กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านหลุมข้าว กับเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีไทยพวนในอดีต
จากเรื่องเล่าชุมชนที่เล่าสืบต่อกันมาว่า แรกเริ่มเมื่อลงหลักปักฐานก่อตั้งชุมชน ได้มีการขุดบ่อน้ำเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ เมื่อขุดบ่อลงไปกลับพบกระสอบข้าวอยู่ใต้ดิน และพบโอ่งมีฝาปิด เมื่อเปิดฝาโอ่งออกดูข้างในพบว่าเป็นข้าวเต็มโอ่ง จึงเรียกชื่อชุมชนนี้ว่า "บ้านหลุมข้าว"
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านหลุมข้าว กับเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีไทยพวนในอดีต
เดิมคนไทยพวนนั้น มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่เมืองพวน ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตพื้นที่ของแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่ยังประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ตามหัวเมืองภายนอกรอบกรุงเทพมหานคร เช่น สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี
ต่อมามีชาวไทยพวนกลุ่มหนึ่งออกแสวงหาถิ่นฐานทำกิน โดยการล่องแพมาทางน้ำและได้อธิษฐานว่า “หากแพล่องไปคา (ติด) อยู่ที่ใดก็จะขึ้นฝั่งทำมาหากินที่บริเวณนั้น” จนกระทั่งแพได้ลอยมาติดคายังดินดอนริมลำน้ำ จึงได้ลงจากแพขึ้นมาตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่แห่งนั้น และขนานนามหมู่บ้านว่า “บ้านดอนคา” ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพรหม (อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี)
ครั้นพอถึงฤดูน้ำหลากชาวบ้านดอนคาทำกินได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีน้ำมากไหลเข้าท่วมไร่นา ทำให้ผลผลิตเสียหาย ชาวบ้านบางส่วนจึงได้อพยพออกจากหมู่บ้านมาทางตะวันออกเพื่อหาที่ทำกินแหล่งใหม่ จนมาพบผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีลำคลองตัดผ่าน ป่าไม้สมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน
จากนั้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2457 หลวงปู่ยาได้นำชาวบ้านมาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัด สร้างโบสถ์ ที่ริมคลองเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน และได้ขุดหลุม (บ่อน้ำ) สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ เมื่อชุดลึกลงไปแล้วพบเมล็ดข้าวเปลือกอยู่ที่ก้นหลุม จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหลุมข้าว” ซึ่งมีหมื่นคำภา พินิชราช เป็นกำนันประจำหมู่บ้านคนแรก และมีครูโพธิ์ วังบุญ เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านหลุมข้าว โดยภายหลังจากก่อตั้งหมู่บ้านไม่นานนักชาวไทยพวนบางส่วนที่อาศัยอยู่ในแถบอำเภอบ้านหมี่ก็ได้อพยพมาสมทบจนมีประชากรหนาแน่นขึ้น
บ้างกล่าวว่าที่มาของชื่อ “บ้านหลุมข้าว” เล่ากันว่า สมัยก่อนในฤดูน้ำ น้ำจะท่วมมาก ทำให้น้ำท่วมข้าว มีข้าวไม่พอกิน เมื่อการทำมาหากินลำบาก จึงคิดหาที่ทำกินใหม่ ชาวบ้านจึงนำเกวียนมุ่งหน้ามาทางบ้านดอน พอถึงหนองเกวียนหัก แล้วหยุดกินข้าว พอกินอิ่มออกหาแหล่งน้ำกินที่อยู่ใกล้ ๆ แต่เกิดอาเพศมีแร้งมารุมกินห่อข้าวที่เหลือ ชาวบ้านเชื่อกันว่าแร้งกาไม่เป็นมงคล จึงเดินทางกลับบ้านไป แล้วออกหาที่ทำกินใหม่ จนมาถึงบ้านหลุมข้าว เห็นห้วยใหญ่ปลาชุม พอย้ายมาอยู่จึงขุดสระเพิ่มเติม ขุดไปเรื่อย ๆ ในสระพบแกลบเปลือกหรือข้าวเปลือก จึงเรียกว่าบ้าน "หลุมข้าว" ตำนานนี้ได้รับการบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ชาวหลุมข้าวจำและเล่าต่อกันมา
