ชุมชนบ้านกาด เป็นชุมชนชนบท ที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติและชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนจะเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่เกิด ปรากฏวัฒนธรรมประเพณีที่ทำกันตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้วถ่ายทอดกันมาสู่รุ่นต่อรุ่น ได้แก่ งานทำบุญทานข้าวใหม่ งานประเพณีปี๋ใหม่เมือง (วันสงกรานต์) งานทำบุญสรงน้ำพระธาตุ งานไหว้ศาลเจ้าบ้าน งานทำบุญถวายทานสลากภัต และงานทอดกฐินสามัคคี
เนื่องจากมีกลุ่มพ่อค้าได้เดินทางมาในหมู่บ้านโดยนำสินค้ามาจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านและชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น ๆ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างกลุ่มพ่อค้าและกลุ่มของชาวบ้าน ซึ่งสถานที่ที่มีการนำสินค้ามาขายเรียกว่า "กาด" (ทางภาคเหนือ เรียกว่า กาด ส่วนทางภาคกลางเรียกว่า ตลาด ซึ่งมาความหมายอย่างเดียวกัน) ทำให้หมู่บ้านนี้ถูกเรียกกันว่า บ้านกาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชุมชนบ้านกาด เป็นชุมชนชนบท ที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติและชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนจะเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่เกิด ปรากฏวัฒนธรรมประเพณีที่ทำกันตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้วถ่ายทอดกันมาสู่รุ่นต่อรุ่น ได้แก่ งานทำบุญทานข้าวใหม่ งานประเพณีปี๋ใหม่เมือง (วันสงกรานต์) งานทำบุญสรงน้ำพระธาตุ งานไหว้ศาลเจ้าบ้าน งานทำบุญถวายทานสลากภัต และงานทอดกฐินสามัคคี
หมู่บ้านแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ แต่จากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เล่าว่าหมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับ วัดเดชดำรงค์ เดิมชื่อ วัดโบสถ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในตำบลขุนคง ได้สร้างมาร่วม 300 ปี ประมาณปี พ.ศ. 2304 และจากการบอกเล่าของชาวบ้านได้เล่าว่าในสมัยก่อนนั้นบ้านเมืองยังไม่เจริญเหมือนปัจจุบัน ยานพาหนะต่าง ๆ ไม่มี การเดินทางสัญจรไม่สะดวก ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางโดยทางเรือ แต่เดิมพื้นที่บริเวณหมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งอยู่ติดกับหมู่บ้านท่าขุนคง และหมู่บ้านท่าขุนคงนี้เป็นหมู่บ้านที่มีติดกับแม่น้ำปิง ผู้คนส่วนใหญ่ที่สัญจรทางเรือก็จะใช้บริเวณหมู่บ้านท่าขุนคงเป็นท่าเรือ และท่าเรือแห่งนี้ได้มีชื่อว่า ท่าขุนคง อีกทั้งสมัยนั้นมีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นพ่อค้าหรือมาจากบ้านเมืองไหน ได้เดินทางมาค้าขายโดยอาศัยเรือแพล่องมาตามแม่น้ำปิง มาขึ้นที่ท่าน้ำบ้านท่าขุนคงแห่งนี้ ได้เดินทางมาในหมู่บ้านโดยนำสินค้าเหล่านั้นมาจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านและชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น ๆ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้เป็นหมู่บ้านที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบ ๆ และประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ จึงได้นำสินค้ามาขายและการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างกลุ่มพ่อค้าและกลุ่มของชาวบ้านเอง ซึ่งสถานที่ที่มีการนำสินค้ามาขายประชาชนเรียกว่า กาด (ทางภาคเหนือ เรียกว่า กาด ส่วนทางภาคกลางเรียกว่า ตลาด ซึ่งมาความหมายอย่างเดียวกัน) ทำให้หมู่บ้านนี้ถูก