ชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย ตำบลหนึ่งติดฝั่งแม่น้ำสุไหงโกลก อีกฝั่งหนึ่ง คือ อำเภอเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน
มาจากเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยก่อนพื้นที่นี้มีช้างอาศัยอยู่มาก มีชาวท้องถิ่นจับช้างได้แต่ช้างสลัดโซ่หลุดออก ในภาษาท้องถิ่นคือ "สือโละ" และช้างวิ่งเตลิดเข้าป่าไป ภาษาท้องถิ่นคือ "ลุจูด" ที่แปลว่า ช้างหลุด ต่อมาชุมชนนี้เจริญขึ้นการเรียกชื่อจึงเพี้ยนไปเป็นคำว่า "โละจูด"
ชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย ตำบลหนึ่งติดฝั่งแม่น้ำสุไหงโกลก อีกฝั่งหนึ่ง คือ อำเภอเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน
ชุมชนโละจูดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงแนวชายแดนไทย-มาเลเซียในเขตอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส สภาพแวดล้อมเป็นพื้นที่ป่าติดแนวภูเขาสันกาลาคีรี มีป่าบาลา ฮาลา เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ อย่างไรก็ตามความเป็นมาของชุมชนไม่เป็นที่ระบุแน่ชัด แต่คำว่า “โละจูด” เป็นคำพื้นบ้าน มาจากเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยก่อนพื้นที่นี้เป็นป่าเขามีช้างอยู่จำนวนมาก ได้มีชาวท้องถิ่นจับช้างที่มาจากประเทศมาเลเซียได้ 1 เชือก และนำมาถึงบริเวณโล๊ะจูด ช้างสลัดโซ่ที่ล่ามหลุดออก ภาษาถิ่นเรียกว่า “สือโละ” และช้างได้วิ่งเตลิดเข้าป่า จึงเกิดเป็นคำว่า “ลูจุด” ที่แปลว่าช้างหลุด ต่อมาชุมชนนี้เจริญขึ้น จึงมีการเรียกเพี้ยนออกไปจากลูจุดเป็น “โละจูด” ในปัจจุบัน
พื้นที่และอาณาเขต
ตำบลโละจูด เป็นตำบลหนึ่งในหกตำบลของอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอแว้งและอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแว้ง ระยะทาง 11 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ตำบลแม่ดง และตำบลฆอเลาะ อำเภอแว้ง
- ทิศใต้ อำเภอตาเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
- ทิศตะวันออก อำเภอตาเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
- ทิศตะวันตก อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
โดยตำบลโละจูดมีพื้นที่ทั้งหมด 70.406 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลโละจูด จำนวนทั้งสิ้น 63.366 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่ของเทศบาลตำบลบูเกะตา จำนวน 7.04 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา โดยพื้นที่ตอนกลางและทางทิศตะวันออกจะเป็นพื้นที่ราบ ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่ราบค่อนข้างสูงและเป็นภูเขา มีพื้นที่ติดแม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
มีชาวมุสลิมอาศัยร้อยละ 90 คน ชาวไทยพุทธร้อยละ 10 คน ชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
มลายูคณะบาลา ลิเกฮูลู
ลิเกฮูลู หรือ ดีเกฮูลู เป็นการละเล่นขึ้นบทเป็นเพลงประกอบดนตรีและจังหวะตบมือ มีรากฐานเดิมมาจากคำว่า “ลิเก” คือการอ่านทำนองเสนาะ และคำว่า “ฮูลู” ซึ่งหมายถึง ทิศใต้ ซึ่งเมื่อรวมความแล้ว คือ การขับกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทิศใต้ บทกลอนที่ใช้ขับเรียกว่า ปันตน หรือ ปาตง ในภาษามลายู หัวหน้าวงคณะบาลาเคยเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนต่อมาลาออกเพราะมีใจรักการแสดง ฝึกหัดเรียนรู้ด้วยตนเอง ระดมเพื่อน ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชนมาฝึกหัดร่วมกัน
นายหนังตะลุง คณะโต๊ะมาอีซี
หนังตะลุงมีต้นกำเนิดจากอินเดีย เรียกว่า "ฉายานาฏก” ซึ่งได้เข้ามาแพร่เข้าในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย โดยผ่านเข้ามาทางมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย ชาวมลายู เรียกว่า "วายังกุเลต” วายัง แปลว่า รูปหรือหุ่น ส่วนกุเลต แปลว่า เปลือก หรือหนังสัตว์ วายังกุเลต จึงหมายถึง รูปหรือหุ่นรูปที่ทำด้วยหนังสัตว์ คณะโต๊ะมาอีซีเป็นอีกคณะหนึ่งที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยใช้ภาษามลายูสื่อสารและการแสดงแบบโบราณในปัจจุบัน ลิเกฮูลูและหนังตะลุงรับจ้างแสดงในงานรื่นเริง บางครั้งข้ามแดนไปแสดงเพื่อหาเสียงให้พรรคการเมืองในกลันตัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายวัฒนธรรม
วิถีชีวิตในชุมชนดำรงไว้ซึ่งปรัชญาชีวิตและความเชื่อที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น ความเชื่อเสาต้นแรกของบ้านชาวมุสลิมและไทยพุทธไม่มีการตอกตะปูและแขวนภาพเพราะถือว่าเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านที่จะคุ้มครองผู้อาศัย บ้านไทยพุทธนิยมแขวนภาพบรรพบุรุษที่สิ้นชีวิต เพื่อเตือนสติไม่ให้ประพฤติผิดทางศีลธรรม ชาวมุสลิมสั่งสมบุญโดยละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ขณะที่ชาวพุทธจัดอาหารเลี้ยงพระที่วัดทุกวัน โดยไม่ให้พระบิณฑบาตตามหมู่บ้าน เพราะเชื่อในอานิสงส์ของการทำความดี
พิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่อเรื่องผี อำนาจเหนือธรรมชาติ ดนตรีตือรีที่ใช้แสดงเพื่อรักษาโรคของมุสลิม เป็นการใช้ดนตรีเพื่อเรียกวิญญาณบรรพบุรุษให้เข้าทรงผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยถูกทรงจะแสดงท่าทางร่ายรำท่ามะโย่ง ท่าปัญจะซีละ หมอผีจะคอยรำคู่เพื่อเอาใจหลอกล่อให้ร่างทรงพูดออกมาตามที่หมอผีซักถาม สะท้อนถึงการเทิดทูนบรรพบุรุษเห็นคุณค่าของวิญญาณผู้ล่วงลับที่สามารถปกป้องรักษาผู้มีชีวิต
1.นายเจ๊ะปอ ลอดีง
เป็นอดีตกำนันตำบลโละจูด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ผู้ริเริ่มพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่น โดยใช้บ้านของตนเป็นศูนย์ดำเนินการก่อสร้าง อาคารพิพิธภัณฑ์แบบทรงไทย แล้วออกรวบรวมโบราณวัตถุตามหมู่บ้านต่าง ๆ ได้แก่ บ้านบาลา บ้านซะ บ้านสาวอ และบ้านโละจูด ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนดั้งเดิม ในปี พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์มรดกไทย
ทุนวัฒนธรรม
การผลิตกลองรำมะนา ชุมชนมีคณะการแสดงลิเกฮูลู โดยผลิตเครื่องตีขึ้นเอง กลองที่ใช้ผลิตขึ้นเองทำมาจากหนังวัว ประกอบกับโครงไม้รัดด้วยหวาย ตอกด้วยลิ่ม ใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นเครื่องมือ เช่น หัวเข่า สำหรับสวมและรัดเชือก
การผลิตหนังตะลุง ใช้วิธีนำหนังวัวไปฝังดิน ทิ้งไว้ 3-4 วัน เพื่อให้แบคทีเรียในดินทำลายพังผืดจนเป็นแผ่นหนังดิบ แสดงให้เห็นถึงการผลิตงานจากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นและการสร้างสรรค์ขึ้นเองจากวัสดุที่มีอยู่ด้วยการสืบทอดประสบการณ์การคิดค้นและปรับปรุงปรับเปลี่ยนจนได้แนวทางที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
พิพิธภัณฑ์โล๊ะจูด เป็นพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นที่ขอรับบริจาคศิลปวัตถุและโบราณวัตถุของชาวบ้านมาจัดแสดง เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวของอำเภอแว้ง ได้จดทะเบียนเป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ. 2526 มีศิลปวัตถุที่รวบรวมไว้ มีอายุระหว่าง 100-350 ปี มีอยู่ประมาณกว่า 200 ชิ้น แบ่งประเภทออกเป็น
- เครื่องใช้สอย เช่น เครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องทองเหลือง เครื่องดินเผา เครื่องจักสาน และเครื่องโลหะ ขอสับช้าง กระดิ่ง
- อาวุธ ได้แก่ หอก ดาบ มีด พร้า ขอ ขวานชนิดและแบบต่าง ๆ กริช
- เครื่องประดับ ได้แก่ หัวสัตว์ เขาสัตว์ และสัตว์สตัฟฟ์ต่าง ๆ ดอกไม้
- เงินตรา มีเงินตราต่าง ๆ
ภาษาพูดของคนในชุมชนมี 3 ภาษาหลัก คือ ภาษามลายูถิ่น ภาษาไทยกลาง และภาษาไทยถิ่น ภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันหลายคำเป็นคำเดียวหรือเพี้ยนเสียงจากภาษามลายู คนมุสลิมใช้ภาษาไทยบางคำในการสื่อสารกับคนมุสลิมด้วยกัน สืบเนื่องจากพื้นที่ติดชายแดนมาเลเซีย อิทธิพลของสื่อสาธารณะภาษาไทยยังน้อยกว่าภาษามลายู ค่านิยมในการเรียกคำหน้าชื่อทั้งไทยพุทธและมุสลิม มักขึ้นต้นด้วยอักษรกลาง หรือไม่มีเสียงสูงต่ำ ภาษาไทยถิ่นมีสำเนียงเหมือนภาษาถิ่นกลันตัน มีคำพูดจำนวนมากที่ต่างจากภาษาไทยทั่วไป แสดงถึงเอกลักษณ์ทางภาษา
ความสัมพันธ์กับรัฐไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์ความไม่สงบอาจทำให้ทัศนคติต่อรัฐมีน้อยลง เห็นได้จากการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของคนในชุมชน พยายามเลี่ยงการขอรับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลาง เหตุผลหนึ่งแสดงความเกรงกลัวต่ออำนาจ อีกเหตุผลหนึ่งเชื่อมั่นต่อการจัดการด้วยตนเอง ความสำเร็จของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สะท้อนให้เห็นว่าหากจะสร้างสิ่งใด ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจระหว่างคนมุสลิมกับคนไทยพุทธจะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
1. การแสดงออกถึงภูมิปัญญาของชาวมุสลิมและชาวพุทธในโละจูด สะท้อนถึงสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยที่ต่างฝ่ายพยายามเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แม้โอกาสของวัฒนธรรมมุสลิมจะดูดกลืนวัฒนธรรมไทยพุทธได้มากกว่า เช่น การยืมภาษา ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติร่วมกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน การแสดงหรือดนตรีในพิธีกรรม นอกจากจะรับจ้างในเขตแดนไทยแล้ว ยังได้รับเชิญไปแสดงในเขตแดนมาเลเซีย
2. ความย้อนแย้งในศาสนาอิสลามหรือในหมู่ชาวมุสลิม คนในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียยอมรับในความเป็นอิสลามิกชน แต่ก็มีบางกลุ่มปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา เช่น การเล่นดนตรีตือรีประกอบพิธีกรรมการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ เหตุนี้จึงมีมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาต้องการให้ยกเลิกพิธีกรรมหรือความเชื่อนอกรีต เพื่อให้ไร้มลทินจากการนับถือศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตามในอนาคตพิธีกรรมเหล่านี้อาจสูญสลาย เพราะขาดผู้สืบทอดพิธีกรรม เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ต่างได้รับการอบรมตามหลักศาสนา และมองว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา
ชุมชนโล๊ะจูด เป็นชุมชนที่มีเหตุการณ์รุนแรงน้อยมาก สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตร่วมกันอย่างสันติ ความเข้มแข็งของชุมชน และปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนต่างศาสนา
Museum Thailand. (2562). มิวเซียมประเทศไทย : พิพิธภัณฑ์บ้านโละจูด. สืบค้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/museumthailand
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2565). รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน มรดกวัฒนธรรมภาคใต้ “หนังตะลุง”. สืบค้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.culture.go.th
กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร. (ม.ป.ป.). ลิเกฮูลู หรือ ดีเกฮูลู การละเล่นของภาคใต้ ประเทศไทย. สืบค้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.nuac.nu.ac.th
ปัญญา เทพสิงห์ และเก็ตถวา บุญปราการ. (2559). ภูมิปัญญาท้องถิ่นในวัฒนธรรมชายแดนไทย-มาเลเซีย : กรณีศึกษาชุมชนโล๊ะจูด จังหวัดนราธิวาส. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. 11(1), หน้า 19-38.