
เป็นชุมชนริมห้วยแม่จวาง มีน้ำตก และดอยทูเล เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรป่าไม้
"บ้านแม่จวาง" เป็นหมู่บ้านที่ตั้งชื่อตามริมห้วย แม่จวาง
เป็นชุมชนริมห้วยแม่จวาง มีน้ำตก และดอยทูเล เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรป่าไม้
"หมู่บ้านแม่จวาง" ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก หมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างลำห้วย 2 สาย คือลำห้วยแม่จวางและลำห้วยกลูทอ เดิมหมู่บ้านแม่จวางมีชื่อว่า “เซ๊าะทีเชอ” เหตุผลเพราะว่า เมื่อก่อนมีต้นเซ๊าะที 1 ต้น อยู่ข้างลำห้วยกลูทอและผลของต้นเซ๊าะที นั้นมีรสชาติหวานมาก จึงเรียกว่า “บ้านเซ๊าะทีเชอ” ในตอนนั้นมีจำนวน 20 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 80 คน ซึ่งชาวบ้านได้ย้ายหมู่บ้านกันหลายครั้ง ถ้าย้ายไปตั้งถิ่นฐานใกล้ลำห้วย เมื่อใดมักนำชื่อลำห้วยมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านเสมอ และตอนนั้นชาวบ้านได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใกล้ลำห้วยแม่วอโกล จึงเรียกหมู่บ้านว่า บ้านแม่วอโกล จากนั้นจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ใกล้ลำห้วยกลูทอ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้าน “บ้านกลูทอคี”
ต่อมาเมื่อมีคนอพยพหรือย้ายมาจากถิ่นอื่นมากขึ้น จึงได้ปลูกต้นขนุนไว้เป็นจำนวนมาก จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “เป่อน้อยปู่” ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านแม่จวาง ซึ่งคำว่า “จวาง” นั้นแปลว่า ทอง อาจสอดคล้องกับชาวบ้านหมู่บ้านนี้เพราะหมู่บ้านมีน้ำตกทูเล คำว่า “ทูเล” ภาษากะเหรี่ยงนั้นถ้าแปลเป็นภาษาไทยแปลว่า “ภูเขาทอง” นั้นเอง แต่พอหลัง ๆ จึงได้เปลี่ยนมาเป็น “หมู่บ้านแม่จวาง” เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเรียกว่า “หมู่บ้านแม่จวาง” จนถึงปัจจุบัน
สภาพแวดล้อมชุมชน
ประชาชนสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นหย่อม มีการสร้างรั่วรอบบ้านเป็นบางครอบครัว มีขนบธรรมเนียมชาวเผ่ากะเหรี่ยง ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ นับถือผี มีประเพณีกินผี และมีหมอผีประจำหมู่บ้านเป็นผู้พยากรณ์ทำนายทายทักความเป็นไปของหมู่บ้าน
การคมนาคมของหมู่บ้านมีถนนอยู่ 1 สาย ถนนเป็นถนนคอนกรีต การติดต่อคมนาคมภายในของหมู่บ้านมีความสะดวก ใช้รถยนต์เป็นพาหนะ สำหรับฤดูฝนสภาพฝนตกตลอดฤดู อากาศชื้น และมีลำห้วยแม่จวาง
อาณาเขตติดต่อ
บ้านแม่จวาง หมู่ที่ 8 ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานอำเภอท่าสองยาง ประมาณ 68 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง ประมาณ 10 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านทีชอแมและตำบลแม่วะหลวง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสองยาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแม่วะหลวง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทางหลวงแผ่นดินสายแม่สอดแม่สะเรียง
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพที่ตั้งของบ้านแม่จวาง เป็นเชิงเขาและที่ราบริมห้วย ใช้น้ำในการอุปโภค บริโภคจากประปาภูเขาของหมู่บ้าน ลำห้วยแม่จวางและลำห้วยกลูคอ
ลักษณะภูมิอากาศ
- ฤดูร้อน อากาศร้อนจัด
- ฤดูฝน มีฝนตกชุกตลอดฤดูและมีปริมาณน้ำในแม่น้ำจำนวนมาก
- ฤดูหนาว อากาศหนาวจัด
ประชาชนอยู่รวมกันเป็นหย่อมบ้าน ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ มีความสนิมสนมใกล้ชิด โดยมีการทำอาชีพเกษตรเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิด มีส่วนน้อยที่มีการอพยพย้ายถิ่นไปมา คนในแต่ละหย่อมบ้านมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติ
ประชากรทั้งหมดเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง พูด อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสาร โดยอยู่กระจายไปตามหย่อมบ้านเป็นกลุ่ม จำนวน 3 หย่อมบ้าน
ชื่อหย่อมบ้าน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
บ้านแม่จวาง | 180 | 702 |
บ้านแดโค๊ะถะวา | 45 | 182 |
บ้านข่อโบทะ | 15 | 60 |
รวม | 240 | 994 |
ปกาเกอะญอ
โครงสร้างทางชุมชน
- ผู้ใหญ่บ้าน
- ผู้นำทางศาสนา
- กลุ่ม อสม.
