
ชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าริมชายฝั่งอันดามัน สถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส วัฒนธรรมการแต่งกายแบบบาบ๋า อาหารการกิน ตลอดจนวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวชุมชน
ตะกั่วป่าว่า “เมืองตกุโกล” หรือ “ตกโกล” ในภาษาบาลีและตกุลในภาษาสิงหล แปลว่า กระวาน เหตุผลที่ได้เรียกชื่อดังนี้ น่าจะสืบเนื่องมาจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ และในเวลาต่อมาชาวกรีก อาหรับ และเปอร์เซีย เข้ามาทำการค้าขายติดต่อด้วย ปรากฏตามจดหมายเหตุของปโตเลมี เรียกเมืองนี้ว่า “ตะโกลา” อาหรับเรียกว่า “กะกุละ” หรือ “กะโกละ”
ชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าริมชายฝั่งอันดามัน สถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส วัฒนธรรมการแต่งกายแบบบาบ๋า อาหารการกิน ตลอดจนวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวชุมชน
"ตะกั่วป่า" เดิมเป็นเมืองเรียกว่า "เมืองตะกั่วป่า" แต่ในสมัยโบราณ คือ เมืองตะโกลาเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้มีความเจริญรุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไทรบุรี ชาวพื้นเมืองเดิมเป็นชาวป่าพวกหนึ่ง เรียกว่า "ซาไก" ต่อมาชาวมลายูได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนแถบนี้ประมาณ พ.ศ. 200-300 พระเจ้าอโศกมหาราชจักรพรรดิแห่งประเทศอินเดียได้ยกกองทัพมาปราบแคว้นกลิงคราษฎร์ ในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ ชาวกลิงคราษฎร์บางพวก จึงได้อพยพมาขึ้นที่เมืองตะกั่วป่า และเมืองใกล้เคียงโดยได้นำความรู้ต่างๆ มาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ด้วย เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ที่ชนชาติทางตะวันตกรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชนชาติอินเดีย ซึ่งได้มาถึงเมืองนี้ก่อนชนชาติอื่นๆ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือมิลินทปัญหาซึ่งได้เขียนไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. 500 ว่าชาวอินเดียเรียกเมือง ตะกั่วป่าว่า "เมืองตกุโกล" หรือ "ตกโกล" ในภาษาบาลี และตกุลในภาษาสิงหล แปลว่า กระวาน เหตุผลที่ได้เรียกชื่อดังนี้ น่าจะสืบเนื่องมาจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ และในเวลาต่อมาชาวกรีก อาหรับ และเปอร์เซีย เข้ามาทำการค้าขายติดต่อด้วย ปรากฏตามจดหมายเหตุของปโตเลมี เรียกเมืองนี้ว่า "ตะโกลา" อาหรับเรียกว่า "กะกุละ" หรือ "กะโกละ" นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนได้นำเอาเครื่องกระเบื้องเข้ามาค้าขายยังถิ่นฐานนี้ตั้งแต่ 1,600 ปีมาแล้ว และก็มีชนชาติต่างๆ เข้ามาติดต่อค้าขายในพื้นที่แห่งนี้
เมืองตะกั่วป่าหรือเมืองตะโกลานั้น เดิมขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็น เมืองเอกราชของประเทศศรีวิชัย แต่เมื่อประมาณ พ.ศ. 1832 ชนชาติไทยได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแคว้นสุวรรณภูมิ และมีอำนาจมากขึ้นจนตีได้เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตะกั่วป่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2437 ได้แบ่งการปกครองหัวเมืองต่างๆ ออกเป็นมณฑลและจังหวัด เมืองตะกั่วป่าจึงมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นกับมณฑลภูเก็ต และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมืองตะกั่วป่าจึงถูกลดลำดับความสำคัญจากจังหวัด ตะกั่วป่าลงมาเป็นอำเภอตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัดพังงา เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเมือง
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. 2480 โดยที่เห็นสมควรให้ยกฐานะบางส่วนของตำบลตลาดเหนือ ตำบลตลาดใต้ และตำบลย่านยาว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ขึ้นเป็นเทศบาลเมืองมีนามว่า เทศบาลเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2480
