Advance search

เป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งอยู่ร่วมกัน มีวัดทุ่งผักกุดเป็นศูนย์กลางชุมชนและเป็นอนุสรณ์สถาน มีการสร้างด้วยสถาปัตยกรรมอาคารไม้อายุกว่าร้อยปี

ห้วยด้วน
ดอนตูม
นครปฐม
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยด้วน โทร. 0-3496-8640
ปภาวรินทร์ ภาษิตานนท์
15 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
17 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
17 เม.ย. 2024
บ้านทุ่งผักกูด

สมัยโบราณเป็นทุ่งกว้างมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยด้วนไหลผ่าน เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศน์มีความชุ่มชื้นสูง มีพืชตระกูลเฟิร์นขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกว่า ผักกูด จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน


เป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งอยู่ร่วมกัน มีวัดทุ่งผักกุดเป็นศูนย์กลางชุมชนและเป็นอนุสรณ์สถาน มีการสร้างด้วยสถาปัตยกรรมอาคารไม้อายุกว่าร้อยปี

ห้วยด้วน
ดอนตูม
นครปฐม
73150
13.90926053663671
100.10216690698778
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยด้วน

การอพยพของชาวลาวครั่งเริ่มในช่วงสงครามระหว่างลาวกับไทยในสมัยกรุงธนบุรี ในช่วงนั้นมีการอพยพเข้ามาของคนลาวกลุ่มต่างๆเข้าสู่ประเทศไทย การอพยพเข้าสู่ประเทศไทยครั้งที่ใหญ่ที่สุดเกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 จากเหตุการณ์ก่อกบฏของเจ้าอนุวงศ์ ทำให้ชาวครั่งถูกกวาดต้อนมายังบริเวณภาคกลาง คนในชุมชนนี้เรียกตนเองว่า "ลาวขี้คั่ง"ลาวคั่งหรือ "ลาวครั่งซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษอพยพมากจากเมืองหลวงพระบาง บ้างก็บอกเล่าว่าอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ในจังหวัดนครปฐมมีชาวลาวครั่งมาตั้งถิ่นฐานและได้กระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอำเภอดอนตูม ตำบลลำเหย บ้านหลวง บ้านห้วยด้อน และบ้านดอนกรวก

หลักฐานการเข้ามาของชาวลาวครั่งปรากฏตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย ในบริเวณวัดทุ่งผักกูดได้ปรากฏร่องรอยหลักฐานสิ่งปลูกสร้างทางโบราณคดีและสถาปัตยกรรมตัววัดก่อสร้างเมื่อใดไม่มีการปรากฎแน่ชัดเท่าที่  สืบได้ปรากฎว่าสภาพเดิมของวัดเป็นเนินดิน โบสถ์ วิหารไม่มีเหลือ เนื่องจากพระอุโบสถและถาวรวัตถุของเดิมนั้นได้สูญหายไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่มีมาช้านาน เนื่องจากมีการขุดพบพระบูชาเก่า สมัยศรีวิชัย ทวาราวดีและอยุธยา ได้ที่บริเวณวัด

จากตัวอำเภอดอนตูม บริเวณที่ว่าการอำเภอดอนตูม มุ่งหน้าทางตะวันตกเฉียงใต้ หรือมุ่งหน้าเข้าตัวจังหวัดนครปฐม ใช้ถนนหมายเลข 3036/ถนนหมายเลข 375 เข้าสู่ถนนหมายเลข 3297 ระยะทางประมาณ 4.1 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย ใช้ถนนวัดทุ่งพิชัย-วัดหัวถนน เพื่อไปตำบลห้วยด้วน (ไปตามป้ายตำบลห้วยด้วน วัดทุ่งผักกูด) ประมาณ 4.4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาใช้ ถ.บ้านหัวถนน-บ้านทุ่งผักกูด (นฐ. 3177) (ตามป้ายวัดทุ่งผักกูด) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ถึงบ้านทุ่งผักกูด

สภาพพื้นที่โดยทั่วไป

วัดทุ่งผักกูดและชุมชน ตั้งอยู่บนเนินดิน  สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 1-2 เมตร สภาพแวดล้อมโดยรอบวัดเป็นชุมชน ล้อมรอบชุมชนด้วยพื้นที่ทางการเกษตร โบราณสถานภายในวัด อุโบสถและศาลาการเปรียญ ได้รับ  การบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลรักษาจนอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง แต่เจดีย์ทั้ง 5 องค์ที่ตั้งอยู่หน้าอุโบสถมีสภาพชำรุดทรุดโทรม

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนทะเลสะสมตัวบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเล : ดินเหนียวเนื้อนิ่ม ดินเหนียวปนทรายแป้ง สีเทา สีเทาอ่อน มักจะพบแร่ยิปซัมรูปร่างคล้ายเข็ม

