มีถั่วลิสงเป็นพืชประจำตำบล และได้แปรรูปถั่วลิสงเป็นผลิตภัณฑ์ขนมถั่วตัดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
มีถั่วลิสงเป็นพืชประจำตำบล และได้แปรรูปถั่วลิสงเป็นผลิตภัณฑ์ขนมถั่วตัดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
บ้านสมสะอาดหรือบ้านปากท้าง แต่เดิมย้ายแบบยกหมู่บ้านมาจากบ้านดงบัง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านสมสะอาด ไปประมาณ 11½ กิโลเมตร ดังนั้นจึงขอกล่าวเริ่มจาก บ้านดงบังเป็นต้นมาแต่เดิมหมู่บ้านแถวนี้มีไม่มาก มีบ้านเหนือเก่า (ที่ตั้งวัดป่านาเหนือ), บ้านจุมจัง (เก่ากลาง), บ้านสามขา, บ้านบัวขาว, บ้าน บุ่งคล้า, บ้านหนองบัวทอง ส่วนบ้านดงบังตั้งประมาณก่อน พ.ศ. 2435 ที่ชื่อบ้านดงบังเพราะตั้งอยู่ท้ายดงบาก จึงเรียกว่า บ้านดงบัง กลุ่มผู้ตั้งมาจากบ้านคั่นใดใหญ่ จ.ยโสธร, บ้อนโพนทอง บ้านบัว อ.โพนทอง, บ้านขวาว บ้านหนองขุ่น อ.เสลภูมิ, บ้านโนนเมือง อ.กมลาไสย์
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2436 บ้านหนองบัวทองเกิดโรคภัยพิบัติ เสียชีวิตหลายคน บ้านแตกพวกที่มีนาอยู่ทางห้วยชันหนองสวง, คำไฮ, คำมืด, ทามยัง เหล่านี้ก็ย้ายออกมารวมกับ บ้านดงบัง และพวกที่ร้างจากบ้านนาเพียงก็มารวมกันอยู่บ้านดงบังเพราะบ้านนาเพียงตั้งอยู่หัวเนินตะวันออกหนองช้ายหนองท่ม เป็นพวกมาจากบ้านโนนเมืองมาตั้งบ้าน เมื่อร้างแล้วบางส่วนก็ไปอยู่บ้านหนองบัวทองบ้าง บ้านดงบังบ้าง หรือบางส่วนก็หนีไปอยู่ที่อื่น กลับบ้านโนนเมืองก็มี (อ.กมลาไสย) เหตุที่ย้ายเพราะโจรลักวัวควายไปมาระหว่างบ้านจุมจังกับสามขา บ้านนาเพียงร้างเมื่อ พ.ศ. 2429-2430 เมื่อบ้านดงบังอยู่มาถึง พ.ศ. 2442 ก็เกิดไฟไหม้หมดทั้งหมู่บ้าน คงเหลือบ้านของนางพุ่ม ไชยจักร (บุตตะ) 1 หลัง กับศาลาวัด 11 หลังเท่านั้น เหตุที่ไฟไหม้เพราะบ้านคนทั้งหมดมีเพียง 31 หลังคา จึงสู้ป่าไม่ได้ รอบ ๆ ก็เป็นป่าเลา, ป่าแขมจนถึงใกล้ชายคาเรือน หลังคาก็มุงด้วยหญ้าคา หญ้าแฝกแป้นน้อย (ไม้เกล็ด) หน้าแลงคนก็เผาทำไร่ ไฟก็ลุกลามเข้าหมู่บ้าน จึงไม่มีทางดับไฟได้เลย เมื่อไฟไหม้แล้วก็พากันสร้างเรือนอยู่อาศัยก่อน ถึงเดือน 3 ปี พ.ศ. 2443 ลงจี่ข้าวเอาบุญข้าวจี่ที่วัดจึงปรึกษากันย้ายมาตั้งที่ตั้งบ้านสมสะอาดปัจจุบัน
ชื่อบ้านส่วนมากเรียกชื่อปากท้าง แต่ทางบ้านบัวขาวมักเรียกว่า บ้านน้อยโนนดู่ คำว่าปากท้าง หรือท้าง เป็นชื่อของทางน้ำไหลมาบรรจบกัน หรือที่น้ำไหลต่างระดับกันแต่เดิม ตรงบริเวณร่องน้ำ ห้วยชันกับร่องน้ำหนองสวงมาบรรจบกัน เป็นวังลึกเรียกตรงนั้นว่า "ปากท้าง" เมื่อมาตั้งบ้านใกล้ปากท้างจึงเรียก บ้านปากท้าง ส่วนชื่อสมสะอาดนั้นพึ่งตั้งเป็นทางการเมื่อ หมื่นเพียรสงวนเดช ผู้ใหญ่บ้าน และอำเภอย้ายจากเมืองกุดสิมมาอยู่บ้านบัวขาว เปลี่ยนจากเมืองมาเป็นอำเภอ หมื่นเพียรสงวนเดช จึงเปลี่ยนชื่อบ้านปากท้างเป็นบ้านสมสะอาดในสมัยนั้นเอง (ประมาณ พ.ศ. 2460-2470)
