Advance search

ชุมชนโบราณตั้งอยู่ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับตำนานเรื่องเล่าชุมชนที่มีความน่าสนใจ

หมู่ที่ 1, 7, 8
บ้านเพชร
บ้านเพชร
ภูเขียว
ชัยภูมิ
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
6 ธ.ค. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
6 ธ.ค. 2023
บ้านเพชร

เดิมชุมชนบริเวณนี้เรียกว่า "บ้านเพ็กใหญ่" เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีหญ้าเพ็กเกิดขึ้นจำนวนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น "บ้านเพ็ก" และในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านอีกครั้งเป็น "บ้านเพชร" และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนโบราณตั้งอยู่ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับตำนานเรื่องเล่าชุมชนที่มีความน่าสนใจ

บ้านเพชร
หมู่ที่ 1, 7, 8
บ้านเพชร
ภูเขียว
ชัยภูมิ
36110
16.33213534770963
102.27473001256881
เทศบาลตำบลเพชรภูเขียว

เมื่อ พ.ศ. 2310 ไทยเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ประชาชนต่างก็แตกหนีไปตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่าตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2321 พระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมกำลังพลเพื่อสร้างกรุงธนบุรี เมื่อสร้างธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้วเสร็จ จึงได้จัดส่งกองทัพออกปราบก๊กต่าง ๆ เพื่อให้ไปขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี จึงให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกกองทัพไปปราบชุมนุมบริเวณเมืองพิมาย ซึ่งชุมนุมนี้มีอำนาจการปกครองภาคอีสาน จึงทำให้ประชาชนบริเวณนั้นต่างหนีกองทัพหลวงทำให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานเดิมของตน

ในปี พ.ศ. 2322 พระชุมพรคณารักษ์ซึ่งเป็นเจ้านายคนสำคัญในชุมชนนี้ได้หลบหนีจากการปราบปรามของกองทัพหลวง และได้ชักชวนญาติร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านนาถ้ำเต่า เมืองขุขันธ์มาด้วย มีดังนี้ พระชุมพรคณารักษ์ พระศรี หลวงโยด คุณย่ากึ้น คุณย่าบาง คุณย่าด้วง และ คุณย่าหล่า เมื่อเดินทางมาถึงบ้านเมืองร้างแห่งหนึ่ง จึงได้สำรวจดูพบว่ามีหลักเมือง บ่อแร่ และวัดร้าง แต่ไม่มีคนอาศัยอยู่ เห็นเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยสืบจนถึงทุกวันนี้และมีผู้คนที่อพยพจากพื้นอื่นเข้ามาอาศัยอยู่เรื่อย ๆ โดยเริ่มแรกใช้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านเพ็กใหญ่" เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยหญ้าเพ็กเป็นจำนวนมาก ต่อมาเปลี่ยนเป็น "บ้านเพ็ด" และในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงเปลี่ยนเป็น "บ้านเพชร" จนถึงปัจจุบัน

บ้านเพชร ตั้งอยู่ ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันบ้านเพชรเป็นอยู่ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลบ้านเพชรภูเขียว โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเมืองคง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกุดตูม หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองข่า หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดอน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองงูเหลือม หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูม

เนื่องจากชุมชนบ้านเพชรเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ จึงแบ่งออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านเพชร, หมู่ที่ 7 บ้านเพชรเหนือ และหมู่ที่ 8 บ้านเพชรใต้ มีจำนวนประชากร ดังนี้

  • บ้านเพชร หมู่ที่ 1 มีจำนวน 517 ครัวเรือน รวมประชากรจำนวน 1,456 คน
  • บ้านเพชรเหนือ หมู่ที่ 7 มีจำนวน 266 ครัวเรือน รวมประชากรจำนวน 871 คน
  • บ้านเพชรใต้ หมู่ที่ 8 มีจำนวน 244 ครัวเรือน รวมประชากรจำนวน 802 คน

ลาวเวียง

ชุมชนบ้านเพชร ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีวิถีชีวิตตามบริบทของผู้คนถิ่นอีสานโดยทั่วไป มีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรมตามฤดูกาล ทำนา ปลูกผัก หาปลา และมีประชากรบางส่วนมีอาชีพทอผ้าไหมสำหรับนุ่งห่มในครัวเรือน และจำหน่าย โดยชาวบ้านจะปลูกหม่อน เลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริมในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำนา ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน

ชุมชนบ้านเพชร ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อแบบชาวอีสานโดยทั่วไปที่ยึดถือประเพณีท้องถิ่นตามหลัก ฮีต 12 คอง 14 และในการจัดประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ โดยมากจะยึดปฎิทินตามหลักจันทรคติ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  • เดือนอ้าย : บุญเข้ากรรม
  • เดือนยี่ : บุญคูณลาน/เลี้ยงดอนปู่ตา (ทุกวันพุธแรกของเดือนยี่)
  • เดือนสาม : บุญข้าวจี่
  • เดือนห้า : บุญฮดสรง (ประเพณีสงกรานต์)
  • เดือนหก : ฮีตสรงแท่น (ทุกวันอังคารที่ 2 ของเดือน 6) และเลี้ยงบ้าน (ทุกวันพุธแรกของเดือน 6)
  • เดือนเจ็ด : บุญซำฮะ
  • เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
  • เดือนสิบสอง : บุญกฐิน

  • ตระกลูสำคัญของชุมชนคือ ตระกูล "ประไพเพชร" ที่สืบเชื้อสายมาจาก พระชุมพรคณารักษ์ ผู้นำญาติพี่น้องมาอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นกลุ่มแรก
  • นพดล ประไพเพชร ผู้จดบันทึกประวัติชุมชนบ้านเพชรจากคำบอกเล่าของต้นตระกูล

ทรัพยากรน้ำ

ชุมชนบ้านเพชรมีคลองน้ำสำคัญจำนวน 2 คลอง ได้แก่ คลองห้วยหมาตาย และคลองสิม โดยทั้ง 2 คลองจะไหลมาสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำบ้านเพชร หรืออ่างห้วยหมาตาย ที่มีปริมาณกักเก็บกว่า 19.657 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีหนองน้ำสำคัญที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน คือ หนองน้ำท่าเลิง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเหมาะสำหรับกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาหลายสมัย ปัจจุบันแหล่งน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวไทอีสานบ้านเพชร รวมไปถึงหมู่บ้านบริเวณโดยรอบ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ประชาชนใช้ทำประมงท้องถิ่น เพราะมีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลายชนิด

ทรัพยากรวัฒนธรรม

กลุ่มประติมากรรมวัดอิสาน

  • สิมโบราณวัดอิสาน
  • หลวงพ่อปากแดง
  • หีบพระธรรม
  • เศียรเทวรูปศิลปะขอม
  • พระพุทธรูปไม้

องค์พระแท่น

"องค์พระแท่น" เป็นวัตถุโบราณที่ชาวไทอีสานบ้านเพชรนับถือ มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยม แกะสลักด้วยหินทราย มีรูอยู่ตรงกลางสำหรับเสียบรูปเคารพ สร้างในยุคใดไม่ทราบแน่ชัด โดยองค์พระแท่นพบในบริเวณเขตพื้นที่ของบ้านเพชรจำนวน 3 องค์ อันได้แก่ บริเวณดอนแท่นนาน้อยหนองผือ หมู่ที่ 8 ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของชุมชน จำนวน 2 องค์ โดยบริเวณโดยรอบขององค์พระแท่นมีศิลา แลงกระจัดกระจายอยู่จำนวนหนึ่ง อีกทั้งมีคูน้ำล้อมรอบรูปเกือกม้า เข้าออกได้ทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ลักษณะดังกล่าวจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้เป็นศาสนาสถานในยุคขอมโบราณ ว ส่วนอีก 1 องค์ ประดิษฐานอยู่ทางทิศเหนือ ณ ดอนแท่นกุดเมืองคง หมู่ 7 โดยในตำนานกล่าวว่าเคลื่อนย้ายมาจากบริเวณดอนแท่นนาน้อยหนองผือ นอกจากนี้ยังพบองค์พระแท่นในลักษณะเดียวกันที่อยู่นอกอาณาเขตพื้นที่ชุมชนบ้านเพชร ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีบุญเรือง บ้านเมืองคง จำนวน 1 องค์ ห่างจากดอนแท่นกุดเมืองคง ไปทางทิศเหนือเพียง 2 กิโลเมตร

ใบเสมาหินสมัยทวารวดี

ใบเสมาหินทราย วัดป่าวีรญาณมงคลเป็นใบเสมาเก่าแก่ของชุมชน ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัก มีลักษณะเป็นแผ่นหิน โกลนให้โค้งมน ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่นอน เนื่องจากเป็นใบเสมาหินที่มีมาก่อนที่จะก่อตั้งบ้านเพชร ทำได้เพียงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างตั้งแต่ในสมัยทวารวดี เนื่องจากพื้นที่บริเวณแถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของผู้คนตั้งแต่สมัยทวารวดี อีกทั้งใบเสมาหินในลักษณะเดียวกันก็มีการค้นพบจำนวนมากในเขตพื้นที่อำเภอภูเขียว

ภาษาของชาวไทอีสานบ้านเพชรใช้ภาษาลาวเวียงเป็นภาษาพูด ซึ่งเป็นสำเนียงแบบเวียงจันทร์ สำเนียงดังกล่าวพบได้ทั่วไปในหลายอำเภอของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งหากมองในแง่ของประวัติศาสตร์การที่พูดสำเนียงลาวเวียงนั้น อันเนื่องมาจากมีประวัติความเป็นมาที่สัมพันธ์กับล้านช้างเวียงจันทร์ในอดีต และชุมชนบ้านเพชรใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตำนานหมาบักทอกแปดศอก บ่มืนตา

