ต้นตำรับการทอผ้ามัดหมี่ นอกจากผ้ามัดหมี่แล้วยังมีผ้าขาวม้า หอมปทุม หมี่กรอบสมุนไพร และกระยาสารท นอกจากนี้ ชาวไทยพวนยังอนุรักษ์การแต่งกายแบบดั้งเดิม เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยพวนไว้
ต้นตำรับการทอผ้ามัดหมี่ นอกจากผ้ามัดหมี่แล้วยังมีผ้าขาวม้า หอมปทุม หมี่กรอบสมุนไพร และกระยาสารท นอกจากนี้ ชาวไทยพวนยังอนุรักษ์การแต่งกายแบบดั้งเดิม เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยพวนไว้
อัตลักษณ์บ้านทราย หมู่ 2 อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี คือ มรดกทางวัฒนธรรมของไทยพวน ที่อพยพถิ่นฐานมาจากเมืองพวน แคว้นเชียงขวาง ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และย้ายกันมาเป็นระยะ โดยครั้งสุดท้ายที่ได้ย้ายมามากที่สุด คือ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2369 ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “พระภิกษุหล้า” เป็นพระธุดงค์ ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบานาวา” ได้ออกธุดงค์ มาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว เพื่อสืบเสาะหาและติดตามญาติพี่น้องที่ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว การออกธุดงค์ของท่านจึงได้พบกับพี่สาวของท่าน ชื่อว่า “ถอ” ที่หมู่บ้านชาวบ้านทราย อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้วที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ท่านจึงพำนักและอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องของท่านที่นั่น ต่อมาท่านจึงได้ชักชวนญาติโยมชาวบ้านทรายทั้งหลายช่วยกันขุดบ่อน้ำบาดาลขึ้นไว้ใช้ บ่อน้ำบาดาลที่ท่านครูบานาวาและญาติโยมได้ขุดขึ้นครั้งแรกนั้นเรียกว่า “บ่อน้ำสร้างบ้านทราย” ซึ่งยังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ ในปัจจุบันนี้ที่บริเวณ ทิศตะวันตกวัดถนนแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ชุมชนบ้านทราย อยู่ทางทิศเหนือของตัวจังหวัดลพบุรี อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 32 กิโลเมตร ในอดีตบรรพบุรุษของคนพวนเป็นกลุ่มคนที่มีปัญญาในการเลือกทำเลที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และที่ทำมาหากิน เมืองพวนเชียงขวาง เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ แร่ธาตุ ป่าไม้ พืชพรรณสมุนไพร ประกอบกับภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มรอบล้อมไปด้วยภูเขาสูง มีน้ำไหลผ่าน สภาพภูมิอากาศเย็นสบายน่าอาศัยอยู่ส่งผลให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพวนมีความสงบสุข ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ คนพวนจึงเป็นคนมีอุปนิสัยใจคอสุขุม รักสงบ รักความเป็นอิสระเสรี มีความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลหินปัก อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ตำบลบ้านทราย มีพื้นที่ในเขตการปกครอง ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทราย มีประชากรรวมทั้งสิ้น 3,521 คน เป็นเพศชาย 1,690 คนและเป็นเพศหญิง 1,831 คน จำนวนบ้านเรือน 888 หลังคาเรือน จำนวนประชากรเฉลี่ย 3 คนต่อหลังคาเรือน (รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านกรมการปกครอง ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2552) ความหนาแน่น 598.80 คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีการทำบุญตามพระพุทธศาสนาในเดือนต่างๆ ที่สืบสานต่อเนื่องกันมา มีความเป็นอยู่แบบเครือญาติ ผูกพันและพึ่งพาอาศัยกัน
ไทยพวนมีการรวมกลุ่มเพื่อการประกอบอาชีพทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในตำบลบ้านทราย มีการรวมกลุ่มหลายรูปแบบ ได้แก่ กลุ่มทอผ้าตำบลบ้านทราย (ระดับ 5 ดาว) กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ทำกระเป๋า (ระดับ 3 ดาว) กลุ่มปลาส้ม กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ
การประกอบอาชีพประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 70 ของครัวเรือนทั้งหมด โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 15 ไร่ต่อครัวเรือน และมีแรงงานภาคเกษตร เฉลี่ย 2 คนต่อครัวเรือน อาชีพรองลงมาเป็นการค้าขายรับจ้างรับราชการและอื่น ๆ ได้แก่
- งานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสาน เพราะวัสดุที่ใช้มีอยู่ทั่วไป ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักสานที่สำคัญส่วนใหญ่ ได้แก่ กระบุง ตะกร้า