การตั้งบ้าน ย้ายมาจากบ้านดงบัง 30 ครัวเรือน พร้อมทั้งวัดด้วย คงเหลืออยู่บ้านดงบัง 1 ครัวเรือนคือ จาย์ครูพรมไชยจักร (ไชยศรี) ต่อมาย้ายเข้าไปอยู่บ้านหนองบัวทอง เมื่อแบ่งที่ดินกันแล้วก็ตั้งวัดสุดบ้านด้านตะวันออก ด้วยถือคติโบราณว่า "ตั้งวัดข่มหัวบ้าน" จะได้อยู่เย็นเป็นสุข ส่วนหมู่บ้านก็ตั้งขยายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ไปถึงระหว่างถนนตัดสายที่ 2 กับสายที่ 3 ในปัจจุบัน โดยนับจากถนนสายหน้าวัดเป็นสายที่ 1 เป็นต้นไป แล้วปลูกไม้ไผ่ล้อมบ้านเพื่อกันโจร ขโมย, เสือ, ลม และทำเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตต่าง ๆ การขยายหมู่บ้านออกไปด้านบ้านน้อยหัวนาคำ ครั้งแรกมีนา : ช่วง วรแสง ออกไปอยู่ก่อนแล้วย้ายกลับเข้ามาบ้านใหญ่อีก ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2495 นายเป กุลไสย์ ออกไปอยู่ครัวเดียว ประมาณ พ.ศ. 2497 ได้มีคณะแม่ต่วน ผิวอุบลและคณะลูก แม่สวน ทัศบุตร (แวงเลิศ) และลูก ๆ พ่อมุน ชมระกา พ่อสวาสดี และลูก ๆ ออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ และพ่อช่วง วรแสกลับออกไปอีกประมาณ พ.ศ. 2499 ได้ตั้งวัดเหนือขึ้น จึงมีคนออกไปอยู่มากขึ้น ทางฝั่งตะวันตกถนนตรงข้ามวัดเหนือก็มีดาบตำรวจบุญชม คูเมือง นายหนาย พัฒมี ออกไปอยู่ก่อน จึงมีออกไปอยู่มากขึ้น พ.ศ. 2540 มีโรงน้ำตาลมิตรผลตั้งขึ้น คนจากที่อื่นก็มาอยู่มากขึ้น ดังที่เห็นในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2543 นี้ประมาณ 400 ครัวเรือน ทั้งนี้ไม่นับกลุ่มที่ทำงานโรงงานน้ำตาล ที่พักชั่วคราว
บ้านสมสะอาดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลสมสะอาด อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดประมาณ 69 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอกุฉินารายณ์ ประมาณ 14 กิโลเมตร
สภาพแวดล้อมบ้านสมสะอาด ตำบลสมะอาด อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะพื้นที่ราบ ติดกับแม่น้ำยังและมีหนองน้ำสาธารณะรอบหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสายสำคัญของชาวตำบลสมสะอาด ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนบ้านจุมจังเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก
สถานที่สำคัญ
- วัดสมสะอาดเหนือ: วัดสมสะอาดเหนือ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลสมสะอาด อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งวัดเมื่อ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2548 รับวิสุงคามสีมา เมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552
- วัดสมสะอาดใต้ : วัดสมสะอาดใต้ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลสมสะอาด อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
- วัดป่าพุทธภาวัน : วัดป่าพุทธภาวันตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ตำบลสมสะอาด อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ประชากรในหมู่บ้านสมสะอาดส่วนใหญ่อยู่กันแบบเครือญาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างญาติพี่น้อง
ประชากรในชุมชนบ้านสมสะอาดมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยมีอาชีพหลักคือการทำนา คือ นาปีและนาปรัง ตามแต่ความต้องการของแต่ละครัวเรือน ผลผลิตข้าวที่ได้จากการทำนาจะเก็บใส่ยุ้งฉางไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี ข้าวที่นิยมปลูกมากที่สุด ได้แก่ ข้าวเหนียว และข้าวจ้าว ส่วนอาชีพเสริมของบ้านสมสะอาดคือ การทำไร่ในฤดูกาลที่ว่างเว้นจากการทำนา พืชไร่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และถั่วลิสง นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว กระบือ เป็ด ไก่ และสุกร เพื่อจำหน่ายและบริโภค โดยเลี้ยงไว้ในพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและพื้นที่ไร่นา
อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริมอีกอาชีพหนึ่ง โดยใช้ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรมารับจ้าง ในขณะเดียวกันชาวบ้านบางคนก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพหลักเนื่องจากไม่มีที่นาและพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม
และยังมีอาชีพค้าขายก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพยอดนิยมของชุมชนบ้านสมสะอาด โดยเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน สินค้าที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรจำพวกพืชผักสวนครัว เนื้อสัตว์ เช่น พริก มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วฝักยาว เป็ด ไก่ สุกร และของป่า เป็นต้น บ้างเปิดร้านขายของชำ และยังมีกลุ่มจักสานตะกร้าจากเส้นพลาสติก กลุ่มจักสานตะกร้าจากไม้ไผ่ กลุ่มแม่บ้านทำขนมถั่วตัด
ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านสมสะอาดประกอบอาชีพเกษตรกรทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ เป็นหลัก ฉะนั้น วิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านสมสะอาดงจึงดำเนินไปกับการดูแลพืชผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ มีคติความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานนับถือพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทุกปีบ้านสมสะอาดจะมีการประกอบประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญตามหลักพุทธศาสนา รวมถึงประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชนผ่านการแสดงออกในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนอันอยู่บนฐานความเชื่อ และความศรัทธาของคนในชุมชนต่ออำนาจหรือสิ่งอื่นใดที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต
ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ชาวบ้านบ้านสมสะอาดมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักคอยยึดเหนี่ยวจิตใจ มีการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา การประกอบประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้นับเป็นวาระโอกาสอันดีที่ทำให้สมาชิกในชุมชนได้มาร่วมชุมนุมกัน ประเพณีสิบสองเดือนหรือ ฮีตสิบสองของชาวบ้านสมสะอาด มีดังนี้
- เดือนอ้าย บุญทำบุญขึ้นปีใหม่ : เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงปีใหม่ ชาวบ้านสมสะอาดวิมักจะมาทำบุญ ตักบาตรที่วัดใกล้บ้าน เพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ตั้งแต่ต้นปี และเป็นการเปิดรับความเป็นสิริมงคลเข้ามาสู่ตัวเองและครอบครัว เพื่อให้ชีวิต หน้าที่การงาน การเงินในปีนี้ มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
- เดือนสาม บุญข้าวจี่ : ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวและอุปกรณ์การทำข้าวจี่มารวมกันที่วัดเพื่อทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์
- เดือนสี่ บุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) : เป็นบุญใหญ่ประจำปีของชาวบ้านหนองบัวทอง โดยชาวบ้านจะร่วมกันกันหาปัจจัยเพื่อถวายอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับ ห่อข้าวต้มมัด และฟังเทศน์มหาชาติร่วมกัน
