Advance search

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยร่วมกับชุมชนไทย โดยที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนในเชิงตั้งรับกับกระแสโลกาภิวัตน์

หมู่ที่ 4
ทุ่งมะเซอย่อ
บ้องตี้
ไทรโยค
กาญจนบุรี
วิสาหกิจชุมชนโทร. 08-1173-0548, อบต.บ้องตี้ โทร. 0-3468-6433
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
21 เม.ย. 2023
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
21 เม.ย. 2023
ทุ่งมะเซอย่อ

คำว่า “มะเซอย่อ” ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า “กระเทียม” เนื่องจากในสมัยก่อนบริเวณพื้นที่นี้จะปลูกต้นกระเทียมเป็นจำนวนมาก


ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยร่วมกับชุมชนไทย โดยที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนในเชิงตั้งรับกับกระแสโลกาภิวัตน์

ทุ่งมะเซอย่อ
หมู่ที่ 4
บ้องตี้
ไทรโยค
กาญจนบุรี
71150
14.170103
98.973729
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้องตี้

คำว่า “มะเซอย่อ” ในภาษากะเหรี่ยงนั้น แปลว่า “กระเทียม” เนื่องจากในสมัยก่อนบริเวณพื้นที่นี้จะปลูกต้นกระเทียมเป็นจำนวนมาก คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่อพยพมาจากประเทศเมียนมา (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 17)

หมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อ ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะภูเขาล้อมรอบเป็นลูกคลื่น มีภูเขาเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป และสภาพทางกายภาพเป็นที่ราบเชิงเขาหรือที่ราบหุบเขา การตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามพื้นที่ราบและลำห้วยบ้องตี้ น้ำในลำห้วยบ้องตี้เป็นแหล่งน้ำที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ มีแหล่งต้นน้ำไหลจากเขามะพร้าวที่อยู่ทางทิศใต้และไหลจากภูเขาตะนาวศรีทางทิศตะวันตก ไหลผ่านหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออก ยกขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านบ้านบ้องตี้ล่าง บ้านทุ่งมะเซอย่อ ไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อยที่บ้านแก่งระเบิดตำบลวังกระแจะ (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 18)

ประชากร เดิมเป็นถิ่นฐานของชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศเมียนมา แต่ปัจจุบันคนไทยได้เข้าไปจับจองซื้อที่ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณนี้อพยพหนีไปยังพื้นที่อื่น จึงให้ปัจจุบันหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อมีจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหลืออยู่ไม่มากนัก

ข้อมูลจากองค์การบริหารส่งตำบลบ้องตี้ (2561) ระบุว่า บ้านทุ่งมะเซอย่อ มีจำนวนประชากรดังนี้ (ข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายน 2561)

  • ผู้มีสัญชาติไทย จำนวนครัวเรือน 518 หลัง จำนวนประชากร 987 คน (หญิง 471 คน ชาย 516 คน) 
  • ผู้มีสัญชาติอื่น จำนวนครัวเรือนผู้ระบุสัญชาติ 36 หลัง ครัวเรือนไม่มีสถานระทางทะเบียน 15 หลัง จำนวนประชากร 186 คน (หญิง 85 คน ชาย 101 คน) 

การนับถือผีฝ่ายมารดา ครอบครัวของชาวกะเหรี่ยงนับถือผีฝ่ายมารดา กล่าวคือ การประกอบพิธีกรรมในบ้านคือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ผู้หญิงจะเป็นผู้นำ และผู้ที่จะเข้าประกอบพิธีต้องเป็นลูกและหลานของผู้หญิง คือหากผู้ทำพิธีกรรมเป็นยาย ลูกของยายทุกคนต้องร่วมพิธีและคนที่เป็นหลานก็ต้องเป็นหลานยายที่เป็นลูกของลูกที่เป็นผู้หญิงเท่านั้นจึงจะร่วมพิธีได้ ประเพณีจะกระทำเมื่อสมาชิกในบ้านซึ่งบางคนจากไปในท้องถิ่นอื่นแล้วกลับมาพร้อมกัน โดยสตรีอาวุโสที่สุดในบ้านจะเป็นผู้ทำพิธีผูกข้อมือให้กับทุกคนเพื่อเป็นสิริมงคล (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 50)

โพล่ง

จากงานวิจัยของ ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ (2559: 56-57)ระบุว่า ในชุมชนทุ่งมะเซอย่อนั้น มีสถาบันการเมืองการปกครองของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการสนองความต้องการของสมาชิกในการดำรงชีวิตตามระเบียบของสังคม เพื่อควบคุมกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมให้มีการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบและมีความปลอดภัย ซึ่งโครงสร้างทางสังคมในชุมชนทุ่งมะเซอย่อนั้น เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง การปกครองของหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อนั้น ถึงแม้จะอยู่กระจัดกระจายกันเป็นกลุ่ม ๆ อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญ แต่ความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชนยังปรากฏให้เห็นอย่างเหนียวแน่น การปกครองของหมู่บ้านนี้จะมีลักษณะคล้ายกับหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วย

  1. กลุ่มผู้นำ (ผู้ปกครอง) ประกอบไปด้วย สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 1 คน
  2. กลุ่มผู้ตาม (ผู้ถูกปกครอง) ประกอบไปด้วย ประชาชนในหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อ

ในด้านการเมืองการปกครองนั้น ในแต่ละพื้นที่/สังคมย่อมมีค่านิยมและความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมนั้น ๆ เช่น ค่านิยมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ค่านิยมในตัวผู้นำ เป็นต้น สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อนั้น จะมีค่านิยมคือ มีความเชื่อมั่นในตัวของผู้นำ ซึ่งชาวบ้านจะมีความภาคภูมิใจในตัวของผู้นำเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนทุ่งมะเซอย่อจะมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ พวกเขาได้เลือกคนดีเข้ามาเป็นผู้นำ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้เป็นอย่างดีตลอดจนสามารถเป็นตัวอย่างของผู้นำในอนาคตได้อีกด้วย

องค์ประกอบที่สำคัญในสถาบันการเมืองการปกครองของชุมชนทุ่งมะเซอย่อ คือ การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องจัดขึ้นเมื่อวาระของผู้นำในชุมชน โดยทั่วไปการเลือกตั้งของชาวบ้านทุ่งมะเซอย่อนั้นจะเหมือนกับการเลือกตั้งในพื้นที่อื่นของประเทศไทย คือ มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านนั้น สมาชิกในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเลือกผู้สมัครที่ตนเห็นว่าเป็นคนดี ขยัน ไม่เล่นการพนัน ช่วยเหลือ ช่วยงานหมู่บ้านเป็นประจำสม่ำเสมอ

ดังนั้น แม้ว่าหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อจะประกอบด้วยสมาชิกที่มีเชื่อสายกะเหรี่ยงดำรงชีพอยู่ร่วมกับคนไทยที่โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในปัจจุบันนั้น ชุมชนก็ได้มีการจัดระเบียบสังคมเป็นอย่างดี มีการเคารพในกติกาที่ชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น มีองค์การทางการเมืองการปกครองที่รัฐกำหนดขึ้นเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่น ขาดเพียงความเจริญทางการศึกษาและทรัพยากรทางวัตถุ เช่น การแพทย์การอนามัยที่สมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นรากฐานให้ชุมชนทุ่งมะเซอย่อนี้มีความเจริญและมีสันติสุขอย่างยั่งยืน

รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ปัจจุบันคนไทยได้เข้าไปจับจองซื้อที่ดินในบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กลุ่มคนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นต้องอพยพหนีไปยังพื้นที่อื่น ๆ จึงให้หมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อปัจจุบันมีจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหลืออยู่ไม่มากนัก (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 17)

อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน พืชที่ปลูกได้แก่ มะเขือเปราะ มันสำปะหลัง มะละกอพันธุ์ฮอนแลนด์ อ้อย มะระ ยางพารา มะกรูด เป็นต้น เลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร โค แพะ นอกจากนั้นยังประกอบอาชีพ รับจ้าง ทั้งรับจ้างก่อสร้าง รับจ้างทำฟืนเชื้อเพลิง และการรับจ้างด้านงานเกษตรกรรมต่าง ๆ บางส่วนก็ประกอบอาชีพค้าขาย โดยมากจะเป็นการค้าขายเกี่ยวกับเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งอาหารแห้ง อาหารสด และข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 20-30)

