Advance search

การสืบทอดประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน โดยที่ต้องรับมือและต่อรองกับอัตลักษณ์อื่นๆเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นไทยพวนของตน

ถนนยันตรกิจโกศล
ทุ่งโฮ้ง
เมืองแพร่
แพร่
วิสาหกิจชุมชนโทร. 08-6188-6622, เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง โทร. 0-5452-2458
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
21 เม.ย. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
21 เม.ย. 2023
บ้านทุ่งโฮ้ง

ชาวพวนที่บ้านทุ่งโฮ้งเล่ากันว่า ราวปี พ.ศ. 2340-2350 มีพระภิกษุจากเมืองพวน ประเทศลาว ผู้หนึ่งได้นำชาวพวนจำนวนนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้ ๆ พื้นที่ท้ายตลาดอำเภอเมืองซึ่งมีชาวพวนกลุ่มที่อพยพมาอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ในเวลานั้นการผลิตเป็นไปเพื่อยังชีพ ชาวพวนนอกจากจะมีฝีมือเด่นด้านการทอผ้าพื้นเมืองแล้ว พวนยังมีความสามารถในการตีเหล็กเพื่อทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ การตีเหล็กของที่นี่คงจะทำกันอย่างแพร่หลายผู้คนละแวกใกล้เคียงจึงพากันเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านตั่งโห้ง” ภาษาถิ่นคำว่า “ตั่ง” ก็คือ “ทั่ง” หรือฐานที่รองเหล็กที่กำลังตีให้เป็นรูปต่าง ๆ “โห้ง” คือลักษณะที่ลึกลงไป แสดงถึงการตีเหล็กกันมากจนทั่งสึกเป็นแอ่ง ในเวลาต่อมาชื่อหมู่บ้านก็เปลี่ยนไปเป็นทุ่งโฮ้งอย่างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ อีกกระแสหนึ่งก็เห็นว่าชื่อหมู่บ้านทุ่งโฮ้งคงจะได้มาจากลักษณะโดยรวมของหมู่บ้านตั้งแต่เดิมซึ่งเป็นทุ่งหญ้าโล่ง ๆ ไม่มีต้นไม้ มองมาแต่ไกลก็เห็นตัวชุมชนอย่างเด่นชัด คนจากที่อื่น ๆ ไม่ทราบชื่อที่แน่นอนเลยเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านทุ่งโล่ง” ซึ่งกลายมาเป็น “ทุ่งโฮ้ง” ในเวลาต่อมา


การสืบทอดประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน โดยที่ต้องรับมือและต่อรองกับอัตลักษณ์อื่นๆเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นไทยพวนของตน

ถนนยันตรกิจโกศล
ทุ่งโฮ้ง
เมืองแพร่
แพร่
54000
18.16951
100.17488
เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง

ชุมชนเกิดจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวพวนที่ถูกกวาดต้อนมาจากประเทศลาวภายหลังการทำสงครามปราบปรามระหว่างลาวลาวกับไทยช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผลของสงครามทำให้เกิดการอพยพกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จากพื้นที่ประเทศลาวเข้ามาสู่ประเทศไทย ในบรรดาการอพยพครั้งนั้นพวนก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่น่าจะมีจำนวนมากพอสมควรเพราะปัจจุบันมีชาวพวนตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัด เช่นที่อำเภอพนมสารคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิต อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ 

ตำบลทุ่งโฮ้งอยู่ในเขตสุขาภิบาลมี ไฟฟ้า น้ำประปาบาดาล โรงเรียนระดับประถมศึกษา 2 แห่ง และกองทุนเวชภัณฑ์ 7 กองทุน ทั้งตำบลประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแม่หล่าย

ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลวังธงและตำบลท่าข้าม

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเหมืองหม้อและตำบลน้ำชำ

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลทุ่งกวาว

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

ตำบลทุ่งโฮ้งและบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ราบลาดเอียงลงสู่แม่น้ำยมซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ตำบลนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 10,113 ไร่ และเมื่อแบ่งพื้นที่ตามการใช้ประโยนชน์ก็จะเป็นพื้นที่เพาะปลูกเกือบ 7,000 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 2,0000 กว่าไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าไม้ ที่สาธารณะและอื่น ๆ

