ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีการแสดงรำตงที่เป็นอัตลักษณ์มักใช้เป็นการแสดงต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ภายในชุมชนยังมีต้นทุเรียน 200 ปี และแหล่งน้ำสำคัญซึ่งเป็นต้นน้ำแม่กลอง ประกอบด้วยลำน้ำ 5 สาย คือลำห้วยนิคูคุ ลำห้วยตาพะ ลำห้วยทิคูทิ ลำห้วยตาอื้อ และลำห้วยชะแย
ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีการแสดงรำตงที่เป็นอัตลักษณ์มักใช้เป็นการแสดงต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ภายในชุมชนยังมีต้นทุเรียน 200 ปี และแหล่งน้ำสำคัญซึ่งเป็นต้นน้ำแม่กลอง ประกอบด้วยลำน้ำ 5 สาย คือลำห้วยนิคูคุ ลำห้วยตาพะ ลำห้วยทิคูทิ ลำห้วยตาอื้อ และลำห้วยชะแย
บ้านหนองบาง ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากบ้านตาพะ ตำบลลิ่นถิ่น เมื่อปี พ.ศ. 2506 เนื่องจากถูกทางราชการยึดที่ดินในการทำมาหากิน เพราะบุกรุกที่ป่าสงวน ซึ่งจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชน ทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของบ้านหนองบาง ได้พอสังเขป ดังนี้
นายจงจิต ทองผาสิขเรศ เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2471 อายุ 86 ปี ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 5 ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง พ่อแม่อพยพมากจากบ้านตาพะ เล่าว่า “ในระยะแรกที่มาหมู่บ้านแห่งนี้ป่าไม้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นไม้แดง ไม้ประดู่ แต่พอชาวบ้านอพยพเข้ามาอยู่กันมาก ทำให้ต้องตัดไม้เพื่อสร้างบ้านเรือนและที่ทำกินชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำไร่หมุนเวียน จึงทำให้ป่าไม้ลดลง” ในการจับจองที่ดินจะจับจองกันเอง โดยการถางป่าและฟันกอไผ่ 2-3 กอ เพื่อเป็นการบอกว่าเป็นที่ดินที่มีการจับจองแล้ว โดยใช้สัญลักษณ์ไม้ไผ่ผ่าปักเสียบที่ดินบริเวณนั้น แล้วมีการทำพิธีโดยนำไม้ไผ่ผ่าให้เป็นสี่เหลี่ยม แล้วนำเมล็ดข้าวไปวางทั้งสี่มุม แล้วอธิษฐานว่า ถ้าทำกินดีจะไม่มีมดหรือสิ่งใดมานำเมล็ดข้าวไป ทั้งนี้ชาวบ้านก็มีการปลูกป่าไม้เพิ่มขึ้น เช่น ไม้มะค่าไม้สัก ไม้แดง ในสมัยก่อนมีการใช้ช้างในการลากซุง ลากไม้ ตนเองก็เลี้ยงช้างไว้ 4 เชือก แต่ในระยะต่อมาไม่มีไม้ให้ช้างลาก และช้างได้เข้าไปกินพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงต้องขายช้างไปเชือกละ 80,000 บาท แต่ในปัจจุบันมีการขายกันเชือกละมากกว่า 700,000 บาท
หมู่บ้านหนองบาง เป็นหมู่บ้านที่มีต้นน้ำแม่กลองไหลผ่าน ประกอบกับมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ทำให้หมู่บ้านเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี “ในปี พ.ศ. 2523 เกิดน้ำท่วมหนักในหมู่บ้าน ซึ่งน้ำมาจาก 5 สาย มาจากระหว่างเทือกเขาแปลงพระฤาษีบ่อแร่ คือ สายตะอื้อ ตาพะ นิขุคุ ชะเย และนิกุทิ มารวมกัน ทำให้หมู่บ้านเกิดน้ำท่วมถึงบั้นเอว ท่วมอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และมีดินโคลนถล่มและท่วมบ้านเรือนใต้ถุนบ้านจะมีแต่ขี้โคลน ต้นซุง สวะ และ เศษไม้” นายจงจิต เล่าถึงอดีต แต่ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนกั้นต้นน้ำแม่กลอง ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วมหมู่บ้านหนองบางอีกต่อไป