อาหาร (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 31-32)

แกงหยวกกล้วย เป็นแกงโบราณของคนกะเหรี่ยงในชุมชนทุ่งมะเซอย่อที่มีมาช้านาน ซึ่งคนในสมัยก่อนมองเห็นความสำคัญของหยวกกล้วย เพราะกล้วยเป็นต้นไม้ที่หาได้ง่ายในชุมชน และชาวบ้านเล็งเห็นว่าน่าจะนำหยวกกล้วยมารับประทานได้ จึงเริ่มคิดนำหยวกกล้วยมาประกอบอาหารนับแต่นั้นมาแกงหยวกจึงเป็นที่นิยมและทำตามงานต่าง ๆ เช่น งานบุญ งานบวช เทศกาลต่าง ๆ แต่มีข้อยกเว้น คือ ไม่นิยมทำในงานศพเพราะเชื่อว่า ถ้าทำแกงดังกล่าวในงานศพจะทำให้คนที่ตายยังคงมีเยื่อใยต่อกันเหมือนใยของหยวกกล้วย และจะทำให้ญาติที่ยังมีชีวิตตายต่อ ๆ กัน

แกงส้มผักหวาน ผักหวานป่า เป็นพืชที่พบมากในเขตพื้นที่หมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อ เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของผักหวานป่า จึงทำให้ผักหวานป่าเป็นผักพื้นถิ่นที่หารับประทานได้ง่ายในชุมชน คนในชุมชนจึงได้นิยมนำผักหวานป่ามาแกงส้ม บางทีอาจจะนำมาแกงรวมกับผักชนิดอื่น ๆ ที่พบในท้องถิ่น เช่น เห็ดโคน เห็ดเผาะ เป็นต้น นับเป็นอาหารท้องถิ่นที่มีการทำเพื่อรับประทานกันมาช้านาน

เห็ดโคนต้มน้ำปลา เป็นอาหารยอดนิยมของคนในชุมชนทุ่งมะเซอย่อ เนื่องจากในพื้นที่ทุ่งมะเซอย่อมีเห็ดโคนขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้คนในชุมชนนำเห็ดโคนมาปรุงเป็นอาหาร ทั้งแกง ต้ม และที่นิยมทำรับประทานมากที่สุด คือ การนำเห็ดโคนมาต้มน้ำปลา เพราะทำง่ายและมีรสชาติอร่อย เมื่อถึงฤดูกาลที่เห็ดโคนเจริญเติบโต คนในชุมชนก็จะได้ลิ้มรสกับเห็ดโคนต้มน้ำปลากันแทบทุกบ้าน

ศาสนา (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 52-53ชุมชนบ้านทุ่งมะเซอย่อ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและกลุ่มคนไทยที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามา จึงทำให้มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา โดยเฉพาะชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก

ศาสนาคริสต์ เป็นศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านนี้นับถือกันมาก ส่วนใหญ่เป็นศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ในอดีตชาวกะเหรี่ยงไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตามตำนานเก่าของชาวกะเหรี่ยงได้เล่าไว้ว่า เริ่มแรกเดิมทีกลุ่มชนทั้งหลายบนโลกนี้เป็นพี่น้องกันถือกำเนิดมากจากพระเจ้าองค์เดียวกันโดยกะเหรี่ยงถือเป็นพี่คนโต ส่วนพวกฝรั่งคนผิวขาวเป็นน้องคนเล็ก พระเจ้าได้มอบหนังสือศักดิ์สิทธิ์ให้กับชาวกะเหรี่ยง แต่ต่อมาหนังสือศักดิ์สิทธ์ได้หายไป และคนผิวขาวก็อาสาออกตามหาหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ชาวกะเหรี่ยงได้รอคอยการกลับมาของหนังสือศักดิ์สิทธ์หลายชั่วอายุคนจนกระทั่งวันก็มีคนผิวขาวได้นำหนังสือเข้ามาในกลุ่มชาวกะเหรี่ยง นั่นก็คือพระคัมภีร์ไบเบิล ชาวกะเหรี่ยงจึงเอาเหตุการณ์ตรงนี้ที่ว่าคนผิวขาวเป็นผู้นำหนังสือศักดิ์สิทธิ์มาคืนให้ จึงได้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมากคนผิวขาวที่กล่าวถึงข้างต้นก็คือกลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา ได้เข้ามาฟื้นฟูความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงให้ดีขึ้นจากเดิม คือ ให้การศึกษา การสาธารณสุข และการเผยแผ่ศาสนา นอกจากนี้ยังมีการสร้างภาษาเขียนให้กับชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีอยู่สองแบบคือ แบบแรกดัดแปลงมาจากอักษรพม่าซึ่งจะใช้กันในกลุ่มกะเหรี่ยงที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ และแบบที่สองดัดแปลงจากอักษรโรมันหรืออังกฤษในปัจจุบันซึ่งนิยมใช้กันในกลุ่มกะเหรี่ยงนิกายโรมันคาทอลิกและชาวกะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ในเมืองไทยนั้นส่วนใหญ่ได้รับการเผยแผ่มาจากมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศเมียนมา ต่อมาจึงได้เผยแพร่ศาสนาคริสต์มายังชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ชายแดนไทย 

การศึกษากำเนิดของคริสตจักรทุ่งมะเซอย่อทำให้ทราบว่า หมู่บ้านนี้มีการอพยพของชาวกะเหรี่ยงมาโดยตลอด วันสำคัญของชาวคริสต์บ้านทุ่งมะเซอย่อคือวันคริสตมาสซึ่งถือว่าเป็นวันฉลองครั้งใหญ่ มีการไปรวมกันที่โบสถ์ของหมู่บ้านมีการร้องสรรเสริญพระเจ้าด้วยบทเพลงที่เป็นภาษากะเหรี่ยง จากนั้นก็จะกินเลี้ยงฉลองกันที่โรงอาหารของโบสถ์ นอกจากนี้ทุกๆวันอาทิตย์จะเป็นวันที่ต้องเข้าโบสถ์เพื่อร้องเพลง ฟังเทศนาธรรมจากผู้นำทางศาสนา ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน และมีการประชุมหารือกันในเรื่องต่าง ๆ

ศาสนาพุทธ กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อ ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีการปฏิบัติและดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา ฯลฯ ในสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาประจำหมู่บ้าน

ความเชื่อ/ประเพณี/พิธีกรรม (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 32-53)

กิจกรรมในรอบปีม.ค.ก.พ.มี.ค.เม.ย.พ.ค.มิ.ย.ก.ค.ส.ค.ก.ย.ต.ค.พ.ย.ธ.ค.
เทศกาลปีใหม่/
วันเด็กแห่งชาติ/
งานปิดทองพระ//
วันมาฆบูชา/
วันสงกรานต์/
วันวิสาขบูชา/
พิธีทำบุญกลางบ้าน/
วันอาสาฬบูชา/
วันแม่แห่งชาติ/
วันออกพรรษา/
วันลอยกระทง/
วันพ่อแห่งชาติ/

พิธีกรรมงานแต่งงานชาวไทยในหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อ (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 39-41)

พิธีทาบทามและสู่ขอ เมื่อชายหญิงคบหา ดูใจกันและตกลงจะร่วมชีวิตกันฉันท์สามีภรรยาแล้ว ฝ่ายชายจะให้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมาเป็นเถ้าแก่ในการทาบทาม สู่ขอ ฝ่ายหญิงให้ เมื่อทาบทามและดูตัวฝ่ายหญิงแล้วฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดทองหมั้น หากฝ่ายชายยินยอมตามคำเรียกร้องแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเตรียมหาฤกษ์หมั้น

