ความเป็นพหุวัฒนธรรมของชุมชน ความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวจีน สถาปัตยกรรมจีนประยุกต์ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์
กือดาจีนอ เป็นภาษามลายู ซึ่งคำว่า กือดา แปลว่า ตลาด ส่วนคำว่า จีนอ แปลว่า จีน กือดาจีนอประกอบด้วยถนนปัตตานีภิรมย์ซึ่งวิ่งขนานกับแม่น้ำปัตตานีไปบรรจบกันที่ถนนอาเนาะรู ซึ่งมีศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวตั้งอยู่
ความเป็นพหุวัฒนธรรมของชุมชน ความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวจีน สถาปัตยกรรมจีนประยุกต์ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์
ในอดีตมีการเข้ามาของชาวจีน และมีการลงหลักปักฐานเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณแหลมมลายูที่เป็นหัวเมืองท่าการค้า ซึ่งรูปแบบวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมที่โดนเด่นของชาวจีนได้เข้ามาในปัตตานี ทั้งจากการอพยพถิ่นฐาน หรือการเดินทางเข้ามาทำการค้าขายเนื่องด้วยชาวจีนมีความถนัดในการค้าขาย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่ชุมชนกือดาจีนอ เริ่มมีการพัฒนาและขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เริ่มจากบริเวณหัวตลาดจีน ซึ่งมีถนนอาเนาะรูเป็นเส้นทางหลัก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่สวนไร่นามาเป็นตลาดการค้าขาย และการอยู่อาศัยของชุมชนชาวไทย และชาวจีนที่ต่อเนื่องกับชุมชนมลายู ซึ่งอาศัยอยู่ ทางด้านเหนือ และด้านใต้ของชุมชน อาคารแบบจีนบริเวณหัวตลาดซึ่งเป็นแหล่งประกอบธุรกิจการค้าและพักอาศัยของชาวจีนในเมืองปัตตานีมาตั้งแต่อดีต ชนชาวจีนรุ่นต่อ ๆ มาได้สืบทอดการครอบครองอาคารเหล่านี้มาจนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของกลุ่มอาคารเหล่านี้อยู่ใกล้ริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำปัตตานี มีถนนตัดตรงลงไปยังแม่น้ำเพื่อใช้การขนถ่ายสินค้าจากทางเรือ และมีบ้านเรือนปลูกสร้างอยู่อย่างหนาแน่น เป็นอาคารแบบจีนที่ตั้งอยู่เรียงรายไปตามถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นร่วมสมัยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
ในปัจจุบันนั้นย่านชุมชนกือดาจีนอไม่ได้มีผู้คนอาศัยอยู่มากนัก อาคารที่อยู่อาศัยบางหลังอยู่ในสภาพที่ยังดีอยู่ แต่หลายหลังก็เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา บ้านเรือนบางหลังถูกทุบทิ้งสร้างใหม่ หรือปรับเปลี่ยนเป็นบ้านรังนกนางแอ่น เพื่อเป็นแหล่งผลิตรังนกนางแอ่นสำหรับการส่งออกนอกพื้นที่เพื่อสินค้ารังนก
อย่างไรก็ตามชุมชนกือดาจีนอยังคงมีความงามของร่องรอยทางวัฒนธรรมจีนที่หลงเหลืออยู่ ทั้งอาคารบ้านเรือน สถาปัตยกรรมจีนประยุกต์ที่คงความสวยงาม อาหารการกินและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ จึงมีการบูรณาการชุมชนกือดาจีนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพวาดสตรีทอาร์ตที่เน้นการบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ คื อความเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมของปัตตานี มีการปรับและรับเอาวัฒนธรรมจากเมืองจีนเข้ามาในงานมากขึ้น จากเดิม เพื่อที่จะสร้างสรรค์งานในส่วนของบรรยากาศวัฒนธรรมจีนให้เด่นยิ่งขึ้น โดยผ่านการจัดนิทรรศการกือดาจีนอให้เป็นบรรยากาศของวัฒนธรรมจีนที่หลากหลาย เช่น จัดโคมไฟสีแดงสะท้อนความเชื่อและผูกพันกับการทำนายโชคชะตาตามปีนักษัตรที่แต่ละคนกำเนิด มีการทำบุญหรือให้ทานในแต่ละปีนักษัตร จัดสถานที่โดยใช้อาคารบ้านเรือนให้ย้อนรอยอดีต ผ่านการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ
ชุมชนกือดาจีนอ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู เมืองปัตตานี ปัตตานี 94000
พื้นที่บริเวณเมืองเก่าปัตตานีทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีซึ่งเป็นเมืองพหุวัฒนรรม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน กลุ่มมลายู และกลุ่มไทยพุทธ ในพื้นที่บริเวณเมืองเก่าปัตตานีในพื้นที่ตำบลอาเนาะรูและตำบลจะบังติกอ มีประชากรใน พ.ศ. 2562 จำนวน 18,392 คน ประกอบด้วยชุมชนทั้งสิ้น 8 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองช้าง ชุมชนอาเนาะรู ชุมชนอาเนาะซูงา ชุมชนหัวตลาด ชุมชนจะบังติกอ (วอกะห์เจ๊ะฮะ) ชุมชนตะลุโบะ ชุมชนวังเก่า และชุมชนริมคลอง
โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว แต่มีกิจการส่วนตัวหรือทรัพย์สมบัติที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษลูกหลานที่ย้ายไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างถิ่นจะกลับมาเยี่ยมเยียนในช่วงเทศกาลสำคัญ ปัจจุบันนี้มีบ้านอยู่ในชุมชนนี้ประมาณ 20 หลังคาเรือน
จีน, มลายูประชาชนทำอาชีพรับจ้างส่วนใหญ่ ทำประมง ค้าขาย และรับราชการเป็นส่วนน้อย ธุรกิจการค้าโดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับผลของธุรกิจการประมง
เทศกาลเฉลิมฉลองสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว การประกอบพิธีลุยน้ำลุยไฟ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีเพื่อสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวโดยการแห่พระรอบเมืองไปตามถนน ประชาชนทั้ง 2 ฟากถนนที่เลื่อมใสก็จะตั้งโต๊ะบูชาจุดธูปกราบไหว้ก่อนเกี้ยวหามพระจะแยกย้ายไปตามบ้านต่าง ๆ ให้คนได้ สักการะ และเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นเกี้ยวจะเข้าพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานี ขบวนจะถูกแห่ไปยังเชิงสะพานเดชานุชิตหลังจากนั้นจะกลับมายังศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเพื่อทำพิธีลุยไฟ โดยกองไฟจะถูกก่อด้วยถ่านไฟบริเวณลานกลางดินหน้าศาลเจ้ากองพูนเทียมหัวเข่า ผู้ที่เข้าพิธีลุยไฟจะต้องอาบน้ำมนต์ในโอ่งมังกรใหญ่ก่อนเข้าพิธี และนำเกี้ยวหามฝ่าของไฟด้วยเท้าเปลือยเปล่า โดยได้จัดพิธีลุยน้ำ-ลุยไฟ ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเมื่อครั้งเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีนเพื่อมาตามพี่ชายที่ปัตตานี และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้เข้าพิธีลุยน้ำ-ลุยไฟ
1.ปุ๋ย แซ่ตัน หรือ หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาทำอาชีพค้าขาย ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้ที่อาสาเจ้าเมืองสงขลามาช่วยปราบ ในช่วงที่ปัตตานีมีเรื่องวุ่นวายระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม และได้รับชัยชนะ เจ้าเมืองสงขลาก็เลยตั้งให้ทำหน้าที่ควบคุมเก็บภาษีอากรของคนจีนและคนไทยพุทธส่งไปให้เจ้าเมืองสงขลา หลังถึงแก่กรรม สมาคมทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ได้ลงมติว่า ให้ถือเอาวันที่ 5 เมษายน ของทุกปี เป็นวันเชงเม้งตระกูล โดยทำการเซ่นไหว้บรรพบุรุษร่วมกันที่บ้านกงสี
2.พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร เป็นลูกหลานหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง อดีตผู้นำชุมชนจีน เป็นผู้มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีลุยน้ำ-ลุยไฟ เนื่องจากเป็นทายาทของพระจีนคณานุรักษ์ ผู้เชิญรูปปั้นองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากกรือเซะมายังศาลเจ้าซูกง ปัจจุบันคือศาลเจ้าเล่งจูเกียง ศาลแห่งเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ทุนวัฒนธรรม
ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ความเชื่อและศรัทธาต่อบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี ตามตำนานเล่าว่าลิ้มก่อเหนี่ยวเป็นหญิงสาวชาวจีนกำเนิดในครอบครัวตระกูลลิ้ม สมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์หมิง ประมาณ พ.ศ.2065-2109 มีพี่น้องชายหญิงหลายคน มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ "ลิ้มโต๊ะเคี่ยม" ซึ่งรับราชการอยู่ที่มณฑลฮกเกี้ยนและได้ย้ายมารับราชการที่เมืองจั่วจิว ปล่อยให้ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่น้องคนอื่น ๆ เฝ้าดูแลมารดา นางได้เดินทางมายังเมืองปัตตานี เพื่อตามหาพี่ชายให้กลับไปหามารดาที่ชราภาพที่บ้านเกิด แต่พบกับความจริงว่า พี่ชายของตนนั้นได้แต่งงานกับธิดาของพระยาตานีแล้วเข้ารับราชการในจวนเจ้าเมือง และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม จึงทำให้ไม่สามารถกลับไปยังเมืองจีนพร้อมนางได้ ลิ้มก่อเหนี่ยวเกิดความเสียใจจึงจบชีวิตตนเองที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ดังที่ได้กล่าวกับมารดาว่า “หากนางตามพี่ชายกลับบ้านไม่ได้ จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” กล่าวขานกันว่า ดวงวิญญาณของนางได้แสดงอิทธิฤทธิ์เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว พอมีผู้มาขอพรให้โชคลาภก็ได้ผล หรือแม้แต่การค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้นขนทำให้เกิดความเคารพนับถือศรัทธาอย่างมาก ชาวปัตตานีจึงได้นำต้นไม้ที่นางลิ้มก่อเหนี่ยวจบชีวิตตนเองมาแกะสลักเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อสักการะ
สถาปัตยกรรม
บ้านกงสี ที่มีระดับคุณค่าสูง เป็นบ้านทรงจีนหลังคาแอ่น เดิมเป็นบ้านของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ลักษณะเป็นบ้านทรงจีนหลังคาแอ่น เดิมเป็นบ้านของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง หลังคากระเบื้องดินเผาโค้งท้องช้างทรงจีน ส่วนตัวบ้านนั้นก่ออิฐถือปูนโดยใช้อิฐดินเผาขนาดใหญ่ฉาบด้วยปูนขาวผสมน้ำผึ้ง พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผาขนาดใหญ่ มีขื่อเป็นไม้ท่อนกลม ห้องโถงกลางเป็นโต๊ะหมู่บูชาเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอูหรือพระกุนเต้กุน ห้องทางด้านซ้ายประกอบไปด้วยโต๊ะบูชารูปบรรพบุรุษ ผนังห้องแขวนภาพบรรพบุรุษและพวงหรีดพระราชทาน ห้องทางด้านขวาประกอบไปด้วยภาพวาดจีนอายุร้อยกว่าปี ถัดออกไปจากตัวเรือนจะเป็นสวนผลไม้
บ้านเลขที่ 1 เป็นบ้านทรงจีน 2 ชั้น ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนอาเนาะรู บ้านเลขที่ 1 ไม่ใช่บ้านหลังแรกของย่านเมืองเก่าแต่เป็นบ้านที่มีเลขที่เป็นลำดับแรกของที่นี่หลังมีระบบจัดทำทะเบียนบ้าน บ้านหลังนี้มีกำแพงรอบบริเวณบ้าน มีสวนอยู่หลังบ้าน พื้นบ้านสร้างยกสูงจากถนน ผนังบ้านมีความหนามาก-กลางบ้านเปิดหลังคาโล่งทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ภายในบ้านมีประตูกลสำหรับกันขโมย เมื่อปิดแล้วจะเปิดไม่ได้หากไม่รู้วิธีเปิด หลังคาเป็นหลังคาจั่ว 3 แถว บริเวณหน้าจั่วประดับด้วยงานปูนปั้นอันเป็นเอกลักษณ์ 3 รูปแบบ ได้แก่ สิงห์ พระจีน และดาบไขว้ ตามความเชื่อในเรื่องความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ที่ หัวเสาด้านบนยังประดับลวดลายปูนปั้นศิลปะจีนอย่างสวยงาม
มีจิตรกรรมฝาผนังที่มีการเขียนกำกับรูปภาพเอาไว้ทั้งหมด 5 ภาษาด้วยกัน คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาจีน และภาษาฮินดู แสดงให้เห็นว่าเป็นจุดรวมผู้คนหลายชาติหลายภาษา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีการนับถือศาสนาอิสลาม จึงใช้ภาษามลายูเป็นภาษาถิ่น
ปัญหาความไม่สงบในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการอนุรักษ์และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่าปัตตานี ทำให้สถานการณ์ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมบางประเภทอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญหายหรืออยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมขาดการดูแล
การขยายตัวของเมืองทำให้ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่า ขาดกลไกที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ภาคประชาสังคมบางส่วนในพื้นที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้จากการอนุรักษ์ชุมชนเมือง โดยเข้าใจว่าแนวคิดในการอนุรักษ์เมืองเป็นการจำกัดสิทธิ์และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมือง
โรงเตี๊ยมอาเนาะรู เป็นร้านอาหารที่เปิดจำหน่ายข้าวมันไก่และข้าวหมูกรอบในช่วงเช้า ช่วงเย็นจำหน่ายติ่มซำ กระเพาะปลา ข้าวแกง และน้ำชา ในอดีตเป็นเรือนรับรองและบ้านภรรยาน้อยของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ หรือตันจูเบ้ง ลูกชายของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ตัวบ้านของหลวงสุนทรสิทธิโลหะเป็นตึกปูนอยู่ด้านหลัง แต่ไม่ได้เป็นสถานที่เปิดให้เข้าชม เมนูเด่น คือ ข้าวมันไก่ ข้าวหมูกรอบ ติ่มซำ และกระเพาะปลา
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2555). รายงานสรุปฉบับผู้บริหารโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าปัตตานี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://mnre.go.th/Pattani/th/download/
จิรัชยา เจียวก๊ก. (2563). กือดาจีนอ : นวัตกรรมจากวัฒนธรรมของปาตานี. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์. 2(22), 1-14.
ณัฐธยาน์ ถิ่นพันธุ์. (2063). เรืองราวเล่าขาน ตำนานตานี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://pattaniheritagecity.psu.ac.th/
Pattani Heritage City. (2562). มาฆีตานิง : ท่องไปในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://pattaniheritagecity.psu.ac.th