น้ำตกงาม ลือนามอาจารย์นอง ชุมชนสองศาสนาสามัคคี ประเพณีลากพระขึ้นเขา มัสยิดเก่าโบราณ อร่อยหวานลองกอง
เนื่องจากในอดีตพระยาภักดีชุมพล ได้เดินทางมาพบกับพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จึงได้สร้างบ้านเรือนอยู่ที่นี่ และหลังจากนั้นก็ได้มีคนมาอาศัยในพื้นที่นี้มากขึ้น จึงมีการตั้งชื่อว่า บ้านทรายขาว ประอบกับมีตำนานที่กล่าวว่ามีพายุทรายพัดทรายลงมาและทรายที่ถูกพัดมานั้นมีสีขาว จึงเป็นที่มาของชื่อ บ้านทรายขาว
น้ำตกงาม ลือนามอาจารย์นอง ชุมชนสองศาสนาสามัคคี ประเพณีลากพระขึ้นเขา มัสยิดเก่าโบราณ อร่อยหวานลองกอง
บ้านทรายขาวนั้นถือเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและเก่าแก่มากกว่า 400 ปีนับตั้งแต่สมัยก่อนรัชกาลที่ 5 โดยตามประวัติศาสตร์นั้นเริ่มต้นที่พระยาภักดีชุมพลได้เดินทางมาจากเมืองไทรบุรี โดยที่ระหว่างทางได้เจอกับพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่ในพื้นที่นั้นมีน้ำและอาหาร รวมไปถึงมีพื้นที่เหมาะกับการเพาะปลูก หลังจากนั้นพระยาภักดีชุมพลก็ได้ทำการสร้างบ้านเรือนในพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งในช่วงแรกมีประชากรมาอยู่อาศัยไม่เยอะมาก แต่ภายหลังก็ได้มีผู้คนเข้ามาสร้างบ้านเรือน เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการตั้งชื่อพื้นที่บริเวณนั้นว่า บ้านทรายขาว
ส่วนเรื่องเล่าที่เป็นตำนานเกี่ยวกับที่มาของชื่อบ้านทรายขาวนั้น ได้มีการกล่าวว่า ได้มีการเกิดพายุทรายลงมาจากบนเขา ทำให้มีทรายถูกพัดมาจำนวนมากและทรายที่ถูกพัดลงมานั้นก็มีลักษณะเป็นสีขาว มีความสวยงาม ทำให้เป็นที่มาของบริเวณนั้นก็คือ บ้านทรายขาว
พื้นที่ของบริเวณบ้านทรายขาวจะมีลักษณะที่พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการเพาะปลูกและการสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย และลักษณะภูมิประเทศของบ้านทรายขาวเองก็เป็นพื้นที่ราบลุ่ม โดยที่มีแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีเชื่อมเขตระหว่างจังหวัดยะลา ปัตตานีและสงขลา ทำให้สภาพพื้นที่โดยรวมของบ้านทรายขาวนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
บ้านทรายขาวอยู่ที่ ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยจะอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ไปประมาณ 6 กิโลเมตร และเนื้อที่ของบ้านทรายขาวมีเนื้อที่โดยประมาณ 5,085 ไร่ ส่วนการเดินทางมาบ้านทรายขาวนั้น มาจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 30 นาที ก็จะถึงตัวตำบลทรายขาว และการเดินทางมาที่บ้านทรายขาวนั้นสามารถมาได้ทั้งการขับรถยนต์โดยสารหรือจะนั่งเครื่องบินโดยสารจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ แล้วนั่งรถมาต่อที่จังหวัดปัตตานีก็ได้
อาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 2 บ้านหลวงจันทร์
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 5 บ้านทรายขาวตก
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลนาประดู่
- ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 1 บ้านลำหยัง และหมู่ที่ 5 บ้านทรายขาวตก
ลักษณะทางภูมิประเทศ บ้านทรายขาว ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ทำให้พื้นที่ของบ้านทรายขาวเหมาะกับการทำการเกษตร การเพาะปลูก เนื่องจากมีดินที่อุดมสมบูรณ์ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านทรายขาวนั้นจะทำการปลูกยางพารา ไม้ผลและมะพร้าว และบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านก็จะมีการทำนาปะปนอยู่
ภูมิอากาศ บ้านทรายขาวมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง ในช่วงที่มีฝนตกชุกจะเป็นช่วงที่ประชาชนในพื้นทำนา ซึ่งจะอยู่ในเดือนกันยายน-ธันวาคม และเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ส่วนในฤดูแล้งนั้นจะอยู่ในเดือนมีนาคม-เมษายน และจากสภาพภูมิอากาศ ทำให้ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของคนในพื้นที่บ้านทรายขาว มักจะทำสวน ทำนาเป็นส่วนใหญ่ และเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมเองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้บ้านทรายขาวนั้นก็ถือเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอีกด้วย
