ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่มีวิถีพึ่งพิงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งใช้ในครัวเรือนและเกษตรกรรม จากลำห้วยหลายสายรวมกันเป็น ลำน้ำห้วยหยวก ไหลผ่านหมู่บ้านตลอดทั้งปี
ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่มีวิถีพึ่งพิงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งใช้ในครัวเรือนและเกษตรกรรม จากลำห้วยหลายสายรวมกันเป็น ลำน้ำห้วยหยวก ไหลผ่านหมู่บ้านตลอดทั้งปี
บ้านห้วยหยวก หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ ได้อพยพมาจากจังหวัดลำพูนเนื่องจากถูกรุกราน ประกอบกับชาวปกาเกอะญอเป็นผู้รักสงบจึงอพยพเรื่อยมา และได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยหยวกนี้ ประมาณร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งเดิมทีบ้านห้วยหยวก คือหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแก่ง เมื่อมีการเรียงลำดับหมู่บ้านใหม่ บ้านห้วยหยวกได้ถูกแบ่งเป็นหมู่ที่ 5 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันทางราชการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งผู้ใหญ่บ้าน สร้างโรงเรียน ที่พักสงฆ์ และพัฒนาสาธารณูปโภค
บ้านห้วยหยวก หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแก่ง มีระยะทางห่างจากอำเภอศรีสัชนาลัย ประมาณ 55 กิโลเมตร สภาพส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา มีลำห้วยไหลผ่านมาบรรจบกันหลายสาย คือ ห้วยหยวก ห้วยตุ้ม ห้วยตองและห้วยปูน ส่วนฤดูกาลมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนฤดูแล้งน้ำในห้วยหนองมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ
สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน
1. ห้วย ในพื้นที่บ้านห้วยหยวก มีหลายสาย ได้แก่ ห้วยตุ้ม ห้วยปูน ห้วยตอม และน้ำตกปกาเกอะญอ ซึ่งน้ำลำห้วยเหล่านี้จะไหลมาจากบนยอดเขาดินและมารวมกันเป็น "ลำน้ำห้วยหยวก" ที่ไหลผ่านหมู่บ้านห้วยหยวกตลอดทั้งปีและจะบรรจบแม่ท่าแพ และไหลสู่แม่น้ำยม ซึ่งจะมีความยาวของลำน้ำห้วยหยวกตั้งแต่ยอดเขาไปถึงแม่น้ำยมประมาณ 60 กิโลเมตร ลำน้ำดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนในหมู่บ้านใช้ในครัวเรือนและใช้ในการทำเกษตรกรรมจนถึงปัจจุบัน
2. อาศรมบ้านห้วยหยวก หรือสำนักสงฆ์พระธรรมจาริก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 ปัจจุบันอาศรมแห่งนี้มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ จำนวน 4 รูป มีเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวน 6 รูป ได้แก่
- พระถา
- พระมหานกพิราบ
- พระอาจารย์โกมิน
- พระอานนท์
- พระครูสุวรรณ
- พระแก้ว กัลณโย (ปัจจุบัน)
3. ศาลาอเนกประสงค์หรือศาลาประชาสงเคราะห์ชาวเขา หมู่บ้านห้วยหยวก มีศาลาอเนกประสงค์ สำหรับใช้ประชุม ประกอบกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ จำนวน 3 หลัง ดังนี้
- หลังที่ 1 สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2522
- หลังที่ 2 สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2527
- หลังที่ 3 สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2545
4. สถานีอนามัย/สาธารณสุขมูลฐาน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2542 ทางราชการได้มีนดยบายให้หมู่บ้านจัดสถานที่อนามัยในชุมชนให้กับประชาชน จึงจัดตั้งสาธารณสุขมูลฐานขึ้น โดยให้ อสม. ในพื้นที่สับเปลี่ยนกันเข้าเวรบริการยาสามัญประจำบ้าน ปัจจุบัน สาธารณสุขมูลฐานที่บ้านห้วยหยวกชำรุดทรุดโทรม อยู่ระหว่างการหางบบำรุงซ่อมแซม จึงได้ย้ายสถานที่ทำงานมาอยู่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแทนไปก่อน
5. ต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านมักใช้สถานที่ที่มีต้นไม้ใหญ่นี้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือ ต้นฉำฉา ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เช่น พิธีสงเคราะห์บ้าน เพื่อปัดรังควานสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน ซึ่งต้นฉำฉานี้อยู่บริเวณด้านหลังศาลาอเนกประสงค์ในหมู่บ้าน
6. โรงเรียนบ้านห้วยหยวก เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนบ้านห้วยหยวก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โรงเรียนสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2515 โดยการสนับสนุนจากกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ซึ่งมีพลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นผู้อำนวยการ ในขณะนั้นได้มี นายสุรชัย และนางกุลหนิง แซ่ด่าน (พิพัฒน์ศิริศักดิ์) สองสามีภรรยาอาสาสมัครของมูลนิธิโกมลคีมทอง โดยทางราชการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยครูและได้เปิดสอนหลักสูตรพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์
ชุมชนบ้านห้วยหยวก มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 96 ครัวเรือน ประชากรรวม 359 คน แยกเป็นชาย 181 คน หญิง 177 คน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 33 คน แยกเป็นชาย 12 คน หญิง 21 คน
ปกาเกอะญอส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเป็นเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ ส่วนมากจะเป็นสวนส้ม นาข้าว และเนื่องจากแนวเขตของหมู่บ้านอยู่ติดกับเขตป่าธรรมชาติ ทำให้มีการเก็บของป่าและล่าสัตว์ในเขตป่าธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง
ประเพณีสงกรานต์ ภาษากะเหรี่ยง เรียกว่า นี่ เถาะ ซอ แปลตรงตัวว่าวันขึ้นปีใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นดอกาสอันดีที่สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อทำบุญตักบาตรสรงน้ำพระดำหัว
เนื่องจากประเพณีมีกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหยวกได้ยึดถือเครื่องประกอบพิธีกรรมตามแบบล้านนาที่เรียกวันนี้ว่า วันสังขารล่อง วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนาว์ วันที่ 15 เมษายน เป็น วันพญาวัน และวันที่ 16 เมษายน เรียกว่า วันปากปี ดังนั้นเครื่องประกอบพิธีจึงแตกต่างกันไป โดยเฉพาะวันที่ 15 เมษายน หรือวันพญาวัน ก็จะมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน ช่อ และตุง น้ำขมิ้นส้มป่อย ผ้าใหม่ ห่อหมาก ห่อพลู เทียนชะตา
ส่วนวันที่ 16 เมษายน เรียกว่า วันปากปี มีการสงเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจเลื่อนวันแต่ต้องให้เลยวันพญาวันไปก่อน ซึ่งถือว่าได้เข้าสู่ปีใหม่แล้ว จะมีสะตวง พระเคราะห์ เสื้อผ้า ดอกไม้ ธูปเทียน ขนม ผลไม้ หมาก เมี่ยง บุหรี่ และอื่น ๆ ตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น
กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย. (2559). สรุปผลการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ประจำปี 2559. สุโขทัย : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย
บ้านห้วยหยวก-สุโขทัย. (2562). เดินขบวนงานลอยกระทงจังหวัดสุโขทัย. Facebook. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/