Advance search

วิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำแม่แจ่มคือตัวแทนสังคมวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน ด้วยว่าชุมชนอยู่ในหุบเขาซึ่งเสมือนกำแพงธรรมชาติกั้นการผสมผสานกับวัฒนธรรมเมือง

หมู่ที่ 8
บ้านท้องฝาย
ช่างเคิ่ง
แม่แจ่ม
เชียงใหม่
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-7187-8149, อบต.ช่างเคิ่ง โทร. 0-5348-5199
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
20 เม.ย. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
20 เม.ย. 2023
บ้านท้องฝาย

เนื่องจากฤดูแล้งน้ำในลำน้ำแม่แจ่มมักแห้งขอด ผู้ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนจึงรวมกันทำฝายน้ำล้นโดยใช้ไม้ไผ่ปักขวางลำน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามที่ขาดแคลน การที่ตัวชุมชนตั้งอยู่ช่วงเหนือฝายน้ำดังกล่าว ผู้คนจึงเรียกหมู่บ้านว่า บ้านท้องฝาย ตามลักษณะที่ตั้งของชุมชน


วิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำแม่แจ่มคือตัวแทนสังคมวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน ด้วยว่าชุมชนอยู่ในหุบเขาซึ่งเสมือนกำแพงธรรมชาติกั้นการผสมผสานกับวัฒนธรรมเมือง

บ้านท้องฝาย
หมู่ที่ 8
ช่างเคิ่ง
แม่แจ่ม
เชียงใหม่
50270
18.49042
98.36495
องค์การบริหารส่วนตำบลช่างเคิ่ง

บ้านท้องฝ้าย ชุมชนไทยวน (คนเมือง) ผู้ก่อตั้งชุมชนระยะแรก ๆ อพยพไปจากอำเภอจอมทองและอำเภอสันป่าตอง ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงแม่แจ่มมากกว่าอำเภอใด ๆ ในเชียงใหม่ กล่าวกันว่าราว ๆ 60-65 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่จังหวัดเป็นที่สูงและเทือกเขาต่าง ๆ พื้นที่ราบลุ่มตามลำน้ำสายหลักแม่น้ำปิงมักอยู่ในความครอบครองของผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ยุคที่ยังมีการปกครองระบบเจ้าขุนมูลนาย ราษฎรทั่ว ๆ ไปมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองกระจายอยู่ตามที่ราบเล็ก ๆ สองฝั่งสายน้ำสาขาของแม่น้ำปิง การขาดแคลนที่ดินที่เหมาะต่อการเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ผู้คนประสบมาตั้งแต่อดีต การแก้ปัญหาดังกล่าวกระทำโดยการเคลื่อนย้ายจากแหล่งที่มีประชากรหนาแน่นออกไปจับจองที่ตามหุบเขาที่อยู่ห่างออกไปจากชุมชนใหญ่ ๆ

การเกิดชุมชนหมู่บ้านในหุบเขาอำเภอแม่แจ่มก็อยู่ในกรณีเดียวกันนี้ ในระยะแรกบรรพบุรุษของชาวบ้านท้องฝายมาหาของป่าและล่าสัตว์ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่มและพบว่าท้องที่นี้มีพื้นที่ราบอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีแม่น้ำแม่แจ่มไหลผ่าน จึงกลับไปชวนญาติพี่น้องและเพื่อนจากท้องถิ่นเดิมจากบ้านสบเตี๊ยะและบ้านห้วยโจ้ในเขตอำเภอจอมทองข้ามดอยอินทนนท์เข้ามาตั้งถิ่นฐานกัน ต่อมาคนแถบสันป่าตองอพยพมาสมทบทำกินในถิ่นนี้ด้วย 

ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บนที่เนินห่างจากฝั่งแม่น้ำแม่แจ่มประมาณครึ่งกิโลเมตร บ้านเรือนส่วนใหญ่นิยมปลูกให้มีส่วนใต้ถุนสูง นอกจากเพื่อป้องกันน้ำที่อาจหลากมาจากเทือกเขาและแม่แจ่มแล้ว พื้นที่ว่างใต้ถุนบ้านยังอำนวยประโยชน์นานัปการ คือ เป็นส่วนที่ใช้พักผ่อนเวลากลางวันช่วงฤดูร้อน ใช้เก็บอุปกรณ์ทอผ้าและเครื่องมือทำนาทำไร่ บางบ้านก็ตั้งเตาหุงต้มอย่างเช่น เตาก้อนเส้าไว้ในส่วนนี้เพื่อจะหุงต้มอาหารให้สัตว์เลี้ยง เช่น หมู และเป็ดไก่ บ้านเรือนรุ่นเก่ามุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด (แผ่นไม้รูปทรงคล้ายกระเบื้องที่มุงหลังคาวิหาร) ซึ่งทำจากไม้สัก เรือนที่ปลูกสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังก็มีอยู่มาก ระยะหลังมีความนิยมมุงหลังคาเรือนด้วยกระเบื้องแผ่นใหญ่บ้างหรือมุงสังกะสีบ้าง ผู้มีฐานะการเงินไม่ค่อยดีมักใช้ใบตองมุงหลังคาบ้านและฝาบ้าน ใบตองตึงเป็นสิ่งที่หาเก็บได้ตามป่าเขา บางบ้านนำใบตองตึงมาเย็บเป็นตับ ๆ เพื่อขายให้คนอื่น ๆ ซึ่งอาจซื้อไปใช้มุงหลังคาเพิงพักในนาไร่หรือมุงกระท่อมที่ใช้เก็บฟืนถ่าน

พื้นที่หุบเขามีลักษณะลาดเทจากเหนือลงไปใต้ทำให้ไม่สามารถกักเก็บในแปลงนาได้นาน เนื่องจากน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว จำเป็นที่จะสร้างเหมืองฝายเพื่อทดน้ำไว้  เพื่อให้กักน้ำได้ดีชาวบ้านใช้ไม้ไผ่ตอกแทรกระหว่างต้นเสาและนำกิ่งไม้มาทับจนแน่น ข้างบนสุดมีหินกรวดและทรายบรรจุกระสอบพลาสติกถมทับอีกชั้นเพื่อให้ต้านทานกระแสน้ำให้ไหลช้าลง ส่วนการขุดลอกลำรางน้ำที่จะเปิดน้ำจากเหมืองเข้าสู่พื้นนา ก็ใช้จอบพลั่วขุดลอกดินตะกอนและด้วยหญ้าที่ขึ้นทับถมอยู่ในลำรางเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก

ลักษณะอากาศ

  • เดือนกรกฎาคม : เริ่มเข้าฤดูฝน
  • เดือนสิงหาคม-กันยายน ฝนตกชุก
  • เดือนตุลาคม ฝนน้อย
  • เดือนธันวาคม-มกราคม ฤดูหนาวที่จะหนาวจัด
  • เดือนมีนาคม-เมษายน อากาศร้อนและอบอ้าว

บ้านท้องฝายประกอบด้วยบ้าน 219 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 595 คน แยกเป็นประชากรชาย 286 คน และประชากรหญิง 309 คน

ระบบเครือญาติ

ธรรมเนียมของชาวไทยวนบ้านท้องฝาย คู่สมรสจะอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงระยะหนึ่งภายหลังแต่งงาน เมื่อพี่น้องผู้หญิงคนอื่น ๆ มีครอบครัวและแต่งงานก่อนมักจะแยกออกไปปลูกบ้านอยู่ในบริเวณบ้านของพ่อแม่ ลูกสาวคนสุดท้องกับคู่ครองคือผู้ที่จะอยู่เรือนหลังเดิมของผู้บังเกิดเกล้าเพื่อเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของวงศ์ญาติที่จะไปมาหาสู่กันในโอกาสต่าง ๆ และถ้าหากบ้านหลังนี้ คือ ผู้สืบผีปู่ย่าหรือผีต้นตระกูล บุตรสาวคนสุดท้องและครอบครัวของตนก็จะมีหน้าที่ประสานงานในการเซ่นไหว้ผีตามวาระสำคัญ ๆ อีกด้วย เมื่อลูกสาวมีครอบครัวหมดทุกคนก็จะเห็นว่า กลุ่มบ้านหนึ่ง ๆ เป็นที่รวมบรรดาญาติฝ่ายแม่เข้าด้วยไว้ด้วยกัน หากในขณะเดียวกันสมาชิกผู้ชายที่แต่งงานออกไปก็ไม่ได้ถูกตัดขาดจากวงศ์ญาติเดิมของตนแต่อย่างใด  แม้ว่าผู้ชายผู้มีครอบครัวจะใช้เวลาส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่กับบรรดาญาติข้างภรรยา

