Advance search

บ้านเทโพ

เห็ดตับเต่า

ชุมชนท่องเที่ยววัฒนธรรมที่มีการนำเห็ดตับเต่ามาแปรรูป และปรุงอาหาร ในชุมชนมีคาเฟ่ และโฮมสเตย์ให้เข้าพัก

สามเรือน
บางปะอิน
พระนครศรีอยุธยา
ภิรมน เรชิวงค์
15 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
23 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
23 ก.พ. 2024
บ้านเทโพ
เห็ดตับเต่า

ในอดีตนั้นหมู่บ้านอยู่ห่างไกลจากความเจริญ และห่างไกลจากสถานที่ราชการ เกิดการปล้นจี้ทำผิดกฎหมาย คนกลุ่มเหล่านี้จึงแอบมาอาศัยบริเวณหมู่บ้าน และมีตาชื่อ "โพ" มาอาศัยอยู่ จึงเรียกว่าบ้านตาโพ และเมื่อเวลาผ่านไปจึงเรียกว่าบ้านเทโพ และหมู่บ้านนั้นมีเห็ดตับเต่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชนจึงมีอีกชื่อเรียกว่า หมู่บ้านเห็ดตับเต่า 


ชุมชนชนบท

ชุมชนท่องเที่ยววัฒนธรรมที่มีการนำเห็ดตับเต่ามาแปรรูป และปรุงอาหาร ในชุมชนมีคาเฟ่ และโฮมสเตย์ให้เข้าพัก

สามเรือน
บางปะอิน
พระนครศรีอยุธยา
13160
องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน โทร. 0-3533-0464
14.28164
100.64885
องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน

เดิมแล้วในพื้นที่หมู่บ้านเทโพนั้นเป็นป่าไม้ยืนต้น ป่าสะแก และเป็นคลองที่เงียบสงบ มีราษฎร 3 ตระกูล ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ และมีการปลูกสร้างบ้านเรือน และมีการแต่งงานสืบเชื้อสายกันมาจนถึงปัจจุบัน จึงเรียกว่าหมู่บ้าน “สามเรือน” และมีเรื่องเล่าขานมาจากในสมัยอยุธยาว่าได้มีชาวญวณ ชาวจีน และชาวขอมเข้ามาตั้งบ้านเรือนจำนวนสามหลัง เป็นหมู่บ้านสามเชื้อชาติ จึงเป็นที่มาของการเรียกขานหมู่บ้านนี้ว่าบ้านสามเรือน ต่อมาทางราชได้ยกขึ้นเป็นตำบลสามเรือน และถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านเทโพด้วย 

นอกจากนี้เดิมทีเดียวบ้านเทโพสมัยก่อนยังไม่มีผู้คนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าทึบหนาแน่น เงียบสงบมีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่มากมาย มีคลองขนมบูดเป็นคลองที่กว้างใหญ่ มีลักษณะคดเคี้ยวมาก มีปลาชุกชุมหลายสายพันธุ์ ต่อมาได้มีการเรียกหมู่บ้านตาโพติดปากและเพี้ยนกันเรื่อยมา บ้างก็เรียกหมู่บ้านตาโพ บ้างก็เรียกหมู่บ้านเทโพ อยู่นานหลายสิบปี กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้มีการประชุม คณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อเรียกชื่อหมู่บ้านให้เป็นไปในทางทิศเดียวกัน จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่าหมู่บ้านเทโพ ดั่งคำขวัญของหมู่บ้าน “เห็ดตับเต่าเลิศรส เหลืองสดดอกโสนบาน ถิ่นฐานปลูกข้าวนาปี ธรรมมีน้อมน้ำจิตใจ” 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มีประชากรจำนวน 209 คน แบ่งเป็นชาย 109 คน ผู้หญิง 100 คน ประชาชนมักสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้ชิดติดกัน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร จำนวนครัวเรือน 44 ครัวเรือน

ในอดีตชาวบ้านไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชุมชน จนกระทั่งผู้นำชุมชนได้เข้ามาประสานงาน สร้างกิจกรรมให้กับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น การใช้พื้นที่ปลูกเห็ด บ้านพักโฮมสเตย์ และการแบ่งงานกันทำอาหารปิ่นโต เป็นต้น มีการก่อตั้งกลุ่มแม่บ้านเทโพ เพื่อแปรรูปเห็ดตับเต่า และทำอาหารเลี้ยงนักท่องเที่ยว โดยมีภรรยาผู้ใหญ่หนุ่มเป็นหัวหน้ากลุ่มแม่บ้าน และมีปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้ สร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านเทโพบางส่วน ยังมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มผู้หญิงก็เป็นแม่ครัว บางกลุ่มก็ทำอาหาร ส่วนกลุ่มผู้ชายบางคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเกษตรและภูมิปัญญาให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว เมื่อถึงเวลาจัดกิจกรรมในชุมชนชาวบ้านก็จะช่วยกันทำความสะอาดและเตรียมพื้นที่ในการจัดกิจกรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หมู่บ้านเทโพมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายเสงี่ยม รื่นหาญ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชาวญวน นับถือศาสนาคริสต์ ผู้ใหญ่คนถัดมาชื่อ นายสะอาด รื่นเวช ซึ่งเป็นคนไทย และนับถือศาสนาพุทธ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านเทโพนั้น นิยมใช้นามสกุลขึ้นต้นด้วยคำว่า “รื่น” เช่น นามสกุล รื่นหาญ รื่นถวิล รื่นชล รื่นรส รื่นธนะ รื่นพืช และรื่นเมฆ จนเป็นนามสกุลต้นตระกูล รื่น สืบมายังลูกหลานตาโพหลายสิบปี