พิธีหมั้น ในวันหมั้นผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ญาติพี่น้องและเพื่อนมาเป็นสักขีพยาน ถือฤกษ์หมั้นเวลา 9 โมงเช้า 9 นาที เมื่อได้ฤกษ์หมั้น ฝ่ายชายจะสวมแหวนหมั้นหรือของหมั้นต่างๆ ให้ฝ่ายหญิง แล้วฝ่ายหญิงก็จะไหว้ฝ่ายชายฝ่ายชายรับไหว้และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก โดยมีญาติของทั้งสองฝ่ายเป็นสักขีพยาน เสร็จจากพิธีหมั้นแล้วทั้งสองต้องมากราบผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ญาติผู้ใหญ่และเพื่อนถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและสังสรรค์กัน จากนั้นญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายปรึกษาหารือเรื่องฤกษ์แต่งงานและการจัดพิธีแต่งงาน

การจัดเตรียมงานแต่งงาน สิ่งที่ฝ่ายชายและหญิงต้องเตรียมร่วมกัน คือ การ์ดและของชำร่วย ที่นอน หมอน มุ้ง ชุดเจ้าบ่าว-เจ้าสาว มงคลแฝด แป้งเจิม มาลัยคล้องคอ โต๊ะหมู่บูชาและอุปกรณ์ในพิธีสงฆ์ อุปกรณ์ในพิธีรดน้ำสังข์ ติดต่อพิธีกรในพิธี ติดต่อเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว

สิ่งที่ฝ่ายชายต้องเตรียม คือ ต้นกล้วย 2 ต้น ต้นอ้อย 2 ต้น มะพร้าวอ่อน 2 ลูก กล้วยน้ำหว้า 2 หวี หมูนอนตอง ( หมูสามชั้น) 2 ชิ้น ปลาช่อนนึ่ง 2 ตัว ไก่นึ่ง 2 ตัว ขนมปลาตะเพียน 2 ตัว ขนมจันอับ 2 จาน ขนมถ้วยฟู 2 จาน ขนมเปี๊ยะ 2 อัน ส้มเขียวหวาน 2 จาน จานแต่ละจานต้องเอาธงชัย เสียบทุกจาน จานละหนึ่งธง เตรียมขันเงิน – ขันทอง ในแต่ละขันประกอบด้วย ใบพลู ใบนาก ใบเงิน ใบทอง ใบขนุน ข้าวเปลือก นอกจากนี้ยังมี งาดำ ถั่วเขียว ถั่วดำ อย่างละ 1 ห่อ ขันอีก 2 ใบ ในแต่ละขันประกอบด้วย ห่อหมก 1 กระทง หมาก 16 ลูก พลู 16 ใบ ขนมจีน 1 จับ ขันทั้ง 4 ใบ จะห่อขันด้วยผ้าลายลูกไม้

สิ่งที่ฝ่ายหญิงต้องเตรียม คือ ของไหว้ ศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ ทางสามแพ่ง นิมนต์พระ หมากพลู ดอกไม้ ผ้ารับไหว้ผู้ใหญ่ ผ้าขาว 1 ผืน เหล้า 2 ขวด เตรียมกับข้าวคาวหวาน จัดสถานที่ไว้ต้อนรับแขก

พิธีแต่งงาน (ตอนเช้า) ก่อนเวลา 06.00 น. เจ้าบ่าวต้องเข้ามาที่บ้านเจ้าสาวก่อนเพื่อทำพิธีเลี้ยงพระเช้าและให้ท่านพรมน้ำมนต์ ตอนเลี้ยงพระต้องขึ้นของคาว – หวาน ให้ศาลพระภูมิ – เจ้าที่ เมื่อเสร็จจากการเลี้ยงพระ พรมน้ำมนต์ แล้วให้เจ้าบ่าวออกไปตั้งขบวนขันหมาก

เมื่อตั้งขบวนเสร็จแล้วฝ่ายเจ้าสาวจะไปเลื่อนขบวนขันหมาก ของที่จะไปเลื่อนขบวนขันหมาก คือ หมากพลู และดอกไม้ 1 ถาด ขนม 1 ถาด ของคาว 1 ถาด คนถือร่มให้ถาดหมากพลู – ดอกไม้ 1 คน จากนั้นรวมคนไปเลื่อนขบวนขันหมาก 4 คน ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องให้ซองคนที่ไปเลื่อนขบวนขันหมากทั้ง 4 คน

เมื่อได้ฤกษ์ยามเคลื่อนขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว จะแห่กลองยาวและโห่ร้องกันอย่างครึกครื้น ฝ่ายเจ้าบ่าวมาถึงหน้าบ้านเจ้าสาวแล้วจะเจอประตูแรก คือ ประตูผี แล้ว เจ้าบ่าวจะถามว่า นี่คือประตูอะไร คนกั้นจะบอกว่า นี่คือ ประตูผี เจ้าบ่าวถามว่าใครให้มากั้น คนกั้นประตูจะตอบว่า พ่อชัยมงคล ได้ฤกษ์งามยามดีในวันนี้ จากนั้นเจ้าบ่าวจะแจกซองให้คนกั้นประตู

ฝ่ายเจ้าสาวก็ต้องถ่ายต้นกล้วย ต้นอ้อย เหล้า 2 ขวด ซอง 2 ซอง จากนั้นต้องผ่าน ประตูนาก ประตูเงิน ป ระตูทอง ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องจ่ายซองให้ทุกป ระตูที่กั้น และต้องถามว่านี่คือประตูอะไร ใครให้มากั้น ฝ่ายคนกั้นต้องตอบว่า ประตูนาก (ประตูเงินหรือประตูทอง) พ่อพระชัยมงคลให้มากั้น ประตูสุดท้าย คือ ประตูที่จะไปรับเจ้าสาว ต้องให้เพื่อนเจ้าสาวกั้นคนเดียว เชื่อว่า เจ้าบ่าวจะได้มีเจ้าสาวคนเดียวและเจ้าบ่าวต้องใส่ซองให้เพื่อนเจ้าสาว

ส่วนขันทองให้ทำเหมือนขันเงิน แต่เปลี่ยนเอาทองไว้ตรงกลาง ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ใบพลู ใบขนุน วางไว้ล้อมรอบห่อทอง เมื่อเสร็จพิธีสู่ขอพ่อแม่เจ้าสาวจะมาแบกถุงเงิน – ถุงทอง และต้องพูดเอาเคล็ดว่าถุงเงิน – ถุงทองหนักจัง สงสัยว่าเงินทองเต็ม ถุง – เต็มบ้าน จากนั้นญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะมาผูกข้อมือเจ้าบ่าว – เจ้าสาวเพื่อรับขวัญเขยและสะใภ้

พิธีแต่งงาน (ตอนบ่าย) ช่วงบ่ายเจ้าบ่าว – เจ้าสาวเข้าพิธีรดน้ำสังข์ โดยพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายต้องสวมสายสิญจน์มงคล และพวงมาลัยคล้องคอเจ้าบ่าว – เจ้าสาว ต่อจากนั้นพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ พี่น้อง และเพื่อนๆ ทยอยกันหลั่งน้ำสังข์ และอวยพรตามลำดับอาวุโส เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าว – สาว

พิธีแต่งงาน (ตอนเย็น) ช่วงเย็นจะมีการกินเลี้ยงสังสรรค์ มีญาติผู้ใหญ่และแขกผู้มีเกียรติมาอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว คู่บ่าว – สาว เชิญแขกผู้มีเกียรติมาร่วมรับประทานอาหารและกล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานและแจกของชำร่วยในงานมงคลสมรส จากนั้นจะมีคู่รักที่อยู่ด้วยกันอย่างร่มรื่นสมบูรณ์อยู่กันยืดยาวมาเป็นผู้ปูที่นอน หรือเตียงเพื่อเป็นเคล็ดให้คู่บ่าว – สาวครองเรือนรักกันอย่างมีความสุขและถึงฤกษ์งามยามดีที่ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะส่งตัวคู่บ่าว – สาวเข้าหอ เมื่อคู่บ่าว – สาวเข้าเรือนหอพ่อแม่จะกล่าวอวยพร แล้วให้เจ้าสาวกราบเท้าเจ้าบ่าวเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ เพราะต่อไปถ้าเจ้าสาวล่วงเกินหรือพูดจาไม่ดีก็ขอให้ฝ่ายเจ้าบ่าวให้อภัยหรือจะได้ทำมาหากินขึ้น เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าบ่าว – เจ้าสาวตักบาตรร่วมกันและขอพรจากพระภิกษุสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธีกรรมการแต่งงาน

