Advance search

ชุมชนสวนหลวง 1 กับสังคมเมือง และมัสยิดเก่าแก่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นจากการตั้งถิ่นฐานของชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงคราม

ชุมชนสวนหลวง 1 ซอยเจริญกรุง 103
สวนหลวง 1
วัดพระยาไกร
บางคอแหลม
กรุงเทพมหานคร
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
7 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
7 ก.พ. 2024
สวนหลวง 1


ชุมชนสวนหลวง 1 กับสังคมเมือง และมัสยิดเก่าแก่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นจากการตั้งถิ่นฐานของชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงคราม

สวนหลวง 1
ชุมชนสวนหลวง 1 ซอยเจริญกรุง 103
วัดพระยาไกร
บางคอแหลม
กรุงเทพมหานคร
10120
13.700863034271663
100.50318559086281
กรุงเทพมหานครเขตบางคอแหลม

“มัสยิด อัลอะติ๊ก” เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในชุมชนแถบถนนเจริญกรุง บริเวณที่ตั้งชุมชนของมัสยิดอัลอะติ๊ก ในอดีตอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ซึ่งพื้นที่แถบนี้ในอดีตเรียกว่า “ตำบลคอกควายหรือคอกกระบือ” มีวัดโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเรียกกันว่า วัดคอกควายหรือคอกกระบือตามชื่อตำบลที่ตั้ง ครั้นต่อมาเมื่อมีการสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พื้นที่ตำบลคอกควายอยู่นอกเขตกำแพงพระนครริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก พื้นที่แถบนี้มีประชากรเบาบางและเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่อพิจารณาถึงความเก่าแก่ของมัสยิดอัลอะติ๊กและชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบนี้ กอปรกับมีคำบอกเล่าโดยมุขปาฐะว่า บรรพชนของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในแถบนี้เป็นชาวมลายูตานีที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกมาจากหัวเมืองมลายูและนครรัฐปัตตานีเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี 2329 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือไม่ก็เป็นเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อปี 2374-2375

เมื่อพิจารณาถึงกรณีการอพยพเทครัวเชลยศึกจากหัวเมืองมลายู-ปัตตานีมาที่เมืองบางกอกในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า เชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนใส่เรือขึ้นมาจากหัวเมืองมลายูจะต้องมีจุดที่เทียบเรือเพื่อนำเอาเชลยศึกขึ้นฝั่งลงพักเอาไว้ก่อนที่จะถูกจัดแบ่งและแยกย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่อพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีสภาพคดเคี้ยวเป็นคุ้งน้ำ จุดที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นเมืองหน้าด่านตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณก็คือ เมืองพระประแดง ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่ฝั่งคลองเตยแถบตำบลพระโขนงเก่า ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่อำเภอพระประแดง ฝั่งสมุทรปราการ เลยจากคุ้งน้ำที่เมืองพระประแดงก็จะถึงอีกคุ้งน้ำหนึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาก็คือ บริเวณบางคอแหลม ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นชุมชนเก่าที่เรียกว่า ตำบลคอกควายหรือตำบลคอกกระบือ ตรงบริเวณแถบนี้อยู่นอกกำแพงพระนครและมีพื้นที่รกร้างติดต่อกับทุ่งวัดดอนและทุ่งมหาเมฆที่อยู่ลึกเข้ามา จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ว่า ณ บริเวณคุ้งน้ำช่วงนี้จะเป็นจุดที่สองซึ่งเรือที่ขนเทครัวเชลยศึกจากหัวเมืองมลายู-ตานีเทียบเรือเอาเชลยศึกขึ้นไว้เนื่องจากเป็นเขตที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่นอกกำแพงเมือง

