Advance search

จากถิ่นฐานเวียงจันทน์ สู่วัฒนธรรมไทยพวนบ้านหัวกระสังข์

หมู่ที่ 10
หัวกระสังข์
บ้านซ่อง
พนมสารคาม
ฉะเชิงเทรา
วิไลวรรณ เดชดอนบม
10 ธ.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
7 ก.พ. 2024
บ้านหัวกระสังข์

ในอดีตบ้านหัวกระสังข์ มีชื่อเดิมว่าบ้านหนองกระสังข์ เนื่องจากมีหนองน้ำขนาดใหญ่ บริเวณหนองน้ำมีต้นผักกระสังข์ขึ้นอยู่มากมาย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าหนองกระสังข์ แต่ภายหลังถูกรุกรานจากคนไทยในพื้นที่จึงพากันย้ายถิ่นฐานมาตั้งชุมชนใหม่ โดยใช้ชื่อ บ้านหัวกระสังข์ตามถิ่นฐานเดิมที่เคยอาศัยอยู่


จากถิ่นฐานเวียงจันทน์ สู่วัฒนธรรมไทยพวนบ้านหัวกระสังข์

หัวกระสังข์
หมู่ที่ 10
บ้านซ่อง
พนมสารคาม
ฉะเชิงเทรา
24120
13.80053507
101.406468
เทศบาลตำบลบ้านซ่อง

บ้านหัวกระสังข์ตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ประมาณกันว่าชุมชนมีอายุยาวนานกว่าสองร้อยปี แหล่งที่มาของชาวบ้านหัวกระสังข์มีประวัติบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนว่าบรรพบุรุษคนไทยพวนเดิมเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ อพยพมาเมื่อครั้งเกิดกบฏใน พ.ศ. 2370 สันนิษฐานว่า บ้านหัวกระสังข์อาจตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เลิกประเทศราชเมืองเวียงจันทน์ และให้เมืองเวียงจันทน์ขึ้นตรงต่อประเทศไทย ส่งผลให้ชาวลาวพวนที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณเกาะสมอและหัวซาในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นจำนวนมาก โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีการหักล้างถางป่าจับจองพื้นที่ทำกินสืบทอดกันเรื่อยมา แล้วขยับขยายครอบครัวมาจนถึงบ้านหนองกระสังข์ (ปัจจุบันคือบ้านต้นสำโรง) และบ้านหัวกระสังข์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน

ส่วนที่มาองชื่อเรียก หัวกระสังข์ นั้นสันนิษฐานว่า เดิมทีชื่อว่า บ้านหนองกระสังข์ มาจากอาณาบริเวณที่มีหนองน้ำเป็นส่วนใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร และที่สำคัญบริเวณโดยรอบหนองน้ำมีต้นผักกระสังข์ขึ้นอยู่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าหนองกระสังข์ แต่อาศัยอยู่ได้ไม่นานก็ถูกคนไทยรังแกโดยการลักขโมยสัตว์เลี้ยง ขโมยข้าวของ แย่งจับจองพื้นที่ทำกินบ้าง จึงพากันอพยพย้ายถิ่นฐาน ทิ้งที่ทำกินเดิม ทิ้งบ้านเรือนเดิม อพยพหนีมาหักล้างถางป่าตั้งบ้านเรือนและจับจองพื้นที่ทำกินในที่ใหม่ ซึ่งก็คือหมู่บ้านหัวกระสังข์ในปัจจุบัน โดยการนำของนายซาว ผาวันดี แต่ก่อนบริเวณพื้นที่ชุมชนเป็นป่ารกร้างมาก เมื่อตั้งบ้านเรือนได้แล้ว แต่ละครอบครัวก็ต่างได้ทำการถากถางป่า ทำไร่ ทำนา และได้มีการตั้งชื่อชุมชนใหม่ โดยใช้ชื่อ “บ้านหัวกระสังข์” ตามถิ่นเดิมที่เคยอาศัยอยู่ นับแต่วันนั้นถึงปัจจุบันก็ประมาณการณ์ 200 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันว่า บรรพบุรุษเดิมของชาวไทยพวนเป็นชาวลาวที่อพยพเข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากนั้นได้มารวมกันอยู่ที่บ้านหัวกระสังข์จนกลายเป็นชุมชน เนื่องจากพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงอนุญาตให้ชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถเข้ามาตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ เมื่อชาวไทยพวนได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงถือว่าตนเป็นคนไทย และได้สถาปนากลุ่มของตนเองว่า “ไทยพวน” มาจนถึงปัจจุบัน

