ชุมชนมีการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ากะเหรี่ยง โดยมีศูนย์ทอผ้าบ้านห้วยแห้ง เป็นแหล่งเรียนรู้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอกะเหรี่ยง และชุมชนมีการสืบสานวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น อาหารกะเหรี่ยง ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ ประเพณีแห่ฉัตร การทำคังด่ง (โมบายกะเหรี่ยง) เป็นต้น รวมทั้งประชาชนในชุมชนมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนให้อยู่ดีมีสุข
ชื่อบ้านห้วยแห้ง มีที่มาจากเดิมมีสายน้ำลำภาชีที่ไหลผ่านในหมู่บ้าน แต่อยู่มาในปีหนึ่งเกิดมีน้ำท่วม ทำให้ตลิ่งพังน้ำจึงเปลี่ยนทิศทางไหลออกจากเส้นทางเดิมไปหมด ลำภาชีในหมู่บ้านจึงแห้งไม่มีน้ำ และอีกที่มาคือ มีชาวกะเหรี่ยง 2 คนพี่น้องทำไร่อยู่สองฝั่งของลำห้วยตรงข้ามกัน ซึ่งมีความเชื่อว่าถ้าพี่น้องทำมาหากินคนละฝั่งของแม่น้ำจะเกิดอาเพศ เพื่อแก้เคล็ดจึงถมดินให้เป็นพื้นที่เดียวกัน และสร้างสะพาน ทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนทิศทาง ลำห้วยในหมู่บ้านจึงแห้งขอด
ชุมชนมีการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ากะเหรี่ยง โดยมีศูนย์ทอผ้าบ้านห้วยแห้ง เป็นแหล่งเรียนรู้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอกะเหรี่ยง และชุมชนมีการสืบสานวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น อาหารกะเหรี่ยง ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ ประเพณีแห่ฉัตร การทำคังด่ง (โมบายกะเหรี่ยง) เป็นต้น รวมทั้งประชาชนในชุมชนมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนให้อยู่ดีมีสุข
เดิมบ้านห้วยแห้ง ขึ้นอยู่กับบ้านสวนผึ้ง หมู่ที่ 3 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง ซึ่งแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 หมู่บ้าน ต่อมาภายหลังได้แยกออกเป็นตำบลตะนาวศรี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2531 บ้านห้วยแห้งคือหมู่ที่ 5 ของตำบลตะนาวศรี โดยมี นายบุญเล็ก คังพุ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531-2551 และต่อมาคือ นายรัชดา เจริญสุข เป็นผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน
ในช่วงที่แยกหมู่บ้านมาจากบ้านสวนผึ้ง ตำบลสวนผึ้ง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2529 นั้น บ้านห้วยแห้ง มีครัวเรือนจำนวน 10 ครัวเรือน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศของบ้านห้วยแห้งเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ มีลำน้ำภาชีไหลผ่าน ทำให้มีคนจากภายนอกชุมชนเลือกที่จะมาทำกินในพื้นที่ ผนวกกับบ้านห้วยแห้งอยู่ติดกับแนวเทือกเขาตะนาวศรี ส่งผลให้กลุ่มชนทั้งชาวกะเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่แนวชายแดน อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านห้วยแห้งเป็นจำนวนมาก ทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น และ ด้วยบ้านห้วยแห้งมีลำน้ำที่สำคัญไหลผ่าน คือลำน้ำภาชี แต่เนื่องจากเส้นทางน้ำที่ไหลผ่านนั้นมีความคดเคี้ยวในช่วงเวลาหนึ่งแล้วได้ไหลเปลี่ยนทิศทาง จึงส่งผลให้ฤดูแล้ง น้ำในลำน้ำภาชีแห้งลงจนเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ห้วยแห้ง"
ในอดีตประชากรบ้านห้วยแห้งจะเป็นชาวกะเหรี่ยงเกือบทั้งหมด ต่อมาได้มีคนต่างถิ่นแถบจังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ามาอยู่บ้านห้วยแห้ง จับจองที่ดินเพื่อทำการเกษตร บางรายก็ซื้อที่ดินปลูกสร้างบ้านเรือนทำการเกษตรอย่างถาวร และยังมีประชากรแฝงที่ไม่มีสัญชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาวกะเหรี่ยงที่เข้ามาตั้งรกรากและอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว
หมู่บ้านห้วยแห้ง มีเนื้อที่ของหมู่บ้าน จำนวน 7.61 กิโลเมตร หรือ 4,756.25 ไร่ ห่างจากอำเภอสวนผึ้งประมาณ 4 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดราชบุรี 67 กิโลเมตร เส้นทางคมนาคม มีถนนลาดยางจากอำเภอสวนผึ้งถึงบ้านห้วยแห้งตลอดสาย การเดินทางมีรถโดยสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้ง และสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลได้ตลอด
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศ บ้านห้วยแห้งเป็นที่ราบเชิงเขา มีชื่อว่าเขาตกน้ำ ประเภทของดินห้วยแห้งเป็นดินร่วนปนทราย และลูกรัง อาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านบ่อ หมู่ที่ 1 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านสวนผึ้ง หมู่ที่ 1 และบ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 2 ตำบลตะนาวศรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสวนผึ้ง หมู่ที่ 1 ตำบลตะนาวศรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 2 ตำบลตะนาวศรี
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่เนื่องจากมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นอยู่จึงทำให้ได้รับลมมรสุมจากอินเดียและทะเลอันดามันไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่ฝนจะตกมากในช่วงปลายฤดูฝนเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ฤดูร้อนมีอากาศร้อนชื้นและมักจะมีพายุฤดูร้อนในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28.9 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนเมษายน ฤดูหนาวโดยทั่วไปอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 11.4 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม
ลักษณะของป่าไม้
ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ หรือป่าโปร่ง พบมากบริเวณเนินเขาและยอดเขา มีลักษณะเด่น คือ ไม้พื้นล่าง ประกอบด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ เช่น ไผ่รวก ไผ่ซางนวล ไผ่ป่า ฯลฯ ไม้ยืนต้นที่พบได้แก่ สมอตีนเป็ด ตะแบก แคทราย เสลา ประดู่ มะค่าโมง ฯลฯ และป่าดิบแล้ง พบบริเวณพื้นที่ตีนเขาและร่องเขา มีหวายเป็นไม้สำคัญ พันธุ์ไม้อื่น ๆ ที่พบ เช่น เพกา สำโรง โพธิ์หิน ข่อย ขี้หนอน มะกา กระดังงาป่า ฯลฯ ไม้เถาที่พบ ได้แก่ รางจืด แสลงพัน บันไดลิง เป็นต้น
สถานที่สำคัญในชุมชน
1.ศูนย์วัฒนธรรมหมู่บ้านห้วยแห้ง
เป็นสถานที่จัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของหมู่บ้าน และสถานที่เรียนรู้วิถีชาติพันธุ์กะเหรี่ยงของชุมชน ศูนย์สร้างจำลองรูปแบบบ้านของชาวกะเหรี่ยง ฝาผนังเป็นไม้ไผ่ มีการจัดมุมแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวกะเหรี่ยง มักใช้ศูนย์จัดงานประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อของชุมชนรวมทั้งมีด้านหลังของศูนย์เป็นอาคารปูน ซึ่งมักใช้เป็นสถานที่จัดประชุม จัดกิจกรรม หรือไว้ต้อนรับคณะที่เข้ามาศึกษาดูงานในหมู่บ้าน
2.ป่าชุมชนบ้านห้วยแห้ง
โครงการป่าชุมชนบ้านห้วยแห้ง หมู่ 5 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี มีเนื้อที่ 393 ไร่ ชาวบ้านมักจะเข้าไปหาหน่อไม้ ตัดไม้ไผ่มาจักสาน หรือตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งก็จะต้องขออนุญาตและเสียค่าบำรุง โดยแจ้งให้คณะกรรมการของหมู่บ้านทราบ หมู่บ้านมีการกำหมดกฎระเบียบร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนของหมู่บ้าน และมีข้อห้ามต่าง ๆ เช่น ห้ามตัดไม้ ห้ามล่าสัตว์และบุกรุกในเขตป่าชุมชน ห้ามบุคคลภายนอกมาหาผลประโยชน์ในเขตป่าชุมชน ห้ามนำขยะมาทิ้ง หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามกฎหมายและดำเนินคดี
3.ศาลเจ้าพ่อแสงจันทร์