พิธีกรรมแต่งงานของชาวกะเหรี่ยง (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 42-45ในพิธีงานแต่งของชาวกะเหรี่ยง ชุมชนทุ่งมะเซอย่อนั้น จะเกิดจากการที่หนุ่มและสาวกะเหรี่ยง มักมีโอกาสพบปะสนทนากันในตอนกลางคืน หนุ่มกะเหรี่ยงจะไปหาสาวที่บ้าน และนั่งสนทนากันบนบ้านซึ่งอาจเป็นนอกห้องหรือในห้อง ส่วนใหญ่จะเป็นในห้อง เพราะมีเตาไฟที่ให้แสงสว่างอยู่กลางห้อง เนื่องจากบ้านของกะเหรี่ยงมีห้องเพียงห้องเดียว ในขณะที่สนทนากัน พ่อแม่ก็จะนอนอยู่ใกล้เตาไฟนั่นเอง นอกจากที่บ้านของหญิงสาวแล้ว โอกาสที่หนุ่มสาวกะเหรี่ยงจะได้พบกัน คือ ในงานศพเวลากลางคืนพวกหนุ่มสาว จะเดินรอบ ๆ ศพ และกอดคอกันร้องเพลงระหว่างหญิงกับหญิง ชายกับชายนั้นอวยพรให้ผู้ตายไปสู่ที่ชอบ (ห้ามกอดกันเด็ดขาดชายกับหญิง) โอกาสนี้เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกันมาก การร้องเพลงในงานศพนี้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะโต้ตอบบทเพลงกันและกันอย่างสนุกแบบมีศิลปะ หนุ่มๆ สาวๆ คู่ไหนชอบพอกันฝ่ายชายใดที่มีลูกคอเสียงดีโชว์ออกมาด้วยเสียงที่ไพเราะมีความหมาย มีความซาบซึ้งให้ฝ่ายหญิงที่ตนจับคู่ได้ฟัง หญิงสาวบางคนมีความซาบซึ้งในบทเพลงที่ฝ่ายชายร้องโต้กลับมาถึงน้ำตาซึมร่วงก็มี ฝ่ายผู้หญิงก็เหมือนกันโต้กลับฝ่ายชายด้วยเสียงที่ไพเราะผู้ชายถึงน้ำตาร่วงก็มีเหมือนกัน การร้องเพลงในงานศพจุดมุ่งหมายก็คือ เพื่อให้เกิดความสมานสามัคคีในงานการจัดงานศพ เพื่อให้ชายหนุ่มหญิงสาวจะได้มีโอกาสเกี้ยวพาราสีกัน เพื่อให้หนุ่มสาวฝึกร้องเพลงให้เป็น เพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นต้น

หากหนุ่มสาวได้เสียกันก่อนแต่งงาน ก็จะต้องมีการขอขมาต่อผีเจ้าที่ ซึ่งเป็นผีบ้านไม่ใช่ผีเรือนและให้มีการขอขมาต่อผู้เฒ่า รวมทั้งหัวหน้าหมู่บ้านและหมอผีด้วย วันต่อมาจึงจะจัดให้มีการแต่งงานกัน พิธีการแต่งงานของหนุ่มสาว ที่ได้เสียกันก่อนแต่งงานจะไม่มีงานสนุกสนานรื่นเริงเหมือนงานแต่งที่เป็นหนุ่มสาวบริสุทธิ์ แต่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้นกะเหรี่ยงหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ จะไม่ยอมไปร่วมในพิธีด้วย เพราะเกรงว่าจะเอาตัวอย่างเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีมาใช้ และถือว่าเป็นการผิดประเพณีกะเหรี่ยงทำให้วงศ์ตระกูลให้เกิดเรื่องน่าละอาย ถ้าหนุ่มสาวคู่ที่ได้เสียกันไม่ใช่หนุ่มสาวหรือสาวโสด ก็จะต้องถูกปรับเป็นเงินและสัตว์เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ และควาย เป็นต้น

หลักการแต่งงาน เริ่มต้นด้วยการให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาทาบทามเพื่อถามความสมัครใจทั้งสองคนก่อน จากนั้นจะเป็นการสู่ขอโดยฝ่ายหญิงได้ให้ผู้อาวุโสชาย 2 คนไปหาฝ่ายชาย ประเพณีการสู่ขอของกะเหรี่ยง ผู้หญิงจะเป็นผู้สู่ขอผู้ชาย หลังจากยินยอมตกลงกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ได้นัดหมายกันว่า อีกเจ็ดวันจะทำพิธีแต่งงาน เมื่อฝ่ายชายเต็มใจรับการสู่ขอ ก็จะมีผู้อาวุโสชายฝ่ายชาย 2 คนและหนุ่มโสด 1 คน ที่ไม่ใช่พี่น้องของเจ้าบ่าว รับการสูขอเพื่อนัดหมายวันแต่งงาน ชายหนุ่มโสดคนนี้จะเป็นตัวประกันในการแต่งงาน หากเจ้าบ่าวตัวจริงเกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตาม ชายหนุ่มคนนี้จะต้องแต่งงานแทนเจ้าบ่าวตัวจริง ไปยังบ้านฝ่ายหญิงก็จะมีการฆ่าไก่เพื่อต้มหรือแกง และมีการเตรียมเหล้าเลี้ยงพวกที่มาเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้ว ฝ่ายนั้นจะหาคู่ครองยาก เพราะไม่มีสัจจะ จะมีการกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งจะจัดขึ้นภายใน 7-9 วัน หลังจากวันสู่ขอ และต้องเป็นวันที่คี่ เช่น วันที่ 3 วันที่ 5 วันที่ 7 หรือวันที่ 9 หลังจากการสู่ขอ จะเป็นวันไหนก็ใช้วิธีปักกระดูกไก่ดูเอา เมื่อกำหนดวันแล้วก็บอกไปยังญาติมิตรทั้งหลาย จะได้เตรียมตัวช่วยเหลือ เช่น เตรียมหมู ไก่ หรือเหล้าสำรับใช้ในพิธีแต่งงาน

ในวันแต่งงาน ฝ่ายชายจัดขบวนแห่ซึ่งมีกรร้องทำเพลง ตีฆ้องกลองกันอย่างสนุกสนาน เดินไปบ้านเจ้าสาว ทุกคนแต่งกายแบบกะเหรี่ยง เจ้าบ่าวจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ในขบวนแห่ เจ้าบ่าวต้องเตรียมสิ่งของใส่ตะกร้า แล้วให้หญิงอาวุโสพาดไป การพาดก็คือ การใช้สายคล้องสะพายอยู่ตรงหน้าผาก และตะกร้าอยู่ข้างหลัง ในตะกร้าจะมีของมีเครื่องมือ เช่น พร้า จอบเสียม เงินก้อนโบราณ เงินเหรียญซึ่งเป็นโลหะเงิน ผ้าโพกศีรษะ เสื้อและผ้านุ่งใหม่ของแม่บ้าน เป็นต้น ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดขบวนที่มีแต่ผู้ชายไปรับและนำเข้ามาในบ้าน ในขบวนของแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร่ายเวทย์มนต์คาถาไปด้วย