อ่างเก็บน้ำบ้านเพชร หรืออ่างห้วยหมาตาย เป็นอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของชาวบ้านเพชร เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการทำเกษตร และการประมงพื้นบ้าน ซึ่งอ่างห้วยหมาตายนั้นมีตำนานเล่าขานที่กล่าวถึงที่มาของชื่อ โดยมีการสืบทอดกันมาแบบมุขปาฐะ ซึ่งเล่าขานในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่แถบบริเวณ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะบริเวณบ้านเพชรเนื่องจากเป็นที่ตั้งอ่างเก็บน้ำห้วยหมาตาย ซึ่งในตำนานมีความเกี่ยวข้องกับ "หมาบักทอก" ซึ่งเป็นสุนัขในตำนานของคนชัยภูมิ รวมไปถึงบางอำเภอของจังหวัดขอนแก่น โดยมีปู่ด้วง เจ้าแห่งขุนเขาภูแลนคาเป็นเจ้าของ ลักษณะของหมาบักทอกมีคำติดปากของคนในพื้นที่ว่า "หมาบักแปดศอก บ่มืนตา" กล่าวคือบักทอกมีขนาดใหญ่ถึงแปดศอก ตั้งแต่ยังไม่ลืมตา หมาบักทอกเป็นสัตว์ในความเชื่อที่สำคัญในการมีบทบาทของการตั้งชื่อภูเขาสำคัญ และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในเขตจังหวัดชัยภูมิ และเขตจังหวัดขอนแก่น อาทิ ภูแลนคา ช่องสามหมอ ช่องฝาง ช่องหมาดีด เป็นต้น

ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก "คนดังจังหวัดชัยภูมิ" ได้เขียนเกี่ยวกับตำนานของอ่างเก็บน้ำห้วยหมาตาย โดยทางเพจได้อ้างอิงว่าเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่าของ นายวิจิตร ภิญโญทรัพย์ (2557: ออนไลน์) ชาวบ้านเพชร โดยเล่าว่า บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของชุมชนบ้านเพชร มีภูเขาสำคัญนามว่า "ภูตะเภา" ในสมัยก่อนบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีเรือสำเภาขนาดใหญ่ขนสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เงิน ทอง เพชรนิลจินดา มาค้าขายบริเวณนี้เป็นประจำ แต่มาในวันหนึ่งเกิดอาเพศหนักทำให้เกิดน้ำท่วมแผ่นดินจนหมด และเรือสำเภาลำนั้นก็ล่มทำให้สินค้าต่าง ๆ จมลงน้ำ จนทำให้ผู้คนต่างมหาของมีค่า ต่อมาจึงเรียกบริเวณนั้นว่าบ้านกุดงม และเพี้ยนมาเป็น "บ้านกุดยม" เมื่อน้ำท่วมดินจนหมดทำให้มีงูเหลือมตัวใหญ่นอนขดเพื่อให้ผู้ขึ้นไปอาศัยอยู่ด้านบน ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็น "บ้านหนองงูเหลือม" ในปัจจุบัน รวมไปถึงหมาบักทอกก็มีความพยายามที่จะช่วยคนโดยบักทอกได้ใช้ขา 2 ข้าง เกาะภูแลนคาเอาไว้แล้วให้ชาวบ้านอาศัยอยู่บนลำตัว แต่เนื่องด้วยกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวทำให้เกิดเทือกเขานั้นขาดเป็นช่อง ๆ เมื่อเขาขาดทำให้มีจระเข้มากินคน จนต้องใช้หมอปราบถึง 3 คน ถึงฆ่าจระเข้ตัวนั้นได้ บริเวณดังกล่าวปัจจุบันจึงเรียกว่า "ช่องสามหมอ" เมื่อน้ำแห้งหมาบักทอกก็ได้สินใจลง ฝูงหนอนก็ได้ตามกันมารุมกินซากศพของบักทอก จนเกิดเป็น "คลองหนอน" ส่วนบริเวณที่บักทอกนอนตายนั้นก็เต็มไปด้วยน้ำเหลือง น้ำหนอง และได้กลายเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ผู้คนใช้ดื่มกิน นั่นคือ "อ่างห้วยหมาตาย หรืออ่างเก็บน้ำบ้านเพชร" ส่วนเรือตะเภาที่ล่มก็ได้กลายเป็น "ภูตะเภา" ที่ตั้งเด่นตะหง่านในปัจจุบัน

กัมพล โสภาเพชร์. (2566). คติชนของชาวไทอีสานบ้านเพชร ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ. ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. (2566). รายงานข้อมูลตำบลบ้านเพชร. ระบบ 3 หมอรู้จักคุณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566, จาก https://3doctor.hss.moph.go.th/