ศาลเจ้าพ่อแสงจันทร์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วยแห้ง ศาลเจ้าแห่งนี้ชาวบ้านให้เคารพนับถือสืบต่อกันมานาน เมื่อมีเรื่องราวความทุกข์ใจก็จะมาขอให้เจ้าพ่อช่วย มาบนบานศาลกล่าว โดยชาวบ้านจะมาร่วมกันทำพิธีทำบุญศาลเจ้า ในช่วงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในวันทำบุญชาวบ้านแต่ละบ้านจะเตรียมของไหว้ คือ เหล้าขาว ไก่ต้ม ไข่ต้ม ผลไม้ ขนม ดอกไม้ พวงมาลัย หมากพลู นำมาร่วมพิธีบริเวณศาลเจ้าพ่อ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน คือ นายบุญเลิศ วิสัยปราชญ์หรือ นางแกะ ตาโท เป็นผู้นำทำพิธีกรรมไหว้ศาลเจ้าพ่อแสงจันทร์
4.โบสถ์คริสตจักรนาวา
โบสถ์คริสตจักรนาวาเป็นสถานที่ทำประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านห้วยแห้ง โดยประชากรในพื้นที่หมู่บ้านห้วยแห้ง เชื้อสายกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ) ประมาณร้อยละ 30 เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งมีโบสถ์คริสตจักรนาวา ตั้งอยู่ 2 แห่ง ในหมู่บ้าน นอกจากใช้เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มชาวคริสต์ในชุมชน เช่น งานปีใหม่ คริสตมาสต์ และวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ เป็นต้น
บ้านห้วยแห้ง มีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่ง หรือโปว์ที่อาศัยอยู่กันมาแต่ดั้งเดิมและกะเหรี่ยงที่เข้ามาในช่วงหลัง บางส่วนเป็นคนไทยที่อพยพมาจากจังหวัดต่าง ๆ โดยเป็นคนที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง ประมาณร้อยละ 90 และกลุ่มคนไทย ประมาณร้อยละ 10 อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสามัคคีปรองดองกัน และประชากรบางส่วนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย หรือไม่มีสถานะทางทะเบียน
ข้อมูลประชากร บ้านห้วยแห้ง หมู่ 5 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีจำนวนครัวเรือน 649 ครัวเรือน ประชากรรวม 2,291 คน
- สัญชาติไทย ชาย 625 คน หญิง 558 คน รวม 1,183 คน
- มิใช่สัญชาติไทย หรือบุคคลพื้นที่สูง ชาย 642 คน หญิง 466 คน รวม 1,108 คน (ข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดราชบุรี ณ กรกฎาคม 2566)
การนับถือศาสนา
- ศาสนาพุทธ ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ ร้อยละ 60 นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง (โพล่งหรือโปว์) ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในชุมชน ในชุมชนไม่มีวัดตั้งอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่วัดท่ามะขาม หมู่ 2 และวัดในชุมชนใกล้เคียง
- ศาสนาคริสต์ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ (นิกายโปรเตสแตนต์) ประมาณร้อยละ 40 ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงใหม่ในพื้นที่ และมีโบสถ์ คริสตจักรนาวา ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 แห่ง เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาคริสต์
ผู้คนในชุมชนบ้านห้วยแห้ง ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยงทั้งที่ตั้งหลักปักฐานอาศัยอยู่แต่ดั้งเดิม และที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาจากบริเวณขอบชายแดนไทย-พม่า และคนไทยบางส่วนที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาทำมาหากิน ประกอบอาชีพ อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข โดยมีการรวมตัวรวมกลุ่มกันทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มที่เป็นทางการ
1.กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยแห้ง ประธานกลุ่ม คือ นางรัตนดา เจริญสุข มีสมาชิกประมาณ 10 คน โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในชุมชน ที่มารวมตัวกันอนุรักษ์ฟื้นฟู สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ากะเหรี่ยงให้คงอยู่ โดยมีการทำผลิตภัณฑ์จากผ้าทอกะเหรี่ยงมาจำหน่าย สร้างรายได้เสริม เช่น เสื้อกะเหรี่ยง ผ้าถุง กระเป๋า ย่าม เป็นต้น
2.หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ประธานกลุ่มคือ ผู้ใหญ่บ้าน นายรัชดา เจริญสุข ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน
3.กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ มีนายรัชดา เจริญสุข เป็นประธานกลุ่ม
4.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ดูแลชุมชนเรื่องสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุในชุมชน
5.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มี นายกณวรรธ์ หวังเจริญรัตน์ เป็นประธานกองทุนของหมู่บ้านห้วยแห้ง เป็นเงินกองทุนที่ชุมชนได้รับจากรัฐ นำไปใช้หมุนเวียนในชุมชนในการสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน หรือกู้ยืมนำไปใช้สร้างอาชีพให้มั่นคง
6.กองทุนแม่ของแผ่นดิน มีผู้ใหญ่บ้าน นายรัชดา เจริญสุข เป็นประธานกองทุน เป็นกองทุนพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นกองทุนที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านชุมชนเท่านั้น ไม่มีกองทุนรวมในส่วนกลาง และประโยชน์สาธารณะในการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ในหมู่บ้านไม่มีการให้กู้ยืม และไม่มีดอกเบี้ย
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
1.จิตอาสาดับไฟป่าบ้านห้วยแห้ง ประธานกลุ่ม คือ ผู้ใหญ่บ้าน นายรัชดา เจริญสุข ในพื้นที่บ้านห้วยแห้ง มีป่าชุมชน ป่าไผ่ ซึ่งมักจะเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อน มีทั้งเกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ชาวบ้านจึงมีการรวมกลุ่มช่วยกันดูแลป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า และดับไฟป่าที่เกิดขึ้น
2.กลุ่มคังด่ง "คังด่ง" หรือโมบายกะเหรี่ยง ทำจากเส้นด้าย มีลักษณะคล้ายใยแมงมุม เป็นเครื่องราง เครื่องแขวนเพิ่มสิริมงคลตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยมักจะนำคังด่ง มาแขวนประดับหน้าบ้าน ตามบ้านเรือนชุมชน เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามา หรือเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว แก่ตนเอง ซึ่งชุมชนได้ทำจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาในชุมชน ประธานกลุ่ม คือ นางรัตนดา เจริญสุข
3.กลุ่มจักสานหวายเทียม เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีแม่บ้านในชุมชน ประกอบอาชีพเสริมทำผลิตภัณฑ์จากหวายเทียม
ในรอบปีของผู้คนบ้านห้วยแห้ง มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- วันสงกรานต์ ช่วงวันที่ 12-15 เมษายนของทุกปี ชาวบ้านผู้นับถือพุทธศาสนาจะถือปฏิบัติตามประเพณีสงกรานต์อย่างไทย ซึ่งจะไปวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับของตนที่วัดป่าท่ามะขาม มีการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ และที่สำคัญคือ ชาวกะเหรี่ยงจะไปร่วมงานประเพณีพระสงฆ์เหยียบหลังกะเหรี่ยง นมัสการหลวงพ่อนวม และอดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 ขึ้น 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำของทุกปี ตามความเชื่อของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ที่จะมาร่วมงาน ร่วมทำบุญที่วัดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
- ทำบุญกลางบ้าน การทำบุญกลางบ้านของชุมชนบ้านห้วยแห้ง จัดขึ้นในช่วง ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี หรือตามที่ชุมชนกำหนด เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากชุมชน โดยจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีทางพระพุทธศาสนา จะจัดงานทำบุญที่บริเวณศาลาประชาคมของหมู่บ้าน
- ไหว้เจ้าพ่อแสงจันทร์ เจ้าพ่อแสงจันทร์ เป็นศาลที่ตั้งอยู่บริเวณริมทางเข้าหมู่บ้าน ใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นศาลที่มีมานาน และชาวชุมชนให้ความเคารพนับถือสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พึ่งยึดเหนี่ยวจิตใจประจำหมู่บ้าน ซึ่งมักจะมีชาวบ้านมาบนบานศาลกล่าว ขอให้สมหวังสำเร็จในเรื่องต่างๆ โดยจะมีการจัดเลี้ยงศาลเจ้าพ่อแสงจันทร์ เป็นประจำทุกปี ในช่วง ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 เพื่อทำพิธีขอขมาเจ้าพ่อที่ได้กระทำล่วงเกินไป พิธีทำในช่วงเช้า โดยชาวบ้านแต่ละบ้านจะนำอาหารมาร่วมพิธีไหว้ศาล ได้แก่ ไก่ต้ม เหล้าขาว ไข่ต้ม ผลไม้ ขนม ดอกไม้ พวงมาลัย หมากพลู และจะมีผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงในชุมชนเป็นผู้นำประกอบพิธี ซึ่งจะไม่มีพระสงฆ์ร่วมทำพิธี
- ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ เป็นพิธีกรรมการเรียกขวัญตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี ในช่วงราวๆ เดือนสิงหาคม - กันยายน และมีอาหารที่ใช้ในงานคือ ข้าวห่อ บางพื้นที่จึงเรียกว่า “งานกินข้าวห่อ” ซึ่งแต่ละหมู่บ้านที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ จะกำหนดวันจัดงานประเพณีเวียนกันไปตามหมู่บ้าน และแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวก็จะทำพิธีในครอบครัวด้วย เพื่อเรียกขวัญให้กลับมาสู่ตัวลูกหลาน ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน มีความรักสามัคคี ซึ่งผู้ทำพิธีกรรมเรียกขวัญจะเป็นผู้สูงอายุในครอบครัว หรือถ้าจัดเป็นการจัดงานรวมของหมู่บ้านก็จะให้ผู้สูงอายุที่ชุมชนให้การเคารพนับถือมาเป็นผู้ทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญให้กับผู้ร่วมพิธี เป็นช่วงโอกาสเยี่ยมเยือนญาติต่างหมู่บ้าน เพื่อนฝูงก็จะมาหาสู่กันในแต่ละบ้าน มาร่วมกินข้าวห่อที่ทำไว้ไหว้และต้อนรับแขก ถือเป็นประเพณีที่ช่วยสร้างความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง
- แห่ฉัตร จัดขึ้นทุกวันที่ 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี โดยเป็นประเพณีที่ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงทำสืบต่อกันมา เพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้ากลับจากดาวดึงส์ แห่เพื่อรับบุญและขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขา โดยชุมชนจะทำฉัตรไปร่วมพิธีแห่กับชุมชนอื่นที่เป็นชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จะทำพิธีที่วัดบ้านบ่อแห่ไปอำเภอสวนผึ้ง ฉัตรที่ทำจะใช้ไม้รวก 1 ลำเป็นหลัก มีตอกผูกเป็นสี่เหลี่ยม ทำเป็นฉัตร 5 ชั้น หรือ 9 ชั้น การทำพิธีจะใช้น้ำขมิ้น ใบส้มป่อย พรมที่ฉัตร เพื่อให้ผู้ร่วมพิธีหายจากโรคภัยไข้เจ็บตามความเชื่อ ซึ่งที่วัดบ้านบ่อมีเจดีย์ ที่เก่าแก่ที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่นับถือ จะแห่ฉัตรรอบโบสถ์ 3 รอบ เตรียมธูปเทียน มาปักตรงเจดีย์ และจุดเทียนขอขมาตรงบริเวณเจดีย์ ขอให้มีแต่สิ่งดีๆเข้ามาในหมู่บ้าน ซึ่งชุมชนชาวกะเหรี่ยงแต่ละหมู่บ้านจะทำฉัตรมา 1 ต้นเพื่อร่วมพิธีกัน
- คริสต์มาส ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ จะมีการรวมตัวจัดงานวันคริสต์มาส ที่โบสถ์ในพื้นที่ จะทำพิธีกันในวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปีเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อและร่วมเฉลิมฉลองในช่วงวันขึ้นปีใหม่
การประกอบอาชีพ
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำการเกษตร ทำสวน ปลูกผัก ที่ปลูกกันมากคือ ถั่ว มะเขือ มะนาว มันสำปะหลัง และฝรั่งที่จะปลูกได้ทั้งปี เริ่มมีการปลูกเงาะ และทุเรียนในพื้นที่และมีการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ แพะ วัว หมู ปัจจุบันนอกจากชาวบ้านมีอาชีพทางเกษตรกรรมแล้ว ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก เพื่อมาเที่ยวที่ตลาดโอ๊ะป่อย เส้นทางหลักที่จะเข้าไปต้องเดินทางผ่านบ้านห้วยแห้ง ชาวบ้านจึงเกิดรายได้จากการท่องเที่ยวไปด้วย มีรายได้เสริมจากการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ขายพืชผลทางการเกษตร บางรายก็ขายของในตลาดโอ๊ะป่อย บางรายรับจ้างทำงานในรีสอร์ท โรงแรม ที่พักต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
วิถีทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำการเกษตร ทำสวน ปลูกผัก ที่ปลูกกันมากคือ ถั่ว มะเขือ มะนาว มันสำปะหลัง และฝรั่งที่จะปลูกได้ทั้งปี เริ่มมีการปลูกเงาะ และทุเรียนในพื้นที่ มีการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ แพะ วัว หมู ปัจจุบันนอกจากชาวบ้านมีอาชีพทางเกษตรกรรมแล้ว ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากเพื่อมาเที่ยวที่ตลาดโอ๊ะป่อย เส้นทางหลักที่จะเข้าไปต้องเดินทางผ่านบ้านห้วยแห้ง ชาวบ้านจึงเกิดรายได้จากการท่องเที่ยวไปด้วย มีรายได้เสริมจากการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ขายพืชผลทางการเกษตร บางรายก็ขายของในตลาดโอ๊ะป่อย บางรายรับจ้างทำงานในรีสอร์ท โรงแรม ที่พักต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ภัยทางธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านห้วยแห้ง ในแต่ละปี ได้แก่
- ไฟป่า เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี จากความแห้งแล้งของใบไม้ ต้นไม้ และบางส่วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ชุมชนมีกลุ่มจิตอาสาช่วยกับเฝ้าระวัง ดับไฟป่า มีการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม
- ภัยแล้ง เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี แม้ว่าชุมชนจะมีลำภาชีไหลผ่าน แต่ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็ขาดน้ำกินน้ำใช้ บางครั้งแต่ละครัวเรือนต้องซื้อน้ำจากภายนอกชุมชนมาใช้สำหรับกิจวัตรประจำวัน
1.นายบุญเลิศ วิสัยปราชญ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2495 สัญชาติไทย อาชีพทำไร่ อาศัยอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยแห้ง เป็นที่ปรึกษาในเรื่องของประเพณี พิธีกรรมให้แก่ชาวชุมชนเป็นผู้ทำศาสนพิธี และพิธีกรรมต่าง ๆ เนื่องจากตนเองบวชเรียนมา และเป็นผู้สูงอายุชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับการเคารพนับถือ
2.นางแกะ ตาโท เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2594 สัญชาติไทย อาชีพทำไร่ อาศัยอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ทำพิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยง ชุมชนบ้านห้วยแห้ง ในเรื่องการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน ได้รับการสืบทอดมาจากคนรุ่นก่อน และจากประสบการณ์ที่เคยเห็น เคยร่วมพิธี
3.นางจี แซ่ดี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2520 อายุ 46 ปี สัญชาติไทย อาชีพทอผ้า อาศัยอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้รื้อฟื้นเรื่องการทอผ้าในชุมชนบ้านห้วยแห้ง ไปเรียนรู้การทอผ้ากะเหรี่ยงมากจากอำเภอปากท่อ จนมีความรู้เรื่องการทอผ้ากะเหรี่ยง การทอกี่เอว และเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักเรียน บุคคลทั่วไป รวมทั้งสอนให้คนในชุมชน เพื่อให้อนุรักษ์สืบสานการทอผ้ากะเหรี่ยงในชุมชนให้คงอยู่
4.นางขาว วังโส เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2505 อายุ 61 ปี สัญชาติไทย อาชีพทำสวนฝรั่ง อาศัยอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญ ในประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ ของชุมชนบ้านห้วยแห้ง ได้เรียนรู้ภูมิปัญญามาจากปู่ยาตายาย และมีความเชี่ยวชาญด้านการทำอาหารกะเหรี่ยง
5.นายรัชดา เจริญสุข เป็นผู้ใหญ่บ้านห้วยแห้ง ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2552 เป็นผู้ใหญ่บ้านที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่ และเป็นผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมด้านประเพณี วัฒนธรรมในอำเภอสวนผึ้ง และมีความรู้เรื่องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
ทุนวัฒนธรรม
