Advance search

ชุมชนที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ อาศัยอนู่รวมกันในพื้นที่สภาพแวดล้อมท่ามกลางธรรมชาติ และเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้

หมู่ที่ 7
โป่งมะนาว
ห้วยขุนราม
พัฒนานิคม
ลพบุรี
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
17 ม.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
17 ม.ค. 2024
บ้านโป่งมะนาว

บริเวณนี้มีโพน (จอมปลวกหรือกองดิน) ขึ้นอยู่และมีต้นมะนาวป่าเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านโป่งมะนาว


ชุมชนที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ อาศัยอนู่รวมกันในพื้นที่สภาพแวดล้อมท่ามกลางธรรมชาติ และเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้

โป่งมะนาว
หมู่ที่ 7
ห้วยขุนราม
พัฒนานิคม
ลพบุรี
18220
14.916764579281107
101.2465006543934
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม

บ้านโป่งมะนาว ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2500 ผู้คนมีความหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ไทยยวน ลาวพวน ลาวแง้ว เป็นต้น ว่ากันว่าเมื่อแรกก่อตั้งหมู่บ้าน บริเวณนี้มีโพน (จอมปลวกหรือกองดิน) ขึ้นอยู่และมีต้นมะนาวป่าเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านโป่งมะนาว

บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงตอนกลางของประเทศไทย ส่วนที่เป็นบริเวณแนวขอบของเทือกเขาที่แบ่งภาคกลางกับภาคอีสานออกจากกัน มีสภาพเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาและภูเขา ดินมีลักษณะดินร่วนปนทราย มีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น เนื่องจากรับอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ 

บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาสัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยมีประชากรจำนวนทั้งหมด 132 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 207 คน หญิง 177 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 384 คน

ชาวบ้านเชื้อสายไทยยวน ไทยยวนเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่มีอยู่ในภาคเหนือของไทย เป็นกลุ่มชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในอดีตมีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงแสน และได้กระจายตัวไปตั้งถิ่นฐานในที่อื่นๆ คนไทยยวนที่บ้านโป่งมะนาวมาจากชาวไทยยวนที่ถูกกวาดต้อนจากเชียงแสนมาอยู่ที่จังหวัดสระบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ผู้เฒ่าเล่าว่าสมัยที่อพยพมายังโป่งมะนาวนั้นค่อนข้างยากลำบาก ต้องเดินเท้าเข้ามาในหมู่บ้านเนื่องจากโป่งมะนาวยังมีสภาพเป็นป่าดงดิบ ชาวบ้านต้องมาบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อจับจองเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน 

ชาวบ้านเชื้อสายลาวแง้ว ลาวแง้วคือกลุ่มคนที่พูดภาษาลาว มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยกว่า 100 ปีแล้ว โดยถูกกวาดต้อนมาในช่วงสงครามกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ราวปี พ.ศ. 2369-2371 มีการกวาดต้อนชาวลาวจากหัวเมืองพวน เมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และมีลาวแง้วถูกกวาดต้อนมาในคราวนั้นเป็นจำนวนมากด้วย

ไทยวน, ลาวแง้ว

บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และภายหลังส่วนใหญ่หันมาประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลัก

บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพหลักเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมทั้งพืชเศรษฐกิจและสัตว์เศรษฐกิจ วิถีชีวิตจึงผูกพันและเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งการประกอบอาชีพและอาหารการกินที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น และบ้านโป่งมะนาวเป็นชุมชนชาติพันธุ์ดังนั้นจึงมีวิถีความเชื่อ ประเพณีปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์ดังนี้

ชาวบ้านเชื้อสายไทยยวนที่บ้านโป่งมะนาวนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็มีวัฒนธรรมการนับถือผีฟ้าที่บางตระกูลนับถือกันมาตามคำบอกกล่าวของบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าผีฟ้าเป็นผีประจำตระกูลที่คอยปกปักรักษาคนในตระกูล ในทุกๆ ปีลูกหลานในตระกูลที่นับถือผีฟ้าจะมารวมตัวกันทำพิธีเลี้ยงผีฟ้าในช่วงเดือนเมษายนเพื่อบูชาและขอขมาให้ผีฟ้าดูแลปกปักรักษาคนในครอบครัวต่อไป