เมื่อขบวนเจ้าบ่าวไปถึงลานบ้านเจ้าสาว ก็จะมีพิธีดื่มเหล้า โดยเจ้าสาวเอาเหล้าที่เป็นเหล้าขวดแรกจากการต้มกลั่นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า”ซิโข” หมายถึงหัวเหล้า แก้วสุดท้ายเรียกว่า”ซิคี” หมายถึงก้นเหล้า (เรียกพิธีกรรมนี้ว่าแควะ ซิ หมายถึงพิธีหัวเหล้าและก้นเหล้า) รินให้เจ้าบ่าว 1 แก้ว เจ้าบ่าวจะส่งให้หัวหน้าผู้รอบรู้เวทย์มนต์คาถาอาคม ทำการเสกเป่าและอวยพรให้อยู่ดีมีสุข เสร็จแล้วหัวหน้าจะรินเหล้าลงพื้นดินนิดหน่อย แล้วเจ้าสาวส่งกลับให้เจ้าบ่าวดื่มจนหมด สุราที่เหลือในขวดก็ส่งให้ญาติพี่น้องดื่มกันจนหมด จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวก็รินเหล้าของตนให้เจ้าสาวและทำพิธีเช่นเดียวกัน เมื่อทำพิธีดื่มเหล้าแล้ว ก็ขึ้นบนบ้านขณะขึ้นถึงหัวบันไดบ้านจะมีญาติอาวุโสฝ่ายหญิงเอาน้ำเย็นราดลงบนเท้าของคู่บ่าวสาวเพื่อล้างเสนียดจัญไร พร้อมกล่าวคำอวยพร พรรคพวกของทั้งสองฝ่ายที่ตามมา ก็จะมีการสรรดน้ำที่เท้าทุกคน จากนั้นทำพิธีป้อนข้าว โดยเจ้าสาวเอาข้าวและอาหารใส่ถ้วยเล็กให้เจ้าบ่าวกินให้หมดจำนวนหนึ่งคำ จากนั้นญาติของทั้งสองฝ่ายก็จะทำแบบเดียวกัน แล้วจึงลงมือรับประทานอาหารกันตามปกติ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พรรคพวกของทั้งฝ่ายจะดื่มเหล้าและร้องเพลงของเผ่า (ทาแต่งงาน) ตามบ้านญาติพี่น้องของเจ้าสาว แล้วพากันกลับมาบ้านเจ้าสาวมาดื่มเหล้ากันอีก โดยหัวหน้าทั้งสองฝ่ายต่างอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว

ประเพณีของกะเหรี่ยงก็เป็นเช่นนี้ถือว่าข้าวเป็นชีวิต จึงให้ความสำคัญกับเหล้าที่มาจากข้าวสำหรับทำพิธีกรรมทุกๆ อย่าง เหล้าสองแก้วแรกที่ริลนลงไปเรียกว่า “ซิโข” หมายถึงหัวเหล้า สองแก้วสุดท้ายเรียกว่า “ซิคี “หมายถึง ก้นเหล้า และเรียกรวมพิธีกรรมนี้ว่า “แควะ ซิ” หมายถึงพิธีดื่มหัวเหล้าและก้นเหล้า

ตอนนั่งดื่มเหล้า เจ้าสาวนำสายกระพวนมาคล้องคอเจ้าบ่าว และนำบุหรี่สองมวนมาให้ มวนหนึ่งจุดไฟให้เจ้าบ่าว อีกมวนหนึ่งให้เจ้าบ่าวถือไว้ในมือ แล้วเจ้าสาวก็ตระเวนทั่วในบ้านไล่แจกสายกระพวนแก่เพื่อนบ้านที่มากับเจ้าบ่าว ระหว่างพิธีดื่มหัวเหล้า-ก้นเหล้า คนอื่นๆ ก็ดื่มเหล้าด้วย พร้อมกับขับลำนำโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานเจ้าบ่าวจะก่อ แขกผู้มาเยือนจะรับเนื้อหาลำนำเป็นการถามไถ่กันถึงการเดินทางว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีความทุกข์ยากลำบากใจอะไรบ้างไหม เจอะเจอกับอะไรบ้าง หลังจากนั้นหลายคนอกจากบ้านแยกย้ายไปยังบ้านอื่น พาเจ้าบ่าวไปด้วย เจ้าบ่าวคืนแรกไปนอนอีกบ้านหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บ้านเจ้าสาว แต่อาจบ้านของหัวหน้าผู้มาขอนัดวันแต่งงานเจ้าบ่าวสาวนั่นเอง หรือคืนนี้เจ้าบ่าวไม่ได้นอนเลยทั้งคืนเพราะไปกับผู้ใหญ่ซึ่งขับเสียงลำนำโต้ตอบกันทั้งคืน วันรุ่งขึ้นผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวมารับเจ้าบ่าวมาบ้านของเจ้าสาว เพราะมีพิธีอีกขั้นตอนหนึ่งคือ การผูกข้อมือร่วมกัน ให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวนั่งลงใกล้กันใกล้ขันโตก ผู้อาวุโสคนหนึ่งในหมู่บ้านนำด้ายขาวสองเส้น ผูกข้อมือเจ้าบ่าวก่อนแล้วผูกข้อมือเจ้าสาวต่อ ขณะผูกข้อมือท่านอธิษฐานอวยพรแก่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว จากนั้นแม่เจ้าสาวนำขวดเหล้าให้เจ้าบ่าวริน หัวเหล้าเขาให้เจ้าบ่าวดื่ม ก้นเหล้าให้เจ้าสาวดื่ม แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวพร้อมกับพ่อแม่ญาติพี่น้องก็ลงมือกินข้าว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวก็ขึ้นมากินข้าวในเวลานั้นด้วย

เมื่อทุกคนกินข้าวอิ่มแล้ว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวพากันกลับบ้าน ทิ้งเจ้าบ่าวไว้คนเดียวที่หมู่บ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อตามองตามเพื่อนบ้านกลับไป เจ้าบ่าวต้องนอนที่หมู่บ้านนี้อีกหนึ่งคืน ตกกลางคืนเจ้าสาวจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดแม่บ้านสีดำใหม่เอี่ยมที่เรียกว่า “เชซู” (คือผ้าเสื้อท่อนบนของชุดแม่บ้านผู้ออกเหย้าออกเรือนแล้ว หมายถึงเสื้อดำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “เชเบอะ” หมายถึงเสื้อปักลูกเดือย ที่เรียกว่าเสื้อดำและเสื้อปักลูกเดือย เพราะท่อนล่างยังมีอีกเรียกว่า “หนี่หรือซิ่น” เป็นพื้นสีแดงและมีลายมัดหมี่ตัดขวางตลอดทั้งผืน) ส่วนเจ้าบ่าวนั้นต้องใส่เสื้อแดงที่เรียกว่า “เชก๊อ” ซึ่งเจ้าสาวเป็นผู้ทอให้เจ้าบ่าว ยื่นให้เจ้าบ่าวด้วยมือของเจ้าสาวเอง (เชก๊อ หมายถึงเสื้อผู้ชายเป็นผ้าสีแดง คำนี้มีความหมายสวยสดงดงามและมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง) เวลานี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างอยู่ในชุดแต่งงานทั้งสองคน รอเวลาพิธีส่งเข้าเรือนหอต่อไป ค่ำคืนนี้ยังมีข้าวเย็นอีกมื้อหนึ่ง ซึ่งญาติเจ้าสาวไปเชิญชวนผู้อาวุโส 3-4 ท่าน ที่นำทางเจ้าบ่าวไปเยี่ยมตามบ้านต่างๆ เมื่อตอนกลางวันให้มากินข้าวด้วย เพื่อมาเป็นพยานในการส่งเจ้าสาวเจ้าบ่าวสู่เรือนหอ ทุกคนกินข้าวพร้อมกันดื่มเหล้าเสร็จแล้ว จากนั้นผู้อาวุโสเดินออกจากบ้านไปทีละคนๆ จนหมด และบอกกับเจ้าบ่าวว่า “หลานเอ๋ย ขอให้โชคดีมีสุข มีไข่ดกออกลูกดี สืบลูกสืบหลานต่อๆ ไปเถอะ”

หลังจากเจ้าสาวเจ้าบ่าวดื่มเหล้า และรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าสาวจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เจ้าบ่าวใหม่ จากนั้นหัวหน้าฝ่ายเจ้าบ่าวจะแจกของในตะกร้า ที่นำมาให้ญาติอาวุโสซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวของเจ้าสาว ส่วนเงินหล่อแท่งเก็บเอาไว้เป็นของประจำตระกูลต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว

ชาวกะเหรี่ยงนิยมจัดงานแต่งงาน 2 วัน วันที่สองจะทำพิธีที่บ้านเจ้าบ่าว วันแรกเจ้าสาวยังไม่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดขาวทรงกระสอบที่แสดงความเป็นสาวพรหมจารีย์ แต่จะไปเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อสำหรับหญิงมีเรือนในวันรุ่งขึ้น พิธีในวันที่สอง ดำเนินไปในลักษณะเดียวกับวันแรก เช่น หญิงอาวุโสฝ่ายหญิงจะเตรียมของใส่ตะกร้าร่วมขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าบ่าว เป็นต้น

สองคืนกับหนึ่งวันที่ค้างอยู่ที่บ้านเจ้าสาว วันนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังบ้านเจ้าบ่าวพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายเจ้าสาวเป็นพยาน เมื่อรวมกันที่บ้านเจ้าสาวแล้ว จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวก็จะมีเพื่อนบ้านรอรับมากมาย เพื่อมาทำพิธีกันในฝ่ายของเจ้าบ่าวต่อ พ่อแม่ของเจ้าบ่าวยืนรอลูกชายและลูกสะใภ้ใหม่ที่เชิงบันได ในมือถือกระบอกไม้ไผ่ตักน้ำคนละกระบอก มีก้อนหินหนึ่งก้อนวางอยู่ข้างหน้าให้ลูกชายกับลูกสะใภ้เหยียบบนก้อนหิน เจ้าบ่าวเหยียบเท้าขวาเจ้าสาวเหยียบเท้าซ้าย พ่อแม่เทน้ำลงไปบนเท้าของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พร้อมกับอธิษฐานว่า “มีแรงกิน มีแรงทำ มีอายุยืนดั่งก้อนหิน มีความร่มเย็นดั่งน้ำ อย่าได้เจอะเจอกับความทุกข์ยากลำบากใจเลย” จากนั้นขึ้นบนบ้าน รินเหล้าให้ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและท่านก็อธิษฐานอวยพรให้ ตกตอนกลางคืนก็มีเสียงร้องเพลงกะเหรี่ยงขับลำนำโต้ตอบกันดังระงมทั้งหมู่บ้านระหว่างแขกฝ่ายเจ้าสาวกับฝ่ายเจ้าบ่าว ที่หมู่บ้านของเจ้าบ่าวไม่มีพิธีอะไรอีกแล้ว นอกจากการเลี้ยงอาหารและฉลองกันเท่านั้น

พิธีกรรมทั้งหมดอยู่ที่บ้านฝ่ายเจ้าสาว เพราะตามวัฒนธรรมกะเหรี่ยงพิธีกรรมภายในบ้านจะเป็นของผู้หญิง วันรุ่งขึ้นมีการเลี้ยงอาหารแขกและเพื่อนบ้านอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเพื่อนบ้านของเจ้าสาวต่างพากันกลับบ้านทิ้งเจ้าสาวให้ร้องไห้ไว้เพียงผู้เดียวให้อยู่กับเจ้าบ่าว เจ้าสาวน้ำตาคลอมเบ้าล้นเอ่อ คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับตอนเจ้าบ่าวครั้งถูกเพื่อนบ้านทิ้งไว้เพียงผู้เดียวในหมู่บ้านของเธอเมื่อวันก่อนนั่นเอง

ในพิธีแต่งงานเจ้าสาวจะต้องแสดงฝีมือในการต้มกลั่นเหล้าให้บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวดื่ม โดยเจ้าสาวยังค้างอยู่ที่หมู่บ้านเจ้าบ่าวอีกประมาณ 7 วัน ระหว่างนี้เจ้าสาวได้ต้มเหล้าให้พ่อแม่สามีหนึ่งหม้อ เพราะประเพณีกะเหรี่ยง สิ่งที่ลูกสะใภ้ต้องทำให้กับพ่อแม่สามีอันดับแรกคือการต้มเหล้า ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่าลูกสะใภ้เก่งกาจในหน้าที่ของสตรีหรือไม่

เมื่อเจ้าสาวต้มเหล้าเสร็จแล้วพ่อแม่เจ้าบ่าวก็เรียกญาติพี่น้องทุกคนมาร่วมกันดื่ม ทุกคนแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ เช่นว่า มีรสชาติดีและอร่อยกล่าวชมเชยในฝีมือทั้งพ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติพี่น้องต่างพึงพอใจทั่วหน้า เพราะนี่แสดงถึงนิมิตหมายอันดี ที่ชีวิตครอบครัวของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะมีแต่งความราบรื่นและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ในวันที่ 8 เขาทั้งสองคนต้องกลับไปยังหมู่บ้านเจ้าสาวเพราะผู้ชายกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่อาศัยบ้านผู้หญิง ก่อนกลับนั้นแม่เจ้าบ่าวได้เตรียมกระชุหนึ่งใบให้ลูกสะใภ้ใหม่แบกกลับไปด้วย ข้างในบรรจุเสื้อผ้าซึ่งเป็นชุดแม่บ้านหลายชุดด้วยกัน เป็นของที่แม่สามีต้องให้กับสะใภ้ตามประเพณี เมื่อกลับไปหมู่บ้านเจ้าสาวแล้วแม่ยายบอกว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกเขยและลูกสาวของท่านต้องทำ คือการไปหาของกินร่วมกันครั้งแรก เรียกว่า “ฆือ เอาะ ชุ ตา”

การไปหาของกินร่วมกันครั้งแรกนี้ต้องมีสามีภรรยาหนึ่งคู่ไปเป็นพี่เลี้ยงไม่เช่นนั้นถือว่าไม่ดี ไปหาของกินจำพวกกุ้ง ปู ปลา ที่ห้วยหรือแม่น้ำ ไม่ไกลจากหมู่บ้านเท่าใดนัก เมื่อได้กุ้ง ปู ปลาและอื่นๆ แล้วมาล้างใส่ลงหม้อคนทำอาหารนำหินก้อนเท่าหัวแม่มือสองก้อนใส่หม้อลงไปด้วยเป็นความเชื่อที่ต้องทำเช่นนี้เป็นการอวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสองให้มีอายุยืนดั่งก้อนหินสองก้อนนี้และร่วมกันกินข้าว เจ้าสาวเก็บไว้ให้ดีอย่าโยนทิ้ง หากมันหายขอให้มันหายมันเอง นี่เป็นธรรมเนียมประเพณีขั้นสุดท้ายสำหรับการแต่งงาน คนกะเหรี่ยงถือว่าชีวิตงานแต่งงานสำคัญมาก จึงมีขั้นตอนธรรมเนียมประเพณีมากมายและใช้เวลายาวนานเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงาน ที่สมบูรณ์แบบของกะเหรี่ยง สำหรับบางคนนั้นงานแต่งใช้เวลานานถึง 14-21 วัน คือนับตั้งแต่การไปสู่ขอจนถึงการไปหาของกินร่วมกันครั้งแรก

พิธีไหว้ต้นไม้ของชาวกะเหรี่ยง การบูชาต้นไม้ ต้นไม้ในหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ เชื่อกันว่ามีเทพารักษ์สิงสถิตอยู่ ผู้ใดจะจะตัดทำลายไม่ได้ หากผู้ใดไปทำลายก็จะกลับมาเจ็บป่วยไม่สบาย ต้องทำพิธีขอขมาต้นไม้ นอกจากนี้ผู้ที่ศรัทธาก็จะนำเครื่องเซ่นมาถวายเป็นประจำการบูชาต้นไม้ใหญ่ของชาวกะเหรี่ยงถือว่าเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งในการอนุรักษ์ป่าไม้ เพราะชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่จะมีเทพารักษ์ นางไม้ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ หากผู้ใดตัดโค่นต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ก็จะนำความเสื่อมมาสู่ชีวิตของตน อนึ่ง ต้นไม้ในบ้านห้วยนํ้าหนักที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือคือต้นผึ้ง ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้เกิดจากการที่มีผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมากในแต่ละต้น บางต้นมีจำนวนผึ้งนับร้อยรวง อำเภอแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า อำเภอสวนผึ้ง และยังคงมีต้นผึ้งขึ้นอยู่ในพื้นที่แห่งนี้โดยไม่มีใครตัดทำลายลงเพราะคติความเชื่อดังกล่าว (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 49-50)