เรียกกันว่า บ้านกาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีผู้คนสัญจรมาทำการค้าขาย แต่ประชาชนในหมู่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ในปี 2500 ประชาชนในหมู่บ้านประสบปัญหาภัยแล้ง ภาวะขาดแคลนน้ำผลผลิตไม่ดีชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เดินทางออกไปรับจ้างทั่วไปในตัวเมือง และต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ มีการระบาดของโรคมาลาเรีย ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีการเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้นประชาชนยังไม่เข้าถึงบริการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่มีสถานพยาบาล และไม่มีผู้นำชุมชนที่จะนำพาประชาชนในชุมชนผ่านปัญหาต่าง ๆ ได้ จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อมีหน่วยงานราชการเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองของชุมชน โดยการกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้น ทำให้ผู้นำจากเดิมเป็นผู้นำทางธรรมชาติ กลายมาเป็นผู้นำแบบเป็นทางการตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ในการเลือกตั้งครั้งนั้นผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายใจมา ไม่ทราบนามสกุล ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ และได้ปกครองแบบประชาธิปไตย ชาวบ้านมีความรักใคร่สามัคคีกันดี ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น
ในปี พ.ศ. 2512 เมื่อครบวาระก็มีการเปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านตามลำดับ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ได้แก่ นายดวงต๋า แดงงาม ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ในปี พ.ศ. 2516 มีการเปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านเนื่องจากครบวาระการเลือกตั้งใหม่ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ได้แก่ นายจันทร์ บัวหลวง ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านมีความร่วมมือร่วมใจรักใคร่กันดุจพี่น้อง ให้ความช่วยเหลือกันดี ในปี 2533 นายแสวง แดงคำดี ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านดูแลปกครองส่วนท้องถิ่นในบ้านกาด ดูแลลูกบ้านในบ้านกาด (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กำนันตำบลขุนคง)
นอกจากนี้หมู่บ้านกาดยังมีวัดเดชดำรงค์ ซึ่งเป็นวัดที่เกิดขึ้นมาควบคู่กับหมู่บ้านซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งหมู่บ้าน ในปี 2536 ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับพระบรมสารีริกธาตุของวัดเดชดำรงค์ที่ชาวบ้านกาดได้กราบไหว้นี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2536 ซึ่งตรงกับวันที่ 4 เหนือแรม 5 ค่ำ ได้มีคณะศรัทธาของวัดเดชดำรงค์ จำนวน 3 ท่าน คือ นายปัน คำยวง นายยิ่ง บุญมา และนายอ้าย ชมภูศรี ได้ชวนกันออกไปทุ่งนาเพื่อดูแลไร่ถั่วเหลือง ที่ปลูกไว้ตามปกติเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา แต่สำหรับครั้งนี้สามคนดูไร่ถั่ว แล้วก็ชวนกันไปดูวัดร้างแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ นั้น วัดร้างแห่งนี้ชาวบ้านเรียกขานกันว่า วัดกู่แดง เป็นวัดร้างมานานไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยปี มีแต่ซากอิฐโบราณเก่า ๆ กองเรี่ยราดทั่วไป จะด้วยสาเหตุใดไม่ทราบหรือมีสิ่งมาดลบันดาลใจให้บุคคลทั้งสามนั้น ช่วยกันขุดดินบริเวณวัดร้างแห่งนั้น เมื่อขุดไปได้ไม่นานนัก