กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนที่อพยพจากประเทศลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน และชุมชนเศรษฐกิจและการค้าเก่าแก่ที่สำคัญในอดีต
ตลาดเก้าห้องมีที่มีจากชุมชนบ้านเก้าห้อง ซึ่งมาจากคำภาษาไทยพวนว่า "เก๊าฮ้อง" ออกเสียงแบบภาษาพวน จนเป็นชื่อชุมชนบ้านเก้าห้องในปัจจุบัน
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนที่อพยพจากประเทศลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน และชุมชนเศรษฐกิจและการค้าเก่าแก่ที่สำคัญในอดีต
บ้านเก้าห้องเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนที่อพยพมาจากแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีนนับร้อยปี เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์คล้ายกับบริบทพื้นที่อยู่อาศัยเดิมที่แขวงเชียงขวาง ตลาดเก้าห้องเป็นตลาดห้องแถวไม้เก่าแก่ริมแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นราวสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ตลาดเก้าห้องมาจากชื่อบ้านเก้าห้องซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า "เก๊าฮ้อง" ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่ออกเสียงแบบภาษาไทยพวน โดยตลาดเก้าห้องเริ่มต้นจากชายชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากกรุงเทพฯ และทำการค้าขายทางเรือในแม่น้ำท่าจีนบริเวณชุมชน ต่อมาได้แต่งงานกับหลานสาวกำนันซึ่งเป็นชาวไทยพวนบ้านเก้าห้อง และเปลี่ยนจากขายในเรือมาเป็นเรือนแพ ทั้งสองช่วยกันทำมาหากินจนร่ำรวย และมีโจรมาปล้นเรือนแพทำให้ภรรยาเสียชีวิต หลังจากนั้นเขาได้แต่งงานใหม่พร้อมทั้งขยับขยายจากเรือนแพในน้ำมาเป็นตลาดบนบกบริเวณชุมชนบ้านเก้าห้อง และใช้ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อตลาดด้วย โดยตลาดแบ่งออกเป็นสามบริเวณคือ ตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง โดยตลาดล่างสร้างขึ้นก่อนในปี พ.ศ. 2447 และเป็นตลาดที่มีสภาพเศรษฐกิจการค้าที่ดีมาก เนื่องจากเป็นทางผ่านของผู้คนที่จะเดินทางไปค้าขายในเมืองสุพรรณบุรีผ่านแม่น้ำท่าจีน ตลาดเก้าห้องจึงเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต
ชุมชนตลาดเก้าห้อง บ้านเก้าห้อง หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางปลามา มีสำนักงานเทศบาลตำบลบางปลาม้าเป็นสถานที่ราชการสำคัญในบริเวณชุมชน โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลบางปลาม้า
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลบางปลาม้า
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำท่าจีน
- ทิศตะวัตตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 ตำบลบางปลาม้า
ชุมชนตลาดเก้าห้อง บ้านเก้าห้อง หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลบางปลาม้า ประชาชนมีความผูกพันกันในระบบเครือญาติชาติพันธุ์ โดยมีประชากรในชุมชนทั้งสิ้นจำนวน 159 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 211 คน หญิง 220 คน รวมประชากรทั้งสิ้นจำนวน 431 คน
ไทยพวนชุมชนตลาดเก้าห้อง ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญในอดีต ประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าขายเป็นหลัก เนื่องจากเป็นอาชีพดั้งเดิมจึงมีพื้นฐานเกี่ยวกับการค้าขาย และนอกจากนี้ประชากรส่วนหนึ่งยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น รับราชการ พนักงานบริษัทต่าง ๆ รับจ้างทั่วไป ทำงานนอกพื้นที่ เป็นต้น
ชาวไทยพวนชุมชนตลาดเก้าห้อง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ มีวิถีปฏิบัติของสังคมที่สืบต่อกันมา ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ตามแบบดั้งเดิมของชุมชนที่มีลักษณะเรียบง่าย มีวัดเป็นศูนย์กลางความเชื่อ และมีศูนย์รวมศรัทธาของคนในพื้นที่ เช่น ศาลเจ้าพ่อทุ่งแค ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ชุมชนเก้าห้องมีวิถีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน
- ประเพณีบุญกำฟ้า จันในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3
- ประเพณีสงกรานต์, บุญบั้งไฟ จะจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงประมาณวันที่ 11-13 เมษายนของทุกปี
- ประเพณีสารทลาว สารทไทย
1.นายบุญรอด เหลียงพาณิชย์ : ผู้สร้างตลาดเก้าห้อง (ตลาดล่าง)
2.นายอุดม ทู้ไพเราะห์ : เจ้าของกรรมสิทธิ์ตลาดล่าง
3.นายศุภชัย นรานนท์กิจติกุล : เจ้าของกรรมสิทธิ์ตลาดกลาง
4.นางสาวสุคนธ์ ยะมะรัต : เจ้าของกรรมสิทธิ์ตลาดบน
แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ตลาดบน ตลาดบนมีอายุเกือบร้อยปี การก่อสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนปนไทย เป็นห้องแถวไม้ประมาณ 20 ห้อง มีสองชั้น คลุมหลังคาสูง หันหน้าเข้าหากัน พระชาญสุวรรณเขตเป็นผู้ก่อสร้าง อาหารที่ขึ้นชื่อในตลาดคือ ไส้อั่ว ขนมเปี๊ยะ ขนมจันอับ ตั้งกุ๋ยกี๋ มีสิ่งศักสิทธิ์คือ ศาลเจ้าพ่อทุ่งแค
- ตลาดกลาง ตลาดกลางเดิมเป็นโรงสีของนายทองดี ต่อมาจึงสร้างเป็นห้องแถวแบบจีน ในอดีตมีท่าเรือขนส่งสินค้า และสัญจรข้ามฝาก ตลาดกลางเคยเป็นสถานที่สำหรับถ่ายภาพยนต์มาแล้วหลายเรื่อง มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ โรงสีเก่า (สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์) เครื่องพิมพ์โบราณ (โรงพิมพ์ไพโรจน์) บ้านสะสมเหล้าเก่าตระกูลหงส์ มีสิ่งศักสิทธิ์คือ ศาลเจ้าแม่ทับทิม
- ตลาดล่าง ตลาดล่างมีอายุร้อยกว่าปี เป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แบบจีนโบราณ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ หอดูโจร หรือ ป้อมปราบโจร นอกจากนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอีกคือ พิพิธภัณฑ์ตลาดเก้าห้อง ของเก่าโบราณบ้านมหาเจริญ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ชุมชนตลาดเก้าห้อง ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนไทยพวนที่พูดได้ทั้งภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยพวน โดยในการสื่อสารกันกับคนในชุมชนจะใช้ภาษาไทยพวนในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ปัจจุบันเหลือเพียงภาษาพูด เนื่องจากไม่มีการสืบทอดภาษาเขียนเอาไว้ และในการติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก การติดต่อราชการ จะใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการสื่อสาร
ป้อมปราบโจร (ตลาดล่าง)
หอดูโจร หรือ ป้อมปราบโจร เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ ก่อด้วยอิฐกว้าง ประมาณ 4 เมตร มี 5 ชั้น แต่ละชั้นมีช่องเป็นรูกลมประมาณ 3 นิ้ว ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า พระยารามราชภักดีเจ้าเมืองสุพรรณบุรีในสมัยนั้นเป็นผู้มาทำพิธีเปิด ป้อมปราบโจรสร้างไว้สำหรับสังเกตการณ์เนื่องจากมีโจรชุกชุมออกปล้นบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน เรียกว่า "เสือ" หากมีเสือมาปล้น ชาวบ้านจะขึ้นไปบนป้อมเอาปืนยิงตามช่วงวงกลมที่ทำไว้ในแต่ละชั้นเพื่อต่อสู้กับโจรที่เรียกว่าเสือ
ฮู้ใหญ่โบราณ (ตลาดบน)
ในอดีตชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนตลาดบนมีจะเจ็บไข้ล้มป่วย และเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านเชื่อกันว่าเกิดจากการที่มีเมรุวัดลานคาซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดทำให้เกิดเหตุดังกล่าว ชาวบ้านจึงให้ซินแสมาตรวจดู ซินแสจึงแนะนำให้สร้างฮู้ขึ้นตั้งไว้บนขื่อเพื่อเป็นการแก้เคล็ด และป้องกันภัยสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีไม่ให้เข้ามา หลังจากนั้นชาวบ้านจึงอยู่อย่างสงบสุขเรื่อยมา
เทศบาลตำบลบางปลาม้า. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เทศบาลตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
วีรพร รอดทัศนา. (2557). การจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มไทยพวน : กรณีศึกษาชุมชนตลาดเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิขาการจัดการท่องเที่ยว คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.