ที่ตั้งและอาณาเขต

หมู่บ้านหัวกระสังข์” ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 10 จากทั้งหมด 14 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ดั้งเดิมของหมู่บ้านหัวกระสังข์นั้น แต่ก่อนจะเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาพรรณ มีลักษณะเป็นป่ารกร้าง มีทางเดินเป็นตรอกเล็ก ๆ และมีทางเกวียนไว้สำหรับเดินทางรับส่งของ ปัจจุบันทางเดินนั้น ๆ ถูกสร้างเป็นถนนที่สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้ พื้นที่ต่าง ๆ ที่เคยเป็นป่ารกร้างก็เริ่มกลายเป็นบ้านเรือนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ซึ่งผู้คนที่เข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ของชุมชนนั้นเป็นชนชาติพันธุ์ชาวไทยพวนที่อพยพมาจากประเทศลาวและได้มีการสืบทอดเชื้อสายมายังรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านหัวกระพี้

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 9 บ้านหนองน้ำพุ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านหัวกระสังข์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 14 บ้านเกาะสุวรรณ

ลักษณะทางกายภาพ

ลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านหัวกระสังข์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และที่ราบจากทางตะวันออกเฉียงใต้มายังด้านตะวันตกเฉียงเหนือ อีกทั้งทางด้านตะวันตกของหมู่บ้านยังเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชัน และมีลำห้วยหลายสายที่ต้นน้ำเกิดมาจากแม่น้ำบางปะกง สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีการระบายน้ำที่ดี อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทางธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีพืชป่าและดอกไม้ป่าขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผักกระสังข์ สภาพพื้นที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม ซึ่งในอดีตพบการทำเกษตรกรรมร้อยละ 95 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมสำหรับที่ลุ่ม ได้แก่ การทำนาสลับกับการเพาะปลูกพืชไร่ สำหรับที่ราบสูงส่วนใหญ่ เกษตรกรจะเพาะปลูกมันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ปลูกไม้ผลยืนต้น เช่น มะม่วง ขนุน และเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร เป็ด ไก่ เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าพื้นที่ของชุมชนยังคงเป็นพื้นที่ราบลุ่ม แต่เส้นทางน้ำหลักที่ไหลเข้ามากลับไหลเข้ามาไม่ถึงพื้นที่ของหมู่บ้านบางแห่ง เนื่องจากระบบชลประทานและการตัดถนนเข้ามาใช้ใหม่ ส่งผลให้ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำฝนในการใช้บริโภคและอุปโภค รวมถึงการทำการเกษตรกรรมอีกทั้งฝนที่ตกอย่างไม่ถูกต้องตามฤดูกาล และอาชีพทางเลือกใหม่ ๆ ที่เข้ามา จึงส่งผลให้ปัจจุบันชาวบ้านเลิกประกอบอาชีพเกษตรกรรม และหันไปทำอาชีพรับจ้าง และทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ในอดีตสภาพพื้นที่เป็นป่าไม้หนาแน่น มีหนองน้ำลำคลองอยู่ทั่วไป ในพื้นที่แถบนี้มีต้นกระสังข์และผักกระสังข์ขึ้นเป็นจำนวนมาก คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด และเส้นทางเหล่านี้ยังเป็นทางผ่าน เป็นที่ทำมาหากิน และค้าขายของคนในอดีต จึงทำให้มีกลุ่มคนลาวและมอญเข้ามาทำมาหากินอยู่พอสมควร บางคนก็ได้แต่งงานและมีครอบครัวสร้างรกรากถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ดังนั้นแถบชุมชนบ้านหัวกระสังข์จึงมีการผสมผสานของวัฒนธรรม และประเพณีไทยพวน มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันหมู่บ้านหัวกระสังข์เป็นชุมชนใหญ่ที่มีการพัฒนาหมู่บ้านเรื่อยมา และมีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยพวน จนเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนบ้านหัวกระสังข์แห่งนี้เป็นอย่างมาก

