ย่านชุมชนบ้านโป่ง มีการใช้พื้นที่เมืองในการสร้างพื้นที่ศิลปะสาธารณะในย่านชุมชน ก่อให้เกิดสุนทรียทางศิลปะ และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนย่านบ้านโป่ง
สภาพพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง อดีตเป็นป่าโปร่งที่สัตว์เข้ามาอาศัย เพื่อกินดินโป่งเป็นอาหารโดยเฉพาะเลียงผา ซึ่งเดิมนั้น "บ้านโป่ง" เรียกว่า "บ้านทับโป่ง" มีกระท่อมหรือบ้าน (ทับ) อยู่ข้างดินโป่ง แต่ชาวบ้านนิยมเรียก "บ้านโป่ง" เพราะสะดวกและสั้นดีและต่อมาทางราชการก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านโป่งตามไปด้วย
ย่านชุมชนบ้านโป่ง มีการใช้พื้นที่เมืองในการสร้างพื้นที่ศิลปะสาธารณะในย่านชุมชน ก่อให้เกิดสุนทรียทางศิลปะ และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนย่านบ้านโป่ง
สภาพพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง อดีตเป็นป่าโปร่งที่สัตว์เข้ามาอาศัย เพื่อกินดินโป่งเป็นอาหารโดยเฉพาะเลียงผา ซึ่งเดิมนั้น " บ้านโป่ง" เรียกว่า "บ้านทับโป่ง" มีกระท่อมหรือบ้าน (ทับ) อยู่ข้างดินโป่ง แต่ชาวบ้านนิยมเรียก "บ้านโป่ง" เพราะสะดวกและสั้นดีและต่อมาทางราชการก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านโป่ง
การศึกษาความเป็นมาของเมืองบ้านโป่ง วีระยุทธ ผลประกอบศิลป์ (2564) พบว่า พัฒนาการของเมืองบ้านโป่งแบ่งได้ 4 ระยะ ประกอบด้วย
- ระยะแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 พบว่าเมืองบ้านโป่ง เป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 - 12) มีฐานะเป็นชุชมชนหัวเมืองติดต่อการค้ากับชุมชนอื่นและชาวต่างชาติ เป็นชุมชนที่มีชาวอินเดียและชาวเขมรมาตั้งหลักแหล่งทำการค้า โดยใช้แม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นทางคมนาคมในการติดต่อทำการค้าทั้งกับเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี เมืองสุพรรณบุรี
- ระยะที่สอง ราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 พบร่องรอยชุมชนโบราณสมัยลพบุรีหรือวัฒนธรรมเขมรบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีอายุไม่เก่าแก่กว่าพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานสำคัญคือ เมืองโบราณโกสินารายณ์ เก่าแก่ราว พุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ช่วงนี้เป็นช่วงที่ราชอาณาจักรเขมรเรืองอำนาจ ชาวเมืองโกสินารายณ์ หรือ ศัมพูกปัฏฏนะ รับวัฒนธรรมของมาเป็นส่วนหนึ่ง
- ระยะที่ 3 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 23 หลังการสวรรคตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองต่าง ๆ มีการรวมตัวเป็นปึกแผ่นตั้งเมืองของตนเอง เริ่มมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองโดยการใช้รูปแบบวัฒนธรรมทวาราวดีผสมกับวัฒนธรรมเขมรผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น กระทั่งเป็นชุดทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง นำมาสู่การตั้งแว่นแคว้นอาณาเขตช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 แบบแผนทางวัฒนธรรมที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทย มีความเจริญรุ่งเรืองพร้อม ๆ กับเมืองราชบุรี และชื่อเมืองโกสินารายณ์ หรือ ศัมพูกปัฏฏนะ ค่อย ๆ หายไป สันนิษฐานว่ารวมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองราชบุรีหรือสุพรรณบุรี
- ระยะที่ 4 ราวพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา ช่วงปรับปรุงการปกครองแบบหัวเมืองไปสู่การปกครองแบบหัวเมืองเทศาภิบาล บ้านโป่งอยู่ในมณฑลราชบุรี อย่างไรก็ดี เดิมอำเภอบ้านโป่ง อยู่ในตำบลท่าผา เรียกชื่อว่า อำเภอท่าผา ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายใต้ โดยตั้งสถานีรถไฟที่ตำบลบ้านโป่ง (รศ.124) ต่อมาจึงดำริว่าหากตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลท่าผา จะมีปัญหาเรื่องการคมนาคมที่ไม่สะดวก จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ ตำบลบ้านโป่ง และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านโป่ง พ.ศ. 2448 (รศ.124) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 อำเภอบ้านโป่ง ขึ้นกับจังหวัดกาญจนบุรี หลังสงครามสงบ พ.ศ. 2489 อำเภอบ้านโป่ง โอนกลับมาจังหวัดราชบุรีตามเดิม
ย่านชุมชนบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 และทางรถไฟ กรุงเทพฯ - สายใต้ กาญจนบุรี - หนองปลาดุก ย่านชุมชนบ้านโป่งห่างจากกรุงเทพ ราว 70 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลปากแรต และ ตำบลท่าผา
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลสวนกล้วย
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลปากแรต
- ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำแม่กลอง