สภาพปัจจุบันของพื้นที่ชุมชนบนถนนศรีตะกั่วป่า ตั้งอยู่ริมคลองตะกั่วป่า มีถนนสายสำคัญ 5 สาย คือ ถนนศรีตะกั่วป่า ถนนอุดมธารา ถนนกลั่นแก้ว ถนนมนตรี 2 และถนนหน้าเมือง โดยมีถนนศรีตะกั่วป่า เป็นถนนสายหลัก และเป็นศูนย์กลางที่ตั้งของชุมชนมีอาคารรูปแบบชิโน-โปรตุกีส อยู่อย่างหนาแน่นและค่อนข้างสมบูรณ์ตลอดแนวยาวริมถนนอุดมธารา และบนถนนสายนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “กำแพงจวนเจ้าเมือง” ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญ โดยอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร ที่ตั้งของกำแพงค่ายเมืองตั้งอยู่ใกล้กับคลองตะกั่วป่าบริเวณสามแยกคลองปิกับคลองตะกั่วป่า การเข้าถึงในปัจจุบันและการติดต่อกับเมืองอื่นๆ ยังคงเป็นถนนสายเดียว และมีสภาพคดเคี้ยวผ่านแนวเทือกเขาที่สลับซับซ้อน
ชุมชนเมืองตะกั่วป่ามีประชากรทั้งสิ้น 1,230 คน เป็นประชากรชาย 560 คน และประชากรหญิง 670 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 460 ครัวเรือน ประชากรในชุมชนนอกจากจะเป็นชาวพื้นถิ่นเดิมแล้วยังพบว่ามีชาวบาบ๋า หรือชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่
เป็นเขตย่านการค้าที่สำคัญของอำเภอตะกั่วป่าและจังหวัดพังงามาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย เช่น ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ขายของชำ ขายของแห้ง ขายขนมเต้าส้อ ขายยา เปิดร้านตัดผม ขายก๋วยเตี๋ยว หรือของกินท้องถิ่น เป็นต้น โดยเฉพาะบริเวณถนนอุดมธารา ในอดีตมีการค้าขายทางแม่น้ำ เป็นเหตุให้มีคำพูดเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “จับเส” มาจากภาษาจีน แปลว่า สิบ ส่วน เส แปลว่า สินค้า ดังนั้น ถนนอุดมธาราที่คนในพื้นที่เรียกว่า จับเส จึงบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประชาชนแถบนี้แต่เดิมมีความรุ่งเรืองมาก ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน จึงทำให้เรือสินค้าต่างชาติจากหลากหลายประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายในพื้นที่ดังกล่าว เช่น สินค้าเรือจากประเทศจีน ประเทศพม่า ซึ่งเข้ามาขายสินค้าหลากหลายประเภทเช่น ข้าวสาร ทับทิม ยาเส้น น้ำตาลแดง ผ้าไหมและสินค้าอื่นๆ
วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ จะอยู่กับแบบเงียบๆ และเรียบง่ายหากไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวชุมชนค่อนข้างเงียบเหงา เช้าตรู่จะมีผู้สูงอายุมานั่งพูดคุยและดื่มกาแฟที่ร้านประจำหมู่บ้าน ส่วนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะออกไปทำงานในเมือง สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จะคึกคักก็ช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยวัฒนธรรม หรือประเพณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองตะกั่วป่านั้น ส่วนมากแล้วจะมีความคล้ายคลึงและผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น อาหาร ขนม และประเพณีถือศีลกินเจ
ทุนวัฒนธรรม
- ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตลาดใหญ่
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตลาดใหญ่ เดิมเคยเป็นที่ตั้งเมืองตะกั่วป่า ซึ่งเคยคึกคักและรุ่งเรืองมากเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากมีชาวจีนเข้ามาทำเหมืองแร่จำนวนมาก การก่อสร้างบ้านเรือนมีลักษณะที่เป็นตึกแถวแบบชิโน-โปรตุกีสน่าชม สามารถเดินชมเมืองได้โดยใช้เวลาไม่มากนัก ชุมชนแห่งนี้ประกอบไปด้วยเรื่องราวและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ วิถีชีวิตของผู้คน เชื้อชาติ ที่ผสมกลมกลืน วัฒนธรรมแบบผสมผสานมีความเฉพาะตัว รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ปัจจุบันวัฒนธรรมยังคงสืบสานโดยกลุ่มคนรุ่นเก่า (ผู้สูงอายุ) และกลุ่มคนรุ่นใหม่
ในอดีตเคยเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการค้า การขนส่ง ด้วยสภาพอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุเกต ที่ยังคงความสมบูรณ์สวยงามแม้เวลาผ่านล่วงเลยมาหลายสิบปี ทำให้ชุมชนตลาดใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนอนุรักษ์ ประเภทชุมชนการค้า โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