ในปีแรก ๆ ของการแต่งงานจะตัดสินใจในอาชีพการงานไม่ได้เพราะทรัพย์สินที่นาเป็นของพ่อแม่ตายาย จะทำอะไร ๆ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพ่อแม่ตายาย ปกติจะทานอาหารกับภรรยาและพี่น้องของภรรยาภายหลังที่พ่อแม่ตายายทานอิ่มไปแล้ว อาจจะดุลูกตนเองตามอำเภอใจไม่ได้ หากการกระทำเช่นนั้นทำให้พ่อแม่ตายายขุ่นข้องหมองใจ ด้วยธรรมดาตายายมักเมตตาบุตรหลานของตน ยิ่งเป็นบุตรหลานคนโปรดบางที่พ่อแม่ของเด็กก็อาจต้องปล่อยให้ตายายดูแลอบรมแทน เด็ก ๆ บางคนเรียกตายายว่าพ่อแม่เพราะตายายขอแยกหลานดังกล่าวมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก ๆ ทั้ง ๆ ที่บ้านอยู่บริเวณเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นเขยก็กลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องของตนเสมอทั้งยามที่มีธุระและไม่มีธุระสำคัญ พอเห็นว่าบรรยากาศในครอบครัวภรรยาเริ่มอึดอัดเพราะเหตุใดก็ตาม ลูกเขยก็ถือโอกาสชวนลูกไปเที่ยวเล่นตามบ้านญาติพี่น้องของตน ตอนที่ครอบครัวเดิมทำพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษในเดือนมิถุนายนนับเป็นโอกาสที่บรรดาพี่น้องผู้ชายที่มีเหย้าเรือนแยกออกไปจะกลับมารวมญาติกันอย่างพร้อมเพรียง

ไทยวน

การบริหารทรัพยากรน้ำตามระบบเหมืองฝายจะมีการแต่งตั้ง หัวหน้าเหมืองฝาย หรืออย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า แก่ฝายเพื่อควบคุมดูแลการส่งน้ำและใช้น้ำตามข้อตกลงที่ระบุไว้ ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะมีตัวแทน 1-2 คนในการเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับแก่ฝาย 

วิถีชีวิตทางการเกษตร กิจกรรมทางการเกษตรที่เด่นที่สุดของบ้านท้องฝาย คือ การทำนา ซึ่งมีกิจวัตรตามตามปฏิทินดังนี้

ปฏิทินการปลูกข้าว

  • เดือนพฤษภาคม  :  เริ่มเตรียมความพร้อมในการทำนา คือ ปรับปรุงบำรุงดินและต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ตลอดระยะเวลาที่ข้าวเจริญเติบโต
  • เดือนมิถุนายน   ฝนเริ่มตกพอจะมีน้ำให้ตกกร้าได้แล้ว ใครที่คิดจะลงมือไถนาก็ทำพิธีแฮกนาให้เรียบร้อยก่อน
  • เดือนกรกฎาคม   ต้นกล้าเติบโตพอจะถอนจากแปลงเพาะออกไปดำนาให้เต็มผืนนา
  • เดือนสิงหาคม-กันยายน  :  ต้นข้าวเจริญเติบโตเต็มที่
  • เดือนพฤศจิกายน  :  ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เริ่มมีการเกี่ยวข้าวกันประปราย
  • เดือนธันวาคม  :  การเก็บเกี่ยวมากที่สุดในช่วงเดือนนี้

กิจกรรมทางการเกษตรที่รองจากการทำนาคือการทำไร่ พืชที่ปลูกกันมากคือข้าวโพด ต่อมานิยมปลูกกะหล่ำปลีกันตามความต้องการของตลาดในอำเภอจอมทองและตลาดในเมืองเชียงใหม่ ตามพื้นที่โคกเนินท้ายหมู่บ้านจะปลูกพืชผักสวนครัวประเภทพริก ถั่วพู มะเขือ ฯลฯ เพื่อให้มีผักไว้ทำอาหารกินกันในครอบครัว แต่ถ้ามีผลผลิตมากเกินไปก็อาจนำส่งขายให้แม่ค้าในตลาดสดแม่แจ่มจำหน่ายต่อไป