ชุมชนจะทำเกษตรกรรมโดยอาศัยน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นนา และน้ำฝนที่ไหลลงมาตามลำห้วยลำเมืองซอยต่าง ๆ ที่ขุดกันอยู่โดยรอบพื้นที่เพาะปลูกแล้ว บางครั้งฝนขาดแคลนก็จะร่วมมือกันสูบน้ำจากบ่อบาดาลใส่ลงในลำเหมืองเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม ส่วนน้ำเพื่อน้ำดื่มและชำระล้างก็คงได้แก่น้ำฝนและน้ำบาดาลเช่นกัน จะใช้น้ำบาดาลกันมากในช่วงฤดูแล้ง บางปีที่ฝนทิ้งช่วงนาน ๆ น้ำบาดาลส่วนใหญ่ก็ถูกนำขึ้นมาใช้จนเกือบเหือดแห้งเหมือนกัน

สภาพภูมิอากาศ

ด้วยเหตุที่จังหวัดแพร่อยู่ทางภาคเหนือและพื้นที่เกือบทั้งจังหวัดรวมทั้งที่ชุมชนบ้างทุ่งโฮ้งด้วย มีภูเขาล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ จึงทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้ค่อนข้างจะชัดเจน

ฤดูร้อน : เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนและแห้งแล้งมากเพราะในระยะหลังป่าไม้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

ฤดูฝน : เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม จะมีปริมาณฝนค่อนข้างมากภาวะน้ำท่วมฉับพลันและการฟังทะลายของพื้นผิวหน้าดินคือปัญหาที่ผู้คนที่นั่นจะประสบอยู่เป็นประจำ ดังจะเห็นได้จากกรณี แพะเมืองผี

ฤดูหนาว : เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศมักหนาวจัด การสงเคราะห์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ยากไร้9ามเขตชนบทที่ห่างไกลคือสิ่งที่ต้องกระทำอยู่เสมอ

ตำบลทุ่งโฮ้งประกอบด้วยบ้าน 3,247 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 6,165 คน แบ่งเป็นชาย 2,866 คน และหญิง 3,299 คน ในแง่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ประชากรหมู่ที่ 1 , 2 , 4 ,6 และ 7 ส่วนใหญ่คือพวน ที่เหลืออีกสองหมู่บ้านคือยวน หรือ คนเมืองซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของแพร่

ระบบเครือญาติ

ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้งให้ความสำคัญกับญาติทั้งข้างฝ่ายพ่อและญาติข้างแม่ ส่วนใหญ่จะมีความใกล้ชิดกับญาติกลุ่มไหนมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ การขาดแคลนแรงงานและความพอใจส่วนบุคคล กระนั้นโดยทั่วไปภายหลังการสมรสคู่บ่าวสาวก็จะอยู่ร่วมบ้านกับคอบครัวของฝ่ายหญิง แม้จะแยกครอบครัวออกไปบ้านหลังใหม่ก็ยังคงอยู่ในละแวกญาติพี่น้องของภรรยา ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ลูกหลานจึงเติบโตอยู่ท่ามกลางหมู่ญาติข้างมารดา จะไปเยี่ยมปู่ย่าและญาติคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นญาติข้างพ่อบ้างในบางโอกาส เช่นคราวงานตรุษ- สงกรานต์และเมื่อมีพิธีกรรมอันเนื่องด้วยชีวิต นอกจากนี้ เพราะจังหวัดแพร่นั้นทุ่งโฮ้งเป็นดินแดนที่มีคนพวนมากที่สุด  หากเปรียบเทียบกันด้วยจำนวนประชากรแล้วชาวพวนที่นี่จึงเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ท่ามกลางคนยวนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของจังหวัด จึงเป็นธรรมดาที่ผู้คนในชุมชนทุ่งโฮ้งนิยมแต่งงานกับคนพวนท้องถิ่นด้วยกันมากกว่าที่จะเลือกคู่ครองจากกลุ่มอื่น ชาวบ้านทุ่งโฮ้งส่วนใหญ่จึงเป็นญาติกัน ทั้งนี้อาจเป็นญาติทางสายโลหิตหรือญาติทางการสมรส สังเกตได้จากการมีนามสกุลใช้กันเพียงไม่กี่นามสกุล เช่น นามสกุลอ่อนน้อม เสนาธรรม หมื่นโฮ้ง วงศ์ฉายา สุทธนะ วรินทร์ เพชรหาญ และทองพวน 