จากสภาพพื้นที่และความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน พื้นที่ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า อําาเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีความพร้อมในพื้นที่ในการจัดการท่องเที่ยว แต่ทว่ายังต้องศึกษาและปรับแนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน รวมถึงการจัดกิจกรรมและจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนสู่แนวทางในการจัดการท่องเที่ยวเสมอ เพื่อที่จะปรับเป็นชุมชนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และด้วยพื้นที่ของชุมชนนี้ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีต อาทิ สถาปัตยกรรม วัด อาคารโบราณ การแต่งกาย ภาษา และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพื้นที่
คนในชุมชนเองก็มีความต้องการในการต่อยอดการพัฒนาทั้งในด้านความถูกต้องของข้อมูลในชุมชน เช่น การแต่งกาย (ที่คนในพื้นที่กล่าวว่าในปัจจุบันนั้นแนวคิดนี้เริ่มรับมาจากจังหวัดใกล้เคียงคือจากจังหวัดภูเก็ต) ส่งผลให้คนในตะกั่วป่าเริ่มมีฟื้นฟูการแต่งกายแบบบาบ๋า ยาย๋า เข้ามาอนุรักษ์แต่ก็ยังไม่ได้เป็นข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องอัตลักษณ์การแต่งกายของกลุ่มคนบาบ๋า ยาย๋า ในพื้นถิ่นอย่างชัดเจน, อาหารพื้นถิ่นมีบางกลุ่มกล่าวว่าเรื่องอาหารในบางครั้งเราจะถูกนํามาในช่วงงานเทศกาลเท่านั้นไม่ได้มีกินประจําวันเสมือนเมื่อก่อนทําให้ลดทอนลงไป
- ชาวบาบ๋า (เชื้อสายจีน) ในตะกั่วป่า
จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย ทางด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน มีความเป็นมาในอดีตที่สําคัญและน่าสนใจ ทั้งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าป่าไม้ ป่าชายเลนและแร่ดีบุก ดังปรากฏหลักฐานว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนทําเหมืองแร่กันเป็น จํานวนมากโดยเฉพาะแรงงานที่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นที่รวมของคนไทยพื้นถิ่น ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน โดยเฉพาะชาวไทยทั้งชายและหญิงเชื้อสายจีนที่เป็นลูกผสมระหว่างชาวจีนฮกเกี้ยนกับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า “บาบ๋า”
ชาวบาบ๋ามีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในไทย จะมีบริเวณภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ชาวบาบ๋ามีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ดังจะเห็นได้จากภาษาพูด การแต่งกาย อาหาร ที่อยู่อาศัย ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
ในจังหวัดพังงามีชาวบาบ๋าอาศัยกระจายอยู่ในอําเภอต่างๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น อําเภอตะกั่วป่า อําเภอกะปง อําเภอเมือง อําเภอตะกั่วทุ่ง อําเภอท้ายเหมือง เป็นต้น ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากวัฒนธรรมการแต่งกายและการสวมใส่เครื่องประดับต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวบาบ๋าอันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองพังงาตั้งแต่ยุคเหมืองแร่จนถึงปัจจุบัน
จิตตาภรณ์ กล่อมแดง, อรุณวรรณ มุขแก้ว และจีรณัทย์ วิมุตติสุข. (2559). วัฒนธรรมการแต่งกายบาบ๋าจังหวัดพังงา. วารสารนาคบุตรปริทรรศน์. (9)2, 37-47.
ธำรงค์ บริเวธานันท์. (2566). เมืองตะกั่วป่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://wikicommunity.sac.or.th/community/951
สกาวรัตน์ บุญวรรโณ และมาลี สบายยิ่ง. (2560). สภาพพื้นที่และความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน กรณีศึกษาพื้นที่ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. วารสารสหวิทยาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. 2(1), 44-54.
งค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา. (ม.ป.ป.). เมืองเก่าตะกั่วป่า/กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่าตะกั่วป่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.phangngapao.go.th/