Advance search

ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ชุมชนไทยพวน มีประเพณีท้องถิ่น รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียม

โคกกระเทียม
เมืองลพบุรี
ลพบุรี
อบต.โคกกะเทียม โทร. 0-4406-0205
ธัญชนก ชูเกลี้ยง
12 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2024
บ้านโคกกะเทียม

“กะเทียม” เป็นภาษาพวน หมายถึง ต้นพลับพลึง “โคกกะเทียม” เป็นชื่อหมู่บ้านที่ชาวพวนตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่มากในพื้นที่ (ปัจจุบันคือตลาดหลังสถานีรถไฟโคกกะเทียม)


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ชุมชนไทยพวน มีประเพณีท้องถิ่น รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียม

โคกกระเทียม
เมืองลพบุรี
ลพบุรี
15160
14.904438
100.591843
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกะเทียม

"กะเทียม" เป็นภาษาพวน หมายถึง ต้นพลับพลึง “โคกกะเทียม” เป็นชื่อหมู่บ้านที่ชาวพวนตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่มากในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันก็คือ ตลาดหลังสถานีรถไฟโคกกะเทียม เมื่อครั้งอพยพจากเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาตั้งรกราก ณ บ้านโคกกะเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวไทยพวน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและจำนวนมาก ได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งไทยยกกองทัพไปปราบฮ่อ โดยนอกจากโคกกะเทียมแล้ว ในลพบุรียังมีกลุ่มคนพวนที่บ้านถนนใหญ่ บ้านทราย บ้านเชียงงา เป็นต้น คนเฒ่าคนแก่ในโคกกะเทียมเล่าต่อกันว่า คนพวนส่วนหนึ่งอพยพกันมาจากลำน้ำยมและลำน้ำน่านสู่ลำน้ำเจ้าพระยา พอถึงบริเวณ "อ่าวแสงแดด" ในตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีในปัจจุบัน กระแสน้ำแรงทำให้แพปะทะกับตลิ่ง จนแพแตก ชาวพวนจึงอพยพขึ้นมาก่อนบริเวณดังกล่าว ส่วนหนึ่งลงหลักปักฐานที่บางน้ำเชี่ยว อีกส่วนหนึ่งออกเดินทางต่อมุ่งหน้าทิศเหนือ แถบเขาวงพระจันทร์ ซึ่งมีภูมิประเทศใกล้เคียงกับเมืองเชียงขวางที่จากมา โดยเดินมุ่งมาทางทิศตะวันออกของภูเขาและตั้งหมู่บ้านโคกกะเทียม ณ ที่ปัจจุบัน 

ตำบลโคกกระเทียม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเขาพระงาม,ตำบลท่าแค อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี

สภาพภูมิประเทศ

โดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นที่ราบเรียบ โดยพื้นที่มีความลาดเทเล็กน้อยจากเหนือไปใต้ มีระบบคูคลองส่งน้ำชลประทานของโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาช่องแคและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมครอบคลุมทั่วทั้งตำบล ความสูงของพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 10-11 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลาง

สภาพภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศของบ้านโคกกะเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จัดอยู่ใน ภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง (tropical wet and dry climate) ตามการจำแนกภูมิอากาศตามแบบ ของ KOPPEN (KOPPEN's classification) ในเขตนี้จะมีฤดูฝนและฤดูแล้งแตกต่างกันอย่างชัดเจน สามารถแบ่งได้ 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูฝนเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน โดยฤดูนี้จะเริ่มมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมชื้นพัดปกคลุม ทำให้ฝนตกแพร่กระจายตามร่องมรสุมประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านทางทิศตะวันออกทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุก โดยเฉพาะในเดือนกันยายนอากาศจะชุ่มชื้น ส่วนฤดูหนาวเริ่มประมาณเดือนตุลาคมถึงมกราคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศจะหนาวเย็นสลับกับอากาศร้อน

มีชาวไทยพวนที่ตั้งถิ่นฐานใน 3 หมู่บ้าน ในตำบลโคกกะเทียม จากทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 บางส่วนที่เป็นชาวไทยพวน ซึ่งยังคงปฏิบัติประเพณีสำคัญของพวนอย่างเหนียวแน่น

ไทยพวน

กลุ่มส่งเสริมอาชีพแม่บ้านโคกกะเทียม เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น โดยชาวบ้านในตำบลโคกกะเทียม มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้า ตะกร้าเชือกฟาง ตะกร้าเส้นพลาสติก ซึ่งส่งผลให้มีการมารวมตัวกันเป็นกลุ่ม สร้างความรัก ความสามัคคี จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ในการผลิตและจำหน่วย รวมทั้งวิทยากรมาฝึกสอนเพื่อเพิ่มทักษะให้กับสมาชิกในกลุ่มสตรี ถ้าทุกคนมีรายได้ก็จะนำเงินมาหมุนเวียนต่อยอดในหมู่บ้านและชุมชนของตนเอง เป็นแบบอย่างในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดอาชีพเสริมในชุมชน อีกทั้งยังได้ความรู้ในงานฝีมือจนสามารถนำไปเผยแพร่ต่อคนในชุมชนตนเองและชุมชนใกล้เคียง ทำให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยการสานตะกร้าพลาสติกขายมีหลายรูปแบบทั้งตะกร้าพลาสติก กระเป๋าพลาสติกลวดลายหลากหลายดีไซน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ สวยงาม และทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ที่สำคัญราคาไม่แพงด้วยสามารถสร้างรายได้ไห้กับครอบครัวอีกด้วย