ประชากร

ประชากรในชุมชนบ้านหัวกระสังข์ หมู่ที่ 10 มีประชากรทั้งหมดประมาณ 651 คน เป็นประชากรชาย 304 คน และเป็นประชากรหญิง 347 คน มีจำนวนครัวเรือนรวมทั้งหมด 246 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดเป็นคนไทย มีสัญชาติไทย และเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ ในชุมชนบ้านหัวกระสังข์เป็นแหล่งพักพิงของชนกลุ่มพวนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ครั้งบรรพกาล เมื่อได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงได้เรียกกลุ่มของตนว่า “ไทยพวน” เนื่องจากต้องการนิยามว่ากลุ่มของตนนั้นเป็นคนไทย แต่มีเชื้อสายของลาวพวน

ระบบครอบครัวและเครือญาติ

ชุมชนบ้านหัวกระสังข์ ครอบครัวและเครือญาตินับได้ว่ามีความสำคัญยิ่งต่อปัจเจกบุคคล โดยถือเป็นหน่วยพื้นฐานทางสังคมในการทำหน้าที่สร้างและหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ความรักความเอาใจใส่ อบรมสั่งสอน ปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาชิก ตลอดจนถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของสังคม รวมทั้งยังทำให้สมาชิกสามารถดำรงอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในสังคมได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย ลักษณะครอบครัวของชาวไทยพวน จะมีทั้งลักษณะครอบครัวที่เป็นแบบครอบครัวเดี่ยว และแบบครอบครัวขยาย โดยในอดีตเมื่อแรกตั้งครอบครัวนั้น จะมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีพ่อ แม่ และลูก ซึ่งหลังจากนั้นจะกลายเป็นครอบครัวขยายได้ในระยะหนึ่ง เมื่อลูกแต่งงานกับคู่สมรสจนมีลูก และเมื่อมีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็มักจะแยกครอบครัวออกไปอยู่ตามลำพัง ทำให้ครอบครัวเปลี่ยนแปลง จากครอบครัวขยายกลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวเหมือนเดิม

ชาวไทยพวนบ้านหัวกระสังขจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเครือญาติเป็นอย่างมาก ซึ่งกลุ่มเครือญาติในที่นี้ ก็หมายรวมไปถึงเครือญาติโดยการแต่งงาน และกลุ่มสมาชิกที่มีความสนิทสนมกลมเกลียว จนถือได้ว่าเป็นกลุ่มเครือญาติเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการติดต่อสัมพันธ์ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งผู้อาวุโสภายในชุมชนจะเป็นผู้คอยสอดส่องดูแลความประพฤติของเด็ก ๆ และคอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยุติธรรม

ชาติพันธุ์

บ้านหัวกระสังข์เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุไทพวน มีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาไว้ ก็คือภาษาพวน พิธีกรรมล้อมบ้าน การรำพวน การก่อกองทรายในประเพณีสงกรานต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักสงบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความรักความสามัคคี มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อีกทั้งมีความเชื่อแต่ครั้งบรรพบุรุษร่วมกัน ว่าศาลเจ้าพ่อปู่ตาและหลักบ้านนี้ เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุข ไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เข้ามาในหมู่บ้าน รวมถึงไม่เกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ ชาวบ้านที่นี่จึงเคารพและนับถือเจ้าพ่อปู่ตาเป็นอย่างมาก

เอกลักษณ์ของชาวไทยพวนที่ปรากฏต่อสายตาของคนถิ่นอื่นในเรื่องของความเป็นกลุ่มคนที่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน มีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษที่เคยปฏิบัติกันอย่างไรก็ถือปฏิบัติกันมาอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งยังมีความกตัญญูกตเวทีต่อวิญญาณของบรรพบุรุษอย่างสม่ำเสมอ สุภาพสตรีหรือลูกสาวชาวไทยพวนจะมีรูปร่างหน้าตาดี ผิวพรรณสะสวย ใบหน้างดงาม ผิวขาวเป็นยองใยเป็นที่สะดุดตาต้องใจ เกิดความสง่างามโปร่งใสเป็นที่รักใคร่ นิยมชมชอบของคนทั่วไป นิสัยของชาวไทยพวน เมื่อแขกแปลกหน้ามาบ้านหรือใกล้เรือนชาน ก็จะทักทายยิ้มแย้มแจ่มใส เชื้อเชิญให้ขึ้นเรือนของตน รวมทั้งหาเสื่อมาปูให้นั่ง พร้อมกล่องยาสูบ เชี่ยนหมาก และน้ำเย็นมาตั้งรองรับ และถ้าหากเป็นเวลาใกล้รับประทานอาหาร แขกที่มาเยี่ยมจะกลับไปด้วยการอดอาหารนั้นไม่มี เนื่องจากชาวไทยพวนตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการสั่งสอนสืบเนื่องกันมาว่า หากแขกมาเยี่ยมเรือนชานท่านเปรียบเหมือนเทวดานำโชคลาภมาสู่เหย้า พร้อมสิ่งมิ่งมงคลดีงามมาสู่เรือน ลูกหลานชาวไทยพวนระหว่างอยู่ในวัยหนุ่มสาวทุกคนจะอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ ว่านอนสอนง่าย เป็นธุระช่วยงานทั้งในและนอกบ้าน และเมื่อถึงเวลาที่จะออกเรือน ผู้ใหญ่จะจัดหาคู่ครองให้แต่งงานตามประเพณี แยกไปมีเหย้ามีเรือนเป็นของตนเอง

ไทยพวน

ในอดีตเป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวบ้านหัวกระสังข์จะประกอบอาชีพการทำเกษตรเป็นส่วนใหญ่ทั้งการทำนาและทำไร่ ลักษณะของเศรษฐกิจจะพึ่งพาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ภายในหมู่บ้านจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดระบบของการแลกเปลี่ยนเริ่มมีการค้าขายกับบุคคลภายนอกมากขึ้น การทำนาปลูกข้าวภายในชุมชนจะเป็นการช่วยเหลือกัน ซึ่งเรียกว่า การติดแรง คือ การพึ่งพาช่วยเหลือกันกลับไปกลับมาตลอดกระบวนการของการปลูกข้าว ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว ข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวส่วนหนึ่งจะเก็บไว้บริโภคและอีกส่วนจะนำไปขายกับชุมชนละแวกใกล้เคียงควบคู่ไปกับการทำไร่ การทำไร่จะทำในช่วงที่เว้นว่างในจากการทำนา ชาวบ้านจะทำนาสลับกับการเพาะปลูกพืชไร่ ซึ่งพืชส่วนใหญ่จะปลูกพืชยืนต้น เช่น มะม่วง ขนุน มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง เป็นต้น การปลูกพืชไร่ถือไปวิธีการหารายได้เสริมอีกวิธีหนึ่ง ในปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ที่มีความทันสมัยมากขึ้นเข้ามาช่วยเพื่อลดระยะเวลาในการทำงานจากเดิมที่ป็นอุปกรณ์ไม้ เปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์จำพวกเครื่องจักร รถไถนา เครื่องหว่านข้าว เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องนวดข้าว เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของการทำนาในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงแม้ว่าการทำนาจะเลือนหายไป ชาวบ้านชาวไทยพวนยังคงมีการอนุรักษ์และรักษาวิถีการทำนาไว้ โดยการจัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดทำขึ้นเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทำนาและการทำการเกษตรต่าง ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในทางเกษตรกรรม

ส่วนการเลี้ยงสัตว์ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ในอดีต ชาวบ้านจะเลี้ยงวัวเพื่อใช้ในการทำนา ซึ่งวัวที่เลี้ยงจะเป็นวัวลานพันธุ์ไทย มีการฝึกให้วัวเดิน เพราะต้องใช้วัวเดินย่ำบนดินเพื่อเตรียมหน้าดินในการทำนา และเหยียบข้าวเพื่อนวดข้าว ชาวบ้านจะปล่อยให้วัวลานกินหญ้าขนในบริเวณที่นา ซึ่งถือว่าเป็นการกำจัดวัชพืชนาไปในตัว แต่ในปัจจุบันชาวบ้านหันมาเลี้ยงวัวเพื่อขาย เพราะการทำนาได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่มีความทันสมัยอย่างรถไถ ซึ่งวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงคือ วัวบราห์มัน (Brahman) เป็นวัวเนื้อที่มีความสมบูรณ์ และให้เนื้อได้มากกว่าวัวลาน จะกินอาหารที่ผสมจากข้าวโพด มันสำปะหลัง และรำอย่างดี เมื่อโตเต็มวัย ชาวบ้านจะส่งวัวขาย ไม่ก็แลกเปลี่ยนกันเพื่อทำพันธุ์ให้กับวัว แต่เดิมรูปแบบการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านไม่ถูกหลักอนามัยทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านแย่ลง รัฐบาลจึงเพิ่มนโยบายพื้นที่สีเขียวเข้ามารณรงค์เพื่อให้ชาวบ้านมีเขตที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและปราศจากมลพิษ ทำให้ชาวบ้านหันไปใช้ระบบฟาร์มปิดที่มีต้นแบบมาจากฟาร์มของ CP มาประยุกต์ให้ฟาร์มของตนถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณภาพของสัตว์มากขึ้น

การเข้ามาของเทคโนโลยีการผลิตส่งผลต่อชุมชนเป็นอย่างมาก มีการตั้งโรงงานใกล้ชุมชน ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรไปทำงานในโรงงานมากขึ้นตามยุคสมัย นอกจากนี้อาชีพเกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักในอดีตจะมีก็แต่คนรุ่นเก่าในชุมชนที่ยังประกอบอาชีพนี้อยู่เท่านั้น

กลุ่มชาวไทยพวน ชุมชนบ้านหัวกระสังข์ จังหวัดฉะเชิงเทรา นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะ ทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นแบบเฉพาะของตนเองทั้งด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรม โดยเชื่อในพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติหรือการนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้จะแสดงออกมาในรูปแบบของประเพณีและพิธีกรรม โดยมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการกำหนดแบบแผนพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้คน มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในรอบปีของชาวบ้านรวมทั้งกระบวนการทางเศรษฐกิจของชุมชนแทบทั้งสิ้น ส่วนการถือผีบรรพบุรุษของชาวบ้านหัวกระที่การถือผีมีอิทธิพลต่อสมาชิกในครอบครัว สร้างแนวประพฤติปฏิบัติไปตามกรอบประเพณีที่บรรพบุรุษได้วางไว้ หากใครไม่ปฏิบัติตามจะเป็นการนำสิ่งที่ไม่ดีมาสู่ตนและครอบครัว ปฏิบัติตามวิถีครรลองให้ถูกต้องตามแบบแผนที่บรรพบุรุษได้กำหนดไว้ โดยนำเอาความเชื่อในพุทธและผีมาเป็นแกนหลักในการปฏิบัติตนตามปฏิทินวิถีชีวิตของชุมชน สร้างความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจในการแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อผีบรรพบุรุษด้วยการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ และประกอบพิธีกรรมใหญ่ คือ พิธีกรรมล้อมบ้าน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างญาติมิตรในหมู่บ้านและกลุ่มญาติที่ตั้งถิ่นฐานห่างไกลออกไปให้มีโอกาสกลับมาพบปะสังสรรค์กัน การทำกิจกรรมร่วมกันนี้นำไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์อันดีในระดับชุมชนที่ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโสที่ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญหรือบุคคลพิเศษภายในหมู่บ้าน

ปฏิทินชุมชน

เดือนกิจกรรม
1ทำบุญวันขึ้นปีใหม่
2งานบุญข้าวหลาม
3งานบุญมาฆบูชา, งานเลี้ยงข้าวเม่า, ประเพณีกำฟ้า
4ประเพณีสงกรานต์, ขนทรายเข้าวัด
5ทำบุญกลางบ้าน
6งานบุญวันวิสาขบูชา, เลี้ยงปลาคู่, ก่อพระทรายนอกบ้าน, ทำบุญล้อมบ้าน
7ตักบาตรวันเข้าพรรษา
8ตักบาตรวันอาสาฬหบูชา
9สารทพวน
10ตักบาตรวันออกพรรษา
11ลอยกระทง
12ถวายพานพุ่มเทิดพระเกียรติ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิธีล้อมบ้าน

พิธีกรรมล้อมบ้านของไทยพวนหัวกระสังข์ อำเภอพนมสารคาม จะจัดเลี้ยงขึ้นเฉพาะในวันอังคาร ภายในเดือน 6 เท่านั้น อีกทั้งในวันนั้นห้ามมีคนเสียชีวิตภายในหมู่บ้านเป็นอันขาด เพราะเชื่อกันว่าเป็นสิ่งอัปมงคล และไม่เป็นสิริมงคลต่อหมู่บ้าน หากในวันอังคารนั้นมีคนตาย พิธีกรรมจะเลื่อนไปในวันอังคารของอาทิตย์ถัด ๆ ไป หรืออาจเลื่อนไปในวันอังคารของเดือนถัด ๆ ไป โดยพิธีกรรมล้อมบ้านเกิดจากความเชื่อความศรัทธา ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ สาเหตุมาจากในหมู่บ้านเกิดมีคนป่วย และล้มตายติดต่อกันหลายคน บางคนป่วยเช้า สายก็ตาย บางคนป่วยสาย บ่ายก็ตาย บางคนป่วยเย็น กลางคืนก็ตาย ติดต่อกันแบบนี้ ชาวบ้านเกิดหวาดกลัว ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจึงพาชาวบ้านไปไหว้ศาลขอให้คุ้มครอง และเจ้าพ่อได้มาเข้าทรงบอกปู่ตาว่า ดวงบ้านดวงเมืองกำลังมีเคราะห์ เนื่องจากตั้งหมู่บ้านไม่มีหลักบ้านหลักเมือง ชาวบ้านจึงตั้งหลักบ้าน-หลักเมือง เป็นการต่อชะตาบ้านเมือง ตั้งไว้บริเวณใกล้ ๆ ศาล เรียกกันว่า "หลักศีล" และให้ทำบุญเสียเคราะห์หมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนทำกระทงหน้าวัว ปั้นคน โค กระบือ ม้า สุนัข ไก่ ข้าวดำ ข้าวแดง ใส่มาในกระทงหน้าวัว ช่วยกันหาหญ้าคามาถักต่อกันให้ยาวเพื่อล้อมรอบหมู่บ้าน

ในวันงานทุกบ้านจะนำหญ้าคาและกระทงหน้าวัวนี้มารวมกัน ณ บริเวณศาล ทำบายศรีปากชาม สู่ขวัญหลักบ้านหลักเมือง ทำบายศรีพุ่มสู่ขวัญชาวบ้าน เมื่อทุกคนพร้อมกันแล้วคนทรงอัญเชิญเจ้าพ่อประทับทรง เจ้าพ่อจะทำพิธีทำน้ำมนต์รดกระทง รดหญ้าคา และให้นำหญ้าคาที่ทำพิธีแล้วไปล้อมรอบหมู่บ้านนำกระทงไปส่งตามแยกต่าง ๆ ของหมู่บ้านเป็นการส่งผี ส่งเคราะห์ร้ายออกไปจากหมู่บ้าน และหญ้าคาก็เปรียบเสมือนสายสิญจน์ป้องกันไม่ให้ผีหรือเคราะห์ร้าย ๆ ใด เข้ามาในหมู่บ้านได้อีก หลังจากนั้นจะต้องสู่ขวัญหลักบ้านหลักเมืองให้ปกป้องรักษาบ้านเมืองให้สงบสุข และสู่ขวัญชาวบ้านให้ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวไม่ให้ไปอยู่ที่อื่น เมื่อเสร็จพิธีทั้งหมดเจ้าพ่อออกจากทรง ให้นิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น ณ บริเวณศาล กลางคืนก็ให้ชาวบ้านมารวมกัน จัดการแสดงพื้นบ้านให้มีการละเล่นในครื้นเครง พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ให้ทำบุญตักบาตร นิมนต์พระมาฉันเช้า เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี และให้ชาวบ้านปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำทุกปี โดยให้ปฏิบัติในวันอังคาร ภายในเดือน 6 ของทุกปี

หลังจากประกอบพิธีกรรมตามคำบอกเล่าของปู่ตามแล้ว ชาวบ้านก็ล้มตายน้อยลง การเจ็บป่วยแบบกะทันหันก็ไม่เกิดขึ้น ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการมีผีป่าเข้ามาในบ้าน ชาวบ้านเรียกกันว่า "ผีห่า" พิธีกรรมดังกล่าวจึงปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ภาษาพูด : ภาษาพวน

ภาษาเขียน : อักษรพวน อักษรลาว อักษรไทย อักษรธรรมลาว


ชาวบ้านหัวกระสังข์จะประกอบอาชีพเดิมประกอบอาชีพเกษตรทั้งการทำนาและทำไร่ ลักษณะของเศรษฐกิจจะพึ่งพาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ภายในหมู่บ้านจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดระบบของการแลกเปลี่ยนเริ่มมีการค้าขายกับบุคคลภายนอกมากขึ้น แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่หันไปทำงานในโรงงานที่เปิดใกล้ชุมชนมาก ส่วนอาชีพการเกษตรก็เหลือเพียงแต่คนเฒ่าคนแก่ที่ยังทำอยู่เท่านั้น


การรักษาพยาบาลยังไม่มีความทันสมัยเท่ากับปัจจุบัน แต่เดิมนั้นจะใช้วิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน คือ การรักษาด้วยยาสมุนไพรที่มีอยูในชุมชน เช่น หญ้าปักกิ่ง สรรพคุณแก้โรคความดันและเบาหวานได้ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านไม่ค่อยนิยมรักษาแบบพื้นบ้านมากนัก เนื่องจากสามารถเข้าถึงการรักษาที่สะดวกมากยิ่งขึ้นมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีเครื่องมือที่มีความทันสมัยมากกว่าการรักษาโรคแบบพื้นบ้าน มีสถานีอนามัยของหมู่บ้านสำหรับรักษาอาการเบื้องต้นเปิดให้บริการอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน ซึ่งก็คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านซ่อง (รพ.สต.) ทั้งยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. อยู่ในชุมชน ซึ่งก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่ก็ได้รับการอบรมเบื้องต้นโดยสาธารณสุขตำบลบ้านซ่อง ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข่าวสารทางสาธารณสุขให้แก่ชาวบ้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในชุมชน

พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์

พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์ตั้งไม่ห่างจากถนนใหญ่ ระหว่างเส้นทางฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี หรือทางหลวงหมายเลข 319 โดยเป็นอาคารชั้นเดียวที่อยู่ภายในบริเวณของศาลเจ้าพ่อเตียงทอง ศาลหลักเมือง และศาลแม่นางไม้ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านหัวกระสังข์

พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านหัวกระสังข์ก่อตั้งขึ้นจากการนำของนายสมชาย จันธรรมมาพิทักษ์ นายกเทศมนตรีในเวลานั้น ได้ระดมความเห็นของชาวบ้าน ซึ่งเห็นว่าวัฒนธรรมเดิม ๆ ของชาวไทยพวนอาจสูญหาย จึงได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น ณ ศาลปู่ตา เพื่อเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำรงชีวิต

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 โดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านช่อง จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว มีหน้าต่างโดยรอบอาคาร และมีบริเวณหน้าอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมและพิธีกรรมสำคัญ ๆ ของชุมชน โดยสิ่งของภายในพิพิธภัณฑ์เกิดจากชาวบ้านร่วมใจบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ทั้งเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือช่าง

สถานที่แห่งนี้จึงประยุกต์ใช้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมมรดกต่าง ๆ และส่งต่อให้กับลูกหลาน และคงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมดังที่เคยสืบทอดต่อกันมาไม่ขาดสาย ดังเช่น พิธีล้อมบ้านในเดือน 6 ที่เป็นการขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปจากหมู่บ้าน หรือเรียกว่า การทำบุญกลางบ้าน เป็นต้น ภายในพิพิธภัณฑ์ ไม่มีการจัดแสดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวใด ๆ แต่เป็นการจัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ หมวดเครื่องจักสาน เช่น ไซดักปลา ลอบ สุ่มไก่ อุปกรณ์ช่างไม้ เช่น เลื่อย กบไสไม้ เครื่องปั้นดินเผา เช่น ไหดินเผา เครื่องถ้วย เช่น พาข้าวหรือภาชนะที่เคยใช้เป็นสำรับกับข้าวใส่เครื่องคาวหวานสำหรับไปทำบุญที่วัด สิ่งของต่าง ๆ จัดอยู่บนชั้นเหล็กที่ปูพื้นด้วยไม้อัด ให้มีช่องทางเดินสำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงชิ้นวัตถุ

วัสดุต่าง ๆ จะได้รับการปิดป้ายแสดงชื่อเรียกวัตถุ ทั้งภาษาไทยกลางและคำที่แสดงการออกเสียงเป็นภาษาพวน เช่น ตะกร้าใหญ่ หรือ “กะซะ” สำหรับใช้ใส่ของเมื่อออกไปทำนา, พลั่วสาดข้าวหรือ “กาบสะเค่า” ใช้สำหรับสาดข้าวให้ฝุ่นละอองปลิวออกไป หลังจากการนวดข้าว ลุงเทียรยังสาธิตให้เห็นวิธีการใช้เครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “เขิง” หรืออุปกรณ์สานจากไม้ไผ่มีรูปทรงคล้ายกะชอนที่ใช้คั้นกะทิแต่มีขนาดใหญ่ ปากกว้างราวสองไม้บรรทัดและมีตาไม่ถี่มากนัก เมื่อใช้งาน ลุงเทียรแสดงการหงาย “เขิง” ทางปากขึ้นเพื่อชอนปลา หรือพาข้าวหรือที่ชาวไทยพวนเรียกว่า “สะแห” มีลักษณะคล้ายคานหาบและมีเครื่องสำรับสังคโลกขนาดต่าง ๆ สำหรับไว้ใส่ข้าวสุกและกับข้าวในการไปทำบุญที่วัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปิ่นโตเข้ามาแทนที่เพราะใช้ใส่เครื่องทำบุญได้สะดวกมากกว่า

ชญานิศ ชูชาติ. (2559). การเปลี่ยนแปลงของคติความเชื่อการเลี้ยงผีเจ้าพ่อปู่ตา กรณีศึกษา ชาวไทยพวน ชุมชนบ้านหัวกระสังข์ จังหวัดฉะเชิงเทรา. ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2562). พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1558

วิโรจน์ กัลยาหัตถ์. (2566). ประเพณีดีงามที่บรรพบุรุษคนพวน. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา. (2560). พิธีกรรมล้อมบ้าน(ฮีบ้าน). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566, จาก https://www2.m-culture.go.th/chachoengsao/