ไทยพวน, ไทยวน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

เกษตรกรรม

เกษตรกรรมคืออาชีพหลักของผู้คนที่นี่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในระยะแรกทำนาเป็นหลัก ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ใช้งานประเภทวัวควาย นอกจากนี้ยังมีเป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในครอบครัว หากปีใดสามารถผลิตสิ่งต่าง ๆ ได้มากเกินความต้องการของชุมชนก็อาจจะนำสิ่งนั้นออกไปเร่ขายหรือแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอย่างอื่นจากมหู่บ้านต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง

กิจกรรมทางการเกษตร

การทำนาเริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การตกกล้า การดำ และการเก็บเกี่ยว รวมแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดืดอน ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวเหนียว ข้าวพันธุ์สันตาปองเป็นพันธุ์พื้นเมืองอย่างเดียวที่ยังมีพอปลูกกันบ้าง ผลผลิตข้าวเปลือกส่วนใหญ่จะส่งไปแปรรูปเป็นข้าวสารตามโรงสีต่าง ๆ พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็จัดเตรียมที่นาแห่งเดียวกันนั้นเพื่อปลูกถั่วลิสงหรือถั่วเหลือง ซึ่งให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวภายในระยะเวลา 4-5 เดือน ในช่วงพฤศจิกายนากาศเริ่มหนาวเย็น ชาวบ้านบางคนก็แบ่งพื้นที่ปลูกถั่วส่วนหนึ่งซึ่งอาจอยู่ร่าว ๆ 2-3 งานเพื่อเพาะเห็ดฟางและปลูกพืชผักกินดอกและใบที่ให้ผลผลิตดีในช่วงอากาศเย็น เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และมะเขือเทศ ในปีหนึ่ง ๆ นั้นจึงใช้ที่นาเกือบตลอดเวลา

ส่วนพืชสวนที่ปลูกในระยะแรก คือ ลำใย ต่อมามีการปลูกมะขามหวาน และเมื่อมะม่วงมันเป็นที่ต้อวการของตลาดก็ได้นำมะม่วงเขียวเสวย หนองแซง และพันธุ์อื่น ๆ จากภาคกลางมาปลูกในท้องถิ่น

พืชที่ปลูกตามเชิงเขาหรือพืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด ปกติจะปลูกในเดือนพฤษภาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม ช่วงปลายฤดูฝนหลายครอบครัวก็ปลูกยาสูบเพื่อเก็บใบขายโรงบ่มยาแถบจังหวัดน่าน ในพื้นที่ดอนมาก ๆ อาจจะยังปลูกฝ้าย ซึ่งที่ปลูกในปัจจุบันก็เพื่อจะขายส่งให้โรงงานผลิตผ้านวม บ้านไหนมีบ่อบาดาลในพื้นที่เพาะปลูกก็จะรับให้บริเวณใกล้ ๆ แหล่งน้ำนี้ให้เป็นที่ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น กระเพา โหระพา พริกชี้ฟ้า มะเขือ ฯลฯ เพื่อได้มีผลผลิตจำหน่ายตลอดปี 

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ในชุมชนมีวัดเป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการประกอบกิจพิธีเนื่องในเทศกาลงานบุญที่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำประกอบพิธีตามแบบแผนพระพุทธศาสนา