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม มีความเชื่อในผีสางเทวดาในการทำมาหากินและการควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคม ขณะเดียวกันก็ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งนัก ในระยะแรกของการก่อตั้งบ้านท้องฝายอาจมีเฉพาะบ้านเรือน แต่ต่อมาเมื่อมีวัดบ้านทัพ ความเป็นชุมชนจึงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ชาวบ้านปรารถนาที่จะทำบุญทำทานและต้องพึ่งพาสงฆ์ตามโอกาสต่าง ๆ ทั้งในเทศกาลตามแนวพุทธศาสนาและในพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิตดังข้อมูลตามปฏิทินประเพณีต่อไปนี้

  • เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม :  บุญออกพรรษา ทอดกฐิน ผ้าป่าสามัคคี
  • เดือนยี่  :  บุญยี่เป็ง (ลอยกระทง)
  • เดือนสาม  :  ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือนสี่  :  ทานข้าวใหม่ รับขวัญแม่โพสพ พระสงฆ์เข้ากรรม บุญเทศน์มหาชาติ
  • เดือนห้า  :  มาฆะบูชา
  • เดือนหก  :  ปอยหลวง
  • เดือนเจ็ด   สงกรานต์
  • เดือนแปด  :  ปอยน้อย งานเป๊กตุ๊ (อุปสมบท)
  • เดือนเก้า  :  เลี้ยงผีเจ้าบ้าน เลี้ยงผีปู่ย่า เลี้ยงผีฝาย แฮกนา เข้าพรรษา
  • ดือนสิบ  :  ทานขันข้าว (เพื่ออุทิศแด่ผู้ล่วงลับ)
  • เดือนสิบเอ็ด  :  สู่ขวัญควาย บูชาแม่โพสพ
  • เดือนสิบสอง  :  ตานก๋วยสลาก (สลากภัตร)

โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งสามวัน ชาวบ้านมักเรียกชื่อวันต่างกัน กล่าวคือ

  • วันที่ 13 วันสังขารล่อง  :  ชาวบ้านจะจุดประทัดยิงปืนเพื่อไล่สังขาร (ความเก่าแก่ ความเจ็บไข้ ความโชคร้ายของปีที่ผ่านมา)
  • วันที่ 14 วันเนาว์หรือวันเน่า  :  ถือกันว่าวันนี้เป็นวันไม่ดี จะเกิดเหตุร้ายได้ง่าย จึงต้องพูดจาไพเราะ ทำจิตใจให้เยือกเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน มีอะไรก็ให้อภัยกัน
  • วันที่ 15 วันพญาวัน  :  ถือเป็นวันที่ยิ่งใหญ่กว่าวันใด ๆ จะได้บุญอันยิ่งใหญ่หากมีการทำบุญและทำกิจกรรมทางศาสนา อีกทั้งยังมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อรับพร
  • วันที่ 16 วันปากปี๋ (ปากปี)  :  มีการทำพิธีเพื่อสลัดเคราะห์ออกไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

เกือบทุกครัวเรือนบ้านท้องฝายจะมีการปลูกฝ้าย ซึ่งจะปลูกกันครอบครัวละ 1-2 งานเพื่อจะนำผลผลิตฝ้ายมาทำเครื่องนุ่งห่ม ปัจจุบันหลายครอบครัวเลิกปลูกฝ้ายเองแต่ได้ซื้อฝ้ายจากชาวลัวะในละแวกอำเภอแม่แจ่ม หรือไม่ก็ซื้อเส้นด้ายสำเร็จรูปจากตลาดมาถักทอเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ ซึ่งเด่นในด้านการทำผ้าซิ่นตีนจก ลวดลายที่ใช้ทอผ้าซิ่นตีนจก มีทั้งหมด 16 ลาย ได้แก่ (1) ลายละกอนกลาง (2) ลายละกอนหน้อย (3) ลายเจียงแสนหลวง (4) ลายละกอยหลวง (5) ลายเจียงแสนหน้อย (6) ลายหงส์ปล่อย (7) ลายขันเสี้ยนสำ (8) ลายหงส์บี้ (9) ลายขันแอวอู (10) ลายขันสามแอว (11) ลายโกมรูปนก (12) ลายโกมหัวหมอนในนกนอน (13) ลายนาคกุม (14) ลายกุดขอเบ็ด (15) ลายนกกุม (16) ลายนกนอนกุม

