Advance search

ความเชื่อเรื่องผีที่ยังคงสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน การทำนาที่เป็นวิถีชีวิตหลัก และการทอผ้าที่เป็นกิจกรรมเสริมอยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน

หมู่ที่ 2
บ้านดู่ใต้
ดู่ใต้
เมืองน่าน
น่าน
เทศบาลดู่ใต้ โทร. 0-5460-0711
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
19 เม.ย. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
19 เม.ย. 2023
บ้านดู่ใต้

เวลานั้นริมห้วยมีต้นประดู่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น หมู่บ้านที่ตั้งขึ้นจึงได้ชื่อตามสถานที่ว่า ประดู่ ในเวลาต่อมาชื่อหมู่บ้านค่อย ๆ สั้นลงเหลือเพียงคำว่า บ้านดู่มาถึงทุกวันนี้ และเพราะระยะหลังประชากรในชุมชนเพิ่มขึ้น จึงมีการระบุเขตที่อยู่ของแต่ละละแวกเป็นบ้านดู่เหนือและบ้านดู่ใต้ให้ชัดเจนตามทิศทางของหมู่บ้าน


ความเชื่อเรื่องผีที่ยังคงสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน การทำนาที่เป็นวิถีชีวิตหลัก และการทอผ้าที่เป็นกิจกรรมเสริมอยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน

บ้านดู่ใต้
หมู่ที่ 2
ดู่ใต้
เมืองน่าน
น่าน
55000
18.729601
100.753309
เทศบาลตำบลดู่ใต้

บรรพบุรุษของหมู่บ้านอพยพจากเมืองเชียงรายมาตามลำน้ำสายต่าง ๆ จนกระทั่งพบลำน้ำน่านและเห็นว่าบริเวณที่ลุ่มน้ำด้านทิศใต้ของหมู่บ้านห้วยไคร้ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งเทศบาลเมืองน่าน) มีลำห้วยเล็ก ๆ ซึ่งมีต้นน้ำมาจากภูเขาทางทิศตะวันตกและไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ที่แห่งนี้เหมาะต่อการตั้งบ้านเรือนเพราะสมัยก่อนช่วงฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำน่านจะไหลแรงและท่วมเจิ่งนองไปทั้งสองฝั่งน้ำ หากอยู่ริมลำห้วยดังกล่าวจะปลอดภัย และสะดวกต่อการใช้น้ำมากกว่า จึงพากันจัดตั้งชุมชนเล็ก ๆ ขึ้น ณ บริเวณนั้น 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  ตำบลในเวียง ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  แม่น้ำน่าน
  • ทิศใต้  ติดต่อกับ  ตำบลกองควาย อำเภอเมืองน่าน
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ  ตำบลนาซาว ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน

เนื่องจากชุมชนอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำน่านและระดับท้องน้ำไม่ลึกเท่าไหร่ น้ำจากแม่น้ำสามารถซึมผ่านชั้นดินจากลำน้ำออกไปถึงบริเวณที่ตั้งบ้านเรือน จึงสามารถขุดบ่อน้ำบริเวณบ้านเพื่อใช้น้ำบาดาลได้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรกรรมตามละแวกบ้านเรือน และด้วยชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของบ่อมักทำสวนครัวเพื่อปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ บางรายก็มีภาชนะใส่น้ำ เช่น โอ่งตั้งอยู่เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวครัวใช้อาบชำระร่างกายและซักล้าง โดยปล่อยให้น้ำใช้แล้วไหลลงสู่พืชผักในสวนครัวที่อยู่ข้าง ๆ ต่อไป หากน้ำฝนที่รองเก็บไว้ระหว่างฤดูฝนเพื่อใช้ดื่มหมดลงก็จะตักน้ำจากบ่อมาใช้แทนน้ำฝนจนกระทั่งมีฝนตกในปีต่อไป ช่วงฤดูแล้งระดับน้ำในบ่อลดลงไปมากทำให้ตักขึ้นไม่ได้ ก็อาจจะลงไปใช้น้ำในแม่น้ำน่าน และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายซึ่งระบายน้ำได้ดี จึงเหมาะต่อการปลูกพืชพันธุ์ประเภทล้มลุกและพืชประเภทหัวหรือฝักอย่างเช่นเผือก มันเทศ และถั่วลิสง นอกจากนี้ลักษณะทางกายภาพของลำน้ำน่านประกอบด้วยกรวด หิน และทรายเป็นส่วนใหญ่ ระหว่างฤดูน้ำลดชาวบ้านจึงนำเกวียนมาขนกรวด หิน และทรายในแม่น้ำหรือจากหาดริมน้ำขึ้นไปใช้กันเสมอ ระยะหลังมีการก่อสร้างมากขึ้นทำให้มีความต้องการวัสดุก่อสร้างเหล่านี้มาก ชาวบ้านจึงได้อาศัยลำน้ำน่านเป็นแหล่งรายได้ด้วยการขายหิน กรวด ทรายเพื่อการก่อสร้างดังกล่าว ส่วนป่าเขาละแวกใกล้ ๆ ชุมชนดู่ใต้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเพราะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ตามป่าเขายังจะพอมีพืชพันธุ์ไม้เล็ก ๆ เช่นหน่อไม้ เห็ด มะกอกเปรี้ยว เถาย่านาง ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารได้บ้าง

