หมู่บ้านวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่สอดแทรกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่าง ถ้ำแสงเพชร หินงอกหินย้อยส่องประกายแสงระยิบระยับ ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ในชุมชน ผ้าทอ เครื่องจักสาน ไม้กวาดคุณภาพดี ที่รออวดโฉมต่อสายตาผู้ชมและผู้มาเยี่ยมเยือน
ประมาณ ปี พ.ศ. 2469 ชาวปกาเกอะญออพยพมาจากบ้านสามัคคี อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ย้ายมาตั้งรกรากที่บ้านเก่า บนภูเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของน้ำตกเพชรจะขอ มีต้นมะปรางขึ้นอยู่มาก ชาวปกาเกอะญอ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ทีจะข่อ" "ที" แปลว่า น้ำ "จะข่อ" แปลว่า มะปราง
หมู่บ้านวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่สอดแทรกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่าง ถ้ำแสงเพชร หินงอกหินย้อยส่องประกายแสงระยิบระยับ ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ในชุมชน ผ้าทอ เครื่องจักสาน ไม้กวาดคุณภาพดี ที่รออวดโฉมต่อสายตาผู้ชมและผู้มาเยี่ยมเยือน
บ้านเพชรนิยม ดั้งเดิมเป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ชื่อเดิมของหมู่บ้าน คือ "เพชรจะขอ" ภาษากะเหรี่ยง เรียกว่า "ทีจะข่อ" หมายถึงคลองมะปราง จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุชาวกะเหรี่ยง เล่าว่า หมู่บ้านนี้ก่อตั้งมานานกว่า 100 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงพี่น้องกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ โดยมีผู้ใหญ่ยี เป็นผู้ใหญ่คนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2475 ขณะนั้นขึ้นอยู่กับตำบลนครชุม และต่อมาได้แยกออกมาเป็นตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอเมือง ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นกลุ่มบ้านเพชรจะขอ โดยมีกำนันหน่อแก้วเป็นผู้ปกครองและดูแล จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้แยกออกมาเป็นกิ่งอำเภอคลองลาน
เพชรจะขอหรือเพชรนิยม ดั้งเดิมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลโป่งน้ำร้อน ต่อมาปี พ.ศ. 2553 ได้แยกออกมาเป็นบ้านเพชรนิยม หมู่ที่ 2 ตำบลสักงาม โดยมีนายนุ่น แก้วหุ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีครัวเรือนอาศัยอยู่ จำนวน 54 ครัวเรือน
ชุมชนมีระยะห่างจากที่ว่าการอำเภอคลองลาน 13 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อชุมชน
- ทิศเหนือ จรด หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งน้ำร้อน
- ทิศใต้ จรด หมู่ที่ 20 ตำบลคลองน้ำไหล
- ทิศตะวันออก จรด หมู่ที่ 3, 4 ตำบลสักงาม
- ทิศตะวันตก จรด อุทยานแห่งชาติคลองลาน
สถานที่สำคัญ
โรงเรียนบ้านเพชรนิยม เดิมเป็นสาขาของโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2522 โดยมีนายหนู ย่อมไทสง ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน รักษาการครูใหญ่และมีครูผู้สอนจำนวน 3 คน ต่อมาได้แยกตัวเป็นเอกเทศ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2527 โรงเรียนบ้านเพชรนิยมจัดการศึกษาในระดับอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีนายสุรพล หาญลำยวง เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งปัจจุบันเป็นคนที่ 6
ศูนย์อนามัยบ้านทีจะข่อ เริ่มตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 มี อสม. ประจำหมู่บ้านที่ได้รับการอบรมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร มีหน้าที่หลัก อำนวยความสะดวกและดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัยให้แก่ชาวปกาเกอะญอ กลุ่มบ้านทีจะข่อ ตลอดจนแจ้งข่าวสารเรื่องสุขภาพ เช่น โรคระบาด, ลูกน้ำ ยุงลาย
สำนักสงฆ์ถ้ำแสงเพชร ชาวกะเหรี่ยงส่วนมากจะไปทำบุญที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ เนื่องจากเป็นสถานที่ใกล้กับหมู่บ้านและการเดินทางไปมาสะดวกสบาย
ถ้ำแสงเพชร เป็นถ้ำที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกและไม่ต้องปีนขึ้นไปบนภูเขา ถ้ำจะอยู่ทางด้านหน้า ถ้ำแสงเพชรมีหินงอกหินย้อยประกายเป็นแสงระยิบระยับที่มีความสวยงามต่อสายตาผู้ชมและผู้มาท่องเที่ยวที่ถ้ำแสงเพชร
น้ำตกเพชรจะขอ (ทีจะข่อ) เป็นน้ำตกขนาดกลางที่นับว่าสวยงามอีกแห่งหนึ่ง ไหลลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น ๆ ทั้งหมดสี่ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงมากกว่า 30 เมตร โดยเฉพาะชั้นที่สี่ที่สามารถมองเห็นได้จากถนนด้านนอกเขตอุทยานมีความสูงมากกว่า 70 เมตร แต่น้ำตกที่สวยงามไม่ได้อวดโฉมได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากฤดูแล้งน้ำจะน้อย การเดินทางจากสามแยกที่เลี้ยวซ้ายไปทางคลองน้ำไหล ให้ตรงไปตามทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.4 (คลองเพชรนิยม) จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร
ทรัพยากรในท้องถิ่น
แหล่งน้ำ แหล่งนํ้าในหมู่บ้านนั้น จะใช้นํ้ามาจากน้ำตกเพชรจะขอและประปาภูเขา ซึ่งมีน้ำไหลตลอด ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค แต่ช่วงหลังมานี้น้ำไม่ค่อยมี ประปาภูเขาก็ไม่มีน้ำ เนื่องจากจากเกิดภัยธรรมชาติ ความแห้งแล้ง ฝนไม่ตก ชาวบ้านจึงจุดบ่อน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่อนํ้าเก่าก็สามารถใช้ได้เรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการอุปโภคและบริโภค บ่อนํ้า 1 บ่อ ต้องใช้หลายครัวเรือน ในบางครั้งนํ้าในบ่อก็แห้ง จะปลูกพืชผักก็ไม่ได้เพราะไม่มีนํ้าหล่อเลี้ยง
ป่าไม้ มีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ จำนวน 1 แห่ง ป่าดิบชื้นพื้นที่ขนาดใหญ่อยู่หลังแนวภูเขา ฝั่งน้ำตกเพชรจะขอ ป่าไม้ในหมู่บ้านถูกถางออกตั้งแต่ช่วงย้ายถิ่นฐาน ต้นไม้ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเกิดจากการปลูกของชาวบ้าน
ส่วนเขตป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ เป็นของเขตน้ำตกเพชรจะขอ ป่าจะเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณอยู่บริเวณภูเขาและหลังเขา ชาวบ้านจะไม่ตัดไม้ในป่าเพราะเป็นเขตอุทยานฯ และจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาปลูกป่าในวันสำคัญต่าง ๆ และจะให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมปลูกป่า โดยจะปลูกบริเวณตีนเขา
การใช้ประโยชน์ของป่าไม้ชาวบ้าน มักเก็บพืชผักที่ขึ้นเองธรรมชาติ โดยเก็บในเขตอุทยานมารับประทาน โดยการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานเพื่อที่จะขึ้นไปเก็บ เช่น หน่อไม้ ผักหวาน เห็ดต่าง ๆ สมุนไพร ยารักษาโรค เป็นต้น
สภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศในเขตหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศของภูมิประเทศไทยในเขตภาคเหนือ มีฤดูหนาว ฤดูฝน ฤดูร้อน ย่อมเปลี่ยนไปตามภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง
บ้านเพชรนิยม มีจำนวน 358 หลังคาเรือน และมีประชากรรวม 1,200 คน แบ่งเป็นเพศชาย 609 คน หญิง 591 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2566) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
ปกาเกอะญอบ้านเพชรนิยม เป็นหมู่บ้านใหญ่ปกกครองในรูปแบบคณะกรรมการหมู่บ้าน ดังนี้
- ฝ่ายปกครอง
- ฝ่ายรักษาความปลอดภัย
- ฝ่ายสาธารณสุข
- ฝ่ายพัฒนา
- ฝ่ายการศึกษา
- ฝ่ายประชาสัมพันธ์
- ฝ่ายปฏิคม
ในหมู่บ้านเพชรนิยม มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่โดยตั้งเป็นคุ้มชื่อ คุ้มเพชรจะขอ หรือทีจะข่อ ปัจจุบันมีนายกิจโพธิ์ ไทยพูล เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (หัวหน้าคุ้ม) และมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่อยู่ในคุ้มเพชรจะขอ ดังนี้
- นายสันติภาพ ไทยพูล ฝ่ายสาธารณสุข
- นายชูดิศรี นายน้อย ฝ่ายประชาสัมพันธ์
- นายบุญรวย ผัดหมูคำ ฝ่ายปฏิคม
อาชีพหลัก ทำการเกษตร นอกเหนือจากนั้น ประกอบอาชีพรับจ้าง โดยจะรับจ้างทำไร่มันสำปะหลัง จากคนที่มีที่ดินทำกิน ซึ่งจะมีงานเกือบตลอดทั้งปี ส่วนคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งยังพอมีกำลังจะออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ เช่น โรงงานในกรุงเทพหรือนิคมอุตสาหกรรม
ประเพณีการแต่งงาน
ประเพณีความเชื่อของชาวบ้านเพชรจะขอ จะให้แม่เป็นเจ้าบ้าน เป็นผู้ถือผีและมีหน้าที่ในการสื่อสารกับผีบรรพบุรุษ และให้ฝ่ายชายที่แต่งเข้าบ้านถือตามภรรยา ในวันแรกที่บ้านเจ้าสาวจะมีการไหว้บอกกล่าวบรรพบุรุษ โดยแม่เจ้าสาวบอกทางช่องเล็กบนบ้านกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร สูงประมาณ 30 เซนติเมตร หรือแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบ้าน โดยแม่จะพิธีบอกกล่าวผ่านช่องนั้นว่าลูกสาวจะแยกเรือน โดยจุดเทียนปักวางไว้ที่ช่องนั้นและรดด้วยน้ำขมิ้น น้ำส้มป่อย
ลำดับต่อมาแม่เจ้าสาวและพ่อจะไปบอกกล่าวคนในหมู่บ้านว่าจะมีการกินเลี้ยงฉลองออกเรือนของลูกสาวและลูกชายของบ้านไหน กับบ้านไหนบ้าง โดยส่วนใหญ่จะมีกำหนดกินวัน 2 วัน โดยจัดการกินเลี้ยงทั้งสองบ้าน คือ ทั้งบ้านเจ้าบ่าวและเจ้าสาว โดยพ่อแม่ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเรียกชาวบ้านในหมู่บ้านมาร่วมกินเลี้ยงแสดงความยินดีแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวร่วม 2 วัน โดยในระหว่างวันจะมีการตีกลองร้องเพลงปกาเกอะญอ ให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และเป็นคำสอนให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว ซึ่งในปัจจุบันไม่มีผู้สืบทอดการร้องเพลงดังกล่าว จะมีพิธีผูกข้อมือด้วยด้ายผูกข้อมือให้กับคู่บ่าวสาว
วันแรก เรียก วันกินไก่ คือ จะนำไก่มาฆ่าและทำกับข้าวเลี้ยงกันที่บ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาวจนกว่าจะหมด บ้านไหนฐานะดีก็มีไก่ให้กินเยอะ จนข้ามไปถึงวันที่สอง
วันที่สอง เรียก วันกินหมู เมื่อกินไก่จนหมดแล้วจะมีการทุบหมู หรือฆ่าหมูมากินเลี้ยงกันทั้งวันจนกว่าหมูจะหมด และเมื่อถึงตอนเย็นเวลาประมาณสองทุ่ม ก็จะทำการส่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอที่บ้านเจ้าสาว
เจ้าบ่าวแต่งชุดปกาเกอะญอ วันแรกและวันที่สอง เจ้าสาสวจะใส่ชุดสีขาว ยาวคลุมตลอดตัว กลางคืนที่สอง ก่อนส่งตัวเข้าหอ เจ้าสาวจะเปลี่ยนชุดเป็นสีแดง แยกส่วนเสื้อและกระโปรง
ปฏิทินเศรษฐกิจ
1.ทำนาปี เป็นนาดำ ใช้พันธุข้าวหอมจังหวัด พันธุ์มะลิ 105 จะไถที่/เตรียมดินและทว่านกล้า ในเดือนกรกฎาคม พอกล้าโตได้ที่จะถอนกล้าในเดือนสิงหาคม ในการถอนกล้าบางครั้งก็จ้างคนและลงแขกช่วยกัน จะดำนาในเดือนสิงหาคม เปิด/ปิดนํ้าเข้านาในช่วงเดือนกันยายน ใส่ปุ๋ยชีวภาพ บำรุงต้นและใบ ชาวบ้านจะไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยยูเรียก็ไม่ใส่ ฉีดปุ๋ยน้ำทางใบ 45 วันหลังดำข้าวแล้ว ชาวบ้านบางคนที่ขยันก็จะฉีดเร่งใบเร่งต้น 15 วัน ต่อ 1 ครั้ง หลังจากนั้นก็จะดูแลหญ้า ถ้ามีหญ้าก็จะถางหรือเกี่ยวหญ้า จะเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในการเก็บพันธุ์ข้าว จะใช้พันธุข้าว 3 ปี ก็จะเปลี่ยนใช้พันธุ์อื่น จะซื้อพันธุ์ข้าวจากในหมู่บ้าน ถ้าไม่มีก็ออกไปซื้อข้างนอก (สหกรณ์นาบ่อคำ) หรือร้านค้าพันธุ์ข้าวปลูก ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ก็จะเอาไปเก็บไว้ที่ยุ้งข้าว ถ้าจะสีข้าวก็จะมีรถสีข้าววิ่งเข้ามารับสีข้าวในหมู่บ้านหรือบางครั้งก็เอาข้าวไปสีที่บ้านของคนรับสีข้าว
2.ทำมันสำปะหลัง ชาวกะเหรี่ยงบ้านเพชรจะขอ มีอาชีพหลักในการทำไร่มันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากลงทุนตํ่า ไม่ค่อยมีความเสี่ยง และการดูแลรักษาไม่ยุ่งยากเท่าใดนัก การปลูกมันสำปะหลัง โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปี จนถึง 2 ปี ช่วงที่เริ่มปลูกมันสำปะหลัง มีการไถเตรียมดิน ประมาณเดือนตุลาคมและปลูกมันสำปะหลังในเดือนพฤศจิกายน การปลูกมัน บางครอบครัวจะมีต้นไม้สำปะหลังสำหรับเป็นต้นพันธุ์จากปืที่แล้วเก็บไว้ การดูแลโดยการถางหญ้าและใส่ปุ๋ยในช่วงเดือนมกราคม และเดือนมิถุนายนอีกครั้ง ใส่ปุ๋ยในช่วงเดือนมกราคม และเดือนมิถุนายนเป็นรอบที่ 2 จากนั้นปล่อยไว้ตามธรรมชาติ รอจนมันสำปะหลังโต หัวใหญ่ ขุดมันขายในเดือนตุลาคม ซึ่งครบรอบ 1 ปี
3.ทำไร่ข้าวโพด การปลูกข้าวโพดแบ่งออกเป็นปลูก 2 ช่วง ต้นฤดูฝน จะนิยมปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน และช่วงปลายฤดูฝน นิยมปลูกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม ขั้นแรกเตรียมดินในการปลูกข้าวโพด การปลูกโดยคนปลูกเอง ระหว่าง 80 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปลูกลึก 4-5 เซนติเมตร ในการใส่ปุ๋ยครั้งแรก ใส่รองพื้น ไถ พรวน ชักร่องแล้วปลูก ใช้ในอัตรา 60-80 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ครั้งที่สอง หลังจากปลูกประมาณ 25-30 วัน เพื่อเร่งลูกให้มีความอวบใหญ่และสมบูรณ์ เก็บเกี่ยวระหว่าง 100-120 วัน ควรเก็บเมื่อข้าวโพดแก่เต็มที่ กาบหุ้มสุกแห้ง ใบแห้ง ซึ่งชาวบ้านจะเอาแรงกัน ไปช่วยกันเก็บเกี่ยว
4.เก็บของป่า ได้แก่ นํ้าผึ้ง เริ่มขึ้นไปเก็บนํ้าผึ้งได้ตั้งแต่แรม 2 คํ่า ขึ้น 15 ค่ำ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม/ประมาณ 100 ขวด/คน/ปี เก็บหน่อไม้ ถ้าเก็บมากินก็จะมีหน่อไม้หลายชนิด เช่น หน่อไม้ไร่ หน่อไม้กาบแดง หน่อไม้บง ไม้ข้าวหลาม ถ้าจะเก็บหน่อไม้ไปขายทางอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าจะอนุญาตให้เก็บขายได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน ก็จะเป็นหน่อไม้ไร่ หน่อไม้ซาง
ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านเพชรจะขอ จะเก็บหน่อไม้ในช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม โดยจะเดินเท้าเข้าไปเก็บในป่า อุปกรณ์ที่ใช้ คือ เสียม กะทอ โดยมีวิธีการสังเกต คือ พื้นดินใกล้ต้นไผ่จะมีลักษณะแตก เมื่อพบก็จะใช้เสียมขุด เก็บจนหน่อไม้เต็มกะทอ นํ้าหนักที่ไปเก็บแต่ละเที่ยวประมาณ 20-30 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ถ้าเร่ขายจะได้กำไรมากกว่า จะมีคนมาซื้อหรือจ้างขุด โดยต้อขออนุญาตทางป่าไม้ จะอนุญาตปีละ 1 เดือน หาได้ 4-5 วัน จึงหยุดให้ต้นไผ่แตกหน่อ
5.ทอผ้า ผู้หญิงชาวปกาเกอะญอจะเรียนรู้การทอผ้าและทอผ้าเป็นทุกคน ซึ่งจะใช้เวลาว่างจากการทำไรนา ซื้อด้ายและวัสดุมาจากตลาดแม้ว อำเภอคลองลาน จะมีกี่ทอผ้าที่บ้าน เป็นกี่เอวนั่งทอ ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ทอไว้ใช้เอง แต่หากมีออเดอร์สามารถทอให้ได้ ปัจจุบันมีประมาณ 20 ครัวเรือนที่สามารถทอผ้าถุงได้
6.เก็บแมงอีนูน ในช่วงเดือนเมษายน เมื่อฝนตกแดดออก แมงอีนูนจะออกมา ชาวบ้านจะเข้าป่าไปจับ โดยมีอุปกรณ์ ไฟฉาย ตาข่าย และกระปุกใส่แมงอีนูน ทุกปีจะมีชาวบ้านประมาณ 5-6 คน เป็นกลุ่มเข้าป่าเพื่อจับแมงอีนูน โดยนำตาข่ายไปดักไว้ เมื่อมีแมงอีนูนติดที่ตาข่ายหรือเกาะที่ใบมันสำปะหลังก็จะนำใส่กระปุก เพื่อนำไปรับประทานหรือจำหน่าย
7.การทำไม้กวาด โดยจำช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี เพราะถึงช่วงที่มีดอกไม้กวาดออก
8.รับจ้าง ชาวกะเหรี่ยงบ้านเพชรจะขอ ในบางครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินจะมีอาชีพหลักในการรับจ้างทั่วไป และในบางครอบครัวที่มีพื้นที่ทำกินจะมีอาชีพเสริมในเวลาว่างจากงานของตนก็จะออกไปรับจ้างทั่วไป ได้แก่ ถางหญ้าไร่มันสำปะหลัง/ไร่ข้าวโพด
ปฏิทินด้านวัฒนธรรม
1.ทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี ที่สำนักสงฆ์ถ้ำประกายเพชร
2.ทำบุญเซ่นผี จะทำพิธีในช่วงหลังปีใหม่ เป็นการไหว้ผีไร่/นา ซึ่งชาวกะเหรี่ยงบ้านเพชรจะขอนับถือผีมาก จึงให้ความสำคัญในการทำบุญเซ่นผี เพื่อจะให้ตนเองและครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินโดยไม่มีอุปสรรค และให้ผีคุ้มครองปกปักรักษา โดยจะนำกระทงใส่อาหารไปเซ่นไหว้ผี
3.ไหว้สาพระบรมธาตุ ชาวกะเหรี่ยงร่วมแสดงความเคารพ คารวะต่อพระบรมธาตุ ในวันเพ็ญเดือน 3 บริเวณวัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
4.พิธีไหว้ศาลพ่อปู่ เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 เมษายนของทุกปี ผู้ชายชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านเพชรจะขอ จะต้องไปร่วมพิธีโดยมีตัวแทนอย่างน้อยบ้านละ 1 คน หากบ้านไหนไม่มีผู้ชายก็ให้ฝากผู้ชายบ้านอื่นไปร่วมพิธีแทน โดยจะนำไก่เป็นจากทุกบ้าน ๆ ละ 1 ตัว ซึ่งจะใช้ไก่ทำพิธีติดต่อกัน 3 ปี จากนั้นจะใช้หมูเป็น จำนวน 1 ตัว ทำพิธี 1 ปี ถัดจากปีที่ใช้ไก่ทำพิธี 3 ปี โดยจะร่วมกันเรี่ยไรจากชาวบ้านในหมู่บ้านซื้อหมูก่อนวันทำพิธี
ศาลพ่อปู่ ของหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ หมู่บ้านเพชรจะขอ จะไม่มีการบนบานศาลกล่าวใด ๆ ไม่มีการเล่าขานหรือบอกกล่าวเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณ ความเชื่อหรืออิทธิฤทธิ์แต่อย่างใด มีเพียงการทำพิธีปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
5.พิธีเรียกขวัญ ในการทำพิธีทำได้ทุกวันยกเว้นวันพุธ เริ่มพิธีเวลา 11.00 น. เป็นต้นไป การแต่งกาย ทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้ร่วมพิธีแต่งกายตามปกติ ตั้งแต่เริ่มพิธี ห้ามบุคคลในพิธีขึ้นหรือลงจากบ้านเป็นเด็ดขาด