ประชากรของบ้านทรายขาว หมู่ที่ 3 จากการสำรวจประชากรที่มีการอยู่อาศัยจริง ของปี 2558 มีประชากรทั้งหมด 684 คน โดยแบ่งเป็นเพศหญิง 349 คน เพศชาย 335 คน และมีจำนวนครัวเรือนในบ้านทรายขาวทั้งหมด 264 ครัวเรือน และคนที่อาศัยในบ้านทรายขาวนั้นจะมีทั้งชาวพุทธและชาวอิสลาม
มลายูภายในบ้านทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี นั้น ได้มีกลุ่มในชุมชน ดังนี้
- กลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรแปรรูป ที่จะนำผลผลิตทางการเกษตรภายในชุมชนมาทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะในพื้นที่บ้านทรายขาวเองมีการทำสวนทุเรียน ที่ถือเป็นความโดดเด่นของชุมชนบ้านทรายขาว ดังนั้นเมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็จะมีการนำผลผลิตบางส่วนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
- กลุ่มทอผ้า ที่เป็นกลุ่มส่งเสริมการทอผ้าภายในของชุมชนบ้านทรายขาว
- กลุ่มออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่เปิดให้มีการออมทรัพย์ภายในชุมชนบ้านทราย นำโดยนายประเสริฐ ราสโร
- กองทุนหมู่บ้าน เป็นอีกหนึ่งองค์กรภายในชุมชนที่ส่งเสริมในด้านการเงินของคนในชุมชน
- ชมรมผู้สูงอายุ จะเป็นกลุ่มที่ส่งเสริมและสร้างกิจกรรมให้กับคนสูงอายุภายในชุมชน
วิถีชีวิตของคนในบ้านทรายขาวนั้นจะมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีที่เกิดขึ้นภายในชุมชนที่ทำร่วมกันมาอย่างยาวนาน ในด้านประเพณีจะมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และมีความโดดเด่นของชุมชนบ้านทรายขาว ยกตัวอย่างเช่น
- ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ โดยจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 จะมีกิจกรรมทั้งในช่วงเช้าและช่วงกลางคืน มีการทำบุญและการจัดงานสร้างสรรค์ขึ้นที่ศูนย์กลางของชุมชนอย่างวัด
- ประเพณีชักพระ ที่มีการชักพระไปที่อำเภอโคกโพธิ์ โดยในงานนี้จะจัดขึ้นในวันแรม10 ค่ำ เดือน 11 และมีการชักพระขึ้นน้ำตกทรายขาว ที่เป็นการระลึกถึงเจ้าอาวาสวัดทรายขาว ที่ได้เป็นคนสร้างถนนขึ้นไปที่น้ำตกทรายขาว โดยจะจัดในวันแรม 6 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งประเพณีการชักพระจะจัดขึ้นในเดือนสิบเอ็ด จะตรงกับเดือนกันยายน-ตุลาคม
- ประเพณีอื่น ๆ ประเพณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในชุมชนทรายขาวที่ปะปนอยู่กับวิถีชีวิตของคนในชุมชน อย่างวันลอยกระทง งานบวช งานแต่งงาน และการทำบุญเดือนสิบ ที่ถือเป็นประเพณีที่อยู่คู่กับชีวิตของคนภายในชุมชนมาอย่างยาวนาน
วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของชุมชนบ้านทรายขาวนั้นได้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงประกอบกับการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชน จนทำให้บ้านทรายขาวนั้นได้รับเลือกจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ชุมชนบ้านทรายขาวนั้นเป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อย่างพอเพียงด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน ที่มีการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ และสภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนบ้านทรายขาวที่มีการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ และนอกจากอาชีพหลักก็ยังมีการทำมาค้าขาย การรับจ้างต่าง ๆ นอกจากนี้ภายในชุมชนบ้านทรายขาวยังมีสัตว์เศรษฐกิจอีก คือ โคเนื้อและไก่
ทุนวัฒนธรรม
วัดทรายขาว สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2300 โดยที่ท่านพระยาภักดีชุมพลได้บริจาคที่ดินพร้อมบ้านมาสร้างเป็นวัด ซึ่งวัดทรายขาวนั้นถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของคนในตำบลทรายขาวทั้งหมด เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน และยังเป็นวัดที่มีความสมถะเรียบง่าย เป็นสถานที่สำคัญของคนในชุมชน
มัสยิดบาโงยลางา หรือมัสยิดนัจมุดดิน เป็นอีกสถานที่ที่สำคัญของบ้านทรายขาว เนื่องด้วยบ้านทรายขาวนั้นมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ทำให้มีสถานที่ทางศาสนาอิสลามอยู่ในพื้นที่ของบ้านทรายขาว ซึ่งมัสยิดนี้เองถือเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความร่วมสมัย มีการผสมผสานกันมีความคล้ายกับศาลาการเปรียญของศาสนาพุทธ