คนในชุมชนรับประทานอาหารที่หาได้ในพื้นถิ่น เช่น ปลา เห็ด หน่อไม้ พริกและข้าวที่ปลูกจากชุมชน มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการเลี้ยงผี และวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ
ปฏิทินเศรษฐกิจ
กิจกรรม/เหตุการณ์ | ช่วงเดือน |
ทำนา/ปลูกข้าว | พฤษภาคม, มิถุนายน, กรกฏาคม |
หาหน่อไม้ | กรกฏาคม |
ปลูกพริก | พฤษภาคม |
เก็บเกี่ยว | พฤศจิกายน |
ปฏิทินวัฒนธรรม
กิจกรรม/เหตุการณ์ | ช่วงเดือน |
ประเพณีลาขุ/มัดมือ | สิงหาคม |
1.นายพะโหนะ สันติดงสกุล ปัจจุบันอายุ 55 ปี มีภรรยาชื่อ มือดา ปัจจุบันอายุ 61 ปี และมีบุตรด้วยกันจำนวน 7 คน แต่เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 5 คน
- ช่วงอายุ 10 ปี มีหน้าที่ในการดูแลน้อง ๆ ช่วยบิดามารดาทำงาน ทำสวนทำนา
- ช่วงอายุ 20 ปี มีอาชีพทำสวนทำไร่ และได้แต่งงานเมื่ออายุ 21 ปี มีบุตรด้วยกันคนแรกตอนอายุ 22 ปี ทั้งสองคนได้ช่วยกันดูแลบุตร ต่างคนต่างทำหน้าที่ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูบุตร และมีบุตรเพิ่มอีกจำนวน 6 คน ทำอาชีพเกษตรกร และเก็บหาของป่า
- ช่วงอายุ 40 ปี บุตรชายคนที่ 4 และคนที่ 5 ได้เป็นทหาร
- ช่วงอายุ 50 ปี ลูก ๆ ให้ทำงานน้อยลง ยังคงออกหาของป่าบ้างในบางเวลา
ทุนสังคม/การเมือง
โรงเรียนบ้านแม่จวาง โรงเรียนบ้านแม่จวาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ ที่ทรงเห็นว่าหมู่บ้านแม่จวาง เป็นหมู่บ้านที่มีเด็กในวัยเรียนเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2545 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดตาก ได้อนุมัติงบประมาณจากแผนงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานงบดำเนินการประถมศึกษาหมวดครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นค่าวัสดุในการก่อสร้างเป็นเงิน 48,308 บาท (สี่หมื่นแปดพันสามร้อยแปดบาทถ้วน) โดยก่อสร้างเป็นอาคารต่อเติมจากอาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้านแม่จวางขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 18 เมตร การดำเนินการก่อสร้างโดย นายกำแหง ศิริวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยางพร้อมด้วยคณะครู นักการภารโรง ราษฎรในหมู่บ้าน และทหารช่างจากกองร้อย ทหารพรานที่ 3504 ร่วมมือในการดำเนินการก่อสร้างโดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2545 และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ปัจจุบันได้เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 350 คน
ทุนกายภาพ
ดอยทูเล ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีความสูงอยู่ที่ 1,350 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในจังหวัดตาก ระยะทางเดินขึ้นสู่ยอดเขานั้น จะประมาณ 7.5 กิโลเมตร ใช้เวลามากกว่า 4-7 ชั่วโมงเลย ระหว่างทางเดินขึ้นเขาจะเจอทุ่งหญ้าสีทองและวิวทิวทัศน์ของภูเขาที่สวยงาม ชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ จะเรียกภูเขานี้ว่า ทูเลโค๊ะ หมายถึง ภูเขาสีทอง ตั้งแต่ช่วงหน้าหนาวกลางเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึง มกราคมของทุกปี ทุ่งหญ้าสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นทุ่งสีทองอร่ามอยู่ท่ามกลาง ทะเลหมอก และอากาศก็จะหนาวเย็น เป็นจุดชมวิวยอดฮิตในการกางเต็นท์นอนดูดาวและชมวิวของพระอาทิตย์ขึ้นและตกดิน เส้นทางเดินขึ้น ดอยทูเล นั้น จะเป็นที่ราบและชัน สลับไปกับการเดินขึ้นลงเขา ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนเดินทาง
น้ำตกทูเล น้ำตกดอยทูเล ถือเป็นน้ำตกอีกแห่งหนึ่งที่เป็น Unseen ของดอยทูเล ที่นี่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักของเหล่านักป่าที่มาพิชิตดอยทูเล ด้วยตัวน้ำตกที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบผาลึก การพบเจอที่นี่ต้องได้ข้อมูลจากคนพื้นที่หรือมีคนให้ข้อมูลมา และได้สอบถามข้อมูลเส้นทางอยู่ไม่ไกลจากแคมป์ดอยทูเลมากนัก เดินจากแคมป์ไม่เกิน 15 นาทีก็ถึงตัวน้ำตกแล้ว เส้นทางเข้าไปยังตัวน้ำตกค่อนข้างชันมากเลยทีเดียว เดินลัดเลาะไปตามหน้าผาของจุดตั้งแคมป์ดอยทูเล
ภาษาที่ใช้สื่อสาร คือ ภาษากะเหรี่ยงและประชากรบางส่วนใช้ภาษาไทยถิ่นในการสื่อสาร
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
nukkpidet. (2563). ลุยป่าพิชิต ดอยทูเล ชมวิวทะเลหมอก สุดอลังการ ที่เที่ยวตาก นี่เอง. สืบค้น 12 มิถุนายน 2565. จาก https://travel.trueid.net/