นายจงจิต เล่าต่อไปว่าตอนอายุได้ 15 ปี ในปี พ.ศ. 2482-2490 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 “สมัยก่อนพูดไทยไม่เป็น เรียนหนังสือได้ครึ่งเดือน ไปเรียนที่วัด พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่ได้เรียนต่อ ชาวบ้านต้องสร้างสะพานไม้ให้ญี่ปุ่นข้ามลำธารเข้ามายังหมู่บ้าน ญี่ปุ่นจะเข้ามาทางรถไฟและมีการทิ้งระเบิดชาวบ้านต้องหนีไปอยู่ที่ลิ่นถิ่น” นายจงจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสมัยก่อนมีการปั่นฝ้าย ทอผ้า แต่ตอนนี้ไม่มีคนทำแล้ว และชาวบ้านมีการหาสมุนไพรจากในป่าเพื่อเป็นยารักษาโรค เช่น ยาแก้ร้อนใน และเมื่อถามถึงประเพณีของชาวกะเหรี่ยง นายจงจิต เล่าให้ฟังว่า มีประเพณีการย่องสาว ซึ่งสมัยหนุ่ม ๆ ตนเองได้เมียคนแรกก็ไปย่องสาวเหมือนกัน โดยจะไปเวลากลางคืน และมีการตกลงกับฝ่ายหญิง หากตกลงกันได้แล้ว ก็ให้ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายตกลงเจรจากัน นายจงจิต กล่าวว่า “สมัยก่อนไม่มีค่าสินสอด แต่งงานกันแบบง่าย ๆ แค่มีการผูกข้อมือกันเท่านั้น” นอกจากนั้นยังมีประเพณีผูกข้อมือเดือน 9 ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำเพื่อเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยงและมีการทำสืบทอดกันจวบจนปัจจุบัน (สัมภาษณ์, วันที่ 29 สิงหาคม 2557)
นางดอกไม้ คนตรง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 อายุ 64 ปี ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 5 ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา และได้ย้ายถิ่นฐานมาทำงานเป็นลูกจ้างที่สถาบันวิจัยพัฒนาต้นน้ำแม่กลอง เมื่ออายุได้ 26 ปี ในปี พ.ศ. 2518 เล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนที่เริ่มมาอยู่ใหม่ ๆ สภาพของหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ ทั้งใหญ่และเล็ก มีบ้านเรือนปลูกอยู่ประมาณ 20 กว่าหลังเท่านั้น การปลูกบ้านของชาวบ้านจะมุง ด้วยใบพลวง ฝาบ้านทำมาจากแฝก ซึ่งใช้ไม้ไผ่ตีให้เป็นแผ่น แล้วนำมาทำเป็นฝาบ้าน” แต่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการสร้างบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงที่มีเงินมีการพัฒนาการปลูกบ้านจากไม้ไผ่เป็นปูนซีเมนต์และมุงหลังคาด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี เนื่องจากการปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่และมุงหลังคา ด้วยใบพลวง ไม่คงทน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนหลังคาทุก ๆ ปี และพอฝนตกก็มักจะรั่ว แต่ชาวบ้านที่ไม่มีเงินพอ ก็ยังคงต้องปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่และใบพลวง ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่หลังเท่านั้น
นางดอกไม้ เล่าต่อไปว่า “ในสมัยก่อนไม่มีถนน เพิ่งจะมีการเทคอนกรีตเมื่อ ประมาณ 4-5 ปี นี้เอง เวลาจะไปไหนมาไหนต้องเดิน ไม่มีรถยนต์เหมือนสมัยนี้ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องบรรทุกปุ๋ยและยาขึ้นไปบนเขา ก็จะใช้รถยนต์ของศูนย์วิจัยพัฒนาต้นน้ำแม่กลอง ในการบรรทุก แต่ในปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีการใช้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซด์ในการบรรทุกปุ๋ยและยาขึ้นไปบนเขากันเอง และเดี๋ยวนี้ป่าไม้ก็ลดลง