การคมนาคม

ถนนหลวงสายหลักเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน (ถนนยันตรกิจโกศล) ตัดผ่านกลางหมู่บ้านดู่ใต้ บ้านใครอยู่ริมถนนก็สามารถออกไปติดต่อกับที่ต่าง ๆ ได้ตลอดวัน เพราะมีรถยนต์โดยสารวิ่งผ่านดู่ใต้ตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนค่ำ ปัจจุบันผู้คนของดู่ใต้มีเหตุจำเป็นต้องออกไปติดต่อกับตัวจังหวัดมากยิ่งขึ้นจึงมีบริการรถโดยสารคันเล็ก 28 คัน รับ – ส่งผู้โดยสารตั้งแต่เวลา 6.30 น. ไปจนถึง 18.00 น. 

บ้านดู่ใต้ประกอบด้วยบ้าน 265 หลังคาเรือน มีประชากรรวม 650 คน แยกเป็นชาย 321 คน และหญิง 329 คน

มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม ๆ ประมาณ 7 กลุ่ม กลุ่มบ้านเหล่านี้จะกระจายกันเป็นจุด ๆ ผู้คนในแต่ละกลุ่มบ้านมักจะเป็นญาติกัน ส่วนใหญ่จะมีบรรพบุรุษร่วมกัน ลักษณะและขนาดของครอบครัวจะเปลี่ยนไปมาระหว่างครอบครัวที่มีสมาชิก 2 ช่วงอายุและที่มีสมาชิก 3 ช่วงอายุ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ การตายและการแต่งงานของสมาชิกแต่ละช่วงอายุ กล่าวคือหากคนรุ่นปู่ย่าหรือตายายตายลง ครัวเรือนนั้นก็จะเหลือเพียงคนรุ่นพ่อแม่และลูก ในเวลาต่อมา เมื่อคนรุ่นลูกแต่งงาน นำคู่สมรสเข้ามาอยู่ด้วยและมีลูก สมาชิกของครัวเรือนนี้ก็จะประกอบด้วยคน 3 ช่วงอายุ และโดยทั่วไปแล้วผู้ที่อยู่เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่ามักจะเป็นผู้ที่ได้รับบ้านเรือนพร้อมที่ดินเป็นมรดกอีกส่วนหนึ่ง นอกจากที่นาที่ไร่ที่จะได้รับเหมือนกับพี่น้องคนอื่น ๆ ส่วนนามสกุลที่มีใช้กันอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่ เช่น อินปา อินต๊ะแปง จันต๊ะ คำตัน ขันทยศ และกองคำ

ไทยวน, ไทลื้อ

เนื่องจากตลาดผ้าทอต้องการผ้าทอพื้นเมืองจากจังหวัดน่านเป็นอย่างมาก จึงมีการจัดตั้งของชาวบ้านที่มารวมตัวกันเพื่อทอผ้า มีการทำอยู่ 2 ลักษณะ คือ

(1) กลุ่มสตรีทอผ้าประจำตำบล  การดำเนินงานของกลุ่มทุกอย่างทั้งการจัดหาทุนและอุปกรณ์ในการทอผ้า ตลอดจนปริมาณและรูปแบบการผลิตนี้อยู่ภายใต้การตกลงร่วมกันของสมาชิกกลุ่ม

(2) กลุ่มแม่เลี้ยง เป็นนายทุนหญิงที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน ผู้ทอรับจ้างทอผ้าให้กับคนกลุ่มนี้และให้ค่าจ้างโดยคิดจากผลงานที่ทำแต่ละชิ้น

