Advance search

 วิถีการดำรงชีพอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วยป่ามะแขว่นกับการทำไร่หมุนเวียน

หมู่ที่ 6
บ้านแม่ส้าน
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
อบต.บ้านดง โทร. 0-5420-9513
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง
22 ก.พ. 2024
จิรัชยา สีนวล
22 ก.พ. 2024
บ้านแม่ส้าน


 วิถีการดำรงชีพอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วยป่ามะแขว่นกับการทำไร่หมุนเวียน

บ้านแม่ส้าน
หมู่ที่ 6
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
52220
18.6266776104987
99.7738972306251
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง

"ชาวบ้านแม่ส้าน" เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่หมู่บ้านสลก-สลอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมาย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ต่อมาได้เกิด การขัดแย้งเรื่อง ศาสนากันอย่างรุนแรง เพราะกลุ่มหนึ่งนับถือผี อีกกลุ่มนับถือศาสนาคริสต์ จึงได้แยกตัวออกมากลายเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยตาดที่อยู่ปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่สอง อพยพมาอยู่ที่ห้วยเกี๋ยงจุดแรกก่อนจะถึงบ้านแม่ส้าน ประมาณ 5 กิโลเมตร จำนวน 5 หลังคาเรือน ส่วนบ้านกลางนั้นยังปักหลักอยู่ที่เดิม สมัยเจ้าราชบุตร ปกครองเมืองลำปาง ประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 5 หลังคาเรือน กลายมาเป็น 40 หลังคาเรือน เนื่องจากได้มีการอพยพเข้ามาสมทบ และอัตราประชากรที่เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องการปกครองกันในกลุ่มขึ้นอีกครั้ง จึงได้มีคนอพยพย้ายไปบ้านห้วยตาดบางส่วน และอีกส่วนหนึ่งอพยพไปอยู่ที่บ้านแม่ฮ่างใต้ อำเภองาว จึงทำให้จำนวนบ้านเหลือเพียง 30 หลังคาเรือน จากนั้นก็พากันอพยพจากบ้านห้วยเกี๋ยง มายังบ้านแม่ส้านใต้ทั้งหมด โดยปล่อยให้บ้านห้วยเกี๋ยงเป็นบ้านร้าง 

หลายปีต่อมาได้เกิดโรคอหิวาตกโรคและไข้มาลาเรียระบาดอย่างหนัก ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จาก 30 หลังคาเรือน เหลืออยู่เพียง 20 หลังคาเรือน จึงได้ตกลงย้ายที่อยู่กันอีกครั้ง เนื่องจากคิดว่าผีป่าได้เข้ามา ทำร้ายผู้คนในหมู่บ้านและทำให้ผู้คนล้มตายลง แต่การย้ายครั้งนี้ห่างจากที่เดิมเพียง 1 กิโลเมตร เท่านั้น แต่ก็เป็น การย้ายขึ้นเหนือเท่ากับหนีเชื้อโรคไปได้ระดับหนึ่ง และได้ปักหลักกันอยู่จนถึงปัจจุบัน 

ต่อมาได้มีประชากรเพิ่มขึ้นจากทั้งจำนวนประชากรของอัตราการเกิดและการอพยพมาจากแหล่งอื่น ในช่วงนั้นเองได้มีชาวพม่าชื่อ หม่องโกล หรือหม่องโทย และเพื่อนอีกคนเข้ามาสอนศาสนาคริสต์แต่ชาวบ้านบางกลุ่มไม่เชื่อจึงได้เกิดความขัดแย้งด้านศาสนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เกิดความขัดแย้งรุนแรงที่สุด ทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ต้องอพยพออกไปจากหมู่บ้านเกือบหมด และได้อพยพไปอยู่ที่ห่างไกลจากที่เดิม เช่น บ้านโป่ง บ้านน้ำลัด บ้านป่าก่อคา จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่เป็นบางส่วน ทำให้ภายในหมู่บ้านเหลือเพียงผู้ที่นับถือผีจำนวน 17 หลังคาเรือนเท่านั้น 

