Advance search

ชุมชนไทใหญ่ที่ยังรักษาอัตลักษณ์ด้านวิถีชีวิต และสามารถปรับตัวรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ผาบ่อง
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
อบต.ผาบ่อง โทร. 0-5368-6048
นิพาดา บำรุงแจ่ม
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
22 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
22 ก.พ. 2024
บ้านท่าโป่งแดง


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนไทใหญ่ที่ยังรักษาอัตลักษณ์ด้านวิถีชีวิต และสามารถปรับตัวรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ผาบ่อง
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
19.272415348347927
97.94702435339089
องค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง

บ้านท่าโป่งแดง เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีครัวเรือนประมาณ 10-12 ครัวเรือน ตั้งขึ้นก่อนส่งครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2466 ผู้นำคนแรก คือ นายแต่ยะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าโป่งแดงตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำปาย พื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยม่อนตะแลงไหลไปบรรจบแม่น้ำปาย เหมาะแก่การเพาะปลูกและจับสัตว์น้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้เกิดอุทกภัยอย่างหนัก น้ำท่วมหมู่บ้านท่าโป่งแดง ชาวบ้านจึงย้ายหมู่บ้านมาอยู่ที่ราบเชิงเขาจนถึงปัจจุบันนี้

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 108 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางถนนหมู่บ้านอีกประมาณ 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 21,875 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ราบอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำ และที่ราบหุบเขามีสายน้ำสายสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำปาย โดยอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสบป่องและบ้านไม้แงะ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยเดื่อ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านม่อนตะแลง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยเสือเฒ่า

สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์

สภาพพื้นที่ที่เป็นที่ราบเชิงเขา สภาพภูมิอากาศอยู่ในเขตร้อนที่ค่อนไปทางอบอุ่น ฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็นและมีหมอกมาก ฤดูแล้งยาวนาน โดยฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนจะมีอากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุก เพราะได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม

ชาวบ้านท่าโป่งแดงส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ หรือที่เรียกตัวเองว่า “ไต” มีประชากรชายประมาณ 468 คน ประชากรหญิง 434 คน รวม 902 คน มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง มักจะตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่ราบลุ่มหุบเขาหรือบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ บ้านเรือนสร้างจากไม้ไผ่ยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยหญ้าแห้งภายในบ้านจะมี เตาไฟ มีห้องนอน บ้านแต่ละหลังจะมีสวนล้อมรอบ สัตว์เลี้ยงจะผูกอยู่บริเวณประตูบ้าน เนื่องจากความเจริญและความทันสมัยในยุคปัจจุบันทำให้การสร้างบ้านเรือนแบบเก่าหาดูได้ยากจนแทบจะไม่หลงเหลืออยู่ แต่ชาวบ้านก็ยังคงอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษไว้

ไทใหญ่

อาชีพโดยส่วนใหญ่ของชาวบ้านคือเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว กระเทียม พืชผักผลไม้ เป็นต้น รองลงมา คือ ด้านปศุสัตว์ เป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไว้ใช้เป็นแรงงานและบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ โค กระบือ สุกร ไก่ เป็นต้น เมื่อว่างจากฤดูการเกษตรชาวบ้านจะทำอาชีพเสริม เช่น การทำขนมงา ชาใบหม่อน ไม้ประดิษฐ์ และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในการสืบสานศิลปวัฒนาธรรมของบ้านท่าโป่งแดงในการทำ “ปานซอย” และ “จองพารา” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านด้วย

กลุ่มอาชีพ

กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลผลิตวนเกษตรศูนย์โป่งแดง

มีการนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ซึ่งมีวัตถุดิบหลักในท้องถิ่นคือ กล้วยน้ำว้า นำมาแปรรูปเป็นกล้วยตากหรือที่ทางกลุ่มเรียกว่า กล้วยใส่ใจ เพื่อเป็นสินค้าที่สามารถเก็บรักษาได้นาน ปลอดภัย ไม่เน่าเสีย แก้ปัญหาปริมาณกล้วยล้นตลาด อีกทั้งยังมีกล้วยกวน ไอศกรีมมะม่วงสับปะรดขิง เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่เป็นของฝากแก่นักท่องเที่ยวและของที่ระลึกในช่วงเทศกาลสำคัญ

กลุ่มไม้ประดิษฐ์บ้านท่าโป่งแดง

จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยเป็นการนำเอาเศษไม้ที่เหลือใช้มาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการแกะสลักและกลึงไม้ให้เป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ เช่น แจกัน ด้ามมีด กระปุกออมสิน หรือตุ๊กตาไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำเอาวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ มาประกอบเข้ากับไม้ที่ผ่านการปรับแต่งได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสวยงามและแข็งแรงคงทน

วิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยใหญ่ที่บ้านท่าโป่งแดงที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่า “ป๋างน้ำเหน้ง” เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลเป็นภาษาไทยว่า สภาน้ำชา ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันเก่าแก่และมีคุณค่าของคนไทยใหญ่ เมื่อมีแขกไปใครมาก็จะยกน้ำชามาต้อนรับแขกทุกคนที่มาเยือนถึงบ้าน

ประเพณีและกิจกรรมที่แสดงวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ จัดขึ้นตามเดือนทางจันทรคติและเดือนตามปฏิทิน คือ

  • เดือนอ้าย (เหลินเก๋ง) ธันวาคม ตานเตียนเห็ง (ถวายเทียนใหญ่)
  • เดือนยี่ (เหลินก๋ำ) มกราคม ปอยอ่องจ๊อด (งานดับไฟเทียน)
  • เดือนสาม (เหลินสาม) กุมภาพันธ์ หลู่ข้าวหย่ากู๊ (ถวายข้าวยาคู)
  • เดือนสี่ (เหลินสี่) มีนาคม ปอยส่างลอง (บรรพชาสามเณร) เนื่องจากคนในชุมชนมีการนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด เด็กผู้ชายจะต้องบวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย จึงมีประเพณีที่เรียกว่า ประเพณีบวชลูกแก้ว หรือในท้องถิ่นเรียกกันว่า “ปอยส่างลอง” ซึ่งเป็นการบรรพชาสามเณรให้สืบทอดในพระพุทธศาสนา และเพื่อเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยจัดประมาณ 3-5 วัน เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่จัดให้ลูกหลานเด็กผู้ชายที่มีเชื้อสายไทใหญ่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
  • เดือนห้า (เหลินห้า) เมษายน ปอยเหลินห้า (ซอนน้ำเจ้าพารา ขอขมาผู้สูงอายุ)
  • เดือนหก (เหลินหก) พฤษภาคม ปอยจ่าตี่ (งานบุญก่อเจดีย์ทราย)
  • เดือนเจ็ด (เหลินเจ็ด) มิถุนายน วานปะลีก (ทำบุญหมู่บ้าน)
  • เดือนแปด (เหลินแปด) กรกฎาคม เข้าหว่า (เข้าพรรษา แห่เทียนเข้าพรรษา)
  • เดือนเก้า (เหลินเก้า) สิงหาคม ต่างซอมต่อหลวง (ถวายข้าวมธุปายาส )
  • เดือนสิบ (เหลินสิบ) กันยายน ต่างซอมต่อหลวง (ถวายข้าวมธุปายาส )
  • เดือนสิบเอ็ด (เหลินสิบเอ็ด) ตุลาคม ออกหว่า (ออกพรรษา) แฮนซอมโก่จา กั่นตอคนเฒ่า (ตักบาตรเทโว)
  • เดือนสิบสอง (เหลินสิบสอง) พฤศจิกายน ปอยส่างกาน (ถวายผ้าพระกฐิน)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