นายคำปัน คำยวง ก็ขุดไปพบวัตถุสิ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร จึงหยิบขึ้นมาดูพร้อมกับเขย่า และได้บอกกับคนทั้งสองให้ช่วยกันดู เมื่อทั้งสามเปิดดู พ่ออ้าย ชมพูศรี ซึ่งมีอายุมากกว่า จึงบอกว่าสิ่งนี้ที่เห็น คือ พระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นก็ช่วยกันเก็บเอามาชำระล้างน้ำจนสะอาดและได้นับดูพระธาตุซึ่งบรรจุอยู่ในโกฏินั้น นับได้จำนวน 364 องค์ จากนั้นจึงได้นำพระธาตุกลับบ้าน โดยให้พ่ออ้าย ชมภูศรี เป็นผู้รักษาไว้ก่อนพอรุ่งขึ้นบุคคลทั้งสามจึงได้ไปปรึกษาหารือขอความคิดเห็นจากท่านเจ้าคณะตำบล ขุนคง-สบแม่ข่า คือ ท่านพระครูชัยสารพิศิษฏ์ วัดไชยสถาน เมื่อท่านได้ทราบรายละเอียดจากบุคคลทั้งสามแล้ว ท่านก็แนะนำว่า ให้เก็บพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่บ้านก่อนเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว สัก 7-9 วัน โดยให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทั้งสามบ้านเมื่อครบกำหนดแล้วจึงค่อยนำกลับไปบูชาสักการะ และประดิษฐานไว้ที่วัดเดชดำรง จนเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2536 ตรงกับเดือน 4 เหนือแรม 15 ค่ำ ทางท่านเจ้าอาวาสวัดเดชดำรง ก็ได้ให้บุคคลทั้งสามนำพระบรมสารีริกธาตุกลับไปไว้ที่เดิม คือ ที่วัดร้างกู่แดงพอเป็นพิธี จากนั้นก็ได้นำกลับมาที่วัด และได้ทำพิธีสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัดและบ้านทุกปี โดยมีการสรงน้ำ พระบรมสารีริกธาตุ ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี
ต่อมาปี พ.ศ. 2550 ประชากรในบ้านกาด มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการสร้างถิ่นฐานเป็นครัวเรือนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น การปกครองและการพัฒนาไม่ทั่วถึง อีกทั้งขณะนั้นผู้ใหญ่บ้าน นายแสวง แดงคำดี ซึ่งอาศัยอยู่หมู่บ้านกาดแต่เป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มบ้านเล็ก ๆ อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบ้านแห่งนี้มีการแยกหมู่บ้านออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่อีกหมู่บ้านหนึ่ง จึงทำให้บ้านกาดขาดผู้ใหญ่บ้าน ในปีนี้ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายสมควร ชมภูศรี ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ และดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บ้านกาด ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน
บ้านกาด หมู่ที่ 6 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีภูมิประเทศเป็นที่ราบ
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ 8 บ้านแพะใหม่
- ทิศใต้ ติดกับหมู่ 5 บ้านขุนคง
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ 7 บ้านท่าขุนคง
- ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ 1 บ้านต้นแก้ว
การเดินทางมายังหมู่บ้านกาด เริ่มจากถนนคันคลองถวาย-ต้นแก้ว เลี้ยวขวาตรงสามแยกเข้ามาตามถนนลาดยาง จะผ่านบ้านต้นแก้วมาจนถึงบ้านกาด มีป้ายหมู่บ้านกาด อยู่ใกล้ ๆ ซอย 1 ตรงข้ามกับบ้านต้นแก้ว ซอย 6 เมื่อเข้ามาในซอย 1 ท้ายซอยเป็นสามแยก หากเลี้ยวขวาจะเชื่อมต่อกับเส้นทางไปหมู่บ้านต้นแก้ว เป็นจุดสิ้นสุดหมู่บ้านทางทิศตะวันตก และเลี้ยวซ้ายมาตามทางจะเชื่อมต่อกับท้ายซอย 2 ขวามือมีสวนลำไย มาต่อตามเส้นทางท้ายซอยจะเชื่อมต่อกับซอย 9 ด้านขวามือเป็นสวนลำไยและทุ่งนา กลับมาที่ถนนสายหลักของหมู่บ้าน เมื่อตรงมาเรื่อย ๆ จนถึงซอย 12 ขวามือมีโรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพของหมู่บ้านกาด เข้ามาในซอยมีบ้าน 1 หลัง ล้อมรอบด้วยสวนลำไย จุดนี้เป็นจุดสิ้นสุดหมู่บ้านทางทิศตะวันออก ฝั่งซ้ายมือมีถนนไปถึง วัดเดชดำรง จุดนี้เป็นจุดสิ้นสุดหมู่บ้านทางทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านแพะใหม่