เนื่องจากชาวบ้านตัดไม้มาสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย” และเมื่อพูดถึงรายได้ของชาวบ้านในสมัยก่อน นางดอกไม้ จึงเล่าว่า “ชาวบ้านไม่ค่อย ได้ใช้เงินซื้ออะไรสักเท่าใด จะซื้อเฉพาะยาสูบ น้ำปลา ผงชูรส กะปิ เกลือ และน้ำมันก๊าด เท่านั้น” แต่ในปัจจุบันเมื่อมีคนย้ายถิ่นฐานมาสร้างบ้านเรือนกันมากขึ้น ประกอบกับความเจริญทางเทคโนโลยีเข้าไปในหมู่บ้านและป่าไม้มีปริมาณลดลง ทำให้การหาสัตว์ป่าของชาวบ้านที่เคยหาได้เป็นประจำก็ลดน้อยลงไปด้วย ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้ลดน้อยลง แต่กับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ ผิดกับสมัยก่อนที่ใช้ตะเกียง จึงไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก
เมื่อถามถึงศิลปะการแสดงของชาวกะเหรี่ยง นางดอกไม้ บอกว่า มีการแสดงรำตง ซึ่งนำไปแสดงในเทศกาลต่าง ๆ ปัจจุบันมีการรำเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนในหมู่บ้าน และสำนักงานเทศบาลตำบลลิ่นถิ่น ก็นำไปแสดงในงานต่าง ๆ ของอำเภอและจังหวัดด้วย นอกจากนี้ นางดอกไม้ยังเล่าต่อไปอีกว่า ในสมัยก่อนมีคนทอผ้าในหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันคนที่ทอผ้าอายุมาก สายตามองไม่ค่อยเห็นและไม่มีผู้สืบทอด ทำให้การทอผ้าเริ่มสูญหายไปจากหมู่บ้าน เมื่อต้องการใช้เสื้อผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง จึงต้องไปซื้อที่ทองผาภูมิ และอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอสังขละบุรี (สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม 2557)
นายแถบ เรืองฤทธิ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2480 อายุ 77 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13/2 หมู่ที่ 5 ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อาชีพ ทำไร่ ปัจจุบันเป็นหมอดิน ประธานชมรมผู้สูงอายุอำเภอทองผาภูมิ และประธานสหกรณ์ออมทรัพย์หมู่บ้านหนองบาง ซึ่งได้ ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดเพชรบุรี และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหนองบางเมื่อปี พ.ศ. 2532 (ประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา) และในช่วงแรกที่ย้ายถิ่นฐานมาได้ซื้อที่ดินจำนวน 5 ไร่ ในราคาไร่ละ 3,500 บาท เป็นที่ทำมาหากิน ในสมัยนั้นมีบ้านเรือนอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน ไม่มีถนนคอนกรีต เหมือนปัจจุบัน ถนนเป็นดินลูกรังและเป็นหลุมเป็นบ่อ การเดินทางค่อนข้างลำบาก ส่วนใหญ่จะใช้การเดินเป็นหลัก นายแถบ เล่าว่า “บ้านหนองบาง มีความอุดมสมบูรณ์ ดินดี ฝนฟ้าดี เหมาะสำหรับการเกษตร และปลูกพืชไร่ ในสมัยก่อนป่าไม้มีมาก เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้สัก อยู่ประมาณ 20% ของป่าไม้ทั้งหมด แต่ตอนนี้เหลือน้อยลงมากแล้วและสัตว์ป่าก็เยอะ เช่น หมูป่า เก้ง กวาง เลียงผา โดยเฉพาะหมูป่า ชาวกะเหรี่ยงยิงได้ครั้งละถึง 4 ตัว”