- งานหัตถกรรมประเภททอผ้า แหล่งที่ทอผ้าพื้นเมืองมากที่สุด คือ อำเภอบ้านหมี่ โดยเฉพาะในเขต ตำบลบ้านกล้วย บ้านทราย และบ้านหินปัก ผู้ที่ทอผ้ามักเป็นชาวบ้านที่มีเชื้อสายมาจากลาวพวน งานทอผ้าที่นี่นับว่าเจริญก้าวหน้า จนสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน นำออกจำหน่ายในแหล่งอื่น ๆ ผ้าที่ทอที่อำเภอบ้านหมี่ มีหลายลักษณะ เช่น ผ้ามัดหมี่ไหม ผ้ามัดหมี่ฝ้าย ผ้าขาวม้าลายไส้ปลาไหล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผ้าขาวม้าที่มีคุณภาพชั้นยอดของเมืองไทย
วิถีชีวิตประจำวันของคนพวน มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ อาชีพหลักของคนพวน คือ การทำนา เป็นหน้าที่ของผู้ชาย ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้านเรือนและปรนนิบัติสมาชิกในครอบครัว ยามว่างจากภารกิจก็จะทอผ้าขึ้นไว้ในครัวเรือน คนพวนจึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับครอบครัวและหมู่ญาติพี่น้อง การถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้และกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านสังคม ความเชื่อ และศาสนา ตลอดจนกิจกรรมการละเล่น นันทนาการและความสนุกสนานรื่นเริง จึงเริ่มต้นจากครอบครัว คนพวนมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ได้สืบทอด ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมการละเล่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เช่น เส็งกลอง หม่าเบี้ย ผีนางกวัก และลำพวน ซึ่งเป็นการละเล่นสนุกสนาน ที่เริ่มจากสมาชิกในครอบครัวและญาติพี่น้อง ต่อมาจึงได้นำมาเล่นในหมู่เพื่อนบ้านหรือในสังคมเดียวกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของคนพวน
ชาวบ้านตำบลบ้านทรายเชื่อถือในการเลี้ยงเจ้าพ่อ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านที่ดูแลคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นที่พึ่งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของผู้คนในตำบล เมื่อเลี้ยงเจ้าพ่อแล้วเชื่อว่าเจ้าพ่อจะช่วยเหลือประชาชนในตำบลอยู่เย็นเป็นสุข เกิดความเป็นสิริมงคลต่อหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนำเอาอาหารคาวอาหารหวานไปถวายเจ้าพ่อ เช่น หัวหมูต้ม ไก่ต้ม หมากพลู เหล้าขาว บุหรี่ พวงมาลัย ผ้าแดง และอื่นๆ หรือการละเล่นต่างๆ ที่ชาวบ้านได้บนไว้ เช่น ลิเก การรำ เป็นต้น การประกอบพิธีกรรม ตอนเช้าชาวบ้านจะนำอาหารและสิ่งของที่เจ้าพ่อโดยมีร่างทรงเป็นผู้กระทำพิธี และใครต้องการให้เจ้าพ่อช่วยเหลือก็จะทำการบนเจ้าพ่อไว้ให้ช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เมื่อประสบผลสำเร็จแล้วก็จะนำสิ่งของที่กล่าวบนไว้ไปเลี้ยงเจ้าพ่อในวันอื่นๆ
ประเพณีสำคัญของชาวไทยพวน ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ได้แก่ ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีที่นับถือสักการบูชาฟ้า ที่เรียกว่าประเพณีกำฟ้าเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวนเชื่อกันว่า เมื่อได้ปฏิบัติพฤติกรรมตามแบบแผนที่ได้กระทำสืบต่อกันมาแล้วจะทำให้เทวดาพึงพอใจดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะมีความร่มเย็นเป็นสุขอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร และอีกประเพณีหนึ่ง ได้แก่ ประเพณีเส่อกระจาด จัดขึ้นในวันข้างแรมเดือน 11 ช่วงเทศกาลวันออกพรรษาเป็นประเพณีหนึ่งของชาวไทยพวน ในวันเส่อกระจาดชาวบ้านอื่นๆ จะนำสิ่งของ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม ผลไม้ต่างๆธูปเทียนหรือของอื่นๆ บางครั้งอาจเป็นเงินไปใส่กระจาดยังบ้านที่ทำพิธีใส่กระจาด ทำเป็นเครื่องกัณฑ์เทศ ไปถวายที่วัดโดยถือว่าเป็นการทำบุญเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี
ตำบลบ้านทรายมีการละเล่นพื้นบ้านที่สำคัญได้แก่ การละเล่นนางกวัก ประชาชนจะมารวมตัวกันบริเวณลานบ้าน เป็นการละเล่นที่ชาวบ้านนิยมเล่นกันในช่วงประเพณีกำฟ้า เพื่อเป็นการเสี่ยงทายเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในหมู่บ้านและชีวิต เช่น โชคชะตาราศี ดวงของหมู่บ้านและการแสดงลำพวน เพื่อการแสดงเพื่อความสนุกสนานหลังจากได้ตรากตรำทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพมานานปี
ทุนวัฒนธรรม
ชุมชนบ้านทรายเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ พืชพรรณ สมุนไพรต่าง ๆ
ทุนวัฒนธรรม