อาหารการกิน

อาหารหลักคือข้าวเหนียวซึ่งท้องถิ่นเรียกว่า ข้าวนึ่งกับข้าวประเภทเครื่องจิ้มที่ขาดไม่เลยก็คือน้ำพริกอ่อง นอกจากนี้ยังมีแกงอ่อม แกงโฮะ แกงแคและแคบหมู ผักต้มที่วางอยู่เต็มสำรับได้มาจากสวนครัวข้างบ้านหรือหาเก็บผักที่ขึ้นอยู่ตามริมรั้วหน้าบ้านเช่น ผักปรัง ถั่วแปบ ชะอม ชะพลู ผักแว่นและผักไร เมี่ยงและบุหรี่ชิโย (บุหรี่พื้นเมืองมวนโต ๆ ) ยังเป็นของที่ใช้ตอนรับแขกผู้มาเยือนในโอกาสต่าง ๆ เมี่ยงทำจากใบเมี่ยงตากแห้งแล้วนำมาหมักดองจนได้ที่ เวลาเคี้ยวอมอาจใส่เกลือเม็ดลงไปตรงกลางเพื่อให้มีรสเค็มอันจะไปช่วยลดรสเฝื่อนของน้ำใบเมี่ยงลงบ้าง แต่คนรุ่นย่ายายนิยมที่จะอมเคี้ยวใบเมี่ยงล้วน ๆ

ทุนทางกายภาพ

ป่าไม้ที่ปรากฏอยู่เป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังและป่าสัก ชาวบ้านอาศัยป่าแถบนี้เป็นแหล่งที่มาของอาหารจากธรรมชาติและนำไม้ไปสร้างอาคารบ้านเรือนตลอดจนเครื่องมือทำการเกษตร โดยเฉพาะไม้ไผ่ นับว่าเป็นผลผลิตจากป่าที่มีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก

ชาติพันธุ์ไทยวน

ภาษาพูด : ภาษาคำเมือง

ภาษาเขียน : อักษรไทยวน


ทางราชการได้เข้ามาสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตบนลำน้ำแม่แจ่มบริเวณบ้านท้องฝาย ฝายนี้เก็บน้ำได้ดีกว่าแบบเก่า เมื่อปริมาณน้ำมากก็สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี หลังฤดูเกี่ยวข้าวนาปีก็มีการใช้พื้นที่นาเดียวกันนั้นทำนาปรัง นอกจากนี้ยังมี หอม กระเทียม ถั่วเหลือง และผักกินใบบางชนิดโดยเฉพาะกะหล่ำปลี เริ่มมีผู้ซื้อรถไถนาชนิดเดินตามมาใช้ทำนาไร่ บางบ้านก็มีเครื่องสูบน้ำเพราะที่นาบางแห่งอยู่สูงกว่าระดับคลองส่งน้ำจึงต้องสูบน้ำจากคลองส่งไปใช้เพาะปลูก มีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางจากทั้งในท้องถิ่นและคนนอกมารับซื้อผลผลิตไปขาย 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเหมืองคอนกรีต ทางราชการปรับปรุงถนนจากดอยสุเทพมาถึงอำเภอแม่แจ่ม ช่วยให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ทำให้คนต่างถิ่นรู้จักเอกลักษณ์ของแม่แจ่ม คือ การทอผ้า โดยเฉพาะผ้าตีน ช่างทอผ้าบ้านท้องฝายได้พัฒนาฝีมือและปรับปรุงสีสันผ้าทอเป็นที่ต้องการของตลาด ชื่อเสียงด้านนี้ทำให้บ้านท้องฝายได้รับรางวัลหัตถกรรมผ้าทอพื้นเมืองดีเด่นจากองค์กรเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ปัจจุบันการทอผ้าพื้นเมืองที่เคยทำกันเฉพาะฤดูแล้งกลายเป็นอาชีพที่ทำกันตลอดทั้งปี นับเป็นแหล่งรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นพอ ๆ กับรายได้จากเกษตรกรรม