ชาวปกาเกอะญอบางส่วนจึงอพยพมาอยู่ตรงแม่ส้านบ้านใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นา มีต้นขนุน ต้นมะม่วง เป็นหลักฐาน ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พม่าต่อสู้กับไทย ทหารไทยและลาว ได้ต่อสู้ร่วมกัน ชาวบ้านกลัวทหาร จะจับคนหนุ่มสาวไปทำร้ายหรือไปเป็นทาสหรือทำสงคราม จึงพาหนุ่มสาวส่วนหนึ่งประมาณ 30 คน นำไปม่อนสนาม ทำพิธีพรางตัวและซ่อนลงคาถาอาคมไม่ให้ใครเห็น จากนั้นผู้เฒ่าและเด็กพากันกลับมาบ้านแม่ส้านใต้ แต่ 6 เดือน ได้เกิดโรคระบาดอหิวาตกโรค ทำให้ผู้คนล้มตายจึงพากันอพยพไปอยู่ ขุนแม่มาย 10 ปีต่อมาเกิดภาวะน้ำแล้ง ชาวบ้านจึงแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่าง ๆ บ้างก็ไปเชียงราย บ้านแม่ทิ้ง แม่ถึง อำเภอแจ้ห่ม บ้านแม่อ่าง อำเภองาว และชาวบ้านส่วนหนึ่งได้มาตั้งอยู่ที่บ้านแม่ส้าน ต่อมาไม่นานได้เกิดไฟไหม้ทั้งหมู่บ้านเหลือหลังเดียว ชาวบ้านเลยรวมกลุ่มใหม่ สร้างที่อยู่ใหม่และใช้อยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านแม่ส้านมีสำนักสงฆ์ จำนวน 1 แห่ง และโบสถ์คริสต์จักร จำนวน 1 แห่ง โรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 1 แห่ง นอกจากนั้น มีร้านขายของชำ จำนวน 4 ร้าน และทุกหลังคาเรือนจะมีรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์อย่างน้อย จำนวน 1 คัน ชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ตัดขาดจากภายนอก ผู้นำชุมชนมีกิจกรรมร่วมประชุมกับองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมเป็นประจำ ชาวบ้านทั่วไปเดินทางไปในเมือง เพื่อซื้อของ หาหมอ ส่งลูกไปเรียนหนังสือ และขายผลิตผลจากป่า

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนบ้านแม่หล้า เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ขึ้นกับบ้านแม่ส้าน 
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่คำ ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนาไหม้ ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม 

ลักษณะพื้นที่ 

พื้นที่ตั้งอยู่บริเวณ พื้นที่สูง พื้นที่ราบสูง 

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะอยู่รวมกัน โดยรอบ ๆ ที่ตั้งบ้านเรือนจะเป็นพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า โดยมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสลับกับภูเขาสูง ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 950 เมตร เป็นป่าดิบชื้น ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่มีแกนกลางของลำต้น จึงทำให้ต้นไม้บริเวณนี้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เช่น มะแขว่น เป็นต้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าทำ ให้ชุมชนแห่งนี้ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ต๋าแม่มายเมื่อปี 2518 และปี 2532 เตรียมประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท แต่ชุมชนไม่เห็นด้วย

การคมนาคมขนส่ง

การคมนาคม การเดินทางไม่ค่อยสะดวกเนื่องจากถนนบางช่วงเป็นทางชำรุด โดยห่างจากตัวอำเภอ แม่เมาะประมาณ 50 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดลำปางประมาณ 60 กิโลเมตร 

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านแม่ส้าน จำนวน 163 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งสิ้น 474 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 242 คน หญิง 232 คน คนในชุมชนบ้านแม่ส้านส่วนใหญ่เป็นปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ

ประชาชนในหมู่บ้านแม่ส้าน มีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม คือ ดำรงชีวิตระบบเรียบง่ายมีน้ำใจ เกื้อหนุน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีความคิดที่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามอาชีพ โดยหมู่บ้าน แม่ส้านมีกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 