ปานซอย

เป็นภูมิปัญญาที่มีกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยการนำแผ่นโลหะ พวกสังกะสี อะลูมิเนียม มาฉลุเพื่อให้เกิดลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปครุฑ ลายไทย ตัวนาค กะเหรี่ยงคอยาว ในอดีตนิยมใช้เป็นของตกแต่ง ประดับประดาตามวัด ซุ้มเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือตามบ้านเรือนของเจ้าขุนมูลนาย การจะทำปานซอยนั้นต้องทำการออกแบบลวดลายก่อนเพื่อให้ได้ตามขนาดของพื้นที่ที่จะติดลวดลาย และให้เหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ การผลิตนั้นต้องใช้ช่างที่มีความสามารถ และความชำนาญในด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อให้ได้งานที่สวยงาม โดยจะไม่ใช้เครื่องจักรกลใด ๆ ทั้งสิ้นเพื่อคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์วัฒนธรรมศิลปะอันเก่าแก่ที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวแม่ฮ่องสอน

ศาลาท่าโป่งแดง

อาคารท่าเรือบ้านท่าโป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ที่บ้านท่าโป่งแดง เป็นอาคารเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นโดยบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ที่ได้รับสัมปทานการทำไม้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายหลังจากที่ยกเลิกสัมปทานการทำไม้ อาคารแห่งนี้ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นวัด โรงเรียน และศาลาท่าเรือ โดยมีความโดดเด่นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial) ในการอนุรักษ์ ได้ดำเนินการภายใต้หลักการของความแท้ (authenticity) ปัจจุบันอาคารได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประเพณีจองพารา

ประเพณีการทำบุญของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จอง แปลว่า วัด หรือปราสาท ส่วนคำว่า พารา แปลว่าพระพุทธรูป หรือพระพุทธเจ้า การจองพารา คือ การสร้างปราสาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา เป็นงานบูชาพระพุทธเจ้า ครอบครัวใด จัดทำจองพารา เชื่อว่าครอบครัวนั้นจะมีแต่ความสุขได้อานิสงส์อย่างสูง

จองพารา หรือปราสาทพระ เป็นศิลปะของชาวไทยใหญ่ ตัวโครงทำด้วยไม้ไผ่บุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีเจาะเป็นช่องลวดลายสวยงามตั้งบนนั่งร้าน นำเครื่องห้อยซึ่งเป็นผลไม้ทุกชนิดที่มีในท้องถิ่นมาแขวน นำต้นกล้วยต้นอ้อยมาผูกที่เสานั่งร้านทั้ง 4 มุม ตกแต่งประดับโคมไฟให้สว่างไสวเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะยกจองพาราไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด

การจองพาราจะตั้งบูชาในตอนหัวค่ำของวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 และทำพิธีอัญเชิญรับเสด็จตอนเช้ามืด ของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา ชาวบ้านจะนำอาหารซึ่งประกอบด้วยข้าวสวย ขนม ผลไม้ใส่ในกระทงใบตองวางไว้ในจองพารา จุดธูปเทียนบูชากล่าวอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้เสด็จมาประทับที่จองพาราเพื่อเป็นสิริมงคลตั้งบูชาเรื่องไปจนครบ 7 วัน หมู่บ้านใดช่วยกันทำจองพาราบูชาไว้ที่วัดประจำหมู่บ้านตลอด 7 วันหลังวันออกพรรษาก็มีความเชื่อว่าทุกคนในหมู่บ้านจะมีความสุข เมื่อสิ้นสุดการบูชาก็จะนำจองพาราไป ทิ้งหรือเผา ไม่นิยมเก็บไว้ เมื่อถึงปีต่อไปก็จะทำขึ้นมาใหม่

ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นชาวพื้นเมืองไทใหญ่ มีภาษาถิ่นคือ ภาษาเหนือ (คำเมือง)  ภาษาไต หรือ ภาษาไทใหญ่ การดำรงชีวิตจะยึดเอาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อและวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับประเทศพม่า


