ชุมชนเก่าเเก่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ตันหยงอุมา ชื่อหมู่บ้านตั้งอยู่ในตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล มาจากภาษามาลายู Tanjung Umar แปลว่า แหลมไร่ (คำว่า umar แปลว่า ไร่) ลักษณะดิน เป็นดินเหนียว เหมาะกับการใช้ประโยชน์ในการเกษตร และพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำไร่
ชุมชนเก่าเเก่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
คำว่า "ตันหยงอุมา" ชื่อหมู่บ้านมาจากภาษามาลายู Tanjung Umar แปลว่าแหลมไร่ (คำว่า umar แปล ว่าไร่) ลักษณะดิน เป็นดินเหนียว เหมาะกับการใช้ประโยชน์ในการเกษตร และพื้นที่ส่วนใหญ่ บนเกาะเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำไร่
ประวัติศาสตร์ชุมชน
กลุ่มชาวจีน เป็นกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่บนเกาะช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นมีกลุ่มคนจากบ้านพร้าว บ้านทุ่งครก อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะด้วย และต่อมากลุ่มคนทั้งสองกลุ่มได้มีความขัดแย้งและเกิดสงครามขึ้นบนเกาะ จนทำให้ชาวจีนอพยพออกจากเกาะ
ช่วงสมัยหลังเหตุการณ์การเลิกทาส สมัย ร.5 นายเปน ปราบยาวา หรือ ขุนยะระราษฎร์ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น ใช้อำนาจถือครองที่ดินบนเกาะเป็นของตนเอง
พ.ศ. 2483 โรงเรียนบ้านตันหยงอุมา สร้างขึ้นโดยขุนยะระราษฎร์ กำนันตำบลเกาะสาหร่ายและประชาชน หมู่ที่ 1 บ้านตันหยงอุมา หมู่ที่ 2 บ้านบากันใหญ่ ร่วมมือกันสร้างขึ้นครั้งแรก ในที่ดินของนายยีหวา ลูกหวาย เป็นอาคารเรียนชั่วคราว ต่อมาอาคารเรียนชั่วคราวได้ชำรุดจึงได้ย้ายมาสร้างใหม่ในที่ดินของ นายเจ๊ะแหม อินทรชิต ซึ่งได้บริจาคที่ดิน จำนวน 3 งาน 93 ตารางวา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 โดยมีนายปั้น สายชู รักษาการตำแหน่งครูใหญ่ ต่อมาได้แต่งตั้ง นายเทพ สนูบุตร ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เป็นคนแรก
พ.ศ. 2540 ได้มีการขึ้นทะเบียนมัสยิด โดยมัสยิดบ้านตันหยงอุมา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 2 ของจังหวัดสตูล (มัสยิดหลังแรกสร้างขึ้นก่อนการสร้างโรงเรียนบ้านตันหยงอุมา)
พ.ศ. 2545 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ส่งไฟฟ้าเข้าสู่เกาะสาหร่ายด้วยระบบ สายเคเบิ้ลใต้น้ำ ทำให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้
พ.ศ. 2547 ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ไม่มีชาวบ้านเสียชีวิต แต่เครื่องมืออุปกรณ์การทำประมงได้รับความเสียหาย เช่น เรือ เสียหาย 12 ลำ กระชังปลาเสียหาย 15 กระชัง โดยทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น มูลนิธิเอเชีย มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตฯ แห่งประเทศไทย เป็นต้น
พ.ศ. 2549 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย สร้างถนนคอนกรีตภายในชุมชนบ้านตันหยงอุมา และสร้างท่าเทียบเรือบ้านตันหยงอุมา
พ.ศ. 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนา ทรงเปิดป้ายโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ ทำให้อาคารเรียน 2 หลัง ไม่สามารถใช้งานได้ โดยได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ มูลนิธิชัยพัฒนา มาก่อสร้างและซ่อมแซม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีหลักสูตรด้านวิชาชีพที่เน้นการสอนตามความต้องการของนักเรียน และสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น
บ้านตันหยงอุมา ตั้งอยู่บนเกาะซึ่งประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านตันหยงอุมา หมู่ที่ 2 บ้านบากันใหญ่ และหมู่ที่ 3 บ้านต้นหยงกลิง ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะเป็นที่ราบ ลักษณะดิน เป็นดินเหนียว เหมาะกับการใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเหมาะแก่การทำไร่
- ทิศเหนือ ติดกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านตันหยงกลิง ม.3 ต.เกาะสาหร่าย
- ทิศตะวันออก ติดกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านบากันใหญ่ ม.2 ต.เกาะสาหร่าย
การคมนาคม
บ้านตันหยงอุมา มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะ ที่อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 15 กิโลเมตร การคมนาคมเข้าสู่พื้นที่จำเป็นต้องเดินทางด้วยเรือ ปัจจุบันการเดินทางสู่พื้นที่บ้านตันหยงอุมา จะมีเรือโดยสารที่เดินทางสัญจรให้บริการอยู่ตลอดทุกวัน โดยมีการเดินทางที่สะดวกและมีความปลอดภัย ซึ่งมีเส้นทางเดินเรือที่สำคัญอยู่ 2 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางการเดินเรือ จากท่าเรือเจาะบิลัง ใช้เวลาประมาณ 50 นาที
- เส้นทางการเดินเรือ จากท่าเรือทุ่งริ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