  • กองทุนหมู่บ้าน 
  • กลุ่มออมทรัพย์ 
  • กลุ่มผู้สูงอายุ 
  • กลุ่มอาสาสาธารณะสุขหมู่บ้าน 
  • กลุ่มสตรี 
  • กลุ่มเยาวชน 
  • กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ 
  • กลุ่มตํารวจบ้าน (ชรบ.) 
  • กลุ่มประปาหมู่บ้าน 
  • กลุ่มแก้ไขความยากจน 
  • กลุ่มเลี้ยงวัว
  • กลุ่มทอผ้า
  • กลุ่มมะแขว่น
  • กลุ่มทำน้ำพริกลาบ

โดยการรวมกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยให้ประชาชนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมตั้งกองทุนสวัสดิการ สร้างฐานเอื้ออารีเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

วัฒนธรรมและประเพณี เป็นแบบอย่างหรือวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนแต่ละกลุ่มเป็นตัวกำหนด พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม วัฒนธรรมแต่ละสังคมจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรต่าง ๆ ลักษณะอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรม คือ เป็นการสั่งสม ความคิด ความเชื่อ วิธีการ จากสังคมรุ่นก่อน ๆ มีการเรียนรู้ และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อ ๆ ไปได้ วัฒนธรรมใดที่มีรูปแบบ หรือแนวความคิดที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเลือนหายไป ซึ่งชุมชนแม่บ้านเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประเพณี เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนมีทั้งกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพุทธ นับถือผี และศาสนาคริสต์ จึงทำให้วัฒนธรรมประเพณีมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

วัฒนธรรมการเพาะปลูกไร่หมุนเวียน

นายแก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ส้าน ได้กล่าวไว้ "เราอยู่บนดอยก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นคนเผาป่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราเองก็กลัวการเกิดไฟเช่นกัน เพราะเรื่องไฟเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวบ้าน การปลูกมะแข่วนต้องมีการควบคุมไฟเป็นพิเศษ เพราะมะแขว่นเปรียบเสมือนชีวิตและปากท้องของชาวบ้านที่นี่" ซึ่งความพิเศษของบ้านแม่ส้านนั้นก็คือ การดำรงอยู่ของชุมชนที่พึ่งพิงไร่หมุนเวียน และในไร่หมุนเวียนก็มี "มะแข่วน" จึงทำให้บ้านแม่ส้านมีวัฒนธรรมการอยู่กับป่าที่แตกต่างจากชุมชนชาติพันธุ์อื่น รวมทั้งในไร่หมุนเวียนยังมีพืชผักหลากหลายชนิดที่ปลูกร่วมกันกับข้าวไร่ โดยผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ส้านและชาวบ้านบ้านแม่ส้านจะมีวิธีจัดการไฟในพื้นที่ไร่หมุนเวียนและมะแขว่น 2 รูปแบบ คือ 

  • รูปแบบที่ 1 ช่วงที่ยังไม่มีมะแขว่นปะปนในพื้นที่ไร่หมุนเวียนมากเหมือนปัจจุบัน ชาวบ้านแม่ส้านจะมีวิธีการจัดการไฟในพื้นที่ไร่หมุนเวียน (การเผาไร่) เหมือนกับชาวกะเหรี่ยงทั่วไป โดยการเผาไร่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเตรียมพื้นที่การทำไร่หมุนเวียน 
  • รูปแบบที่ 2 การทำไร่หมุนเวียนพร้อมกับการปลูกมะแขว่น โดยมะแขว่นเป็นต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งบ้านแม่ส้านมีมะแขว่น 2 ชนิด คือ มะแขว่นดอกับมะแขว่นปี สำหรับมะแว่นดอ จะเก็บผลผลิตได้ก่อนมะแขว่นปี คือ ช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ส่วนมะแขว่นปีจะเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม เนื่องจากเปลือกที่หุ้มเมล็ดมะแขว่นมีความแข็งและหนา ไฟจะช่วยกะเทาะเปลือกออก เพื่อให้มะแขว่นเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น แต่เมื่อมะแขว่นโตแล้วลำต้นของมะแขว่นมีน้ำมัน ซึ่งไวต่อไฟ ดังนั้นชุมชนบ้านแม่ส้านจึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมไฟ โดยมีการปรับประยุกต์ทั้งวิธีการและระยะเวลาในการเผาไร่จากเดิม ทำแนวกันไฟเพียง 1 รอบ แต่เมื่อมีป่ามะแขว่น ต้องทำแนวกันไฟรอบต้นมะแขว่นเพิ่มอีก 1 รอบ โดยทำขนาดความกว้างเท่ากับรัศมีของร่มเงาของมะแขว่นต้นนั้น และนำกาบกล้วยมาห่อหุ้มลำต้นมะแขว่น ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ต้นมะแขว่น และมีการปรับเวลาเผาไร่เป็นช่วงเย็น ตั้งแต่ 16.00-18.00 น. ซึ่งการเผาไร่ใช้เวลาเพียง 30-45 นาทีเท่านั้น นอกจากนั้นทั้งชุมชนยังจัดเวรยามเพื่อเฝ้าระวังไฟป่าอีกด้วย

