ชุมชนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังมี "วัดอาน" เป็นวัดประจำชุมชน และมีหมู่บ้านศิลปหัตถกรรมเฉลิมพระเกียรติไม้กวาดไยมะพร้าว
ชื่อบ้านบางแม่หม้าย มีเรื่องเล่าประวัติที่เล่าต่อ ๆ กันมา มี 2 เรื่องราว
เรื่องที่ 1 กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ ชายไทยต้องออกรบเพื่อปกป้องบ้านเมือง ทำให้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ภรรยาต้องเป็นหม้าย
เรื่องที่ 2 นิยายปรัมปรา เล่าว่า ในหมู่บ้าน มีสองสาวงามที่มีความสวยงามเป็นที่เลื่องลือ และมีหนุ่มสองพี่น้องจากต่างบ้านได้เข้ามาสู่ขอแต่งงาน แต่ระหว่างการเดินทาง ขบวนขันหมากแห่มาทางน้ำ โดยเรือสำเภาได้เกิดล่มระหว่างทาง ทำให้ชายหนุ่มทั้งสองเสียชีวิต สองสาวงามจึงได้บวชชีเพราะเป็นหม้ายขันหมาก และแสดงถึงความรักเดียวใจเดียว จนเป็นที่กล่าวขานร่ำลือ จึงได้ชื่อว่า "บ้านบางแม่หม้าย" จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังมี "วัดอาน" เป็นวัดประจำชุมชน และมีหมู่บ้านศิลปหัตถกรรมเฉลิมพระเกียรติไม้กวาดไยมะพร้าว
ชุมชนบ้านบางแม่หม้าย มีความเป็นมายาวนานมากกว่า 300 ปี สมัยก่อนชุมชนแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมเพราะมีวัดร้างอยู่ในปัจจุบันถึง 7 วัด ชุมชนนี้เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนจำนวนมาก มีหอกลอง และหลุมหลบภัยใต้ดินใช้สำหรับแอบซ่อน ตรงกับข้อมูลที่เล่าต่อกันมาว่า ผู้ชายแถบนี้เคยสู้รบกับพม่าแบบลอบโจมตี ไม่ได้อพยพหนีออกไปจากหมู่บ้าน แบบย้ายชุมชนสู้แบบกองโจร จากสภาพหมู่บ้าน ประกอบกับชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนใหญ่แหล่งค้าขายมาก่อน
ชุมชนบางแม่หม้ายเริ่มจากการเป็นหมู่บ้านเรือนไทย บางแม่หม้ายโฮมสเตย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 แต่กลุ่มเรือนไทยได้ประสบปัญหาหลายด้านจึงทำให้กิจกรรมซบเซาไปกว่า 10 ปี และใน พ.ศ. 2560 ได้มีแรงสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เข้ามาสำรวจปัญหาและทำวิจัยจึงเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มเรือนไทยบางแม่หม้ายโฮมสเตย์ และบุคคลในชุมชนมีกำลังใจในการทำงาน เริ่มงานท่องเที่ยวโดยชุมชนอีกครั้งหนึ่ง โดยมีกลุ่มเรือนไทยบางแม่หม้ายโฮมสเตย์เป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อนปรับปรุงเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม ส่งผลให้การท่องเที่ยวกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ด้วยวิถีชีวิตอันเรียบง่ายอัธยาศัยดีของชาวบ้านและอัตลักษณ์ความงามในชุมชนที่ไม่เหมือนใคร
หมู่บ้านบางแม่หม้ายตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 2 บางส่วนอยู่ในหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่โดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทราย มีแม่น้ำและคลองหลายสายไหลผ่าน ซึ่งเหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทางการเกษตร ได้แก่ การทำนาข้าว ปลูกผักสวนครัวในครัวเรือน และมีอาชีพรับจ้าง มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านพื้นที่ และยังมีคลองต่าง ๆ อีกหลายสายที่เชื่อมโยงกับชุมชน สิ่งแวดล้อมเป็นบรรยากาศทุ่งนา วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ต้นตาล 100 ต้น เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่มีความงดงาม บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มในลักษณะของบ้านทรงไทยโบราณ ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่บ้านหลังหนึ่งก็จะสามารถเดินต่อทะลุถึงกันได้ทั้งกลุ่มบ้าน โดยมีชานบ้านเป็นตัวเชื่อมระหว่างกัน ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่เรือนที่เชื่อมกันได้
ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนาน มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษ คือ ชาวไทยพวน คือ กลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวพวนในเมืองพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชนกลุ่มนี้ถ้าอยู่ในลาว เรียกว่า "ลาวพวน" เมื่ออยู่ในประเทศไทยเรียกว่า "ไทยพวน" เมืองพวน คือ หนึ่งในจำนวนหลาย ๆ เมืองในประเทศลาว ที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อฝรั่งเศสเปิดศึกอินโดจีน ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ชาวลาวพวนกลุ่มหนึ่งจึงดิ้นรนย้ายมาอยู่ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จากข้อมูลจากสำนักทะเบียนอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 มีพื้นที่เป็นหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 จำนวนประชากรทั้งหมดรวม 2 หมู่ ทั้งหมด 380 ครัวเรือน ประชากรชาย 525 คน ประชากรหญิง 556 คน รวม 1,081 คน
