บ้านเมืองปอนเป็นหมู่บ้านที่ยังคงอนุรักษ์รูปแบบไทใหญ่ไว้ตั้งแต่ดั้งเดิม การทำจองพารา มีลักษณะคล้ายปราสาท โครงทำจากไม้ไผ่ ชนชาติไทยใหญ่ที่ยังคงสืบสานความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ชุมชนบ้านเมืองปอน คำว่า "ปอน" นั้นมาจากคำว่า "พร" หมายความว่า เป็นเมืองที่มีสิริมงคล บางความเชื่อให้ความหมาย "ปอน" ว่าหมายถึง "พญา" หรือ เป็นเมืองใหญ่ หรือ ผู้ปกครองเป็นพญาที่ยิ่งใหญ่
บ้านเมืองปอนเป็นหมู่บ้านที่ยังคงอนุรักษ์รูปแบบไทใหญ่ไว้ตั้งแต่ดั้งเดิม การทำจองพารา มีลักษณะคล้ายปราสาท โครงทำจากไม้ไผ่ ชนชาติไทยใหญ่ที่ยังคงสืบสานความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
บ้านเมืองปอนแต่เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกลำน้ำปอนตั้งอยู่เชิงดอยเวียงมีนายน้อยศรีเป็นผู้นำหมู่บ้านต่อมามีชาวพม่ากลุ่มหนึ่ง นำโดยนายธรรมะ และนายป๊ะ ได้ชักชวนให้นายน้อยศรีและชาวบ้านที่เป็นผู้ชายเข้าไปเป็นพรรคพวกของตนเพื่อไปโจมตีนครพิงค์ (จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน) แต่ต่อมานายน้อยศรี และพรรคพวกไม่ยอมร่วมมือด้วย ทำให้นายธรรมะและนายป๊ะโกรธมาก ถึงกับข่มขู่ว่าจะนำพรรคพวกมาโจมตีเมืองปอนให้ได้ นายน้อยสีเห็นว่า ถ้าตั้งรับอยู่ที่เดิมอาจจะเสียทีพม่าได้โดยง่าย จึงได้ปรึกษาหารือกับพวกชาวบ้าน โดยมีนายติ๊บ นายน้อยสุข จองแมน จองริน จองมูหริ่ง จองสิริ จองแอ จองกี และน้อยเมืองขอนเป็นผู้ช่วย ได้ทำการตกลงว่าจะย้ายเมืองปอนขึ้นไปอยู่บนดอยเวียง เพราะลักษณะของดอยเวียงเป็นภูเขาสูง เหมาะแก่การตั้งรับข้าศึกหลังจากย้ายหมู่บ้านแล้วก็ได้วางแผนป้องกันหมู่บ้าน โดยการทำกับดักต่าง ๆ เช่น ป้อมหนาม ป้อมหิน ป้อมทรายคั่ว ป้อมปืนต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อพม่ายกทัพมาจึงไม่สามารถตีเมืองได้
ต่อมาเจ้าผู้ครองนครพิงค์ ทราบข่าวที่ชาวเมืองปอนชนะพม่า จึงได้ส่งทูตมานำเอาผู้นำหมู่บ้านลงไปนครพิงค์ มีนายน้อยสี นายจองมอน นายจองหริ่ง และนายจองแอ เป็นนายร้อยรองจากพระยาไพศาล แล้วให้กลับมาครองเมืองปอนต่อไป ต่อมาอีก 5 เดือน หลังฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุด พระยาไพศาลได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านเรื่องการตั้งทำเลที่ตั้ง ซึ่งดอยเวียงเป็นดอยสูงทำให้ยากลำบากแก่การประกอบอาชีพ และขาดแคลนน้ำ และไม่มีข้าศึกมารุกรานจึงตกลงกันย้ายหมู่บ้านลงมาตั้งทางทิศตะวันตกของลำน้ำปอน ซึ่งก็คือหมู่บ้านเมืองปอนในปัจจุบัน
บ้านเมืองปอน ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบลุ่มตอนกลางของลำน้ำปอน (อ่านสำเนียงออกว่า ป๋อน) ลักษณะทางกายภายภาพของตัวชุมชนเป็นกลุ่มก้อนเรียงรายติดกับเนินเขาซึ่งเป็นที่ดอนจากเหนือไปทางใต้ พื้นที่แวดล้อมไปด้วยทุ่งนาและภูเขารอบด้านโดยมีลำน้ำปอนเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงผ่านกลางแอ่งทางด้านทิศตะวันออกของตัวชุมชน ชุมชนนี้แม้จะมีหน่วยทางกายภาพเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแต่เนื่องจากมีจำนวนครัวเรือนและประชากรมากจึงได้มีการแบ่งการปกครองย่อยออกเป็นสองชุมชนย่อย คือ หมู่ 1 และหมู่ 2 อาณาเขตการปกครองของชุมชนบ้านเมืองปอนด้านเหนือติดกับชุมชนป่าฝาง ด้านตะวันออกติดกับตำบลแม่ขอ ด้านใต้ติดกับชุมชนหางปอนและด้านตะวันตกติดกับตำบลแม่เงา
โครงสร้างทางสังคมของบ้านเมืองปอน นั้นไม่ซับซ้อนและยังคงพื้นฐานความเชื่อและสามารถสืบถึงระบบการจัดการพื้นที่และทรัพยากรในท้องถิ่นตามแบบเดิม และเป็นที่ตั้งของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์และศาสนา เพราะเคยเป็นตลาดแต่ดั้งเดิมจนปรับเปลี่ยนกลายเป็นตลาดอีกหลายรูปแบบในปัจจุบัน
องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านเมืองปอน คือ เกษตรกรรม เช่น ทำนา เพาะปลูก ทำไร่ทำสวนปลูกพืชผักในที่นายามเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเช่นกระเทียมถั่วเหลือง เป็นต้น
วิถีชีวิตของชุมชนบ้านเมืองปอนนั้นมีวิถีชีวิตหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง ไทใหญ่ ไทพวน
ส่วนประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติ เช่น ปอยส่างลอง บุญบั้งไฟ จองพารา และเขาวงกตที่ยังจัดแบบดั้งเดิมและยิ่งใหญ่
บุคคลสำคัญของชุมชน คือ นางกัลยา ไชยรัตน์ ข้าราชการครูโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการผลักดันบ้านเมืองปอนเป็นชุมชนท่องเที่ยว เพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมของชาวชุมชนโดยยึดหลักการพอเพียงควบคู่ไปกับการให้ชาวชุมชนอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ไว้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
ภาษาพื้นถิ่นของชุมชนบ้านเมืองปอน คือ ภาษาไทใหญ่
สถานการณ์ในปัจจุบัน กลไกคณะกรรมการในบางช่วงต้องมีการปรับบทบาทหน้าที่ภายใน เช่น กรณีผู้ใหญ่บ้านบางหมู่บ้านมีการปรับเปลี่ยนหรืออาจหมดวาระ จะทำให้การประสานงานกับโครงการติดขัดหรือบางหมู่บ้านเมื่อรู้ว่าตัวเองใกล้หมดวาระก็ต้องเตรียมตัวกับงานการเมืองในช่วงต่อไป อาจไม่ได้ติดตามการดำเนินงานของโครงการอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกิดความล่าช้าหรือการประสานงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และลักษณะพื้นที่ชุมชนบนที่สูงส่งผลโดยตรงกับค่าขนส่งวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง แม้จะเป็นการขนส่งภายในอำเภอหรือในตำบลก็ตาม
การมีส่วนร่วม กลุ่มผู้นำและคณะกรรมการโครงการบ้านพอเพียงของตำบล เห็นว่าควรมีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานหรือการบริหารจัดการโดยตรง นอกเหนือจากค่าวัสดุอุปกรณ์ในและควรมีขบวนการในการผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรจุงบประมาณการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย
เกศรา เซี่ยงหวอง. (2559). การเรียนรู้ในการดำเนินงานอนุรักษ์คุณค่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนไทใหญ่ ผ่านการสืบสาน ภูมิปัญญา การทำจองพาราอย่างมีส่วนร่วม กรณีศึกษาบ้านเมืองปอน จ.แม่ฮ่องสอน. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. 23(2), 1-14.
สุณัฐชา กัณทา, จิราภรณ์ น้อยฉิ่ม และขนิษฐา ใจมโน. (2562). ศึกษาคำเรียกชื่อผักพื้นบ้านในภาษาไทใหญ่บ้านเมืองปอน ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารมังรายสาร. 7(1), 91-105.
Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านเมืองปอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/ชุมชนบ้านเมืองปอน
MGR Online .(2559). ยลเสน่ห์ “บ้านเมืองปอน” เรียนรู้ชีวิตชาวไทยใหญ่ เรียบง่ายไม่เหมือนใคร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://mgronline.com/
POST TODAY. (2559). ชาวไต ที่คิดถึง ณ บ้านเมืองปอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.posttoday.com/
ThaiHealth Official, สสส. (2558). ต้นแบบท่องเที่ยวชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.thaihealth.or.th/
ต้นแบบท่องเที่ยวชุมชนแหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์. (2564). บ้านเมืองปอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/