บ้านกาดมีทั้งหมด 12 ซอย แบ่งเขตบ้านออกเป็น 8 เขต สภาพทางกายภาพของบ้านเรือน พบว่า สร้างบ้านอยู่กันรวมกันอย่างหนาแน่น บ้านที่อยู่ละแวกเดียวกันส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ มีพื้นที่ไร่นาและสวนลำไยบริเวณกว้างขวางล้อมรอบหมู่บ้าน สังเกตเห็นศาลเจ้าที่ (คนท้องถิ่นเรียกว่า ศาลเจ้าบ้าน) อยู่ตามมุมแยกของแต่ละเขต ซึ่งศาลนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ชาวบ้านนับถือและกราบไหว้บูชา ชาวบ้านมักจะมาไหว้ขอพรและมีการจัดอาหารมาเลี้ยงศาลตามเทศกาลต่าง ๆ ด้านวิถีชีวิต คนส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้านจะเข้าบ้านในช่วงเย็น สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านเมื่อว่างเว้นจากการทำนา ทำสวน ส่วนใหญ่จะรับงานหัตถกรรมมาทำที่บ้าน เพื่อเป็นอาชีพเสริม
บ้านกาด มีจำนวนครัวเรือน 259 หลังคาเรือน ประชากร ชาย จำนวน 313 คน หญิง จำนวน 348 คน รวม 661 คน
ชุมชนบ้านกาด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ รับจ้างทำงานติดลายไม้แกะสลัก รับจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ โดยมีนายทุนเป็นผู้ผลิตสินค้าตามรายการที่บริษัทสั่งทำ สินค้าที่ชาวบ้านรับมาตกแต่ง เช่น โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ขันโตก เป็นต้น เมื่อสินค้าที่ชาวบ้านนำมาตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายทุนจะนำสินค้าส่งออกขาย ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีการทำหัตถกรรมและมีงานทำตลอดปี และมีแรงงานต่างด้าวเข้ามารับจ้างอยู่โรงไม้แปรรูป
นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังมีรายได้จากการประกอบอาชีพพนักงานบริษัท รับราชการ ค้าขายของชำและเครื่องไม้แกะสลัก รับจ้างขับรถโดยสาร และรับจ้างจักรสานไม้ไผ่ด้วยมือแต่ตอนนี้เหลือจำนวนน้อยแล้ว
- เดือนมกราคม : ทำบุญขึ้นปีใหม่, งานทานข้าวใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ : ค้าขาย, รับจ้าง, ปลูกข้าวนาปรัง, เก็บเกี่ยวลำไย
- เดือนมีนาคม : ค้าขาย, รับจ้าง, ปลูกข้าวนาปรัง, เก็บเกี่ยวลำไย
- เดือนเมษายน : ประเพณีสงกรานต์, ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ
- เดือนพฤษภาคม : งานทำบุญสรงน้ำพระธาตุ
- เดือนมิถุนายน : ค้าขาย, รับจ้าง, ปลูกข้าวนาปี, เก็บเกี่ยวลำไย
- เดือนกรกฎาคม : ประเพณีเข้าพรรษา, ประเพณีไหว้ศาลเจ้าบ้าน
- เดือนสิงหาคม : เก็บเกี่ยวลำไย, ปลูกข้าวนาปี, ค้าขาย, รับจ้าง
- เดือนกันยายน : เก็บเกี่ยวลำไย, ปลูกข้าวนาปี, ค้าขาย, รับจ้าง
- เดือนตุลาคม : ทำบุญทานสลากภัต, ประเพณีออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน : งานกฐินสามัคคี, ประเพณีลอยกระทง
- เดือนธันวาคม : ค้าขาย, รับจ้าง, เก็บเกี่ยวข้าวและลำไย
1. คุณยาย ติ๊บ ชมภูศรี หญิงสูงวัยคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่บ้านกาด รูปร่างผอมสูงผิวสีแทน จิตใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีสุขภาพดี คุณยาย ติ๊บ ชมภูศรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2468 ปัจจุบันอายุ 93 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 6 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดชียงใหม่