ทุนธรรมชาติ
พื้นที่ของบ้านทรายขาวที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ เนื่องจากอาชีพหลักของคนในชุมชนคือการเพาะปลูก ดังนั้นการใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่มาจากแหล่งน้ำที่สะอาดภายในชุมชน ไม่มีสิ่งปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ทำให้สิ่งนี้เป็นทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติของคนในบ้านทรายขาว ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ
ภาษาที่คนในชุมชนบ้านทรายขาวใช้ในการสื่อสารนั้นจะใช้ภาษาถิ่นใต้หรือภาษามลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งเป็นภาษาที่จะใช้พูดใช้สื่อสารกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาษามลายูถิ่นปัตตานีมีที่มาจากภาษาออสโตรเนเชียน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเกาะมลายู
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในชุมชนบ้านทรายขาวนั้น ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือจำนวนประชากรในชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น จำนวนครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวชุมชนบ้านทรายขาวนั้นมีการพัฒนาทั้งทางด้านการศึกษา ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านเทคโนโลยี เพื่อให้พร้อมรับการสถานการณ์และการเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่กลุ่มหรือองค์กรต่าง ๆ ภายในชุมชนที่ช่วยส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ทั้งการออมทรัพย์ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หรือด้านการศึกษาที่คนในชุมชนได้มีการส่งบุตรหลานออกไปศึกษาต่างถิ่น และส่งเสริมให้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีหน้าที่การงานที่ดีได้ทำงานในเมือง รวมไปถึงการที่คนในชุมชนมีความเข้าใจในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเปลี่ยนได้ตามกาลเวลาของมัน
จากข้อมูลการค้นคว้ามานั้นคนในชุมชนบ้านทรายขาวโดยส่วนใหญ่จะอยู่กันอย่างเรียบง่าย ดำเนินชีวิตตามวิถีที่ทำมาช้านาน ซึ่งถือเป็นผลดีที่ในช่วงของการที่คนในชุมชนได้ทำการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอก โดยที่มีความพยายามและเข้าใจในสิ่งที่จะมีการเปลี่ยน ส่วนการมีส่วนร่วมนั้น คนในชุมชนบ้านทรายขาวมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่มีต่างความเชื่อ ต่างประเพณีกัน แต่คนในชุมชนบ้านทรายขาวสามารถที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่แบ่งแยก มีการทำกิจกรรมร่วมกันและมีการส่งเสริมในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
ข้อที่น่าสนใจและน่าแนะนำ คือ ชุมชนบ้านทรายขาวถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีความเรียบง่าย มีธรรมชาติที่สวยงามและยังมีกิจกรรมให้ทำอย่างการขับรถจี๊ปชมธรรมชาติเที่ยวรอบ ๆ บ้านทรายขาว และการไปดูความสวยงามของน้ำตกทรายขาวที่เป็นสถานที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย
มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์. (ม.ป.ป.). ภาษามลายูถิ่นปัตตานี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://archive.oas.psu.ac.th/
เวคิน วุฒิวงศ์. (2558). ความเข้าใจในการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติในท้องถิ่น กรณีศึกษา : ประชาชนที่เป็นหัวหน้าครัวเรือน ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. 10(2), 63-64.
องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว. (2557). องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.saikhao.go.th/office.php
Google Map. (2567). พิกัดแผนที่ชุมชนทรายขาว โคกโพธิ์ ปัตตานี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.google.co.th/maps/
Saikhao. (2557). ประวัติความเป็นมาตำบลทรายขาว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.saikhao.go.th/
Take me tour. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านทรายขาว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.takemetour.com/