ชุมชนพหุวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์หลายหลาย และการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยม
สาเหตุที่ชื่อหมู่บ้านรวมมิตร เพราะเมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านก็มีจำนวนประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ม้ง ลาหู่ ลีซู ไทลื้อ ขมุ และลัวะ
ชุมชนพหุวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์หลายหลาย และการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยม
บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรเดิมชื่อ บ้านอ้ายอู หรือบ้านแม่กกเหนือ เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยทรายขาว ตำบลแม่ยาว เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ เริ่มตั้งถิ่นฐานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยในช่วงแรกมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ 3 ครอบครัว ได้แก่ นายอ้ายอู มะโนรักษ์ นายคำ มะโนรักษ์ และนายคำจันทร์ มะโนรักษ์ ต่อมาได้มีญาติพี่น้องนายอ้ายอู มะโนรักษ์ ย้ายเข้ามาเพิ่มอีก 5 ครัวเรือน
ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีชาวกะเหรี่ยงหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ได้อพยพเข้ามาเพิ่มจำนวนเรื่อย ๆ ทำให้เนื้อที่หมู่บ้านไม่เพียงพอต่อการทำไร่และการสร้างที่อยู่อาศัย ชาวบ้านจึงอพยพลงมาตามลำน้ำแม่กก ซึ่งห่างจากที่ตั้งหมู่บ้านเดิมประมาณ 1.6 กิโลเมตร
พ.ศ. 2500-2512 ประชากรในหมู่บ้านได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้ามากันเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงทำให้ชาวบ้านบางส่วนกังวลว่าลูกหลานจะไม่มีพื้นที่ทำกิน จึงได้อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น
ในปี พ.ศ. 2513 ได้แยกหมู่บ้านและเปลี่ยนชื่อจากบ้านอ้ายดู เป็นบ้านรวมมิตร โดยนายถวิล กติกา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และสาเหตุที่ชื่อหมู่บ้านรวมมิตร เพราะเมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านก็มีจำนวนประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ม้ง ลาหู่ ลีซู ไทลื้อ ขมุ และลัวะ
ปัจจุบันบ้านรวมมิตร ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีหมู่บ้านบริวาร ได้แก่ บ้านดอยบ่อ 1 และบ้านดอยบ่อ 2
บ้านรวมมิตร ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีหมู่บ้านบริวาร ได้แก่ บ้านดอยบ่อ 1 และบ้านดอยบ่อ 2 ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงและที่ราบระหว่างภูเขาบางส่วน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 480 เมตร
บ้านรวมมิตร หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย ประกอบด้วยกะเหรี่ยง อาข่า ม้ง ลาหู่ ลีซู ไทลื้อ ขมุ และลัวะ โดยเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,665 ครัวเรือน มีประชากรชาย 1,183 คน หญิง 1197 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 2,380 คน
กำมุ, ไทลื้อ, ปกาเกอะญอ, ม้ง, ลัวะ (ละเวือะ), ลาหู่, ลีซู, อ่าข่าบ้านรวมมิตร ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีหมู่บ้านบริวาร ได้แก่ บ้านดอยบ่อ 1 และบ้านดอยบ่อ 2 ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกสับปะรด เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป และนอกจากนี้ชุมชนบ้านรวมมิตรยังเป็นชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ประชากรบางส่วนจึงมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คือการทำ "ทัวร์ช้าง" สำหรับเปิดบริการให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมตามเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน
ทัวร์ช้างนำเที่ยวชุมชน
ชาวบ้านรวมมิตรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ในอดีตจะใช้ช้างเป็นพาหนะ เพราะถนนหนทางยังไม่ดี ในปี 2518 จังหวัดเชียงรายเริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยว คนที่มีช้างจึงนำช้างมาให้นักท่องเที่ยวขี่ พาไปชมธรรมชาติริมแม่น้ำกกและหมู่บ้านชนเผ่าต่าง ๆ เริ่มแรกมีช้างเพียง 4 ตัว
ต่อมาไกด์และบริษัทท่องเที่ยวได้นำรายการขี่ช้างที่บ้านรวมมิตรบรรจุไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยวเชียงราย จึงทำให้การขี่ช้างที่บ้านรวมมิตรมีคนรู้จักมากขึ้น และเมื่อมีการจัดทัวร์ล่องแม่น้ำกกจากท่าตอนมาที่เชียงราย ปางช้างที่บ้านรวมมิตรจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชอบการท่องเที่ยวแบบ Adventure สัมผัสกับธรรมชาติ จึงทำให้ทัวร์ช้างที่บ้านรวมมิตรได้รับความนิยม มีการจัดหาช้างจากจังหวัดต่าง ๆ มาให้บริการนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ช่วงปี 2554 จำนวนช้างที่บ้านรวมมิตรมีจำนวนถึง 35 เชือก พอโควิดระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยวมา เจ้าของช้างไม่มีรายได้ ต้องขายช้างออกไป ส่วนใหญ่ขายให้คนเลี้ยงช้างที่จังหวัดสุรินทร์ ตอนนี้ช้างที่บ้านรวมมิตรเหลืออยู่ 14 ตัว
การท่องเที่ยว "ทัวร์ช้าง" ก่อนโควิดระบาด ทำให้ชาวบ้านรวมมิตรและใกล้เคียงมีรายได้จากการท่องเที่ยวกันถ้วนหน้า เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวจะมาขี่ช้างแล้ว "ชมรมทัวร์ช้าง" ยังได้เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย เช่น การล่องแพในแม่น้ำกก ล่องเรือจากสะพานแม่น้ำกก อ.เมืองเชียงราย มายังบ้านรวมมิตร มี "ทัวร์ล้อเกวียน" ให้นักท่องเที่ยวนั่งเกวียน การแสดงศิลปวัฒนธรรมชนเผ่า ที่พักโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ขายของที่ระลึก เสื้อผ้า ฯลฯ นอกจากนี้ชมรมทัวร์ช้างยังร่วมกับชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา อนุรักษ์น้ำกก จัดตั้งป่าชุมชน ดูแลป่าอนุรักษ์เนื้อที่กว่า 500 ไร่
ผ้าทอกะเหรี่ยง
สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตฯ ได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาอาชีพของชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตร เพื่อยกระดับการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน และพัฒนาสินค้า "ผ้าทอกะเหรี่ยง" รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักสวนครัว ผักสลัด เริ่มโครงการในปี 2564 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
กลุ่มมีสมาชิก 30 คน จัดตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี 2547 สมาชิกจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยคนละ 2 หุ้น หุ้นละ 50 บาท เมื่อมีกำไรจะหักเงินเข้ากลุ่ม 10% เป็นกองกลางเอาไว้บริหารกลุ่ม เป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว เพราะส่วนใหญ่จะทำนา ปลูกสับปะรด คนหนึ่งจะมีรายได้จากงานทอผ้า ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่จะผลิตผ้าทอ เสื้อ ผ้านุ่ง ชุดกะเหรี่ยง ฯลฯ ขายให้นักท่องเที่ยว และไปขายในงานออกร้านต่าง ๆ ราคาตั้งแต่ 400-500 บาทขึ้นไป แต่รูปแบบเสื้อผ้า ลวดลายยังเป็นแบบเดิม
ทัวร์ช้างที่บ้านรวมมิตรถือว่าเป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แห่งแรกๆ ของประเทศไทย เพราะชาวบ้านร่วมกันบริหารจัดการเองตั้งแต่ปี 2518 เช่น ใช้วิธีการลงหุ้นซื้อช้างมาเลี้ยงเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ลักษณะปางช้างแบบนายทุนที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว นอกจากนี้ยังจัดตั้งเป็นชมรมทัวร์ช้าง มีคณะกรรมการบริหาร มีการจัดคิวเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ
ผู้จัดการปางช้างชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตร บอกว่า ชาวบ้านที่นี่จะลงหุ้นกันซื้อช้างเพื่อนำมาให้บริการนักท่องเที่ยว โดยจะลงหุ้นกันตามเครือญาติหรือคนที่รู้จักกัน ช้างตัวหนึ่งอาจลงหุ้น 10-20 คน หุ้นหนึ่งมีราคาตั้งแต่หมื่นบาทจนถึงแสนบาท ตามราคาช้าง ส่วนราคาช้างตัวหนึ่งปัจจุบันประมาณ 2 ล้านบาทขึ้นไป หากเป็นช้างลักษณะดี มีความสวยงาม ราคาอาจสูงถึง 4 ล้านบาท เมื่อมีรายได้จึงจะนำมาแบ่งกันตามข้อตกลงของคนที่ลงหุ้น
ช่วงก่อนโควิดระบาด ปางช้างบ้านรวมมิตรมีช้างกว่า 30 เชือก มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย คนจีน และฝรั่งมาเที่ยว คิดราคานั่งช้างครึ่งชั่วโมง 300 บาท หนึ่งชั่วโมง 500 บาท นั่งได้ครั้งละ 2 คน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ เพราะปางช้างที่นี่จะใช้วิธีการลงหุ้นกัน และทำให้คนขายอาหารช้าง คนขายของที่ระลึก ขายเสื้อผ้า ที่พักโฮมสเตย์ มีรายได้ด้วย แต่พอโควิดระบาดนักท่องเที่ยวหายหมด หลังสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงโควิดจนถึงเดือนเมษายน 2566 การท่องเที่ยวก็เริ่มดีขึ้นมาบ้าง
คลังข้อมูลชุมชน. (2564). บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร จ.เชียงราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanKrariangRuamMit
เทศบาลตำบลแม่ยาว. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เทศบาลตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย.
ไทยโพสต์. (2566). วิถีคนริมกก...สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ‘ทัวร์ช้าง’ ที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร จ.เชียงราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://www.thaipost.net/