การเปลี่ยนแปลงของสังคม มีความทันสมัยและกระแสวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา ทำให้เยาวชนในท้องถิ่นลืมรากฐานทางวัฒนธรรมเดิม หันไปนิยมวัฒนธรรมการบริโภคมากขึ้น มีกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะสั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ด้านกสิกรรมและการปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ อีกทั้งยังมีลักษณะภูมิประเทศที่มีความยากลำบากในการเดินทางอีกด้วย

ในชุมชนบ้านท่าโป่งแดง มีศูนย์โครงการพระราชดำริท่าโป่งแดง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ เรือนประทับแรมท่าโป่งแดง ท่าเรือประวัติศาสตร์และสะพานแม่น้ำปาย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีในชุมชน

จากข้อมูลข้างต้นของบ้านท่าโป่งแดง จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพมากมาย นอกจากนี้ทางชุมชนมีวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมทั้งมีการนำทรัพยากรในชุมชนมาสร้างให้เกิดภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่

  • สมุนไพร : มีการนำใบย่านางมาแปรรูป โดยเฉพาะการต้ม แล้วคั้นเอาส่วนของน้ำมาดื่มเพื่อรักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง รักษาอาการภูมิแพ้ ลดความดันโลหิต เป็นต้น
  • อาหาร : ทรัพยากรในชุมชนมีความหลากหลายที่สามารถนำมาประกอบอาหารประจำพื้นเมือง รวมทั้งใบไม้ต่าง ๆ สามารถนำมารองหรือห่ออาหาร แทนภาชนะอื่น ๆ เพื่อง่ายต่อความสะดวกในการนำไปใช้งานและไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
  • ไม้ไผ่ : ชาวบ้านได้นำส่วนต่าง ๆ ของไผ่มาจักสานให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ภาชนะใส่ของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งสามารถสร้างบ้านเรือน อาวุธในการดักจับสัตว์ในป่า
  • แผ่นฉลุจากสังกะสี / อะลูมิเนียม : ภาษาท้องถิ่นของคนท่าโป่งแดง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปานซอย” เป็นภูมิปัญญาที่มีกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยการนำแผ่นโลหะ พวกสังกะสี อะลูมิเนียม มาฉลุเพื่อให้เกิดลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปครุฑ ลายไทย ตัวนาค กะเหรี่ยงคอยาว เพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึก รวมทั้งใช้ในการประดับตกแต่งอาคาร สถานที่ต่าง ๆ ทั้งวัดวาอาราม ประดับตามเชิงชาย มุม ประตู หรือที่อื่น ๆ ที่มีความเหมาะสม แสดงถึงภูมิปัญญาที่มีความโดดเด่น สวยงามแก่การอนุรักษ์เพื่อเด็กรุ่นหลังได้สืบทอดและเรียนรู้ต่อไป

กรมพัฒนาที่ดิน. (ม.ม.ป). โครงการศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ (ศูนย์โป่งแดง). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://www1.ldd.go.th/

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. (ม.ม.ป). ข้อมูลพื้นฐานเมืองแม่ฮ่องสอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.mmhs.go.th/

บุษบา กนกศิลปธรรม, ปวินนา เพ็ชรล้วน, จิรัสสา คชชาชีวะ, นุชนภางค์ ชุมดี และศุภพร สุวรรณภักดี. (2565). รายงานการวิจัยยกระดับมรดกวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพ : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.).

ปวินนา เพ็ชรล้วน. (2566). ผาบ่อง. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://wikicommunity.sac.or.th/

NATIONAL GEOGRAPHIC ASIA. (2563). ปานถ่อง – ปานซอย มนต์เสน่ห์ของ ไทใหญ่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2554). บ้านท่าโป่งแดง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://maehongsonattractions.blogspot.com/

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ. (ม.ม.ป). ชุมชนบ้านท่าโป่งแดง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://bedobcg.com/

อริสรา คงประเสริฐ. (2565). บวชลูกแก้วหรือปอยส่างลอง. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/

องค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง. (ม.ม.ป). แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://phabong.go.th/

อบต.ผาบ่อง โทร. 0-5368-6048