1.นายแก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ส้าน

ทุนกายภาพ

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยการใช้พื้นที่ป่าชุมชนในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น การเก็บหน่อไม้ในพื้นที่ป่าเพื่อนำไปขายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน และมีการเลี้ยงสัตว์ภายในพื้นที่ป่าชุมชน มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนโดยกันเป็นเขตป่าชุมชน ป่าเฉลิมพระเกียรติและการอนุรักษ์ป่า และการบวชป่าเพื่อส่งเสริมการหวงแหนรักษาป่าไว้ในชุมชน 

ด้านการเกษตร 

ความพิเศษของบ้านแม่ส้านคือ การอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วยป่ามะแขว่นกับไร่หมุนเวียน และบ้านแม่ส้านก็มีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง เช่น การแต่งกาย ภาษา ดนตรี พิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งก็เหมือนกับชุมชนกะเหรี่ยงอื่น ๆ แต่ไร่หมุนเวียนบ้านแม่ส้านมีความแตกต่างจากชุมชนอื่น คือมีมะแขว่นเป็นระยะ และมะแขว่นนี้ได้เป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับชุมชนและยังใช้แลกเปลี่ยนในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนด้วย

การทดแทนไร่หมุนเวียนด้วยมะแขว่น

มีการทำไร่หมุนเวียนเป็นแปลงขนาดใหญ่ ในแต่ละปีชาวบ้านจะทำ แนวกันไฟในพื้นที่ไร่หมุนเวียนของตนเอง ปัจจุบันในไร่หมุนเวียน 1 แปลง จะมีต้นมะแขว่น 1-2 ต้น มีพื้นที่สวนผสมผสาน ปลูกกาแฟ มะม่วง ส้มโอ ขนุนและหน่อไม้ รวมทั้งเริ่มมีการขุดพื้นที่นาเพิ่มอีกด้วย

ภายหลังปี 2530 ชาวบ้านเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น กล่าวคือชาวบ้านเริ่มนำ มะแขว่นไปขายมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ดูแลรักษาป่าพร้อมทั้งทำ ไร่หมุนเวียน โดยชาวบ้านมีการปรับลดพื้นที่ไร่หมุนเวียนให้มีขนาดเล็กลง แต่ป่ามะแขว่น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พบว่า ชาวบ้านมีการขุดพื้นที่นาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการทำนาสามารถปลูกข้าวซ้ำได้ทุกปี ไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากเหมือนกับการทำไร่หมุนเวียน

ปัจจุบันนี้ บ้านแม่ส้านคงเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ จำนวน 27 ชนิด คือ ข้าวบือย่าง, ข้าวเหนียวดำ, ข้าวเหนียวแดง, ข้าวเหนียวขาว, ข้าวเจ้าแม้ว, ข้าวฮ่าวขาวฮ่าวแดง, ข้าวก่ำ, ข้าวดองกาย, ข้าวเหนียวปงแดง, ข้าวเหนียวปงดำ, ข้าวปงขาว, ข้าวปงเหลือง, ข้าวปงม่วง, ข้าวปงลาย, ข้าวปงลายดำ, ข้าวปงน้อย, ข้าวปงใหญ่, ข้าวมะมุ, ข้าวเจ้าใบยาว, ข้าวปาแล, ข้าวเหนียวโป้ง, ข้าวแมแมะ, ข้าวดอกกาย, ข้าวโป่งขะยุ้ง, ข้าวซิ่ว และข้าวหอมมะลิ

