ชุมชนมุสลิมเก่าแก่แห่งเมืองสงขลา กับอาชีพประมงพื้นบ้าน และการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่พื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
สาเหตุที่เรียกว่าบ้านบน สันนิษฐานว่าเป็นเพราะตั้งอยู่ด้านบนของเมือง หากเดินทางโดยเรือสำเภามาทางทะเลเช่นคนสมัยโบราณ ก็จะพบว่า บ้านบนจะอยู่ด้านบนของเมือง แม้หากดูตามทิศ จะอยู่ด้านทิศใต้ก็ตาม
ชุมชนมุสลิมเก่าแก่แห่งเมืองสงขลา กับอาชีพประมงพื้นบ้าน และการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่พื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
บ้านบนชุมชนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการตั้งเมืองสงขลา เป็นชุมชนมุสลิมดั้งเดิมของพื้นที่เมืองสงขลาที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากทำเลที่ตั้งชุมชนมีความเหมาะสมในการประกอบอาชีพประมง จนมาถึงปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนก็ยังเป็นชาวมุสลิมและทำอาชีพประมงอยู่ และยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างหลากหลายเนื่องจากประชาชนต้องมีการปรับตัวตามพัฒนาการทางสังคม และด้วยระยะเวลาทำให้ชุมชนมีการขยายตัวและมีขนาดประชากรที่เพิ่มขึ้น ต่อมาเทศบาลนครสงขลาจึงได้แบ่งแยกชุมชนเพิ่มเติมเป็นชุมชนบ้านบนเดิม และชุมชนมัสยิดบ้านบนที่จัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา
ชุมชนบ้านบนปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณถนนพัทลุงและถนนนราธิวาส ในเขตกำแพงเมืองเก่าด้านใต้ (ปัจจุบันกำแพงเมืองได้ถูกรื้อออกหมดแล้ว) บางส่วนของชุมชนอยู่นอกกำแพงเมืองในส่วนที่ปัจจุบันนี้เรียกว่า “สะพานเหล็ก”และ”ซอยน้ำผึ้ง” ชุมชนบ้านบน มีมัสยิดบ้านบน หรือ มัสยิดอุสาสนอิสลาม เป็นศูนย์รวมความศรัทธา ของพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากชาวมุสลิมแล้ว พื้นที่บ้านบนยังมีชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนปะปนอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะถูกแบ่งเขตชุมชนด้วยเส้นถนนแบ่งกั้น แต่ชุมชนบ้านบนและชุมชนมัสยิดบ้านบน ก็ยังคงมีความสัมพันธ์และวิถีดั้งเดิมตามแบบฉบับของตนอย่างมิอาจแยกออกจากกันได้
เดิมบ้านบนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกแยกเป็นสองชุมชน สภาพภูมิศาสตร์มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบและลาดเอียง ตั้งอยู่ใกล้ริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา มีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนกำแพงเพชร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนท่าเทียบเรือประมงหมายเลข 1
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา
ชุมชนบ้านบน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาเกี่ยวกับการค้าขายเป็นอาชีพหลัก และประชากรบางส่วนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป มีการรวมกลุ่มชมรมผู้สูงอายุบ้านบนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในชุมชน โดยชุมชนบ้านบนมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 102,092 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 53,009 บาท/ปี
บ้านบน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีทั้งชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธอาศัยอยู่ร่วมกัน มีวิถีชีวิตความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่าง แต่สามารถอาศัยอยู่ด้วยกันได้เป็นอย่างดี วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวบ้านบนจึงมีทั้งในรูปแบบความเชื่อแบบมุสลิม และวิถีวัฒนธรรมแบบไทยปะปนกันอยู่ตามช่วงเวลาในเทศกาลต่าง ๆ เช่น
- วันสงกรานต์
- วันขึ้นปีใหม่
- วันฮารีรายอ
- วันเข้าสุนัต
- วันถือศีลอด
- วันอาชูรอ
- วันเมาลิด
1.นางน้อย ชำนาญ ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร, ผู้นำชุมชน