ตำบลหลุมข้าว ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ห่างจากอำเภอโคกสำโรง ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 48 ตารางกิโลเมตร โดยมีเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลถลุงเหล็ก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยโป่ง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลวังขอนขว้าง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลดงพลับ และตำบลบางกะพี้ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ไทยพวนบ้านหลุมข้าว ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดสิงห์บุรี และมีการย้ายถิ่นฐานของผู้คนเข้ามาเพิ่มเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ และเป็นตำบลหลุมข้าวในปัจจุบัน โดยชุมชนบ้านหลุมข้าวแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ดังนี้
- บ้านหลุมข้าว หมู่ที่ 4 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 24 ครัวเรือน และมีประชากรจำนวน 127 คน
- บ้านหลุมข้าว หมู่ที่ 5 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 120 ครัวเรือน และมีประชากรจำนวน 596 คน
- บ้านหลุมข้าว หมู่ที่ 6 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 117 ครัวเรือน และมีประชากรจำนวน 577 คน
- บ้านหลุมข้าว หมู่ที่ 7 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 84 ครัวเรือน และมีประชากรจำนวน 401 คน
- บ้านหลุมข้าว หมู่ที่ 8 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 95 ครัวเรือน และมีประชากรจำนวน 515 คน
ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลหลุมข้าว ยังประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นอาชีพหลักคิดเป็นร้อยละ 79.5 ของประชากรทั้งหมด เกษตรกรตำบลหลุมข้าวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีผลผลิตส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลูกข้าว พืชผัก ไม้ผล และยังมีประชากรบางส่วนที่ฐานะค่อนข้างยากจนไม่มีที่ดินทำกินประกอบอาชีพรับจ้างอย่างเดียว มีทั้งรับจ้างในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของประชากรทั้งหมด มีข้าราชการคิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด และในช่วงนอกฤดูการผลิตทางการเกษตร เกษตรกรจะออกรับจ้างนอกภาคการเกษตร หรือออกค้าขาย บางรายมีการค้าขายควบคู่กับการทำการเกษตรตลอดทั้งปี และยังมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของสมาชิกในชุมชน เช่น
- กลุ่มเกษตรกรทำนาตำบลหลุมข้าว
- ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
ชุมชนบ้านหลุมข้าวเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนที่มีวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อแบบดั้งเดิม ที่ยังคงรักษาและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผนวกกับวิถีความเชื่อแบบพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวโยงกับชุมชน โดยมีวัดธัญญะนิตยาราม (วัดหลุมข้าว) เป็นศูนย์รวมศรัทธาชุมชน และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวัดสำคัญต่าง ๆ ซึ่งชาวไทยพวนชุมชนบ้านหลุมข้าวมีประเพณี พิธีกรรมที่สำคัญในรอบปี ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ประเพณีกำฟ้า
- ประเพณีกวนข้าวทิพย์
- ประเพณีบุญกฐิน
- ประเพณีบุญห่อข้าว (สารทพวน)
- ประเพณีบุญข้าวหลาม
1.นายไพบูลย์ เชื้อสวย ผู้ริเริ่มเก็บรวบรวมสิ่งของเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว วัดหลุมข้าว
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว วัดหลุมข้าว
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าวแห่งนี้ก็ก่อตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2533 จากความตั้งใจของคุณลุงไพบูลย์ ที่อยากให้มีสถานที่สำหรับเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ เครื่องจักสาน เครื่องทำมาหากินของคนรุ่นก่อน คุณลุงจึงไปเรียนท่านเจ้าอาวาสวัดหลุมข้าวเพื่อปรึกษาหารือ และท่านก็มีความเมตตา ให้สามารถใช้พื้นที่ใต้อาคารหลังหนึ่งของวัดได้ คุณลุงไพบูลย์จึงได้เริ่มเก็บรวบรวมข้าวของจากเพื่อนบ้าน ในหมู่บ้าน และในเขตพื้นที่ใกล้เคียงมารวบรวมไว้ ก่อนหน้าที่ตัวห้องจัดแสดงจะมีฝาผนังครบทั้งสี่ด้านนั้น เดิมเป็นเพียงห้องโล่ง ๆ ที่กั้นเขตไว้เท่านั้น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดพิพิธภัณฑ์ให้เป็นรูปร่างขึ้นมา จนได้งบประมาณสนับสนุน จึงนำมาจัดทำพื้นไม้ให้พิพิธภัณฑ์
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนของเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องจักสาน ที่ใช้ในการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไทยพวน และผู้คนที่อยู่ในแถบนี้ เช่น คันไถ แอก เครื่องมือปั่นฝ้าย เครื่องมือทอผ้า ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของชาวไทยพวน นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือในการตวงวัดปริมาณข้าว เช่น ถังไม้ตวงข้าวขนาด 20 ลิตร “สัด” เป็นภาชนะที่มีขนาดเล็กลงมา เป็นเครื่องมือตวงข้าวแบบไทยที่สานจากไม้ไผ่ ส่วนใหญ่เอาไว้ใช้ตวงข้าวจำนวนไม่มากนัก ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวที่ใช้กันมาก่อนที่ไฟฟ้าจะเข้ามาในหมู่บ้าน เครื่องบีบขนมจีนที่ทำจากสังกะสี ซึ่งขนมจีนเป็นอาหารที่นิยมทำในงานมงคลของชาวไทยพวน เครื่องบีบเส้นลอดช่อง หินโม่แป้งเอาไว้ทำขนมจีนหรือทำขนม ถ้วยตะไล ถ้วยน้ำชา ช้อนสังกะสีที่ใช้ในครัวชาวบ้านสมัยก่อน ฯลฯ
ส่วนที่ 2 จัดแสดงรูปแบบการจัดห้องของชาวไทยพวน ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการจัดวาง และเครื่องใช้ภายในห้อง เช่น หมอนสามเหลี่ยม ผ้าม่านที่ใช้ในงานบวชที่ผู้หญิงชาวไทยพวนจะทอขึ้นมาเอง เพื่อใช้ในงานของตระกูลตนเอง และเป็นสมบัติตกทอดกันมาเรื่อย ๆ
ส่วนที่ 3 เป็นการรวบรวมของเก่าที่ใช้ในอดีต เช่น แผ่นเสียง และเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่า ปฏิทินปี พ.ศ. 2516 ที่คุณลุงไพบูลย์ อยากเก็บไว้ให้ลูกหลานดูว่า ในปี พ.ศ. เก่านั้นมีรูปแบบเป็นอย่างไร รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุโบราณประเภทต่าง ๆ หินดุ ครกบดยา เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบที่บ้านพรหมทิน แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่อยู่ใกล้กัน ตู้เก็บกระดานชนวนและดินสอ ที่สามารถให้เด็ก ๆ ที่มักจะเป็นผู้เข้ามาชมในพิพิธภัณฑ์ได้ทดลองเขียน ชั้นล่างจัดเก็บเป็นกระดิ่งขนาดเล็ก ๆ จำนวนมาก ที่มักใช้ประดับในวัด
ส่วนที่ 4 คือส่วนที่เกี่ยวกับงานฝีมือ ที่สามารถสอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้และลองปฏิบัติได้ เช่น การตัดกระดาษเป็นรูปลายกนก ลายดอกไม้ และผลงานที่เกิดจากตัดกระดาษ เช่น โคมแขวน
นอกจากนี้บริเวณส่วนกลางของพิพิธภัณฑ์ มีตู้จัดแสดงเงินธนบัตรและเหรียญจากประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้เก็บรวบรวมไว้และจัดแสดงให้ผู้ที่มีความสนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้
คลังข้อมูลชุมชน. บ้านหลุมข้าว-พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว จ.ลพบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: https://communityarchive.sac.or.th/community/BanLumKhao
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว วัดหลุมข้าว. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: https://db.sac.or.th/museum/
สำนักงานเกษตรอำเภอโคกสำโรง. ข้อมูลพื้นฐาน ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: http://khoksamrong.lopburi.doae.go.th/datahlumkhao.htm