พิธีเรียกขวัญชาวกะเหรี่ยง พิธีเรียกขวัญชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อ จะเริ่มในเดือนเก้า (ประมาณสิงหาคม) ชาวกะเหรี่ยง เรียกเดือนนี้ว่า "หล่าเค่าว" ประเพณีนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่ชาวกะเหรี่ยงเสร็จจากการเพาะปลูกแล้วแต่ยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงต่อเดือนเก้า "หล่าเค่าว" นั้นมีความเชื่อว่าเดือนนี้ไม่ดี เพราะบรรดาวิญญาณชั่วของภูติผีปีศาจจะออกหากินอย่างมากมาย และสิ่งที่วิญญาณชั่วจะกินคือ "ขวัญ" ของชาวกะเหรี่ยง ที่เร่ร่อนไปมาไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และเมื่อขวัญของชาวกะเหรี่ยงถูกวิญญาณชั่วจับไป เจ้าของขวัญจะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย และอาจถึงแก่ชีวิตได้ เพราะชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาจะต้องมีขวัญ ขวัญคือผู้ที่จะทำให้เจ้าของสุขสบายหรือเจ็บป่วยก็ได้ (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 50-51

เด็กที่เกิดในเดือนนี้จะต้องผูกแขนและข้อเท้าด้วยด้ายสีแดง ในตอนค่ำวันนั้นจะมีการยิงปืนหรือจุดประทัดกันทั้งหมู่บ้าน สาเหตุที่มีการยิงปืนก็เพราะว่าจะให้ขวัญของแต่ละคนที่อยู่ไกล ๆ ได้ยินเพื่อที่จะได้เดินทางกลับบ้านของตนเอง ซึ่งในวันนี้สมาชิกทุกคนของครอบครัวกะเหรี่ยงจะอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในบ้านของตนเอง และในคืนวันนี้ประตูหน้าต่างทุกบานของบ้านจะเปิดไว้เพื่อให้ขวัญที่เดินทางกลับบ้านสามารถเข้ามาภายในบ้านของตนเองได้ และที่หิ้งตรงเหนือที่นอนของชาวกะเหรี่ยงจะมีสำรับที่จัดเตรียมไว้สำหรับขวัญของตนเอง สำรับนั้นคือ กระด้ง ซึ่งมีข้าวห่อที่ต้มสุกแล้วมะพร้าวขูดเคี่ยวกับน้ำตาลหรือน้ำอ้อยเป็นส่วนที่ใช้จิ้มรับประทานกับข้าวห่อ นอกจากนั้นมีกล้วย อ้อย ดอกดาวเรืองและของใช้ คือกำไลเงิน สายสร้อยเงิน ของชาวกะเหรี่ยง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกเตรียมไว้สำหรับขวัญที่จะเดินทางมากินและใช้สอย อีกอย่างหนึ่งคือด้ายสีแดงสำหรับผูกข้อมือ ตลอดทั้งคืนชาวกะเหรี่ยงจะไม่หลับนอน เพื่อรอรับขวัญที่จะเดินทางกลับมา

ก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ชาวกะเหรี่ยงจะยิงปืนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกขวัญที่อยู่ไกล ๆ ที่ยังเดินทางกลับมาเมื่อคืนยังไม่ถึงบ้าน จึงเรียกอีกครั้ง จากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ประจำบ้านจะนำสมาชิกในบ้านมาทำพิธีเรียกขวัญบริเวณระเบียงบ้านตรงหน้าบันได โดยมีอุปกรณ์ประกอบคือตะกร้าข้าวห่อซึ่งข้างในจะบรรจุ พวงข้าวห่อและข้าวห่อ กล้วย อ้อย ยอดดอกไม้(ยอดดอกดาวเรือง) ด้ายสีแดง กำไลเงิน สร้อยเงิน การเชิญขวัญหรือเรียกขวัญจะใช้ไม้คนข้าว เคาะตรงบันไดบ้านพร้อมกับการเรียกขวัญ หลังจากนั้นจะใช้ด้ายสีแดงผูกข้อมือเรียกขวัญให้กับสมาชิกภายในบ้านทุกคน โดยให้ผู้อาวุโสของบ้านเป็นผู้เรียกขวัญให้ เรียก "สู่ขวัญ" ให้กับสมาชิกในบ้าน โดยจะนำเอากล้วยส่วนหนึ่ง ข้าวห่อ ยอดดอกไม้ อ้อย ซึ่งอยู่ในตะกร้าหรือกระบุงที่ใช้ทำพิธี มาประกอบการเรียกขวัญแก่สมาชิกทุกคน โดยผู้ถูกเรียกขวัญจะแบมือสองข้างชิดติดกันยื่นไปข้างหน้าให้ผู้เรียกขวัญทำพิธีเชิญขวัญ หรือสู่ขวัญ คำเชิญขวัญ เป็นภาษากะเหรี่ยง จะขึ้นต้นด้วยคำว่า “ปรู้หล่าเก้ท่าย ๆ” แปลว่า ขวัญเอ๋ยขวัญมา

ปัจจุบันพิธิกรรมเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยงนี้ ได้หายไปจากสังคมชาวกะเหรี่ยงในชุมชนทุ่งมะเซอย่อแล้ว เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ถูกเปลี่ยนทัศนคติจากการนับถือผี เป็นการนับถือศาสนาคริสต์ จึงทำให้พิธีกรรมต่าง ๆ ได้ถูกละทิ้งและเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านความเชื่อในวัฒนธรรมของตนเองไปโดยสิ้นเชิง

ความเชื่อเกี่ยวกับการเกิด (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 51ชาวกะเหรี่ยงบ้านทุ่งมะเซอย่อนั้น จะมีความเชื่อเมื่อทารกเกิดสายรกที่ตัดออกไปแล้วก็จะบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ปิดฝาด้วยเศษผ้า แล้วนำไปผูกไว้ตามต้นไม้ในป่ารอบหมู่บ้าน ต้นไม้ต้นนั้นเรียกชื่อว่า “เดปอทู่” แปลว่าต้นสายรก และต้นไม้ต้นนี้จะห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ที่นั่น หากตัดทิ้งจะให้ขวัญของทารกหนีไปและทำให้ทารกล้มป่วยลง หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งตัดต้นไม้ต้นนี้โดยเจตนาหรือไม่เจตนา จะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว พ่อแม่ก็นำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญทารกกลับคืนมา

วันที่ไปผูกสายทารกติดกับต้นไม้นั้นเพื่อนบ้านทุกคนจะไม่ออกไปทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อห้าม เรียกข้อห้ามนี้ว่า “ดึต่าเบล” เป็นกฎหมายประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เมื่อถึงเวลาขั้วสายรกหลุดออกไปผู้เป็นพ่อก็จะไปทำพิธีผูกมือเรียกขวัญทารก โดยไปทำพิธีที่ใต้ต้นไม้ที่ผูกติดสายทารกต้นนั้น เพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่ที่บ้าน เรียกพิธีผูกขวัญนี้ว่า “กี่เบลจือ” คือพิธีผูกขวัญครั้งแรกของบุคคลผู้นี้ที่เกิดมาลืมตาอยู่บนโลก คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าขวัญของคนมีอยู่ 37 ขวัญที่อยู่ในรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ การผูกขวัญครั้งแรกของทารกนี้ก็จะทำให้ทารกได้รับขวัญที่ 37 ขวัญนี้ โดยครบถ้วน ซึ่งได้แก่ 

