Advance search

ชุมชนเก่าแก่บริเวณเมืองเก่าจังหวัดตรัง พื้นที่เศรษฐกิจการค้าที่สำคัญในอดีต แหล่งศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่หลากหลากหลายและพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้

สำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง เลขที่ 175 ถนนตรังคภูมิ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
ตลาดใต้ (กันตัง)
กันตัง
กันตัง
ตรัง
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
16 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
16 ม.ค. 2024
ตลาดใต้ (กันตัง)


ชุมชนเก่าแก่บริเวณเมืองเก่าจังหวัดตรัง พื้นที่เศรษฐกิจการค้าที่สำคัญในอดีต แหล่งศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่หลากหลากหลายและพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้

ตลาดใต้ (กันตัง)
สำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง เลขที่ 175 ถนนตรังคภูมิ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
กันตัง
กันตัง
ตรัง
92110
7.405579803297426
99.50862076620638
เทศบาลเมืองกันตัง

ชุมชนตลาดใต้ เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อำเภอกันตังเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นเมืองท่าสำคัญของประเทศไทยในฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ที่เป็นจุดขนถ่ายสินค้าระหว่างทางน้ำกับทางบก (รถไฟ) เป็นจุดแวะพักของพ่อค้านักเดินทางที่เดินทางมาจากเมืองต่าง ๆ บางคนเลือกที่จะตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ที่เมืองท่าแห่งนี้อย่างถาวร ทำให้กันตังเป็นแหล่งรวมผู้คนจากหลากหลายพื้นที่ 

การตั้งถิ่นฐานและความเจริญของเมืองกันตังนั้น เกิดจากการย้ายเมืองจากควนธานีมาที่กันตังโดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในขณะนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เป็นเมืองการค้าและเมืองเกษตรกรรม มีการส่งเสริมให้ราษฎรจับจองพื้นที่บุกเบิกทำไร่นา จัดให้มีตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าของคนในชุมชน บุกเบิกการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าต่างชาติอย่างปีนังและประเทศทางตะวันตกต่าง ๆ มีการริเริ่มส่งเสริมการนำพันธุ์ยางพารามาให้ราษฎรทดลองปลูก ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำให้ดีขึ้นโดยการสร้างสะพานตัดถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านและเมืองใกล้เคียง มีการวางโครงการท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟที่จะมาจอดสถานีกันตังซึ่งเป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก แต่โครงการท่าเรือน้ำลึกไม่เป็นผลสำเร็จในครั้งนั้น จึงมีเพียงสะพานท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่ใช้ขนถ่ายสินค้าที่ปลายทางมีการเชื่อมกับรถไฟด้วยสะพานเหล็ก ด้วยการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้เมืองกันตังในสมัยนั้น จึงถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองท่าเมืองทอง”

ชุมชนตลาดใต้ เป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตรัง ซึ่งห่างจากปากน้ำตรังเพียง 27 กิโลเมตร จึงเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญมาแต่โบราณ และในปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง ย้ายที่ตั้งเมืองตรังจากตำบลควนธานีมา ตั้งที่ตำบลกันตังโดยขึ้นกับมณฑลภูเก็ต พื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของเทศบาล ติดกับแม่น้ำตรังตลอดแนวเขต พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เป็นเขตที่อยู่อาศัยของชุมชน

ชุมชนตลาดใต้ เขตเทศบาลเมืองกันตัง เป็นชุมชนที่เป็นจุดขนถ่ายสินค้าระหว่างทางน้ำกับทางบก (รถไฟ) เป็นจุดแวะพักของพ่อค้านักเดินทางที่เดินทางมาจากเมืองต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีต ทำให้กันตังเป็นแหล่งรวมผู้คนจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายเชื้อชาติเข้ามาไว้ด้วยกัน เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายในชุมชน ทั้งวัฒนธรรมของชาวจีนไหหลำ จีนฮกเกี้ยน ชาวพุทธ ชาวคริสต์ และชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและเชื้อสายปากีสถาน อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน

จีน, มลายู

ชุมชนตลาดใต้ อยู่ในการปกครองของเทศบาลเมืองกันตัง ซึ่งเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ จึงอาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้คนจากหลากหลายชุมชนที่แวะเวียนเข้ามา รวมไปถึงผู้คนอีกหลากหลายเชื้อชาติที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่อดีต เทศบาลเมืองกันตัง แบ่งเขตการปกครองในรูปแบบของการจัดตั้งองค์กรชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมทางการเมืองการบริหารของเทศบาลเมืองกันตัง มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในชุมชน เทศบาลเมืองกันตัง โดยกองสวัสดิการสังคม ได้จัดทำโครงการจัดอบรมส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชนเทศบาล เช่น กลุ่มทำขนม กลุ่มทำน้ำยาสมุนไพร ยาหม่อง น้ำยาซักผ้าเพื่อจำหน่ายภายในชุมชน และนอกจากนี้ประชาชนยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ประมง ธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ

เนื่องจากพื้นที่ของเทศบาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรังจึงมีโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตอาหารทะเล การประมง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 3 แห่ง แพปลา 3 แห่ง จึงทำให้เกิดการจ้างแรงงานเข้าสู่โรงงานเป็นจำนวนมาก ประชาชนในเขตเทศบาลจึงได้ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงาน ค้าขาย และอื่น ๆ

ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อันดับรองลงมา ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม มีวัด 1 แห่ง คือ วัดตรังคภูมิพุทธาวาส โบสถ์คริสต์ 2 แห่ง คือ คริสตจักรกันตัง และ มัสยิด 1 แห่ง คือ มัสยิดปากีสถาน ศาลเจ้า 3 แห่ง คือ ศาลเจ้าฮกเกี๊ยน ศาลเจ้าเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าสมาคมสามัคคีสภาพทางสังคม แม้จะมีการนับถือศาสนาที่แตกต่างกันก็สามารถผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมเป็นอย่างดี

ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวกันตัง คือ งานประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีที่เชิดหน้าชูตาชาวกันตังและรู้จักกันแพร่หลายในอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีงานประเพณีสงกรานต์ งานรำลึกพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง (10 เมษายนของทุกปี) ประเพณีหล่อเทียน สมโภชเทียน และถวายเทียนพรรษา งานประเพณีทำบุญเดือนสิบ งานประเพณีตักบาตรเทโวและลากเรือพระ

1.พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง

ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • ทรัพยากรน้ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ แม่น้ำตรัง สระน้ำบริเวณศาลาแปดเหลี่ยม ถนนป่าไม้
  • ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ควนตำหนักจันทน์

ทุนสถานที่

  • สถานีรถไฟกันตัง/ห้องสมุดรถไฟ
  • ท่าเทียบเรือกันตัง
  • วัดตรังคภูมิพุทธาวาส /พิพิธภัณฑ์วัดตรังคภูมิพุทธาวาส

กันตังเป็นแหล่งรวมผู้คนจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายเชื้อชาติเข้ามาไว้ด้วยกัน จึงเกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายในชุมชน ทั้งวัฒนธรรมของชาวจีนไหหลำ จีนฮกเกี้ยน ชาวพุทธ ชาวคริสต์ และชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและเชื้อสายปากีสถานอาศัยอยู่ด้วยกัน ลักษณะการใช้ภาษาจึงเป็นภาษาท้องถิ่นในแต่ละวัฒนธรรมที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย

ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอกันตัง หน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง เป็นต้นยางรุ่นแรกที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เจ้าเมืองตรังได้นำมาปลูกไว้เพื่อบุกเบิกอาชีพสวนยางพาราของชาวตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 ต้นยางพาราต้นนี้เป็นต้นหนึ่งในสวนยางพารารุ่นแรก ที่ “พระสถลสถานพิทักษ์ (คออยู่เกียด ณ ระนอง)” ผู้เป็นหลานของพระยารัษฎานุประดิษฐ์นำเมล็ดพันธุ์จากประเทศมาเลเซียมาปลูกไว้ใกล้บ้านพักที่เมืองกันตังเป็นผลสำเร็จ ว่ากันว่าต้นยางพารามีถิ่นกำเนิดจากแถบลุ่มน้ำอเมซอน ชอบอากาศชื้นฝนชุก ซึ่งเหมาะกับดินฟ้าอากาศของเมืองตรังจึงเจริญงอกงามดี ในช่วงแรก ๆ ฝรั่งเจ้าของสวนยางพาราหวงพันธุ์มากไม่ยินยอมให้นำมาปลูกง่าย ๆ สวนยางพารารุ่นแรกได้รับการสนับสนุนจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ให้ปลูกนั้นมีเนื้อที่หลายสิบไร่ อีกทั้งยังได้มีการขยายพันธุ์นำไปปลูกเป็นสวนยางรุ่นต่อมาที่ตำบลช่อง ครั้งเมืองขยายเพิ่มขึ้นก็ยิ่งมีการขยายพันธุ์ และส่งเสริมการปลูกยางพารากระจายไปทั่วภาคใต้ หลังจากสวนยางพาราเลิกร้างไปจึงเหลือต้นยางพาราไว้ต้นหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่านี่ คือ ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดทางด้านเศรษฐกิจของคนภาคใต้

พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์

พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ตั้งอยู่บริเวณถนนค่ายพิทักษ์ใกล้สำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง เดิมทีเป็นบ้านพักของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ในขณะที่ปกครองเมืองตรัง ซึ่งได้จับจองเป็นที่ดินเนินเตี้ย ๆ สำหรับสร้างบ้านพัก ตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองกันตัง โดยตัวบ้านสร้างเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้น ทาสีฟ้า ตัวบ้านโปร่ง มีระเบียงรับลมรอบบ้าน แวดล้อมไปด้วยสวนเล็ก ๆ ชาวบ้านมักเรียกบริเวณนี้ว่า “ในควน” อันเป็นเหตุให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์เรียกบ้านหลังนี้ว่า “ควนรัษฎา” ครั้งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ถึงแก่อนิจกรรม ทางโรงเรียนกันตังพิทยากรร่วมกับหน่วยราชการขอสถานที่แห่งนี้จากทายาท คือ “ดาโต๊ะเบียนเจง ณ ระนอง” จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 โดยภายในบ้านได้จัดแต่งไว้ เช่นเดียวกับครั้งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ยังอาศัยอยู่ ชั้นล่างมีหุ่นขี้ผึ้งของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ใส่เสื้อคอปิดสีขาว นุ่งผ้าม่วง ถือไม้เท้า นั่งเก้าอี้พักผ่อน ด้านข้างมีกระโถนทองเหลือง และเชี่ยนหมากแบบโบราณวางอยู่ ตลอดจนภาพถ่ายเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญของเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่นการซ้อมรบเสือป่า การเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ของรัชกาลที่ 6 และภาพถ่ายของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ในอิริยาบถต่าง ๆ ส่วนชั้นบนจัดแสดงเป็นห้องนอน ภาพต้นตระกูล ณ ระนอง และโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ

วัดตรังคภูมิพุทธาวาส

วัดตรังคภูมิพุทธาวาส เดิมชื่อ “วัดกันตัง” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดคู่เมืองกันตัง เมื่อปี พ.ศ. 2436 ในครั้งที่ย้ายเมืองจากตำบลควนธานีมากันตัง ต่อมา พ.ศ.2455 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานชื่อให้ใหม่เป็น “วัดตรังคภูมิพุทธาวาส” เมื่อคราวสร้างวัดตรังคภูมิพุทธาวาส พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังได้อัญเชิญพระพุทธรูปหินอ่อนจากพม่ามาเป็นพระประจำวัด ชาวบ้านจึงมักเรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว”ต่อมาได้มีการทาสีทองทับองค์พระ และเพิ่มพระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง แบบพระพุทธรูปชาวไทยในช่วงปี พ.ศ. 2534 มีการปฏิสังขรณ์อุโบสถขึ้นใหม่ จึงได้ขัดสีทองที่องค์พระออกให้กลับมาเป็นสีขาวของหินอ่อนดังเดิม ด้วยพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 43×64 นิ้ว พระเกตุมาลารูปเปลวเพลิง ซึ่งแตกต่างจากพระพุทธรูปหินอ่อนจากพม่าทั่วไปที่เป็นรูปมุ่นเมาลี จึงได้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถหลังเก่า และถือว่าเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2565). ตลาดใต้ ต.กันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ; จาก เว็บไซต์คลังข้อมูลชุมชน https://communityarchive.sac.or.th/community/TalatTai

เทศบาลเมืองกันตัง. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง.