ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนเก่าแก่ ที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณี ที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อมีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งเป็นชุมชน แรกเริ่มได้มีขุดบ่อน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ โดยชาวบ้านเรียกบ่อน้ำที่ขุดขึ้นนี้ว่า "บ่อน้ำสร้างบ้านทราย" และได้ตั้งรกรากทำมาหากินอยู่บ่ริเวณนี้ และเรียกชื่อชุมชนว่า "บ้านทราย"
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนเก่าแก่ ที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณี ที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อประมาณ 200 ปี มีกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า "พวน" ได้อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐาน และได้ขุดบ่อน้ำไว้ใช้เรียกว่า "บ่อน้ำสร้างบ้านทราย" และชักชวนญาติพี่น้องมาสร้างบ้านเรือนทำมาหากิน ที่บ้านถนนแค หรือบ้านถนนเชียงงา ต่อมา พ.ศ. 2369 มีพระภิกษุสงฆ์ ชื่อว่า "หล้า" ชาวบ้านเรียกว่า "ครูบานาวา" ออกธุดงค์มาจากเชียงขวาง ประเทศลาว เพื่อตามหาญาติ และพบพี่สาวชื่อว่า "ถอ" ที่หมู่บ้านทราย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จึงสร้างวัดบ้านทราย และอยู่ที่นั่นเกือบ 20 ปี แล้วออกธุดงค์ย้ายที่อยู่ใหม่ไปทางเหนือ จนพบพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ บริเวณวังน้ำใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า "วังเดือนห้า" พร้อมสร้างวัดบ้านทรายใหม่บนที่แห่งนี้ และก็มีผู้คนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ จนเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น และเป็นตำบลบ้านทรายในปัจจุบัน
ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ที่ทิศเหนือของจังหวัดลพบุรี มีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 32 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอบ้านหมี่ประมาณ 3.5 กิโลเมตร สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินเหนียว หน้าดินแตกระแหงในฤดูร้อน เหมาะสำหรับทำเกษตรกรรม ทำนา ปลูกพืชไร่ โดยตำบลบ้านทรายมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลหินปัก อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 1,018 ครัวเรือน ประชากรชาย 1,522 คน หญิง 1,690 คน รวมประชากร 3,212 คน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- บ้านมะขามเอน หมู่ที่ 1 มีจำนวน 190 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 335 คน หญิง 374 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 709 คน
- บ้านทราย หมู่ที่ 2 มีจำนวน 142 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 204 คน หญิง 252 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 456 คน
- บ้านทราย หมู่ที่ 3 มีจำนวน 278 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 440 คน หญิง 442 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 882 คน
- บ้านทราย หมู่ที่ 4 มีจำนวน 171 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 241 คน หญิง 268 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 509 คน
- บ้านทราย หมู่ที่ 5 มีจำนวน 47 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 72 คน หญิง 100 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 172 คน
- บ้านทราย หมู่ที่ 6 มีจำนวน 190 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 230 คน หญิง 254 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 484 คน
ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 6 หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชนภายใต้การปกครองขององค์การบริการส่วนตำบลบ้านทราย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำนา ปลูกพืชไร่ และมีการปศุสัตว์ในครัวเรือนเพื่อการบริโภค และเป็นอาชีพเสริม นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมของชาวบ้าน และเป็นกลุ่มอาชีพ เช่น
- กลุ่มเกษตรกร หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มสตรีชาวนาไทย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มปลาส้มฟัก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มสานตะกร้า แปรรูปผ้าดอกเป็นหมวกและกระเป๋า หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มมัดหมี่-ทอผ้า หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มโรงสีชุมชน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านทราย
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านทราย
ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนที่อพยพมาจากประเทศลาว และยังเป็นชุมชนที่รักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยชุมชนบ้านทรายมีประเพณีปฏิบัติที่เรียกว่า ประเพณีไทยพวน 12 เดือน ดังนี้
- เดือนอ้าย บุญข้าวเม่า
- เดือนยี่ บุญข้าวหลาม, สู่ขวัญข้าว
- เดือนสาม บุญข้าวจี่, มาฆบูชา
- เดือนสี่ บุญบวชนาค, กินดอง (แต่งงาน), ทำบุญขึ้นบ้านใหม่
- เดือนห้า บุญสงกรานต์, สรงน้ำพระ, ก่อพระทราย, บายศรีเจ้าหัว
- เดือนหก บุญวิสาขบูชา (เวียนเทียน), งานเลี้ยงศาลเจ้าพ่อ, กวนข้าวทิพย์
- เดือนเจ็ด บุญกลางบ้าน, บวชนาค
- เดือนแปด บุญเข้าพรรษา, อาสาฬหบูชา
- เดือนเก้า บุญห่อข้าว (สารทพวน)
- เดือนสิบ บุญแหวนต้นทาน
- เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา, ตักบารเทโว, ทอดกฐิน, แข่งเรือ
- เดือนสิบสอง บุญเทศน์มหาชาติ, เส่อ(ใส่)กระจาด, ลอยกระทง
บุญข้าวเม่า
วันทำบุญข้าวเม่า ปกติจะกำหนดตรงกับวันพระจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้แล้วแต่สะดวก เมื่อทางวัดกำหนดวันทำบุญข้าวเม่าแล้วชาวบ้านก็จะเก็บเกี่ยวข้าวใหม่น้ำมาบดเอาเมล็ดข้าว แล้วตำข้าวใหม่ในครกไม้ด้วยกรรมวิธีให้ข้าวเปลือกออกแล้วนำข้าวสารซึ่งข้าวใหม่จะอ่อนนิ่ม ปกติใช้ข้าวเหนียวนำมาคลุกเคล้ากับน้ำตาลและมะพร้าว เพื่อเตรียมนำไปถวายพระในตอนเช้าวันพระ โดยการเตรียมจะจัดทำในตอนบ่ายหรือตอนเย็นก่อนวันพระ
บุญข้าวจี่
สำหรับข้าวจี่ คือการนำเอาข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วมาปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปชุบไข่ปิ้งไฟ บางก้อนก็จะยัดไส้ด้วยน้ำตาลหรือถั่ว แล้วนำไปปิ้งไฟเช่นเดียวกัน บางครั้งก็จะนำข้าวเหนียวปั้นแล้วนำมาชุบไข่แล้วทอดด้วยน้ำมันก็จะได้รสชาติที่อร่อยไปอีกแบบ การถวายข้าวจี่แด่พระภิกษุสงฆ์ ก็จะกำหนดเอาวันพระแล้วแต่สะดวกเพื่อให้พระภิกษุได้ฉันในตอนเช้า
บุญข้าวหลาม
ประเพณีเดือนยี่ หรือเดือนที่ 2 จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม ทางวัดจะกำหนดทำบุญข้าวหลาม คือ การนำเอากระบอกไม้ไผ่อ่อน ตัดให้เรียบร้อยแล้วนำมาบรรจุข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิ แล้วนำกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุข้าวเรียบร้อยแล้วปิดจุกฝาให้แน่น แล้วนำมาเผาไฟ โดยจะก่อกองไฟบริเวณหน้าบ้าน หรือข้าวบ้านแล้วแต่สะดวก เมื่อข้าวสุกแล้วก็จะนำกระบอกไม้ไผ่มาปอกให้เรียบร้อยสวยงามเพื่อนำไปถวายพระในเช้าวันพระต่อไป
ปัจจุบันการเผาข้าวหลามจะเหลือน้อย เพราะชาวบ้านจะซื้อข้าวหลามจากร้านค้าที่นำมาจำหน่าย เพราะมีความสะดวกถือว่าการทำบุญข้าวหลามจะทำให้มีความสุขอิ่มหนำสำราญ ประกอบกับฤดูที่มีไม้ไผ่แตกกอและเป็นไม้ไผ่อ่อน
งานบวช
ชาวไทยพวนมักยึดถือกันว่า พ่อ แม่จะต้องบวชลูกชายของตนให้ครบทุกคน เพราะถือการบวชทำให้ลูกได้ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ และการบวชทำให้บุตรชายของตนเป็นคนดี เป็นคนสุก เมื่อบวชแล้วลาสิกขาบท หรือสึกมาแล้วจะเรียกชื่อของชายคนนั้น ถ้าสึกจากการเป็นสามเณรว่า “เซียง” ถ้าลาสิกขาบทจากการบวชพระภิกษุจะเรียกว่า “ทิด” หรือ “บัณฑิต” ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ หรือที่เรียกว่าคนสุกแล้ว ทำไมจึงบวชนาคเดือนสี่ เพราะเป็นฤดูกาลว่างจากการทำนา และชาวบ้านก็มีเงินทองที่ได้จากการขายข้าวเปลือกในการทำนา ในสมัยโบราณจะมีการทำนาปีละครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อย ก็จะเป็นฤดูกาลบวชนาคและแต่งงาน หรือกินดอง
งานกินดอง
การแต่งงาน หรือชาวบ้านสมัยโบราณมักจะเรียกว่า “กินดอง” หรือเรียกว่า “เอาผัวเอาเมีย” ก็คือการที่หนุ่มสาวที่ชอบพอกัน ซึ่งอาจจะช่วยกันทำนาในระหว่างปีมีความสนิทสนม พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายต่างก็เห็นดีด้วยอยากให้ลูกของตนได้แต่งงานกัน ก็จะทำพิธีสู่ขอ หรือทำพิธีหมั้นแล้วกำหนดนัดหมายแต่งงาน ปกติจะถือเอาเดือนที่เป็นเดือนที่มีเลขคู่ ยกเว้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจะไม่แต่งงานกัน
การกินดองแบบโบราณจะมีพิธีที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องส่งเฒ่าแก่ฝ่ายของตนไปสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาว ตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้นว่าจะเจ้าสาวจะเรียกเท่าใด แล้วกำหนดวันแต่งงานกัน เมื่อถึงกำหนดวันแต่งเจ้าบ่าวก็จะทำพิธีส่งตัว เรียกว่า “ส่งเขย” ไปบ้านเจ้าสาวมีประเพณีกั้นประตูเงิน ประตูทองหลายชั้น จนถึงบนบ้านเจ้าสาว เจ้าสาวก็จะออกมาร่วมกระทำพิธีสู่ขวัญทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เสร็จพิธีสู่ขวัญก็จะมีการเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมพิธีสู่ขวัญทุกคน เรียกว่า การกินหมู เนื่องจากจะมีการแต่งงานกันบ้านเจ้าสาวจะรู้ก่อนกำหนด ก็จะมีการเลี้ยงหมูไว้สำหรับทำอาหารเลี้ยงแขกในวันแต่งงานของตน ตอนเย็นก็จะมีการส่งตัวเจ้าป่าวอีกครั้งหนึ่งไปยังบ้านเจ้าสาว แต่จะมีญาติและเพื่อนฝูงเท่านั้นไปส่ง ก็จะมีการเลี้ยงอาหารกันอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากการแต่งงานได้ 3 วัน หรือ 7 วัน เจ้าสาวจะไปเยี่ยมและคารวะบ้านญาติของฝ่ายเจ้าบ่าว เป็นการสร้างความคุ้นเคยและถือว่าเป็นเครือญาติกัน ฝ่ายเจ้าสาวก็จะเตรียมขนมและเครื่องแกงไปฝากแต่ละบ้านเรียกว่า “ไปคืนเฮือน” จะมีขนมข้าวเกรียบ ขนมวงแหวน ห่อเหมาะ หมี่ผัด ถ้าเป็นบ้านบิดา มารดาของเจ้าบ่าว เจ้าสาวก็จะเตรียมเสื้อผ้าไปฝากด้วย
ประเพณีกำฟ้า
ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวไทยพวนถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีกำฟ้า หมายถึง การนับถือ การสักการบูชาฟ้า คำว่า “กำ” หมายถึง การหยุด การนับถือ การสักการบูชา เป็นคำในภาษาพวน
เหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า เพราะชาวพวนมีอาชีพทางด้านการเกษตร การทำนา ในสมัยก่อนการทำนาต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาจึงมีความเกรงกลัวต่อฟ้า นับถือฟ้าฝนตามธรรมชาติเชื่อว่าถ้าผีฟ้าโกรธจะทำให้ฝนตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล หรือฟ้าอาจจะผ่าให้คนตามได้ ชาวพวนต่างก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณของฟ้าที่ให้น้ำฝนที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์จึงเกิดประเพณีกำฟ้าแต่เดิมถือเอาวันที่มีผู้ได้ยินฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 เป็นวันเริ่มประเพณีกำฟ้า เพราะถือเอาตามแนวดังกล่าวมักเกิดข้อโต้แย้งและหาข้อยุติได้ยากเพราะในแต่ละปีวันกำฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนภายหลังยังจึงกำหนดเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า วันกำฟ้า คือวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
คำทำนายเกี่ยวกับฟ้าร้อง เป็นการทำนายเกี่ยวกับเหตุการณ์ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดังนี้
- ฟ้าร้องทางทิศใต้ ชาวบ้านจะอดข้าว อดเกลือ
- ฟ้าร้องทางทิศเหนือ ชาวบ้านจะทำนาได้ผลดีฝนฟ้าจะตกบริบูรณ์
- ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีรบราฆ่าฟันกัน
- ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ชาวบ้านจะเดือดร้อน ฝนตกน้อยเกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง รบราฆ่าฟันกัน
ในสมัยโบราณถือกันว่า คืนที่ได้ยินฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 ก่อนจะเข้านอนเจ้าของบ้านจะร้องบอกแก่สัตว์เลี้ยงของตนให้รู้ตัว และสงบเสงี่ยมว่า “วัวควายเอยกำฟ้าเน้ออย่าได้อึกทึกครึกโครมแต่บัดนี้ไปจนฮุ่งเซ้าและถึงตะเง็นตกดิน จึงจี่ม้นกำฟ้าเน้อ” (คำในภาษาพวนว่า ฮุ่ง = สว่าง , ตะเง็น = พระอาทิตย์ , ม้น = พ้น)
กิจกรรมที่ถือปฏิบัติในวันกำฟ้า เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำโดยทั่วไปชาวไทยพวน จะยึดถือปฏิบัติดังนี้
- ไม่ใช้แรงงานวัว ควาย และหยุดทำงานที่ปฏิบัติเป็นประจำวันทั้งสิ้น
- เข้าวัดทำบุญถวายข้าวจี่ ข้าวหลาม
- กระทำพิธีสู่ขวัญข้าว
- เล่นกีฬา และการละเล่นพื้นบ้าน
ในวันแรกเรียกว่าวันเตรียมงาน หรือวันสุกดิบ ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านจะเตรียมทำอาหารคาว หวาน ไว้ทำบุญ บางบ้านจะทำขนมจีน (ข้าวปุ้น) บางบ้านจะเตรียมเผาข้าวหลาม และเตรียมทำข้าวจี่ ข้าวจี่และข้าวหลามที่นำมาถวายพระสงฆ์จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญที่วัด ถือว่าเป็นของทิพย์ ผู้ใดได้รับประทานแล้วเชื่อว่าจะไม่ถูกฟ้าผ่าบางท้องที่การกระทำข้าวทิพย์ เช่นข้าวหลาม และข้าวจี่ จะประกอบพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการเจริญพระพุทธมนต์อัญเชิญเทพยดามารับเครื่องสังเวย มาดูพิธีกรรมและมีการรำขอพร
ตอนกลางคืน ก่อนนอนผู้เฒ่าผู้แก่ หรือพ่อบ้านแม่เรือน จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟ กล่าวคำที่เป็นมงคลทำนองว่าให้ผีบ้านผีเรือนผีฟ้า ปกปักรักษาคนในบ้านในครัวเรือนให้อยู่ดี กินดี มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์
รุ่งเช้าวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันกำฟ้าทุกคนในบ้านจะตื่นแต่เช้าตรู่ แม่บ้านเตรียมอาหารคาวหวาน จัดใส่สำรับไปทำบุญถวายพระที่วัด มีการตัดบาตรด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ บางวัดก็จะกระทำพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าวหลามข้าวจี่ในตอนเช้าก่อนจะทำถวายพระสงฆ์และ แจกจ่ายญาติพี่น้องต่อไป ถือว่าเป็นของทิพย์ เสร็จพิธีสงฆ์ในตอนเช้าก็จะกลับบ้านไปรับประทานอาหาร
ในสมัยโบราณชาวบ้านที่นำข้าวที่เก็บเกี่ยวจากทุ่งนาเข้าไว้ในยุ้งข้าวที่บ้านแล้วก็จะกระทำพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าวในยุ้งของตน เพื่อบูชาแม่โพสพและเทพยดาฟ้าดิน ที่อำนวยให้เกิดความสุขสมบูรณ์แก่ครอบครัวเวลาบ่ายและตอนเย็น ก็จะมีการเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่น เตะหม่าเบี้ย เส็งกลอง ไม้อื้อ วิ่งขาโต่งเตว วิ่งสามขา วิ่งกระโบ้ (กะลา) วิ่งตี่จับ วิ่งเปี้ยว (วิ่งผลัด) ขี่ม้าส่งเมือง ปิดตาซ่อนผ้า ฟันอ้อย ชักเย่อตอนกลางคืน ก็จะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่นเล่นนางกวัก เล่นนางด้ง เล่นนางสาก ลิงลม ลำพวน รำวง เป็นต้น ซึ่งการละเล่นเกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผี ด้วย
ในวันกำฟ้า ทุกคนจะหยุดงาน 1 วันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตกดินทุกคนจึงมีเวลาสำหรับการต้อนรับญาติพี่น้องต่างบ้านต่างเรือนที่มาเยี่ยมเยือน และมีการเล่นกีฬาและการละเล่นพื้นบ้านอย่างเต็มที่
ประเพณีสงกรานต์
ชาวบ้านไทยพวน จะมีการสรงน้ำพระนานกว่าประเพณีสงกรานต์ทั่ว ๆ ไป ในสมัยโบราณการสรงน้ำพระจะเสร็จสิ้นในวันก่อพระทรายและบายศรีสู่ขวัญพระสงฆ์ ซึ่งวันดังกล่าวจะกำหนดให้ห่างจากวันสงกรานต์ วันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปีไปเป็นวันสิ้นเดือนห้า หรือสิ้นเดือนหก
วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด ถวายอาหารพระภิกษุสงฆ์ และจะเริ่มย่ำฆ้อง กลอง ตีเป็นทำนองพิเศษ สลับกับการตีฆ้องเสียงใหญ่และฆ้องเสียงเล็ก เป็นทำนองที่ไพเราะ พระสงฆ์จะเทศน์ตอนเช้าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของนางสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน ชาวบ้านก็ไปทำบุญที่วัด นำสำรับกับข้าวไปถวายพระที่วัด พร้อมข้าวเหนียวแดง ทางวัดก็จะตีฆ้อง ตีกลอง ทำนองเดียวกัน วันที่สองนี้ถือว่านางสงกรานต์ยังคงอยู่ที่บ้านของเรา วันที่ 15 เมษายน มีการทำบุญ สาดน้ำ ตีฆ้อง ตีกลอง เช่นเดียวกัน ถือว่าวันนี้นางสงกรานต์ท่านกลับไป ชาวบ้านจะสนุกสนาน เล่นสาดน้ำกัน และหยุดการทำงานทั้ง 3 วัน พอรุ่งเช้าวันที่ 16 เมษายน ถือกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ เถลิงศักราชใหม่
ในสมัยโบราณจะทำบุญ 3 วันแรก และวันต่อ ๆ ไปยังคงเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานทุกวัน โดยเฉพาะตอนเย็นจะมีหนุ่ม ๆ สาว ๆ ไปหาบน้ำที่สระวัด ก็จะเล่นสาดน้ำกัน ส่วนผู้เฒ่า ผู้แก่ก็จะหาบน้ำไปสรงน้ำพระภิกษุ สามเณรที่วัด โดยทางวัดจะทำรางน้ำพญานาค ลงมายังหอสรงน้ำพระ เพื่อให้พระสงฆ์สามเณร ได้รับการสรงน้ำทุกเย็น จนกว่าจะถึงวันสุดท้าย ประมาณ 1 เดือน จึงเลิกสรงน้ำพระสงฆ์สามเณร วันนั้นตอนบ่ายจะมีพิธีก่อพระทรายที่วัด และวันรุ่งขึ้นก็จะทำพิธีบายศรีเจ้าหัวโดยทำบุญเลี้ยงพระตอนเช้า และทำพิธีสู่ขวัญพระสงฆ์ทั้งวัด
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก คือเพื่อความสะดวกจะให้ลูกหลานได้สรงน้ำพระด้วย ก็จะทำพิธีสรงน้ำพระเถรานุเถระ หรือสมภารเจ้าวัดในวันต้น ๆ ของสงกรานต์เลยทีเดียว เช่นกำหนดสรงน้ำพระวันที่ 13 หรือ 14 หรือ 15 เมษายน ส่วนทางวัดก็จะกำหนดวันทำบุญชักกระดูกรวมญาติเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว นางบ้านก็จะชักชวนพี่น้องทำบุญชักธาตุ (ชักกระดูก) เป็นราย ๆ ไป ทั้งตอนกลางวันและตอนเย็น
หลังจากเสร็จสิ้นสงกรานต์ คือ ทางวัดได้กระทำพิธีก่อพระทราย และได้กระทำพิธีบายศรีพระสงฆ์ หรือเรียกว่า บายศรีเจ้าหัว ตามคำภาษาพวนแล้ว ในเดือน 6 นี้ จะมีวันทำบุญหลายอย่าง บางปีการทำบุญบายศรีเจ้าหัวก็จะตกอยู่ในช่วงต้นเดือน 6 พอใกล้วันวิสาขบูชา คือกลางเดือนหก ตามพิธีกวนข้าวทิพย์ก่อนวันวิสาขบูชา เพื่อจะได้นำเอาข้าวทิพย์หรือเรียกว่าข้าวมธุปายาส แต่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า ข้าวสับปะปิ คือการทำข้าวทิพย์จะมีการนำเอาสิ่งของหลาย ๆ อย่างมารวมกัน อาทิเช่น น้ำตาล นม ถั่ว งา น้ำผึ้ง เป็นต้น ที่ชาวบ้านนำมาบริจาค แล้วมากระทำพิธีกวนบนเตาไฟเข้าด้วยกัน
กวนข้าวทิพย์
การกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาส หรือข้าวสับปะปิ จะเริ่มตั้งแต่ทางวัดโดยทายกทายิการ่วมกันทำพิธีสงฆ์ในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 6 แล้วเชิญสาวพรหมจารี มาทำพิธีกวนข้าวทิพย์โดยแต่งกายชุดขาว จำนวน 4 คน เริ่มพิธีกวนข้าวทิพย์ก่อนจากนั้นชาวบ้านก็จะช่วยกันกวนต่อจนแล้วเสร็จ แล้วจึงจัดเตรียมสำหรับถวายพระสงฆ์ในเช้าวันพระวิสาขบูชาที่วัด ส่วนข้างเคียงที่ไม่ได้กระทำพิธีกวนข้าวทิพย์ ก็จะจัดสรรแล้วปันไปถวายด้วย เช่น วัดบ้านกล้วย และวัดสุนทริการาม (มะขามเอน) เป็นต้น ปัจจุบันการกวนข้าวทิพย์จะเปลี่ยนวันไปเป็นช่วงวันและเดือนอื่น ๆ ที่ชาวบ้านมีความพร้อม
งานเลี้ยงศาลเจ้าพ่อ
งานเลี้ยงศาลเจ้าพ่อ ชาวบ้านทรายนับถือเจ้าพ่อสนั่น บางคนก็เรียกว่า ศาลเจ้าปู่ ศาลเจ้าปู่จะตั้งอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของวัดบ้านทราย ริมคลองสนามแจงใกล้กับถนนทางเข้าวัดบ้านทราย เมื่อทุกคนผ่านไปผ่านมาจะทำความเคารพคารวะเจ้าพ่อสนั่น ทุกวันจะมีชาวบ้านมาทำพิธีเลี้ยงเจ้าพ่อในตอนเช้า เพื่อแก้บนที่อธิษฐานให้เจ้าพ่อช่วยเหลือในกิจการต่าง ๆ ที่ตนเองบนไว้ สำหรับการเลี้ยงเจ้าพ่อประจำปีก็จะอยู่ที่ตกลงกำหนดวันเลี้ยง ก็จะเรี่ยไรปัจจัยเพื่อซื้ออาหารไปถวายเจ้าพ่อ พร้อมทั้งผ้าสีแดงและดอกไม้พวงมาลัย ซึ่งชาวบ้านจะนับถือเจ้าพ่อและไปร่วมพิธีเลี้ยงเจ้าพ่อเสร็จแล้วก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน ถือว่าเจ้าพ่อเลี้ยงลูกหลานชาวบ้าน คติความเชื่อเพื่อให้เจ้าพ่อช่วยเหลือและอยู่เย็นเป็นสุข
ทำบุญกลางบ้าน
ทำบุญกลางบ้าน หรือเรียกว่า ทำบุญลานบ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านหรือคุ้มบ้านที่มีบริเวณลานบ้านกว้างขวาง คุ้มบ้านนั้นหรือกลุ่มบ้านนั้นก็จะชักชวนกันกำหนดวันทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ ในตอนเช้าวันใดวันหนึ่งถือว่าเป็นสิริมงคลกับหมู่บ้านของตน
พิธีการทำบุญ เมื่อกำหนดวันแล้ว ก็จะนิมนต์พระมาฉันเช้าโดยชาวบ้านละแวกนั้นก็จะทำสำรับอาหารมาถวายอาหารเช้าแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ฉันอาหาร ประพรมน้ำพุทธมนต์ เสร็จแล้วชาวบ้านก็จะรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน เป็นการได้บุญกับตัวเอง และยังแสดงถึงความรักใคร่สามัคคีกันในระหว่างหมู่บ้านด้วย
สารทพวน
ทำบุญห่อข้าว เป็นภาษาพูดชาวไทยพวนบ้านทราย หรือจะเรียกว่า “สารทพวน” วันสารทพวนจะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 (ถือเป็นวันสิ้นเดือน 9) วันสารทพวน ถือว่ามีความสำคัญต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอย่างมากหรือเรียกว่าเป็นกตัญญูก็ได้ คือ ลูกหลานจะต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บิดา มารดา หรือญาติที่ตายไปแล้ว
เริ่มจากก่อนวันสารทพวน จะต้องเตรียมทำขนมกระยาสารท ในสมัยโบราณจะต้องทำขนมกระยาสารททุกบ้าน มีการนำข้าวเปลือกมาคั่วทำเป็นข้าวตอก ตำข้าวให้เป็นข้าวเม่า นำน้ำตาลมาเคียวจนเหลวข้นแล้วก็จะนำเอาข้าวตอก และข้าวเม่าลงกระทะ กวนจนเข้ากับน้ำตาลเหลวจนได้ขนมกระยาสารท แล้วก็จะนำมาทำเป็นแผ่นเพื่อเตรียมไว้ถวายพระ และสำหรับไว้แจกญาติพี่น้อง การทำขนมกระยาสารทในสมัยก่อน ค่อนข้างลำบากแต่ก็สนุกดี ทุกคนในครอบครัวจะช่วยกันทำ บางบ้านก็จะทำรวมกัน แล้วแบ่งครึ่งกัน
เช้าตรู่วันสารทพวน ทุกคนจะต้องตื่นแต่เช้า ทุกบ้านจะมอบให้คนใดคนหนึ่งนำ “ห่อข้าว” ซึ่งประกอบด้วย ข้าว กับข้าว ขนม ผลไม้ ขนมจีน รวมห่อเป็นห่อข้าวด้วยใบตอง จะห่อเท่าจำนวนคนในบ้านหรืออาจจะมากกว่าแล้วนำไปถวาย เรียกว่า นำไป “เวนห่อข้าว” แล้วนำห่อข้าวไปไว้รอบ ๆ บริเวณอุโบสถ หรือเจดีย์ (ธาตุ) หรือใต้ร่มโพธิ์ ถือว่านำห่อข้าวไปให้ผีไม่มีญาติได้กินกัน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
ตอนสายชาวบ้านก็จะทำอาหารคาว หวาน ใส่สำรับหรือปิ่นโต นำไปถวายพระที่วัด ถือกันว่าเป็นการนำอาหารไปส่งให้บรรพบุรุษของตนที่ตายไปแล้วได้รับประทาน ถือว่า 1 ปีเมืองมนุษย์เท่ากับ 1 วันของเมืองเปรต หรือเมืองนรก มีการอุทิศกรวดน้ำให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงรับไปแล้ว ได้มารับประทานอาหาร
ตอนบ่ายก็จะนำดินเหนียวมาปั้นเป็นตุ๊กตา จำลองสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน ปั้นรูปวัว ควาย สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ แล้วนำใส่กระจาดหรือกระด้ง เพื่อให้คนในครอบครัวได้นำไปไว้ในทางสามแพร่ง เรียกว่าเป็นการส่ง “ผีย่าผีเกรียง” โดยคนที่นำไปส่งผีย่าผีเกรียง จะต้องเดินไปข้างหน้า ไม่หันหลังกลับ เป็นอันขาด เมื่อวางกระจาดผีย่าผีเรียงแล้วต้องนำมีดเล่มเล็ก “ขีดเครื่องหมายกากบาท” ตัดเส้นทางที่จะเดินกลับบ้านเพราะถือว่า ผีจะได้ไม่ตามมาด้วย
ตอนเย็น ลูกหลานก็จะไปรับพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ที่เข้าวัดเพื่อนำทางกลับบ้าน ส่วนผีย่าผีเกรียงนั้นจะอยู่ค้างคืนที่บ้าน 1 คืน เจ้าของบ้านจะใส่อาหารคาว หวานให้ผีได้กินด้วย รุ่งเช้ามืดก็จะนำผีย่าผีเกรียงไปไว้ที่ทางสามแพร่ง
บุญแหวนต้นทาน
การทำบุญแหวนต้นทานเป็นการทำบุญเฉพาะที่บ้านทรายในสมัยโบราณ การทำบุญแหวนต้นทาน คือการที่ชาวบ้านนำเอาผลไม้ ฟักแฟง ผักฟักเขียวแตงกวา มะละกอ ขนุน ส้มโอ มะพร้าวและอื่น ๆ ไปถวายพระที่วัดในวันพระ ในสมัยโบราณจะมีผลไม้จำนวนมากซึ่งชาวบ้านจะปลูกไว้ตามโนน หรือโนนลาน ตามทุ่งนา ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา จะมีผลไม้ผัก จำนวนมาก ชาวบ้านก็จะนำไปถวายไว้วัด เพื่อเอาบุญ ชาวบ้านเรียกว่า “ไปแหวนต้นทาน” ซึ่งมีความหมายเหมือนกับการทำบุญโอนทาน การนำสิ่งของที่เอาไปถวายไว้ที่วัดนั้น เพื่อสำหรับใช้ในโรงทานและทำอาหารถวายพระสงฆ์
ประเพณีเส่อกระจาด
ประเพณีเส่อกระจาดหรือใส่กระจาดของชาวตำบลบ้านทราย จะจัดกันในเทศกาลออกพรรษา ประมาณเดือน 12 ในเทศกาลเทศน์มหาชาติ หรือบุญพระเวส ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือว่าการได้ฟังเทศน์มหาชาติจบในวันเดียวจะได้กุศลผลบุญอย่างยิ่ง
การเส่อกระจาดหรือใส่กระจาด จะมีก่อนวันเทศน์มหาชาติ 1 วัน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าวันตั้งบุญมหาชาติ สาเหตุของการเส่อกระจาด ก็เพื่อให้ญาติพี่น้องที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนกัน และได้มาทำบุญเทศน์มหาชาติร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้พบปะสนทนาได้สนุกสนานและเชื่อมความสามัคคีซึ่งกันและกัน
กระบวนการการเส่อกระจาดจะมีขั้นตอนดังนี้
ก่อนวันเส่อกระจาดหรือวันเตรียมงานมหาชาติเจ้าของบ้านแต่ละบ้านจะไปต้อนสาว (เชื้อเชิญสาว) ต่างตำบลต่างบ้านที่ไม่ได้ทำบุญมหาชาติ เพื่อมาช่วยงานเตรียมอาหารและรับรองแขกที่จะมาเส่อกระจาด เช่น ตำข้าวปุ้น (ขนมจีน) น้ำยา ขนมหวาน และข้าวต้มมัดที่บ้านของตนในเย็นวันนั้น