นายแถบ พูดให้ฟังว่า ลุงจงจิตร ได้เล่าให้ตนฟังว่า “ในสมัยก่อนพม่าเดินทัพเข้า มาในประเทศไทย ผ่านหมู่บ้านหนองบาง ชาวบ้านเกิดหวาดกลัว จึงย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่บ้านพุเย ตาพะ และนิขุคุ และพม่าก็ใช้ถ้ำซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นเสมือนโรงพยาบาลในการรักษาชาวบ้านและทหารที่เจ็บป่วย ประกอบกับสมัยก่อนโรคไข้มาเลเรียระบาด ทำให้ผู้คนเสียชีวิต ลงเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าจึงฝังศพคนตายไว้ในถ้ำ” และต่อมาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ชาวบ้านมีการขุดพบซากโครงกระดูกมนุษย์ปนดินอยู่ในถ้ำ พบเครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ลูกปัด กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ดาบ หม้อซึ่งชาวบ้านที่ขุดพบมีการนำไปขายให้กับพ่อค้าในเมือง
ระยะแรกที่นายแถบ มาอยู่ใหม่ ๆ มีการปลูกข้าวโพด มะเขือ และเริ่มมีการปลูกยางพารา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งในสมัยก่อนยางพารามีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 180-190 บาท แต่ในปัจจุบันราคาถูกลงเหลือกิโลกรัมละ 44–50 บาท ปลูกไว้ประมาณ 11-12 ไร่ ในสมัยนั้นชาวกะเหรี่ยงมีการทำไร่ ทำนา ปลูกยาสูบ ข้าวโพด ส้มโอ มันสำปะหลัง แต่ตอนนี้ชาวบ้านนิยมปลูกยางพารากันมากที่สุด และเมื่อถามถึงราคาที่ดินในสมัยก่อนเมื่อเทียบกับปัจจุบัน นายแถบ บอกว่า แต่เดิมตนซื้อที่ปลูกบ้าน จำนวน 130 ตารางวา ในราคา 5,000 บาท แต่ปัจจุบันมีการซื้อขายกันในราคาไร่ละเกือบ 2 แสนบาท และเมื่อพูดถึงค่าจ้างแรงงานชาวกะเหรี่ยง แต่เดิมจะจ้างในอัตราวันละ 70 บาท/วัน แต่ปัจจุบันต้องจ้างในอัตราวันละ 250-300 บาท/วัน โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่มีบัตรประจำตัวประชาชน มักจะออกไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ เช่น ตัวอำเภอ หรือตัวจังหวัด ทำให้แรงงานในพื้นที่เหลือน้อยลง จึงต้องจ้างในราคาที่สูงขึ้น แต่ชาวกะเหรี่ยงที่ออกไปทำงานนอกพื้นที่ก็จะส่งเงินมาให้ทางพ่อแม่ที่บ้านหนองบาง ประกอบกับชาวกะเหรี่ยงเป็นคนที่ประหยัด อดออม จึงมีเงินเหลือเก็บไว้ในการสร้างบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรงเป็นจำนวนมาก
เมื่อพูดถึงการออมทรัพย์ของชาวบ้านหนองบาง ในสมัยก่อนมีเพียงจำนวน 27-28 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีมากถึง 900 กว่าคน ซึ่งชาวบ้านหนองบางจะยึดถือกฎกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน คือ เมื่อมีการกู้เงินไปจะต้องชดใช้คืนตามเวลาที่กำหนด จึงทำให้กลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองบางได้รับรางวัลกลุ่มออมทรัพย์ดีเด่นของอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งแสดงถึงความซื่อสัตย์ตรงต่อเวลาของชาวบ้านหนองบาง นอกจากนี้ นายแถบ ยังเล่าว่า “ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน เป็นคนที่บริหารงานเก่ง ชาวบ้านจะให้ความเคารพ เกรงใจ ศรัทธา และเชื่อฟัง” ไม่ว่าผู้ใหญ่บ้านจะขอความช่วยเหลือสิ่งใดก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของการอนุรักษ์ สืบทอด ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งประเพณีบางอย่างกำลังจะสูญหายไป แล้วผู้ใหญ่บ้านได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูประเพณีของชาวกะเหรี่ยงให้กลับมาในชุมชนดังเดิม เช่น ประเพณีผูกข้อมือกินข้าวห่อ ประเพณีแห่จากาโว่ลา ประเพณีค้ำต้นโพธิ์ ทำให้หมู่บ้านหนอง บางเป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงไว้ได้มากที่สุดของตำบลลิ่นถิ่น (สัมภาษณ์, 12 กันยายน 2557)