2.นางสาวธัญพิมล จินเดหวา ปราชญ์ชุมชนด้านการประกอบอาหาร
3.นางสุมล ชำนาญ ปราชญ์ชุมชนด้านการประกอบอาหาร
4.นางพัชรี หวันเดหวา ปราชญ์ชุมชนด้านการถนอมอาหาร
5.นายสมศักดิ์ หวันละแปะ ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนพิธี
6.พระครูอิ่ม ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนพิธี
7.นายสุมิตร จินเดหวา ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนพิธีอิสลาม
8.นางอาภรณ์ สะระหมาด ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรม
9.นางนงนุช ตันพงศ์พัฒน์ ปราชญ์ชุมนด้านงานช่างฝีมือ
10.นายทศพร งาสว่าง ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
11.นางเยาว์ ชำนาญ ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร
ทุนกายภาพ
- ทรัพยากรธรรมชาติ ; ทะเลสาบสงขลา
ทุนวัฒนธรรม
- จุดชมวิวสะพานเหล็ก
- จุดชมวิวรางรถไฟ
- ศาลหลักเมืองสงขลา
- วัดยางทอง
- มัสยิดบ้านบน
- ตลาดมัสยิดบ้านบน
มัสยิดบ้านบน
มัสยิดบ้านบน หรือมัสยิดอุสาสนอิสลาม เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่คู่มากับการสร้างเมืองสงขลา ประตูรั้วทางเข้ามัสยิดระบุว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2390 หลังจากที่รัชกาลที่ 3 พระราชทานเสาหลักเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2385 ทั้งยังมีหลักฐานว่า รัชกาลที่ 5 พระราชทานทรัพย์บูรณะประดับตกแต่งเมื่อครั้งประพาสเกาะชวา และได้แวะที่เมืองสงขลา อีกทั้ง รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานโคมไฟสีเขียวซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดพระเมรุของรัชกาลที่ 5 แก่มัสยิด เช่นเดียวกับที่ทรงพระราชทานแก่มัสยิดสำคัญในกรุงเทพฯ มัสยิดแห่งนี้อดีตเคยเป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นสถานที่สำคัญของชาวมุสลิมในจังหวัด
มัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและแตกต่างจากมัดยิสโดยทั่วไป ตัวอาคารมีลักษณะการก่อสร้างคล้ายกับอุโบสถของวัด หออาซานมีความคล้ายคลึงกับลักษณะของหอระฆังแบบไม่มีโดมครอบเหมือนกับมัสยิดทั่วไป เป็นมัสยิดที่มีรูปแบบคล้ายกันกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ก่อนที่จะได้รับการบูรณะและปรับปรุงใหม่ในปัจจุบัน
ตลาดมัสยิดบ้านบน
ตลาดมัสยิดบ้านบนเกิดจากชาวชุมชนบ้านบน เมืองเก่าสงขลาและนักวิจัยในพื้นที่ได้จัดทำตลาดอาหารฮาลาลขึ้นบริเวณลานหน้ามัสยิดบ้านบน มีพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่บริเวณชุมชนบ้านบนนำอาหารฮาลาล เครื่องดื่มและขนมพื้นเมืองมาจำหน่าย โดยมีการปิดถนนพัทลุงช่วงตั้งแต่สี่แยกถนนนางงามตัดพัทลุงไปจนถึงถนนพัทลุงตัดถนนนครใน ซึ่งเป็นถนนพัทลุงบริเวณหน้ามัสยิด เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าวางเต๊นท์ตั้งบูธขายของกลางถนนได้สะดวกขึ้น มีประชาชนในเขตเทศบาลนครสงขลาแวะเวียนเข้ามาซื้อสินค้ากันอย่างต่อเนื่อง ภายในตลาดยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การสาธิตการทำอาหาร การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงดนตรี การนำชมมัสยิด ผู้สนใจสามารถเที่ยวชมตลาดบ้านบนได้ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ เวลา 17.30 - 20.30 น.
เทศบาลนครสงขลา. (2564). ชุมชนบ้านบน เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
บ้านในนคร. (2562). ชาวบ้านบน เป็นใคร มาจากไหน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2567 จาก https://baannainakhon.blogspot.com/
ปรีชา สถิตเรืองศักดิ์ (2565). ชาวชุมชนบ้านบนเมืองเก่าสงขลาเปิดตลาดอาหารฮาลาลทุกเย็นวันอาทิตย์. สยามรัฐ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2567 จาก https://siamrath.co.th/
เรื่องราวหาดใหญ่. (2562). มัสยิดบ้านบนศิลปะไทย-จีน สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2567 จาก https://www.hatyaifocus.com/