วันเส่อกระจาดหรือวันตั้งบุญมหาชาติ ญาติพี่น้องต่างตำบลต่างบ้าน และผู้มาเยือนจะนำสิ่งของมาเส่อกระจาด (ใส่กระจาด) อาทิ กล้วย อ้อย ส้ม ส้มโอ ผลไม้ต่าง ๆ หรือบางคนอาจจะนำธูป เทียน และปัจจัย เช่น เงินมาเส่อกระจาดด้วย เจ้าของบ้านมีหน้าที่คอยต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนโดยการนำเอาขนมจีน น้ำยา อาหารหวานคาวที่เตรียมไว้มาต้อนรับ มีการทักทายพูดคุยกัน ซักถามสารทุกข์สุกดิบกันตามธรรมเนียม บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครั้นผู้มาเยือนอิ่มหนำสำราญแล้วก็จะขอลากลับ เพื่อไปใส่กระจาดบ้านหลังอื่น ๆ บ้าง เจ้าของบ้านจะแจกข้าวต้มมัดอีกคนละหนึ่งมัด เรียกว่า คืนกระจาด ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตอบแทนน้ำใจผู้มาเยือน ที่นำสิ่งของมาใส่กระจาด ประเพณีเส่อกระจาดจะเริ่มตั้งแต่ตอนบ่ายไปจนถึงมืดค่ำ หรือแขกผู้มาเยือนกลับหมด เจ้าของบ้านและสาวที่เชิญมาช่วยงานจะต้อนรับแขกอย่างเต็มใจ เจ้าภาพแม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็มีความอบอุ่นและสุขใจ
วันเทศน์มหาชาติคือวันรุ่งขึ้น เจ้าภาพและสาวที่มาช่วยงานจะนำสำรับอาหารไปถวายพระที่วัดทั้งตอนเช้าและตอนเพล เจ้าภาพจะนำสิ่งของที่ผู้มาเส่อกระจาดใส่ชะลอม เป็นกัณฑ์นำไปถวายพระเทศน์ที่วัดตามสลากที่ตนเองต้องถวายพระที่นิมนต์มาเทศน์ เพื่อเป็นการร่วมทำบุญกุศลประจำปี
ประเพณีเส่อกระจาดมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ของชาวไทยพวนตำบลบ้านทราย นับว่าเป็นประเพณีที่สนุกสนาน จัดทำกับแทบทุกตำบลในปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวค่อนข้างจะมีวงแคบมิในหมู่ลูกหลาน และญาติสนิทเท่านั้น ต่างกับในสมัยอดีตที่ผู้มาเยือน เส่อกระจาดจะมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ มากมายและสนุกสนาน ต่อเมื่อสภาวะเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายในครอบครัวสูงขึ้นทำให้การเส่อกระจาดมีเฉพาะในหมู่ไทยพวน บางวัดบางตำบลเท่านั้นได้แก่ตำบลบ้านกล้วย บ้านทราย หินปัก บางกะพี้ เชียงงา โพนทอง วัดโบสถ์ วัดราษฎร์ธานี สาวห้วยแก้ว มะขามเอน สระเตย เนินยาว มะขามเฒ่า หนองเมือง ห้วยกรวด นาจาน ฯลฯ
1.ครูบานาวา
พระภิกษุชื่อ "หล้า" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ครูบานาวา" เป็นพระที่ออกธุดงค์มาจากแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว เพื่อตามหาญาติ และพบพี่สาวชื่อว่า "ถอ" ที่หมู่บ้านทราย และท่านได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวัดบ้านทราย จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพของชาวไทยพวนบ้านทรายมาตั้งแต่อดีต และชาวบ้านถือว่าท่านเป็นต้นตระกูลของชาวบ้านทราย มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ เรียกว่า "เจดีย์ธาตุครูบานาวา" เพื่อให้ผู้คนได้เคารพสักการะ และจากการที่ลูกหลานได้สืบค้นต้นตระกูลดั้งเดิมของขาวไทยพวนที่บ้านทราย ทำให้ทราบถึงต้นตระกูลเก่าแก่ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันล้วนคือนามสกุล กฐินเทศ กินจำปา จูมทอง บุญนำมา ประดับมุข ปัญญาสงค์ พันธุ์วิชัย วนาวรรณ
ผ้ามัดหมี่ ผ้าทอไทยพวน
สมัยโบราณ การทอผ้าถือว่าเป็นงานที่ผู้หญิงต้องทำ เชื่อว่าหญิงทุกคนจะต้องทอผ้าเป็น จึงจะแต่งงานได้ ส่วนชายจะเป็นผู้สร้างกี่ทอผ้า เพื่อทอและตัดผ้า สำหรับใส่ทำนาส่วนใหญ่จะย้อมสีมะเกลือ (สีดำ) แต่ไม่ดำสนิทเพื่อป้องกันการเปื้อนโคลน ซึ่งการทอผ้ามัดหมี่ที่บ้านทราย ถือเป็นต้นตำรับการทอผ้ามัดหมี่ขนานแท้ ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีการสร้างสรรค์ลายผ้าแบบใหม่ และทำให้มีสีสันสวยงาม จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
การแต่งกาย
ชาวไทยพวน ยังอนุรักษ์การแต่งกายแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่ทอผ้า ที่ยังสวมใส่เสื้อสายเดี่ยวคอเหลี่ยมจับจีบ หรือที่เรียกภาษาท้องถิ่นกันว่า “เสื้อหม่ากาแล้ง” พร้อมนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ทอมือ มีตีนซิ่นเป็นลายขวาง และใช้ผ้าพาดบ่า “ผ้าโต่ง” แต่หากไปงานที่เป็นทางการสาวไทยพวนจะใส่แขนยาวทรงกระบอก
อาหาร