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

วัดดู่ใต้และพระภิกษุที่วัดมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของชุมชน นอกเหนือจากการทำบุญทำทานต่าง ๆ ที่เนื่องในประเพณีทางพระพุทธศาสนา ปกติในวันพระชาวบ้านก็มาทำบุญใส่บาตรและฟังเทศน์ฟังธรรมกันประจำ แต่พอถึงงานบุญตามเทศกาลหรือพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิตก็จะทำบุญกันเป็นพิเศษ ผู้คนจะมาร่วมงานมากกว่าวันธรรมดา ดังปฏิทินประเพณี

  • เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม =  ออกพรรษา, กฐิน
  • เดือนยี่  =  จุดประทีป, ลอดกระทง
  • เดือนสาม  =  เทศน์มหาชาติ
  • เดือนสี่  =  ขึ้นบ้านใหม่, แต่งงาน
  • เดือนห้า  =  มาฆบูชา, งานประจำปี
  • เดือนหก  =  แต่งงาน, บวชลูกแก้ว
  • เดือนเจ็ด   สงกรานต์ รดน้ำดำหัวปู่ย่าตายาย, เลี้ยงผีบรรพบุรุษ, เลี้ยงผีหลวงประจำปี
  • เดือนแปด   วิสาขะบูชา นมัสการ
  • เดือนเก้า   นมัสการพระธาตุแช่แห้ง
  • เดือนสิบ  =  เข้าพรรษา
  • เดือนสิบเอ็ด  ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือนสิบสอง   ทานก๋วยสลาก (สลากภัต)

พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ  บริเวณ ตูบ” (ศาลผี) จะมีการรวมญาติทุก ๆ ปี ระหว่างฤดูแล้งช่วงหลังสงกรานต์เพื่อทำพิธี ในวันนั้นผู้ที่อยู่ในวงศ์วานเดียวกันจะมาร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน รวมไปถึงฝ่ายชายที่แม้จะแต่งงานแล้วแยกไปอยู่บ้านภรรยา แต่ก็ยังคงถือผีปู่ย่าตายายของตนอยู่

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การเกษตรกรรมคืออาชีพหลัก จำแนกตามกิจกรรมทางการเกษตรก็จะมีการทำนา ทำสวนผลไม้และปลูกพืชไร่ล้มลุกชนิดต่าง ๆ มีการปลูกข้าว ซึ่งพันธุ์ข้าวที่นิยมกันในชุมชนมีหลากหลายสายพันธุ์เช่น พันธุ์ข้าวหกปี ข้าวแพร่ ข้าวน้ำเล็ก แก้วลำเหลือง ขี้ต่ม แก้วดันต่ำ แก้วคว้าว แก้วดอกพุดหรือแก้วหอมและลายน้อย อย่างไรก็ตาม การมีที่ราบลุ่มทำนาได้น้อยทำให้ผู้คนในรุ่นหลังต้องขยายพื้นที่ปลูกข้าวขึ้นไปตามเนินเขาและเรียกข้าวที่ปลูกบนที่เนินเช่นนี้ว่าข้าวไร่ ส่วนใหญ่จะต้องใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตภายในระยะ 3-4 เดือน เพราะบนเนินไม่อาจกักเก็บน้ำให้เลี้ยงต้นข้าวได้เหมือนในที่ลุ่ม อาศัยน้ำฝนที่ตกลงมาช่วงฤดูฝนก็พอดีจะได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ การที่แต่ละครอบครัวในชุมชนที่ดินถือครองเพียง 4-5 ไร่ (ทั้งนาและสวน) ทำให้ผู้คนที่ไม่มีที่ดินทำกินเหล่านี้รวมกันอาศัยการรับจ้างเป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง งานรับจ้างที่ทำกันมีทั้งชนิดที่ต้องใช้ฝีมือ เช่น รับจ้างเลื่อยไม้แปรรูป เป็นลูกมือช่วยงานเชื่อมและอ๊อกเหล็ก นอกจากนี้ยังมีงานรับจ้างทั่วไปตามไร่นา อาทิเก็บข้าวโพด ถอนถั่วลิสง และทำงานในโรงบ่มใบยาสูบ 