และพืชผัก จำนวน 50 ชนิด คือ ผักกาด, บวบ, บวบงู, บวบลาย, บวบเหลี่ยมหัวดิง, ขิง, พริก, กะเพรา, มะเขือมะเขือยาว, มะเขือละโว้, มะเขือพวง, ถั่วดินถั่วพู, ถั่วหอม, ถั่วฝักยาว, มัน, มันสำปะหลัง, งาดำ, งาขาว, งาขี้ม่อน, เผือก, ฟักทอง, ฟักเขียว, แตง, แตงดอย, แตงไทย, ข้าวสาลี, มะน่ำ, มะนอย, มะนอยงู, ผักวอ, มะลื่น, ใบแมงลัก, ผักขี้อ้น, ผักเก้า, ก่อ, แตงเหลือง, มะแหลบ, มะแข่วน, ใบยาสูบ, ตะไคร้, มะงุ่ม, ผักก่อแก, ผักชี, มะระ, มะระขี้นก, ดอกแดง (หงอนไก่), ดอกเหลือง (ดาวเรือง) และดอกทานตะวัน

ทุนสังคม

การวางแผนชุมชน

บ้านแม่ส้าน มีการวางแผนร่วมกันโดยคนในชุมชนร่วมกันสะท้อนปัญหา จัดลำดับความสำคัญสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โครงการที่เกินศักยภาพของหมู่บ้านจะแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง ช่วยแก้ไขต่อไป

ด้านสาธารณสุข

สุขภาพของชาวบ้านบ้านแม่บ้านส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและการทำงานของแต่ละคน ซึ่งโรคที่พบ ส่วนใหญ่คือโรคหอบหืด สืบเนื่องมาจากสาเหตุการใช้ชีวิตของชาวบ้านที่ต้องสูดดม ควันไฟอยู่เป็นประจำ ทั้งจากการทำอาหาร สูบบุหรี่ เผาไร่หมุนเวียน ส่วนโรคที่พบมากที่สุดรองลงมาก็คือโรคความดันโลหิตสูง ในสภาพสังคมปัจจุบันพบว่าความดันเลือดเพิ่มขึ้นตามอายุ และความเสี่ยงของการเป็นความดันโลหิตสูงในวัยสูงอายุนั้นมีมาก ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคคือเรื่องอาหารการกิน ที่มักจะบริโภคเกลือและไขมันมากจนเกินไป รวมถึงผู้ที่มีอัตราสุขภาพของประชากรในชุมชน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคไต โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือด โรคถุงลมโป่งพอง โรคเก๊าท์ โรคทาลัซซีเมีย โรคอัลไซเมอร์ HIV แอลกอฮอล์ในเลือดสูง

บ้านแม่ส้าน เป็นหมู่บ้านชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ภาษาพูดและภาษาเขียนที่ใช้จึงเป็นภาษากะเหรี่ยง แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มจะไม่ใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสาร จะใช้ภาษากลางในการเขียน เว้นแต่ในการประกอบพิธีทางศาสนา ก็ยังคงมีการใช้ภาษากะเหรี่ยงอยู่


ความท้าทายของชุมชน 

ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ของคนในชุมชนส่วนใหญ่เกิดจากการที่รายจ่ายมากกว่ารายรับ ส่งผลให้บางครอบครัวเกิดภาระหนี้สิน เนื่องจากปัจจุบันชาวบ้านนิยมบริโภคของใช้ฟุ่มเฟือยมากขึ้น มีคนเจ็บป่วยมากขึ้นและต้องการส่งลูกเรียนสูง ๆ เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาที่นำพาเทคโนโลยี ไฟฟ้าและค่านิยมสมัยใหม่เข้ามา ชาวบ้านจึงมีความต้องการอยากมีอยากได้กันมากขึ้นทั้ง ๆ ที่พื้นฐานอย่างไม่พร้อม บ้างก็เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบเห็นคนอื่น บ้างก็อยากมีตามทำให้เกิดภาระหนี้สินตามมา 