เดือนมกราคม : ประเพณีกำฟ้า

เดือนกุมภาพันธ์ : ประเพณีกำฟ้า

เดือนมีนาคม : ประเพณีปอยบวชพระ การแต่งงาน ผีปู่ย่า ผีเสื้อบ้าน

เดือนเมษายน : ประเพณีปีใหม่ ผีเตาเหล็ก

เดือนพฤษภาคม : ประเพณีปอยบวชพระ การแต่งงาน ผีเสื้อนา/ผีเสื้อไร่

เดือนมิถุนายน :  ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ

เดือนกรกฎาคม : ผีย่าหม้อนึ่ง ผีเสื้อวัด

เดือนสิงหาคม :  ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ

เดือนกันยายน :  ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ

เดือนตุลาคม : ประเพณีกินสลาก ผีเสื้อวัด

เดือนพฤศจิกายน : การแต่งงาน

เดือนธันวาคม : ผีเสื้อนา/ผีเสื้อไร่

ประเพณีกำฟ้า คือ ประเพณีที่สืบทอดกันมาของชาวพวนบ้างโฮ้ง

เนื่องจากในอดีตตอนอาศัยอยู่ที่เมืองพวน ประเทศลาว ขณะนั้นเคยตกเป็นเมืองขึ้นของหลวงพระบาง มีเจ้าชมพู เป็นกษัตริย์องค์ที่ 43 เจ้าชมพูเป็นพระราชโอรสเพียงองค์เดียวของพระเจ้าหล้าแสนไทไตรภูวราถ เป้นเจ้าเมืองที่ปราดเปรื่องและมีความกล้าหาญ หลังตกเป็นเมืองขึ้นได้รวมตัวกับเมืองเวียงจันทร์ แล้วยกทัพไปรบกับหลวงพระบางจนได้ชัยชนะ เจ้าชมพูจึงได้ประกาศเอกราชไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น ทำให้เจ้านนท์แห่งเวียงจันทร์โกรธเคืองมาก จึงได้ยกทัพมาปราบเมืองพวน และจับเจ้าชมพูไปประหารชีวิต ได้เกิดฟ้าผ่าลงมาถูกด้ามหอกที่ใช้ประหารจนหักสะบั้นลง เมื่อเจ้านนท์ทราบเหตุอัศจรรย์นั้น จึงสั่งให้นำเจ้าชมพูกลับไปครองเมืองพวนตามเดิม นับตั้งแต่นั้นมา ชาวพวนจึงนับถือฟ้า มีความเชื่อลแศรัทธาตต่อฟ้าอย่างมั่นคงว่า ฟ้า คือ สิ่งศักดิ์ทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองชีวิตผู้นำและชีวิตของชาวพวนให้พ้นจากภัยพิบัติได้ จึงเกิดประเพณีกำฟ้า ตั้งแต่นั้นมา

กำฟ้า หมายถึง การบวงสรวงเทพยดา และบูชาฟ้า เพื่อให้เทพยดาบนฟ้าให้การคุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ให้อยู่ดีกินดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล  มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ ชาวพวนบางแห่งอาจถือเอาวันที่ฟ้าร้องเป็นครั้งแรกในเดือน 3 เป็นวันประกอบพิธีกรรม โดยชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้งจะถือการอย่างเคร่งครัด และจะหยุดทำงานทุกชนิดในวันกำฟ้า โดยเฉพาะการงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับโลหะ จะตีเหล็ก หรือใช้มีด พร้า จอบ เสียม ใด ๆ ไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เอ็นสื่อที่อาจทำให้เกิดฟ้าผ่าได้ ชาวพวนจะมีกิจกรรมร่วมกัน คือการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การละเล่นในตอนกลางคืนและการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

งานหัตถกรรมผ้าพื้นเมืองเป็นแหล่งรายได้ใหญ่อีกด้านหนึ่งของชุมชน บ้านทุ่งโฮ้งมีชื่อเสียงด้านการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแบบพื้นเมือง หรือ ผ้าหม้อห้อม ในอดีตการผลิตผ้าหม้อห้อมจะจัดทำเองทุกขั้นตอนนับตั้งแต่ปลูกฝ้ายเก็บฝ้ายมาปั่นกรอและทอให้เป็นแผ่นผืน จากนั้นก็นำผ้าไปตัดเป็นเสื้อหรือกางเกงก่อนจะนำไปย้อม รีดให้เรียบและออกจำหน่าย

งานหัตกรรมผ้าพื้นเมืองได้ก่อให้เกิดอาชีพที่เกี่ยวข้องกันหลายอย่างโดยเฉพาะอาชีพค้าขายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทั้งชุมชนมีร้านค้าประเภทนี้ 20 แห่ง ที่เหลือเป็นร้านขายของชำ ร้านขายข้าวสาร ร้านรับซื้อแบะขายพืชผลทางเกษตร ร้านขายเครื่องปั้นดินเผา ร้านขายอาหาร ฯลฯ เมื่อตลาดต้องการเสื้อผ้าหม้อห้อมมากขึ้นก็จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตตามไปด้วยโดยการแบ่งงานเฉพาะอย่างตามความชำนาญ จึงพบว่าขณะนี้มีการว่าจ้าง ตัด เย็บ ตกแต่ง ย้อมและรีดเสื้อและกางเกงแบบพื้นเมือง ผู้รับจ้างตัดและเย็บผ้ามักได้แก่ผู้หญิง ส่วนการย้อมและการรีดนั้นต้องใช้แรงงานมาก ส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำหน้าที่นั้น ขณะที่เด็กวัยรุ่นหรือคนแก่จะรับงานตัดแต่งเส้นด้ายที่หลงอยู่ตามตะเข็บเสื้อผ้า