6.วิสาขบูชา/เข้าพรรษา/อาสาฬหบูชา ชาวกะเหรี่ยงบ้านเพชรจะขอจะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถือศีลปฏิบัติธรรม สวดมนต์ สมาธิ ณ สำนักสงฆ์ถ้ำประกายเพชร
7.ประเพณีลอยกระทง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวกะเหรี่ยงบ้านเพชรจะขอ จะทำกระทงแล้วไปลอยกระทงที่คลองในหมู่บ้าน
8.เล่นดนตรีตะน่า มักนำมาเล่นในช่วงเทศกาลงานรื่นเริงต่าง ๆ
1.นายสันติภาพ ไทยพูล เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2531 ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยทำหน้าที่เข้าร่วมประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ณ ที่ว่าการอำเภอคลองลานเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรับข้อมูลข่าวสารของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำมาแจ้งให้ชาวบ้านทราบ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับหมู่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งให้ชาวบ้านมาประชุมร่วมกันที่ศาลาประชาคมประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่กันอย่างสงบสุข
2.นายนุ ทองคำ หมอน้ำมัน
3.นายจตุจักร รักไทย หมอน้ำมัน, พ่อหมอเรียกขวัญ
4.นายเม๊อะ ไทยพูล หมอกระดูก
5.นายจอแก สมหวัง ครูสอนภาษาปกาเกอะญอ
6.นายดิกิ ดันบิน พ่อหมอเรียกขวัญ
7.นางนอมะแอ เพชรเจริญไพศาล ทอผ้า
8.นางสาวอำไพ ไม่ทราบนามสกุล ทอผ้า
- ผลิตภัณฑ์งานจักสาน
- ผลิตภัณฑ์ไม้กวาด
- ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ
กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอยังคงใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง รวมถึงการเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาอื่น ๆ ควบคู่กัน
ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วย โรคไตวายเฉียบพลัน มะเร็ง ไข้เลือดออก
สำหรับชาวปกาเกอะญอ ได้ส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในโรงเรียนบ้านเพชรนิยม โดยลูกหลานชาวปกาเกอะญอ จะมีฐานะยากจน ทางโรงเรียนสนับสนุนการศึกษาโดยให้เรียนฟรีและมีการเยี่ยมบ้านของนักเรียนเหล่านี้เป็นประจำทุกปี มีการแนะแนวการศึกษาต่อและฝึกอาชีพสำหรับนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นปีที่ 6 และส่งเสริมให้นักเรียนปลูกผัก เลี้ยงไก่ เพื่อเป็นอาหารสำหรับรับประทานในตอนกลางวันและฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกให้กับนักเรียน
ศรีสมร เทพสุวรรณ์ และคณะ. (2558). ผลงานการจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารความเข้าใจอันดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง งานฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 (บ้านเพชรจะขอ). กำแพงเพชร : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2566). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/
vsport. (2562, 27 ตุลาคม). กำแพงเพชร-บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จัดการเสวนา ชาติพันธุ์กับการพัฒนา มองเมืองใหม่ ผ่านเส้นสาย ลายผ้าปกาเกอะญอ. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. Vsport news online. ค้นจาก https://www.vsportkamphaeng.com/
ที่นี่ "กำแพงเพชร". (2562, 11 พฤศจิกายน). ถ้ำแสงเพชร. Facebook. https://www.facebook.com/
เที่ยวเพชรนิยม. (2561, 13 กันยายน). บ้านเพชรนิยม”อัญมณีในพงไพร” . Facebook. https://www.facebook.com/