การค้าขายแลกเปลี่ยนผลผลิต มีการนำพืชไร่ พืชผักสวนครัวและผลไม้จากสวนข้างบ้านไปขายแลกเปลี่ยน สิ่งที่นำไปขายตลาดจริง ๆ ได้แก่ ข้าวโพดและกะหล่ำปลี รายได้ที่เป็นเงินจึงได้มาจากพืชไร่มากกว่าอย่างอื่น แต่ก่อนจะมีการผลิตพืชไร่เพื่อการค้านั้น ชุมชนมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนกลุ่มอื่น ๆ คือ คนบนพื้นที่สูง เช่น ยาง (กะเหรี่ยง) และลัวะมานาน จนปัจจุบัน ของที่คนบนพื้นที่สูงนำมาแลกคือ พริกแห้ง ฝ้าย หรือของจากป่า เช่น ผักส้มป่อย น้ำผึ้ง สัตว์ป่า และฟืนไม้สน นอกจากนี้ยังนำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุตามป่ามาแลก เช่น เสื่อหวาย เสื่อใบเตย ภาชนะจักสานประเภทตะกร้า เสื้อผ้าโดยเฉพาะย่ามและผ้าห่ม สิ่งที่คนบนพื้นที่สูงต้องการแลกเปลี่ยนไปจากชาวบ้านในชุมชน คือ เกลือ ยาสูบ ข้าวสาร และผลไม้ต่าง ๆ อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ความพึงพอใจของสิ่งของที่นำมาแลก ความสนิทใกล้ชิดระหว่างคู่แลกเปลี่ยน และคุณค่าของสิ่งที่นำมาแลกกัน พบว่ามีการแลกเปลี่ยนกันมากช่วงฤดูแล้งเพราะการคมนาคมระหว่างหมู่บ้านกับชุมชนในลุ่มแม่น้ำแม่แจ่มสะดวกกว่าในฤดูฝน ส่วนใหญ่คนบนพื้นที่สูงจะเอาสิ่งของลงมาแลก แต่บางครั้งชาวบ้านก็ต้องเป็นคนขึ้นไป การขึ้นพื้นที่สูงใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง คนพื้นราบที่ไปแลกเปลี่ยนมักได้แก่บรรดาพ่อบ้านและคนหนุ่ม สังคมของผู้คนบนพื้นที่สูงและชุมชนในที่ราบลุ่มสัมพันธ์กันมานานจึงมีความคุ้นเคยกันอยู่มาก เวลานำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนจึงเหมือนเป็นการมาเยี่ยมเพื่อนที่มีข้าวของติดตัวมาฝากกัน ผู้ที่สนิทกันมาก ๆ อาจหุงหาอาหารเลี้ยงกันก็มี รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยแลกเปลี่ยนกับบ้านใด พอมาถึงรุ่นลูกก็ยังคงติดต่อแลกเปลี่ยนกับคนในบ้านนั้น

ธรรมเนียมการเอามื้อ เพื่อแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างกันยังคงแพร่หลายอยู่ในชุมชน เป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานจากหมู่ญาติทั้งญาติทางสายโลหิตและญาติจากการแต่งงานมาเป็นแหล่งแรงงานหลักที่จะมาช่วยเสริมแรงงานในครอบครัว เช่น การถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าวและนวดข้าว

โครงการพัฒนาเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมเมืองแม่แจ่ม . (2564). บ้านท้องฝาย ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. ค้นจาก https://www.mae-chaem.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566].

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=12

CHIANGMAI PRESS . (2561). (คลิป). เที่ยวเรียนรู้ ดู “ภูมิปัญญาล้านนา” บ้านท้องฝาย แม่แจ่ม. ค้นจาก https://chiangmaipress.com/2018 [สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566].

TOP CHIANGMAI . (2557). ตำบลช่างเคิ่ง. ค้นจาก https://www.topchiangmai.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566].

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-7187-8149, อบต.ช่างเคิ่ง โทร. 0-5348-5199