กอปรกับมีข้อเขียนของอาจารย์ ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ระบุเอาไว้ว่า “เชลยที่นำขึ้นมาด้วยในครั้งนี้นั้นเป็นจำนวนมากและได้แยกให้อาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ หลายแห่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณรอบ ๆ ชานกรุง เช่น ที่ธนบุรี บริเวณสี่แยกบ้านแขก รอบ ๆ ชายกรุงเทพฯ คือบริเวณทุ่งครุในอำเภอพระประแดง บางคอแหลม มหานคร พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก….” (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยและสำเภากษัตริย์สุลัยมาน (พระนคร: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2517) หน้า 77) จึงมีความเป็นไปได้ว่า บริเวณของเขตบางคอแหลมคือจุดที่มีการนำเชลยศึกจากหัวเมืองมลายู-ปัตตานีนำเอาขึ้นฝั่งพักไว้ที่นี่นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว และชุมชนของชาวมุสลิมมลายูที่ถูกพักเอาไว้ที่นี่ก็น่าจะเป็นชุมชนมุสลิมในบริเวณคลองสวนหลวงของมัสยิดอัลอะติ๊ก

สอดรับกับมุขปาฐะของผู้อาวุโสที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนและมัสยิดอัลอะติ๊กว่า เป็นชุมชนของชาวมลายู-ตานีที่มีอายุเก่าแก่ถึง 200 ปีขึ้นไป แต่ไม่สามารถระบุว่ามัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ใด เพราะไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ หากข้อสันนิษฐานเป็นจริงก็แสดงว่าชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู-ตานี ในเขตบางคอแหลมนี้มีอายุเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกับชุมชนมุสลิมในเขตตำบลพระประแดงและในเขตฝั่งธนบุรีที่บริเวณสี่แยกบ้านแขก

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งจากสำนักคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครกล่าวถึงความเป็นมาของมัสยิดอัลอะติ๊กว่า มัสยิดอัลอะตี๊ก ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2352 เดิมชื่อ “สุเหร่าสวนหลวง” แต่ด้วยการที่เป็นมัสยิดแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้น จึงมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ ตามความเห็นของพี่น้องมุสลิมในช่วงนั้นเป็น “สุเหร่าเก่าสวนหลวง” เมื่อปี พ.ศ. 2328 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกทัพไปปราบพม่าทางใต้และเลยไปตีเมืองปัตตานี และได้ต้อนผู้คนจากปัตตานีซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจำนวน 4,000 คน มากรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้นายกองคุมปัตตานีในเวลานั้นคือ “ตวนกูมะหมูด” ชาวไทรบุรีผู้ใต้บังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือที่บรรพบุรุษของอัล-อะตี๊กรู้จักในนาม “ดาโต๊ะสมเด็จ” ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการในสมัยนั้น

ในจำนวนชาวมุสลิม 4,000 คนที่ถูกต้อนมานั้นได้กระจายกันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตามที่ดาโต๊ะสมเด็จท่านกำหนดให้ คือถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ขุนนางจะนำไปพักอาศัยที่สี่แยกบ้านแขก ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะนำไปพักอาศัยที่ถนนตกถึงบ้านอู่ (บางรักปัจจุบัน) ประตูน้ำ (คลองแสนแสบ) ปากลัด และหัวเมืองโดยรอบกรุงเทพฯ ส่วนชาวมุสลิมจากปัตตานีส่วนหนึ่งได้ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่ที่ตำบลสวนหลวง (ซอยเจริญกรุง 103 ปัจจุบัน) การเป็นอยู่ของชาวมุสลิมมักจะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มและต้องมีการปฏิบัติศาสนกิจคือการทำนมาซ ท่านดาโต๊ะสมเด็จในเวลานั้นคือ ทัต บุญนาค ผู้สำเร็จราชการพระนครกรุงเทพฯจึงได้ประทานที่ดินตำบลสวนหลวงให้ชาวมุสลิมปัตตานี ตั้งรกรากกันอยู่อาศัยเป็นการถาวรที่ตำบลนี้เอง “สุเหร่าสวนหลวง” จึงได้ถูกสร้างขึ้นเป็นเรือนไม้หลังแรกในย่านถนนตก ในราวปี พ.ศ. 2352 โดยมีตวนกูมะหมูดแห่งไทรบุรีดำรงตำแหน่งอิหม่ามคนแรก และสุเหร่าหลังอื่น ๆ จึงได้มีการสร้างขึ้นตามกันมาตามกาลเวลา ทำให้สุเหร่าสวนหลวงถูกเติมคำว่า “เก่า” ตามความหมายของบรรพบุรุษสวนหลวง ชื่อจึงกลายเป็น “สุเหร่าเก่าสวนหลวง” และเรียกติดปากกันตลอดว่า “สุเหร่าเก่า”

การปกครองดูแลสมัยนั้นนอกจากดาโต๊ะสมเด็จแล้วยังมีเจ้านายผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองดูแลชาวมุสลิมปัตตานีถูกจำกัดบริเวณแวะเวียนมาดูแลตลอดคือเจ้าพระยาสุรวงศ์ชัยวัฒน์ (เจ้าคุณทหาร) เจ้าจอมมารดาโหมด เจ้าจอมมารดาแพ และท้ายสุดกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เป็นเจ้านายองค์สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับชาวอัลอะติ๊ก จวบจนประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความสัมพันธ์ของเจ้าขุนมูลนายกับชาวสวนหลวงจึงได้สิ้สุดลงในปี พ.ศ. 2475

ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2495 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออีกครั้งจาก “สุเหร่าเก่าสวนหลวง” เป็น “มัสยิดอัลอะตี๊ก” เนื่องจากมีระเบียบบังคับให้ขึ้นทะเบียนเป็นมัสยิดตามพระราชบัญญัติกรมการศาสนา โดยผู้ก่อตั้งชื่ออย่างเป็นทางการและใช้มาจวบจนปัจจุบันคือ ครูอะหมัด วาฮาบ หรือ เช็คอะหมัด วาฮาบ มะนังกะเบา ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือจากชาวอัลอะตี๊ก

มีข้อถกเถียงว่าที่ไหนเก่ากว่ากันระหว่างชุมชนอะติ๊ก กับดารุ้ลอาบิดีน (สุเหร่าคลองกรวย) เพราะคาดว่าน่าจะมีอายุอานามพอ ๆ กัน (โดยข้อนี้ต้องไม่ยึดอายุสมัยและที่ตั้งมัสยิดดารุ้ลอาบิดีนหลังปัจจุบัน) เพราะมัสยิดหลังเดิมนั้นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองกรวย เป็นบริเวณคุ้งน้ำซึ่งเป็นทำเลที่ดีเยี่ยมในการตั้งถิ่นฐานและการคมนาคม (เหมือนมัสยิดฮารูณ)​ อีกทั้งในอดีตยังตั้งอยู่ใกล้กับตัวชุมชนบ้านทวาย (วัดคอกควาย-วัดยานนาวา และวัดดอนทวาย-วัดบรมสถล) และวัดลาว (วัดสุทธิ)​ ที่มาอาศัยอยู่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันด้วย

ชุมชนสวนหลวง 1 ตั้งอยู่บริเวณซอยเจริญกรุง 103 ถนนเจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร บริเวณโดยรอบของชุมชนจะเชื่อมติดกับชุมชนบางคอแหลม และชุมชนบางอุทิศ ชุมชนมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 15 ไร่ มีคลองกว้าง 10 เมตร ยาว 700 เมตร น้ำในคลองไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองมีประตูเปิด – ปิดควบคุมน้ำในคลอง มีประชากรพักอาศัยอยู่สองฝั่งคลอง ภายในชุมชนมีทางเท้ากว้าง 2 เมตร พื้นที่ของชุมชนเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประชาชนเช่าที่ดินในการปลูกบ้าน

ชุมชนสวนหลวง 1 เป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ ประชากรผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชน มีทั้งชาวพุทธ จีน และมุสลิม ประกอบด้วยบ้านเรือนประชาชนที่พักอาศัย ประมาณ 600 หลังคาเรือน มีโรงเรียน มัสยิด ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน และศูนย์ สุขภาพชุมชน

จีน, มลายู

ชุมชนสวนหลวง 1 เป็นชุมชนปลอดภัย นักท่องเที่ยวและประชาชนมั่นใจความปลอดภัยของชุมชน เยาวชนมีส่วนเป็นแรงผลักดันในการดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน เป็นแม่แบบชุมชนพึ่งตนเองในอนาคต ประชาชนในชุมชนประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว รับราชการ แม่บ้าน ฯลฯ ประชาชนในชุมชนเป็น ครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง สามารถดูแลกันภายในครอบครัวได้ และประชาชนมีความรักสามัคคีต่อกันภายในชุมชน

ชาวชุมชนสวนหลวง 1 มีความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านความสะอาดของชุมชน และด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน แม้เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติ และสัญชาติ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี คนในชุมชนมีความพยายามในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย การประดิษฐ์ งานฝีมือ อาทิ ไม้พายกวนขนม ดอกไม้ประดิษฐ์ การประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ ฯลฯ ชาวชุมชนต้องการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า เนื่องจากเมื่อผลิตสินค้าออกมาได้ตามความต้องการของประชาชน จำเป็นต้องมีตลาดรองรับ แม้ชุมชนสวนหลวง 1 จะมีงานประจำปีของมัสยิดเป็นช่องทางหนึ่งในการจำหน่าย และปัจจุบันมีศูนย์การค้าบริเวณใกล้เคียงที่มาเปิด แต่ทว่าการส่งไปจำหน่ายก็มีค่าใช้จ่ายมาก จึงมีความต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในการหาตลาดให้ต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนมีแหล่งเงินทุน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลาม กองทุนผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ

รัฐบาลมีโครงการพึ่งตนเอง โดยสนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชน ชุมชนละ 1 ล้านบาท ชุมชนจึงได้สร้างที่ทำการชุมชนขึ้น โดยครอบครัวของคุณจิตรลัดดา แสงน้อยอ่อน ได้บริจาคที่ดินส่วนตัวให้เป็นที่ทำการชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โดยภาพรวมชุมชนยังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากค่าครองชีพในเมืองที่สูง บางคนไม่มีงานทำเป็นเวลานาน ทำให้เดือดร้อนทั้งครอบครัว ส่วนที่มีรายได้ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้ นอกจากนี้ยังต้องการรายได้เสริมจากงานต่าง ๆ โดยคณะกรรมการชุมชนจัดอบรมอาชีพเสริม เช่น การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การทำงานฝีมือ เพื่อให้มีความรู้ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ต่อไป รวมทั้งมีเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็น


ชุมชนต้องการการดูแลจากรัฐในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ปัญหาผู้ขายยาเสพติดยังมีอยู่บ้างในชุมชน และยังมีปัญหาการพนันอันเป็นบ่อเกิดของการกระทำความผิด ประธานชุมชนได้ดูแลและประสานงานกับสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร และได้รับความช่วยเหลือจากกองปราบปรามในการจับผู้ก่อเหตุในชุมชน และชุมชนจึงได้ดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในจุดเสี่ยง เพื่อดูแลความปลอดภัยของชุมชน และคณะกรรมการชุมชนได้นำเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเหล่านั้นมาเข้าร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้มองเห็นคุณค่าในตนเอง


ปัญหาเรื่องน้ำเสียในคูคลอง เกิดจากประชาชนทิ้งขยะหรือปล่อยน้ำเสียลงคลอง จึงทำให้เกิดการเน่าเสีย และการตื้นเขินของคูคลอง ระบบการระบายน้ำในคูคลองไม่ดี ทำให้น้ำในคลองสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น จึงต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือบูรณะคลองให้สามารถใช้น้ำในคลองได้ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คลังข้อมูลชุมชน. (ม.ป.ป.). มัสยิดอัลอะติ๊ก กรุงเทพมหานคร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 กุมพาพันธ์ 2567. จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/MasjidAlatiq

คลังข้อมูลชุมชน. (2564). เรื่องเล่าชุมชน: มัสยิดอัลอะติ๊กแห่งถนนเจริญกรุง. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 กุมพาพันธ์ 2567.  จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/MasjidAlatiq/blog

สุวิมล พิชญไพบูลย์. (2556). โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม กรณีชุมชนสวนหลวง 1. วารสารวิจัยสังคม, 36(1), 1-28.

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร. (2563). มัสยิดอัลอะติ๊ก (สุเหร่าเก่า). สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 กุมพาพันธ์ 2567. จาก https://masjid.islamicbangkok.or.th/masjid/