ลำพวน การละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวน ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาที่แสดงออกถึงศิลปะการขับร้องลำนำประกอบแคนทำนองลีลาพวน บทลำนำเป็นคำพูดที่ผูกร้อยด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ เฉียบแหลมด้วยปัญญาหรือที่เรียกว่า ผญา คล้ายกับคำร้อยกรองในภาษาไทย มีลักษณะเป็นปริศนาให้คิด เป็นคำสอนเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำรงชีวิต เป็นคำอำนวยพร ที่สอดแทรกไว้ในเรื่องราวที่จะขับลำนำหรือลำพวนในแต่ละโอกาส เช่น ประวัติความเป็นมา เรื่องเล่าเล่านิทาน การแสดงออกของความรัก การตัดพ้อต่อว่า หรือเสียดสีค่อนแคะกัน ความอาลัยอาวรณ์จากการสูญเสีย หรือพลัดพรากซึ่งกันและกัน ลำพวนจึงเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนพวน โดยเฉพาะท่วงทำนอง ลีลาการเป่าแคนจะแตกต่างจากเสียงแคนของคนไทเผ่าอื่น ๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงลักษณะนิสัยใจคอ วิถีชีวิตของคนพวน ที่รักอิสระเสรี รักสงบ มีความโอบอ้อมอารี มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ท่วงทำนองการเป่าแคนจึงถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะไพเราะ อ่อนหวาน ลึกซึ้งกินใจ แสดงออกถึงความสุข ความทุกข์ ความรัก ความเสียใจ ความอาลัยอาวรณ์ ความสนุกสนาน เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย ตั้งอยู่ภายในวัดบ้านทราย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยใช้พื้นที่ชั้นล่างของศาลาใหญ่วัดบ้านทรายเป็นสถานที่จัดแสดง พิพิธภัณฑ์ริเริ่มโดยสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านทราย ที่ก่อตั้งศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลด้านวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่วัฒนธรรมและวิถีชีวิต และเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชนและเยาวชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ส่วนหนึ่งของศูนย์ฯ ดังกล่าวคือการจัดทำ “พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย” มีอาจารย์สมคิด จูมทอง อดีตอาจารย์จากโรงเรียนบ้านทราย เป็นประธานและหัวเรือหลักในการจัดทำ โดยเริ่มต้นจากการรับบริจาคสิ่งของมีค่าเก่า ๆ ทั้งข้าวของเครื่องใช้ ของโบราณจากคนในชุมชน เพื่อจัดแสดง เรื่องราวประวัติความเป็นมา ชาติกำเนิด วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตของชาวไทยพวนบ้านทราย ในอดีตบรรพบุรุษคนไทยพวนตำบลบ้านทราย มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ต่อมาได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 200 ปีมาแล้ว และถือได้ว่าอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีชาวไทยพวนอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของชาวไทยพวนบ้านทราย เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในครัวเรือน การจำลองกวงเฮือน (ห้องนอน) การทำผ้าทอมัดหมี่ เรือโบราณ นางกวัก ตู้โชว์จัดแสดงเครื่องแต่งกายของชาวไทยพวน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงวัตถุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากแหล่งโบราณคดีวัดจันเสน และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งที่บ้านเชียงนี้ชาวพวนบ้านทรายถือว่าเป็นพี่น้องชาวพวนด้วยกัน
มีการใช้ภาษาของชาวพวน จากหนังสือสารานุกรมชาติพันธุ์ : พวน กล่าวว่า ภาษาพวนเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาไทย ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนตอนใต้ มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ที่ใช้สื่อสารกันในหมู่ชาวพวน แต่ปัจจุบันเหลือแต่ภาษาพูดเท่านั้น ภาษาเขียนไม่ค่อยมีใครเขียนได้ แม้แต่การอ่านหนังสือผูกที่เขียนเป็นภาษาพวน ก็หาคนพวนที่อ่านออกได้น้อย ผู้ที่สามารถอ่านได้ก็เป็นคนอายุมาก ๆ ทั้งนั้น
กาญจนรัตน์ แปลกวงศ์. (2554). ลำพวน : กรณีศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวพวน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี. ปริญญานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี. (2566). ลพบุรี อาชีพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://library.tru.ac.th/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2565). วัดบ้านทราย-พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย จ.ลพบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/WatBanSai
Phawanthaksa. (2562). บ้านทราย มรดกทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่าจากแคว้นเชียงขวาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://smartsme.co.th/