ชุมชนบ้านห้วยแห้ง เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มีการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่มานานแม้ว่าในภายหลังจะมีผู้คนหลากหลายทั้งกะเหรี่ยง และคนไทยกลุ่มเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน ภายในชุมชน แต่ก็อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข มีการร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นของหมู่บ้าน และชุมชนมีการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญา ประเพณีของชาวกะเหรี่ยง ในเรื่องต่าง ๆ ทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกด้วย
- ผ้าทอกะเหรี่ยง ผ้าทอกะเหรี่ยงมีกรรมวิธีการทอผ้าด้วยเครื่องทอกี่เอว การทอผู้ทอต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลัง ใช้นิ้วหรือไม้ไผ่ซี่เล็ก ๆ สอดด้ายพุ่ง และใช้ไม้แผ่นกระแทกเส้นด้ายให้แน่น ผ้าทอกะเหรี่ยง มักจะทอเป็น เสื้อผู้หญิงสีขาว (ไช่อั่ว) เป็นเสื้อยาวคลุมเข่าใช้สวมใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยมีประจำเดือน เสื้อสีน้ำเงิน (ไช่โพล่ง) เป็นเสื้อที่แสดงถึงผู้หญิงแต่งงานแล้ว เสื้อยาวคลุมเข่า คอวี ปักลวดลายรอบตัว หรือย่าม ผ้าทอกะเหรี่ยงกับการแต่งกายจะบ่งบอกสถานภาพทางสังคม แสดงให้เห็นถึงคุณวุฒิของผู้สวมใส่ควบคู่กับความสวยงามของลวดลายที่สื่อความหมายถึงความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์
- อาหารชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในชุมชนบ้านห้วยแห้ง ยังมีการสืบทอดการทำอาหารท้องถิ่นของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และอาหารพื้นถิ่นบริโภคกันในครัวเรือน นำมาสาธิต หรือเลี้ยงต้อนรับในงานเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ เช่น ข้าวแดกงา ข้าวห่อกะเหรี่ยง แกงไก่ใบยี่หร่า แกงแตงเปรี้ยว แกงหยวกกล้วย เป็นต้น
- การแต่งกาย ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านห้วยแห้ง มีเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยมักจะนำมาสวมใส่ ในช่วงที่เป็นเทศกาลงานสำคัญ หรือเพื่อสื่อถึงความเป็นชาติพันธุ์ ผู้ชายจะเป็นเสื้อแขนยาวสีกรมหรือดำ กระดุมเงิน และมีการโพกผ้าที่หัว (ขมวดทำเป็นเขาคล้ายหน่อแรด) นุ่งโจงกระเบน ผู้หญิงจะสวมเสื้อกับผ้าถุง เสื้อสีน้ำเงิน หรือคราม จะยาวคลุมเข่าเล็กน้อย จะเป็นคอวี แขนสั้น มีสีอื่น ๆ สลับเป็นลาย ตรงกึ่งกลางรอบอกปักเป็นลายพระอาทิตย์ ล้อมด้วยกรอบสี่เหลี่ยม ขอบคอและขอบแขนจะเดินด้วยด้ายสีแดง ในส่วนของผ้าถุง มีลวดลาย ใช้ด้ายหลายสีทอสลับกัน เชิงผ้าถุงจะมีการประดับตกแต่งด้วยลูกตุ้มไหมพรมสีต่าง ๆ
- คังด่ง หรือโมบายกะเหรี่ยง เป็นเครื่องแขวนทำจากเส้นด้าย เส้นไหมสีต่าง ๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายใยแมงมุม ทำมาผูกเรียง ๆ กัน เป็นเครื่องราง เครื่องแขวนเพิ่มสิริมงคลตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวบ้านห้วยแห้ง มีการทำคังด่งไว้จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์
ทุนทางกายภาพ
จากลักษณะภูมิประเทศ ของตำบลตะนาวศรี เป็นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาและลำน้ำภาชีไหลผ่าน มีป่าไม้มีต้นไม้ ธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น มีอากาศเย็นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ทำให้ปัจจุบันมีการทำรีสอร์ท ลานกางเต็นท์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟในพื้นที่จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานคนในชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น
ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ก็ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง และจะสื่อสารเป็นภาษากะเหรี่ยงในครอบครัว เครือญาติในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหมือนกัน โดยมักจะเป็นรุ่นกลางคน ผู้สูงอายุที่พูดคุยด้วยภาษากะเหรี่ยง เด็กและวัยรุ่นรู้ภาษากะเหรี่ยงเป็นบางคำ เป็นคำง่าย ๆ ที่ ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน จะไม่อยากพูดภาษากะเหรี่ยงกับบุคคลภายนอกครอบครัว ทำให้คนที่พูดภาษากะเหรี่ยงได้ในชุมชนมีจำนวนน้อยลง