- เดือนห้า บุญสงกรานต์ : ประเพณีที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน บุญสงกรานต์นี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบุญรวมญาติก็ได้ เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องได้กลับมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในรอบปี
- เดือนหก บุญบั้งไฟ : บุญบั้งไฟจะไม่มีการกำหนดวันแน่นอน แต่จะทำการกำหนดวันขึ้นใหม่ในปีที่จะจัดงาน แล้วประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้โดยทั่วกัน ในการเข้าร่วมงานบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวผู้ไท นับเป็นงานประเพณีที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี
- เดือนแปด เข้าพรรษา : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ และเวียนเทียนรอบศาลาวัด
- เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน : คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ภูตผีไร้ญาติ โดยการนำอาหารใส่กระทงวางไว้ตามโคนไม้หรือชายคาบ้าน เพื่อไม่ให้ภูตผีไร้ญาติมาทำร้ายบุตรหลาน
- เดือนสิบ บุญข้าวสาก : บุญข้าวสากหรือกระยาสารท เป็นประเพณีการทำบุญที่จะมีการเขียนสลากแจ้งของสำรับอาหารและเครื่องไทยทานไว้ในถาดอาหาร พระภิกษุรูปใดจับได้สลากสำรับใด ก็รับปัจจัยเครื่องไทยทานของเจ้าภาพผู้นั้น
- เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา : ถูกจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะไปรวมกันที่อุโบสถเพื่อแสดงอาบัติต่อกัน จากนั้นจะทําวัตรและทําปวารณาแทนการสวดปาฏิโมกข์ ส่วนชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารไปทําบุญตักบาตรที่วัดในตอนรุ่งเข้า และถวายผ้าจํานําพรรษาแด่ภิกษุสามเณร ตอนค่ำมีการเวียนเทียน
- เดือนสิบสอง บุญกฐิน : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังออกพรรษาภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยการตั้งองค์กฐินไปทอดถวายที่วัด พร้อมสิ่งของปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์เทศน์ฉลองกฐิน 1 กัณฑ์ พร้อมให้ศีลให้พร
1.นายประสิทธิ อุดมดี : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน
2.นายสุมิตร กุลอาจศรี : นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสมสะอาด (ผู้นำชุมชน)
3.นางวิภารัตน์ การีรัตน์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสานตะกร้าจากเส้นพลาสติก, ด้านการทอเสื่อกก
- การปลูกถั่วลิสง อ้อย มันสำปะหลัง ปลูกข้าว
- การจักสานจากเส้นพลาสติก
- การทำขนมถั่วตัด
- การทอเสื่อกก
- การจักสานไม้กวาดทางมะพร้าว
ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทย (ภาษาราชการ)
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนเกิดความแปรปรวน ผู้คนในชุมชนขาดรายได้ ขาดโอกาสทางสังคม แต่ชุมชนก็ได้ฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตนั้นไปได้ ทำให้ชุมชนบ้านสมสะอาดได้มีโอกาสทางสังคมอีกครั้ง มีจุดยืนทางสังคมที่มั่นคงมากกว่าเดิม และยังเป็นการส่งเสริมสินค้าทางชุมชนสู่สังคมเมือง เพื่อให้เกิดรายได้และชุมชนเจริญเติบโตอีกครั้ง
พระครูรัตนธรรมวิมล, เรียบเรียง. (ม.ป.ป.). หนังสือประวัติบ้านสมสะอาด.
องค์การบริหารส่วนตำบลสมสะอาด. (2567). ข้อมูลทั่วไปในตำบลสมสะอาด, http://www.somsaaad.go.th/mainpage
นายปริญญา การีรัตน์, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านสมสะอาด หมู่ที่ 7, สัมภาษณ์, 30 มีนาคม 2567