1.ขวัญหัวใจ 2.ขวัญมือซ้าย 3.ขวัญมือขวา 4.ขวัญเท้าซ้าย 5.ขวัญเท้าขวา 6.ขวัญหอย 7.ขวัญปู 8.ขวัญปลา 9.ขวัญเขียด 10.ขวัญแย้ 11.ขวัญจิ้งหรีด 12.ขวัญตั้กแตน 13.ขวัญตุ๊กแก 14.ขวัญแมงมุม 15.ขวัญนก 16.ขวัญหนู 17.ขวัญชะนี 18.ขวัญหมูป่า 19.ขวัญไก่ป่า 20.ขวัญเก่ง 21.ขวัญกวาง 22.ขวัญสิงห์ 23.ขวัญเสือ 24.ขวัญช้าง 25.ขวัญข้าว 26.ขวัญงู 27.ขวัญตุ่น 28.ขวัญเม่น 29.ขวัญเลียงผา 30.ขวัญแรด 31.ขวัญเต่า 32.ขวัญตะกวด 33.ขวัญกุ้ง 34.ขวัญอีเห็น 35.ขวัญกระทิง 36.ขวัญต่อ 37.ขวัญนกแก๊กนกแกง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดทุ่งมะเซอย่อ เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านมาร่วมกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม อาทิ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การประชุมหารืองานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดงานบุญและงานต่าง ๆ ของชุมชน ชาวบ้านจึงช่วยกันทำนุบำรุงและให้ความเคารพเป็นอย่างมาก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การอยู่ร่วมกัน การอบรมเลี้ยงดู การศึกษา ของชาวบ้านในชุมชนทุ่งมะเซอย่อนั้น ค่อนข้างที่จะให้ความเป็นปัจเจกมาก เนื่องจากพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้านค่อนข้างห่างไกลกัน สภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้การอบรมเลี้ยงดู การศึกษา ตลอดจนการอยู่ร่วมกันภายในชุมชนค่อนข้างที่จะแตกต่างกันออกไป

ศูนย์กลางของการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านในชุมชนทุ่งมะเซอย่อในแต่ละชุมชนก็คือ ผู้ที่มีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล ช่วยเหลือชาวบ้านเมื่อยามที่เกิดเรื่องเดือดร้อน คือ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล จะเป็นแกนหลักในการดึงชาวบ้านให้มีความคิด การปฏิบัติที่สอดคล้องกันและยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างชุมชนภายนอกกับชาวบ้านในชุมชน และตัวเชื่อมระหว่างบุคคลภายในชุมชนเองเมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นภายในชุมชน

การอบรมเลี้ยงดู และการศึกษาของชาวบ้านในชุมชนทุ่งมะเซอย่อนั้น ถ้าเป็นเด็กการอบรมเลี้ยงดู ตลอดถึงการได้รับการศึกษา จะเป็นหน้าที่ของครูที่สอนในโรงเรียนเป็นหลัก ดังนั้นการปลูกฝังความคิด หรือการพัฒนาความรู้ของเด็กและเยาวชน จะมีครูเป็นผู้ชี้นำและสั่งสอนเป็นหลัก

ครอบครัวก็เป็นสถาบันหลักที่จะอบรมสั่งสอนให้เด็กและเยาวชน เป็นคนที่มีคุณธรรมและจริยธรรมในสังคม พื้นฐานทางด้านจิตใจและความคิดของเด็กและเยาวชนส่วนหนึ่ง ครอบครัวจะเป็นผู้เสริมสร้างพื้นฐานและเป็นผู้เริ่มต้นทุกๆ ด้าน ดังนั้นสถาบันครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันที่เล็กที่สุดแต่มีบทบาทที่สำคัญมากในการอบรมเลี้ยงดู และปลูกฝังสิ่งต่าง ๆ ให้กับเด็กและเยาวชน

ภูมิปัญญาในด้านการอยู่ร่วมกัน การอบรมเลี้ยงดู และการศึกษานั้น จะเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นสำคัญ ผู้ใหญ่ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้องตี้จะเป็นผู้ช่วยเหลือและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวบ้านและชุมชน ส่วนพ่อ แม่ เป็นผู้ที่สร้างพื้นฐานในการเรียนรู้แรกเริ่มให้กับเด็กและเยาวชน และครู-อาจารย์ เป็นผู้ที่แนะนำ สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และชี้ทางในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข สิ่งเหล่านี้นับเป็นส่วนที่สัมพันธ์และสำคัญมากภายในชุมชน (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 54-55)


โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งมะเซอย่อ เป็นสถานศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเด็กที่ยากจนเข้ามาศึกษาเล่าเรียน โดยมีเด็กและเยาวชนในชุมชนทุ่งมะเซอย่อและชุมชนใกล้เคียงให้ความสนใจเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งมะเซอย่อ เป็นสถานศึกษาที่รองรับเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ปี เข้ามาปูพื้นฐานเพื่อเตรียมเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นอนุบาล

โรงเรียนทุ่งมะเซอย่อ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส โดยโรงเรียนไทรโยคมณีกาญจน์ ได้เข้ามาเปิดขยายโอกาสให้มีการศึกษาเล่าเรียนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3


ในอดีตหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อมักอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งจะสร้างบ้านเรือนกระจัดกระจายกันออกไป มีผู้นำหมู่บ้านเรียกว่า “ฮี่โข่” เป็นผู้ที่จะคอยกำหนดพื้นที่และจัดสรรพื้นที่ในการทำมาหากินของคนในชุมชน ดังนั้นเมื่อชาวกะเหรี่ยงจะย้ายพื้นที่ไปทำไร่ในพื้นที่ใด ก็จะย้ายบ้านไปอยู่ ณ จุดนั้น ดังนั้นจึงทำให้การหมุนเวียนหมู่บ้านไปตามพื้นที่ไร่จึงเป็นช่วงแรกของการทำไร่หมุนเวียน ระบบนิเวศน์ในอดีตจึงเป็นการทำไร่หมุนเวียน โดยชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้อย่างคุ้มค่า และรู้จักดูแลรักษากันเป็นอย่างดี 

ปัจจุบันจำนวนป่าไม้ จำพวก ไม้ไผ่ ใบตองก้อ(ภาษากะเหรี่ยงเรียก หลู่หละ) และต้นไม้ชนิดอื่น ๆ เริ่มมีจำนวนน้อยลงไปมาก เนื่องจากคนรุ่นหลังเริ่มมีการตัดไม้ในเชิงธุรกิจมากกว่าการนำไม้จากธรรมชาติมาใช้สอยในชีวิตอย่างคุ้มค่า ระบบการทำไร่หมุนเวียนเริ่มลดน้อยลง เข้าสู่สังคมเกษตรในเชิงพื้นที่ที่ถูกจับจองอย่างถาวร การตั้งถิ่นฐานจึงเริ่มมีความถาวรมากยิ่งขึ้น 

ระบบนิเวศน์ในชุมชนทุ่งมะเซอย่อ เริ่มเข้าสู่ระบบนิเวศน์ที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นป่าไม้แบบดั้งเดิมเริ่มลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี ชาวบ้านในชุมชนทุ่งมะเซอย่อยังมีการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนมีการรณรงค์ให้คนในชุมชนเล็งเห็นคุณค่าและประโยชน์จากป่าไม้ ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อการยังชีพในอนาคต  (ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และคณะ, 2559: 55)

ปัจจุบันมี "ป่าชุมชนบ้านทุ่งมะเซอย่อร่วมใจ"  เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 87 ไร่ งาน ตารางวา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้องตี้. (2561). แผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี  (พ.ศ. 2561 – 2565) ฉบับเพิ่มเติม/เปลี่ยนแปลง  ครั้งที่ 2. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 21 เมษายน 2566. เข้าถึงจาก https://www.bongti.go.th/assets-admin/files/news/19689781411545.doc

ศิกษก บรรลือฤทธิ์ และ จิราภรณ์ กาญจนสุพรรณ. (2559). การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของที่อยู่อาศัยชาวกะเหรี่ยง : กรณีศึกษาหมู่บ้านทุ่งมะเซอย่อ ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, 2559.

วิสาหกิจชุมชนโทร. 08-1173-0548, อบต.บ้องตี้ โทร. 0-3468-6433