แต่เดิมบ้านห้วยแห้ง อยู่ในเขตปกครองของตำบลสวนผึ้ง จนเมื่อปี พ.ศ. 2531 มีการแบ่งแยกเขตการปกครองออกจากตำบลสวนผึ้ง มาตั้งเป็นตำบลตะนาวศรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2531 โดยมีหมู่บ้านที่อยู่ในเขตปกครอง จำนวน 5 หมู่บ้านคือ
- หมู่ที่ 1 บ้านสวนผึ้ง (เดิมอยู่หมู่ที่ 3 ของตำบลสวนผึ้ง)
- หมู่ที่ 2 บ้านท่ามะขาม (เดิมอยู่หมู่ที่ 5 ของตำบลสวนผึ้ง)
- หมู่ที่ 3 บ้านห้วยม่วง (เดิมอยู่หมู่ที่ 8 ของตำบลสวนผึ้ง)
- หมู่ที่ 4 บ้านหวี (เดิมอยู่หมู่ที่ 9 ของตำบลสวนผึ้ง)
- หมู่ที่ 5 บ้านห้วยแห้ง (เดิมอยู่หมู่ที่ 12 ของตำบลสวนผึ้ง )
พ.ศ. 2538 ได้จัดตั้งเป็นสภาตำบลตะนาวศรี และต่อมาได้ประกาศยกเลิกสภาตำบลไป เปลี่ยนเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ 2540 และต่อมาเมื่อมีจำนวนประชากรเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แต่ละหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น จึงมีการแบ่งหมู่บ้านอออกไปจากเดิม ซึ่งบ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 3 ได้ขอแยกออกไปเป็นอีกหมู่บ้าน คือ "บ้านห้วยน้ำหนัก" หมู่ 6 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 และบ้านท่ามะขาม หมู่ 2 ก็มีการขอแยกออกไปเป็นอีกหมู่บ้าน คือ "บ้านบ่อเก่าบน" หมู่ 7 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543
วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561 มีการเปิดตลาดโอ๊ะป่อย ทำให้มีร้านค้า รีสอร์ท คาเฟ่ ในบริเวณใกล้เคียงตลาดโอ๊ะป่อย และในพื้นที่ตำบลตะนาวศรี เกิดขึ้นมากมาย ชุมชนบ้านห้วยแห้ง เป็นทางผ่านหลักไปตลาด ทำให้มีรถนักท่องเที่ยว ผู้คนสัญจรไปมาในชุมชนจำนวนมากขึ้น ข้อดี คือทำให้เกิดอาชีพ เกิดการจ้างงาน ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ ผลผลิตทางการเกษตร แต่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องขยะในชุมชนมีมากขึ้น นักท่องเที่ยวมีการทิ้งขยะข้างทาง และเรื่องอุบัติเหตุบนทางถนน
1.บางเวฬา คาเฟ่แอนด์ รีสอร์ท เป็นร้านกาแฟบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ ให้ความเย็นสบาย ๆ อาคารเป็นแบบเรโทรเก่า ๆ เข้ากับบรรยากาศได้ดี กาแฟมีเมล็ดกาแฟให้เลือกหลายแบบ มีกาแฟ ดริป ข้างในมีรีสอร์ทที่พักติดลำธารเล็ก ๆ เหมาะกับการมาพักผ่อน สอบถามเพิ่มเติมโทร. 08-6574-7061
2.รีลิส พูลวิลล่า รีสอร์ท ที่พักในเนื้อที่ 3 ไร่ ท่ามกลางความสงบของขุนเขา แวดล้อมธรรมชาติ ที่พักที่ทุกคนสามารถปลดปล่อยความทุกข์ ความเครียด มาพักผ่อนสร้างความสุข ดื่มด่ำบรรยากาศสุดชิลในสไตล์ LOFT ประกอบด้วย CLUB HOUSE และห้องพัก พูลวิลล่า 4 หลัง ตกแต่งอย่างสวยงาม น่าพักผ่อน โทร. 09-6869-2515, 09-8851-4966
3.ลานกางเต็นท์ ในพื้นที่มีอยู่หลายที่ เช่น ภูภาชี เดอะทรี บ้านเราริมน้ำ ไร่สายหยุด เป็นต้น
วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). ตนราชบุรี. จังหวัดราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี.
องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (แผนการดำเนินงาน). ราชบุรี : องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี
นางมาลี คังพุ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566
นางจี แซดี, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566
นางรัตนดา เจริญสุข, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566
นายรังสี บุญเลิศ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566
นายบุญเลิศ วิสัยปราชญ์, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566
นางขาว วังโส, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566
นางแกะ ตาโท, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566
นายสมจิตร์ เพิ่มพูนนิติธรรม, การสื่อสารส่วนบุคคล, 23 มิ.ย. 2566