การเดินทางภายในบ้านตันหยงอุมา สามารถเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ จักรยาน หรือเดินเท้า โดยมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก เป็นถนนคอนกรีตเส้นทางเชื่อมต่อรอบหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 (บ้านตันหยงอุมา) หมู่ที่ 2 (บ้านบากันใหญ่) และ หมู่ที่ 3 (บ้านต้นหยงกลิง) มีเส้นทางถนนคอนกรีตที่สามารถสัญจรได้อย่างสะดวก
สภาพแวดล้อมชุมชน
ชุมชนบ้านตันหยงอุมา ที่ตั้งครัวเรือนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเกาะยะระโตดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับทะเลเพราะสะดวกแก่การประกอบอาชีพประมง
จากข้อมูลสำนักทะเบียนอำเภอเมืองสตูล ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านตันหยงอุมาจำนวน 103 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 425 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 212 คน หญิง 213 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยนับถือศาสนาอิสลาม คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
จากประวัติชุมชนมีกลุ่มคนจากบ้านพร้าว บ้านทุ่งครก อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะ คือ นายใบ ดำกระบี่ นายนุ้ย ดำกระบี่ และนายแดง ดำกระบี่ ดังนั้น ต้นตระกูลหลัก คือ ตระกูลดำกระบี่ โดยมีตระกูล ยีละงู และตระกูล หมานละงู เป็นเครือญาติกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตร่วมกันแบบเครือญาติ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด
มลายูมีการรวมกลุ่มอาชีพในชุมชน จำนวน 1 กลุ่ม โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล ส่งเสริมให้ในพื้นที่เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ คือ กลุ่มทำขนมพื้นบ้าน เป็นการรวมกลุ่มสตรีภายในชุมชน โดยผู้ชายส่วนใหญ่จะทำอาชีพออกเรือประมง ส่วนผู้หญิงต้องอยู่บ้านดูแลบ้านเรือน ทางภาครัฐจึงส่งเสริมให้กลุ่มสตรีภายในชุมชนรวมกลุ่มจัดทำขนมพื้นบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ครอบครัว
ปัจจุบันเด็กและเยาวชน เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับจากโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนาแล้ว ก็ต้องไปศึกษาเล่าเรียนภายนอกชุมชน โดยเฉพาะในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษา อุดมศึกษา นอกจากนี้ประชาชนวัยทำงานในชุมชนต้องไปทำงานนอกชุมชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากบางคนทำงานรับราชการในพื้นที่ต่างอำเภอในจังหวัดสตูล บางคนทำงานบริษัท และงานรับจ้างอื่น ๆ เพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว
วิถีชีวิตการประกอบอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านชุมชนตันหยงอุมา ได้แก่
- อาชีพประมง สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งปี การหา ปู, ปลา, กุ้ง, หอย
- อาชีพทำสวนยางพารา โดยการกรีดยาง สามารถประกอบอาชีพได้ทุกฤดู ยกเว้นฤดูฝน
- อาชีพทำสวนปาล์มน้ำมัน สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งปี
- อาชีพค้าขาย ได้แก่ ร้านขายของชำ ร้านขายอาหารตามสั่ง รวมทั้งสิ้น 6 ร้าน สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งปี
ประเพณีและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 กิจกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม โดยจะจัดขึ้นตามปฏิทินอิสลาม หรือตามประกาศวันสำคัญจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เช่น
- การฉลองวันตรุษของศาสนาอิสลาม อีดิ้ลฟิตรี และอีดิ้ลอัฎฮา ปีละ 2 ครั้ง ตามปฏิทินอิสลาม
- ประเพณีถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตามปฏิทินอิสลาม ปีละ 1 ครั้ง
- พิธีเข้าสุนัต
- งานบุญและงานมัสยิด
ผู้นำ
รายชื่ออิหม่ามมัสยิดบ้านตันหยงอุมา ตั้งแต่จัดตั้งมัสยิดจนถึงปัจจุบัน จำนวน 7 ท่าน ดังนี้
- นายหวัง เหมนะ (อิหม่ามคนแรก)
- นายหนอด แซะอาหลี
- นายเฉ็ม เหมนะ
- นายเหม เหมนะ
- นายรอฝาด ดำกระบี่
- นายดลละ หมานละงู
- นายหมีน หลาสลำ (อิหม่ามคนปัจจุบัน)
2) ผู้ใหญ่บ้าน บ้านตันหยงอุมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีจำนวน 10 ท่าน ดังนี้
- นายใบ ดำกระบี่ (ผู้ใหญ่บ้านคนแรก)
- นายนุ้ย (ไม่ทราบนามสกุล)
- นายเปน ปราบยาวา หรือ ขุนยะระราษฎ์
- นายอิ่ม บุญช่วยเจริญ
- นายสมาน หมานละงู
- นายชำนาญ สาครวิเศษ
- นายซอและ ยีละงู
- นายบราเหม ดำกระบี่
- นายเสด อาสัน
- นายอนุพงศ์ ดำกระบี่ (ผู้ใหญ่บ้านปัจจุบัน)
- นายอนันต์ เหมนะ ปราชญ์ชาวบ้านด้านประวัติศาสตร์ชุมชน เคยเป็นตัวแทนชุมชนเข้าร่วมประกวดการนำเสนอประวัติศาสตร์ชุมชนตันหยงอุมา ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 และปราชญ์ชาวบ้านด้านการคำนวณเวลาน้ำขึ้นน้ำลงได้อย่างแม่นยำ และมีความเชี่ยวชาญด้านการจับปลากระบอกโดยใช้อวน
- นายเสด อาสัน ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน รักษาอาการเจ็บป่วยแก่ชาวบ้านในชุมชนโดยการขอดุอาร์ (ขอพร) จากองค์อัลลอฮ เพื่อปัดเป่าให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