บิดาชื่อนายแดง หลวงติ๊บ มารดาชื่อ นางบุญ หลวงติ๊บ (บิดาเสียชีวิต เมื่ออายุ 45 ปี มารดาเสียชีวิต เมื่ออายุ 71 ปี) มีพี่น้อง 5 คนคุณยายติ๊บ เป็นบุตรคนที่ 2 บุตรคนที่ 1 พี่ชาย ชื่อนายอุ่นเรือน หลวงติ๊บ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว น้องสาว คนที่ 3 ชื่อนางบุญ หลวงติ๊บ อายุ 90 ปี เสียชีวิตแล้ว คนที่ 4 ชื่อ นายน้อย หลวงติ๊บ อายุ 81 ปี ยังมีชีวิตอยู่ และน้องคนสุดท้องคือ นายไม้ หลวงติ๊บ อายุ 80 ปี ยังมีชีวิตอยู่
เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนตอนเด็ก ๆ คุณยายติ๊บ จึงไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องช่วยพ่อแม่ทำนาและเลี้ยงน้องอยู่บ้าน หมดฤดูทำนาก็จะเก็บผักพื้นบ้านขายและแลกอาหารในชุมชน จึงทำให้คุณยายติ๊บไม่สามารถอ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้
เดิมคุณยายติ๊บ เป็นคนอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง เมื่อแต่งงานจึงย้ายตัวเองมาสร้างครอบครัวที่บ้านกาด โดยคุณยายติ๊บ แต่งงานเมื่ออายุ 25 ปี แต่งงานกับ คุณตาอ้าย ชมภูศรี มีบุตรด้วยกัน 7 คน คุณยายติ๊บได้เล่าว่า ยายจะดูแลตนเองอยู่เสมอ เลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีรสเค็มหรือรสจัดเกินไป เลือกรับประทานไข่และเนื้อปลา ผัก น้ำพริกพื้นบ้าน เข้านอนตั้งแต่ 20.00 ตื่นตี 4 นั่งเล่น ออกกำลังกาย ด้วยการเดินเล่นตามบ้าน เวลาเจ็บป่วยก็จะไปรับการรักษาที่ รพสต. หรือโรงพยาบาลหางดง ไม่ซื้อยากินเองและใช้ชีวิตให้มีความสุข ไม่เครียด ทุกวันนี้คุณยายมีความสุข ภูมิใจในตัวลูกชายมากที่เป็นผู้นำของหมู่บ้านและประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะคุณยายติ๊บจะสอนลูก ๆ ตั้งแต่เด็กอยู่เสมอว่าให้มีความอดทน มีความพยายามและทำความดี มีอะไรให้แบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน คุณยายติ๊บเป็นที่รักใคร่และเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน เวลามีเทศกาลงานบุญของหมู่บ้านคุณยายติ๊บจะไปร่วมพิธีทุกครั้ง และไปทำบุญฟังเทศน์ ทุกวันพระ
ประชาชนในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ในการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการ และบุคคลภายนอกจะใช้ภาษาไทยกลาง และภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร
ด้านสาธารณสุขในชุมชนบ้านกาด หมู่ที่ 6 ได้ข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้นแก้ว และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านบ้านกาด เห็นว่ามีการเข้าถึงการให้บริการเชิงรุกกับประชาชนบ้านกาด โดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดกิจกรรมทางด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น การเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง วัณโรค การรณรงค์เรื่องโรคไข้เลือดออก รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนเป็นอย่างดี
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2554). วิถีชุมชน: เครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุก. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขศาลา
การะเกตุ แก้วทอง, ธนัชชา จิรธีปธนวัฒน์, ธวัชชัย ขุนไชย, นิยดา วงศ์ประมวล, ปนิตตา คำตัน, พิชญินทร์ อินทรวัลย์, และสุรเชษฐ์ สมสาร. (2562). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชนบ้านกาด หมู่ที่ 6 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.