ผู้นำชุมชน ได้แก่ นายณัฐพล รื่นถวิล ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน, นายจำเริญ รื่นถวิล ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, นางสาววิมล แสงทอง ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 

ส่วนสำหรับการจัดการท่องเที่ยวบ้านเทโพ กลุ่มผู้นำจะมี นายณัฐพล รื่นถวิล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ผู้ใหญ่หนุ่ม” ผู้มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้นำแกนกลาง และชักชวนให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมหรืองานในชุมชน โดยมีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่  

1.นางสาวสุดใจ ไกรศิลสม บทบาทหน้าที่คือ เลขานุการ และเป็นคนดำเนินเรื่องให้ชาวบ้านได้กู้เพื่อสร้างหรือต่อเติมบ้าน ในหน่วยงานธนาคารอาคารสงเคราะห์  

2.นางธัญนีย์ วริศโชติวงศ์เดช มีพื้นที่บริเวณหน้าอาคารเอนกประสงค์เป็นไกด์นำนักท่องเที่ยว เก็บเห็ดตับเต่า สอนวิธีเก็บดูแลรักษาและจัดการให้ความรู้เกี่ยวกับเห็ดตับเต่า 

3.นายสายันต์ เสือสมิง กับ นายสันติ ไพบูลย์ บทบาทหน้าที่ ประสานงานกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล ติดต่อสื่อสารประสานงาน  

4.นายสมพงษ์ รื่นเพียร หรือ ลุงหอม บทบาทหน้าที่ ปราชญ์ชาวบ้านทำแร้วแหดักปลา ให้ความรู้เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในปี พ.ศ. 2544 เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการท่องเที่ยวเกษตรนิเวศชุมชนบ้านเทโพ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ นายณัฐพล รื่นถวิล กล่าวว่า “ได้รับเชิญจากจังหวัดไปจัดนิทรรศการงาน OTOP ที่บริเวณหมู่บ้านสินทิวาธานี ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ใหญ่เป็นคนคิดริเริ่มและมีองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือนสนับสนุน ภายในนิทรรศการมีกิจกรรมจำลองสวนดอกโสน โดยการทำต้นโสนจำลองขึ้นมาและให้นั่งท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาชมนิทรรศการ ได้เก็บดอกโสนจากสวนจำลองที่จัดเตรียมไว้ และยังมีการจำหน่ายเห็ดตับเต่าและให้ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อมูลเห็ดตับเต่า ประวัติความเป็นมาและข้อมูลต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าการจัดงานในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่เข้ามาชมต้องการที่จะสัมผัสบรรยากาศ ต้องการถ่ายรูป และเก็บดอกโสนของจริงจากสถานที่จริง”  

ในปี พ.ศ. 2545 ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนริเริ่มจัดงาน ดอกโสนบาน จัดงานที่ชุมชนบ้านเทโพ ในช่วงเวลา วันที่ 28-30 กันยายน พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกโสนบานสวยงาม 

พ.ศ. 2559 เริ่มก่อตั้งโฮมสเตย์ ทางผู้ใหญ่บ้านได้ก่อตั้งโฮมสเตย์ เพื่อขยายการท่องเที่ยว จึงทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้เสริมจากการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ชุมชนจึงพัฒนาขึ้นและชาวบ้านให้ความร่วมมือดีอีกด้วย 

สำหรับในปัจจุบัน ชุมชนบ้านเทโพมีการจัดการท่องเที่ยวเกษตรนิเวศในเรื่องของการนำชุมชนเป็นจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยว โดยให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาได้แวะชม และเข้ามาถ่ายรูป สัมผัสถึงความสวยงามของดอกโสน นอกจากนี้ยังมีรถรางเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใช้บริการในการชม สัมผัสถึงวิถีชีวิต การดำรงอยู่ของคนในชุมชน อีกทั้งยังมีมัคคุเทศก์คอยให้ความรู้ต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ และยังเป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว
  • ล่องเรือ/ นั่งรถราง/ ปั่นจักรยาน ชมนิเวศสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ รังนกกระจาบ อุทยานหุ่นไล่กา
  • ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพ
  • ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพเป็นแหล่งเพาะปลูกเห็ดตับเต่า ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • สาธิตการทำแร้วดักปลา
  • พิพิธภัณฑ์บ้านลุงหอม ผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน 
  • เยี่ยมชมสวนกล้วยไม้ สวนกล้วยไม้ร่มวลี จุดนี้เหมาะสำหรับการเรียนรู้การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้
  • ไหว้พระขอพรพระวัดสาม

เพราะเราชอบเที่ยว. (2566). ชุมชนคุณธรรมบ้านสามเรือน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://jk.tours/

อเนก รักเงิน, กิตติพงศ์ เดชโอภาส, อดิสร มีศิริ และไพโรจน์ โปษณกุล. (2563). การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศของหมู่บ้านเทโพ ตำบลสามเรือน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิชาการมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์. 8(2), 146-161.

Google map. (2566). พิกัดแผนที่หมู่บ้านเทโพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.google.co.th/maps/