1.นายณัฐวัตร กันทะตา ผู้ใหญ่บ้าน

ทุนทางวัฒนธรรม

การทอผ้า  ในอดีตชาวดู่ใต้จะทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน ได้แก่ ผ้าโพกศีรษะ เสื้อ กางเกง ผ้าซิ่น ผ้าตะโก้ง (ผ้าขาวม้า) รวมทั้งมุ้ง ผ้าห่ม ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน) ผ้าหุ้มสะลี (ผ้าหุ้มที่นอน) ผ้าสบงจีวรและตุง (ผ้าทำธง) ชาวบ้านจะปลูกฝ้ายเพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยทอผ้า ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในยามปกติและในคราวประกอบพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิต อาทิตอนแต่งงาน ซึ่งเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่ง การทอผ้านับตั้งแต่เก็บฝ้ายไปจนถึงการทอเป็นผืนนั้นมีขั้นตอนทั้งสิ้น 15 ขั้น คือ เก็บฝ้าย จากฝ้าย อีด(หีบ) ฝ้าย ยิง(ตี) ฝ้าย ล้อฝ้าย ปั่นฝ้าย ทุบฝ้าย แช่น้ำธรรดา กั้นฝ้าย (นำฝ้ายไปแช่น้ำข้าวเพื่อให้เส้นด้ายแข็งตัว) กวกฝ้าย (เอาเส้นฝ้ายเข้าวงล้อ) วนฝ้าย(เพื่อทำเป็นด้ายเครือ) ใส่ไม้ย้ำและเริ่มทอ

การทอผ้าพื้นของที่นี่มีสีสันต่าง ๆ ตัดกันไปมาในลักษณะของการทอผ้าลาย โดยจะใช้การย้อมสีจากธรรมชาติ และยังมีการทอผ้าชนิดมีลวดลาย โดยเทคนิคการทำลายผ้ามี 3 แบบคือ (1) การล้วง มีลายที่ดังที่สุดคือลายน้ำไหล (2) การเก็บมุก มีลายที่ดังที่สุดคือลายจันทร์แปดกลีบ ดอกแก้ว ดอกมะเฟือง ดอกกุหลาบ ดอกหมาก ดอกเปา(เต็งรัง) ผักกูดและลายข้าวลีบ ลายรูปสัตว์ เช่น ลายนกกันน้ำต้น (กิจน้ำจากคนโท) ลายพญานาค ลายช้าง ม้าและหงส์ และ (3) การมัดก่าน ซึ่งแท้จริงก็คือเทคนิคการมัดหมี่

ผ้าซิ่นที่ชาวบ้านชอบใส่นั้นแบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ ซิ่นม่าน ซิ่นเชียงแสน ซิ่นปล้อง และซิ่นก่าน

ผู้คนที่บ้านดู่ใต้มีแบบแผนการดำเนินชีวิตโดยรวมคล้ายคลึงกับ คนเมือง” (ไทยวน) ทั่ว ๆ ไปของภาคเหนือ การใช้ภาษาในชีวิตประจำวันจึงยังใช้ภาษาคำเมือง ซึ่งใช้เหมือนกันหมดจนกลายเป็นภาษาถิ่น


การเข้ามาของหน่วยงานของเทคโนโลยีและพลังงานได้เข้ามาจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคลองส่งน้ำและเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง ในขณะเดียวกันก็ได้ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านให้ทำนาปรังเพราะเห็นว่ามีน้ำในแม่น้ำเพียงพอ ซึ่งชาวบ้านต้องเสียค่าน้ำไร่ละ 100 บาท มีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมโครงการเกือบ 300 ราย แต่อีก 4 ปีต่อมา ปรากฏว่า เหลือเพียง 50 ราย ที่ยังทำนาปรัง ส่วนใหญ่ที่ไม่อาจเข้าร่วมโครงการเห็นว่า ค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มทุน มีที่นาน้อย ที่นาอยู่ในระดับสูงกว่าลำคลองทำให้น้ำไม่ท่วมขังแปลงนาได้นานเพราะซึมลงไปในที่ของคนอื่นซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า อีกทั้งยังกล่าวว่าข้าวนาปรังเติบโตช้าและไม่เจริญงอกงามเท่ากับข้าวที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน ผลผลิตจึงได้น้อยกว่าการทำนาในฤดูปกติ

ผลผลิตข้าวที่ปลูกในชุมชนส่วนใหญ่จะเก็บไว้กินเอง และมักไม่ค่อยพอกับความต้องการบริโภคของชุมชน ปัญหานี้เกิดขึ้นกับคนเกือบทั้งจังหวัด ดังเช่นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่านได้รายงานว่าในปี พ.ศ. 2527 ทั้งจังหวัดมีความต้องการข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปเป็นอาหารประมาณ 164,000 ตัน และต้องเก็บไว้ทำพันธุ์อีกราว ๆ 3,000 ตัน แต่ทั้งจังหวัดสามารถปลูกข้าวได้เพียง 153,000 ตัน ในส่วนที่ไม่พอจึงต้องสั่งซื้อจากจังหวัดอื่น

การเลือกถิ่นที่อยู่ของคู่แต่งงาน ภายหลังการสมรสจะสัมพันธ์กับระบบความเชื่อในผีบรรพบุรุษ เมื่อหนุ่มสาวตกลงจะใช้ชีวิตร่วมกันก็จะให้ผู้ใหญ่มาบอกฝ่ายสาวให้ทราบถึงการตัดสินใจของลูก ตามธรรมเนียมเดิมนิยมให้ สามเฒ่า เจ็ดแก่เป็นผู้มาบอกฝ่ายสาว คือ ผู้ใหญ่ฝ่ายชายที่จะมาเจรจาให้เป็น ชาย 3 คน และหญิง 7 คน เนื่องจากไม่มีการเรียกร้องสินสอด เรือนหอ หรือทรัพย์สินเป็นการเฉพาะ สิ่งที่ฝ่ายชายต้องทำในขั้นต้นคือการบอกกล่าวในลักษณะเสนอตัวว่าจะช่วยทำงานต่าง ๆ เมื่อถึงวันนัดหมายผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายสาวจะจัดพานข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านเจ้าบ่าวเพื่อสู่ขอเจ้าบ่าวให้มาเป็นเขย จากนั้นจึงพาตัวเจ้าบ่าวไปร่วมทำพิธีคารวะและรับพรจากปู่ย่าตายาย และร่วมทานข้าวที่บ้านเจ้าสาว ตอนหนึ่งในการแต่งงานจะทำพิธี ไขว้ผีที่คู่บ่าวสาวต้องไปเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนซึ่งกันและกัน ฝ่ายหญิงจะบอกเล่าที่หิ้งผีบนเรือนของเจ้าบ่าวว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปตนเองจะได้เข้ามาเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งของครอบครัว จึงขอให้ผีบรรพบุรุษรับรู้และจะได้เข้านอกออกในหรือทำสิ่งใดภายในบ้านได้โดยไม่ผิดผี ฝ่ายชายก็จะทำพิธีเซ่นไหว้ผีบ้านเจ้าสาวในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าหากคู่แต่งงานอยู่ในกลุ่มสกุลเดียวกัน ครอบครัวของฝ่ายสาวก็จะเป็นผู้เซ่นไหว้ผีแต่เพียงผู้เดียว ไทยวนในถิ่นนี้ถือธรรมเนียมที่คู่สมรสจะเลือกที่อยู่ข้างฝ่ายหญิงภายหลังการแต่งงานแล้ว ด้วยมีความเชื่อว่าหากสะใภ้ซึ่งมีผีบรรพบุรุษของตน จะต้องไปอยู่กับแม่ผัวซึ่งก็มีผีบรรพบุรุษของตนเช่นกัน ผีของทั้งสองฝ่ายอาจไม่ชอบกันและมีผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ ฉะนั้นในกลุ่มบ้านหนึ่ง ๆ จึงมักแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนของญาติ พี่น้องผู้หญิงด้วยกัน เรือนเดิมของพ่อแม่มักจะอยู่ตรงกลาง ส่วนข้างหน้าและข้างหลังหรือข้าง ๆ จะเป็นของลูก ๆ

เข้าจ้ำ (คนทรง) เป็นผู้นำทำพิธีและติดต่อกับผีสางเทวดา ในการติดต่อกับผีเพื่อสอบถามปัญหาต่าง ๆ เข้าจ้ำจะใช้ไม้วาจาเป็นเครื่องเสี่ยงทาย เพื่อหยั่งรู้ในเบื้องต้นว่าคำตอบที่ได้รับจากผีนั้นจะเป็นจริงตามที่คาดหวังมากน้อยเพียงไร เช่น ถามว่าปีนี้ฝนจะมากหรือน้อย ถ้าจะมีฝนอุดมสมบูรณ์ก็ขอไม้วาที่กางจนสุดปลายแขนสองข้างนั้นมีขนาดยาวออดไป แต่ถ้าเสี่ยงทายแล้วปรากฏว่าไม้สั้นลง ก็ให้เป็นที่รับรู้ว่าปีนั้นจะมีฝนน้อย บางครั้งต้องลองเสี่ยงทายถึง 3 หน เพื่อให้แน่ใจในคำตอบ

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544).  ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.:  https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=12

เทศบาลตำบลดู่ใต้. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. ค้นจาก  https://www.dutai.go.th/content/generalinfo [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566].

เพจ มาทิพย์ผ้าทอ. (2562). . ค้นจาก https://www.facebook.com/Matipphathor  [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566].

อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง. (ม.ป.ป.). ผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อ บ้านหนองบัว. ค้นจาก  https://www.nairobroo.com/travel/woven-fabric-baan-nong-bua/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566].

เทศบาลดู่ใต้ โทร. 0-5460-0711