ไทยพวนชุมชนบางแม่หม้าย สมาชิกในชุมชนมีจิตใจที่รักการบริการและพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต อัธยาศัยที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน อาทิ องค์กรภาครัฐ เช่น องค์กรบริหารส่วนตำบลบางใหญ่, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น และองค์กรภาคเอกชน เช่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี, หอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีธุรกิจนำเที่ยว บริษัททัวร์ต่าง ๆ
ปัจจุบันชุมชนบางแม่หม้าย ได้มีการจัดกลุ่มอาชีพเพื่อการท่องเที่ยวขึ้น ได้แก่ กลุ่มโฮมสเตย์ ที่เป็นฝ่ายบริการดูแลที่โฮมสเตย์ในชุมชน เพื่อบริการและดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือพักในชุมชน กลุ่มไม้กวาดใยมะพร้าว กลุ่มขนมไทย กลุ่มจักสาน กลุ่มการทอเสื่อ กลุ่มพายเรือ เป็นต้น โดยแต่ละกลุ่มมีการช่วยเหลือและพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยกลุ่มโฮมสเตย์มีการรวบรวมสมาชิกได้ทั้งสิ้น 12 หลังคาเรือน และได้จัดตั้งกลุ่มโดยใช้ชื่อกลุ่มว่ากลุ่มเรือนไทยบางแม่หม้ายโฮมสเตย์ โดยกระบวนการบริหารการจัดการนั้นเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในกลุ่มเรือนไทยบางแม่หม้ายโฮมสเตย์และกลุ่มชาวบ้าน ผ่านการจัดการความรู้ในการบริหารจัดการที่พักสัมผัสวัฒนธรรมของชุมชน
ในชุมชนบางแม่หม้ายมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทพวนอยู่บ้าง จึงมีประเพณีที่ทั้งรับมาจากไทพวนและของไทยอยู่แล้ว เช่น ประเพณีตักบาตรกลางน้ำ ที่แม่น้ำท่าจีนหน้าวัดป่าพฤกษ์ ที่ได้สืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่จัดขึ้นวันแรม 12 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีประเพณีการแข่งขันเรือยาว ที่มีมาตั้งแต่โบราณ มักจัดแข่งกันในวัดที่ทอดกฐิน ทอดผ้าป่าหรืองานประเพณีของวัดที่อยู่ริมน้ำ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ทุนวัฒนธรรม
ทุนที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จากที่มีบ้านเรือนไทยโบราณที่ยังคงอยู่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ไม้กวาดใยมะพร้าว ที่มีการทำมาเป็นระยะเวลานานมากกว่าสองชั่วอายุคน ยังคงมีการทำอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำในหมู่บ้านบางแม่หม้าย หมู่ที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน ส่วนหมู่บ้านที่เหลือ ปัจจุบันแทบไม่มีการทำแล้ว มีเพียงการทำส่วนประกอบหรือวัตถุดิบเพื่อให้ใช้ทำไม้กวาดใยมะพร้าว มีกลุ่มหัตถกรรมทำไม้กวาดตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 และมีสมาชิกอาศัยกระจายอยู่ในชุมชน มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังมีอาหารที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชุมชน ชุมชนบางแม่หม้ายมีการคมนาคมที่สะดวกแต่ไม่ได้ทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าในสมัยเดิม อีกทั้งยังมีศาสนสถาน 2 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนบ้านบางแม่หม้าย คือ วัดบางแม่หม้ายและวัดอาน ที่เป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวบ้านที่มีความศรัทธาเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์
นอกจากนี้บางแม่หม้ายยังมีอู่ต่อเรือถึง 3 แห่ง มีโรงสี โรงเลื่อย ท่าขนส่งไม้ซุง มีร้านทอง ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านตีเหล็ก ทำมีด เคียว มีโรงฆ่าสัตว์ ฯลฯ (ที่มีมาก่อนตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะตลาดคอวัง บางซอ บางสาม) ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีท่าเรือที่มีคนมาสัญจรและเป็นต้นทางของเรือขนส่งบริษัทสุพรรณขนส่ง มีการสร้างตลาดก่อนตลาดริมน้ำด้วยกันในเขตอำเภอบางปลาม้าและสองพี่น้อง
ภาษาไทยพวน เป็นภาษาดั้งเดิม สืบทอดมาจากยูนนานเชียงแสนราว 1,000 กว่าปีมาแล้ว ชาวไทยพวน คือ ชนชาติไทที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าสู่แผ่นดินไทยนานกว่าสองศตวรรษ กระจัดกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยรวม 45 จังหวัด ได้ใช้ภาษาพวน พูดสื่อสารกันตลอดมา ในอำเภอบางปลาม้าชุมชนบางแม่หม้ายภาษาพวนมีบทบาทที่สำคัญและมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งในด้านจิตวิทยาสังคมวิทยา คนไทยพวนในจังหวัดสุพรรณบุรีอพยพมาจากลาวและยังใช้ภาษาพวนสืบทอดมา จนถึงปัจจุบัน
พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ มีผลทำให้บ้านเรือนพื้นถิ่นเหล่านี้ลดลงไปเป็นจำนวนมากในหลายท้องถิ่น และในหลายกรณีถูกปรับเปลี่ยนไปในลักษณะที่ทำให้เกิดปัญหาด้านรูปแบบและเอกลักษณ์ของที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น เรือนบางส่วนถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการตามวิถีชีวิตที่ทันสมัยจนก่อให้เกิดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเอกลักษณ์ของที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลง ดังเช่น การเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการอยู่อาศัยสู่ความทันสมัยหรือความเป็นสังคมเมือง ร่วมด้วยกับการขาดความตระหนักในคุณค่าของเรือนซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประชาชนในหลายท้องถิ่น การขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเก็บรักษา เนื่องจากเรือนไทยมักมีการใช้วัสดุหลักที่เป็นไม้ ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัสดุที่หายากและมีราคาแพง ทั้งยังขาดช่างฝีมือและขาดการสืบทอดภูมิปัญญาช่างในการปลูกสร้างเรือนไทยในแต่ละท้องถิ่น และในบางกรณีผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นเจ้าของบ้านเรือนไทยเสียชีวิตลงโดยไร้ทายาท หรืออาจมีลูกหลานหรือทายาท แต่อาจไม่ได้พำนักอาศัยในท้องถิ่น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพและการโยกย้ายถิ่นฐานตามแหล่งงาน จึงมีผลทำให้บ้านเรือนไทยบางส่วนที่ถูกทิ้งร้างและชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากไม่ได้รับการดูแล
ในชุมชนบางแม่หม้าย มีวัดที่สำคัญอยู่ คือ วัดอาน โดยมีความเป็นมายาวนานถึง 200 ปี วัดอาน เป็นวัดเดียวของอำเภอบางปลาม้าที่ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา แต่วัดกลับมีความเจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีพระพุทธรูปที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาบนบานศาลกล่าวขอพรอย่างต่อเนื่องทุกวันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยพ่อเจิม ศรีประเสริฐ สังโฆ ได้เข้ามาดูที่วัตอานจึงมีการตั้งชื่อหลวงพ่อว่า "หลวงพ่อจันทรังษี" ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 และมีการสร้างศาลาการเปรียญเป็นลักษณะศาลาแฝด มีโรงลิเก และให้จัดงานสมโภชน์ (งานปี) ขึ้นเป็นประจำทุกปีในระหว่างขึ้น 6 ค่ำถึง 8 ค่ำ เดือน 5 ต่อมาในสมัยพ่อเจ๊ก หงษ์โต ได้มีการสร้างศาลาหน้าโบสถ์ และศาลาทำบุญ
ในปัจจุบันจะมีผู้คนมาขอพรหลวงพ่อเป็นจำนวนมากทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ที่ประสบความสำเร็จตามสิ่งที่ตนขอก็จะมาแก้บนมีมหรสพติดต่อกันเป็นเดือน มีนางรำแก้บนหลายร้อยรอบ และในงานประจำปีหลวงพ่อจะมีการทำบุญลาน ทำขวัญแม่โพสพ ก่อพระเจดีย์ข้าวเปลือก และแห่ผ้าห่มหลวงพ่อ
กมลศักดิ์ วงศ์ศรีแก้ว, ปิยวัฒน์ เกียรติก้อง และอารยา เกียรติก้อง. (2563). การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การพัฒนาธุรกิจชุมชน ลุ่มแม่น้ำท่าจีน กลุ่มภาคกลางตอนล่าง 1 กรณีศึกษา ชุมชนบ้านบางแม่หม้าย. วารสารวิจัยราชภัฏธนบุรี. 6(1), 22-36.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2554). หลวงพ่อจันทรังษี วัดอาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://www.m-culture.in.th/
สุภาภรณ์ คล้ายอุบล. (2564). ประวัติชุมชนบางแม่หม้าย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี. (2558). บ้านบางแม่หม้าย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://suphanburi.cdd.go.th/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี. (2565). กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www2.m-culture.go.th/suphanburi/
สํานักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ. (2563, พฤษภาคม). คู่มือการจัดการความรู้สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบนฐานทรัพยากร ชุมชนอย่างยั่งยืนชุมชนบางแม่หม้าย จังหวัดสุพรรณบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://164.115.28.46/thaiexen/file_upload/