 

ชาวบ้านยังคงใช้ภาษาพวนเป็นภาษาพูดกับหมู่พวกพ้อง เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนยวนก็ต้องเปลี่ยนมาพูดภาษายวนตามคนหมู่มาก หรือพูดภาษาไทยภาคกลางระหว่างที่ติดต่อสื่อสารกับผู้คนจากภาคอื่น 



การแต่งงานกับคนนอกที่ไม่ใช่ชาวพวนเพิ่มจำนวนขึ้น เหตุหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการไปศึกษาและทำงานต่างถิ่น การมีอาชีพหลากหลายมีผลให้ความสัมพันธ์ทางสังคมบางอย่างเปลี่ยนไปจากเดิมที่คนส่วนใหญ่ทำการเกษตรดำเนินไปในเวลาเดียวกันตามฤดูกาลที่ผันเปลี่ยน แต่ปัจจุบันมีทั้งอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือน ค้าขายรับจ้าง ฯลฯ แต่ละอาชีพก็มีขั้นตอนและขบวนการดำเนินงานตลอดจนข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เนื่องมาจากการอาชีพของผู้คนในปัจจุบันจึงผิดแปลกไปจากที่เคยเป็นมาในสมัยบรรพบุรุษ 


ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีการขุดเจาะบาดาลและสร้างเหมืองฝายกั้นลำห้วยสายต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยมได้ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเกษตรของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเกษตรกรสามารถนำน้ำจากแหล่งดังกล่าวมาใช้เพื่อการเกษตรได้หลากหลายยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการใช้ประโยชน์จากที่ดินซึ่งพบว่ามีทั้งส่วนที่เป็นนา (ส่วนใหญ่เป็นที่เนินดอนอยู่ใกล ๆ แหล่งน้ำ) และส่วนใหญ่ที่ใช้เพาะปลูกพืชไร่ (ที่เนินสูงตามเชิงเขา


ภายหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมามีมูลเหตุหลายอย่างที่ทำให้ทุ่งโฮ้งต้องออกมาติดต่อกับภายนอกมากขึ้น การพัฒนาต่าง ๆ จากรัฐบาล เช่น การพัฒนาด้านการศึกษาและการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถนนและไฟฟ้า เหล่านี้คือปัจจัยที่นำการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาสู่ทุ่งโฮ้ง การรับแบบแผนชีวิตบางอย่างจากภายนอกมาผสมกับสิ่งที่สืบทอดมาจากอดีตเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมวัฒนธรรมพื้นบ้านทุ่งโฮ้งอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านได้รับรู้ข่าวสารข้อมูลและความรู้สมมัยใหม่จากสถาบันการศึกษาและสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ  และได้นำความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับปรุงคุณภาพชีวิต


การเข้ามาอยู่ท่ามกลางคนยวนทำให้ชาวพวนต้องรับแบบอย่างทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไปถือปฏิบัติควบคู่ไปกับขนบธรรมเนียมเดิมของตน เห็นได้ชัดจากการจัดงานประเพณียี่เป็งที่วัดมุ่งโฮ้งเหนือและทุ่งโฮ้งใต้ตามอย่างของคนยวน การพบว่ามีลวดลายชื่อลายดอกเชียงแสนรวมอยู่ในผ้าคลุมศีรษะนาคซึ่งเป็นของคนยวน อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานต่าง ๆ เชิญชวนให้ข้าราชการทุกฝ่ายรวมทั้งครูและนักเรียนทุกโรงเรียนแต่งกายด้วยชุดผ้าหม้อห้อมทุกวันศุกร์เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดแพร่นั้นนับว่าเท่ากับการเขยิบฐานะทางวัฒนธรรมพวนที่ทุ่งโฮ้งให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนหมู่มาก