ชุมชนบ้านตันหยงอุมาทำประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก ทำให้เกิดการสั่งสมความรู้ก่อให้เกิดเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับการทำเครื่องมือประมงพื้นบ้านหลากหลายชนิด เช่น การผูกลอบปลาหมึกด้วยเปลือกหอยโข่ง การเย็บอวนปลา อวนปู อวนกั้ง เป็นต้น
ในพื้นที่ประกอบด้วยพื้นที่ราบ ป่าไม้ ป่าชายเลน ดินมีลักษณะสภาพแวดล้อมเป็นดินเหนียวปนทรายที่เหมาะกับทำเกษตร ทั้งยังมีทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา
ชุมชนบ้านตันหยงอุมา ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ จังหวัดสตูลในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ชุมชนบ้านตันหยงอุมา ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเนื่องจากสภาพพื้นที่เกาะในปัจจุบัน เมื่อถึงฤดูแล้ง แหล่งน้ำจืดบนเกาะจะตื้นเขิน น้ำใต้ดินในบางพื้นที่ของเกาะจะมีลักษณะเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
- น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่
- น้ำอุปโภคบริโภคไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน
- ปัญหาน้ำกร่อย ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากสระน้ำในชุมชนมีสภาพทรุดโทรม ประกอบกับระบบน้ำประปาเดิมที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคไม่สามารถสูบน้ำเพื่อแจกจ่ายให้แก่บ้านเรือนของประชาชนในชุมชนได้
ทั้งนี้ จังหวัดสตูลได้บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในชุมชน โดยการฟื้นฟูสภาพสระน้ำให้สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างมีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค และนับเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน
จากวิกฤตสัตว์น้ำลดลง เพราะการใช้ทรัพยากรเกินกำลังของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล ทำให้ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรมลง ประชาชนในชุมชนขาดรายได้ ประสบปัญหาหนี้สิน จนมีคณะวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทำงานวิจัยเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ปรับวิธีคิดคนในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เน้นการให้ประชาชนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง และดำเนินการตามแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง โดยผนวกเข้ากับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน เห็นผล เป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัญหาการประกอบอาชีพประมงชายฝั่งของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย ที่มีปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง มีการใช้ประโยชน์เกินกำลังการผลิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำประมงผิดประเภท การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และชาวประมงที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็ละทิ้งภูมิปัญญาการทำประมงหันไปประกอบอาชีพอื่น จนก่อให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา จึงต้องหาแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งเพื่อการพึ่งพาตนเอง
ปัจจุบัน ชาวบ้านในชุมชนตันหยงอุมาหันกลับมาร่วมมือกันอุรักษ์สัตว์น้ำ เช่น ปลาการ์ตูน ปู ปลา กุ้ง หอย ที่เคยหายไป ตอนนี้เริ่มกลับมาให้เห็นมากขึ้น ชาวบ้านเองนอกจากจะมีรายได้จากทรัพยากรประมงที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ชาวบ้านกลับมามีความสุขและยิ้มได้อีกครั้ง
ชุมชนบ้านตันหยงอุมา ชาวบ้านมีการใช้วีถีชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนในชุมชนมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอและชาวบ้านมีการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยววิถีชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน รับประทานอาหารพื้นบ้านโดยอาหารทะเลสดใหม่ตามที่ชาวบ้านสามารถหามาได้ในแต่ละวัน เป็นเสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้
นายยูหนีด หมานละงู. ปราชญ์ชาวบ้าน, สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2566
นายอนุพงศ์ ดำกระบี่. อีหม่ามมัสยิดบ้านตันหยงอุมา, สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2566
นายเสด อาสัน. ปราชญ์ชาวบ้าน, สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2566
ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566. https://prachatai.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566. https://kohsarai.go.th/
มูลนิธิชัยพัฒนา. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566. https://www.chaipat.or.th/
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล. (2559, 10 กรกฎาคม). "อาหารทะเลแปรรูป" ทำอร่อยมีสิทธิโกอินเตอร์. เดลินิวส์. https://d.dailynews.co.th/