหาได้อย่างง่ายดายและมีต้นทุนที่ถูกกว่าที่อื่นเพราะปริมาณการใช้งานของโรงงานอุตสาหกรรมมีมาก ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตที่นอนและหมอนของชุมชนมีต้นทุนที่ถูกลงและสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่าในหลายที่ ทำให้การทำที่นอนในชุมชนนี้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก
ทุนวัฒนธรรม
ชุมชนมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แสดงออกผ่านพิธีกรรมที่ปะปนความเชื่อระหว่างผีและพุทธ อีกทั้งจิตรกรรมในศาลาการเปรียญก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนสะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนลาวเวียง
ใช้ภาษาไทยกลางในการติดต่อสื่อสารกับทางราชการ และพูดภาษาลาวสื่อสารกับผู้คนในกลุ่มเดียวกัน
การทำนา เมื่อก่อนชาวบ้านในชุมชนบ้านฆ้องทำนากันเป็นอาชีพหลัก และประกอบอาชีพเสริมอย่างอื่นนอกเหนือจากการทำนา เช่น การทอผ้า การทำที่นอน การทำไร่ทำสวน การทำนาจะเป็นการทำนาแบบ ดั้งเดิม คือใช้วัวในการไถนาพอไถนาเสร็จก็จะหว่านข้าวแล้วไถซ้ำอีกหนึ่งรอบหลังจากนั้นก็รอต้นข้าวโต และมีการถอนหญ้าที่ขึ้นตามปากข้าว พอต้นข้าวโตเต็มที่ ชาวบ้านในชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียงก็จะมาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็จะนำไปใส่เกวียนเพื่อนำกลับไปที่บ้านเมื่อถึงบ้านก็จะใช้วัวใน การนวดข้าวโดยจะผูกวัวเป็นแถวแล้วให้วัววิ่งเพื่อให้ข้าวแหลก และนำไปกองไว้ที่ลานหลังจากนั้นจะใช้คนพัดข้าวเปลือกเมื่อพัดข้าวเปลือกเสร็จแล้วนำไปเก็บที่โรงสี และเวลาที่จะสีข้าวก็จะสีด้วยกระด้งปัดข้าวแล้วนำมาใส่ครกตำเมื่อตำข้าวเสร็จก็จะนำมาร่อนเพื่อเอารำข้าวออกหลังจากนั้นก็จะได้ข้าวสารซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีโรงสีข้าวทำให้ชาวบ้านต้องใช้แรงงานคนในการสีข้าว เมื่อมีโรงสีเข้ามาชาวบ้านก็หันไปใช้บริการโรงสีข้าวแทน การสีข้าวเอง
นอกเหนือเวลาทำนาชาวบ้านก็จะประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น การทำการเกษตร การจักสาร การทอผ้า การทำที่นอนเป็นอาชีพเสริม แต่เมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านเริ่มประกอบอาชีพทำนาน้อยลงหันไป ประกอบอาชีพอื่นเป็นอาชีพหลักมากขึ้น เช่น ทำที่นอน เย็บผ้า ทำตุ๊กตา จึงทำให้ในปัจจุบันชาวบ้านบางคนขายที่นา บางคนก็มีนายหน้ามาติดต่อเพื่อทำเป็นบ้านจัดสรร หรือปล่อยที่นาให้ผู้อื่นเช่าที่ทำนานแทนตนเอง หรือไม่ก็ขุดดินตรงที่นาของตนเองเพื่อนำดินมาขายแทนการทำนา รวมถึงลูกหลานไม่ได้สนใจที่จะประกอบอาชีพทำนาหันไปทำอาชีพรับจ้าง ทำงานโรงงานเป็นส่วนใหญ่
การรักษาโรคในทางแผนปัจจุบัน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตั้งอยู่ภายในชุมชน ขณะเดียวกัน การกวาดยา เป็นวิธีการรักษาโรคแบบโบราณ เป็นแพทย์แผนโบราณชนิดหนึ่งที่ในอดีตชาวบ้านในชุมชนให้ความสำคัญมากกว่าการแพทย์สมัยใหม่ เนื่องจากการกวาดยาใช้พืชสมุนไพรที่มีอยู่ตามบ้านเรือนมารักษาโรค หรืออาการเจ็บไข้ต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินในการรักษา การกวาดยานั้นจะเริ่มจากการฝนยาใส่ฝาหม้อดิน