การบริหารจัดการของหมู่บ้าน คือ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อมาหาอาชีพเสริมร่วมกัน เช่น กลุ่มจักสาน กลุ่มทอผ้า และฝึกอบรมให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด ประยุกต์ความรู้กับสิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์ ดำเนินชีวิตแบบสมัยอดีต ใช้ชีวิตอย่างพออยู่พอกิน ไม่พึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกมากจนเกินไป ในชุมชนมีกลุ่มกองทุนที่ให้กู้ไปลงทุนประกอบอาชีพโดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ 


ปัญหาด้านการจัดการขยะ

ปัญหาด้านการจัดการขยะของชุมชนบ้านแม่ส้านเป็นปัญหาที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เพราะเป็นปัญหาที่เห็นกันชัด สภาพแวดล้อมภายในชุมชนไม่สะอาด อันมีสาเหตุมาจากการที่ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องการจัดการขยะเพราะอาจด้วยความเคยชินที่เมื่อก่อนใช้แต่วัสดุจากธรรมชาติทิ้งไปก็ไม่เกิดอันตราย แต่ปัจจุบันนิยมใช้พลาสติกและของที่มีสารเคมีกันมากแต่ก็ไม่เข้าใจการจัดการขยะ สาเหตุอีกอย่างหนึ่งคือที่ทิ้งขยะบริเวณรอบหมู่บ้านไม่มี ทำให้ชาวบ้านทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่ตอนนี้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ได้แก้ปัญหาไปในจุดหนึ่งแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเยาวชนบ้านแม่ส้านเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ นั้นคือการจัดตั้งตะกร้าสานใส่ขยะรอบหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีที่ทิ้งขยะและรณรงค์ให้ชาวบ้านทิ้งขยะให้เป็นที่โดยมีเด็ก ๆ เป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์ 

การบริหารจัดการของหมู่บ้าน คือ ทำตะกร้าสานเพื่อใส่ขยะ และอบรมให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ


ปัญหาด้านการคมนาคม 

ชุมชนบ้านแม่ส้านตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หากจะเข้าไปทำธุระในเมืองต้องใช้เวลานาน ทางที่ชาวบ้านสามารถเดินทางได้มีทางเดียวคือ ถนน แต่ถนนเส้นหลักที่ใช้เดินทางลงมาในเมืองยังเป็นถนนลูกรัง ทางขรุขระ มีหลุมมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ผู้สูงอายุที่ต้องเดินทางไปรักษาตัวบ่อย ๆ จึงมักจะปวดตัวหรือเจ็บตัวอยู่บ่อยครั้งจากการที่ถนนไม่ดีเป็นหลุมเป็นบ่อ สาเหตุมาจากการดำเนินการสร้างถนนและซ่อมแซมทำได้ช้า และถนนก็แคบทำให้การก่อสร้างถนนดำเนินไปอย่างช้า ๆ 

การบริหารจัดการของหมู่บ้าน คือ ของบประมานสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน และคนในชุมชนร่วมกันสร้างถนนเองโดยไม่ต้องรอผู้รับเหมา 

ปัญหาด้านการติดต่อสื่อสาร 

ชุมชนบ้านแม่ส้านตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หากจะติดต่องานหรือติดต่อใครต้องขับรถขึ้นเขาไปหาที่ที่มีสัญญาณโทรศัพท์ ส่งผลให้เวลาเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายจะไม่สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ยิ่งบริเวณรอบชุมชนเป็นป่า หากเกิดเหตุอะไรก็ขอความช่วยเหลือกันยากอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการติดต่อสื่อสาร จึงได้ขอเสาทวนสัญญาณโทรศัพท์ ปัจจุบันสามารถติดต่อได้ง่ายและสะดวกแล้ว

การบริหารจัดการของหมู่บ้าน คือ ติดเสาสัญญาณมือถือให้แต่ละพื้นที่สูงได้มีสัญลักษณ์ไว้ใช้โทรศัพท์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2564). ไฟและมะแขว่นในวิถีไร่หมุนเวียน. วนิดาการพิมพ์ เชียงใหม่

รายงานการวิจัยชุมชนตำบลบ้านดง จังหวัดลำปาง

แก้ว ลาภมา, สัมภาษณ์, สิงหาคม 2566

อบต.บ้านดง โทร. 0-5420-9513