บ้านทุ่งผักกูดเป็นชุมชนเล็กๆ มีจำนวนประชากรลาวครั่งมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มคนจีน ไทย ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของพื้นที่เท่านั้น โดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จากการสำรวจพื้นที่ตำบลห้วยด้วน ประกอบด้วย บ้านทุ่งผักกูดและบ้านกงลาด ประชากรส่วนใหญ่เป็นลาวครั่ง ทั้งสองชุมชนล้วนแล้วแต่เป็นเครือญาติพี่น้องสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่อดีต จำนวนประชากรบ้านทุ่งผักกูด แบ่งออกเป็น 2 หมู่ ดังนี้

หมู่ที่ 1 มีจำนวน 163 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 509 คน แบ่งเป็นเพศชาย 243 คน เพศหญิง 266 คน

หมู่ที่ 2 มีจำนวน 213 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 754 คน แบ่งเป็นเพศชาย 370 คน เพศหญิง 384 คน

ชาวบ้านทุ่งผักกูดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร คือ ทำนา ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มมีอาชีพรับราชการ ทำงานบริษัท และรับจ้างทั่วไป อีกทั้งในตัวชุมชนมีการรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าภายในชุมชน เช่น สินค้า OTOP เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

  • ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ หรือแห่หางธง (แห๊ทุง)

เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีความเชื่อว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ช่วงวันที่ 13 เมษายนของทุกปี) ในอดีตวันสงกรานต์ของคนลาวคั่ง มีระยะเวลาถึง 15 วัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5-8 วัน ซึ่งเริ่มนับจากวันที่ 13 เมษายน และสิ้นสุดเมื่อมีการแห่หางธง วันดังกล่าวญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน เพื่อแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ และยังมีการบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับทั้งหมู่บ้าน จุดประสงค์หลักของการแห่หางธงคือ การหาปัจจัยเข้าวัดด้วยการติดพุ่มผ้าป่าหางธง (ผ้าป่าลาว) โดยจะมีการตั้งขบวนแห่หางธงสงกรานต์พร้อมเสียงพิณแคนอย่างสนุกสนาน แล้วนำพระพุทธแห่รอบหมู่บ้าน เพื่อขอบริจาค เรี่ยไรเงิน หลังจากนั้นมีการถวายหางธงพุ่มผ้าป่าถือว่าเสร็จพิธีทางศาสนา วันแห่หางธงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนั้นๆ กำลังสิ้นสุด

  • บุญไต้น้ำมันหรือไต้ตีนกาของลาวครั่ง

บ้านทุ่งผักกูด บ้านกงลาด นิยมทำในช่วงออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยจะจัดงาน 3 วันคือ วันขึ้น 14 ค่ำ, 15 ค่ำ และแรมค่ำหนึ่ง เริ่มจากการเตรียมฟั่นด้ายดิบขนาดเท่าก้านไม้ขีดเป็นเกลียว 3 แฉก ยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ไว้สำหรับจุดไฟ วันประกอบพิธีจะเริ่มช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม พระสงฆ์จะเริ่มตีกลอง 3 ลา คนในชุมชนจะมารวมตัวกันที่บริเวณวัด โดยนำขวดน้ำมันมะพร้าวใสขวดลิโพและตีนกามาด้วย หลังจากนั้นเริ่มกล่าวถวายน้ำมัน พระสงฆ์จึงเริ่มหยอดไต้น้ำมันรอบสถานที่ ซึ่งจัดไว้เป็นจุดๆ รอบหอฉัน จากนั้นคนในชุมชนหยอดน้ำมันตามพระสงฆ์จนครบทุกจุด ซึ่งคนในชุมชนสามารถออกมาไต้น้ำมันได้ตลอด ภายในระยะเวลา 3 วันขึ้นอยู่กับความสะดวก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดทุ่งผักกูด

เป็นวัดที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนมาอย่างยาวนาน สืบสานพระพุทธศาสนาต่อจนรุ่นต่อๆ มา และเป็นอนุสรณ์สถานรวมถึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน วัดทุ่งผักกูด ไม่ปรากฏหลักว่าสร้างขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจาก    พระอุโบสถและถาวรวัตถุของเดิมนั้นได้สูญหายไป มีการพบพระพุธบูชาสมัย ทราวดี ศรีวิชัย และ อยุธยาส่วนหนึ่งมีหลักฐานสนับสนุนว่าวัดทุ่งผักกูดน่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีการประกาศตั้งวัด   ซึ่งระบุเพียงว่า วัดทุ่งผักกูดประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2380 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2400 วัดทุ่งผักกูดมีสถาปัตยกรรมอาคารไม้อายุร้อยกว่าปี มีรูปแบบการสร้างที่ไม่แปลกไปจากวัดอื่นๆ

  • พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด

ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของชุมชน ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งรายล้อมด้วยกำแพงวัด โบสถ์เก่าและหอฉันไม้โบราณ พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนความร่วมมือกับภาควิชาการ ในด้านการรวบรวมข้อมูลทั้งเรื่องประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม เพื่อนำข้อมูลมาประกอบจัดแสดง พิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด จึงก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2555 ณ หมู่ที่ 2 วัดทุ่งผักกูด และเปิดให้เข้าชมในวันที่ 5 มกราคม 2556

ใต้อาคารจัดแสดงที่มีรูปแบบจำลองเรือนไม้โบราณ ตามความนิยมของชนในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ที่มักจัดแบ่งพื้นที่การใช้สอยของเรือนชั้นบนออกเป็น 1 ห้องนอน 1 ห้องครัว ซึ่งต่อออกไปจากตัวบ้าน ส่วนที่โล่งนอกชานสำหรับให้ผู้อาศัยกางมุ้งนอน ส่วนของห้องนอนนั้นทำไว้สำหรับบุตรสาวซึ่งเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามา อีกทั้งเป็นที่ตั้งหิ้งผี หากล่วงล้ำจึงถือว่าผิดผี ส่วนชั้นล่างของเรือนใช้สำหรับจัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์การเกษตร มีการจัดแสดงอุปกรณ์ประกอบอาชีพของผู้คนในอดีตที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเพื่อนำมาจัดแสดง ชั้นล่างเล่าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับอาชีพหลัก คือ การทำนา มีการจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของข้าว     พิธีลงแขกดำนา พิธีนวดข้าว และจัดแสดงอุปกรณ์หาปลา ตลอดจนเครื่องมือก่อสร้างบ้าน โอ่ง ไห รวมถึงมุมประเพณีที่สำคัญ ชั้นบนจัดแสดงอุปกรณ์ในครัวเรือน หม้อ ไห ถ้วย ชาม โดยจําลองให้เป็นเสมือนเช่นเรือนครัวในอดีต จัดแสดงองค์ความรู้เรื่องการแต่งกาย ผ้าซิ่นทอมือที่มีอายุกว่า 100 ปี ห้องสาธิตการทำคลอดสมัยโบราณ โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งให้ข้อมูลทางวิชาการเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เคารพนับถือ

การติดต่อกันเองในชุมชนมักจะใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาลาวครั่ง ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง และในการติดต่อกับคนนอกชุมชนจะใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร


แม้ชุมชนบ้านทุ่งผักกูดจะมีพิพิธภัณฑ์ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของชาวลาวครั่งในจังหวัดนครปฐมที่มีการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน มีความสำคัญต่อประเทศไทยแต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเท่าที่ควรจะเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งในจังหวัดนครปฐมจึงต้องการเป็นพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ต้องการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสมที่เน้นชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ในแต่ละชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งได้ตั้งชื่อศูนย์เรียนรู้แตกต่างกันออกไป แต่ละศูนย์นั้นหากดูจากภายนอกดูเหมือนจะมีความพร้อมมาก เมื่อดูให้ละเอียดแล้วก็พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการจัดให้เป็นพื้นที่โชว์หรือแสดงวัตถุสิ่งของที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ลาวครั่งมากกว่าการจัดพื้นที่เพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้และเพื่อให้ผู้เรียนรู้ ไม่มีประวัติความเป็นมาตลอดถึงความสําคัญของวัตถุสิ่งของที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ลาวครั่ง และไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้ เมื่อทราบถึงปัญหาแล้ว จึงมีแนวทางจัดระเบียบศูนย์ในเรื่องการบริหารจัดการเพื่อให้ดําเนินไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมกันนั้นก็จะต้องมีคณะกรรมการบริหารศูนย์ซึ่งจะต้องมาจากชุมชนกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์ลาวครั่งเลือกกันขึ้นมาและให้มีวาระการดํารงตําแหน่งโดยให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของศูนย์การเรียนรู้นั้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณรงค์วรรษ บุญมา. (2565). รูปแบบศูนย์การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวนวัตวิถีในจังหวัดนครปฐม. วารสารมานุษยวิทยาเชิงพุทธ. 7(4), 99-112.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2556). พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ลาวครั่ง วัดทุ่งผักกูด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1273

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2565). พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 360 องศา พิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด อ.ดอนตูม จ.นครปฐม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://virtual.sac.or.th/localmuseum/banthungphakkud/

สุธาสินี บุญเกิด. (2567). บ้านทุ่งผักกูด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://wikicommunity.sac.or.th/community/1300

องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยด้วน โทร. 0-3496-8640