- ปลาส้มฟัก เป็นอาหารพื้นบ้านไทยพวนที่โดดเด่น ปลาส้มคือปลาที่หมักแล้ว มาบด หมักนวดด้วยเกลือ กระเทียม รสไม่เปรี้ยวมากเหมือนแหนม คำว่า “ส้ม” ภาษาพวนแปลว่า “เปรี้ยว” ฟัก ภาษาพวนแปลว่า “สับ” ปลาส้มฟัก จึงหมายถึงปลาสับรสเปรี้ยว ชาวบ้านนิยมรับประทานโดยการนำมาทอดทานกับข้าวเปล่า และเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
- แกงขี้เหล็ก ซึ่งไม่ใส่กะทิ ใช้ใบขี้เหล็กและใบย่านางที่ช่วยเพิ่มความหอม แล้วใส่น้ำปลาร้า น้ำพริกสด โดยเคล็ดลับความอร่อยคือ เผาพริก เผาหอม เผากระเทียม และตำกับปลาร้า ซึ่งหมักกันเอง
- ผัดหมี่เปียก ใช้หมี่ขาวลวก ใช้เครื่องปรุงเยอะหน่อย หอม กระเทียม ผัดให้หอม แล้วค่อยเติมน้ำตาล ใส่น้ำมะขาม ใส่กากหมู นอกจากนั้นยังมีตุ๋นฟักไก่มะนาวดอง และแจ๋วลาบ
ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ถือว่าเป็นพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนขนาดใหญ่ ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาเอาไว้ได้ โดยมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และใช้ภาษาพวนในการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน
พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย
พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จัดตั้งขึ้นโดยสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านทราย มีอาจารย์สมคิด จูมทอง อดีตอาจารย์จากโรงเรียนบ้านทราย เป็นประธานสภาวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มต้นจากการรับบริจาคสิ่งของมีค่าเก่า ๆ ทั้งข้าวของเครื่องใช้ ของโบราณจากคนในชุมชน เพื่อจัดแสดง เรื่องราวประวัติความเป็นมา ชาติกำเนิด วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตของชาวไทพวนบ้านทราย
ไทยพวนตำบลบ้านทราย เป็นชนชาติที่สืบเชื้อสายมาจากชาวพวน ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ต่อมาได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 200 ปีมาแล้ว โดยแยกย้ายกันอยู่ในทุกภูมิภาครวมทั้งหมด 19 จังหวัด และพื้นที่ของตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ก็เป็นพื้นที่หนึ่งในการตั้งถิ่นฐาน และถือได้ว่าอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีมีชาวไทยพวนอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของชาวไทยพวนบ้านทราย อาทิเช่น เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในครัวเรือน การจำลองกวงเฮือน (ห้องนอน) การทำผ้าทอมัดหมี่ เรือโบราณ นางกวัก ตู้โชว์จัดแสดงเครื่องแต่งกายของชาวไทยพวน ประเพณีสิบสองเดือน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงวัตถุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากแหล่งโบราณคดีวัดจันเสน และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งที่บ้านเชียงนี้ชาวพวนบ้านทรายถือว่าเป็นพี่น้องชาวพวนด้วยกัน (สมคิด จูมทอง, 2550 : สัมภาษณ์)
นางกวัก
"นางกวัก" ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ที่เล่นกันเทศกาลงานประเพณีกำฟ้า ประเพณีโบราณที่ชาวไทยพวนบ้านทรายยังคงอนุรักษ์ไว้ โดยหุ่นนางกวักมีจัดแสดงให้ได้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย
คลังข้อมูลชุมชน. (2564). วัดบ้านทราย-พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 05 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/WatBanSai
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 05 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://db.sac.or.th/museum/
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทราย. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 05 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://bansailopburi.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทราย. (ม.ป.ป.). ข้อมูลรายละเอียดชุมชน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 05 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://bansailopburi.go.th/
Phawanthaksa. (2562). บ้านทราย มรดกทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่า จากแคว้นเชียงขวาง. Smart SME. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 05 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: https://smartsme.co.th/