ในขณะเดียวกัน การไหลบ่าเข้ามาของความสมัยใหม่จากภายนอกส่งผลให้ระดับการพึงพาตนเองของท้องถิ่นน้อยลงไป การบริโภคอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตมาจากโรงงานหรืออาหารสดที่พ่อค้าแม่ค้าทำมาขายครั้งละมาก ๆ เริ่มเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำกันอย่างแพร่หลาย จะเห็นว่าเด็ก ๆ ดูคุ้นเคยกับอาหารสำเร็จรูปชนิดบรรจุกระป๋องหรือซองมากเพราะมีให้เลือกเยอะและน่าดึงดูดใจกว่าขนมพื้นบ้าน การรักษาพยาบาลแบบท้องถิ่นก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากกรณีของอาหารแบบพื้นมือง กล่าวคือนับวันจะหาหมอยากลางบ้านได้ยากยิ่งขึ้น พืชสมุนไพรหลายอย่างสูญหายไป บางอย่างอาจยังเหลืออยู่แต่คนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้วิธีใช้ ป่วยไข้ก็พึ่งยาจากร้านค้าหรือไปหาแพทย์ตามคลีนิคเป็นส่วนใหญ่ 

อีกทั้งในระยะหลังที่ภาคเกษตรกรรมเริ่มขาดแคลนแรงงาน การเข้ามาของเครื่องยนต์กลไกได้ช่วยปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่เกือบทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถทำให้พืชพันธุ์ได้ผลผลิตเร็วอย่างเช่นการติดตาและการทาบกิ่งพืชพันธุ์ผลไม้นานาชนิดก็เป็นสิ่งที่ควบคุมเกษตรกรให้ทำงานอย่างเร่งด่วน การทำนาปรัง การเร่งเร้าให้ไม้ผลออกลูกนอกฤดูกาลต่างเป็นตัวอย่างของการผลิตอย่างต่อเนื่องโดยที่ชาวนาชาวไร่อาจมีเวลาเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมน้อยลง


ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีการขุดเจาะบาดาลและสร้างเหมืองฝายกั้นลำห้วยสายต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยมได้ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเกษตรของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเกษตรกรสามารถนำน้ำจากแหล่งดังกล่าวมาใช้เพื่อการเกษตรได้หลากหลายยิ่งขึ้น 

การผลิตผ้าหม้อห้อมของทุ่งโฮ้งต้องเพิ่มจำนวนการผลิตมากกว่าอดีตหลายเท่าตัวเนื่องจากการฟื้นฟูประเพณีงานเลี้ยงแบบขันโตกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาและเหตุการณ์ภายหลัง 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคที่ขบวนการนักศึกษาประท้วงต่อต้านการกระทำของรัฐบาลและต้องการเครื่องนุ่งห่มที่เป็นเอกลักษณ์ของพรรคฝ่ายนักศึกษา

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยากรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 21 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=12

เพจ คลังข้อมูลชุมชนไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ . (2563). . ค้นจาก https://www.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร . (ม.ป.ป.). ปฏิทินชุมชน. ค้นจาก https://www.sac.or.th/exhibition/24communities/thunghong/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

อาจารย์ถนัด ยันต์ทอง . (2565). . ค้นจาก  https://www.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

chiangmainews . (2566). ประเพณีกำฟ้าไทยพวนตำบลทุ่งโฮ้ง ปีนี้จัดใหญ่ถึง 28 ม.ค.นี้. ค้นจาก https://www.chiangmainews.co.th/news/2861359/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

MOHHOM . (2558). ประวัติไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง. ค้นจาก http://mohhomphrae.blogspot.com/2015/05/blog-post.html [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

My City . (ม.ป.ป.). บ้านทุ่งโฮ้ง แพร่. ค้นจาก http://mycity.tataya.net/th/cbt_north_p_001.php [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

MUSEUM THAILAND . (ม.ป.ป.). บ้านทุ่งโฮ้ง. ค้นจาก https://www.museumthailand.com/th [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

MUSEUM THAILAND . (ม.ป.ป.). ผ้าหม้อห้อม. ค้นจาก https://www.museumthailand.com/th [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

NOPLINK . (ม.ป.ป.). รหัสไปรษณีย์ ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่. ค้นจาก https://www.noplink.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

วิสาหกิจชุมชนโทร. 08-6188-6622, เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง โทร. 0-5452-2458