บ้านหนองบาง ทิศเหนือจดกับ บ้านลิ่นถิ่น หมู่ที่ 4 ตำบลหินดาด อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ทิศใต้จดกับเขตอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ทิศตะวันออกจดกับอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ทิศตะวันตกจดกับโรงเรียนบ้านลิ่นถิ่น ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัด กาญจนบุรี มีนายพงศกร ทองผาสุขุม เป็นผู้ใหญ่บ้าน แบ่งการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ประกอบกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม ที่สำคัญ ๆ ดังนี้
พื้นที่อยู่อาศัย ประกอบครัวเรือน จำนวน 130 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ครัวเรือนบางส่วนเป็นพี่น้องบัตรสี (บัตรประจำตัวบุคคล ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน แต่ถือบัตรสีต่าง ๆ ที่กรมการปกครองออกให้ เช่น บัตรสีฟ้า (บัตรบุคคลบนพื้นที่สูง), บัตรสีเขียวขอบแดง (บัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูง), บัตรสีชมพู (บัตรผู้พลัด ถิ่นสัญชาติพม่า) บ้านบางหลังไม่มีคนอาศัยอยู่ เนื่องจากคนภายนอกชุมชนมาซื้อที่ดินและปลูกบ้านพักสำหรับพักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราวหรือบางส่วนไปทำงานต่างพื้นที่ นอกจากนี้ แผนที่เดินดินยังแสดงให้เห็นว่าบางครัวเรือนเป็นบ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง บางครัวเรือนมีการสืบทอดภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ เช่น หมอยา (รักษาโรคคางทูม กวาดคอ เป่าซาง) รักษางูกัด กระดูกหัก การใช้เทียนรักษาโรค หมอดิน ด้านพิธีกรรม มัคนายก) การทอผ้า ย่าม ผ้าถุงกะเหรี่ยง การจักสาน (แห ตะแกรง เข่ง) การทำไม้กวาด
ส่วนใหญ่พื้นที่ทำมาหากินหลัก ปลูกพืชผลทางการเกษตรกรรม บนพื้นที่สูงบริเวณ เชิงเขาหรือบนภูเขาห่างจากที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านตาพะ บ้านชะเย บ้านนิบุคุ โดยจะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ขมิ้น เป็นหลัก ส่วนพืชผักสวนครัวและพืชที่จำหน่ายได้ ราคา (ขมิ้น) นิยมปลูกเพิ่มเติมอีกในพื้นที่ว่างบริเวณบ้าน
พื้นที่ประกอบกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม มีวัดผาสุกิจสุวรรณเขต เป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวบ้าน และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธและประเพณีในช่วงเย็น เด็ก เยาวชน จะมาออกกำลังกายกันเป็นประจำที่สนามกีฬาบริเวณหน้าวัด และมีศาลาอเนกประสงค์ เป็นศูนย์รวมชาวบ้านในโอกาสต่าง ๆ เช่น การประชุม ปรึกษาหารือ กิจกรรมและประเพณีของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เช่น ประเพณีเรียกขวัญเป็นต้น บริเวณใกล้กันมีศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม และวิถีชีวิตขาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นสถานที่ที่รวบรวมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เช่น การรำตง การทอผ้า ย่าม และผ้าถุงกะเหรี่ยง เป็นต้น