เผาเมื่อผสมยาให้ละเอียดเข้ากันแล้วก็นำยาที่ฝนล้วงลงที่คอ และมีการเป่าคาถา ซึ่งการฝนยาจะฝนตามโรคหรืออาการของผู้ป่วย มีการผสมยาที่จะฝนต่างกัน เช่น ถ้ามีอาการท้องเสีย จะใช้เปลือกแคแล้วใส่เหล้าขาว ถ้ามีอาการไอ ใช้น้ำมะนาวกับเกลือแล้วนำมาฝนผสมกัน และการรักษาโรคด้วยความเชื่อที่สืบต่อกันมาโดย ใช้สัตว์และพืชที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ใบพลูตำผสมเหล้าทาแก้ลมพิษ น้ำมะนาวผสมดินสอพองทาแก้ฟกช้ำ ส่วนการรักษาที่ใช้สัตว์รักษาเป็นส่วนผสม เช่น จิ้งจก ตุ๊กแกย่างแก้ตานขโมยพุงโร ในอดีตการกวาดยาเป็นการรักษาที่นิยมมากโดยที่ผู้ใหญ่จะพาลูกหลานของตนไปกวาดยามากกว่าการไปหาหมอคลินิก แต่ในปัจจุบันการกวาดยาได้รับความนิยมน้อยลงจนแทบไม่พบเห็นการกวาดยาแล้ว
โรงเรียนในชุมชน มีด้วยกัน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดบ้านฆ้อง โรงเรียนวัดดีบอน และโรงเรียนวัดบ่อมะกรูด ที่อยู่ในเขตของตำบลบ้านฆ้อง แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่ไม่ห่างจากอำเภอเมืองและตัวอำเภอโพธาราม ทำให้เด็กบางส่วนไปเรียนในตัวเมืองราชบุรีหรือตัวเมืองโพธาราม
ชุมชนลาวเวียงรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงเชื้อชาติและที่มาของตนเองว่ามีที่มาจากประเทศใด แต่อาจจะคิดว่าตนเองนั้นเป็นคนเขื้อชาติไทยจากการอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ถ้าหากว่าไม่ได้เผชิญกับความต่างที่โลกภายนอกได้แบ่งวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมพื้นถิ่น อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ยังคงหลงเหลือภายในชุมชนโดยคนเฒ่าคนแก่ภายในชุมชนก็ยังมีหลายกลุ่มที่ยังพูดภาษาลาวอยู่และบางกลุ่มที่ไม่สามารถพูดได้ แต่ก็สามารถพูดได้ หรือทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับทางพุทธศาสนาคนในชุมชนก็ยังคงปฏิบัติตามแบบฉบับอย่างเดิม ไม่ได้นำวิถีปฏิบัติของชนชาติไทยมาใช้ทั้งหมด แต่อาจจะมีการปรับให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่เพราะพื้นที่และสิ่งของต่าง ๆ อาจจะหาไม่ได้ในชุมชนนี้ ทำให้พิธีกรรมหลายอย่างต้องปรับไปบ้าง ซึ่งชาวลาวเวียงก็พยายามสร้างบรรยากาศหลายอย่างให้เสมือนในครั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้สร้างเอาไว้ และให้ลูกหลานสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมของตนเองจากการพยายามสร้างบรรยากาศและให้เด็กเข้าสู่บรรยากาศเหล่านั้น
ทวิตรา เพ็งวัน. (2566). วิถีชีวิตชุมชนลาวเวียงจันทน์ ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต). พิษณุโลก : มหาวิทยาลัยนเรศวร.
พชรพรรณ ธานี. (2544). การศึกษาวิถีชีวิตสภาพความเป็นอยู่ที่ปรากฎในภาพจิตรกรรมฝาพนังศาลาการเปรียญวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร
nanakawaii. (2558). วัดบ้านฆ้อง Wat Ban Khong, Ratchaburi. ค้นจาก https://www.bloggang.com/
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์. (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สินค้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนลาวเวียงบ้านฆ้องพัฒนา. ค้นจาก http://www.arts.su.ac.th/crafttown/