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวไทยพวนที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ชาวพวนมีอาชีพทางด้าน การเกษตร การทำนาในสมัยก่อน ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนามีความเกรงกลัวฟ้า นับถือฟ้าฝนตามธรรมชาติ สำนึกในบุญคุณ ของฟ้าที่ให้น้ำฝน เกิดความอุดมสมบูรณ์จึงเกิดประเพณีกำฟ้า คือวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ในวันกำฟ้าทุกคนจะหยุด ทำงาน เข้าวัดทำบุญถวายข้าวจี่ ข้าวหลามทำพิธีสู่ขวัญข้าว มีการละเล่นพื้นบ้านตอนค่ำ นำอาหารมาแบ่งปันร่วมกันกินพาข้าวแลง และมีการแสดงรื่นเริง เช่น หมอลำพวน เป็นต้น

การสู่ขวัญแบบพวน การเรียกขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่รับการสู่ขวัญ หมอสู่ขวัญ คือ ปราชญ์ผู้รู้ที่จดจํา คำกลอนสู่ขวัญจากโบราณกาล เพื่อสู่ขวัญให้กับบุคคลทั่วไปมี การสู่ขวัญหลายลักษณะ เช่น สู่ขวัญนาค สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญเด็กเกิดใหม่ สู่ขวัญข้าว เป็นต้น เครื่องสู่ขวัญจะมีพานบายศรี แยกตามลักษณะการสู่ขวัญ ส่วนมากจะเป็นบายศรีปากชาม มีด้ายผูกข้อมือ เหล้าขาว และที่ขาดไม่ได้คือ เงินฮ้อย เงินฮาง ซึ่งถือว่าเป็นของมีค่าจะทำให้มั่งมีศรีสุข

หมอลำพวน เป็นศิลปะวรรณคดีพื้นบ้านที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ของชาวพวนแต่บรรพกาล เป็นการขับร้องที่มีแคนเป็นดนตรี ประกอบตามท่วงทำนองและลีลาทางภาษาพวน มีท่วงทำนอง เพลงคร่ำครวญ ออดอ้อน นุ่มนวล และอ่อนหวาน ร้องโต้ตอบ ระหว่างชาย-หญิง การลำจะเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งคนลำและ เสียงแคน คนลำไม่แสดงท่าทางประกอบเพราะทำนองพวน ไม่กระชับหรือเร่งเร้าเหมือนหมอลำอีสาน

การละเล่นพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านชาวไทยพวนโคกกะเทียม มักเล่นในวันสำคัญของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริง เช่นใน วันสงกรานต์ ประเพณีกำฟ้า ได้แก่ การเล่นมอญซ่อนผ้า งูกินหาง ชักเย่อ การเล่นเตย การเล่นที่จับ วิ่ง กระสอบ กาฟักไข่ เป็นต้น

บุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือ มีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือ เอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีต้มปากเล้าเล็กน้อย 

วิถีทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คิดเป็น ร้อยละ 61.60 ของครัวเรือนทั้งหมด โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 30.00 ไร่ต่อครัวเรือนและมีแรงงานภาคเกษตรเฉลี่ย 3 คนต่อครัวเรือน อาชีพรองลงมาเป็นการค้าขาย รับจ้าง รับราชการ และอื่น ๆ การถือครองที่ดิน ส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและบางส่วนเช่าที่ดินทำกินเพิ่ม โดยมีเอกสิทธิ์ที่ดินเป็นโฉนด นส.3ก

1.อาจารย์ทัศนัย เกิดผล ข้าราชการครูเกษียณ ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีที่มาของการทำพิพิธภัณฑ์ว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากการได้พบปะพูดคุยกับคนพวนในลพบุรี โดยเฉพาะที่บ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ ที่นั่นเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ของคนพวนแล้วก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น

2.คุณยายบัวชุม ไกรแก้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นหมอลำพวนคนสุดท้ายของบ้านโคกกะเทียม โดยคู่ชีวิตคุณยายบัวชุม ยังเป็นหมอแคนที่แสดงคู่กันมาโดยตลอด ปัจจุบันท่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพทำให้ไม่ได้เป่าแคนเหมือนแต่ก่อน จำต้องอาศัยหมอแคนคนนอกเข้ามาช่วยเป่า

ทุนวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนบ้านโคกกะเทียม

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนบ้านโคกกะเทียม เป็น 1 ใน 50 แห่งที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชนและบุคคลทั่วไปในชุมชนได้ศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในภายวัดโคกกะเทียม จากซุ้มประตูวัด จะพบอาคารชั้นเดียวที่มีการยกสูงจากพื้นมีบันไดขึ้นอยู่หน้าอาคาร และเป็นที่นั่งอยู่ด้านข้างก่อนจะเข้าสู่อาคาร พื้นที่จัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ บริเวณกลางอาคารเป็นบริเวณจัดแสดงป้ายนิทรรศการสามารถเคลื่อนที่ได้ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวไทยพวน ชาวไทยพวนโคกกะเทียม สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งยึดหน่วยจิตใจของชาวบ้าน ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อสมศรีที่สร้างแบบศาลเจ้าจีน ภาษา และประเพณีสำคัญ เช่น กำฟ้า สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญแต่งงาน และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติแล้ว

อาหาร

อาหารที่ชาวไทยพวนนิยม คือ ปลาร้า เดิมทำนาปีละครั้ง นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักฝักแฟงตามคันนาหรือที่เรียกว่า "โคนนา" เป็นพืชธรรมชาตินิยมทานขนมจีนและข้าวหลามในงานบุญ ส่วนอาหารอื่นๆ จะประกอบขึ้นจากวัตถุดิบในท้องถิ่น

การแต่งกาย

ผู้หญิงชาวไทยพวน ใส่เสื้ออยู่กับบ้านเป็นเสื้อจีบรอบอกแบบคอกระเช้า เวลาไปวัดจะห่มสไบเฉียง หญิงสาวที่ไม่แต่งงานจะนุ่งผ้าซิ่นทอมัดหมี่มีชายต่อตีนซิ่น ถ้าแต่งงานแล้ว จะนุ่งซิ่นไม่มีชายซิ่น มีเสื้อคอกลมแขนกระบอกใส่เป็นเสื้อนอกเวลาไปงานทำบุญและงานพิธี ผู้ชายชาวไทยพวน จะนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อม่อห้อม ผ้าขาวม้าเคียนเอว สมัยโบราณนุ่งผ้าโจงกระเบน ถ้าไปงานพิธีหรืองานมงคลจะใส่เสื้อสีขาว เวลาไปทำไร่ทำนาจะนุ่งชุดสีดำหรือสีน้ำตาล ที่ย้อมด้วยลูกมะเกลือ

ชาวไทยพวนจะพูดภาษาไทยพวนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองคล้ายภาษาลาวและภาษาไทย แต่สำเนียงและความหมายบางคำ จะมีความแตกต่าง เช่น เสียงสระ ไอ,ใอ ในภาษาไทยจะออกเสียงเป็น สระเออ ในภาษาพวน เช่น หัวใจ-หัวเจอ, ไปไหน-ไปกะเจอ


ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ และสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้วิถีชีวิตของชาวพวนเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง เช่น ภาษาพูด หรือประเพณีพื้นบ้านบางอย่างก็มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เช่น แต่เดิมประเพณีใส่กระจาด ประเพณีเทศน์มหาชาติ จะจัดทุกปี และมีการทำอาหารเลี้ยง และใส่กระจาดกันทุกบ้าน ปัจจุบันจะไปใส่กระจาดกันที่วัด หากปีใดเศรษฐกิจไม่ดีก็งดใส่กระจาด เป็นต้น และนิยมทำบุญด้วยเงินมากกว่าสิ่งของตามความนิยมของสังคมปัจจุบัน


ด้านความท้าทายของชุมชน มีความพยายามในการพัฒนามัคคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ และเป็นโอกาสให้นักเรียนสามารถหารายได้ นอกเหนือจากกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ยังมีอาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์มาร่วมพัฒนาชุดการแสดงให้เป็นเอกลักษณ์ เช่น รำฟ้อนพวน และความพยายามในการฟื้นฟู "หมอลำพวน" ซึ่งเป็นการขับร้องประกอบแคนตามท่วงทำนองและลีลาในภาษาพวน แต่คงมีเฉพาะสมาชิกผู้อาวุโสเท่านั้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะมีโอกาสแสดงนาฏศิลป์เหล่านี้ในงานของจังหวัด เช่น งานวังนารายณ์ เป็นต้น

มีการลงพื้นที่ประสานงานชี้แจงแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนชุมชนคุณธรรมเพื่อสร้างรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ชุมชนอยู่ดีมีสุขในโครงการสืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน "บวร On Tour" โดยเสนอแนวทางการจัดตกแต่งภูมิทัศน์ชุมชนคุณธรรมให้สะอาด สวยงาม จัดทำป้าย "บวร on tour" และทำแผนที่เส้นทางท่องเที่ยว ณ ชุมชนคุณธรรมวัดโคกกะเทียม ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). ลงพื้นที่ชุมชนคุณธรรมวัดโคกกะเทียม ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www2.m-culture.go.th/

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2553). เขตการใช้ที่ดิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://r01.ldd.go.th/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://db.sac.or.th/museum/

สยามรัฐ. (2563). อบต.โคกกะเทียม ส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรีประดิษฐ์ตะกร้าหวายพลาสติก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://siamrath.co.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกะเทียม. (ม.ป.ป). สภาพสังคม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.khokkathiam.go.th/

อบต.โคกกะเทียม โทร. 0-4406-0205