ชาวลาวแง้วในจังหวัดลพบุรีนับถือศาสนาพุทธเหมือนกับชาวไทยยวน และมีการนับถือผีฟ้าผีบรรพบุรุษด้วยเช่นกัน แต่จะมีช่วงระยะเวลาในการทำพิธีเลี้ยงหรือขอขมาที่ต่างกัน โดยของชาวลาวแง้วจะเริ่มทำพิธีในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ผู้คนมีความหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ไทยยวน ลาวพวน ลาวแง้ว เป็นต้น และเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญเพราะมีการขุดค้นโบราณวัตถุและโครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก โดยมีการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านโป่งมะนาวเพื่อจัดแสดงสิ่งที่ขุดค้นพบอย่างเป็นระบบ และการจัดทำโครงการคลังข้อมูลพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านโป่งมะนาวนี้ จึงเป็นกระบวนการในการชักชวนให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนเองมากยิ่งขึ้น

ชุมชนมีส่วนร่วม การจัดทำโครงการคลังข้อมูลพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านโป่งมะนาวเป็นการปลุกจิตสำนึกอีกครั้ง ให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และสร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยคนในชุมชนลงพื้นที่เก็บข้อมูลเอง ทั้งเรื่องราวพื้นที่โป่งมะนาวและข้อมูลวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านโป่งมะนาว

บ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ดังนั้นในการสื่อสารจึงมีภาษาที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งภาษาถิ่น และภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว

แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุและโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 2,800-2,900 ปี และต่อเนื่องมาถึงราว 1,800 ปีได้ภายในวัดโป่งมะนาว เป็นที่มาของการก่อตั้งชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติตำบลห้วยขุนรามขึ้นมา และมีการขยายหลุมขุดหาโบราณวัตถุเพื่อปรับปรุงให้เป็นหลุมจัดแสดงและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดโป่งมะนาวในเวลาต่อมา โครงกระดูกที่ขุดค้นพบมีทั้งโครงกระดูกของเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งเพศชายและหญิง ถูกฝังอยู่ในหลุมตื้นๆ โดยจัดวางศพให้อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว มีความจงใจทุบภาชนะดินเผาหลายใบให้แตกเพื่อนำเศษจากภาชนะดินเผามาปูรอบบริเวณที่จะฝังศพก่อนวางศพทับลงไปแล้วนำดินมากลบทับศพ และโครงกระดูกแต่ละโครงมีสิ่งของเครื่องใช้ถูกฝังอยู่ด้วย เช่น หม้อดินเผา 3 หู ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภาชนะไว้ใส่น้ำเหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือน ภาชนะดินเผาทรงพานขนาดเล็ก มีสภาพชำรุดบริเวณปากภาชนะ สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าว ใส่อาหาร และกำไลทองแดง สันนิษฐานว่าใช้สำหรับเป็นเครื่องประดับในการแต่งตัวที่ใส่แขนหรือขาในสมัยก่อน

ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของท้องถิ่นและของจังหวัดลพบุรี ภายในวัดโป่งมะนาวและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว มีทั้งพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว และการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี (Site museum) โดยมีมัคคุเทศก์และยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้บริการนำชม อีกทั้งยังมีการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นภายในพิพิธภัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นและในพื้นที่ใกล้เคียง ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม เช่น น้ำตกสวนมะเดื่อและวัดถ้ำตะเพียนทอง (ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และ อ.วังม่วง จ.สระบุรี) แหล่งโบราณคดีซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร (ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี) เป็นต้น

คลังข้อมูลชุมชน. (ม.ป.ป.). บ้านโป่งมะนาว ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanPongManaw

ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2565). บ้านโป่งมะนาว. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ; จาก https://archaeology.sac.or.th/archaeology/18

องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี.