ชุมชนชาวปกาเกอะญอในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ 1 ใน 11 หมู่บ้าน แหล่งปลูกทุเรียนป่าละอู พืชเศรษฐกิจ GI สายพันธุ์พระราชทาน
"ละอู" เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า "ไม้ไผ่" เพราะในอดีตบริเวณหมูบ้านมีป่าไผ่อยู่มาก เมื่อตั้งหมู่บ้านจึงตั้งชื่อว่า "ป่าละอู"
ชุมชนชาวปกาเกอะญอในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ 1 ใน 11 หมู่บ้าน แหล่งปลูกทุเรียนป่าละอู พืชเศรษฐกิจ GI สายพันธุ์พระราชทาน
บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาที่สลับซับซ้อนในแนวชายแดนไทย - เมียนมา จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนบ้านป่าละอูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ที่อพยพมาจากประเทศเมียนมา เนื่องจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเมียนมาบริเวณนี้จึงมีการอพยพเข้ามาอาศัยได้
ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นป่าทึบมากไม่มีผู้คนมาอาศัยอยู่ ต่อมามีชาวกะหร่าง (กะเหรี่ยงสะกอ) คนหนึ่งชื่อ นายอู้ มีอาชีพทำไร่และเป็นพรานล่าสัตว์ได้มาพบลำน้ำแห่งหนึ่ง ทั้งสองฟากลำน้ำมีต้นเลาขึ้นเต็มไปหมด นายอู้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าวไร่ มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดสะดวกในการหาเลี้ยงชีพ จึงได้ย้ายครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่และทำกินบริเวณใกล้ลำน้ำนั้นเป็นครอบครัวแรก หลังจากนั้นจึงมีชาวกะหร่างครอบครัวอื่น ๆ เข้ามาอาศัยทำมาหากิน เดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างฝั่งไทยและเมียนมา ส่วนบริเวณห้วยป่าเลา หรือป่าเลาอู้ นั้น ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น ป่าละอูมา จนถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านป่าละอูเริ่มตั้งหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2484 ที่มาของคำว่า “บ้านป่าละอู” มาจากสภาพแวดล้อมของหมู่บ้าน เนื่องจากบริเวณมีพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีแม่น้ำป่าเลาไหลผ่านตลอดปี อีกทั้งยังมีป่าไผ่ขึ้นอุดมสมบูรณ์ คําว่า ”ละอู” เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ไม้ไผ่ จึงตั้งหมู่บ้านว่า “บ้านป่าละอู”
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านฟ้าประทาน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เทือกเขาหีบ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยผึ้ง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยผึ้ง
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านป่าละอูมีลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขาบริเวณเชิงเขาตะนาวศรี บางพื้นที่มีความลาดชัน สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น มีถนนสายหลัก คือ ถนนทางหลวงชนบทสายหัวหิน-ป่าละอู
ลักษณะภูมิอากาศ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,689 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 868 คน ประชากรหญิง 821 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 372 ครัวเรือน
ปกาเกอะญอในอดีตชาวบ้านป่าละอูมีอาชีพ คือ การทำไร่ หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ตามหุบเขาหนึ่งไปอีกหุบเขาหนึ่งออกไปอาศัยอยู่กระจัดกระจายไม่หนาแน่น บริเวณพื้นที่มีภูเขาล้อมรอบ ส่วนใหญ่แล้วอาชีพการทำนา ทำไร่เป็นอาชีพหลัก ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าสิ่งนี้เป็นวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่ดำเนินมาแต่อดีต
ปัจจุบันชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากการทำไร่มาเป็นปลูกพืช เช่น ข้าว สับปะรด มะนาว มะม่วง กล้วย ทุเรียนป่าละอู และการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว กระบือ สุกร รวมถึงการทอผ้าซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในครัวเรือน
ศาสนา
ชาวบ้านป่าละอูส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมานับ คือ ศาสนาคริสต์ นอกจากการนับถือศาสนาเป็นคำสอนหลักแล้ว ชาวบ้านบางส่วนยังคงมีการนับถือผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมด้วย
ประเพณีสำคัญ
ประเพณีการเกิด เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่อดีต เมื่อมีการคลอดบุตรไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย บิดาจะนํารกไปใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่ เพราะเชื่อว่าเด็กนั้นจะมีอายุยืนยาวดังเช่นต้นไม้ใหญ่ และมีความเชื่อที่ว่าต้นไม้นั้นมีนางไม้เทวดาสถิตอยู่ การนำรกเด็กไปไว้ที่โคนไม้ใหญ่เปรียบเหมือนการขอพรให้นางไม้เทวดาที่สถิตอยู่ ณ ต้นไม้นั้นช่วยดูแลคุ้มภัยอันตรายแก่เด็ก และต้นไม้นั้นก็ห้ามโค่นหรือทำลายทิ้งเป็นอันขาด
ประเพณีแต่งงาน ปกติแล้วชาวปกาเกอะญอจะแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย โดยการเลือกคู่ครอง บ่าวสาวจะเป็นผู้ที่ทำการตัดสินใจเอง ในการเลือกคู่ครองจะมีประเพณีอย่างหนึ่งเรียกว่า "การย่องสาว" ญาติทางฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เปิดโอกาสให้ฝ่ายชายมาที่บ้านฝ่ายหญิงเพื่อพบปะพูดคุยทำความรู้จัก ทำความคุ้นเคยถ้าทั้งคู่มีความชอบพอกันทางฝ่ายหญิงจะยอมให้ฝ่ายชายมานอนค้างที่บ้านแต่มิได้ล่วงละเมิดแต่อย่างใด และจะต้องเป็นที่รับรู้ของพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านของฝ่ายหญิง ในวันแต่งงานแม่ของฝ่ายหญิงจะให้ฝ่ายหญิงทอผ้าไว้ให้ฝ่ายชายใส่ และเลี้ยงหมูเพื่อจะได้มีไว้ขายไว้กิน ในวันแต่งงานฝ่ายหญิงจะต้องใส่ชุดสีขาวเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ เพราะเมื่อแต่งงานไปแล้วจะไม่สามารถใส่สีขาวได้อีก
การไหว้ผี หรือการเลี้ยงผี จะกระทำกันปีละครั้ง การไหว้ผีเป็นความเชื่อของชาวปกาเกอะญอที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เชื่อว่าการไหว้ผีจะสามารถทำให้ตนและครอบครัวมีความสุข
- นายโจบู๊ แก้วมณี ผู้อาวุโสและหัวหน้าเผ่าชาวปกาเกอะญอบ้านป่าละอู
- นายศักดิดา ปัญญาหาญ ผู้นําชุมชนทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น
- นายปรีชา โคสินธิ์ ครูสอนศาสนาและภาษาปกาเกอะญอ รวมถึงสอนการบรรเลงเครื่องดนตรีของชาวปกาเกอะญอทั้งโบราณและปัจจุบัน เช่น กีตาร์กะเหรี่ยง ขลุ่ยไม้ไผ่ เตหน่า ไม้เคาะ ฯลฯ
น้ำตกป่าละอู
น้ำตกป่าละอูตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าละอู ซึ่งอุดมไปด้วยป่าไม้เขียวชอุ่มและสัตว์ป่านานาชนิด น้ำตกแห่งนี้ประกอบด้วยน้ำตกละอูใหญ่และน้ำตกละอูน้อย (น้ำตกละอูน้อยตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านป่าละอู) ซึ่งไหลลดหลั่นกันถึง 15 ชั้น มีน้ำไหลตลอดทั้งปี สามารถลงเล่นน้ำได้ แต่นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปได้ถึงชั้นที่ 7 เท่านั้น เพราะชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปอยู่ในป่าทึบ ยากต่อการเดินทางเข้าถึง
นอกจากนี้ น้ำตกป่าละอูยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผีเสื้อชุกชุม มีทั้งผีเสื้อเจ้าชายดำและผีเสื้อลายซิกแซ็ก ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ช่วงเวลาเช้าตรู่มีสภาพอากาศเย็นสบาย รวมทั้งยังมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าและนกหายากหลายชนิดด้วย
ทุเรียนป่าละอู
ทุเรียนป่าละอูเป็นทุเรียนพันธุ์ “หมอนทอง” พระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระราชทานให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดนนำไปปลูกที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด โรงเรียนอานันท์ ที่บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะเด่น คือ มีรสชาติหวาน เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง จะมีผลผลิตในระหว่างเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม และเนื่องจากเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว จึงทำให้ทุเรียนป่าละอูได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าเกษตร GI (Geographical Indication) หรือพืชที่เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ของตำบลห้วยสัตว์ใหญ่) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะทุเรียนป่าละอูนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีปลูกเฉพาะในพื้นที่ 11 หมู่บ้าน ของตำบลห้วยสัตว์ใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้ ยังเป็นทุเรียนที่บริหารจัดการโดยสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ในโครงการพระราชดำริอีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน ทุก ๆ ปี องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ได้จัดให้มีการประกวดทุเรียน ชมและชิม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน ทำให้มีความต้องการที่จะซื้อหามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ราคาของทุเรียนป่าละอูเพิ่มสูงขึ้น เพราะผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทย
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น แต่ในชุมชนบ้านป่าละอูยังคงมีการรักษาสภาพการณ์การดำรงอยู่ของชีวิตกับธรรมชาติไว้ได้เป็นอย่างดี ยังคงยึดอาชีพการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
โดยผู้นำท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชน เป็นตัวแทนกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน และเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชนขณะเดียวกันในปัจจุบันชาวบ้านค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานเป็นอย่างมาก เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะให้คนในชุมชนได้รับการยอมรับและมีโอกาสที่ดีในการทำงาน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). น้ำตกป่าละอู. สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/
ทุเรียนป่าละอูแท้ 100% ทุเรียนปลอดสารพิษ ส่งออกทั่วประเทศราคาปลีก-ส่ง. (2565). สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
ทุเรียนป่าละอู-สวนลุงเปี๊ยก. (2564). สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.facebook.com/suanloongpiak
รสสุคนธ์ เนาวบุตร. (2557). แนวทางการจัดการศึกษาเรียนร่วมพหุวัฒนธรรม: กรณีศึกษาชุมชนป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วิสุดา เจียมเจริญ. (2554). การศึกษาดนตรีของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ป.). น้ำตกป่าละอู. สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/
M.I.W. Food. (ม.ป.ป.). ทุเรียนป่าละอู ทุเรียนหมอนทองป่าละอู ปี 2566. สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.miwfood.com/durain-pa-la-u/
M.I.W. Food. (ม.ป.ป.). น้ำตกป่าละอู. สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.miwfood.com/pa-la-u/
M.I.W. Food. (ม.ป.ป.). บ้านป่าละอู. สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.M.I.W. Food.com/huay-yai-village/