นอกจากนี้ พบว่ามี ปางช้าง 1 แห่ง คือ ปางช้างบ้านพี่-บ้านน้อง ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะมาเป็นหมู่คณะ กิจกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นการนั่งช้างศึกษาเส้นทางธรรมชาติเป็นหลัก มีแหล่งน้ำทางการเกษตร ที่สำนักงานเทศบาลตำบลลิ่นถิ่น ขุดบ่อน้ำขึ้นมา เป็นเนื้อที่ 3 ไร่ เพื่อบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง ชาวบ้านจึงเรียกว่าบ่อนี้ว่าบ่อ 3 ไร่ จากการลงพื้นที่ภาคสนามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557 พบว่าน้ำแห้งขอดมากหรือแทบไม่มีเลย และเมื่อ พ.ศ. 2555 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่ 11 ได้มาสร้างฝายน้ำล้น ให้แก่บ้านหนองบางเพื่อชะลอน้ำในช่วงฤดูฝน มีสถานีวิจัยต้นน้ำแม่กลอง มีลุ่มน้ำลิ่นถิ่นเป็นลุ่มน้ำทดลอง มีเนื้อที่ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร สำหรับด้านการศึกษามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 1 แห่ง
จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากร 2565 ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ระบุว่า บ้านหนองบาง ประกอบด้วย 185 หลังคาเรือน โดยมีจำนวนประชากรรวม 486 คน แบ่งเป็นเพศชาย 232 คน เพศหญิง 254 คน
โพล่งตัวอย่างประเพณีสำคัญ
ประเพณียกธงสวรรค์ ในภาษากะเหรี่ยง เรียกว่า ชุทะเด่อบุ่ง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงออกพรรษาของทุกปี หลังจากการทำบุญตักบาตรที่วัดหนองบางจะจัดขึ้นในช่วงบ่าย เป็นการทำบุญไลสิ่งอัปมงคลที่อยู่ในชุมชน และเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลกับคนในชุมชน
ประเพณีค้ำต้นโพธิ์ ในภาษากะเหรี่ยง เรียกว่า บุงเคลิ้ง เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาให้กับคนในชุมชนและความเป็นสิริมงคล
ประเพณีผูกข้อมือ มักจัดขึ้นในช่วง 15 ค่ำ เดือน 9 หรือประมาณเดือนสิงหาคม เพื่อเรียกขวัญให้กับลูกหลานที่ออกไปทำงานต่างถิ่นแล้วมีการเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อถึงช่วงดังกล่าวก็จะกลับมาให้ปู่ย่าตายายผูกข้อมือ เรียกขวัญ ให้อาการป่วยนั้นทุเลาขึ้น
รำตง ชื่อการแสดงของชาวกะเหรี่ยงที่มีที่มาจากเสียงกระทบของไม้ไผ่ดัง โตว์โตว์ รำตงเป็นการแสดงที่มีการรำประกอบการร้องเพลงกะเหรี่ยงโดยมีเครื่องกำกับจังหวะเฉพาะ คือ วาเหล่เคาะและกลองตะโพน รำตงสันนิษฐานว่าน่าจะมีการสืบทอดมานานกว่า 200 ปี วัตถุประสงค์ในการแสดง คือ เพื่อประกอบพิธีกรรม เพื่อความบันเทิง เพื่อการสาธิตในอดีตนิยมแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธประวัติของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อมามีการนำคติความเชื่อในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงมาสอดแทรกกับการแสดง มีการเล่าเรื่องราวกลุ่มชนตลอดจนเรื่องราวของความรักของหนุ่มสาว การดำเนินชีวิต การปลุกใจให้รักในชนเผ่ารักบรรพบุรุษ
ติดต่อสื่อสารพูดคุยกันในชุมชนด้วยภาษากะเหรี่ยง
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2566). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/
คลังข้อมูลชุมชน. บ้านหนองบาง จ.กาญจนบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ; จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanNongBang
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี. (2559). รำตงชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองบาง ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ. ค้นจาก https://kanchanaburi.m-culture.go.th/