จากการศึกษาโดย วีระยุทธ ผลประกอบศิลป์ (2564) พบว่า ชุมชนย่านบ้านโป่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและย่านธุรกิจด้านการบริการในระดับชุมชน บริเวณหรือย่านนี้มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรวมถึงการเป็นแหล่งจ้างงาน ธุรกิจด้านพาณิชยกรรมที่หลากหลาย ชุมชนจึงมีความหนาแน่นจากการตั้งถิ่นฐาน แหล่งอุตสาหกรรมที่กระจายรอบ ๆ ย่านชุมชนบ้านโป่ง อาทิ อุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล เยื่อกระดาษ อู่ประกอบรถบัส ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ล้วนแต่ต้องใช้วัตถุดิบจากภาคการเกษตร
ย่านชุมชนบ้านโป่ง เป็นชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่อดีตบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณวัฒนธรรมทวารวดี เรื่อยมาวัฒนธรรมลพบุรี วัฒนธรรมสมัยอยุธยา กระทั่งรัตนโกสินทร์ ชุมชนบริเวณนี้จึงประกอบไปด้วยวัฒนธรรมของคนหลากกลุ่มชาติพันธ์ุ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์จีน กลุ่มชาติพันธุ์มอญ กลุ่มชาติพันธุ์ลาว
กลุ่มชาติพันธุ์มอญ เริ่มอพยพเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันครั้งแรก ราว พ.ศ. 2135 สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่สอง ราว พ.ศ. 2202 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และตั้งถิ่นฐานกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ของราชบุรีรวมถึงพื้นที่อำเภอบ้านโป่งในปัจจุบัน ดังเอกสารวัดบ้านโป่งบันทึกว่า ท่านพ่อเฒ่าด่าง พระเมืองรามัญมาจากเมืองหงสาวดี อพยพหนีภัยสงครามข้ามมาประเทศไทย และตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองตอนกลาง บริเวณบ้านโป่ง - ราชบุรี ฉะนั้นบริเวณนี้จึงมีวัดรามัญหลากหลายวัด
กลุ่มชาติพันธุ์จีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานยังประเทศไทยในปัจจุบันสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งถิ่นฐานด้านฝั่งตะวันตกลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีการอพยพเข้ามามากขึ้น เนื่องจากการยกเลิกระบบทาส ทำให้มีการเคลื่อนย้ายหาแหล่งทำกิน โดยเฉพาะบริเวณย่านตลาดบ้านโป่ง และมีการแต่งงานกับคนพื้นถิ่นเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม จึงพบศาลเจ้าและวัฒนธรรมจีนไทยบริเวณชุมชนบ้านโป่ง
กลุ่มชาติพันธุ์ลาว อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยปัจจุบันมายาวนานในฐานะเชลยศึก บางส่วนตั้งถิ่นฐานบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองช่วงอำเภอบ้านโป่ง ถึง อำเภอโพธาราม อย่างไรก็ดีการขยายตัวของกลุ่มมอญทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ลาวต้องย้ายถิ่นไปยังพื้นที่ดอนริมฝั่งใกล้วัดสร้อยฟ้ายังพบกลุ่มชาติพันธุ์ลาว
จีน, ไทยพวน, มอญ, ลาวเวียงชุมชนย่านบ้านโป่ง เป็นชุมชนที่ประกอบด้วยประชากรหลากหลายวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธ์ุมาอาศัยอยู่ร่วมกันบริเวณย่านชุมชนบ้านโป่งจึงประกอบด้วยวัฒนธรรมทางศาสนาที่หลากหลาย สอดคล้องกับหลักการของศาสนา ฉะนั้นศาสนสถานบริเวณย่านชุมชนบ้านโป่งประกอบด้วย วัดบ้านโป่ง วัดดอนตูม วัดคาทอลิกนักบุญยอแซฟบ้านโป่งและมัสยิดบ้านโป่ง
งานประจำปีหรือปฏิทินเทศกาลจึงมีความหลากหลายสอดคล้องกับวัฒนธรรมของศาสนิกชนแต่ละศาสนา อย่างไรก็ดี ประเพณีหรืองานประจำปีในย่านชุมชนบ้านโป่ง ประกอบด้วย ประเพณีลอยกระทง การแข่งขันเรือยาว ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแห่เทียนพรรษา รวมถึงงานส่งเสริมวัฒนธรรมประจำจังหวัดตามโอกาสต่าง ๆ
ทุนวัฒนธรรมย่านชุมชนบ้านโป่ง
ภาพสตรีทอาร์ต ย่านชุมชนบ้านโป่ง เป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชนในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวให้แก่เมืองรอง ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ภาพสตรีทอาร์ตกระจายบริเวณตรอก ซอยในย่านชุมชน รวมถึงพื้นที่รกร้างและพื้นที่ว่าง อาคารรกร้าง ภาพเหล่านี้ทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาจากการที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นจุดเช็คอิน (check in) เผยแพร่ในสื่อดิจิทัล ซึ่งสตรีทอาร์ทย่านชุมชนบ้านโป่งมีส่วนในการสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นบ้านโป่งผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ อาทิ กลุ่มชาติพันธ์ุจีนในชุมชนสะท้อนผ่านสัญลักษณ์มังกร งิ้ว
วีระยุทธ ผลประกอบศิลป์ (2564). การวิเคราะห์ศักยภาพการมองเห็นเชิงพื้นที่ของงานศิลปะสาธารณะในย่านชุมชนบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปิยะธดา ขันสิงหา (2564). การใช้สตรีทอาร์ทเพื่อเป็นกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว. นิเทศศาสตร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. จาก https://digital.car.chula.ac.th/
ปริมประภา แก้วละเอียด (2551). การศึกษาวิเคราะห์หลักฐานประวัติศาสตร์ของชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง กรณีอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. ประวัติศาสตร์. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เทศบาลเมืองบ้านโป่ง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลและรายละเอียดชุมชน. จาก https://banpong.go.th/public/